"ผมมองดูเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตก็เห็นแต่ความซบเซาเหมือนกัน อันนี้มันเป็นความจริงนะครับ ต้องยอมรับ และไม่มีใครทราบแน่ว่า ภาวะเช่นนี้จะอยู่กับเราไปแค่ไหน แต่เราควรยอมรับว่าเศรษฐกิจมีดีเลวสลับกันไปเป็นวัฏจักร
ดังนั้น การที่เราได้ทราบถึงสภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าเช่นนี้ จะทำให้เราปรับตัวได้แต่เนิ่นๆ
เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และในฐานะที่เราเป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่ดำเนินการมาครบรอบ
72 ปีในปีนี้ เราจึงไม่ได้มองเพียงทำอย่างไรเราจึงจะอยู่รอดเท่านั้น แต่เรายังมองว่าทำอย่างไรเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยส่วนรวมจะอยู่รอดด้วย"
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา บิ๊กบอสของเครือซิเมนต์ไทยเปิดใจกับนักข่าวเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้
และเป็นครั้งแรกในหลายๆ ครั้งของการแถลงข่าวของเครือซิเมนต์ไทยที่มักจะมีอมเรศ
ศิลาอ่อน เป็นตัวชูโรงในฐานะ spokesman มาตลอด
ว่าไปแล้วมืออาชีพอย่างเครือซิเมนต์ไทยนั้น ดูจะรู้ทิศทางลมดีทีเดียว จากบทเรียน
72 ปีแห่งความหลังนั้นมีทั้งความขมขื่น ความชื่นชมและความเจ็บปวด ที่ต้องทนรับอย่างหน้าชื่นในฐานะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ในสายตาของรัฐบาลทุกย่างก้าว
ก็ไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นการประกาศอย่างมั่นใจของพารณในวันนั้นว่า เครือซิเมนต์ไทยจะเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง
โต้มรสุมข่าวลือที่ว่าปูนใหญ่จะชะลอการลงทุนโดยสิ้นเชิง ด้วยการวางแผนลงทุนในอีก
3 ปีข้างหน้าถึงปีละ 3,500 ล้านบาท ทั้งที่ 5 ปีก่อนนี้มีอัตราเฉลี่ยการลงทุนเพียงปีละ
2,000 ล้านบาทเท่านั้น พร้อมทั้งนโยบายมุ่งส่งออกขนานใหญ่ หลังจากที่ปูนใหญ่ปล่อยให้การส่งออกเป็นแค่นโยบายตามน้ำมาเสียนาน
อมเรศ ศิลาอ่อน ยังยอมรับว่า press coference ในวันนั้นเปรียบเหมือนกับ
commitment ของเครือซิเมนต์ทีเดียวในเรื่องใหญ่ 2 ข้อ คือการลงทุนเพิ่มและการขยายส่งออก
"เรื่องการส่งออกนี่มักจะมีคนพูดมาก แต่คนทำจะพูดมากกว่าทำเหมือนกัน"
อมเรศรำพึงให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
น่าเสียดายที่พารณออกมาแถลงอย่างสุภาพเมื่อมาร่วม Lunch Meeting ที่กระทรวงอุตสาหกรรมตามคำเชิญของรัฐมนตรีจิรายุ ที่มีไปถึงคีย์แมนคนสำคัญของ
กรอ.ในเวลากระชั้นชิด จนมาชนกับงานแถลงข่าวเข้าจนได้ แต่ก็ยังอุตส่าห์ให้คำมั่นฝากเอาไว้ว่า
"อันที่จริงเครือซิเมนต์ไทยมีความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทยอยู่เสมอ
เราได้เคยทำการโฆษณาภาพพจน์ของประเทศไทยมาแล้ว โดยใช้คำว่า "We believe
in The Future of Thailand" ซึ่งเพื่อน ๆ สื่อมวลชนก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว
และในขณะนี้เราก็ยังมีความเชื่อเช่นนั้นอยู่"
ความเชื่อมั่นในอนาคตของเมืองไทยนั้นแปลออกมาเป็นหลาย ๆ อย่างในวันนั้น
ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยเลิศรสที่หาเลี้ยงนักข่าว แม้แต่ดอกไม้ประดับบนแจกันรูปช้างตัวน้อย ๆ
ก็เป็นดอกไม้ไทย ๆ แทบทั้งหมด แม้บางดอกจะเป็นไม้ต่างเมืองแต่ก็ปลูกในเมืองไทย
จนแม้แต่ตัวผู้บริหารระดับสูงเองก็ยังกำชับไปถึงเลขาทุกคนเมื่อมีความจำเป็นต้องส่งดอกไม้หรือผลไม้ไทยทั้งหมด
ถึงขนาดที่อมเรศเองบอกว่า
"ถ้าใครส่งดอกไม้หรือผลไม้ฝรั่งมาให้ผม ผมสั่งเลขาเอาไว้เลยว่าไม่รับ
จะรับเฉพาะดอกไม้และผลไม้ไทยเท่านั้น แม้แต่แม่บ้านของผมเองวันนั้นจัดสาลี่มาให้
ผมยังบอกไม่เอา ผมจะเอาผลไม้ไทยอย่างนี้" อมเรศว่าพร้อมทั้งชี้ไปที่จานผลไม้ไทยล้วนพวกมังคุด
สับปะรด มะละกอ ที่อยู่ตรงหน้า
ต้องให้ได้อย่างนี้ซิน่า