Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์31 สิงหาคม 2552
กลเกมซื้อเวลา "อีลิทการ์ด" บัตรเทวดาที่ฆ่าไม่ตาย             
 


   
www resources

โฮมเพจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โฮมเพจ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี)

   
search resources

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี), บจก.
Tourism




ผ่านไปแล้วกว่า 4 สัปดาห์ที่คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (บอร์ด ททท.) จะมีมติเสนอ 2 ทางเลือก สำหรับการดำเนินงาน บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิทการ์ด เพื่อเสนอให้เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา "ชุมพล ศิลปอาชา" ไปพิจารณาแล้วก็ตาม

โดยประการแรกคือ การเลิกกิจการ พร้อมระบุข้อดีและข้อเสียที่ประเทศไทยจะได้รับ หรือหากดำเนินกิจการต่อ ต้องอยู่ภายใต้ 3 ทางเลือก คือโยนให้เอกชนเข้ามาร่วมหุ้นจำนวน 50% หรือมากกว่า 50% หรือมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้บริหารธุรกิจต่อไป หรือทางเลือกสุดท้ายคือมอบหมายให้บอร์ดของ ทีพีซี กลับไปวางแผนและปรับปรุงการบริหารบริษัทใหม่ โดยไม่ให้มีการขาดทุนมากกว่าเดิม

แม้ว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่มีคำตอบและความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เลยก็ตาม แต่ปัญหาใหม่ก็ดันมาเกิดขึ้นอีก หลังจากที่ล่าสุด อุดม เมธาธำรงค์ศิริ ที่ปรึกษาผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระดับ 10 ในฐานะรักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการทีพีซี (บอร์ด) ให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท ทีพีซี ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดในปลายเดือนกันยายนศกนี้

การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทุจริตครั้งนี้ว่ากันว่า มีนัยสำคัญของการตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรกับบัตรอีลิทการ์ด เพราะที่ผ่านมาเรื่องของการตรวจสอบการบริหารภายในองค์กรอีลิทการ์ดเองกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก แม้ว่าตั้งแต่เปิดตัวบัตรเทวดาใบนี้ออกมากว่า 6 ปีก็ไม่สามารถทำกำไรเข้าสู่ประเทศได้เลย มิหนำซ้ำยังขาดทุนติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาตั้งแต่คู่กรณีระหว่างบริษัท ทีพีซี กับเอเยนต์ขายบัตรรายใหญ่ที่มักจะไม่ลงรอยกันเท่าใรนัก กับนโยบายบริษัท ทีพีซี ที่มักจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนนำพาไปสู่กระแสของการร้องเรียนถึงขั้นรวมตัวกันฟ้องร้องบริษัท ทีพีซี ในที่สุด

ว่ากันว่า การตรวจสอบความไม่โปร่งใสกับอดีตรักษาการผู้บริหารบัตรเทวดาครั้งนี้จะช้าไปหรือไม่ และทำไมจู่ๆ ต้องมาทำการตรวจสอบในช่วงระยะเวลาที่โครงการบัตรอีลิทการ์ดกำลังตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางออกแบบนี้ ที่สำคัญการตรวจสอบครั้งนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการเมืองภายในกระทรวงการท่องเที่ยวฯเนื่องจากคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อตรวจสอบสัญญาครั้งนี้ มี เกษม สรศักดิ์เกษม นักกฎหมายอิสระ ที่เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดไฟเขียวแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

โดยหยิบยกประเด็นความไม่โปร่งใสในโครงการทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของบริษัท ทีพีซี นั้นมาตรวจสอบ ซึ่งมีอดีตรักษาการผู้บริหารและที่ปรึกษาด้านจำหน่ายและการตลาดกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการเดินเกมเรื่องนี้

แม้ว่าผลของการตรวจสอบจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม...แต่ท้ายที่สุดหลายฝ่ายเชื่อว่านี่อาจจะเป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้โครงการบัตรเทวดาที่ใครๆ ก็ไม่อยากข้องแวะมีลมหายใจต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะขนาดควักเงินลงทุนจัดทำผลการศึกษาข้อดี-ข้อเสียก็แล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่กล้าตัดสินใจเสียทีว่าจะเลือกระหว่างปิดหรือเดินหน้าต่อ จึงไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับการไม่ออกมาฟันธงทางเลือกในการหาทางออกให้กับบัตรเทวดา "อีลิท การ์ด" ของบอร์ด ททท.

จริงอยู่แม้ ททท.จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือทีพีซี ผู้ดำเนินโครงการอีลิทการ์ดก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการนี้ก็เกิดจากนโยบายของรัฐบาลสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ดังนั้น หากรัฐบาลชุดนี้จะยุติโครงการดังกล่าว หรือจะให้มีทิศทางเดินอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ฟันธงในเรื่องนี้เอง เพราะต้องว่ากันไปในระดับนโยบาย ซึ่งลึกๆ รัฐบาลก็คงอยากจะยกเลิกใจแทบขาด เห็นได้จากมติ ครม.เมื่อปลายเดือน ม.ค.52 ที่ผ่านมา ที่มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำทางเลือกต่างๆ พร้อมข้อมูลรายละเอียดประกอบในแต่ละทางเลือก ในกรณียุติโครงการอีลิทการ์ด แล้วให้นำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ บริษัท ทีพีซี และ ททท. ได้ร่วมกันหาบทสรุปในแต่ละทางเลือกต่างๆ แล้วเสร็จก็ใช้เวลาไปกว่า 6 เดือน ล่าช้ากว่ามติ ครม.ที่สั่งให้ทำรายละเอียดแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์เสียด้วยซ้ำ

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายฝ่ายอยากให้ยุติโครงการนี้กันทั้งนั้น เพราะรู้แต่ต้นแล้วว่าแจ้งเกิดยาก แถมบริหารมาจนเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว แต่ผลประกอบการก็สะท้อนถึงการขาดทุนต่อเนื่องประมาณกว่า 1,412 ล้านบาท ปัญหาที่ทีพีซีประสบอยู่ขณะนี้คือรายจ่ายของบริษัทที่สูงกว่ารายรับนั่นเอง

แม้แต่การให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่มิใช่สิทธิประโยชน์หลักแก่สมาชิกฟรีโดยไม่จำกัดจำนวนการใช้ และไม่คำนึงถึงต้นทุนการให้บริการ ส่งผลกระทบอย่างหนักจนทำให้บริษัทเกิดภาระในการชำระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น สนามกอล์ฟ สปา ห้องรับรองสมาชิก ลีมูซีน การประกันภัย การตรวจสุขภาพ และบิสิเนส คลับ

ปัจจุบันทำให้บริษัท ทีพีซี มีต้นทุนการให้บริการสมาชิก 2,570 คน อยู่ประมาณ 95 ล้านคนต่อปี ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารประมาณ 240 ล้านบาทต่อปี ส่วนรายได้ค่าสมาชิกมีการทยอยรับรู้รายได้ 10 ปี ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีโดยสอดคล้องกับประมวลรัษฎากร โดยยอดรับรู้รายได้ต่อปีไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลังเปิดขายบัตรวีไอพีใบนี้

ที่ผ่านมาความผิดพลาดในการบริหารงานได้สะท้อนผ่านผลประกอบการออกมาอย่างชัดเจน แม้ผู้ถือหุ้นอย่าง ททท.จะไม่เคยเข้ามาแตะต้องการบริหารงานในทีพีซีเท่าไหร่ก็ตาม แต่เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่แคล้วที่ ททท.จะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งนับจากต้นปีที่ผ่านมา ททท.เริ่มเข้ามาบริหารงาน และสั่งให้หยุดรับสมาชิก พร้อมทำการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น มีการกำหนดต้นทุนค่าบริการที่ทีพีซีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แก่สมาชิก การลดค่าใช้จ่ายทั้งในและนอกองค์กร จนลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้ในระดับหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาของ ททท.ฝ่ายนโยบายกลับทำให้เกิดแรงกดดันให้กับเอเยนต์ขายบัตรเทวดาไม่น้อย เพราะนอกจากจะเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์และเรียกเก็บค่าสมาชิกเพิ่มขึ้นสำหรับการเป็นสมาชิกใหม่แล้ว ยังทำให้ยอดของสมาชิกใหม่ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ให้ลดลงนี้เอง กลับกลายเป็นปมปัญหาใหม่ที่สมาชิกใหม่เกิดความไม่พอใจที่ได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่าลูกค้าเก่า จนทำให้เกิดกระแสข่าวถึงขั้นรวมตัวกันเตรียมฟ้องร้องบริษัท ทีพีซี

ทางเลือกของอีลิทการ์ด

โชคชะตาของอีลิทการ์ดจะเป็นอย่างไร ภายใต้แรงกดดันทั้งภายในและนอกประเทศคงอยู่ที่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล ที่ต้องพิจารณาทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดบริษัท หรือจะดำเนินโครงการต่อไป โดยร่วมทุนกับภาคเอกชน หากว่าต้องการดำเนินโครงการต่อไป จะมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างไร และถ้ามีการโอนภารกิจให้ ททท.ดำเนินการต่อจะมีรูปแบบอย่างไร

ว่ากันว่าเสียงส่วนใหญ่ของบอร์ดทีพีซี ได้พิจารณาเห็นว่าทางเลือกที่ดีที่สุดควรจะเป็นแนวทางการปิดบริษัท ทีพีซี และยุติโครงการโดยสิ้นเชิง หรือไม่ก็ให้มีการโอนภารกิจให้ ททท.ดำเนินการต่อไป

ถ้าหากรัฐเลือกการปิดบริษัทหรือยุบโครงการบัตรเทวดานี้ไป จะเป็นการปิดฉากภาระผูกพันของรัฐบาลในโครงการนี้ได้ในระยะยาวก็ตาม แต่เชื่อได้ว่าผลกระทบจะมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สูญเสียความเชื่อมั่นในการลงทุน เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่ายุคไหนก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนโยบายของรัฐ แถมต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเสียหายอีกประมาณกว่า 2.2 พันล้านบาท ไม่รวมปัญหาถูกสมาชิก 2,570 คนฟ้องร้อง ซึ่งไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

หรือถ้าหากจะให้โครงการดำเนินการอยู่ แนวทางและวิธีการควรจะเดินอย่างไร ก็คงต้องมีการตั้งเงื่อนไขและสร้างนโยบายใหม่ให้ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาเก่าและใหม่ก็จะเป็นหอกคอยทิ่มแทงรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่ากันว่า ททท.เองก็คงจะไม่อยากรับโอนงานมาทำแทนก็ตาม แต่หากเป็นมติของรัฐบาลแล้ว ททท.คงปฏิเสธลำบาก ซึ่งแน่นอนที่สุด ททท.คงจำใจรับไปบริหารแทน แต่จะให้หวังผลขยายงานเหมือนธุรกิจเต็มตัวก็คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก หรือหากมีเอกชนเข้ามาร่วมทุน การจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นสิทธิของภาครัฐอาจจะต้องลดลงเช่นกัน อาทิ การอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า ภาคเอกชนคงติดต่อประสานงานไม่สะดวกนัก

ควักกระเป๋าทำวิจัย

หากมองโครงการบัตรเทวดาอีลิทการ์ดเป็นเกมการเมืองก็คงไม่แปลก เพราะจากนโยบายที่สมัยรัฐบาลยุคทักษิณ เป็นนายกฯ ก็คาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าล้านล้านบาท แถมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็จะมีรายได้เข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิด โครงการดังกล่าวกลับสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงประเทศไทยไม่น้อย

กว่า 6 ปีที่โครงการ อีลิท การ์ด ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้ แต่กลายเป็นฝันร้ายที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบไปทั่วจนทำให้รัฐบาลชุดนี้ยากที่จะตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดผลเสียก็จะตกไปที่รัฐบาลเอง นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โครงการอีลิทการ์ดถูกยื้อไปยื้อมาจนกว่าจะถึงทางตันในที่สุด

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ทีพีซี ได้รับการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานจากคณะทำงาน 3 ชุด ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการ ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด และศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างสะท้อนผลศึกษาไปในแนวทางเดียวกันว่าโครงการนี้ยังมีการดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน แต่ต้องมีการปรับแผนให้เกิดความเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแนวทางว่าจะให้อยู่แบบเฉพาะดูแลสมาชิกที่มีอยู่ ไม่มีการขยายโครงการ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่รัฐบาลในการยกเลิกโครงการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานะการเงินที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยไม่มีการเรียกทุนเพิ่มและไม่มีการปรับโครงสร้างต้นทุน จะสามารถดูแลสมาชิกไปอีก 70 เดือน

หรือหากจะขยายโครงการต่อต้องมีการปรับรูปแบบสินค้าใหม่สำหรับเสนอขายสมาชิกใหม่ เช่น การปรับลดระยะเวลาสมาชิก จากตลอดชีพเป็นเพียง 20-30 ปี ค่าคอมมิชชั่นการขาย 15% สูงเกินไป ควรปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาผูกติดกับตัวแทนขายมากไป ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการสูง ปรับบอร์ดบริษัทให้มืออาชีพมาบริหารโดยมีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ การปรับค่าสมาชิกเพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท เพื่อบรรลุจุดคุ้มทุน ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำได้

แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการบัตรเทวดาอีลิทการ์ดนี้ก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ต้องขบคิด หากรัฐบาลจะยังให้โครงการนี้คงอยู่ต้องเล็งเห็นแล้วว่าบริษัท ทีพีซี สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และหากจะยุบหรือเดินหน้าต่อ ควรต้องดูว่าแนวทางไหนเหมาะสมมากที่สุด

นับตั้งแต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 จนเปลี่ยนรัฐบาลอีกสองสมัย กระทั่งมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการ ไทยแลนด์อีลิท หรืออีลิท การ์ด ยังคงตกอยู่ในแดนสนธยามาตลอด

ในยุคที่ คมช.เข้ามาบริหารประเทศ ว่ากันว่า เตรียมยุบ โครงการ อีลิท การ์ด ทิ้งทันที โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี สมัยนั้น ได้สั่งให้บริษัท ทีพีซี ทำรายละเอียดมาเสนอหากมีการยุติโครงการ โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่าการบริหารโครงการที่ผ่านมามีผลขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตลอด

เส้นทางของโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ในรูปแบบบริษัทจำกัด ชื่อ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด โดย ททท. ถือหุ้น 100% นั้นเริ่มมีปัญหาหลังจากเปิดให้บริการไม่นานนักจนต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและสิทธิประโยชน์ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

แม้ว่าจะเรียกคิดค่าธรรมเนียมสมาชิกใหม่เพิ่มจากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี'51 ที่ผ่านมา โดยยังได้สิทธิพิเศษตลอดชีพ หรือหากเป็นนิติบุคคล ค่าสมาชิก 2 ล้านบาท หากเป็นสมาชิกตั้งแต่ 1 ม.ค.51 เพิ่มเป็น 3 ล้านบาท ได้สิทธิพิเศษ 30 ปี

ขณะที่กลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ผู้บริหารระดับสูง นักธุรกิจชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลก ชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในไทย นักลงทุนชาวต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในไทย นักธุรกิจและบุคคลชั้นนำชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจำนวนตัวเลขของลูกค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อรายได้เข้าสู่บริษัททีพีซีไม่น้อย เพราะต้องไปจ่ายค่าสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าเข้าไปใช้บริการ ซึ่งมีผลทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง

แต่ด้วยข้อสัญญากับสมาชิกชาวต่างชาติที่ซื้อบัตรเทวดาใบนี้ไปนั้น ทำให้รัฐบาล คมช. ไม่ฟันธงสั่งยุบโครงการนี้แต่อย่างใด เพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยงเอาบ่วงมาผูกคอนั่นเอง

เมื่อเวลาผ่านไปยุครัฐบาลผลัดใบมาเป็นยุค สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แน่นอนว่าโครงการ อีลิท การ์ด แทบไม่ค่อยมีใครสนใจ และนับว่าเป็นช่วงเวลาที่บัตรเทวดาหายใจได้คล่องคอมากขึ้น

แต่ครั้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กุมอำนาจรัฐบาล ระเบิดเวลาก็ลงไปที่บริษัท ทีพีซี อีกครั้ง โดยในวันที่ 28 ม.ค.52 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ไปศึกษาแนวทางการยกเลิกโครงการเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

เหตุผลไม่แตกต่างจากรัฐบาลยุค คมช. คือผลประกอบการขาดทุนมาตลอด กอปรกับตัวแทนของบริษัท รวมทั้งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือรองผู้ว่าการ ททท. ที่เข้าชี้แจงใน ครม.นั้นไม่สามารถตอบคำถามถึงสาเหตุที่บริษัทมีผลขาดทุนทุกปีได้ ส่งผลให้บริษัท ทีพีซี มียอดขาดทุนสะสมตัวเลข ณ วันที่ 31 ธ.ค.51 เป็นเงินประมาณกว่า 1,411.16 ล้านบาททีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวเรื่องการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของคณะกรรมการและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการลงทุนด้านไอทีกว่า 100 ล้านบาท การซื้อพื้นที่ป้ายโฆษณาที่สนามบินสุวรรณภูมิ จนนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา

เวลาล่วงเลยมาจนบัดนี้ โครงการบัตรเทวดาอีลิทการ์ดก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้ว่าโครงการจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ อย่างไร กอปรกับเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชุมพล ศิลปอาชา มีคำสั่งให้บริษัทหยุดดำเนินธุรกิจ หรือการขายบัตรสมาชิก จนกว่า ครม.จะมีมติใดๆ ออกมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของโครงการอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกัน บริษัทต้องทำตามสัญญาคือให้บริการแก่สมาชิกเหมือนเดิม นั่นหมายถึงการแบกรับภาระค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าสนามกอล์ฟ สปา โรงพยาบาล ห้องรับรองลูกค้าที่ท่าอากาศยาน รถรับรองสมาชิก เป็นต้น เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึงประมาณ 20 ล้านบาท แต่บริษัทไม่มีรายรับแม้แต่บาทเดียว

ว่ากันว่าการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ของสมาชิกใหม่ให้ลดน้อยกว่าสมาชิกเก่า ควบคู่กับการเก็บค่าสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา มีสมาชิกกว่า 200 ราย ร้องเรียนมายังศูนย์บริการคอลเซ็นเตอร์ แสดงความไม่พอใจ บางรายก็ร้องเรียนไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ อาทิ เกาหลีโดยมีสมาชิกบางรายถึงกับข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หากยุติโครงการ เพราะสิทธิพิเศษตลอดชีพต้องหายไปทันที

ดังนั้น นโยบายรัฐบาลที่พยายามตั้งหน้าตั้งตาจะยุบทิ้งโครงการบัตรเทวดาอีลิทการ์ดใบนี้จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะสัญญาที่ทำกับสมาชิกในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณกว่า 2,570 ราย ถือเป็นสัญญาที่ทำโดยรัฐบาลไทยการล้มโครงการนี้จึงคิดไม่ตก ขณะที่การจะสานต่อโครงการไปอีกก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้น รัฐบาลจะเลือกแนวทางใดต้องติดตาม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us