เรื่องของพ่อค้าหัวใสที่ต้องการขายรถให้คล่องขึ้นและฟันกำไรเป็นกอบเป็นกำในเวลาจำกัด
ก็เลยดัดแปลงรถให้เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็วุ่นตรงที่ต้องหาทางหลบภาษีการค้าที่เกิดจากการดัดแปลง
เรื่องเข้าไปเกี่ยวข้องกับตำรวจระดับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพและรับจดทะเบียน
กระทั่งมีการสอบสวนหวังจะเอาผิดกันถึงขั้นไล่ออกจากราชการ แต่เผอิญเรื่องนี้โยงกันยุบยับ
จึงลงเอยแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่หลายคนวาดหวังไว้
"แม่ง…บาปฉิบหาย…ถ้านายตำรวจห้าคนต้องถูกให้ออกจากราชการคนที่ทำอย่างนั้นใจคงสกปรกน่าดู
ตายไปคงไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด"
ก็คงเป็นความพอใจของคนบางกลุ่มที่อยากจะเห็นบทสรุปของคดีเบนซ์แวน ไม่ต้องออกมาเหมือนมวยล้ม
ไม่งั้นแล้วก็มิอาจคาดเดาได้เลยว่า ผรุสวาทที่คุคลั่งไปด้วยความเคียดแค้น
ชิงชัง อย่างที่หนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับคดีนี้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ก่อนการตัดสินคดีนี้ 7 วัน จะได้รับการปฏิบัติตอบสนองอย่างไรในอนาคต
"หนี้แค้น" ของใครกับใครที่ระเริงร่านอยู่ในระบบราชการไทย ซึ่งคร่ำครึและน้ำเน่าเหลือที่สุดแล้วนั้นเป็นเพียงปลีกย่อยที่
"ผู้จัดการ" ไม่อยากจะกล่าวถึงมากนัก ทว่าเรื่องราวของเบนซ์แวนที่บางคนสรุปกันอย่างง่าย
ๆ ว่ามันเป็นเพียงความผิดธรรมดา ๆ เป็นเพียงการทำงานที่บกพร่องเล็กน้อย ซึ่งเป็นบทสรุปที่เราออกจะพบอยู่บ่อย
ๆ จนแทบจะชินชาไปเสียแล้วนั้น
ในสายตาของ "ผู้จัดการ" กับกรณีนี้เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน!!!!
หนึ่ง-คดีที่ยังค้างคาสำหรับการฟ้องร้องของเจ้าของรถ 15 คันกับกรมตำรวจเป็นสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นและน่าที่จะยังคลางแคลงใจอยู่ไม่น้อยว่า
เบนซ์แวนเจ้าปัญหานั้นเป็นเรื่องราวที่รู้ว่าจะถูกหลอกแล้วเต็มใจให้หลอกหรือเปล่า!?
มันไม่ง่ายเหมือนที่ใครบางคนพูดว่า "ก็ในเมื่อเก็บภาษีผิดไปร้อยสองร้อยล้านเราก็เรียกเก็บย้อนหลังได้"
จริงอยู่…เรียกเก็บน่ะอาจจะเก็บได้แต่ความอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย
หากขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ จะคำนึงถึงความถูกต้อง ความละเอียดรอบคอบ
และมีวิญญาณที่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นบรรทัดฐานยึดเหนี่ยว
และถามจริง ๆ เถอะว่าถ้าคดีฟ้องร้องนั้นพลิกกลับไปในทางตรงกันข้ามกันที่ว่าการเสียภาษีแต่แรกนั้นเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว
ความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นมาภายหลัง ใครบ้างที่จะกล้าหาญออกมารับผิดชอบ
สอง-กรณีเบนซ์แวนนี้พิสูจน์ให้เห็นแจ่มชัดอีกครั้งหนึ่งว่า นี่คือภาพสะท้อนความหละหลวมของกฎหมายไทยที่อุดมไปด้วยช่องโหว่มากมาย
ช่องโหว่ที่ไม่เคยถูกกลบจนกลายเป็นหนทางเปิด ให้ข้าราชการมักมากบางคนสมคบกับพ่อค้าเห็นแก่ได้บางกลุ่มร่วมกันตักตวงผลประโยชน์อย่างน่าอิดหนาระอาใจ
"รถเบนซ์" นั้นเป็นรถราคาเรือนล้าน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด คำว่า
"WHEN INNOVATION BECOME TRADITION" ก็สามารถบ่งบอกความเป็น "อีกระดับหนึ่ง"
ของทั้งตัวรถ และผู้เป็นเจ้าของอยู่ในที
ส่วน "กองทะเบียน กรมตำรวจ" ก็เป็นที่ทราบกิตติศัพท์กันเป็นอย่างดีว่า
เป็นหน่วยราชการอีกแห่งหนึ่ง ที่เป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ให้แก่ตำรวจมาทุกยุคทุกสมัย
ทั้งสองสิ่งมีภาพพจน์ในสายตาคนทั่วไปแสดงถึง "ความยิ่งใหญ่"
บวกกับอำนาจบ่อยครั้งง้างได้ด้วยเงิน
ทำให้เรื่องของรถราคาแพงกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีตั้งแต่ระดับรองสารวัตร
พันตำรวจเอก พลตำรวจตรี หรือแม้กระทั่งพลตำรวจโทที่สมัยหนึ่งเป็นถึงผู้ช่วยอธิบดีฯ
กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวอีกเรื่องหนึ่ง
เป็นเรื่องที่ประกอบเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ โดยมีข่าว "เงินใต้โต๊ะ"
หรือผลประโยชน์หลายสิบล้านบาทร่วมสมทบ และลามปามเป็นการต่อสู่เลื่อยขาเก้าอี้ตำแหน่งต่าง
ๆ ที่อาจว่างลงผสมผเสเข้าไปอีก
ปี 2526-2527 เป็นปีที่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยบูมมาก โดยเฉพาะ "รถปิคอัพ"
ที่เป็น "รถเอนกประสงค์"
สามารถใช้เป็นรถส่วนบุคคล หรือรถบรรทุกก็ได้ตามแต่โอกาสและวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน
รถปิคอัพอย่างเดียว มียอดขายรวมทั่วประเทศถึง 44,410 คัน ซึ่งเนื่องมาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญก็คือ ภาวะเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น อัตราดอกเบี้ยลดลง
ขณะนั้นทั้งโตโยต้า อีซูซุ ไดฮัทสุ ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหันเข้ามาจับรถประเภทนี้อย่างเต็มที่และได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
ธนบุรีพานิช หลังจากขายเบนซ์ 230 และ 230 อี ไปได้ไม่นาน ก็เกิดไอเดียที่จะทำรถปิคอัพเบนซ์
ออกมาทดลองขายดูบ้าง ซึ่งคณะผู้บริหารก็ไม่รอช้า สั่งส่วนหัวของเบนซ์และแชสซีสมาจากเยอรมนี
จากนั้นก็นำมาประกอบ เป็นรถปิคอัพเบนซ์ ขึ้นสองคันเป็นตัวอย่าง
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ลูกค้าของเบนซ์เป็นคนระดับไหน??!!
ธนบุรีพานิชจึงเปิดตัว "รถปิคอัพเบนซ์" ใหม่ ขึ้นที่ "แบงก์กรุงเทพ"
โดยเชื้อเชิญพ่อค้า นักธุรกิจมากมาย เพื่อนำเสนอ "สินค้าใหม่"
รวมทั้งมีการสอบถามลูกค้าที่มาในงานว่ารถรุ่นนี้น่าจะ "ไปได้ไกล"
แค่ไหนด้วย?
"ผลออกมาทำเอาเขาสะอึกไปเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่มีแค่ประมาณครึ่งต่อครึ่งที่สนใจ"
คนในวงการบอกกับ "ผู้จัดการ"
การเปิดตัวรถปิคอัพเบนซ์ครั้งนี้ ทำให้ธนบุรีพานิชต้องยุติโครงการนี้ลง
แต่สรุปความต้องการของลูกค้าที่ซื้อรถเบนซ์เป็นประจำอกมาได้หลายข้อ
นั่นคือถึงแม้จะเป็นเพียงรถปิคอัพแต่ราคาก็ยังสูงกว่ารถปิคอัพยี่ห้ออื่น
และค่อนข้างเป็นการทำให้ภาพพจน์ความเป็น "เบนซ์" ในสายตาของคนส่วนใหญ่ด้วยลงไป
แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็แสดงความต้องการออกมาชัดเจนว่า ต้องการรถเบนซ์เอนกประสงค์ทั้งสามารถใช้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ในคันเดียวกัน
เพียงแต่อย่าให้มันดูเป็นปิคอัพเท่านั้นแหละ!!
"ตอนนี้ปิคอัพทั้งสองคันก็ยังอยู่นะ แต่ใช้ขนของอยู่ในโรงงานเบนซ์"
แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีบอกถึง "ความเป็นอยู่" ของรถรุ่นที่นำออกมาแล้วไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรนี้
พลาดจากปิคอัพอีกไม่นานต่อมาธนบุรีพานิชก็หันไปคว้าเบนซ์แวน
การที่ธนบุรีพานิช นำเอา "เบนซ์แวน 300 ทีดี" มาขายในเมืองไทย
ถ้าจะใช้คำว่า "สถานการณ์บังคับ" คงจะดีกว่า "บุญพาวาสนาส่ง"
มากนัก
ตอนนั้นเบนซ์กำลังเปลี่ยนโฉมรุ่น 230 อี ทำให้มีช่วงว่างอยู่ประมาณ 7-8
เดือน ซึ่งในเมืองไทยขณะนั้นมีรถแวนหรือสเตชั่นแวกอนยี่ห้ออื่น ๆ ออกมาวิ่งอยู่บ้างและได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากนี้ทาง DAIMLER-BENZ ที่เยอรมนีซึ่งเบนซ์แวน 300 ทีดี ออกมาขาย ก็กำลังจะทิ้งอุปกรณ์เครื่องมือต่าง
ๆ รวมทั้ง JIG (แม่แบบ) เดิมเพื่อเปลี่ยนรูปแบบใหม่
ธนบุรีพานิชเห็นว่าว่าง ๆ ก็อยากจะสั่งรถรุ่นนี้เข้ามาขายในประเทศไทย
แต่การสั่งรถยนต์จำนวนมากเข้ามาค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงไม่น้อย ถึงแม้จะได้ราคาต่ำเพราะเป็นล็อตสุดท้าย
แต่หากขายไม่ได้ แค่ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากการที่รถเข้ามาแล้วจอดอยู่เฉย
ๆ วันหนึ่ง ๆ ก็ทำให้หนาว ๆ ร้อน ๆ ไปได้เหมือนกัน
เพราะถึงแม้จะเป็น "เบนซ์" แต่เป็นรุ่นใหม่ แบบใหม่ที่ไม่เคยขายในเมืองไทยมาก่อน
ก็เลยมีการขอร้องดีลเลอร์ทั้ง 14 แห่ง เป็นแบบ GENTLEMAN AGREEMENT ที่ให้แต่ละดีลเลอร์ช่วยกันสั่งไปขายต่อในลักษณะ
"ขายขาด" โดยมีโค้วยู่ฮะกับยงวัฒนาธุรกิจ หรือ "เบนซ์ทองหล่อ"
แบ่งไปมากที่สุด ประมาณรายละ 70-80 คัน
"เขาหวังแค่จะทำรถเบนซ์ราคาถูกขึ้นมาขายสักล็อตหนึ่งเป็นการปิดไลน์สินค้าตัวนี้ให้บริษัทที่เมืองนอกไปด้วยในตัว
และที่สำคัญก็คือทำให้บริษัทมีรายได้ จ่ายค่าใช้จ่ายให้พนักงานเท่านั้นจริง
ๆ แทนที่จะอยู่ว่าง ๆ แต่ค่าใช้จ่ายยังต้องมี" คนที่รู้เรื่องดีบอกกับ
"ผู้จัดการ"
ธนบุรีพานิชตกลงกับดีลเลอร์ได้ก็จริง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเสียภาษีอย่างไร?
เพราะรถแบบที่ว่านี้ยังไม่มีใครนำเข้ามาก่อน
เพื่อความแน่ใจ ธนบุรีพานิชก็นำร่องโดยส่งคนเข้าไปถามศุลกากรว่า ถ้าจะทำอย่างนี้
เอารถแบบนี้เข้ามา จะต้องเสียภาษีอะไร? อย่างไร? และเท่าไหร่?
"เขาบอกว่าต้องเอารถมาดู ต้องเอาเบาะมาวัด เอาตัวอย่างมาให้ดู ไม่มีการประเมินให้
เขาก็กลัวเหมือนกันว่า ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา เราจะเอาเอกสารที่เขาให้เราย้อนศรกลับไปอีก"
แหล่งข่าวบอก
ธนบุรีพานิชจึงอยู่ในสภาพเหมือน "ไม่เข้าถ้ำเสือ ไหนเลยจะได้ลูกเสือมา"
อย่างช่วยไม่ได้ ก็เลยต้องวัดดวง นำเข้า "เบนซ์แวน 300 ทีดี" จำนวน
503 คัน โดยเสียภาษีศุลกากร 9% ของราคาขาย
เป็นการเสียภาษีของรถยนต์บรรทุก เพราะตอนที่นำเข้ามานั้น เป็นรถแวนสองที่นั่ง
ที่ด้านหลังเป็นตู้ทึบ
"รถลงจากเรือมาไม่ทันไร ดีลเลอร์ก็เอาไปจนหมด เขาขายกันหกแสนกว่านิดหน่อย
แต่หมดไปตั้งแต่คันแรกยังไม่จดทะเบียนกับกองทะเบียนด้วยซ้ำ" แหล่งข่าวในวงการรถยนต์บอกถึงความสำเร็จในการขายรถรุ่นนี้กับ
"ผู้จัดการ"
มีเหตุผลสองประการที่ทำให้เบนซ์แวนเป็นที่ต้องการของดีลเลอร์เกินคาด อย่างแรกปกติราคารถเบนซ์ที่ขายทั่วไปจะอยู่ประมาณเกือบหนึ่งล้านบาท
แต่ราคารถเบนซ์แวนเพียงหกแสน
อีกประการหนึ่งคือ สภาพของตัวเองเอง ที่เป็นรถเอนกประสงค์ เป็นทั้งรถส่วนบุคคลและสามารถเป็นรถบรรทุกไปด้วยในตัวก็เลยคิดว่าน่าจะขายระเบิด!!
แต่รถออกมาวิ่งไม่นาน คนใช้ก็เห็นความไม่สะดวกที่ด้านหลังเป็นตู้ทึบ แตกต่างจากปิคอัพดัดแปลง
และสเตชั่นแวกอนที่วิ่งกันเกลื่อนถนนขณะนั้น
"ดีลเลอร์ก็ต้องพยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นรถบรรทุก ถ้าไปดัดแปลงกฎหมายบอกไว้ว่า
คนไปจ้างต้องเสียภาษีเองนะ" ดีลเลอร์รายหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"
ถึงความยากลำบากในการขายต่อให้ลูกค้า
ถึงแม้ลูกค้าเบนซ์ส่วนใหญ่จะจัดว่าเป็นลูกค้าเงินถุงเงินถังอยู่แล้ว แต่กับการต่อเติมดัดแปลงรถที่ต้องเสียเงินจากเดิมแน่นอนบวกกับภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม
แต่ไม่รู้แน่ว่าเท่าไร? ทำให้การขายช่วงนั้นยากขึ้นอีกอักโข
ในจำนวนดีลเลอร์ทั้งหมด ก็มี "ยงวัฒนาธุรกิจ" หรือ "เบนซ์ทองหล่อ"
ดีลเลอร์ขายโตโยต้าเก่าแก่จากกาญจนบุรี ที่มาเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ ที่ซอยทองหล่อรวมอยู่ด้วย
วสันต์ โพธิพิมพานนท์ กรรมการผู้จัดการยงวัฒนาธุรกิจ รับออเดอร์ดัดแปลงรถของลูกค้ามาจำนวนหนึ่ง
และคันแรกที่ผ่านการดัดแปลงก็คือรถของเขาเอง และเป็นรถเบนซ์แวนคันแรกที่นำไปจดทะเบียนกับกองทะเบียนกรมตำรวจ
"วสันต์เขาไปจดทะเบียนตอนนั้น พวกเราก็รอดูอยู่ เพราะอยากรู้ว่าจะเสียภาษีแบบไหน
เท่าไร" แหล่งข่าวบอกกับ "ผู้จัดการ"
วสันต์เองถึงแม้เขาจะเป็นคนที่ LOW PROFILE แต่คนในวงการรวมทั้งลูกค้าประจำของ
"เบนซ์" ทุกคนเชื่อถือยกย่องและให้เครดิตเขาอย่างสูงตลอดมา
กับการจดทะเบียนครั้งนี้ เขาจึงต้องกลายเป็น "ทัพหน้า" ไปอย่างไม่รู้ตัว
เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า ถ้าเป็นการดัดแปลงรถให้นั่งได้ 11 คน โดยผู้ที่ดัดแปลงนำไปใช้เองไม่ได้นำไปขาย
ไม่ต้องเสียภาษี
"นั่นก็คือลูกค้านำมาให้อู่ดัดแปลงไม่ใช่ดีลเลอร์ดัดแปลงเอง เพราะถ้าอย่างนั้นจะเป็นการดัดแปลงเพื่อขายที่ดีลเลอร์รู้อยู่แล้วว่าต้องเสียภาษี"
ดีลเลอร์รายหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"
ช่องโหว่นี้ทำให้ดีลเลอร์ต้องทำสัญญากับลูกค้าสองฉบับ ฉบับแรกเป็นสัญญาซื้อขาย
อีกฉบับเป็นสัญญาว่าจ้างดีลเลอร์ดัดแปลงรถให้ เพราะถ้าไม่มีสัญญาฉบับนี้ก็เท่ากับว่าดีลเลอร์ทำขึ้นมาเพื่อขายต้องเสียภาษีแน่นอนไม่ว่าจะทำเป็นรถมีที่นั่งเกิน
11 คนหรือไม่ก็ตาม
ซึ่งหากเป็นผู้ที่มิได้ศึกษากฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ ก็อาจมองว่าดีลเลอร์พยายามปัดภาระให้ตกอยู่กับผู้ซื้อดังที่เป็นข่าวกัน!?!
เบนซ์แวนส่วนตัวคันแรกของวสันต์ที่ดัดแปลงออกมา จึงมักษณะเพิ่มเติมแตกต่างจากเดิมที่เป็นเบนซ์แวนตู้ทึบหลายอย่าง
เจาะกระจกตอนกลางและตอนหลัง เพิ่มที่นั่งด้านหลังคนขับ และเพิ่มที่นั่งสองตอนช่วงท้ายเข้าไป
จุดนี้เป็นจุดแรกที่ถูกมองว่าเป็นการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อหาประโยชน์
เพราะกฎกระทรวงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2524 ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.
2522 ระบุว่า "จำนวนคนโดยสารอย่างมากสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน
และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ให้คำนวณโดยถือเกณฑ์ระยะที่นั่ง 40 เซ็นติเมตรต่อหนึ่งคน
ถ้าระยะช่วงสุดท้ายของที่นั่งเหลือระยะไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ให้นั่งได้อีกหนึ่งคน…"
"วสันต์เขาก็เลยใส่เบาะรถเบนซ์ที่ค่อนข้างหนาหน่อยเข้าไป ความยาวไม่ต้องพูดถึงเขาใส่เข้าไปตอนนั้น
115 ซม. เหลือเฟือ" คนที่รู้เรื่องดีเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
วสันต์ไม่ได้ไปจดทะเบียนที่กองทะเบียนเอง แต่ใช้ลูกน้องไป ปรากฎว่าเรื่องกลับเงียบหายไปเฉย
ๆ เขาจึงต้องไปด้วยตนเอง
วสันต์ยื่นขอจดทะเบียนรถเบนซ์แวนของเขา พร้อมเอกสารที่ต้องยื่นประกอบการขอดัดแปลง
ต่อเจ้าหน้าที่แผนกตรวจสอบสภาพ มี พ.ต.ต. สนิท ชำนาญไพร เป็นสารวัตรแผนกตรวจสอบรถยนต์
ในวันที่ 2 เมษายน 2529 อีกครั้ง
เจ้าหน้าที่ทำการวัดแล้ว ก็ทำบันทึกว่านั่งได้ไม่เกิน 11 คน
"คุณสนิทแกก็ลำบากใจมาก กฎหมายที่กำหนดไว้ไม่ชัดเจน แกบอกกับวสันต์เลยว่า
แกไม่มีอำนาจตัดสินใจ แถมเป็นรถเบนซ์อีก ถ้ามีเรื่องขึ้นมาจะเป็นเรื่องใหญ่"
คนที่อยู่ในเหตุการณ์บอก "ผู้จัดการ"
เมื่อไม่รับจดทะเบียน วสันต์ก็นำรถกลับไปดัดแปลงใหม่
พ.ต.ต. สนิท เห็นว่าเรื่องนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตที่ตนเองรับผิดชอบอยู่จึงทำหนังสืออ้างกฎกระทรวงฉบับที่
3 หารือต่อ พ.ต.ต. กมล โรจนพันธ์ ผู้กำกับการ 3 กองทะเบียน และ พล.ต.ต. วิธาน
วรินทราคม ผู้บังคับการกองทะเบียนตามลำดับ
ซึ่งเป็นไปตามสายการบังคับบัญชาปกติของกองทะเบียน ที่การพิจารณาเรื่องทะเบียนรถยนต์มีลำดับชั้นของนายทะเบียน
มีนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ก็คือ ผู้กำกับการ 3 กองทะเบียนตามกฎหมาย
นายทะเบียนทั่วราชอาณาจักรมี 2 คน คือ ผู้บังคับการกองทะเบียน (ผบ.กท.)
เป็นนายทะเบียนทั่วราชอาณาจักรด้านการปฏิบัติและผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
(ผบ.ชก.) เป็นนายทะเบียนทั่วราชฯ ด้านนโยบาย
พล.ต.ต. วิธาน จึงทำหนังสือหารือ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ ผบ.ชก. มาในวันเดียวกัน
ซึ่งเนื้อความในหนังสือทั้งหมดก็บอกว่าที่นั่งของรถคันนี้ตามกฎกระทรวงนั่งได้
11 คน
"ตรงนี้แหละที่มองกันว่าผู้ใหญ่ทุจริต เพราะเรื่องขึ้นมาเร็วจริง
ๆ แถมยังมีข่าวออกไปอีกว่ามีฮอทไลน์สายตรงมาจากข้างบน ให้ช่วยผ่านเรื่องไปเร็ว
ๆ" อดีตนายตำรวจท่านหนึ่งแสดงความเห็น
ฮอทไลน์สายที่ว่า หนังสือพิมพ์หลายฉบับบอกว่ามาจาก พ.ต.อ. อัมรินทร์ เนียมสกุล
นายเวรประจำตัวของ พล.ต.อ. ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมีพ่อชื่อประหยัด
เนียมสกุล ถือหุ้นอยู่ในยงวัฒนาธุรกิจ ที่วสันต์เป็นเจ้าของและนำรถมาจดทะเบียนอยู่
วสันต์รู้จักชื่อประหยัด เนียมสกุลครั้งแรก ก็เมื่อเขามาตั้งเป็นดีลเลอร์ที่กรุงเทพฯ
ได้ไม่นาน เพื่อนที่เป็นดีลเลอร์ของโตโยต้า ราชบุรี ก็มาบอกว่าให้ช่วยหางานให้ประหยัดหน่อย
ให้เป็นเซลส์ขายรถเบนซ์ก็ได้
"ผมบอกเพื่อนไปว่าให้พาแกมาหาผม แต่ผมก็บอกเพื่อนไปด้วยว่าที่ผมขายอยู่ทุกวันนี้ก็ลดราคาลงมากนะ
กลัวว่ากำไรที่แกจะได้จะน้อยไป…ตอนนั้นผมยังไม่เคยเห็นหน้าคุณประหยัดด้วยซ้ำ"
วสันต์ บอก "ผู้จัดการ"
วสันต์ พบประหยัดครั้งแรกก็ในงานเลี้ยงพ่อค้าใหญ่คนหนึ่งของเมืองกาญจน์
เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา วันนั้นเขานั่งติดกับประหยัดพอดี
"เจ้าภาพเขาแนะนำว่าวันนี้ดีใจมากที่มีเพื่อนคนหนึ่งมาร่วมงาน ทั้ง
ๆ ที่เพื่อนคนนี้ไม่ชอบออกงานเลย แล้วเขาแนะนำชื่อคุณประหยัด ผมก็นึกในใจว่าคนนี้เองหรือ
แต่ก็ไม่ได้แนะนำตัวเอง" วสันต์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง และบอกว่า
ยิ่ง พ.ต.อ. อัมรินทร์ ด้วยแล้ว เขายังไม่เคยเห็นหน้าเลยสักครั้ง
แต่ฮอทไลน์สายนี้จะมาเพราะดีลเลอร์รายอื่นหรือไม่ อย่างไร "ผู้จัดการ"
ไม่ทราบ??!!
หนังสือของ พล.ต.ต. วิธาน ผ่านมายัง พล.ต.ต. ผลึก สุวรรณเวช ที่ตอนนั้นเป็นรอง
ผบ.ชก. ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณางานกองทะเบียนจาก พล.ต.ท. เสมอ
พล.ต.ต. ผลึกจึงทำหนังสือเสนอต่อ พล.ต.ท.เสมอให้พิจารณา และเสนอไปด้วยว่าควรส่งเรื่องให้ฝ่ายวิชาการพิจารณาว่า
โดยสภาพที่นั่งที่เปลี่ยนแปลงจะเข้าข่ายที่สรรพากรจะพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลรัษฎากรอย่างไร
ซึ่ง พล.ต.ท. เสมอ ได้สั่งการให้ พล.ต.ต. สุพาสน์ จีระพันธ์ ผู้ช่วย ผบ.ชก.
(อดีตผู้พิพากษา) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในข้อกฎหมายที่มีปัญหาในช่วงนั้นศึกษาเรื่องดู
"ความจริงท่านทั้งสามก็รู้ว่ามัน "คาบลูกคาบดอก" มันน่าจะได้
แต่เรื่องมันไม่ใช่เล็ก ๆ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีที่กองทะเบียนเองไม่มีความรู้เรื่องนี้
ก็เลยตัดสินใจกันไม่ถูก" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีบอก "ผู้จัดการ"
เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำกันมาก่อน แล้วนายทะเบียนไม่แน่ใจเกิดความสงสัย
ดังนั้นจำเป็นอยู่เองที่ผู้ปฏิบัติต้องยึดถือ "สายการบังคับบัญชาปกติ"
ของตำรวจ คือการถามนโยบายไปยังกรมตำรวจก่อน เมื่อกรมตำรวจเห็นชอบด้วย ไม่ผิดข้อกฎหมาย
กรมตำรวจก็จะให้นายทะเบียนดำเนินการไปได้เลย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ "ตามกฎหมาย"
ของนายทะเบียนอยู่แล้ว
พล.ต.ต. สุพาสน์ ศึกษาเรื่องแล้ว ก็มีหนังสือแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีการค้าอีก
40% ของราคาขาย ซึ่งหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีการค้าเป็นหน้าที่ของสรรพากร
จึงน่าจะเป็นการไม่เหมาะสม ที่นายทะเบียนจะด่วนรับจดทะเบียนโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากกรมสรรพากรก่อน
เมื่อเรื่องจาก พล.ต.ต. สุพาสน์ไปถึง พล.ต.ท. เสมอจึงทำหนังสือหารือการรับจดทะเบียนไปยัง
พล.ต.ท. เภา สารสิน ผู้ช่วย อ.ตร. ฝ่ายกิจการพิเศษ (ในขณะนั้น) ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานกองทะเบียนอยู่ตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจาก
พล.ต.ท. ประเนตร ฤทธิฤาชัย รอง อ.ตร. ฝ่ายกิจการพิเศษ
โดยเสนอไปด้วยว่าน่าจะให้ฝ่ายวิชาการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้อีกครั้งหนึ่ง
หรือทำหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากรตามข้อเสนอของ พล.ต.ต. ผลึกก่อน
ถ้าจะบอกว่า การส่งหนังสือหารือขึ้นไปถึง พล.ต.ท. เภาในครั้งนั้น เป็นต้น
เหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายตามา ก็คงไม่ผิดนัก
เพราะคนใกล้ชิด พล.ต.ท. เภาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่งว่า พล.ต.ท.
เภารู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลที่กองทะเบียนส่งเรื่องขึ้นมาเพื่อดึงตัวเองให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พล.ต.ท. เภา จึงสั่งย้ำ "ย้อนศร" ลงไปให้ พล.ต.ท. เสมอเป็นประธานในการประชุมพิจารณาข้อกฎหมายประกอบการตรวจสภาพรถจริง
ๆ บันทึกความเห็นถ่ายภาพประกอบแล้วสรุปเสนออีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่กรมตำรวจจะไปหารือหน่วยนอกกรมตำรวจซึ่งก็คือกรมสรรพากรนั่นเอง
ซึ่งก็คือต้องการเน้นย้ำว่ากองทะเบียนมีอำนาจตัดสินใจอยู่แล้ว และให้ดำเนินการไปตามอำนาจที่มีอยู่
แม้จะไม่สามารถยืนยันอย่างแน่ชัดถึงคำกล่าวนี้ของ พล.ต.ท. เภา เป็นความมั่นใจหรือเป็นความหวาดระแวงใน
"ข้อมูล" ที่ได้รับมาว่าเป็นเรื่องที่กำลังจะลากตนเข้าร่วมรับผิดชอบในอนาคตก็ตาม
แต่อาจกล่าวได้ว่าถึงแม้จะไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการรับสั่งจดทะเบียนแต่เรื่องนี้
"ขึ้น" ไปถึงสายการบังคับบัญชาปกติของตำรวจได้อย่างน่าสงสัย
ขัดแย้งกับการที่ผู้ใกล้ชิดรวมทั้ง พล.ต.อ. เภาเองพยายามบอกคนทั่วไปว่าความรับผิดชอบของเรื่องราวได้หยุดอยู่แค่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตลอดมาอย่างเห็นได้ชัด
พล.ต.ท. เสมอและคณะกรรมการประกอบด้วย พล.ต.ต. วิธาน วรินทราคม ผู้บังคับการกองทะเบียน
พล.ต.ท. สุวัณชัย ใจหาญ ผู้บังคับการกองคดี พล.ต.ต. บำรุง กาญจนวัฒน์ ผู้บังคับการกองวิชาการประชุมศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง
โดยเริ่มจากข้อกฎหมายก่อน
จากนั้นก็เป็นการตรวจสภาพรถ ที่สร้างปัญหาตามกฎหมายยังหาจุดจบไม่ได้ และพลอยทำให้รถปิคอัพดัดแปลงก่อนหน้านี้โดนหางเลขไปด้วย
ปลายเดือนเมษายน 2529 พล.ต.ท. เสมอกับคณะ ซึ่งเป็นกรมการตรวจสภาพรถนัดวสันต์ให้นำรถเบนซ์แวนมาทำการตรวจที่หน้ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
แต่เนื่องจากคณะกรรมการทั้งสี่ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสภาพรถ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดของกองทะเบียนมาตรวจวัดรถตามที่เคยปฏิบัติ
แล้วนำมาปรับเข้ากับกฎกระทรวงฉบับที่ 3 การตรวจครั้งแรกวัดได้ถูกต้องตามกฎหมายวัดตามความยาวของที่นั่งตอนหลังได้ยาวเบาะละ
115 ซม. ซึ่งตามกฎกระทรวงจึงถือว่านั่งได้ 3 คนตามกฎกระทรวง
แต่เมื่อกรรมการและเจ้าหน้าที่เข้าไปนั่งแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถนั่งได้
สาเหตุที่นั่งไม่ได้ก็เพราะ เบาะที่นำมาใส่เป็นรถเก๋ง เป็นเบาะรถเบนซ์หนาประมาณ
20 ซม. แถมยังเอนมาด้านหลัง เพราะฉะนั้นที่นั่งที่เหลือก็คือวัดจากแนวดิ่งของเบาะที่เอน
นอกจากนี้ตามกฎหมาย พ.ร.บ. รถยนต์รถต้องมีอะไหล่ ยางอะไหล่ของรถอยู่ที่ด้านหลังใกล้กับล้อรถ
ทำให้คนนั่งนั่งได้ไม่สบายเท่าที่ควร เมื่อปิดประตูด้านหลังคนนั่งสุดท้ายต้องค้อมตัวลงเล็กน้อย
"ตอนนั้นคณะกรรมการเขาก็ถกเถียงกัน เขาบอกว่าตามความเป็นจริง นั่งอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญที่สุดก็ยังเป็นเพราะรถคันนี้เป็นเบนซ์ เขากลัวว่าถ้าปล่อยไปง่าย
ๆ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่" วสันต์ตัดพ้อให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงปัญหาที่เกิดกับเขาตอนนั้น
คณะกรรมการชุดนั้นจึงยังไม่อนุาตให้จดทะเบียนได้แต่เนื่องจากเป็นการขอตรวจสภาพมาขอดัดแปลงเพื่อจดทะเบียน
เมื่อไม่อนุญาตคณะกรรมการก็ไม่มีสิทธิที่จะยึดรถไว้ วสันต์จึงได้นำรถกลับไป
สามวันต่อมา วสันต์ก็นำรถมาให้ตรวจสภาพอีกครั้ง
ซึ่งการตรวจวัดในครั้งที่สองนี้ เป็นวสันต์เองที่ขอนัดคณะกรรมการก่อนแล้วตั้งแต่การตรวจวัดครั้งแรกไม่ผ่าน
ครั้งแรกนั้นวสันต์เตรียมรถมาโดยคิดจากพื้นฐานกฎหระทรวงฯ ที่วัดจากความยาวของเบาะเท่านั้น
ซึ่งเขาไม่คิดมาก่อว่าคณะกรรมการจะเข้าไปนั่งบนรถด้วย
ครั้งนี้เขาก็เลยเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงส่วนที่เป็นปัญหาในครั้งแรกหลายอย่าง
วสันต์เอาเบาะรถเบนซ์ที่เอนล้ำไปด้านหลังออก เอาเบาะรถญี่ปุ่นที่บางกว่าเดิมเป็นพนักพิงที่ตั้งตรงใส่เข้าไปแทน
แล้วเพิ่มความยาวของเบาะขึ้นไปอีกเป็น 120 ซม.
ยางอะไหล่ที่อยู่ตอนหลังเปลี่ยนไปไว้ที่นั่งตอนกลางด้านขวาหลังคนขับ
ครั้งนี้นั่งได้ สภาพที่นั่งดีกว่าครั้งแรก เบาะก็วัดได้ตามกฎกระทรวง คณะกรรมการฯ
จึงลงความเห็นว่าควรอนุญาตจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่ง 11 คนได้ และถ่ายภาพการตรวจสภาพรถไว้ด้วย
พล.ต.ท. เสมอ ทำหนังสือสรุปความเห็นของคณะกรรมการฯ พร้อมเอกสารและภาพถ่ายการตรวจวัดรถทั้งสองครั้ง
เสนอต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่าน พล.ต.ท. เภาอีกครั้ง
"ถึงแม้ว่าคุณเสมอจะเป็น ผบ.ชก. เป็นนายทะเบียนทั่วราชฯ อยู่แล้ว แต่ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่
ไม่เคยมีมาก่อน จึงน่าจะให้กรมตำรวจเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งให้มีการหารือกับกรมสรรพากรตามหนังสือที่ส่งไปในครั้งแรกก่อน"
ผู้รู้เรื่องดีวิเคราะห์ให้ฟัง
จากจุดนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น "ธรรมชาติ" การทำงานของผู้ใหญ่ในวงราชการไทยที่
"ผู้จัดการ" ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะสิ่งใดก็เหลือจะเดา ที่ พล.ต.ท.
เภาในครั้งนั้นไม่ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งให้แน่ชัดลงไป
เพราะไม่ว่าจะแน่ใจได้หรือไม่ก็ตาม ตามสายการบังคับบัญชาปกติของตำรวจ การสั่งระงับการจดทะเบียนไว้ชั่วคราว
สำหรับรถเบนซ์แวนก็น่าจะทำได้ เพราะนี่เป็นรถเบนซ์แวนก็น่าจะทำได้ เพราะนี่เป็นรถเบนซ์แวนดัดแปลงคันแรกที่นำมาดัดแปลงจดทะเบียน
ถึงแม้ พล.ต.อ. เภาจะไม่มีอำนาจตาม "กฎหมาย" ที่จะสั่งรับหรือไม่รับจดทะเบียน
อาจไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่ได้เป็น "ผู้ปฏิบัติ"
เป็นผู้เห็นรถ วัดรถ ทดลองตรวจสอบด้วยตนเอง หากแต่ได้มีการศึกษาเรื่องที่นำเสนอขึ้นมาอ่าง
"ละเอียดรอบคอบ" และยังรวมไปถึงความเป็นไปได้ในข้อมูลที่ "เชื่อถือได้"
ว่าคณะกรมการชุดนี้ "มีแผน" ที่จะดึงให้ร่วมรับผิดชอบด้วย ก็ยิ่งน่าจะทำให้
พล.ต.ท. เภาในฐานะ "ผู้บังคับบัญชา" สั่งการลงไปในลักษณะ "ตัดไฟแต่ต้นลม"
ทำการศึกษาข้อกฎหมายร่วมกับกรมสรรพากรให้แน่ชัดเสียก่อน!!!
"ผู้จัดการ" ไม่ขอกล่าวถึง "รายละเอียดทั้งหมด" ที่มีในหนังสือซึ่ง
พล.ต.อ. ดำริ นิสสัยพันธุ์ รองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นผู้ร่างและ
"ตั้งแท่น" ให้ พล.ต.อ. เภาเซ็น และส่งต่อให้ พล.ต.ท. ประเนตรรอง
อต.ร. ลงนามสั่งการเป็นลำดับสุดท้ายนั้น
หนังสือที่นิตยสารและหนังสือพิมพ์บางฉบับ ชมเชยว่าเป็นหนังสือที่ร่างได้รัดกุมที่สุดจนเป็นไปไม่ได้ว่า
จะเอาผิด "ทางกฎหมาย" กับ พล.ต.ท. เภา
แต่ก็เป็นหนังสือหรือคำสั่งฉบับเดียวที่ต่างฝ่ายต่างพยายามให้ฝ่ายตรงข้ามรับผิดชอบให้ได้
ข้อความทั้งหมดในหนังสือเล่มนั้น "ผู้จัดการ" เชื่อมั่นว่าหนังสือพิมพ์
และนิตยสารหลายฉบับได้นำมาตีแผ่ ศึกษาวิเคราะห์จนถึงระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจหลายประการ
เริ่มจากการที่ พล.ต.ท. เภาอ้างในหนังสือฉบับดังกล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ในสำนักงานผู้ช่วย
อ.ตร. ของตน นำเรื่องนี้ไปหารือ ดร. อักขราทร จุฬารัตน์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ซึ่ง พล.ต.ท. เภาขอให้ช่วยงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจตราควบคุมแร่
ตรงกันข้ามกับ ดร. อักขราทรที่ปฏิเสธการให้คำปรึกษาเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ"
อย่าง "หนักแน่น" (โปรดอ่านล้อมกรอบ "เภา VS อักขราทร…ใครโกหก??)
ข้อเสนอที่สั่งให้นายทะเบียนทั่วราชอาณาจักร พิจารณาว่ารถยนต์ที่นำมาดัดแปลงภายหลังผลิตจากโรงงาน
แล้วนำไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งได้ 11 คนโดยไม่มีปัญหามาก่อนมีหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหา
ให้นายทะเบียนทั่วราชฯ พิจารณาสั่งตามอำนาจของตน
เมื่อรวมกับข้อเท็จจริง และข้อพิจารณาในหนังสือฉบับนั้น จะเห็นได้ชัดว่า
ข้อความในตอนต้นเห็นด้วยทุกอย่าง
"มันก็เหมือนกับว่า ผมถามท่าน ท่านให้ผมตัดสินใจเอง พอมีเรื่องก็บอกว่ากูไม่รู้
มึงไปว่ากันเองว่าถูกหรือผิด" คนในวงการคนหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องยุ่ง
ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะข้อความนี้
แต่อาจจะไม่เป็นธรรมอยู่บ้างเนื่องจากมีหลักฐานเป็นหนังสือติดต่อหรือปัญหาด้านภาษีระหว่างกองทะเบียนกมตำรวจ
กับกรมสรรพากรในปี 2525 ที่เป็นส่วนหนึ่งที่พอจะชี้ให้เห็นว่าในบางเรื่องการปรึกษาหารือนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นไปถึงกรมตำรวจเลย
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งที่มีเอกสารแสดงการปฏิบัติที่เคยมีมาแต่เดิม
ดูจะมีข้ออ้างที่หนักแน่นกว่าอีกฝ่ายหนึ่งที่ใช้ "ประเพณีปฏิบัติปกติ"
หรือ "สายการบังคับบัญชาปกติ" มาอธิบายอยู่ไม่น้อย
และการที่หนังสือพิมพ์และผู้เกี่ยวข้องหลาย ๆ คนพยายามลาก พล.ต.ท. ประเนตร
ฤทธิฤาชัย อดีตรอง อ.ตร. ฝ่ายกิจการพิเศษ ผู้ลงนามในคำสั่งแทน พล.ต.อ. ณรงค์
มหานนท์ อ.ตร. ที่ยังทำงานอยู่ด้วยในวันที่เซ็นชื่อในคำสั่งนั้นลงมาร่วมรับผิดชอบด้วย
ซึ่งอำนาจและขอบเขตความรับผิดชอบของรองอธิบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ฝ่ายปราบปราม
และฝ่ายบริหารและคน ได้ถูกแบ่งชัดเจนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งแล้ว
"ผมถามว่าเป็นเรื่องของนายทะเบียน ๆ เป็นคนเห็นรถ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่
เพราะปัญหานั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนอยู่แล้ว" พล.ต.ท. ประเนตรฯ
ซึ่งเดิมเป็นผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนก่อนที่จะขึ้นมาเป็นรอง อต.ร. บอก
"ผู้จัดการ" ถึงความเห็นของท่านในตอนนั้น
การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์เบนซ์แวนมาจนถึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
ที่มีความเห็นว่า
การปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษ
(2) กับพวก ยังไม่มีมูลกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตำรวจ
พ.ศ. 2521 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477
จนกระทั่งถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน
มาตรา 88 เรื่องการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหา แห่ง พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.
2518 เป็นการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
โดยนำเข้าสู่ที่ประชุม อกพ. มหาดไทย ตามคำสั่งของพลเอกประจวบ สุนทรางกูร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงสองครั้ง ได้กล่าวโทษนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งหกในหลายประเด็น
เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่รอบคอบ
เป็นการปฏิบัติหน้าที่ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้รัฐฯ เสียหาย
ขาดรายได้จำนวนมาก (เป็นส่วนเสริมพฤติกรรม ทำไมอนุมัติเป็น 11 คน ทำไมไม่ช่วยรัฐฯ
เก็บภาษี ทำไมไม่จดเป็น 10 คน ให้รัฐเก็บภาษีได้ 40% ของราคาขาย)
มีความประพฤติเป็นการส่อให้เห็นว่า เป็นการช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์
เป็นการรับจดทะเบียนทำให้มีการเสียภาษีไม่เต็มอัตรา มีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีรถประจำปี
ให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากทำให้รัฐฯ สูญเสียรายได้ในทันทีแล้ว
ยังทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีย้อนหลังด้วย
ซึ่งบทลงโทษสำหรับเรื่องที่ต้องไปถึงการพิจารณาของ อกพ. ตามปกติ มีเพียงให้ออก
ปลดออก และไล่ออกเท่านั้น
หลังจากได้รับหนังสือจาก พล.ต.ท. เภา แล้ว พล.ต.ท. เสมอได้สั่งการให้ พล.ต.ต.
วิธาน ดำเนินการจดทะเบียนได้ตามกฎกระทรวงตามความเห็นของคณะกรรมการ และตามคำสั่งของกรมตำรวจและสั่งการต่อไปจนถึงแผนกตรวจสภาพรถยนต์
อนุมัติการจดทะเบียนรถเบนซ์แวนของวสันต์เป็นคันแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็น "มาตรฐาน"
ในการจดทะเบียนเบนซ์แวนเป็นรถหมายเลขทะเบียน 3ร. 4994 เป็นรถ 3 ประตู พนักพิงตอนกลางบางและตั้งตรง
ไม่ยื่นล้ำไปตอนหลัง ความยาวของที่นั่งตอนหลังยาวข้างละ 120 ซม. มียางอะไหล่อยู่ที่นั่งตอนกลางชิดกับตัวถังรถด้านขวาหลังคนขับ
วสันต์จดทะเบียนรถได้แล้วก็บินไปอเมริกาเพื่อร่วมรับปริญญาโทของภรรยา การจดทะเบียนเป็นอักษร
"ร" ทำให้รถเบนซ์แวนดัดแปลงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
"เพราะ ส.ส. เคยยื่น พ.ร.บ. ขนส่งเข้าสภาฯ ให้ตีความว่าเป็นรถเอนกประสงค์
พอยุบสภาฯ ตั้งรัฐบาลใหม่ พ.ร.บ. นี้ผ่าน ตัว "ร" ก็คือไม่ต้องชิดเลนซ้าย
วิ่งได้เหมือนรถเก๋ง แถมยังบรรทุกของได้อีกด้วย" ดีลเลอร์รายหนึ่งบอก
"ผู้จัดการ"
สองสามเดือนต่อมาวสันต์ดัดแปลงเพิ่มประตูเป็น 5 ประตู แต่ยังคงสภาพเบาะและอะไหล่เช่นเดิมไว้
แต่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ขอให้ใส่เบาะเบนซ์เข้าไป และเปลี่ยนที่ยางอะไหล่ไปอยู่ท้ายรถตามเดิม
แล้วนำรถเหล่านี้ไปจดทะเบียนได้ตามปกติ
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับ เริ่มออกข่าวว่าการรับจดทะเบียนรถเบนซ์แวนไม่ถูกต้อง
แต่กองทะเบียนก็ยังคงจดทะเบียนให้แก่รถเบนซ์แวนต่อไป
ปลายปี 2529 กรมสรรพากร ก็มีหนังสือมาถึงกรมตำรวจ ขอความร่วมมือให้ระงับการจดทะเบียนรถดัดแปลง
จนกว่าเจ้าของจะเสียภาษีการค้าก่อน และกรมตำรวจก็ส่งหนังสือมาให้ พล.ต.ท.
ผลึกซึ่งขณะนั้นขึ้นมาเป็น ผบ.ชก.
พ.ต.อ. สุเทพ สกลรักษ์ ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นผู้กำกับการ 3 กองทะเบียนไม่ถึงสามเดือนดีซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกรุงเทพฯ
ตามกำหมาย ต้องหารือวิธีปฏิบัติที่งามพร้อมทั้งสองฝ่าย
"ก็คุณลองอยู่ตรงกลางระหว่างผลประโยชน์และความเสียหายของรัฐ กับประชาชนดูสิ
คุณก็จะทราบว่าคุณสุเทพ กับคุณผลึกแกมีสภาพเป็นยังไง" คนที่รู้เรื่องดีบอก
เมื่อไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ ก็ต้องปรึกษาไปตามสายงานอีกครั้ง
แต่กว่าการประชุมระหว่างกรมสรรพากร กับกรมตำรวจจะตกลงกันได้ก็เกือบเดือน
"มันมีข่าวลือเรื่องมีเงินยัดใต้โต๊ะเข้ามาที่สรพากรก่อนตั้งนานแล้ว
"ผู้ใหญ่" บางคนที่ไม่กล้าตัดสินใจก็เลยบอกให้ดึง ๆ เรื่องเอาไว้
อย่าให้ผมบอกชื่อเลย เพราะตอนนี้เขาใหญ่มากแล้ว" แหล่งข่าวอธิบายให้
"ผู้จัดการ" ถึงสาเหตุความล่าช้าในการปฏิบัติงานของสรรพากร
"ตอนนั้นคุณผลึกก็เลยต้องยอมจดทะเบียนให้ ท่านก็เห็นใจพ่อค้าที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ย
แล้วก็กลัวถูกฟ้องด้วยว่าเจ้าหน้าที่รัฐฯ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง"
คนที่อยู่ในเหตุการณ์บอกกับ "ผู้จัดการ"
ส่วนหนังสือพิมพ์กระแสเรื่องเบนซ์แวนเริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อมีเรื่องการโอนซื้อขายรถของวสันต์
กับเบญจมาศ ภัทรประสิทธิ์
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม่ว่าในหน่วยงานใดจะมีคนอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งอยู่
โดยมีลูกน้อง และผู้ใกล้ชิดเข้าทำงานในหน่วยงานเดียวกันอีกจำนวนหนึ่ง
กับอีกฝ่ายหนึ่งที่อาจมีตำแหน่งต่ำกว่านิดหน่อย ที่คอนพยายามจ้องดูว่า จะ
"เลื่อยขาเก้าอี้" หรือ "เหยียบซ้ำ" ได้เมื่อไร? และพวกนี้จะเป็นพวกที่ขัดขวางไม่ให้งานส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งผ่านไปได้อย่างราบรื่น
"ก็เกิดมีคนสีเดียวกันอยากรู้ว่าเรื่องนี้ ตอนแรกผ่านไปได้อย่างไร?
ดูไปดูมาหลาย ๆ คนเข้าเอกสารที่วสันต์เอามาให้ก็เลยหายไป" แหล่งข่าวบอก
ถึงแม้จะมีการจับให้ลูกจ้างคนหนึ่งเป็น "แพะ" มารับผิดชอบ โดยกรไล่ออกไป
แต่จุดสำคัญนั่นก็คือเอกสารที่หายไปคือเอกสารที่ระบุว่ารถที่เป็นมาตรฐานในการจดทะเบียนที่ถุกต้องนั้นเป็นอย่างไร??!!
และ "ผู้จัดการ" ยิ่งไม่ทราบว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่ใช้รถเบนซ์แวนดัดแปลงของเบญจมาศ
ภัทรประสิทธิ์ มาพิจารณาเป็นมาตรฐานในการพิจารณาความผิด นายตำรวจทั้งหกใช้เอกสารการโอนซื้อขายรถจากใครที่ไหนที่ระบุว่ารถคันดังกล่าวมีการโอนซื้อขายกันจริง!?!
พอวันที่ 1 เมษายน 2530 พล.ต.อ. ณรงค์ ทนกระแสเรียกร้อง และโจมตีกรมตำรวจไม่ไหวจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
โดยมี พล.ต.ท. เภา รอง อ.ตร. เป็นประธาน
ซึ่งเป็นจุดที่ พล.ต.อ. ณรงค์ ถูกโจมตีเป็นอย่างมากว่า ตามประเพณีปฏิบัติในการสอบสวนของตำรวจแล้ว
เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง
นั่นคือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใด ๆ เมื่อยังไม่รู้ว่าใครผิดใครถูกในเรื่องนั้น
กรมตำรวจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทั้งหมด
ถ้าเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องยังอยู่ในพื้นที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้องในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
ก็จะย้ายตำรวจคนนั้น ๆ ออกนอกพื้นที่
ส่วนถ้าสอบแล้วไม่ผิดก็บันทึกว่าไม่ผิด ใครผิดก็บันทึกว่าผิด แล้วตั้งคณะกรมการสอบสวนพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยต่อไป
ซึ่ง พล.ต.ท. เภา เป็นคนหนึ่งที่ควรจะต้องถูกสอบสวนในเรื่องนี้ด้วย โดยเกี่ยวข้องในลักษณะที่ว่าเป็นผู้หนึ่งที่รับรู้เรื่องราวมาตั้งแต่ขึ้นมาจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและนำเรื่องเสนออธิบดีกรมตำรวจผ่าน
พล.ต.ท. ประเนตร
สามเดือนต่อมา พล.ต.อ. ณรงค์ก็แต่งตั้ง พล.ต.ท.ณรงค์ อัลภาชน์ รอง อต.ร.
ฝ่ายบริหารเป็นประธานกรรมการสอบสวนกลั่นกรองความผิด ซึ่ง พล.ต.ท. ณรงค์ปฏิเสธที่จะรับหน้าที่ดังกล่าว
"ท่านคงเห็นว่าเรื่องนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ ท่านอยากเกษียณไปอย่างสบาย
ๆ ไม่ต้องมารับผิดชอบตอนหลังอีก" แหล่งข่าวบอกให้ฟัง
พล.ต.อ. ณรงค์ จึงแต่งตั้งให้ พล.ต.ท. องอาจ ผุดผาด รอง อ.ตร. ฝ่ายปราบปรามเป็นประธานสอบสวนความผิดทางวินัย
โดยมี พล.ต.ต. สกล กาญจนศูนย์ รองจเรตำรวจ และ พล.ต.ต. ประยูร โกมารกุล นคร
รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ได้ชื่อว่าแม่นยำและมีฝีมือในการทำสำนวนสอบสวนมากที่สุดของกรมตำรวจเป็นกรรมการ
คณะกรรมการฯ ชุดนี้สรุปว่านายตำรวจทั้งหกไม่มีความผิด ควรระงับทัณฑ์ทั้งหมด
ซึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการตัดสินนี้ คือคำให้การของวสันต์
"วสันต์เขาเข้ามาก็บอกเลยว่า ก่อนจะถามให้ฟังเขาก่อน" คนที่อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ข้อหาสำคัญของเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐเสียรายได้จากภาษี กับการอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสำหรับรถที่ไม่ตรงตามมาตรฐานเดิมที่กองทะเบียนรับจดคันแรก
"เขาบอกให้ลองคิดดูว่ามันไม่ MAKE SENSE อยู่แล้ว อย่าลืมว่าเขาเป็นเบนซ์แวน
"ดัดแปลง" คันแรก ในขณะที่คันอื่น ๆ ยังเป็นรถตู้บรรทุกอยู่…"
นั่นก็คือตามกฎหมายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลถ้าจะจดทะเบียนเกินเจ็ดคน ต้องมีที่นั่ง
และตามกฎหมาย พ.ร.บ. รถยนต์รถดัดแปลงแล้วไปขายมีที่นั่งเกิน 11 คน ต้องเสียภาษี
แต่ถ้านำไปใช้ไม่ต้องเสีย
และยังไปคาบเกี่ยวกับกฎหมายภาษีของสรรพากรอีกที่ว่า รถยนต์นั่งไม่เกินสิบคนต้องเสียภาษีการค้า
40% ของราคาขาย
"จริงอยู่ผมเป็นคันแรก การวินิจฉัยของกรรมการจะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตั้งสามแสนกว่าบาทอย่างนี้
คนจะมาจดทะเบียนหลังผมเขาจดเป็นรถบรรทุกเหมือนตอนขึ้นจากเรือมาไม่ดีกว่าหรือ
แถมยังเป็นการเสียภาษีที่ถูกต้องมาตั้งแต่แรกด้วย" วสันต์อธิบายให้ฟังยืดยาว
"คิดดูสิว่าสิบสี่ดีลเลอร์จะได้รถไปทีละกี่คันเชียว สมมุติกำไรคันละแสน
ผมได้มา 80 คัน ผมเอาไปจ่ายลูกจ้างผมไม่ดีกว่าหรือ ยิ่งบริษัทใหญ่เขาจะทำทำไมในเมื่อเขาก็ลอยตัวขายไปได้หมดแล้วตอนนั้น"
วสันต์ชี้แจงให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
แต่ พล.ต.อ. ณรงค์ ก็อยู่ในสภาพขี่หลังเสือยากจะลงเหมือนกัน เพราะหนังสือพิมพ์คำนวณเงินภาษีที่รัฐฯ
ต้องสูญเสียให้ดูอยู่ทุกวัน
"ท่านก็กลัวถูกสรรพากรฟ้อง แต่ก็ฉลาดพอที่พยายามดึงไปดึงมา ถูกผิดอย่างไรไม่สนใจ
พอจะเกษียณก็เลยโยนลูกต่อไปให้มหาดไทย" แหล่งข่าวบอก
ในทางตรงกันข้าม พล.ต.อ. รงค์คงไม่คิดว่าการส่งเรื่องไปถึงมหาดไทยในครั้งนั้นยิ่งทำให้เรื่องราว
"บานปลาย" ยิ่งขึ้นไปอีก
การส่งเรื่องไปให้มหาดไทยตัดสินในครั้งนี้ ในทางปฏิบัติแล้วใคร ๆ ก็คิดว่าห้านายพล
และหนึ่งนายพันเท่ากับตายไปครึ่งตัว
รวมทั้งการที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงหัวหน้าพรรคมวลชน ออกมาผลักดันเรื่องให้มีการสอบสวน
พล.ต.อ. เภา เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนฯ
ที่ทำให้ที่ประชุม อกพ. ในวันต่อมาต้องให้ พล.ต.ท. แสวง ธีระสวัสดิ์ รอง
อต.ร. ฝ่ายปราบปราม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพลเอกประจวบ สุนทรางกูร เป็นประธานในการสอบสวนวินัยต้องไปสอบเพิ่มเติมอีก
8 ประเด็น
เท่ากับเป็นการต่อชีวิตให้นายตำรวจเหล่านี้ หายใจคล่องขึ้นไปอีกช่วงหนึ่ง
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่!!!
ตามข้อกล่าวหาที่ว่า ทำให้รัฐฯ สูญเสียเงินภาษีที่ควรได้นับร้อยล้านบาทนั้นถึงแม้ตอนนี้กรมสรรพากรจะเก็บภาษีย้อนหลังมาได้
แต่ไม่แน่ว่าจะต้องคืนกลับไปให้ประชาชนมากกว่าที่ได้มาหรือเปล่า???
ในเดือนมกราคม 2524 กองทะเบียนกรมตำรวจได้มีหนังสือหารือกรณีรถยนต์บรรทุกส่วนบุคล
(ปิคอัพ) ที่ทำการดัดแปลงแล้วขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งได้ไม่เกิน 11 คน
ว่าจะต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
และกองทะเบียนก็ได้แจ้งไปให้ทราบเพิ่มเติมด้วยว่า รถยนต์ตามที่หารือไปนั้นในการจดทะเบียนได้จัดเข้าลักษณะเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน
11 คนประเภทบุคคล
กรมสรรพากรในขณะนั้นก็มีหนังสือตอบข้อหารือไปว่ารถยนต์ลักษณะดังกล่าวต้องเสียภาษีการค้าเมื่อมีการดัดแปลงด้วย
ทั้งนี้ก็เพราะว่าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า สำหรับรถยนต์นั่งไม่ได้ระบุที่นั่งไว้ด้วยว่าจะต้องมีจำนวนจำกัดที่นั่งเท่าใด?
ยิ่งทำให้กองทะเบียนกรมตำรวจสับสนหนักขึ้นไปอีก!!??
เพราะเดิมกองทะเบียนถือปฏิบัติโดยใช้เกณฑ์จำนวนที่นั่งของคนโดยสารเป็นหลัก
หากรถนั้นมีที่นั่งไม่เกิน 10 คน จึงต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า
แต่ถ้ามีที่นั่งเกิน 10 คน ก็ถือว่าได้รับการยกเว้นการเสียภาษีการค้าจากการดัดแปลง
ทำให้หากว่ารถบรรทุกซึ่งดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ที่นั่งได้เกิน 10 คน จะต้องเสียภาษีการค้าด้วยตามที่กรมสรรพากรชี้แจงไปแล้ว
ก็จะกระทบกระเทือนผู้ขอจดทะเบียนรถนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนอื่นที่ต้องการรับยกเว้นภาษีอากร
มีการประชุมร่วมระหว่างกรมสรรพากรกับกรมตำรวจ ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ซึ่งในครั้งนั้นสรุปแนวทางปฏิบัติออกาว่า
"ถ้าทำได้หรือดัดแปลงรถยนต์ให้มีที่นั่งได้เกินกว่า 10 คนแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นสินค้าตามประเภทการค้า
1 ชนิด 4 แห่งบัญชี อัตราภาษีการค้า…
และไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา 79 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย…"
ซึ่งกองทะเบียนก็ยึดเป็นหลักปฏิบัติตลอดมา
พอมาถึงปี 2527 ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ก็มีหนังสือขอหารือปัญหาภาษีการค้าถึงวิทย์
ตันตยกุล อธิบดีกรมสรรพากร ว่าไทยรุ่งฯ เป็นบริษัทที่รับจ้างบุคคลทั่วไปเพื่อติดตั้ง
CAB และกระบะท้ายให้แก่รถยนต์บรรทุกซึ่งมีลักษณะเป็น CAB สองตอน และกระบะท้ายเป็นกระบะมีหลังคาและที่นั่ง
รวมที่นั่งคนขับแล้วมี 11 ที่นั่ง โดยบริษัทเสียภาษีกรค้าในอัตรา 3% ของค่าจ้างทำของ
คำถามที่สำคัญของจดหมายฉบับนี้ และคำตอบที่ถือเป็นหลักปฏิบัติมาตลอดก็คือ
ลูกค้าที่ว่าจ้างบริษัทให้ติดตั้ง CAB และตัวถัง หากลูกค้านำรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อไปใช้ในกิจการของลูกค้าเองและไม่ใช่เพื่อจำหน่ายลูกค้าไม่จำเป็นต้องเสียภาษีการค้าอีกอย่างใดใช่หรือไม่?
ตอบคือบริษัทต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 4 ชนิด 1 (ฉ) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าในอัตราร้อยละ
3 ของรายรับ ส่วนผู้ว่าจ้างหากไม่ได้ทำเพื่อขายแล้วไม่ต้องเสียภาษีการค้าแต่อย่างใด
นั่นก็คือ "ไฟเขียว" จากกรมสรรพากร ที่บริษัทประกอบรถยนต์ยึดถือปฏิบัติตลอดมา
ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเกิดกรณี
"เบนซ์แวน" นี้ขึ้น
"ผู้จัดการ" คงไม่กล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทประกอบรถยนต์ทั้งหลายอีก
ทั้งไม่ต้องการย้อนไปถึงการประสานงาน "อย่างดียิ่ง" ของกรมสรรพากรกับกองทะเบียน
กรมตำรวจในช่วงที่เกิดปัญหา
หากแต่คงต้องกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติที่เหมือนปิดหูปิดตาคนทั้งประเทศ รวมหัวกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"มัดมือชก" ประชาชนตาดำ ๆ ที่ต้องเสียภาษีให้รัฐฯ เพื่อ "พัฒนาประเทศ"
สักเล็กน้อย
เพราะประกาศของทั้งปี 2525 และ 2527 ยังไม่มีฉบับใดยกเลิก แต่กรมสรรพากรไม่เคยนำมาพูดถึงเหมารวมเก็บ
"รถดัดแปลง" ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม แถมยังบอกอีกว่า "เป็นความกรุณา"
แล้วนะที่เสียภาษีแค่ "จิ๊บจ๊อย" เท่าที่เก็บอยู่นี้
"คุณลองคิดดู ถ้าเป็นสเตชั่นแวกอน หรือเบนซ์แวนทั้งหลายที่มีปัญหามันก็เห็นได้ชัด
แต่ปิคอัพทั้งประเทศนี่กี่คัน ลองตรวจสอบแล้วเอาคนมานั่งดูสิ ผมว่านั่งได้
12-13 คนสบาย ๆ" เจ้าของรถคันหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงวิธีการของสรรพากรยุค
"แหกตาประชาชน"
วิธีการคือก่อนที่รถจะไปต่อทะเบียน องไปเสียภาษีที่สรรพากรก่อน กรมสรรพากรก็จะมีแบฟอร์มการขอเสียภาษีดัดแปลงรถยนต์ให้กรอก
"ก็ในใบนั้นมันเขียนว่า จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่ง "ไม่เกินสิบคน"
ทั้ง ๆ ที่เรานั่งได้เกินสิบคนชัด ๆ แต่ถ้าไม่เซ็นลงไปก็ไปต่อทะเบียนที่กองทะเบียนให้รถวิ่งไม่ได้"
ผู้รู้เรื่องดีบอก
ไม่รู้ว่าถ้าเกิดเจ้าของรถปิคอัพที่เสียภาษีไปแล้วทั่วประเทศเป็นร้อย ๆ
ล้านบาท เกิด "รวมหัว" กันฟ้องสรรพากรขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไรและไม่รู้ว่าประชาชนชาวไทยที่น่าสงสารจะได้รับเงินคืนมาหือเปล่า
เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า เงินเข้าหลวงแล้ว "เข้าง่าย ออกยาก"
แต่จุดสำคัญที่สุดของการสอบสวนนี้กลับไปอยู่ที่การรับจดทะเบียนเบนซ์แวนห้าร้อยคันต่อมามากกว่า
การจดทะเบียนห้าร้อยคันต่อมาของกองทะเบียน เป็นการอนุมัติรับจดทะเบียนทั้ง
ๆ ที่เอกสารหลักฐานที่แสดงว่ารถที่จดทะเบียนไว้ครั้งแรกเป็นอย่างไรได้สูญหายไปแล้ว
ส่วนเบนซ์แวนคันเดียวกันของวสันต์ที่โอนขายให้แก่เบญจมาศ ภัทรประสิทธิ์
ก็ไปดัดแปลงเพิ่มเติมอีกครั้ง มีความแตกต่างจากมาตรฐานคือจากสามประตูกลายเป็นรถห้าประตู
และเลื่อนที่นั่งตอนที่สองหลังคนขับไปข้างหลังเพื่อให้พนักพิงเสมอกับช่องประตู
แล้วเปลี่ยนเบาะที่นั่งจากเบาะรถญี่ปุ่นกลับไปเป็นเบาะรถเบนซ์ที่หนากว่า
ยางอะไหล่ก็นำไปไว้ด้านหลังเหมือนสภาพรถที่กรรมการตรวจสอบสภาพรถวัดในครั้งที่
1 ทำให้ที่นั่งด้านหลังสั้นกว่าเดิมจนผู้โดยสารต้องนั่งเลยเพดานรถออกมาและยังแคบเพาะถูกล้อรถเบียดจนนั่งได้ไม่สะดวก
ซึ่งรถตามมาตรฐานใหม่นี้เอง ที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใช้เป็นหลักฐานกล่าวหานายตำรวจทั้งหก
ทั้ง ๆ ที่ได้เคยมีการตรวจสภาพรถที่ถูกดัดแปลงใหม่นี้มาครั้งหนึ่งก่อนแล้วและได้บันทึกไว้ด้วยว่ารถมีสภาพเปลี่ยนแปลงจากรถคันที่ถูกต้องจริง
แต่คณะกรรมการสอบสวนยังคงยืนกรานที่จะนำผลการตรวจวัดดังกล่าว เป็นหลักฐานในการกล่าวโทษแก่นายตำรวจทั้งหกอีกครั้ง
หลังจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้พิจารณาว่าไม่มีความผิดไปแล้ว…
เมื่อที่ประชุม อกพ. มหาดไทย พิจารณากรณีเบนซ์แวน มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผิดวินัยไม่ร้ายแรง
เพียงบกพร่องไม่รอบคอบ ไม่ได้มีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่
อีกทั้งผลการสอบสวนทางวินัยระบุว่าไม่มีการรับผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
(กตร.) กลับไปลงโทษตาม พ.ร.บ. วินัยตำรวจ ซึ่งอาจเป็นการลงโทษเพียงภาคทัณฑ์
ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง จำขัง หรือที่น่าเป็นไปได้ที่สุดคือการลดขั้นเงินเดือน
เท่ากับ "พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ" เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรกที่คณะกรรมการทางวินัยพิจารณาโทษทางวินัยของกรมตำรวจที่พิจารณาให้
ให้ออก ปลดออก ไล่ออก อย่างเห็นได้ชัด
ทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความรู้สึกที่ไม่พอใจผลการตัดสินของคณะกรรมการ
อกพ. ที่ผลการตัดสินดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปว่างานนี้มีการ
"ล้มมวย" ของคนสีเดียวกันอย่างน่าเกลียด และสั่งผ่าน น.ต. ประสงค์
สุ่นศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้ "ดูแล" เรื่องนี้ให้ดีด้วย
แต่สำหรับ "ผู้จัดการ" แล้ว คนที่ถูกช่วยให้รอดตายหวุดหวิดครั้งนี้
ควรจะเป็น "ผู้ใหญ่" ทั้งหายที่เป็นหัวเรือใหญ่ผลักดันเองนี้มาโดยตลอดมากกว่า
สิ่งสำคัญที่ทำให้ผลการตัดสินของ อกพ. ต้องเปลี่ยนไปก็เนื่องมาจากการที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
นำเอารถเบนซ์แวนที่ดัดแปลงเป็นห้าประตูที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนคันที่จดทะเบียนถูกต้องซึ่งเอกสารยืนยันสภาพจดทะเบียนที่ถูกต้องสูญหายไป
ใช้รถที่ดัดแปลงใหม่นี้เป็นวัตถุพยานในการตรวจสอบ และพิจารณาความถูกต้องของนายตำรวจทั้งหก
เป็นการนำเอาวัตถุพยาน ที่เปลี่ยนแปลงไปปรักปรำลงโทษ ทั้ง ๆ ที่มีเอกสารยืนยันว่าคณะกรรมการสอบสวนบางคน
ทราบอยู่แล้วว่ารถคันดังกล่าวมีสภาพที่แตกต่างจากคันที่ได้รับจดทะเบียนถูกต้อง
ซึ่งทำให้สรุปว่านายตำรวจทั้งหกบกพร่องเพียงเล็กน้อย เนื่องจากได้ทำการตรวจสภาพและอนุญาตการจดทะเบียนที่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น
เนื่องจากยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า นายตำรวจทั้งหก "รับผลประโยชน์"
ใด ๆ ตามที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของกรมตำรวจ
ยิ่งทำให้นายตำรวจทั้งหกถือไพ่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด
แต่เป็นไพ่ที่เหนือกว่าหากได้มีการลงโทษอย่างจริงจังเท่านั้น!!!
เพราะหลังจากนั้นมีทางเป็นไปได้มากว่านายตำรวจทั้งหกจะใช้การยืนยันความบริสุทธิ์ของกระบวนการตัดสินให้ความยุติธรรม
ใช้กลไกของ "อำนาจนิติบัญญัติ" เข้ามาแทนที่ "อำนาจบริหาร"
ที่สามารถสืบค้น สอบสวนได้ลึกซึ้งกว่าเดิมอีกหลายเท่า?!?
โดยยึดกฎหมายฉบับเดียวกับเมื่อครั้งที่นายตำรวจทั้งหกถูกสอบสวน โดยถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรงทางอาญาต่อหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
157 เป็นเหมือน "ดาบสองคม" ที่จะย้อนกลับไปทำร้ายผู้ถือ
"แค่เรื่องเอาวัตถุพยานที่เป็นเท็จมาปรักปรำนี่ก็เห็นได้ชัดแล้ว ยังมีอีกที่ว่าถ้ามีการสอบสวนตาม
"อำนาจนิติบัญญัติ" กันจริง ๆ "ผู้ใหญ่" บางคนที่เคยอยู่บนหอคอยงาช้าง
หรือนายตำรวจอีกหลายคนที่จะต้องถูกลากลงมาสอบสวนด้วย" แหล่งข่าววิเคราะห์ให้ฟัง
(ซึ่งขณะปิดต้นฉบับ "ผู้จัดการ" ยังไม่ทราบว่าผลการตัดสินของ
กตร. จะขานรับหรือตัดสินใจทางตรงกันข้ามกับมติของ อกพ.)
ซึ่งแม้จะเป็นคำอธิบายสั้น ๆ แต่ "ผู้จัดการ" เชื่อว่าเป็นเหตุผลที่
"หนักแน่น" พอ ในการอธิบายผลการตัดสินที่กลับเป็นตรงข้ามกับความรู้สึกของคนทั้งประเทศได้ดีที่สุด
"ลองคิดดูว่าถ้าคนระดับนี้ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ชาวบ้านธรรมดาจะไปเหลืออะไร
ความแตกต่างของคนที่จะลงโทษ กับคนที่ถูกลงโทษแตกต่างกันไม่มากนักในสายตาคนทั่วไป
แล้วอย่างนี้จะไปหาความยุติธรรมได้กับใคร ที่ไหน??"
คำพูดนี้คงเป็นอีกครั้งที่สะท้อนความเจ็บปวดของคนไทย ที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยโดยมี
"ผู้ใหญ่" มากมาย ใช้อำนาจที่มีอยู่ กดขี่ข่มเหงคนที่ด้อยกว่า
โดยใช้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนเองวางไว้
ถึงแม้เหตุผลต่าง ๆ ที่ประกอบกันข้างต้น แทบจะกล่าวได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมามี
"แนวโน้ม" ที่ว่านายตำรวจทั้งหมด ไม่น่าที่จะมีความผิด หรือรับผิดชอบใด
ๆ กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นั่นก็เนื่องจากความยากลำบากที่สุดของการพิสูจน์หาความจริง ยังคงเป็นข้อกล่าวหาที่ว่ามีการรับผลประโยชน์มหาศาล
ที่อาจเป็นไปได้อย่างยิ่งหากอ้างอิงถึงจำนวนเงินหมุนเวียนในเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
ไม่ว่าผลการตัดสินคดี "เบนซ์แวน" จะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพียงพอที่จะอธิบายเรื่องราวบางอย่างในสังคมไทย
ในยุคที่ผู้นำของชาติถือความซื่อสัตย์สุจริต ต้องการเห็นคนในชาติอุทิศตัวเองทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างเต็มที่
ที่ใครบางคนเรียกกันอย่างสนิทปากว่า "ใจซื่อ มือสะอาด" นั้น
กลับทำให้ผู้ใหญ่บางคนถือเอาความคิดนี้ฟาดฟัน จ้องที่จะหาทางทำลายกันในทุกโอกาส
ความรับผิดชอบของผู้นำองค์กร กับความผูกพัน ที่มีต่อข่าวสารจากสื่อมวลชนต่าง
ๆ ดังเช่นที่ พล.ต.อ. ณรงค์ มหานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจเคยบอกว่าเรื่องเบนซ์แวนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวว่ามีการทุจริต
ทำให้เสียภาพพจน์ของกรมตำรวจนั้น ผิดถูกอย่างไรตอนนั้นไม่ทราบ เพราะเรื่องมาจากหนังสือพิมพ์
จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น
อิทธิพลของสื่อมวลชนทุก ๆ สื่อที่มีต่อประชาชนในชาติบางฉบับ ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในบางครั้ง
ที่เป็นการปกป้องคนบางกลุ่มไม่ได้นำเสนอ "ข้อเท็จจริง" แก่ผู้อ่าน
ช่องโหว่ของกฎหาย ความหย่อนยานของระบบราชการไทย ที่ทำให้ข้าราชการรวมหัวกับพ่อค้าบางคน
ประพฤติมิชอบ และตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวเอง
และ "วัฒนธรรมแบบเปรม" ที่ผู้นำต้องระมัดระวังตนเอง พูดหรือแสดงความคิดเห็นแต่น้อย
พยายาม "ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง" ใด ๆ ที่เกิดขึ้นมากที่สุด
วัฒนธรรมนี้ถูกถ่ายทอดมาสู่ผู้ร่วมงาน ผู้ใกล้ชิด ที่เกือบจะเป็นทฤษฎีที่ถือปฏิบัติที่ดีที่สุด
สำหรับผู้นำในทุกองค์การในยุคสมัยแห่งการแข่งขัน เพื่อความอยู่รอดในสังคมทุกวันนี้
ไม่เพียงจะเป็นการปัดความรับผิดชอบไปสู่ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยสิ้นเชิงเท่านั้น
แต่ยังทำให้เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับข้าราชการที่ตั้งใจทำงาน เพราะจะทำให้ไม่มีคนกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาใด
ๆ
ซึ่งคาดเดาได้ว่าเรายังคงต้องทนอยู่กับสภาพเช่นนี้ไปอีกนานเท่านาน
ตราบเท่าที่เรายังคงมีผู้นำ และผู้ติดตามที่มีความคิดเช่นเดียวกันนี้ปกครองอยู่?!?