|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- ชี้ ททท.จำเป็นต้องปรับใหญ่ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการท่องเที่ยวไทย
- แนวทางใหม่ ททท.ให้ความรุ้เชิงลึก เลิกเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์ขององค์กร วงการ และของชาติ
- หน้าที่หลักมีแค่ 2 ประการ แต่ทำให้ดีไม่ได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
- เจาะสุดยอดวิธีคิดละลายงบ เอาเงินรัฐไปถวายให้เอกชนใช้ฟรีๆ
ในงานปาฐกถา “ปาฏิหาริย์..ท่องเที่ยวไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์” ที่จัดโดยสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟสต้า) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ตอนหนึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าปาฎิหารย์ของภาคท่องเที่ยวไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงไฮซีซันของปีนี้รัฐบาลจะร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่าน 2 ยุทธศาสตร์ เพื่อเจาะตลาดเดิม และขยายฐานตลาดใหม่
ยุทธศาสตร์แรก การจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยให้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในต่างประเทศทั้ง 24 แห่งไปเร่งศึกษาตลาดแล้วกลับมารายงานโดยด่วน ยุทธศาสตร์ที่สอง สร้างมาตรการจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่ม กลยุทธ์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบลด แจก แถม โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะไปร่วมหารือกับภาคเอกชนเพื่อจัดทำแผนโดยจะนำกลับมาเสนอภายใน 2 อาทิตย์
อันที่จริงหาก ททท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างประสานกัน การท่องเที่ยวของเมืองไทยคงไม่ต้องหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพราะจะว่าไปแล้วบ้านเรายังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมาก และหลากหลายรูปแบบ หากมีการบริหารจัดการกันอย่างเป็นระบบ เชื่อว่าความหวังในการดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 14 ล้านคนเข้ามายังประเทศของเราไม่ใช่เรื่องยาก
ถึงเวลา Re-positioning Re-organize ททท.
ปีหน้า (2553) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังจะครบ 50 ปี การดำเนินงานอย่างยาวนานถึงครึ่งศตวรรษของหน่วยงานนี้ เชื่อว่าน่าจะมีองค์ความรู้มากพอที่จะสามารถกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวให้สามารถเดินหน้าเป็นผู้นำด้านท่องเที่ยวเหมือนดังสมัยเมื่อครั้งที่ยังเป็น อสท.
แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ใช่อย่างนั้น
ด้วยอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้วันนี้ททท. หาใช่เพียงหน่วยงานเดียวที่มีองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเติบโตของการท่องเที่ยวภาคเอกชน หรือท้องถิ่น แต่ภาคเอกชนเองก็มีการสร้างองค์ความรู้ของตนเองขึ้นทั้งในแนวลึกและแนวกว้างเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ยังมีหน่วยงานของรัฐอีกหลายหน่วยงาน ที่เข้ามาดูแลเรื่องการท่องเที่ยว เช่น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นต้น ไม่ใช่แค่กระทรวงท่องเที่ยวฯ ที่ตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานวางแผน ต้องประสานกับหน่วยงานอื่น
“ถึงจุดนี้ ททท.อาจต้องมา re-positioning ตัวเองใหม่ ต้องสังเคราะห์จาก 50 ปีที่แล้วว่าบริบทที่ตนเองเป็นอยู่มาก่อน กับบริบทที่ตนเองเป็นอยู่ในปัจจุบัน ททท.ควรจะอยู่เป็นส่วนไหนที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อะไรที่คนอื่นทำได้ดีกว่าก็ไม่ควรทำ เพราะมันจะสิ้นเปลือง ซ้ำซ้อน ไม่เกิดประโยชน์” เป็นคำกล่าวของ ภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังต้องมาประเมินบทบาท สถานะ และโครงสร้างของ ททท. ในปัจจุบันว่าเหมาะกับโครงสร้างที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเหมาะกับการเป็นองค์กรที่ต้องมีการผลิต มีแรงงาน และต้องหารายได้เข้าแผ่นดิน ดังนั้น กฎระเบียบต่างๆ ที่จะมากำกับหน่วยงานประเภทนี้จะต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ขณะที่ ททท.มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ดังนั้น หลักในการจัดตั้งองค์กรโดยอาศัยกฎหมายรัฐวิสาหกิจมาควบคุมจึงขัดต่อลักษณะการทำงานของ ททท. อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้คงไม่ง่ายดายนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือการมีสหภาพแรงงาน
อย่างไรก็ตาม เคยมีการเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ว่า ททท.ควรเป็นองค์กรมหาชน เพื่อจะได้มีอิสระในเรื่องของงบประมาณ กฎระเบียบของตนเอง เพื่อรองรับภารกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต กับเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ
อีกประเด็นที่ทำให้ ททท.เดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว และกำลังจะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลัง ล้าสมัยหากไม่รีบปรับตัวก็คือ จากเดิมที่ยังไม่มีการตั้งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ภารกิจทั้งหมดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ที่ ททท. แต่เมื่อมีกระทรวงท่องเที่ยวฯ และมีกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกระทรวง ทำให้ภารกิจส่วนใหญ่ที่ททท.เคยทำทางด้านวางแผน การศึกษา การวิจัย สถิติ การประสาน การจัดสรรงบประมาณต่างๆ ไปอยู่กับหน่วยงานอื่น เหลือเพียงงานการตลาดและส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ ทว่าโครงสร้างการทำงานยังเป็นแบบเดิม คือ ยังมีกอง มีฝ่าย มีรองผู้ว่าฯ เรียกว่าไม่ได้มีการปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องของคนไปจากเดิมเท่าไร
“เมื่อมาดูภารกิจเฉพาะไม่กี่เรื่องกับลักษณะโครงสร้างที่เป็นอยู่นั้นผมคิดว่ามันล้าสมัย ที่จะต้องปรับโครงสร้าง และพัฒนาคนให้ตรงกับทิศทางใหม่ ซึ่งนี่เป็นจุดที่เป็นจุดอ่อน ที่ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงใหม่” อดีตผู้ว่าฯ ททท.ให้ความเห็น
ภารเดชกล่าวอีกว่า จุดอ่อนที่ชัดเจนเลยคือลักษณะของรัฐวิสาหกิจต้องใช้การสรรหาเฉพาะผู้ว่าฯ คนเดียว ขณะที่โครงสร้างของพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่รองผู้ว่าถึงพนักงานยังเป็นโครงสร้างเดิม ยังเป็นการท่องเที่ยวแบบรัฐวิสาหกิจ ยังมีสหภาพแรงงาน ขณะที่ผู้ว่าฯ ที่เป็นแบบใหม่ไม่ได้เป็นพนักงาน แต่ต้องมีพันธะสัญญาต่อคณะกรรมการ แต่ไม่สามารถเอาใครออกได้
ดังนั้น การทำงานแบบผู้ว่าซีอีโอคนเดียวกับองค์กรระบบเก่าจึงไปด้วยกันได้ยาก ทำให้การบริหารงานไม่ง่าย เนื่องจากประการแรก ผู้ว่าฯมีอำนาจสั่งการได้เฉพาะบางคนท่านั้น ประการที่สอง ในบางส่วนที่ไม่สามารถสนองต่องานผู้ว่าฯ การบังคับบัญชาไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
อาจกล่าวได้ว่าจำนวนพนักงานและลูกจ้างของ ททท. เมื่อสมัยเป็น ททท. เดิมที่มีงานเยอะไปหมด มันเป็นองค์กรที่กำลังคนไม่พอ แต่พอเหลือภารกิจไม่กี่อย่างแล้วตอนนี้มันมากเกินไป โดยอ้างอิงจากองค์กรแบบเดียวกันในต่างประเทศ ไม่ว่า ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่ใช้งบประมาณมากกว่าเราแต่คนน้อยกว่าเราเยอะ ขณะที่มาเลเซียรวมทั้งกระทรวง รวมทั้งหน่วยงานแบบ ททท. ที่เรียกว่า มาเลเซีย ทัวร์ริซึม โปรโมชัน บอร์ด
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไปเอาคน ททท.ออก ถ้าสมมติว่ายังไม่ได้ปรับอะไรมากมาย แต่มันจะต้องรีออแกไนซ์อย่างแรงที่จะจัดโครงสร้างใหม่ คือ โดยหน้าที่ให้เป็นไลน์ที่เหลือให้เป็น task force เยอะขึ้น หรือเป็น issue base ให้มากขึ้น เพื่อจะลงในเชิงลึก และประสานกับภาคเอกชนได้ เพราะมิเช่นนั้น ถ้า ททท.ยังเป็นองค์กรแบบผู้ว่าแล้วรอง 5 คน แบ่งงานเป็นกอง เป็นฝ่ายมันก็จะแปล้ มันจะซ้อนกันอยู่ไม่จบในตัวของมันเอง แบบนี้มันจะหาความรู้ในเชิงลึก หรือความสามารถเฉพาะด้านไมได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จะไม่มีทางตามเอกชนทัน มันต้องนำไม่ใช่ตาม” อดีตผู้ว่าฯ ททท.อธิบาย
ปรับวิธีจัดการ
สร้างองค์ความรู้เชิงลึก
ทั้งนี้ การจะเป็นดังข้างต้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ ททท.ต้องมีเครือข่ายที่ดี ซึ่งจะว่าไปแล้ว จุดเด่นของ ททท.ที่มีเหนือองค์กรธุรกิจ หรือองค์กรภาครัฐอื่นๆ ก็คือการมีเครือข่ายที่ดีที่สุดอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายที่เป็นเอเยนต์ทัวร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เครือข่ายโรงแรม เครือข่ายการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เป็นต้น เพียงแต่ที่ผ่านมา ททท.ไม่เคยนำจุดเด่นที่มีเหล่านี้ไปสร้างความได้เปรียบ หรือเพื่อตองสนองต่อลุกค้าของตนเลย
ปัจจุบันหน้าที่หลักของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มี 2 ประการ คือ ประการแรก ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ภาพรวมของประเทศ ประการที่สอง ทำการตลาดเพื่อช่วยภาคเอกชนให้มีการขับเคลื่อนด้านการตลาด และการขาย
ที่ผ่านมาต้องถือว่าในการสื่อสารที่เป็น Communication crisis management ที่เป็นวิกฤตของประเทศ และเป็นหน้าเป็นตาเพื่อดึงคนเข้าประเทศนั้น ททท.สามารถทำได้ค่อนข้างดี แม้ว่าททท.จะไม่สามารถเข้าถึงตัวนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนได้โดยตรง แต่เป็นการทำหน้าที่ผ่าน 4 หน่วยหลักคือ 1.ทัวร์ โอเปอเรเตอร์ ทั้งในและต่างประเทศ 2.สื่อมวลชน 3.เอเยนต์ทัวร์ และ 4.องค์กร หรือสมาคมใหญ่ๆ ซึ่ง ททท.ต้องทำหน้าที่หลักทั้ง 2 ประการข้างต้นให้เข้าถึงและตอบสนองทั้ง 4 กลุ่มให้ได้ตามที่ต้องการ
แม้ว่าหน้าที่ในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ภาพรวมของประเทศ ทาง ททท.จะสอบผ่าน แต่หากเป็นหน้าที่ประการที่ 2 คือ ทำการตลาดเพื่อช่วยภาคเอกชนให้มีการขับเคลื่อนด้านการตลาดและการขายแล้ว ก็ต้องถือว่าผลการสอบที่ออกมายังไม่ค่อยน่าพึงพอใจนัก เพราะต้องยอมรับว่าข้อมูลความรู้เรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของเอกชนมีความรู้ดีกว่า ททท. อย่างเช่น การท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวแบบผจญภัย เป็นต้น
“จากนี้ ททท.ต้องจับเชิงลึกคือรู้ว่าใครจัดการประกอบการด้านการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ โรงพยาบาลไหนทำอะไร มีสินค้าอะไร เรื่องบำบัด เรื่องสมุนไพร จังหวัดไหนมีสินค้าอะไร ขณะเดียวกันต้องรุ้ว่าความต้องการด้านการตลาดประสานงานกับสำนักงานการท่องเที่ยวในต่างประเทศ ต้องรุ้ว่าดีมานด์ของตลาดไหน กลุ่มไหนสนใจของพวกนี้ เพื่อกำหนดในเชิงดัชนี ของแนวโน้ม ทำการคาดการณ์ เพื่อผู้ประกอบการจะได้รุ้ว่าถ้าจะทำการตลาดเขาจะทำที่ไหน ในเชิงลึกต้องทำ แต่ตอนนี้ททท.ยังไม่มี หรือมีเป็นแบบแอเรีย หรือเชิงโครงสร้าง”
เหตุผลของการที่ต้องสร้างองค์ความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของนักเที่ยวรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เจเนอเรชันเอ็กซ์ เจเนอเรชันวาย เบบี้บูม และอื่นๆ เริ่มศึกษาหาข้อมูลในการท่องเที่ยวมากขึ้น มีความต้องการในการท่องเที่ยวแบบเป็นเซกเมนต์มากขึ้น ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบพักผ่อน (leisure tourism) เหมือนในอดีตที่มักจะมาท่องเที่ยวกันแบบครอบครัวในวันหยุดพักผ่อน
ทำให้ ททท.ที่ปัจจุบันยังมองนักท่องเที่ยวแบบเดิมๆ คือมองในรื่องภูมิศาสตร์ เช่น ตลาดญี่ปุ่น ตลาดอินเดีย ตลาดยุโรป หรือตลาดอเมริกา ไม่สามารถหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ และทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวในรุปแบบของกลุ่มอายุ การศึกษา รายได้ รสนิยม และวิถีชีวิตความชอบส่วนตัว เช่น ดำน้ำ ดูนก หรือวัฒนธรรมได้
“แต่เดิมการท่องเที่ยวอาจจะพูดรวมๆว่าการท่องเที่ยว ลองสังเกตว่าเมื่อก่อนสำนักงานการประชุมมันไม่มี มันรวมอยุ่ใน ททท. แต่พอใหญ่ขึ้นมามันกลายเป็น issue มันแยกออกมา และลักษณะแบบนี้จะมีอีกเยอะ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวผจญภัย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พวกนี้เป็น issue ทั้งนั้น ซึ่งแต่ละ issue จะมีลักษณะเฉพาะและต้องการองค์ความรู้เชิงลึก และรู้ทุกด้านตั้งแต่ตัวสินค้าไปถึงตัวตลาด และตัวผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ให้บริการต้องสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว พวกนี้งานททท.จะไปไม่ถึงตรงนั้น รู้เหมือนกันแต่ไม่มีเชิงลึก อันนี้เป็นสิ่งที่ ททท.ต้องปรับ”
และการปรับนั้นต้องเป็นการนำเสนอของทั้ง 2 ด้าน คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้เสนอขึ้นไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แบบ bottom up ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องก็ควรจะเป็นผู้สั่งการลงมา แต่เท่าที่สังเกตตอนนี้คงยากที่ทั้ง 2 ส่วนจะปรับให้การทำงานของ ททท.เกิดประโยชน์ เพราะทาง ททท.เองก็ยังวิตกอยู่ว่าขณะนี้ทางท่องเที่ยวท้องถิ่น อย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ปัจจุบันเรี่มมีหน่วยงานการท่องเที่ยวจะเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเขาเอง แล้วเช่นนี้ทางททท.จะวางตัวอย่างไร จะเข้าไปทำหน้าที่ตรงไหน ซ้ำยังกังวลด้วยว่าองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานของ ททท.ไป จากปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ททท.ยังไม่เข้าใจบทบาท และมองตัวเองนัก เพราะที่จริงแล้วหลักของการท่องเที่ยวของทั่วโลก คือ ท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าของเรื่องการที่องเที่ยวของเขาเอง เพราะเป็นเจ้าของทรัพยากร และเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนของเขาให้เป็นไปเพื่อชุมชนในท้องถิ่น ขณะที่การท่องเที่ยวจะเป็นตัวกลาง หรือผู้คอยเชื่อมเพื่อบอกไปยังตลาดนักท่องเที่ยวว่าในแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนมีสินค้า หรือบริการในการท่องเที่ยวอะไรบ้าง ขณะเดียวกัน ททท.ก็ต้องเอาความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาบอกให้กับแต่ละชุมชนได้รับรู้ว่า นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มชอบสินค้าและบริการแบบไหน เป็นต้น และนี่คือบทบาทที่ ททท.ต้องปรับ
“เรื่องการท่องเที่ยวไม่ได้มองในเชิงเศรษฐกิจ แต่มันต้องมองมิติทางสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย และเศรษฐกิฐไม่ใช่เชิงแมคโคร แต่ต้องเชิงไมโครด้วย มันมีมิลเลนเนียม ดีเวลลอปเมนท์ โกล หรือเป้าหมายการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ของนานาชาติ 8 ข้อ อย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1.เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน 2.เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวมีบทบาทใน 2 ตัวนี้มาก แล้วหลายประเทศเริ่มทำแล้ว แต่เรายังไม่ค่อยใช้ตัวนี้เท่าไร คือ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชุมชนได้ เป็นการสร้างรายได้เสริม ไม่ใช่ไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม แต่เอาสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนเป็นการท่องเที่ยวหลักไม่ว่าฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ใช้วิถีธรรมชาติ ชนบท เป็นกิจกรรมด้านท่องเที่ยว ถ้ามองอย่างนี้เมื่อไรการเติบโตมันจะไม่ทันกับดีมานด์ มันต้องมองให้เรื่องการท่องเที่ยวให้เป็นภาคประชาชน หรือท้องถิ่นให้ได้”
สร้างนโนบายสาธารณะ
เพิ่มแรงกดดันเพื่อท่องเที่ยวยั่งยืน
ด้วยความที่การท่องเที่ยวมีหลายกระทรวง ทบวง กรม เข้าไปเกี่ยวข้อง หลายหน่วยงานต่างก็อ้างว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่ากระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรฯ แต่ถามว่าที่ผ่านมามีการบูรณาการแผนการทำงานเข้าด้วยกันหรือไม่ เพราะจริงแล้วหากจะมองน้ำตกเป็นสินค้า ไม่ใช่บอกว่ามีน้ำตกแล้วจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เนื่องจากจะต้องมีองค์ประกอบมากกว่านั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บ้านเราขณะนี้ยังขาดนโยบายสาธารณะในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ดังนั้น หน้าที่นี้จึงควรเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ เพราะมิเช่นนั้นตราบใดที่ททท.ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมือง ดังเช่นปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การดุแลของพรรคชาติไทย อยู่ใต้วิธีคิดของ บรรหาร ศิลปอาชา วิธีคิดของการท่องเที่ยวก็จะเป็นแบบบรรหาร โมเดล คือนิยมใช้เงินสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆขึ้นมา แทนที่จะสนับสนุนสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น การส่งเสริมการเที่ยวในอำเภอสามชุก เป็นต้น
“เมื่อไม่มีนโยบายสาธารณะ มันก็ไม่มีแรงกดดันจากประชาชน พอไม่มีนักการเมืองก็มองนโยบายเฉพาะของเขา เขาต้องเป็นคนสร้างนโยบายเอง ดังนั้น นโยบายที่เขาทำเองมันเป็นระยะสั้นมาก เพราะเขามองว่าเขาจะอยุ่กับรัฐบาลได้อีกนานเท่าไร และฐานเสียงของเขาอยุ่ตรงไหน จะไปว่าพรรคการเมืองก็คงยากเพราะมันไม่มีไกด์ไลน์ และการรับปากกับประชาชน”
นอกจากการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อกดดันนักการเมืองให้ทำตามที่พูดแล้ว สิ่งที่ ททท.ต้องรีบดำเนินการต่อไปเพื่อตัว ททท.เอง และประเทศชาติก็คือ ปรับวิธีคิด และวิธีการทำงานใหม่ เพราะมิเช่นนั้น ขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องท่องเที่ยวกับประเทศอื่นจะอ่อนแอลง อีกทั้งสินค้าหรือแหล่งท่องเที่ยวของไทยจะยิ่งหมดเสน่ห์และอ่อนแรงลง แถมจำนวนนักท่องเที่ยวจะยิ่งหดหายไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ
“ปัญหาของท่องเที่ยวไทยไม่ใช่อยู่ที่การแบรนด์ดิ้ง แต่อยู่ที่การพัฒนาสินค้าที่จะตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่สำคญกว่า เราจะต้องเตรียมไปวันข้างหน้า และเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ กับสิ่งที่เรามีอยู่” ภราเดช กล่าว
ททท.ดินแดนสนธยา ยุคไร้ผู้ว่าฯ
ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การขาดตัวผู้นำด้านการบริหารจัดการแบบตัวเจริงเสียงจริง ในตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะคอยเป็นคนคัดกรองโครงการเบื้องต้นก่อนนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ททท. (บอร์ด)ไป ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของททท. จนทำให้เกิดอาการเลือดไหลออกด้านงบประมาณไปอย่างรอบทิศทาง
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ททท.เป็นองค์กรที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับการท่องเที่ยวและนำมาซึ่งรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ ณ วันนี้การสรรหาตัวแม่ทัพใหญ่กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าไรนัก ขณะที่จำนวนผู้สมัครเพื่อชิงตำแหน่งสำคัญของททท.ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีมากน้อยเพียงไร ทั้งๆที่เมื่อก่อนเป็นตำแหน่งที่ทั้งคนในและคนนอกอยากจะเข้าไปบริหารจนก่อให้เกิดเป็นสงครามน้ำลายกันมาแล้วก็ตาม...
หรือทว่าปัจจุบันองค์กร ททท.แห่งนี้กำลังจะกลายเป็นดินแดนสนธยาไปเสียแล้ว ขาดซึ่งผู้นำในการตัดสินใจและปล่อยให้การเมืองเข้ามามีบทบาทมากจนเกินไป ส่งผลให้หน้าที่อันแท้จริงเพื่อกอบกู้ท่องเที่ยวไทยของ ททท.ตกไปอยู่ภายใต้กรอบความคิดของนักการเมืองแทน
ขณะที่ผู้บริหารภายใน ททท.เองต่างไม่สนใจกับอำนาจในการบริหารที่มีฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกเท่าไรนัก เพราะไม่อยากมีผลกระทบต่องบประมาณที่ฝ่ายตนเองจะได้รับ ซึ่งดูได้จากโครงสร้างการทำงานของ ททท. ที่มักให้อำนาจการเบิกจ่ายกับรองผู้ว่าการผู้อำนวยการแต่ละด้าน ได้อย่างอิสระเสรี สังเกตได้ว่าบ่อยครั้งแนวทางการใช้งบประมาณของ ททท. ที่ผ่านมามักจะเกาไม่ถูกที่คัน
บังเอิญไปสอดคล้องกับคำพูดของอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภราเดช พยัฆวิเชียร และเป็นที่ปรึกษา 11 ของ ททท.ที่ออกมาระบุว่า ททท.ควรจะกลับไปปรับรูปแบบและแนวทางการในการนำเสนอสินค้าแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยจะต้องให้ความสำคัญและเน้นเรื่องการวางรากฐานท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไปเที่ยวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา การทำงานของ ททท.ไม่ได้นำเสนอเอกลักษณ์ดั้งเดิมของพื้นที่ที่มีเสน่ห์ และมีคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเท่าที่ควร แถมยังยกตัวอย่างไปที่ สุพรรณบุรี แทนที่จำนำเสนอวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม แต่กลับไปสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ขึ้นมาแทน ไม่ว่าจะเป็น อุทยานมังกร และ การสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ทำให้เสียงบประมาณไปจำนวนมาก ทั้งที่นักท่องเที่ยวต้องการไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมาใหม่
เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยุคใหม่ สนใจเรื่องการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมโดยปรับปรุงและพัฒนาสินค้า ให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
แม้ว่าที่ปรึกษา 11 ของ ททท.ที่เป็นลูกหม้อและมีประสบการณ์จะออกโรงมาท้วงติงการทำงานและการทุ่มงบประมาณของ ททท.ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแนวคิดของฝ่ายการเมืองไปได้ ส่งผลให้ปัจจุบันคนในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่างบ่นอุบในช่วงที่ทุกฝ่ายต่างได้งบกระตุ้นการท่องเที่ยวฉุกเฉินจัดสรรไปใช้อย่างทั่วถึงกันทุกด้าน งานนี้จึงเห็นบริษัทออร์แกไนซ์หลากหลายที่เดินเข้าออกททท. พึ่บพั่บ และเตรียมแผนการนำเสนอเพื่อจัดงานเล็กงานใหญ่ แล้วแต่มุขของใครจะเข้าตา หรือที่เรียกว่าเส้นใครแข็งกว่ากันก็รับงบประมาณไป
และที่สำคัญปัจจุบันเริ่มแยกแยะไม่ออกแล้วว่าเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตัวจริงเป็นผู้ใด เพราะมีทั้งพี่ใหญ่และน้องเล็ก ระหว่าง บรรหาร กับ ชุมพล แห่งตระกูลศิลปอาชา ที่ว่ากันว่าเกือบแทบทุกครั้งของการประชุมทั้งสองคนจะนั่งประชุมอยู่ที่หัวโต๊ะในตำแหน่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มีหลายต่อหลายเรื่องสำคัญที่หน่วยงานของการท่องเที่ยวต้องตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตำแหน่งผู้ว่าการฯที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ขณะที่ไม่ยอมสรุปทางออกเรื่องบริษัท ไทยแลนด์ พรีวิเลจคาร์ด (ทีพีซี) โดยเสนอทั้งให้เดินหน้าและยกเลิก โดยจะโยนการตัดสินใจให้กับครม.เป็นผู้ตัดสิน ทั้งๆที่มีบอร์ดแต่ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจสำหรับเรื่องอย่างนี้ ส่วนเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายกับมีการตัดสินใจอย่างเร่งด่วนแทบตั้งตัวไม่ทัน
โดยครั้งล่าสุดเรื่องของการอนุมัติงบประชาสัมพันธ์ให้กับสายการบินไทย ไทย แอร์เอเชีย ในวงเงินกว่า 30 ล้านบาท ปรากฏว่าในบอร์ดมีเสียงคัดค้านจากตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง แต่บอร์ดที่มาจากสายการเมืองและที่ปรึกษาที่เป็นอดีตบิ๊กททท. ต่างชูมือเชียร์โครงการนี้จนกระทั่งผ่านและไทยแอร์เอเชียก็ได้รับงบประมาณไปฟรีๆ
“งานนี้มีการเอาเงินรัฐไปโฆษณาให้เอกชนฟรีๆ โดยอ้างว่าจะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยในจำนวนที่ต้องการได้ กลายเป็นปมปัญหาที่ ททท. ต้องตอบสังคมให้ได้ว่างบประมาณที่ได้รับมานั้นส่วนใหญ่ต้องใช้สำหรับโฆษณาในภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่ยกงบประมาณบางส่วนไปให้เอกชนใช้ฟรีๆ ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีหน่วยงาน ททท.ไว้สำหรับทำอะไร เสียดายงบประมาณจริงๆ” แหล่งข่าวระดับสูงกรรมการบอร์ด ททท.กล่าว
ละลายงบประมาณ
ปัจจุบัน รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณบางส่วนมาให้ ททท.แล้วเพื่อนำไปใช้เป็นงบกระตุ้นฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ได้มาราว 970 ล้านบาท โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่ถูกจัดสรรปันส่วนไปยังหน่วยงานต่างๆด้วยการอนุมัติจากบอร์ดของ ททท.
ล่าสุด มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วกว่า 85 ล้านบาท เพื่อเตรียมทำโครงการมหัศจรรย์อาหารไทย และโครงการเชฟกระทะเหล็ก ระหว่างวันที่ 24-28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยเนื้อหางานคือการดึงพ่อครัวแม่ครัวจากทั่วโลกเดินทางมาโชว์ฝีมือการทำอาหารในประเทศไทย ขณะที่ร้านอาหารคนไทยจากทุกภูมิภาคได้ถูกคัดเลือกมาแสดงฝีมือเช่นเดียวกัน
งานในครั้งนี้หากมองเนื้อแท้แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยเริ่มทับซ้อนกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นแม่งานเรื่องอาหารการกินมาเป็นงานประจำ ททท.ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ซึ่งว่ากันว่าเหมือนนำงบประมาณมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
โดยเนื้อหาของงานแล้วเนื่องจากเป็นงบที่ใช้เงินสูงเฉียด 100 ล้านบาท แต่ความสามารถเพียงแค่จะดึงคนไทยที่เป็นพ่อครัวกลับมาเที่ยวไทย ขณะที่ชาวต่างชาติผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างเชื่อแน่ว่าคงไม่ตามมากินอาหารไทยอย่างที่คิดไว้แน่นอน เพราะอย่างที่รู้อาหารที่ขึ้นชื่อของไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักคงหนีไม่พ้นต้มยำกุ้งหรือผัดไทย โครงการนี้เลยไปแบบน้ำขุ่นๆ ว่า จะกระตุ้นให้คนไทยติดตามไปเที่ยวตาม 5 ภูมิภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก ใต้ และกลาง ได้เหมือนกับที่ ททท.ได้จัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ก็ยังเหมือนเดิม คือคนไทยยังไม่มีอารมณ์เที่ยวในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
เข้าใจได้ว่า การวางแผนกลยุทธ์การตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท.ต้องการให้เกิดความครบด้านในทุกองศา ทั้งการสนับสนุนการตลาด การส่งเสริม การ สร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักถึง โดยหวังว่าจะเกิดการเดินทางมาเที่ยวไม่วันใดก็วันหนึ่ง
แต่เชื่อว่าในช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังไม่พ้นคำว่าวิกฤต ผู้ประกอบการในวงการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะเงินฝืด ต่างต้องคาดหวังว่าการขยับตัวจัดทำโครงการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวของ ททท.ในช่วงนี้จะเกิดผลแบบทันตาเห็น
โดยเฉพาะงบกระตุ้นท่องเที่ยวในครั้งนี้น่าจะมีจุดหมายที่ชัดเจน การใช้ได้อย่างตรงประเด็น มากกว่าคาดหวังว่าวันหนึ่งนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาหลั่นล้าในประเทศไทยตามเดิม เพราะตอนนี้จ้างให้มายังต้องขอคิดดูก่อน
อย่างไรก็ตาม อยากให้ ททท.หันมาให้ความสนใจที่จะกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอย่างจริงจังเหมือนนโยบายที่วางไว้ ว่าปีนี้จะรุกตลาดคนไทยอย่างแข็งขัน ทดแทนชาวต่างชาติที่หายไป แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ททท.ยังให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศ ที่ช่วงเวลานี้จะดึงยังไงนักท่องเที่ยวต่างชาติคงต้องพับแผนการเดินทางมาไทยไว้ก่อน ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของไทย ที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าบทสรุปจะเดินไปที่จุดใด และที่สำคัญ การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ยังระบาดในพื้นที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปและตลาดในเอเชียหายไปทันที
ในขณะนี้ตลาดคนไทย คือ ตลาดที่ ททท.ต้องให้ความสำคัญและสร้างกระแสการออกมาให้เร็วที่สุด เพราะแคมเปญของ ททท.ที่เปิดตัวมาแต่ละแคมเปญนั้น จะถูกพูดถึงเพียงแค่เฉพาะงานเปิดตัว แต่หลังจากนั้นก็หายเข้ากลีบเฆมเงียบสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แหล่งข่าวในวงการท่องเที่ยวบอกว่า ถึงเวลาที่ ททท.ต้องปรับกลยุทธ์ให้โดนใจคนไทยมากที่สุด เมื่อคนไทยนิยมของดีราคาถูก ททท.ควรออกมาสนับสนุนโดยทุ่มเทงบประมาณการจัดงานให้ยิ่งใหญ่เหมือนที่เทไปยังตลาดต่างประเทศ เชื่อว่าถ้า ททท.เฉียดงบประมาณให้ตลาดในประเทศอย่างน้อย 100 ล้านบาท จัดแคมเปญกระตุ้นการขายแพ็กเกจแบบถูกจริงๆ มีหรือคนไทยจะปฏิเสธเที่ยว
“ยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว คือ ได้ทั้งการสร้างบรรยากาศในการท่องเที่ยวในประเทศ และการช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้ลืมตาอ้าปากได้” แหล่งข่าวกล่าวพร้อมกับเสริมอีกว่า การใช้งบจัดงานกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ยังดีเสียกว่าททท. ใช้งบ 30 ล้านบาท ไปประชาสัมพันธ์ให้กับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเส้นทางที่ไทยแอร์ฯให้บริการอยู่ โดยคาดหวังว่าไทยแอร์ฯ จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 แสนคน สร้างรายได้ประมาณ 1,700 ล้านบาท ที่ไทยแอร์ฯ ยิ้มแก้มปริ อยู่ดีๆ ก็มีงบประชาสัมพันธ์สายการบินไทยตั้ง 30 ล้านบาท มาทำตั๋วราคาถูก แม้จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทยแต่ไม่ใช่เรื่องที่ ททท.ต้องทำ
“ถ้าอย่างนั้น ททท. น่าจะใช้อีกสัก 100 ล้านบาท ลดราคาที่พักระดับ 5 ดาว ของไทยลงมา 50-70% ให้หมดทั่วประเทศ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ก็น่าจะดีไม่น้อย” แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด
******************
ได้เวลาปรับสูตรท่องเที่ยวไทย
กรณีสำคัญที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการท่องเที่ยวไทยอีกบริบทหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ของสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ไม่อาจทนรอความตายได้อีกต่อไป หลังจากที่พากันยกขบวนไปพบ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอร้องให้เข้ามานั่งหัวโต๊ะเมื่อมีการประชุมวาระแห่งชาติว่าด้วยเรื่องการท่องเที่ยว คู่กับ ชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อย่างน้อย 2-3 เดือนครั้งก็ยังดี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีจะได้รับทราบปัญหาต่างๆ ของธุรกิจการท่องเที่ยว และสามารถสั่งการแก้ปัญหาได้อย่างฉับไว เพราะที่ผ่านมางานทุกอย่างเกิดความล่าช้าเนื่องจากตัวของรัฐมนตรีเองที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
ที่ผ่านมาเป็นที่น่าเห็นใจผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่โดนผลกระทบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด แม้ว่าบางรายจะมีพฤติการณ์เห็นแก่ได้เอารัดเอาเปรียบคนไทยมากเกินไปก็ตาม เพราะถ้าผู้บริหารประเทศอยู่นิ่งเฉยและไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงว่าอยู่เกิดขึ้นตรงไหน ก็ยากที่จะช่วยเยียวยาแก้ไข
ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่สุขภาพไม่ดีของรัฐมนตรีเอง คนเราลองสุขภาพไม่ดีเสียแล้ว สมองคงสั่งการได้ไม่เต็มร้อย เผลอๆ ต้องอาศัย “การสุมหัว” จากคนใกล้ชิดมาช่วยวางแผนให้ ว่าควรจะทำอะไรบ้างไปวันๆ
แม้แต่วันที่บรรดาสหภาพแรงงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปถือป้ายไล่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานบอร์ด ททท.ออกจากตำแหน่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมาก็ตาม วันนั้นนอกจาก วีประธานบอร์ดและรัฐมนตรีว่ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแล้วแล้ว ยังมี บรรหาร ศิลปอาชา ที่ชอบเรียกตัวเองว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 แทนคำว่าอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาวของบรรหารรวมอยู่ที่นั่นด้วย จนดูราวกับว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือที่มั่นสุดท้ายในทางการเมืองของตระกูลศิลปอาชาอย่างไรอย่างนั้น
ผู้บริหารระดับรัฐมนตรี หากไม่สามารถครองใจคนในให้อยู่ และชนะใจคนนอกก็ไม่ได้...อยู่ไปก็ลำบาก ขนาดพนักงาน ททท.ที่มีบุคลิกเรียบร้อย ร้อยวันพันปีไม่เคยเคลื่อนไหวอะไร ยังทนไม่ได้ ต้องออกมาเรียกร้องไล่ “คนที่ไม่เกี่ยวข้อง” ออกไปให้พ้นๆ กระทรวง แล้วยังให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า ทนไม่ได้ที่ “มีคนนอก” เข้ามาดึงงบประมาณไปเป็นประโยชน์เฉพาะพวกตน ซึ่งแม้แต่ บรรหาร ศิลปอาชา ก็บังเอิญอยู่ที่นั่นด้วยได้ออกมาตอบโต้ว่าไม่จริง ไม่เคยดึงงบ ททท.ไปลงสุพรรณบุรี
แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน สภาพัฒน์ก็ส่ง “ใบเสร็จ” มาให้ดูว่ามีการโอนงบประมาณการทำห้องน้ำตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ รวม 10 แห่ง จำนวน 28 ล้านบาท ไปเป็นงบปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าศาลหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี ซะฉิบ...หลักฐานชี้ชัดแบบนี้จะให้แก้ตัวอย่างไรกันดี
ที่ผ่านมาสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเอกชนนั้น เขาไม่ค่อยกล้ามีปากเสียงกับนักการเมืองเท่าไรนัก ยังอดรนทดไม่ไหวจนต้องออกมาขอร้องให้นายกรัฐมนตรีเข้าไปแก้ปัญหาโดยไว้หน้ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงให้นั่งเป็นประธานคู่กัน ...ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเพราะ ก่อนลงมติอะไร นายกฯ กับรัฐมนตรีจะหันไปถ้อยทีถ้อยอาศัยว่า “เอาไงดี” งานนี้หากท่านรัฐมนตรียังคงฝืนสุขภาพตนเองในการทำงานหนักเพื่อประเทศชาติแบบว่าสุขภาพไม่เต็มร้อยอย่างนี้เชื่อได้ว่าต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งขันก็คงจะยิ้มจนแก้มปริและโกยนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในช่วงเวลาที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังอ่อนแอสุดๆ
|
|
|
|
|