สีฟ้ายุคแรกเริ่มที่ราชวงศ์ ถิ่นชาวจีนที่พิศมัยการกินไม่แพ้ย่านชาวจีนอื่น
ๆ เงี๊ยบเริ่มร้านแรกที่นี่หลังจากที่ลำบากกับชีวิตการเป็นลูกจ้างมานานเต็มทน
การตั้งร้านสีฟ้าอยู่ที่ราชวงศ์นับเป็นการได้เปรียบประการหนึ่งของเงี๊ยบแต่ที่ผิดแผกจากที่อื่น
ๆ ในยุคเดียวกันก็คือจุดขายของร้าน "สีฟ้าไม่มีครัวของเราเอง"
ระดับบริหารคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความประหลาดของสีฟ้าในยุคแรก
ในยุคแรกนั้นสีฟ้าเป็นเพียงร้านที่บริการด้านที่นั่งเท่านั้น อาหารที่เหล่าลูกค้าซื้อหามารับประทานมาจากหาบเร่ที่อุดมสมบูรณ์คู่กรุงเทพฯ
ตราบจนทุกวันนี้ และต่อมาสีฟ้าได้พัฒนา มีการขายไอศกรีมและผลไม้ซึ่งเพราะว่าภรรยาของเงี๊ยบเป็นแม่ค้าขายผลไม้นั่นเอง
สีฟ้าเริ่มมีครัวเป็นของตนเองก็เมื่อร้านลอนดอน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์อาหารให้สีฟ้ามานานช้าเกิดปิดกิจการสีฟ้าจึงรับเซ้งพ่อครัวฝีมือดีมาอยู่ด้วยและเปิดศักราชใหม่
"เราก็เริ่มมีครัวของเรานับแต่นั้น" จิตติ รัชไชยบุญ ลูกชายของเงี๊ยบซึ่งดูแลสีฟ้าในปัจจุบันเล่าให้ฟัง
ในห้วงเวลานั้นสีฟ้าได้เริ่มพัฒนาอาหารต่าง ๆ ให้มีเอกลักษณ์ เช่น บรรดาบะหมี่ซึ่งแต่ละรุ่นที่บริหารสีฟ้าค่อนข้างจะพอใจกับสินค้าตัวนี้มาก
อาหารไม่แพง ความหลากหลายของเมนู บริการรวดเร็ว และถือลูกค้าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้านาย
เป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกยุคของสีฟ้ายึดถือมาโดยตลอดแม้จนกระทั่งทุกวันนี้
ซึ่งนี่คือจุดขายที่แท้จริงของสีฟ้า
สีฟ้าเริ่มขยายตัวไปที่วังบูรพาหลังจากที่ราชวงศ์ก่อตั้งได้ 15 ปี และหลังจากนั้นก็สยายปีกไปที่สยามสแควร์ราชดำริ
ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้สีฟ้าใช้เวลาอีกหลายสิบปีต่อมา
แรกทีเดียวนั้นสาขาของสีฟ้าใหม่แต่สถานที่ส่วนระบบการจัดการไม่เรียกว่าใหม่เลย
สีฟ้ายังดำรงตนอยู่ด้วยระบบการบริหารแบบเก่า ๆ อยู่ เงี๊ยบยังเป็นหัวเรือใหญ่ของร้านสีฟ้าที่มิยอมปรับเปลี่ยนตัวเองตามยุคสมัย
มิใยที่เหล่าลูก ๆ โดยเฉพาะจิตติซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่สอง จะพยายามเปลี่ยนแนวความคิดของผู้เป็นพ่อให้ยอมปรับปรุงและพัฒนาไปตามยุคสมัย
โดยเฉพาะธุรกิจอาหารซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าธุรกิจอื่น ๆ มาก
ที่สุดเมื่อ 8 ปีก่อนรุ่นที่สองก็สามารถโน้มน้าวใจผู้ก่อตั้งได้เป็นผลสำเร็จ
สีฟ้าจึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิดที่เรียกว่ามโหฬารจริง ๆ
มีการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาสยามสแควร์ซึ่งร่วงโรยไปตามกาลเวลา
จิตติ รัชไชยบุญ ซึ่งจบวิศวกรรมศาสตร์จากออสเตรเลียและจบ เอ็ม. เอ็ม. รุ่นแรกจากจีบ้านำขบวนน้อง
ๆ เข้ามา "จะเรียกว่ากอบกู้สีฟ้าก็ได้ (TURN AROUND)" จิตติบอกสภาพการณ์ของสีฟ้าเมื่อ
8 ปีที่แล้ว
การกอบกู้สีฟ้าให้มีความสามารถแข่งขันกับธุรกิจอาหารรูปแบบต่าง ๆ ที่เริ่มผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
โดยเฉพาะฟาสต์ฟู้ดแล้ว
ก็ต้องนับว่าโชคดีที่รุ่นที่สองเข้ามารับช่วงต่อเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มิเช่นนั้นสีฟ้าอาจจะไม่รุ่งเรืองดังปัจจุบันก็เป็นได้
จิตติเริ่มปรับปรุงตั้งแต่โครงสร้างของร้าน มีการทุบร้านใหม่หมดเพื่อปรับปรุงให้โอ่โถงปรับปรุงคุณภาพของพนักงาน
บริการ ความรวดเร็ว ความสะอาด และสร้างความโดดเด่นของอาหารบางชนิด อาทิ บะหมี่อัศวินของสีฟ้าอันขึ้นชื่อลือชามานานแต่ขาดการชี้ชวนส่งเสริมการขายมาก่อน
นอกจากนี้กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ก็คือการตัดสินใจยุบสาขาที่ไม่มีกำไรทิ้ง
(LIQUIDATION) คือสาขาวังบูรพา "เป็นนโยบายตัดค่าใช้จ่ายของเรา"
จิตติบอก
ผลการปรับปรุงสีฟ้านับว่าได้ผลลูกค้าเก่า ๆ ก็ยังคงแวะเวียนเข้ามารับประทานอยู่เป็นประจำและยุทธวิธีใหม่ที่ถูกนำมาใช้คือการเปิดสาขาใหม่
ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้ารุ่นใหม่ ๆ "อย่างเช่นชาญอิสสระ หรือที่เพิ่งเปิดใหม่ที่เสนา
จิตติ เผยกลยุทธ์
จนถึงทุกวันนี้สีฟ้านับได้ว่าอยู่ยงคงกระพันมาถึง 52 ปีนั่นเป็นเพราะ "เรารู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป"
วันพรุ่งนี้ของสีฟ้า "เราอาจจะมีการเปิดเป็นแฟรนไชส์ในอนาคต"
จิตติบอกโครงการใหม่ที่บ่งบอกการปรับตัวอีกระดับของร้านอาหารเก่าแก่แห่งนี้