|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สมรภูมิค้าปลีกพลิกโฉมจากสงครามราคาสู่สงคราม CRM งัด Loyalty Program ชิงฐานลูกค้าขาประจำ ล่าสุดเทสโก้ โลตัส ส่ง คลับการ์ด บัตรสมาชิกสะสมแต้มแบบไม่มีหมดอายุ สวนหมัดข้ามเซกเมนต์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างได้รับผลกระทบจากสงครามราคาของฟากโมเดิร์นเทรด จนต้องส่งบัตรสมาชิกออกมารักษาฐานลูกค้าขาประจำ
สงครามราคาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค หากแต่ความคุ้มค่าคุ้มราคาคือสิ่งที่ผู้บริโภคแสวงหา ส่งผลให้วงการค้าปลีกเต็มไปด้วยบัตรสมาชิกของห้างต่างๆ มากมายเพื่อช่วงชิงลูกค้าขาประจำ กระตุ้นปริมาณการซื้อแต่ละครั้ง และเพิ่มความถี่ในการมาใช้บริการ ล่าสุด เทสโก้ โลตัส ลอนช์ คลับการ์ด บัตรสมาชิกที่ฉีกกฎบัตรของคู่แข่งด้วยการสะสมแต้มแบบไม่มีวันหมดอายุ และสมัครสมาชิกฟรี โดยใช้ได้กับสาขาของเทสโก้ โลตัส ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ไฮเปอร์มาร์เกต ไปถึง โลตัส เอ็กซ์เพรส
'คลับการ์ดเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของเรา ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าในทุกการจับจ่ายเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราตลอดไป และยังเป็นบัตรขอบคุณลูกค้าทุกคนที่มาชอปปิ้งที่เทสโก้ โลตัส ที่สำคัญเมื่อคลับการ์ดได้รับการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ลูกค้าก็จะได้รับประสบการณ์การชอปปิ้งที่เหมาะกับตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน' สตีฟ แฮมเม็ทท์ ประธานกรรมการบริหาร เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส กล่าว
ก่อนหน้านี้บรรดาดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่นอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังถูกชิงฐานลูกค้าโดยเฉพาะแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า และซูเปอร์มาร์เกต ที่มีการถล่มราคาจากฟากของดิสเคานต์สโตร์ ทำให้ทางกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล มีการพัฒนาลอยัลตี้โปรแกรมเพื่อรักษาฐานลูกค้าด้วยการลอนช์บัตรสมาชิก สปอต รีวอร์ด การ์ด ของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยให้สิทธิพิเศษในเรื่องของราคาสมาชิก ทั้ง เรดฮอต และซื้อ 1 แถม 1 โดยจะหมุนเวียนทุกสัปดาห์เพื่อเพิ่มความถี่ในการมาใช้บริการของลูกค้า ตลอดจนแคมเปญ สปอต มันนี่ แบ็ก ซึ่งกระตุ้นปริมาณการซื้อแต่ละครั้งให้สูงขึ้นโดยสมาชิกสามารถสะสมแต้มด้วยการซื้อสินค้าตั้งแต่ 400 บาทขึ้นไปจะได้รับแต้มสะสมทุกๆ 100 บาทได้ 10 แต้ม สะสมครบ 200 แต้มภายใน 3 เดือนจึงจะได้รับคูปองเงินสดใช้เป็นส่วนลด หากแต้มยังไม่ถึงก็สามารถสะสมต่อได้อีก 3 เดือนแต้มจึงหมดอายุ ลอยัลตี้โปรแกรมของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตประสบความสำเร็จจนปัจจุบันมีฐานสมาชิกเกือบ 4 ล้านราย
เซ็นทรัล รีเทล รุก CRM ต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จในการทำบัตรสมาชิกของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีการเปิดตัวบัตรสมาชิกสะสมแต้ม The 1 Card ซึ่งสามารถใช้สะสมแต้มในการซื้อสินค้าจากร้านค้าในเครือ 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส โฮมเวิร์ค รวมถึงห้างเซ็น (ZEN) ในขณะที่อีก 2 กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล ยังไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมนี้ก็คือ ออฟฟิศ ดีโป้ เนื่องจากเป็นธุรกิจค้าส่งมีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างสูง จึงไม่คุ้มหากจะเข้าร่วมโปรแกรม The 1 Card ในขณะที่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีบัตร Spot Reward Card อยู่แล้ว
The 1 Card เป็น Cross Category Promotion ของเครือเซ็นทรัล รีเทล จากเดิมที่แต่ละห้างจะมีบัตรและมีการทำโปรโมชั่นของตัวเองซึ่งไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ ทำให้ผู้บริโภคต้องพกบัตรหลายๆ ใบ แต่ The 1 Card จะสามารถสะสมแต้มรวมกันได้ไม่ว่าจะซื้อจากห้างใดก็ตามที่ร่วมโปรแกรม ซึ่งช่วยรักษาฐานลูกค้าให้ใช้บริการสาขาในเครือเซ็นทรัล แทนที่จะไปหาคู่แข่ง โดยแต้มสะสมของ The 1 Card นั้นสามารถนำไปแลกคูปองเงินสดได้ โดย 800 แต้มจะได้คูปองเงินสด 100 บาท ส่วน 4,000 แต้มจะได้คูปองเงินสด 500 บาท เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทล ต่อไป และเมื่อซื้อด้วยคูปองดังกล่าวผู้บริโภคก็ยังคงได้แต้มสะสมตามราคาสินค้านั้นๆ ด้วย เช่น ซื้อสินค้า 500 บาท ใช้คูปอง 100 บาท จ่ายจริง 400 บาท แต่คิดแต้มสะสมจาก 500 บาท
On Top Benefit ที่ผู้บริโภคได้จาก The 1 Card นอกจากจะสร้างลอยัลตี้แล้วยังส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทล มากขึ้น เนื่องจาก 6 กลุ่มธุรกิจที่มีความหลากหลายของสินค้าทำให้ครอบคลุมตลาดหลายๆ กลุ่ม ซึ่งแต่เดิมผู้บริโภคอาจจะใช้บริการห้างใดห้างหนึ่งจาก 6 ห้าง แต่เมื่อมี The 1 Card ที่มีแต้มสะสมให้กับผู้บริโภค ก็ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะไปใช้จ่ายในเครือเซ็นทรัล รีเทล มากขึ้น เช่น คนที่ชอบเทคโนโลยีก็อาจซื้อสินค้าจากเพาเวอร์บายแต่ไม่เคยไปซื้อสินค้าอื่นๆในเครือเซ็นทรัล รีเทล แต่พอมีบัตร The 1 Card ก็จะเลือกซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทล มากขึ้น เช่นแต่ก่อนอาจจะไปซื้อของตกแต่งบ้านจากที่อื่น แต่พอมีบัตรก็จะไปซื้อที่โฮมเวิร์คแทน หรือการเดินชอปปิ้งตามห้างต่างๆ เดิมทีเลือกเข้าห้างที่สะดวกอยู่ใกล้ แต่พอมีบัตรสะสมแต้มก็อาจยอมไปไกลอีกนิดเพื่อให้การชอปปิ้งมีมูลค่าเพิ่มจากแต้มสะสม ปัจจุบันเซ็นทรัลมีฐานสมาชิก The 1 Card 2.2 ล้านราย คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านรายในปีนี้
ในขณะที่ค่ายเดอะมอลล์เปิดตัวบัตรสมาชิกภายใต้ชื่อบัตร Prestige Card และ Platinum Card โดยให้ส่วนลด 5% และ 10% ตามลำดับ แม้จะเป็นเงื่อนไขที่สมาชิกชอบที่จะได้รับส่วนลดทันที ทว่าไม่มีแต้มสะสมที่จะดึงดูดให้สมาชิกมีความถี่ในการซื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งบริษัทยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำโปรโมชั่นส่วนลดให้กับสมาชิกตั้งแต่บาทแรกที่ซื้อ ซึ่งไม่ได้จูงใจให้สมาชิกเพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้งมากขึ้น ดังนั้น เดอะมอลล์จึงมีการปรับรูปแบบบัตรสมาชิกใหม่ภายใต้ชื่อ M Card โดยทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาทในการพัฒนาระบบ โดยคาดว่าในปีแรกจะมีสมาชิก 1.2 ล้านราย และจะเพิ่มเป็น 3 ล้านรายภายใน 5 ปี
สำหรับบัตร M Card มีอยู่ 4 ประเภท คือ M Platinum คือ กลุ่มสมาชิกบัตร Platinum ปัจจุบันมี 20,000 ราย M Prestige คือ กลุ่มสมาชิกบัตร Prestige ปัจจุบันมี 600,000 ราย M Expat คือ กลุ่มสมาชิก Expat ซึ่งเดิมมีอยู่ 10,000 ราย บวกกับสมาชิกใหม่อีก 10,000 ราย โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะมีฐานสมาชิก Expat 50,000 รายในสิ้นปีนี้ ส่วนบัตร M Card คือ กลุ่มสมาชิกใหม่ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในเรื่องของส่วนลดเหมือนบัตรเพรสทีจ และแพลทินัม โดยกลุ่ม M Card จะได้รับสิทธิในเรื่องของการสะสมแต้มเพื่อแลกคูปองเงินสด ซึ่งเงื่อนไขการสะสมแต้มไม่ต่างจาก เดอะ วัน การ์ด ของค่ายเซ็นทรัล นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าราคาสมาชิกเหมือนสปอต รีวอร์ด การ์ด ของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในอนาคตลูกค้าที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ รวมถึงไม่สามารถซื้อสินค้าในราคาโปรโมชั่นได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเข้าสู่ระบบสมาชิก ส่งผลให้เดอะมอลล์มีข้อมูลพฤติกรรมการชอปปิ้งของลูกค้าและใช้พัฒนาแคมเปญการตลาดที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ในส่วนของ M Card Prestige และ M Card Platinum จะไม่มีการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มเงื่อนไขในการมอบส่วนลด จากเดิมที่เพรสทีจได้ส่วนลด 5% ตั้งแต่การซื้อบาทแรก เปลี่ยนเป็นต้องซื้อของในดีพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ 1,500 บาทขึ้นไปจึงจะได้ส่วนลด และ 800 บาทขึ้นไปในซูเปอร์มาร์เกต จึงจะได้ส่วนลด 5% ส่วนบัตรแพลทินัมก็มีเงื่อนไขเช่นเดียวกันเพียงแต่จะได้ส่วนลด 10% นอกจากนี้ M Card ยังร่วมกับพันธมิตรนอกห้างในการมอบส่วนลดให้กับสมาชิก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน โรงพยาบาล เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก
ทว่าทั้งบัตร The 1 Card และบัตร M Card ต่างมีข้อจำกัดในเรื่องอายุของแต้มสะสมที่สูงสุดเพียง 2 ปีก็จะถูกลบทิ้ง เริ่มสะสมใหม่ ขณะที่ คลับการ์ด ของ เทสโก้ โลตัส แม้จะต้องสะสมแต้มให้ได้มากถึง 1,000 แต้มถึงจะสามารถแลกคูปองส่วนลดได้ 10 บาท ทว่าการชอปทุกๆ 2 บาทก็จะได้ 1 แต้ม ประกอบกับแต้มสะสมไม่มีวันหมดอายุ สามารถสะสมได้ไม่จำกัดเวลา และยังสามารถใช้ได้กับเทสโก้ โลตัส ทุกฟอร์แมต ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เกต ตลาดโลตัส ร้านคุ้มค่า และโลตัสเอ็กซ์เพรส รวมแล้วมากกว่า 600 สาขา ทำให้เป็นอีกแม่เหล็กหนึ่งในการดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาเป็นสมาชิกของคลับการ์ด
'เราได้มีการทดลองให้บริการคลับการ์ดที่เทสโก้ โลตัส สาขาหาดใหญ่และสมุยเป็นเวลาหลายปี ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่คลับการ์ดเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อ 14 ปีมาแล้ว นอกจากเราจะได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการพร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าแต่ละคนจำเป็นต้องซื้อและต้องใช้ คลับการ์ดเป็นส่วนสำคัญของจุดมุ่งหมายการทำงานเราที่จะเพิ่มคุณค่าการจับจ่ายให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยคลับการ์ดจะเป็นกุญแจตัวหลักเพื่อสื่อสารกับลูกค้าในระยะยาว ทุกครั้งที่เราบอกว่า 'ไม่มีใครทุ่มเทสำหรับลูกค้าเหนือไปกว่าเรา' กวิน สัณฑกุล กรรมการและประธานบริหารฝ่ายการตลาด เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม ผู้บริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าว
ในขณะที่บัตรสมาชิก I Wish ของคาร์ฟูร์ซึ่งเป็นลอยัลตี้โปรแกรมตัวหนึ่ง ดูจะไม่ส่งผลต่อคู่แข่งมากนักเนื่องจากการชอปผ่านบัตรดังกล่าวในช่วงปรกติ สมาชิกจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ เว้นแต่ช่วงที่มีการทำโปรโมชั่นจึงสามารถใช้บัตรดังกล่าวในการลุ้นรางวัลได้ ส่วนบิ๊กซีมีบัตร 2 แบบคือ บัตรช้อปโทรฟรี และบัตรบิ๊กซีโบนัส ซึ่งจะมีการสื่อสารแบบไดเรกต์มาร์เกตติ้งไปสู่กลุ่มสมาชิก โดยมีการทำการตลาดแบบ 1 :1 Marketing โดยเสนอโปรโมชั่นที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละราย โดยปัจจุบันบิ๊กซีมีฐานสมาชิกกว่า 2 ล้านราย สร้างรายได้ให้กับบิ๊กซีคิดเป็นสัดส่วน 30% และคาดว่าใน 2-3 ปี สัดส่วนรายได้จากลูกค้าที่เป็นสมาชิกจะมีมากกว่า 50% ซึ่งคาดว่า ณ จุดดังกล่าวจะมีฐานสมาชิกไม่ต่ำกว่า 4 ล้านราย สำหรับเป้าสมาชิกในปีนี้ บิ๊กซี ตั้งเป้าเพิ่มอีก 20% หรือคิดเป็นจำนวนสมาชิก 2.2 ล้านราย ล่าสุดมีการพัฒนาระบบไอทีเพื่อทำ e-Ticket ซึ่งจะถูกพัฒนาให้ใช้ร่วมกับลอยัลตี้โปรแกรมในอนาคต ปัจจุบันลูกค้ามีการจับจ่ายที่บิ๊กซีครั้งละ 550 บาท แต่หากเป็นสมาชิกอาจมีการใช้จ่ายที่มากกว่าเป็นเท่าตัว
เทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายฐานสมาชิกบัตร คลับการ์ด ได้ 4 ล้านราย ในเวลา 1 ปี ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะมีฐานลูกค้าขาประจำมากกว่าคู่แข่งในทุกเซกเมนต์ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า ทว่าจะเพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้งหรือดึงดูดสมาชิกให้มาใช้บริการได้มากเพียงใด นอกจากจะขึ้นอยู่กับสาขาที่มากและสะดวกกับลูกค้าแล้ว ยังต้องมีแคมเปญโปรโมชั่นที่สร้างความคุ้มค่าคุ้มราคาให้กับผู้บริโภคด้วย
|
|
|
|
|