Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
วิรัตน์ แสงทองคำ เมษายน 2530
ผ่าแผน "ผ่าตัด" ไทยเสรีห้องเย็น เมื่อเจ้าหนี้สงบสติอารมณ์นั่งคุย             
 

 
Charts & Figures

ฐานะของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็น

   
related stories

"BUSSINESS ADVISORY THAILAND ผู้มากับ "ความล้มเหลว"
ข้อเสนอสัญญาการจัดการ บริษัท ไทยเสรีอาหารสากล จำกัด
สุระ จันทร์ศรีชวาลา เขาสอบผ่านแล้ว
อันเนื่องมาจาก "แผนผ่าตัดไทยเสรีห้องเย็น"

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
ไทยเสรีห้องเย็น
Import-Export




วิกฤติการณ์หนี้สินกำลังถมทับธนาคารพาณิชย์ไทยจนหลังแอ่น และปรากฏการดิ้นรนเพื่อคลี่คลายปัญหาด้วยอาการทุรนทุราย บางรายหมดหวังปล่อยตามยถากรรมกัดฟันตัดหนี้สูญ บางรายกร้าวมองลูกหนี้เป็นศัตรูฟ้องล้มละลายระเนระนาด บ้างก็แหกคอกเดินเฉออกจาก สัญญาสุภาพบุรุษ อาการชนิดหลังมีเสียงวิพากวิจารณ์กันมาก บางคนชี้ว่าอาจจะเป็นแนวโน้มใหม่พฤติกรรมธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ไว้ใจกัน!!

ในความแปรปรวนนี้ ก็ยังมีคนบางกลุ่มกำลังทุ่มเท ทำงานด้วยความอดทน เพื่อแสวงหาทางออกที่ดี หา "สูตร" ในการแก้ปัญหา โดยตั้งความหวังว่า ลูกหนี้ฟื้นคืนชีพ ในขณะที่เจ้าหนี้ก็มีโอกาสได้เงินคืน "ผู้จัดการ" กำลังจะอธิบายกระบวนการของความพยายามนั้นของธนาคารพาณิชย์ไทย 8 แห่งที่กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นของอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์-ไพโรจน์ ไชยพร...

วิกฤติการณ์กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นมีการอรรถาธิบายกันมาไม่น้อย ส่วนใหญ่มักจะสรุปรวบรัดอย่างง่าย ๆ ใน 2 มิติ หนึ่ง-ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกระหน่ำธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาใน 1-2 ปีก่อน เป็นแบ๊คกราวน์ของเรื่อง สอง-ไพโรจน์ ไชยพร ประธานกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นได้ผละออกจากกิจการสู่เวทีการเมือง ยังผลให้กิจการวิกฤต การบริหาร เป็นปมของปัญหา

ทั้งสองมิติมาบรรจบกันในเวลาเดียวกัน จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นต้องมีอันเป็นไป!

ท้ายสุดของการวิพากษ์วิจารณ์ก็พุ่งเป้าไปที่บทสรุปของการแก้ปัญหาของบรรดาเจ้าหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ซึ่งแทบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันถึงขั้นพนันขันต่อกันว่า "แบงก์กรุงเทพจะหุบไทยเสรีห้องเย็นสำเร็จหรือไม่?"

ดูเหมือนกรณีไทยเสรีห้องเย็นก็จะเข้าสู่วงการแก้ปัญหาเจ้าหนี้-ลูกหนี้อันน่าเบื่อหน่าย ที่เริ่มต้นด้วยบรรดาเจ้าหนี้มานั่งสำรวจว่าเป็นหนี้วงเงินเท่าไร ธนาคารควรจะผ่อนปรนดอกเบี้ยควรจะลดลงเหลือสักกี่เปอร์เซ็นต์ และจะตามด้วยเงินก้อนใหม่เข้าอัดฉีดเท่าไร อะไรเทือกนี้!

มันเป็นวงจรที่ซ้ำซากจำเจ เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในวิกฤติการณ์หนี้สินห้วงเวลา 2-3 ปีมานี้ และต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนาน ในที่สุดก็อาจจะจบลงที่บรรดาเจ้าหนี้ ไม่ได้อะไรเลย พร้อม ๆ กับการตายซากของลูกหนี้!?

แท้ที่จริงวิกฤติการณ์ไทยเสรีห้องเย็นปัจจุบันได้พบทางแยกที่หลุดพ้นวงจรอุบาทว์นั่นแล้ว ที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้พอจะยิ้มออกกันบ้าง!!!

ปัญหา

กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นมีประวัติยาวนานประมาณ 50 ปี ชื่อของบริษัทมาจากชื่อบิดาของไพเราะและไพโรจน์ ซึ่งท้องน้ำทะเลอ่าวไทยยกย่องกันว่า พ่อค้าปลาที่เก่งกาจมาก บารมีของพ่อสะสมความยิ่งใหญ่ให้ลูก ๆ ไพเราะ พูลเกษ ลูกสาวคนโตดูเหมือนจะมีหัวการค้าเก่งพอ ๆ กับพ่อ แต่มีจุดอ่อนที่เป็นผู้หญิง ซึ่งบางครั้งเผชิญมรสุมหนัก ๆ จะยากจะต้านทาน ไพโรจน์ สืบต่อบารมีของพ่อออกมาในรูปของผู้ทรงอิทธิพลเมื่อเข้ายุทธจักรการค้ามีความคิดโน้มเอียงมุ่งสู่ความเป็นเจ้ามากกว่าความเป็นจริงทางธุรกิจ ข้อนี้เป็นจุดอ่อนของเขา

ไพโรจน์มุ่งสร้างฐานอำนาจ ซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อย เขาดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของชาวประมง มาตลอดจนเป็นพื้นฐานอันมั่นคงสู่เส้นทางการเมืองจนติดลมบนจนทุกวันนี้

เมื่อคนทั้งสองผนวกจุดแข็งคนละอย่างเข้าด้วยกัน ธุรกิจของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นจึงประสบความสำเร็จตามเจตจำนงของสองพี่น้อง พี่สาวเป็นนักธุรกิจที่เคยได้ชื่อว่ามีความสามารถสูงที่สุดคนหนึ่งในบรรดานักธุรกิจหญิงจนได้รับการยกย่องไปทั่ว น้องชายบรรลุความหวังที่ผลักดันกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นได้ก้าวหน้าเป็นธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งอันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

และแล้วปัญหามันก็เกิดขึ้นตรงจุดอ่อนของคนทั้งสอง เมื่อคนทั้งสองต้องแยกกัน พี่สาวดำเนินธุรกิจโดดเดี่ยวขณะลูก ๆ หลานยังเป็นเด็ก น้องชายสู่เวทีการเมืองชนิดไม่เหลียวหลัง จุดอ่อนเด่นชัดขึ้นๆ

ปัญหาเริ่มตรงนั้นจริง ๆ!!

ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ยอดขายสินค้าของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย จาก 1042 ตัน/เดือน ในปี 2525 ลดลงเหลือ 743 ตัน/เดือน 601 ตัน/เดือน 480 ตัน/เดือน และ 142 ตัน/เดือน ในช่วง 4 ปีก่อนถึงจุดอับ หรือยอดขายลดลงระหว่าง 20-50%

เป็นเวลา 4 ปีเต็มๆ ที่กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นขาดทุดต่อเนื่อง จาก 30 ล้านบาทในปี 2526 เพิ่มเป็น 139 ล้านบาท 309 ล้านบาท และ 9 เดือนของปี 2529 ขาดทุนไปแล้ว 262 ล้านบาท รวมการขาดทุนสะสมแล้วถึง 840 ล้านบาท ในเวลาเดียวกันยอดหนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นปฏิภาคตาม จาก 900 ล้านบาทในปี 2526 เป็น 1800 ล้านบาทในปี 2529 (โปรดพิจารณาตารางประกอบ)

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2529 ไพโรจน์ ไชยพร ได้เชื้อเชิญเจ้าหนี้มาประชุมเพื่อเจรจาขอให้ช่วยเหลือกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นอย่างเป็นทางการครั้งแรก เขาได้กล่าวถึงสาเหตุของความล้มเหลวทางการค้าหรือดำเนินงานไว้ 3 ประการด้วยกัน

หนึ่ง-กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นมีความจำเป็นต้องสต็อกสินค้าจำนวนมากในระยะเวลายาวนานอันทำให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมาก สอง-ธุรกิจเผชิญการแข่งขันมากขึ้นจากเดิมมีเพียง 10 กว่าราย แต่ในปัจจุบันมีผู้ส่งออกอาหารทะเลมากถึง 100 กว่าราย มีการแข่งขันตัดราคาอย่างหนักกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นประสบปัญหาการขาดทุน และสามการลดค่าเงินบาทมีผลทำให้ขาดทุนมากถึง 280 ล้านบาท

วิธีมองปัญหาของผู้ประกอบการค่อนข้างจะสอดคล้องกับ Business Advisory Thailand (BAT) ของไมเคิล เซลบี้ ที่ไพโรจน์ ไชยพร จ้างมาทำแผนการชำระหนี้ในอัตราค่าจ้างเดือนละประมาณ 1 แสนบาท บีเอที. กล่าวถึงปัญหาของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นว่าเกิดจาก ไพโรจน์ ไชยพรได้ผละออกจากธุรกิจชั่วคราว ส่งผลให้เกิดปัญหาการตลาดอย่างรุนแรง รวมทั้งในห้วงเวลานั้นกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นมีปัญหาเทคนิคสินค้าสต็อค 1,700 ตันได้รับการเสียหาย การควบคุมอุณหภูมิในห้องเย็นไม่มีประสิทธิภาพซึ่งมีมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท

จากปัญหานั้นทำให้กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นขาดสภาพคล่องจำต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกซ้ำเติมจากการลดค่าเงินบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในปลายปี 2527 ด้วย

ส่วนธนาคารเจ้าหนี้นั้น เล่าก็มองจากประสบการณ์ที่คบค้ากับกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นมานาน ได้สรุปว่าปัญหาทั้งปวงเกิดจากรากฐานความคิดของไพโรจน์ ไชยพร ต้องการเป็นหนึ่งในธุรกิจส่งอออกอาหารทะเลเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มธุรกิจขยายกิจการออกไปครบวงจร และถึงจุดรับซื้ออาหารทะเลที่สดอยู่เสมอในต่างจังหวัด เช่น ปราณบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) หรือ ตรัง เป็นต้น การลงทุนเช่นนี้ต้องใช้เงินลงทุนมาก ส่วนแรงกดดันเพิ่มความทะยานอีกก็คือสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น แต่ทว่าธนาคารที่สนับสนุนการเงินกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นกลับเย็นชาสวนทางกับความเร่าร้อนในการขยายกิจการของเขา ทางออกของไทยเสรีห้องเย็นจึงอยู่ที่ความสามารถใช้ "เทคนิค" นำเงินจากธนาคารมาขยายอาณาจักรได้

กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นเป็นธุรกิจส่งออกครบวงจร มีกิจการสาขาในต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งบริโภคอาหารทะเลแหล่งใหญ่ จากฐานนี้ผู้บริหารของไทยเสรีฯ จึงผลิตเทคนิคของการ "ดูดเงิน" จากธนาคารอันเป็นวิธีที่คลาสสิคมาก ๆ ซึ่งนักธุรกิจส่งออกไทยดำเนินกันมานานแล้วและที่ไม่เป็นเป็นเรื่องเป็นราวเพราะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

วิธีง่าย ๆ ก็คือบริษัทไทยเสรีห้องเย็นในโตเกียวเปิดแอล/ซี สั่งซื้อสินค้าจากกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นในประเทศไทยมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ มากเกินกว่าออเดอร์จริง จากนั้นกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นในเมืองไทยก็นำแอล/ซีไปแพคกิ้งกับธนาคารทั้งหลาย ส่วนเกินของเงินแพคกิ้งแอล/ซีที่ไม่มีสินค้าส่งออกอย่างแท้จริงจะถูกส่งนำไปใช้ในการขยายกิจการหรืออื่นใดที่มิใช่การผลิตเพื่อส่งออก

"เฉพาะการขยายกิจการอย่างเดียวก็นับว่ามากแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นคุณไพโรจน์ยังใช้เงินไปกับการเมือง และซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยด้วย" เจ้าหนี้รายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แรก ๆ เจ้าหนี้ดูสบายใจเพราะยอดส่งออกของไทยเสรีห้องเย็นเพิ่มพรวด ๆ เช่นนี้!

จนถึงต้นปี 2529 ธนาคารเจ้าหนี้บางแห่งเริ่มระแคะระคาย เมื่อแอล/ซีถึงกำหนดแต่ไม่มีสินค้าส่งออกไป เมื่อเจ้าหนี้เช็คกันไปมาพบว่าแอล/ซี ที่ถึงกำหนดและไม่มีสินค้าส่งมอบนั้นกองพะเนิน โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ที่มีสาขาอยู่ที่โตเกียว โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เป็นทั้งผู้เปิดแอล/ซีและรับแพคกิ้งแอล/ซีด้วย ต่อมาสาขานี้ต้องตัดหนี้สูญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ 200 ล้านบาท

เมื่อความแตกเช่นนี้ทุกธนาคารจึงพร้อมใจกันไม่ให้เครดิต!

ขณะนั้นไพโรจน์ ไชยพรยังเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ กำลังหัวปั่นกับการเมือง ไพเราะ พูลเกษนั่นเล่าเธอก็บอบบางเกินไปจะสู้ปัญหาใหญ่หลวงปานนี้ อาการความดันโลหิตสูงกำเริบ จนเส้นเลือดนัยน์ตาแตกไม่สามารถมองเห็นพอจะเซ็นหนังสือได้ เธอจึงต้องผละออกจากกิจการอย่างช่วยไม่ได้อีกคน ต่อมายุบสภาไพโรจน์พัวพันอย่างหนักกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมีเพียงลูก ๆ หลาน ๆ ไพโรจน์ รุ่นหนุ่มสาวเพิ่งจบจากเมืองนอกกันทั้งนั้นเข้ารับภาระหนักแทน พวกเขาทำอะไรไม่ได้ แม้กระทั่งจะติดต่อกับจ้าหนี้เพื่อบรรเทาปัญหาบางส่วน

กว่าไพโรจน์จะผ่านสนามการเมืองพ้นพงหนามคือไม่ได้เป็นรัฐมนตรี พอมีเวลาเหลือถึง 80% สำหรับกิจการเช่นปัจจุบันก็อาจจะเรียกได้ว่า "สายเกินแก้"

หนึ่งปีเต็มที่วิกฤติการณ์ไทยเสรีห้องเย็นเกิดขึ้นและไม่ได้รับการเยียวยา!

ไพโรจน์กลับมาอีกครั้งในสภาพที่มึนงงและแทบจะทำอะไรไม่ถูก ยังไม่ทันตั้งหลัก ธนาคารกรุงเทพ สาขาโตเกียวเปิดฉากฟ้องร้องทันที ข่าววิกฤตการณ์กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นจึงแพร่ออกสู่สาธารณชน เขายิ่งทำอะไรไม่ถูก ได้แต่สำรวจหนี้สินจึงพบว่ามีมากมายถึง 1,841.767 ล้านบาท ซึ่งดอกเบี้ยเดินทุกวินาที เดือนละ 17 ล้านบาทหรือปีละประมาณ 200 ล้านบาท (โปรดพิจารณาแจงรายละเอียดหนี้สินที่ผู้อ่านไม่เคยได้อ่านที่ไหนมาก่อนประกอบ)

ทางแก้

ไพโรจน์ ไชยพร ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. จังหวัดสมุทรสงครามอีกครั้งตามความคาดหวัง แต่เขากลับไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ปลายเดือนสิงหาคม 2529 ธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่โดย ดำรง กฤษณะมระ เบิกโรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ขู่จะฟ้องบริษัทไทยเสรีห้องเย็นที่ไม่ยอมชำระหนี้

ไพโรจน์ปวดหัวมาก วิ่งวุ่นเข้าเจรจากับ "ผู้ใหญ่" ธนาคารกรุงเทพหลายครั้งและเขาพบสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ก็คือข้อเสนอของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการแปรหนี้เป็นหุ้น ซึ่งหมายถึงในที่สุดกิจการอันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษของเขาต้องตกไปอยู่ในมือธนาคาร เพราะธนาคารกรุงเทพเสนอตัวเข้าถือหุ้นถึง 80%

ไพโรจน์ ไชยพรเป็นคนมีศักดิ์ศรีเรื่องทำลายศักดิ์ศรีและอำนาจของเขายากที่ใครจะแตะต้อง?!

ด้วยที่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์มาหลายสมัย ไพโรจน์วิ่งเต้นอย่างหนักหานักลงทุนจากต่างประเทศที่ใจดีเข้าร่วมลงทุนด้วยเงื่อนไขที่เขาพอจะรับได้ซึ่งมีเสียงสะท้อนกลับมาชื่นใจในเบื้องแรก ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น แม้กระทั่งรัสเซียวิ่งเข้ามา

ในห้วงเวลานั้นไมเคิล เซลบี้ เจ้าของกิจการ BUSINESS ADVISORY THAILAND เข้าอาสารับเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ของบริษัท รวมทั้งระบบการชำระหนี้ไพโรจน์กำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ประกอบกับ บีเอที. โด่งดังมากในการเป็นแกนจัดการปัญหาหนี้สินขอองกลุ่ม พีเอสเอ. สำเร็จ ไพโรจน์จึงตัดสินใจจ้าง บีเอที. เป็นผู้จัดการทำแผนการดังกล่าวทั้งหมด

ต้นเดือนพฤศจิกายน วีรพันธ์ พูนเกษลูกชายไพเราะ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารได้ทำหนังสือชี้แจงต่อธนาคารเจ้าหนี้ถึงความคืบหน้านั้น โดยกล่าวว่า BUSINESS ADVISORY THAILAND จะสามารถจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ของบริษัท รวมทั้งระบบในการจัดชำระหนี้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2529

"ขณะเดียวกันได้มีผู้ประสงค์จะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทหลายบริษัท รวมทั้งนักธุรกิจไทย โดยแต่ละรายได้มีการพบปะและเสนอโครงการด้วยวาจา ซึ่งบริษัทได้ขอให้แต่ละรายจัดทำเป็นโครงการเสนอมายังบริษัทเพื่อพิจารณา…" หนังสือชี้แจงตอนหนึ่งกล่าว

นอกจากนี้วีรพันธ์ ได้แจ้งว่าตัวแทนธนาคารในสวิสเซอร์แลนด์ เสนอเงินกู้ให้บริษัทเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมด โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 สำหรับ OPEN RATE และร้อยละ 7.5 สำหรับ FIX RATE แต่ในการกู้เงินนี้ต้องให้ธนาคารในประเทศเป็นผู้ค้ำประกัน

อีกเพียงสัปดาห์เดียวไทยเสรีห้องเย็นได้ทำหนังสือเชิญธนาคารเจ้าหนี้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแผนการปรับปรุงโครงสร้างและแผนการชำระหนี้ ซึ่งกำหนดในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็น ถนนเจริญนคร เวลาบ่าย 2 โมงตรง

นับเป็นครั้งแรกที่บรรดาตัวแทนเจ้าหนี้กับลูกหนี้มาพบกัน ต่างก็มีความหวังว่าจะตกลงกันได้ โดยมีพระเอกคือมิสเตอร์ เซลบี้เป็นเซลส์แมนขายแผนการทั้งหมด

เอกสารประมาณ 10 หน้าถูกแจกจ่ายไปให้ตัวแทนเจ้าหนี้อ่าน แม้ว่าบางคนที่เคยได้อ่านแผนการของนายคนนี้ที่ พีเอสเอ. มาบุญครอง และสยามกลการ จะออกปากว่า "แบบฟอร์ม" เหมือนกันเป๊ะและเปลี่ยนเพียงตัวเลขเท่านั้นก็ตาม แต่ทุกคนก็พร้อมจะตั้งใจรับฟัง

สาระสำคัญกล่าวว่ากลุ่มไทยเสรีห้องเย็นจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และสามารถหารายได้มาชำระหนี้ มีเพียงวิธีเดียวคือเพิ่มผลผลิตเพิ่มปริมาณการส่งออกอาหารทะเลให้ถึงเดือนละ 1000 ตัน/เดือน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2525 และแผนการนี้ล้มเหลวทันทีหากไม่มีเงินหมุนเวียนจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแพคกิ้งเครดิต

ส่วนไพโรจน์ ไชยพรพูดตรงจุดมากได้ยื่นเงื่อนไขการชำระหนี้ 2 ข้อ หนึ่ง-ขอลดดอกเบี้ยลงเพียง 9% สอง-ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอย่างน้อย 10 ปี โดยใน 10 ปีแรกขอชำระหนี้เพียงครึ่งหนึ่งก่อน

เจ้าหนี้ถามถึงความคืบหน้าที่อ้างในครั้งก่อนว่าจะมีผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ ไพโรจน์กล่าวว่าแม้จะมีผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศต้องพูดกันยาวถึงหลักการและรายละเอียดการร่วมลงทุน เกรงจะทำให้โรงงานเสียหาย

"ผู้ถือหุ้นของบริษัทตอนนี้ไม่มีปัญหาเพิ่มทุนแล้ว" เป็นคำตอบของเขาเมื่อถูกเจ้าหนี้บางรายถามอย่างไม่ตั้งใจ

"ไทยเสรีห้องเย็นได้กู้เงินอย่างเต็มที่จนไม่สามารถจะกู้เพิ่มอีก กิจการขาดสภาพคล่องและมีภาระการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้หนักมาก หากไม่มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ทั้งปัญหาหนี้สินและการบริหารงานแล้วต้นปี 2530 กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นต้องถึงจุดจบ" BUSINESS ADVISORY THAILAND สรุปสถานการณ์กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นไว้ในเอกสารเสนอบรรดาเจ้าหนี้

ไมเคิล เซลบี้ เชื่อว่าเมื่อไพโรจน์ ไชยพรกลับคืนยุทธจักร พร้อมกับ WORKING CAPITAL ก้อนใหม่จากธนาคารเจ้าหนี้ตามสัดส่วนหนี้ (PARI-PASU) แล้วภายใน 6 เดือนกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นจะผงาดขึ้นอีกครั้งสามารถเพิ่มยอดขายขึ้นระดับ 1000 ตัน/เดือน

ข้อเสนออย่างเป็นทางการของ BAT ระบุไว้ 4 ประการ หนึ่ง-บรรดาเจ้าหนี้จะต้องป้อน WORKING CAPITAL ตามสัดส่วนหนี้เป็นเงิน 300 ล้านบาท สอง-เจ้าหนี้จะต้องกำหนดสินทรัพย์ของกลุ่มไทยเสรีไม่ให้เกิน 640 ล้านบาท สาม-อัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 9% ต่อปี สี่-หนี้สินทั้งสิ้น (รวมดอกเบี้ยแล้ว)อยู่ในระดับ 2000 ล้านบาท กลุ่มไทยเสรีห้องเย็นจะชำระคืนจำนวน 1000 ล้านแรกในเวลา 11 ปีขึ้นไป

"เพื่อเป็นการตอบแทนความสนับสนุน และความร่วมมือ บรรดาเจ้าหนี้จะได้รับหุ้นของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็น 49% ตามสัดส่วนหนี้ (PARI-PASU BASIS)" ข้อสรุปของแผนการกอบกู้กิจการของบีเอที. (โปรดพิจารณาตารางแผนการกอบกู้กิจการและการชำระหนี้ประกอบด้วย)

แต่ข้อเสนอของ BUSINESS ADVISORY THAILAND ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากบรรดาธนาคารเจ้าหนี้!!!

มี 2 ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยคือเขาขอให้ตัดหนี้สูญ 20% ซึ่งบรรดาแบงก์เจ้าหนี้เคยได้รับการเสนอจากรายเดียวกันนี้ในกรณีมาบุญครอง หรือสยามกลการและก็ไม่สำเร็จมาแล้ว อีกประเด็นหนึ่ง ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำช้ามาก พวกเราเห็นว่าจะต้องมีทางออกที่ดีกว่านี้" ตัวแทนเจ้าหนี้รายหนึ่งให้เหตุผลที่ไม่รับข้อเสนอของ บีเอทีกับ "ผู้จัดการ"

ธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ที่เคลื่อนไหวมากที่สุด ประกาศว่า หากเจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันไม่ได้ เขาจะล้มโต๊ะด้วยการฟ้องล้มละลายภายในเวลา 90 วันจากวันประชุมนั้น ซึ่งจะมาถึงในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2530

ไพโรจน์ ไชยพร ไม่อับโชคเสียทีเดียว เพราะมีนักลงทุนต่างประเทศรายหนึ่งสนใจจะเข้าร่วมทุนอย่างจริงจัง-อะควาโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นชื่อของนักลงทุนกลุ่มนี้

ความจริงอะควาโกลด์ฯ ติดต่อมานานแล้ว แต่ต้องหยุดดูเชิงอยู่พักหนึ่งเมื่อไพโรจน์ จ้างมือเซียนให้จัดการปัญหาหนี้สิน เมื่อเซียนถูกดับรัศมีเขาจึงเสนอตัวเข้ามาอีกผ่านธนาคารเจ้าหนี้ต่าง ๆ

อะควาโกลด์ฯ ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากประเทศไทย อันประกอบด้วยผู้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและคานาดา โดยมีนาวาโท สว่าง เจริญผล อดีตอธิบดีกรมประมงเป็นประธานบริษัท และธีระ สกุลรัตนะ เป็นกรรมการผู้จัดการ

บรรดาเจ้าหนี้จึงเกิดความหวังอีกครั้งหนึ่ง!

นอกจากข้อเสนอของ บีเอที. ที่บรรดาเจ้าหนี้มองว่าเอียงข้างลูกหนี้ในฐานะผู้จ้างมากไปแล้ว แนวความคิดในการมองปัญหาซึ่งแตกต่างกันในบางประเด็นตั้งแต่ต้นแล้วย่อมสืบเนื่องถึงวิธีแก้ปัญหาที่มีความเห็นไม่ตรงกันด้วย

เจ้าหนี้มีความเห็นสอดคล้องกับ บีเอที. ที่เสนอเพียงจุดเดียวว่าหากมีเงินอีกก้อนหนึ่งเข้าหล่อลื้นแล้ว ไทยเสรีห้องเย็นจะเดินหน้าได้ทันที แต่บรรดาเจ้าหนี้ไม่เชื่อว่าไพโรจน์ ไชยพร กับลูกหลานที่ไม่มีประสบการณ์ทางธุรกิจเพียงพอจะสามารถพานาวาพ้นมรสุมได้

จากจุดนี้เมื่ออะควาโกลด์ฯ ในฐานะมืออาชีพด้านนี้แทรกตัวเข้ามาบรรดาแบงก์เจ้าหนี้จึงฉุกสนใจทันที

อีกประเด็นหนึ่ง แนวความคิดของบีเอทีเสนอให้บรรดาเจ้าหนี้นั่งคุยกัน ตกลงกันมวนเดียวจบ แก้ปัญหาทั้งเครือไทยเสรีห้องเย็น ทั้ง ๆ ความเป็นจริงในการกู้เงินของกลุ่มนี้เป็นรายบริษัท เจ้าหนี้ส่วนหนึ่งเห็นว่าควรจะแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ ไป จากส่วนที่ง่ายที่สุดก่อน หากแก้ปมครั้งใหญ่ครั้งเดียวจะสางลำบากมาก เพราะกิจการของกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นมีถึง 15 บริษัท

"บทเรียนที่มาบุญครอง กับสยามกลการก็เจอมาแล้ว แต่มิสเตอร์เซลบี้ก็ยังไม่ตระหนัก" เจ้าหนี้คนหนึ่งวิจารณ์ตรง ๆ

เจ้าหนี้สรุปแนวความคิดลงตัวในระดับหนึ่งว่า ประการแรกเพียงอัดฉีดเงินเข้าไปจำนวนหนึ่งโรงงานของไทยเสรีห้องเย็นก็สามารถเดินเครื่องได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน ประการต่อมาต้องแก้ปัญหาการบริหารงาน โดยดึงมืออาชีพมาเสริมทีม โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ตลาดต่างประเทศ

และในที่สุดก็ผลิตสูตรสำเร็จออกมาสูตรหนึ่ง มีลักษณะพิเศษมาก ๆ ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อนในเมืองไทย โดยจะแยกโรงงานที่ดีที่สุดมา 1 โรงเพื่อทดลองสูตรนี้ ไม่ใช้ระบบการลดทุน-เพิ่มทุนอย่างที่ใช้กัน และที่สำคัญธนาคารเจ้าหนี้ไม่ต้องลงเงินอีกแม้สักบาทเดียว

แผนการคร่าว ๆ จึงถูกวาดขึ้น ในเวลาใกล้เคียงกับ "เส้นตาย" ที่ธนาคารกรุงเทพประกาศไว้ แผนการดำเนินไปอย่างเงียบเชียบด้วยความร่วมมือระหว่างอะควาโกลด์ฯกับเจ้าหนี้บางราย ดำรง กฤษณมะระ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพไม่ทราบ จึงประกาศอย่างแข็งขันว่าถึงเวลาแล้วที่ธนาคารกรุงเทพจะฟ้องล้มละลายกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นเสียที

ถึงตอนนี้บรรดาเจ้าหนี้รายอื่น ๆ อึดอัดใจมาก บางรายเริ่มมองธนาคารกรุงเทพในภาพไม่ดีนัก ไม่เพียงเข้าทำนอง "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ" แม้ไพโรจน์เองก็มีอารมณ์

โชคดีอีกที่แผนการใหม่เซ็ทลงตัวอะควาโกลด์ฯ และเจ้าหนี้บางรายจึงวิ่งขาย "ไอเดีย" กับบรรดาธนาคารเจ้าหนี้ 7 รายใหญ่ยกเว้นธนาคารกรุงเทพซึ่งล้วนเห็นด้วยอย่างไม่ยากเย็นนัก ขั้นตอนที่หวาดเสียวมาก ๆ อยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ หากธนาคารกรุงเทพไม่ยอม สิ่งที่ลงแรงศึกษาค้นคว้ามาคงต้องพังทลายลง

เจ้าหนี้บางรายได้เข้าพบ ปิติ สิทธิอำนวย กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพชี้แจง "ไอเดีย" ให้ฟัง ซึ่งผลออกมาผิดคาด เจ้าหนี้บางรายกับไพโรจน์ ไชยพรเคยคิดว่าธนาคารกรุงเทพโดยการนำของชาตรี โสภณพนิชกำลังคอยจะเขมือบกิจการกลุ่มไทยเสรีห้องเย็น ปิติ สิทธิอำนวยกลับบอกว่าตนเองเห็นด้วยในหลักการและขอให้เสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษร

เพียง 2 วันต่อมา ดำรง กฤษณะมระคนขู่คนเดิมของธนาคารกรุงเทพ ออกมาประกาศจะให้โอกาสกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นอีกสักครั้ง จนกว่าจะถึงกลางเดือนเมษายนปี 2530

เจ้าหนี้รายอื่นจึงโล่งอกไปเปราะหนึ่ง

ช่วงเดือนมีนาคม 2530 จึงเป็นช่วงที่บรรดาเจ้าหนี้กับอะควาโกลด์ฯ ต้องทำงานหนักอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยการร่างแผนการออกมา แล้วให้ไพโรจน์ ไชยพรลงนามยอมรับก่อน หลังจากนั้นจึงเสนอให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมดทราบ ปัญหาเปราะที่สำคัญจึงอยู่ที่ไพโรจน์ ไชยพรคนเดียว

แผนปรับปรุงโครงสร้างกิจการและระบบการชำระหนี้ใหม่ถูกกำหนดขึ้นแล้ว ขั้นที่ 1 เลือกบริษัทไทยเสรีอาหารสากลซึ่งมีโรงงานที่ทันสมัยและใหม่ที่สุด เป็นบริษัทแรกในแผนการแก้ปัญหาแบบแยกส่วนหรือแก้ทีละเปราะ บริษัทนี้เป็นหนี้อยู่ประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ซึ่งมีหลักค้ำประกันดีมาก คือที่ดินถึง 20 ไร่ ขั้นที่ 2 ให้บริษัทอะควาโกลด์ เข้าถือหุ้นในบริษัทนี้ 40% โดยไม่ต้องเพิ่มทุน เป็นการให้หุ้นไปฟรี ๆ และโดยมีข้อแม้ว่าอะควาโกลด์ฯ จะเป็นผู้หาเงินทุนหมุนเวียน (WORKING CAPITAL) มาหล่อลื่นบริษัทให้ดำเนินต่อไปได้และจะเป็นผู้บริหารบริษัททั้งหมดทั้งด้านการเงิน บุคคล การตลาด และโรงงาน ขั้นที่ 3 ผลกำไร 60% ในแต่ละปีจะแบ่งชำระหนี้ตามสัดส่วนระหว่างเจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์และไม่มีหลักทรัพย์ เหลือ 40% เป็นผลตอบแทนที่อะควาโกลด์พึงได้

ข้อตกลงการบริหารใหม่จะใช้กำหนดเวลา 6 ปี ซึ่งคาดว่าจะชำระหนี้หมด บริษัทอะควาโกลด์ฯ จะถอนตัวออก

แผนการครั้งนี้มีผลดีแก่ทุกฝ่าย บรรดาเจ้าหนี้ไม่มีหลักทรัพย์พอใจที่ระบุว่าในปีแรกจะชำระหนี้ไอเอฟซีทีก่อนเพื่อปลดจำนองที่ดิน 20 ไร่ โดยจะนำมาค้ำประกันให้กับเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามสัดส่วนหนี้

นับเป็นสูตรสำเร็จที่น่าลองมาก ๆ

แต่กว่าจะถึงในขั้นนี้ได้ต่อรองกับไพโรจน์ ไชยพรอย่างน้อย 2 ครั้งในรายละเอียดบางตอน อาทิครั้งแรก ๆ เคยเขียนว่าอะควาโกลด์ฯ มีสิทธิซื้อกิจการบริษัทไทยเสรีอาหารสากลได้ในระหว่างการบริหารงานปรากฏไพโรจน์ไม่ยอม จึงเป็นมาเป็นสัญญาว่าจ้างบริหารเพียงชำระหนี้หมดเท่านั้น

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ร่างสัญญาจ้างบริหาร (MANAGEMENT CONTRACT) บริษัทไทยเสรีอาหารสากลก็ส่งถึงมือ ไพโรจน์ ไชยพร (โปรดอ่านล้อมกรอบรายละเอียดสัญญาบริหาร)

ไพโรจน์ ไชยพร เป็นคนมีศักดิ์ศรีแม้สัญญาการบริหารจะแก้ไขหลายตลบแล้วก็ตาม หากพบว่ายังมีจุดไหนที่สามารถ "บั่นทอน" ศักดิ์ศรีของเขาในสายตาคนท้องน้ำย่านอ่าวไทย เขาจะต้องสู้ ในสัญญาฉบับล่าสุดนี้ก็เหมือนกับมี 2 จุดที่เขาลังเล หนึ่ง-ด้านจัดซื้อซึ่งหมายถึง "กลไก" สำคัญในการสัมพันธ์กับราษฎร จากจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้เลือกเขาเป็น สส. เขาเห็นว่าทีมงานของเขาเดิมมีประสบการณ์ด้านการจัดซื้อมาหลายสิบปี กิจการควรจะไปได้ดียิ่งขึ้น หากงานส่วนนี้ยังอยู่ในความรับผิดชอบของเขาต่อไป สอง-งานด้านบุคคล ไพโรจน์ เห็นว่าการบริหารแบบตะวันตก อาจจะทำให้คนเก่าคนแก่ที่รับใช้ตระกูลไชยพรตลอดมาต้องตกงาน มันเป็นความจำเป็นของเขาในการปกป้องคนพวกนี้

ความคิด "บุญคุณ-น้ำมิตร" อันเต็มเปี่ยมของธุรกิจไทย-ไชนิสสไตล์ยังฝังรากลึกในจิตใจเขา เป็นแรงเฉื่อยที่บรรดาเจ้าหนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยต่อไป

ไพโรจน์ ไชยพร ขอคิดดูก่อน เขาใช้เวลาคิดในครั้งแรกประมาณครึ่งเดือน เขาก็ตอบไม่รับเงื่อนไข อย่างไรก็ตามเขายังมีเวลาจนถึงกลางเดือนเมษายน 2530 ในการตัดสินใจ บรรดาเจ้าหนี้จึงกลั้นใจรอต่อไป

เพราะถึงจุดนั้นรายที่ระเบิดด้วยความเหลือทนก็คือ ธนาคารกรุงเทพ ที่ประกาศเส้นตายไว้อย่างแน่นอนแล้ว

เมื่อถึงวันนั้นเหตุการณ์อาจพลิกผันไปอย่างไร "ผู้จัดการ" ไม่อยากเดา ถึงจุดนี้ก็ไม่จำเป็นต้อง "แทงหวย" อะไรอีกเพราะโลกล้วนอนิจจัง

เพราะถึงบรรทัดนี้ "ผู้จัดการ" ได้ทำหน้าที่ในขั้นตอนของ "ความพยายาม" ของเจ้าหนี้ไว้อย่างละเอียดพอที่ "ต่อ" กับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างสนิทและสิ่งที่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายทุ่มเทกันมากมายนั้น คงไม่เหนื่อยเปล่าอย่างแน่นอน!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us