Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2531
นุกูล ประจวบเหมาะ ยอมหักไม่ยอมงอชั่วนิรันดร์             
 

   
related stories

สยามกลการยุคไม่มี 'นุกูล' พรทิพย์-เกษมจะรักษา'พรประภา' ได้อย่างไร?
COCKTAIL SYSTEM ทฤษฎีไร้กฎเกณฑ์ที่ HARVARD อาจขอศึกษา! หรือจะกลายเป็นจุดดับ
เกษม-พรทิพย์ ณรงค์เดช สูตรผสมเกินพอดี

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท สยามกลการ จำกัด

   
search resources

สยามกลการ, บจก.
นุกูล ประจวบเหมาะ
ถาวร พรประภา
Banking and Finance




คนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์และคนบางคนก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย ๆ เหมือนกัน

คน ๆ หนึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาจนเป็นดาวที่แจ่มจรัสฟ้า จนดูเหมือนไม่มีวันจะโรยราแต่แล้ววันดีคืนดีดาวดวงเด่นก็ถูกสอยตกลงมาอย่างเหนือความคาดหมาย อาจจะเป็นเรื่องโชคชะตาที่เล่นตลกเอากับเขา หรือเพราะความเป็นตัวของเขาเองนั่นยังไม่สำคัญเท่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น?

นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและล่าสุดอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัทสยามกลการ อดีตคนใหญ่คนโตที่กลายเป็นสามัญชนผู้ตกงานแล้วโดยสมบูรณ์ คือตัวละครโดดเด่นที่เราเลือกหยิบยกขึ้นมาศึกษา

ข่าวดังที่สุดในรอบปี 2527 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่าเป็น DEPRESSION YEAR เห็นจะไม่มีข่าวไหนเกิน "สั่งปลด…ผู้ว่าการแบงก์ชาติ" (ตำแหน่งที่ในเมืองไทยอาจจะเทียบเท่ารองปลัดกระทรวงเท่านั้นแต่สำหรับในต่างประเทศแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรตสูง และเป็นตำแหน่งที่เหนือกว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังเสียอีก) อย่างกะทันหันแบบสายฟ้าแลบ สำหรับวงการเงินเมืองไทยและทั่วโลกค่อนข้างจะเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกไม่น้อย และสำหรับนุกูล มันเป็นโศกนาฎกรรมครั้งสำคัญในชีวิต

คู่กรณีในครั้งนั้นคืออดีตรัฐมนตรี สมหมาย ฮุนตระกูล ผู้ได้รับฉายาว่า "ซามูไรบ้าเลือด" เขาเป็นผู้ลงดาบนุกูล ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ลงดาบนุกูล ที่ได้ชื่อว่าเป็นคน "หัวรั้นจอมทะนง"

เหตุของปัญหาคือความขัดแย้งกันในเรื่องความคิดความเชื่อในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ละเรื่อยไปถึงความขัดแย้งเชิงบุคลิกภาพในการทำงานและเรื่องส่วนตัว นำไปสู่จุดแตกหักแล้วจบลงด้วยบทโหด ของผู้ที่อยู่ในอำนาจที่เหนือกว่า ซึ่งการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

(เบื้องหลังความคิดขัดแย้งโดยละเอียดอ่านจาก "ผู้จัดการ" ปีที่ 2 ฉบับที่ 13)

คำพูดของนุกูลที่ระบายความอัดอั้นตันใจออกมาให้พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยในวันประกาศอำลาจากแบงก์ชาติ สะท้อนถึงความคิดของเขาอย่างชัดเจน และดูเหมือนว่าสถานภาพของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันภายใต้ผู้ว่าชื่อ กำจร สถิรกุล ออกจะไม่ต่างจากสิ่งที่นุกูลไม่อยากให้เกิดขึ้น

"ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ที่มีความรับผิดชอบและเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นตำแหน่งที่ให้คุณประโยชนแก่ธนาคาร กลุ่มธุรกิจได้มากมาย และในเวลาเดียวกันโดยอำนาจหน้าที่อาจทำความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินได้เช่นกัน ผมหวังอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมคงจะไม่เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต แบบอย่างที่ไม่ดีนั้นคือ ผู้ว่าการจะต้องยอมอยู่ภายใต้การครอบงำ เป็นที่พอใจของนักการเมืองจึงจะอยู่ได้ เมื่อใดก็ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปราศจากอิสรภาพในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่ผู้ว่าการจะต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมืองจึงจะอยู่ในตำแหน่งได้ เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของธนาคารชาติจะไม่มีเหลือ ทำนบกั้นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศจะพังทลายไปอีกทำนบหนึ่ง"

หลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว นุกูลก็อยู่บ้านพักผ่อน โดยปฏิเสธไม่ยอมรับการขอร้องจากสมหมายที่จะให้ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง

นุกูล เป็นคนที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า STRONG PERSONALITY เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ๆ เขาได้ชื่อว่าเป็นคนที่ "ฉลาดเฉลียวและมือสะอาดมาก ๆ คนหนึ่ง" บุคลิกจึงค่อนข้างแข็งกร้าว ไม่เคยยอมอ่อนข้อให้ใคร สไตล์การทำงานมีลักษณะ AGGRESSIVE เป็นคนโผงผางและพูดจาแบบไม่ค่อยมีซิปรูด การเข้าใจปูมหลังทางครอบครัวซึ่งมีส่วนหล่อหลอมบุคลิกภาพของเขาอาจจะช่วยให้เข้าใจเขามากขึ้น

ตระกูล "ประจวบเหมาะ"เป็นตระกูลคหบดีใหญ่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต้นตระกูลเป็นคนแซ่ลิ้ม อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยรับราชการเป็นนายภาษีอากรให้กับรัฐบาล มีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนอากรทรงโปรด" รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ทรงพระราชทานนามสกุล "ประจวบเหมาะ" ให้

ตระกูลนี้เป็นตระกูลใหญ่มีหลายสายแยกย้ายกันประกอบอาชีพต่าง ๆ สายพ่อของนุกูลคือ ประกอบ ประจวบเหมาะ ทำการค้าขายเหล้า บุหรี่ รับซื้อของป่า ทำกิจการเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีที่ดินอีกเป็นจำนวนมากมาย ประกอบแต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีบางสะพานตระกูล "เลาหะลีนุ" ชื่อ ดัด ซึ่งเป็นผู้หญิงเก่ง และมีความสามารถในการค้ามาก จนใคร ๆ เรียก "เจ้าแม่ดัด" เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะดีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยยิ่งขึ้น

เมื่อครอบครัวฐานะดีขนาดนี้ นุกูลจึงเติบโตขึ้นมาอย่างสุขสบายได้เรียนหนังสือเต็มที่ เขาสามารถเลือกอาชีพที่ปรารถนาจะทำประโยชน์ได้โดยไม่ต้องคิดเรื่องการหาเงินหาทองมากนัก

นุกูลจบ ม. 8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย คว้าปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์บัณฑิตกลับมาเมื่อปี 2495 เริ่มทำงานครั้งแรกที่กระทรวงการคลังในตำแหน่งเศรษฐกร ทำได้พักหนึ่งก็เดินทางไปเรียนต่อระดับปริญาโทที่มหาวิทยาลัยยอร์ชวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา สำเร็จมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ระหว่างที่เรียนอยู่ก็ฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไปด้วย

ปี 2500 เดินทางไปทำงานที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันในสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง

เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี 2507 เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง ในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆ ที่ใช้เงินกู้จากธนาคารโลกและเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงคนแรกที่ไม่ได้จบมาทางด้านวิศวะ

นุกูลทำงานที่กรมทางหลวงเป็นเวลานานถึง 10 ปี ได้ปรับปรุงระบบงานหลายอย่างจนทำให้กรมทางหลวงสามารถประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนั้นยังขยายการสร้างทางออกไปทั่วทุกแห่งทั้งประเทศ ถนนหนทางที่ได้มาตรฐานกระจายออกไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ที่ห่างไกลความเจริญได้แผ่ขยายออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว ผลงานครั้งนั้นของนุกูลจึงได้รับการกล่าวถึงอยู่มาก

จากกรมทางหลวงก็มาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังในปี 2517 ในสมัยที่บุญมา วงศ์สวรรค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ประมาณ 6 เดือน สมหมาย ฮุนตระกูล ก็มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผอิญช่วงนั้นสมหมายเกิดความขัดแย้งกับสมัคร สุนทรเวช กับ สวัสดิ์ อุทัยศรี เกี่ยวกับเรื่องกรมธนารักษ์ เกิดการสไตร๊ค์ขึ้นในโรงกษาปณ์ซึ่งเวลานั้น สวัสดิ์ อุทัยศรี เป็นอธิบดีกรมนี้ สมหมายเลยย้ายสวัสดิ์มาตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังแล้วย้ายเอานุกูลไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์สลับตำแหน่งกัน

"ผมเข้าไปอยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน เข้าไปถึงปรากฏว่าคุณสวัสดิ์แกทิ้งเรื่องไว้กองพะเนินเทินทึก เรื่องที่ดินอะไรต่าง ๆ ทั่วประเทศผมก็ไปสาวปัญหาจนเสร็จ ระหว่างนั้นผมก็ออกกฎหมายให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังรับผิดชอบที่ดินของราชพัสดุทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อก่อนนี้อำนาจยังเป็นของกระทรวงมหาดไทย พอทำเรื่องเสร็จคุณบุญชู (โรจนเสถียร) ก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณบุชูมาตามผมไปบอกว่า ผมต้องไปอยู่กรมสรรพากร" นุกูลเล่าถึงชีวิตในหน้าที่การงานของตนช่วงที่ย้ายจากอธิบดีกรมธนารักษ์ไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร

มาถึงยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร นุกูลถูก สุพัฒน์ สุธาธรรม รัฐมนตรีคลังย้ายไปอยู่กรมบัญชีกลาง เพราะขอร้องให้ช่วยบริษัทที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10 กว่าล้านแล้วนุกูลไม่สนใจแม้นิดเดียวก็เลยถูกย้ายจากกรมอันดับหนึ่งไปอยู่กรมแถวหลัง ๆ เป็นรางวัล!!!

ว่ากันว่าความแข็งของนุกูลนั้นแข็งถึงขนาดเวลาเดินสวนกับรัฐมนตรีคลังที่ชื่อ สุพัฒน์ สุธาธรรม นุกูลแม้กระทั่งเหลือบมองยังไม่มองเลย และไม่ยอมยกมือไหว้รัฐมนตรีด้วย

นุกูลเป็นอธิบดีกรมสรรพากรได้ 3 ปีครึ่ง ซึ่งนุกูลยอมรับว่างานที่นี่หนักมาก ๆ ปี 2521 ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ถัดมาปี 2522 ก็ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการของนุกูล

นุกูลเป็นคนที่มีจุดยืนของตัวเองอย่างแจ่มชัด และเป็นตัวของตัวเองมาก ๆ เป็นคนที่ทำงานอย่างเดียวไม่สนใจที่จะต้องเอาใจใครทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ทุกอย่างจะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของหลักการทำงานอย่างเป็นระบบว่าไปแล้วเขาเป็นคนที่วงการราชการไทยต้องการมาก ๆ เพราะเป็นคนตรงเป็นเส้นตรงและเป็นคนไม่ยอมคนไม่ว่าเป็นใครมาจากไหน

ถ้าผิดจากหลักการไปแล้ว นุกูลจะยอมหักไม่ยอมงอเด็ดขาด ความข้อนี้ทุกคนประจักษ์ชัดแล้วจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลาย ๆ เหตุการณ์

ในมุมกลับการที่เขามีสไตล์ที่แข็งกร้าวเช่นนี้สร้างศัตรูหรือความไม่พอใจให้กับผู้บังคับบัญชาและกน้องไม่น้อย บางคนบอกว่าเขาเชื่อมั่นในตัวเองจนล้นเกินจนคนที่มีความเห็นต่างไปค่อนข้างลำบากใจ

ชีวิตของนุกูลหลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนับได้ว่าเป็นชีวิตของคนว่างงานผู้ยิ่งใหญ่ มีคนมาทาบทามจะให้นุกูลเข้าร่วมงานด้วยหลายราย แต่นุกูลปฏิเสธหมดขออยู่เฉย ๆ ที่บ้านสักระยะหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า "ยังไม่พบงานที่ชอบและถูกใจ"

16 ตุลาคม 2529 มีการจัดแถลงข่าวอย่างใหญ่โตที่สยามกลการว่า นุกูล ประจวบเหมาะจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแทนถาวร พรประภา ซึ่งขึ้นไปเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนร่วมร้อยที่สนใจจะได้คำตอบว่าทำไมนุกูล จึงตัดสินใจมาที่นี่และสยามกลการจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่หรือไม่?

เหตุผลของถาวร พรประภาที่ชี้แจงวันนั้นคือต้องการประสิทธิภาพในการบริหารงานให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเชิญนักบริหารมืออาชีพที่มีความสามารถสูง มีพลัง มีเวลาเต็มที่ให้มาช่วยกันบริหารบริษัทสยามกลการให้เจริญรุดหน้า จึงตัดสินใจเชิญนุกูลเป็นประธานกรรมการ โดยจะให้อำนาจเต็มที่ และแต่งตั้ง ดร. วิชิต สุรพงศ์ชัย จากแบงก์กรุงเทพเป็นกรรมการบริษัทด้วย

"การที่ผมตัดสินใจเข้าทำงานที่สยามกลการก็มีเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ ประการแรก ผมคิดว่าคุณถาวรเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ ซึ่งผมมอง ๆ ดูแล้วมีไม่ค่อยมากนักในสังคมแบนี้ ท่านได้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีหลักฐานมั่นคง เวลานี้ท่านก็บอกตรง ๆ ว่ามีปัญหาบางประการที่มันขยายตัวมาแล้วและเอาคนนอกที่เป็นกลางเข้ามา ถ้าไม่ส่งเสริมก็ขัดกับความรู้สึกเพราะใจผมอยากส่งเสริมระบบนี้อยู่แล้ว อีกประการหนึ่งผมเห็นว่าธุรกิจภาคเอกชนเป็นงานใหญ่และผมไม่เคยทำมาก่อน ประกอบกับช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาต่าง ๆ มีมาก งานนี้จึงเป็นงานท้าทาย" นุกูลให้เหตุผลของการตัดสินใจเข้ารับงานที่สยามกลการ

นุกูลเข้าไปขณะที่บริษัทสยามกลการสะบักสะบอมจากพิษของเงินเยนที่แข็งตัว และการบริหารภายในที่ผิดพลาดจนบริษัทขาดทุน อีกทั้งพรประภาเป็นครอบครัวใหญ่ พี่น้องไม่ค่อยลงรอยกัน

การเข้ามาของนุกูลนอกจากคำขอร้องของถาวรแล้ว แรงบีบของธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่คงมีส่วนอยู่ไม่น้อย ดร. อำนวย วีรวรรณซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพเป็นเพื่อนสนิทนุกูลคงจะเป็นแรงหนุนส่งอีกทางและชาตรียังส่งมือขวาอย่าง ดร. วิชิตเข้าไปคุมอีกแรงหนึ่งด้วย

เวลาผ่านไป 1 ปี 5 เดือน การลาออกอย่างกระทันหัน เป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของคนในวงการว่าทำไม? ครึกโครมไม่แพ้ตอนที่เข้ามาเช่นกัน

นุกูลให้เหตุผลว่าเขาเข้ามาช่วยจนผลประกอบการดีขึ้น จนมีกำไรในปีนี้กว่าร้อยล้านบาท วิกฤติการณ์ทางการเงินและปัญหาของบริษัทได้คลี่คลายไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ขณะนี้ฐานะของบริษัทมั่นคงขึ้นมาก ภาพพจน์ของบริษัทในสายตาประชาชนทั่วไปก็ดีขึ้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป

แต่แหล่งข่าวในสยามกลการวิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้นุกูลตัดสินใจลาออก เพราะเบื่อหน่ายในสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันของตน (ซึ่งเขาเองมองว่าเป็นแบบสากล) กับคนพรประภา ซึ่งเป็นแบบระบบครอบครัว โดยเฉพาะมีปัญหาขัดแย้งกับคุณหญิงพรทิพย์ซึ่งคาดกันว่าจะเข้าคุมอาณาจักรสยามกลการต่อไปด้วย

นุกูลยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ปัญหามันก็มีบ้างเพราะแบ๊คกราวด์ไม่เหมือนกัน คุณหญิงพรทิพย์จบอะไรมาผมขอถามหน่อย ก็ไม่ได้จบอะไรมาใช่ไหมครับ ความรู้แกไม่ค่อยมีก็ไปเก่งเรื่องประชาสัมพันธ์ และที่บอกว่าผมใช้ระบบแบบแบงก์ชาติเข้ามาซึ่งไม่เหมาะกับธุรกิจเอกชนนั้น แบงก์ชาติเป็นยังไง แบงก์ชาติก็เหมือนกับธุรกิจธรรมดาและที่อ้างอย่างนั้นอย่างนี้ผมถามจริง ๆ ถ้าบอกว่าคุณหญิงมีความสามารถทำไมไม่ตั้งแกเป็นตั้งแต่ตอนที่มีปัญหามาก ๆ ล่ะ"

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติและการทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัว นุกูลเข้าไปเป็นคนกลางที่เหมาะสมมากเพราะเขาไม่เข้าไปเกี่ยวด้วยเขาอยู่ตรงกลาง จัดระบบต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะแก้วิกฤติทางการเงินนั้นทำให้ความขัดแย้งชะลอตัวไปชั่วคราว ทุกคนหันมาทำงาน แต่พอสถานการณ์ดีขึ้นประกอบกับความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ตลอด และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นุกูลมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะอยู่ต่อ

อย่างไรก็ตามถ้ามองไปที่ตัวนุกูลจะเห็นว่าสไตล์การทำงานของเขาสมัยรับราชการที่แข็งกร้าว ไม่แคร์ยังคงดำรงอยู่แม้ว่าจะมาอยู่ในธุรกิจเอกชนแล้วก็ตาม ว่ากันว่าแม้แต่งานที่สยามกลการส่งรถนิสสันไปขายบรูไน ซึ่งเชิญประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมมาเปิดงาน นุกูลไม่ได้เอาใจใส่ออกไปต้อนรับยังนั่งอยู่ในที่ของตนเองอย่างไม่สนใจ อันนี้เป็นเครื่องชี้บอกเหมือนกันว่าเขายังไม่ปรับตัวเข้ากับคนและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ดูเหมือนทุกคนจะต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้ากับเขาเสียมากกว่า

ซึ่งตรงนี้เขาต่างจาก ดร. อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเคยประสบชะตากรรมคล้ายกันในเรื่องที่ถูกปลดจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลางอากาศเช่นกัน แต่ ดร. อำนวยได้เปรียบตรงเขาถูกปลดก่อนนานกว่า เขาเคยเป็นประธานสหยูเนียนกรุ๊ป เป็นรัฐมนตรี ก่อนที่จะมาเป็นประธานแบงก์กรุงเทพ ดร. อำนวยเป็นคนอ่อนนอกแข็งใน และเป็นคน COMPROMISE มาก ๆ ที่สำคัญคือเขาเล่นการเมืองเป็น ทุกวันนี้ ดร. อำนวยจึงอยู่ในแบงก์กรุงเทพได้อย่างสบาย ๆ ทั้ง ๆ ที่วิกฤติการณ์ความขัดแย้งมาหลายครั้งหลายหน

นุกูลที่สยามกลการยังเป็นคนหยิ่งยโสทระนงในตนเองและเลือกที่จะทำงานในสไตล์ของตัวเอง เป็นคนที่ยังทั้งแข็งนอกและใน ซึ่งในที่สุดก็หักอีกครั้งหนึ่งที่สยามกลการ

หลายคนกล่าวว่าสไตล์การทำงานของเขาไม่เหมาะกับองค์กรไหนในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมประนีประนอม เขาน่าจะเหมาะกับงานแบบที่ธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพราะเขาจะได้โชว์ฝีมือในการทำงานของเขาได้เต็มที่

อนาคตของคนเก่งอย่างนุกูลนั้นว่าไปแล้วเขายังน่าจะไปได้อีกไกลด้วยวัยเพียง 59 ปี แต่จะมีงานอะไรที่เหมาะกับศักยภาพแบบเขา เป็นสิ่งที่เขาจะต้องคิดต่อไปอย่างรอบคอบ บางคนบอกว่าเขาพลาดที่ตัดสินใจผิดในการเข้ามาร่วมงานกับตระกูลที่มีปัญหาโดยตัวของตัวเองค่อนข้างมาก และต้องเดินจากไปอย่างไม่ค่อยสบอารมณ์นัก

แม้แต่เพื่อนสนิทเขา เกษม จาติกวณิช เจ้าของฉายาซูเปอร์เคยังบอกว่า "นุกูลเป็นคนเก่ง แต่โชคร้าย" "ผู้จัดการ" เดาว่าคงจะโชคร้ายที่ลงเรือผิดลำ ซึ่งความจริงชะตากรรมของคนคู่นี้ก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่มาก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us