|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ชาร์ป ประกาศคืนความยิ่งใหญ่ อัปแบรนด์อิมเมจ โฟกัส เฮลท์โปรดักส์ ขณะที่แอลจีลอนช์คอนเซ็ปต์ เฮลท์พลัส สร้างมูลค่าเพิ่ม เจาะตลาดพรีเมียม
การเข้ามาของเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์เกาหลี และแบรนด์จีน ที่กระหน่ำด้วยสงครามราคา และการพัฒนาดีไซน์ให้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้แบรนด์ญี่ปุ่นหลายแบรนด์ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น ซันโย ฮิตาชิ หรือแม้แต่ชาร์ป ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ปี ชาร์ปตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อชาร์ปไทย รวมกิจการของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเอวีซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทชาร์ปเทพนครและเอชเอ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบริหารงานของกรุงไทยการไฟฟ้าเข้าด้วยกันเพื่อดึงจุดแข็งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน โดยจะโฟกัสไปที่ 4 กลุ่มธุรกิจหลักคือ หมวดจอภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่ โซลาร์เซลล์ และเครื่องถ่ายเอกสาร โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนชิ้นเล็กยังคงให้กรุงไทยการไฟฟ้าดำเนินกิจการต่อไป
นัยสำคัญของการรวบกิจการในครั้งนั้นคือการประกาศทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แม้ว่าปัจจุบันจะมีสินค้าหลายกลุ่มที่ชาร์ปยังสามารถครองความเป็นผู้นำในตลาด เช่น หม้อหุงข้าว แต่ก็มีสินค้ากลุ่มหลักที่ชาร์ปในฐานะผู้นำเทคโนโลยีต้องสูญเสียตำแหน่งผู้นำให้กับคู่แข่ง นั่นก็คือ แอลซีดีทีวี ที่ชาร์ปเป็นผู้บุกเบิกตลาด ทว่าช่วงที่ผ่านมาตลาดหมวดภาพและเสียงมีการแข่งขันรุนแรง และในปีนี้ไม่ได้มีมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ ที่จะมากระตุ้นตลาด ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมามากขึ้น ดังนั้น ชาร์ปจึงหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าในกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ โดยแนวทางสำคัญที่ชาร์ปต้องการมุ่งไปให้ถึงคือการอัปเกรดสินค้าและการทำให้แบรนด์ชาร์ปมีภาพลักษณ์ของแบรนด์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์จาก Appliance System เป็น Health & Environment Product
"เรามุ่งหมายที่จะยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ชาร์ปให้สูงกว่าที่ผ่านมา โดยชาร์ปตระหนักดีว่าการทุ่มเม็ดเงินเพื่อโฆษณาทำได้เพียงแค่สร้างการรับรู้ แต่การจะทำให้ผู้บริโภคยอมรับจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ทั้งตัวสินค้า บริการหลังการขาย คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเรามีการศึกษาความสำเร็จของแบรนด์อื่นๆ เช่น แบรนด์แฟชั่นจากยุโรป ที่ส่วนใหญ่ใช้ Product Differentiation ในการทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์ของเขาดีกว่าคู่แข่งอย่างไร แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายของแพงขึ้น" ทัตซึยะ มิยากิ กรรมการผู้จัดการ ชาร์ปไทย กล่าว
ชาร์ป รุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อสุขภาพด้วยการลอนช์เทคโนโลยีพลาสม่า คลัสเตอร์ ในปี 2546 โดยเริ่มจากเครื่องปรับอากาศ จากนั้นในปี 2547 ก็ขยายเทคโนโลยีดังกล่าวสู่เครื่องฟอกอากาศ และตู้เย็นโนฟรอส ซึ่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีพลาสม่า คลัสเตอร์ จะมีราคาแพงกว่าสินค้ารุ่นปรกติประมาณ 3,000 บาท โดยแผนการตลาดสำหรับพลาสม่า คลัสเตอร์ จะทำตลาดแบบนิชมาร์เกต เน้นกลุ่มคนที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพ โดยชาร์ป ประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเทคโนโลยีฟอกอากาศพลาสม่า คลัสเตอร์ไปใช้ในสินค้าอื่นๆ เช่น ฟอกอากาศในรถยนต์ ลิฟต์ สินค้าประเภทสุขภัณฑ์
ล่าสุด ชาร์ป ลอนช์เครื่องพ่นประจุอิออนฆ่าเชื้อในอากาศ โดยเจาะตลาดโรงพยาบาลและองค์กรต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โดยรุ่นใหญ่สุดมีราคาอยู่ที่ 48,900 บาท สำหรับพื้นที่ขนาด 40 ตารางเมตร ส่วนรุ่นเล็กสุดที่ใช้ตามบ้านเรือนมีราคา 14,900 บาท ใช้ได้กับพื้นที่ 10 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะลอนช์ตู้เย็นรุ่นใหม่โดยใช้เทคโนโลยีพลาสม่า คลัสเตอร์ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารให้ใช้น้ำมันน้อยลงเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ชาร์ป ลอนช์ ไมโครเวฟ รุ่นฮีลซิโอ เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยไมโครเวฟรุ่นฮีลซิโอ มีคุณสมบัติในการเป็นทั้งเตาอบ เตาย่าง อบไอน้ำธรรมดา และอบไอน้ำพลังสูง ทำให้ประกอบอาหารได้หลากหลายกว่า โดยมีราคาสูงกว่าไมโครเวฟทั่วไปของคู่แข่งประมาณ 10% เจาะตลาดคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่ม 30-35 ปี ที่มีฐานใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการบริจาคไมโครเวฟรุ่นใหม่ให้กับคณะคหกรรมตามสถาบันการศึกษาต่างๆ พร้อมส่งทีมโภชนากรเข้าไปแนะนำวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการสร้างฐานลูกค้ารุ่นใหม่ที่มีวิถีชีวิตในการเข้าครัว จึงมีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าของชาร์ปในอนาคต
Academic Marketing เป็นกลยุทธ์หลักในการรุกตลาดสินค้าสุขภาพของชาร์ป โดยเจาะตลาดสถาบัน เนื่องจากการอธิบายให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าใจข้อมูลทางเทคนิคทำได้ยาก แต่หากสื่อสารกับหน่วยงานด้านการแพทย์ เช่นโรงพยาบาล พร้อมกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการทดสอบ จะทำได้ง่ายกว่า เพราะสินค้าที่ผ่านการทดสอบคุณภาพจะได้รับใบรับรอง ซึ่งทางชาร์ปจะต่อยอดด้วยการทำ Recommend Marketing เพื่อสร้างการยอมรับไปสู่ผู้บริโภค และจะเป็นใบเบิกทางในการโฆษณาประสิทธิภาพของสินค้าที่ผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ
"ชาร์ปไม่ได้เลียนแบบแบรนด์ดัง แต่เรายืนบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่แตกต่าง เพราะวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยดีไซน์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเทคโนโลยีที่ดีด้วย เช่น พลาสม่า คลัสเตอร์ที่เป็นเอกสิทธิ์ของชาร์ป" ทัตซึยะ กล่าว
ชาร์ปมีสัดส่วนยอดขายสินค้าเฮลท์โปรดักส์ประมาณ 27% ของกลุ่มคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 30% ในปีนี้ นอกจากจะรุกเฮลท์โปรดักส์มากขึ้นแล้ว ชาร์ป ยังให้ความสำคัญกับกรีนโปรดักส์ เนื่องจากเป็นอีกเทรนด์หนึ่งในอนาคต โดยชาร์ปมีการทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ และการพัฒนาพลังงานสะอาด
ปัจจุบันสมรภูมิเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมีมูลค่าประมาณ 2.95 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตเชิงปริมาณ 6% เติบโตเชิงมูลค่า 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นหลายๆ ค่ายจึงพยายามสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์ การใส่ฟังก์ชั่นที่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้ โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา แอลจี มีการลอนช์คอนเซ็ปต์ใหม่ คือ เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่น ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคล่าสุดพบว่าส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสุขลักษณะและอนามัยภายในบ้าน ดังนั้น แอลจีจึงหันมาเพิ่มน้ำหนักให้กับฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดย เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่น ของแอลจีแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ Nutrition Living ประกอบด้วยสินค้าในกลุ่มตู้เย็น ไมโครเวฟ Clean Living ประกอบด้วยเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เครื่องดูดฝุ่น Fresh Living ประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ นอกจากนี้ เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่น ยังมีเรื่องของการประหยัดพลังงานร่วมด้วย
ปีนี้แอลจีลอนช์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 27 รุ่น แบ่งเป็นเครื่องปรับอากาศ 4 รุ่น ตู้เย็น 8 รุ่น เครื่องซักผ้า 12 รุ่น เครื่องดูดฝุ่น 1 รุ่น ไมโครเวฟ 1 รุ่น และเครื่องล้างจาน 1 รุ่น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็น เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่น ซึ่งต่อไปในอนาคตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของแอลจีจะเป็น เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่นทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์เฮลท์พลัส ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศจะมีราคาเพิ่มขึ้น 30-40% ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป 10-20% โดยบริษัทพยายามที่จะลดช่องว่างของราคาลงเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายสัดส่วนฐานลูกค้าพรีเมียมให้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อผู้บริโภคมีประสบการณ์ในการใช้สินค้าที่มีเทคโนโลยีเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ก็จะทำให้ผู้บริโภคหันมาตัดสินใจซื้อสินค้าจากคุณภาพในการใช้งานแทนที่จะมองแต่เรื่องราคาเพียงอย่างเดียว
"ปัจจุบันผู้บริโภคไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยให้ความสำคัญทั้งในเรื่องการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายเพื่อไลฟ์สไตล์และสุขภาพที่ดี ซึ่งกลายเป็นกระแสความสนใจในขณะนี้ โดยแอลจีหวังว่า เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่น จะสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างดี เพราะผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคไทยโดยเฉพาะ" เฮียน (วู) ฮาร์เวิร์ด ลี กรรมการผู้จัดการ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว
Caring for your health in every way หรือ "เทคโนโลยีที่พร้อมใส่ใจในสุขภาพคุณเสมอ" เป็นสโลแกนที่ใช้สำหรับ เฮลท์ พลัส เทคโนโลยี ซึ่งมีการสร้างไอคอนเป็นสัญลักษณ์ เฮลท์ พลัส สีเขียว ควบคู่ไปกับโลโก้ของแอลจี โดยบริษัทมีการใช้งบการตลาด 50 ล้านบาทในการโปรโมต เฮลท์ พลัส คอลเลกชั่น โดยโฟกัสไปที่กลุ่ม eco-mom เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนต่างๆ
แอลจีตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างสัดส่วนยอดขายเฮลท์ พลัส คอลเลกชั่นในปีแรกได้ 40% ของรายได้จากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนร่วมกับเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ เนื่องจากเฮลท์ พลัส ถือเป็นพรีเมียมโปรดักส์ ดังนั้นช่องทางจำหน่ายในช่วงแรกจะเน้นไปที่ร้านค้าที่เป็น Starz Dealer และโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก โดยปัจจุบัน Starz Dealer มีทั้งหมด 28 แห่ง โดยแอลจีตั้งเป้าว่าจะสามารถพัฒนา Starz Dealer เพิ่มเป็น 50 รายในปีนี้
ก่อนหน้านี้ แอลจีใช้กลยุทธ์ราคาเป็นตัวนำในการสร้างแบรนด์แอลจีให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคไทย จากนั้นได้ปรับตำแหน่งการตลาดเพื่อก้าวไปสู่การเป็นพรีเมียมแบรนด์ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องอยู่ในวังวนของสงครามราคาที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจ โดยแอลจีมีการพัฒนาสินค้าไฮเอนด์ควบคู่กับการดีไซน์ที่โดดเด่นจนสามารถจำหน่ายสินค้าพรีเมียมในระดับราคาที่สูงขึ้นเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นพรีเมียมแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นชวารอฟสกี้ราคาหลักแสนบาท เครื่องปรับอากาศอาร์ทคูลที่สร้างปรากฏการณ์ด้านดีไซน์ให้กับเครื่องปรับอากาศ ตลอดจนเครื่องซักผ้าฝาหน้าระบบไอร้อน
สมรภูมิเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อสุขภาพ เคยถูกจับตามองเมื่อตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันในการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ด้วยการใส่ระบบฟอกอากาศเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีฟังก์ชั่นเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของซิลเวอร์นาโนที่นำมาใช้กับเครื่องซักผ้า ตลอดจนการพัฒนาเตาอบไมโครเวฟที่รีดไขมันสัตว์ให้น้อยลง หรือกระทะไฟฟ้าที่ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันในการทอดอาหาร
เทรนด์ของเทคโนโลยีสุขภาพมีบทบาทในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน แนวโน้มความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีสีเขียวเป็นอีกเทรนด์ที่มาควบคู่กัน โดยผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคคือการประหยัดค่าไฟ ประกอบกับการทำการตลาดของค่ายต่างๆ ที่นอกจากจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้นแล้ว ยังมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
|
|
|
|
|