บริษัทคอมพิวเตอร์หมายเลข 1 นั้นยังเป็นของไอบีเอ็มอย่างไม่ต้องสงสัย แต่รองจากนั้นยังมี
ฮิวเลตต์-แพคการ์ด วิ่งจี้ขึ้นมาอย่างน่าจับตามอง ถึงแม้เอช-พีจะตกอันดับไปบ้างในการจัดอันดับกิจการดีเด่นประจำปีในกลุ่มบริษัทอุปกรณ์สำนักงานและคอมพิวเตอร์โดยนิตยสารฟอร์จูนเมื่อต้นปี
1987 นี้ คือมาเป็นที่ 3 แทนที่จะเป็นที่ 2 เหมือนปีที่แล้ว
ความจริงในช่วงปี 1985-86 เอช-พีก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากความตกต่ำของตลาดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วทั้งวงการเหมือนบริษัทอื่น
ๆ ในอเมริกา รายได้รวมของปี 1985 อาจสูงถึง 6.5 พันล้านดอลล่าร์ หรือเพิ่มจากปี
1984 ร้อยละ 8 ก็จริง แต่ทว่ายอดกำไรสุทธิกลับได้เพียง 489 ล้านดอลล่าร์
คิดเป็นมูลค่า 1.91 เหรียญฯ ต่อหุ้น ลดลงกว่าปีก่อนหน้านี้ถึง 10%
ปัญหาของเอช-พีอาจสั่งสมมาจากความผิดพลาดในอดีต ที่เคยเก็งตลาดผิดในด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
หรือ พีซี. มาแล้ว รวมถึงจังหวะที่ชะงักตัวเองไประหว่างการปรับปรุงมินิคอมพิวเตอร์ช่วงปลายทศวรรษ
1970 อันเกิดจากการผลิตสินค้าที่ไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างแผนกต่าง ๆ
แต่ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน พากันใช้มาตรการปลดงานเลิกจ้างอย่างไม่ปราณีปราศรัย
เอช-พีหาได้ทำเช่นนั้นไม่ ไม่มีการปลดคนออกเลยแม้แต่สักคนเดียว หากหันมาใช้การลดทอนค่าใช้จ่ายด้านต่าง
ๆ แทน อาทิ โครงการลดเวลาทำงาน ตัดทอนค่าเดินทางและโอเวอร์ไทม์ลง แต่นั่นแหละ
ครั้นความตกต่ำขยายวงไปสู่ตลาดต่างประเทศด้วย บริษัทจึงจำต้องอาศัยวิธีเสริมด้วยการลดโควต้าการรับพนักงานใหม่ในช่วงปี
1985-88 ลงเหลือ 700 คน จากเดิมที่เคยรับกันมา 1,200 คน
ความพยายามรักษาคนของตนไว้ให้ได้ในทุกสถานการณ์นั้น นับเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมักยกย่องเสมอมาว่า
เป็นที่มาในความสำเร็จของบริษัท กอปรกับเหตุผลในเรื่องความสามารถในการประกอบการ
ที่ใช้หลักให้รางวัลและส่งเสริมให้กำลังใจให้แก่พนักงานที่มีความสามารถอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ก่อตั้งขึ้นโดยคนสองคน ที่มีชื่อตามชื่อบริษัทนั่นเอง
คือ วิลเลียม ฮิวเลตต์ และเดวิด แพคการ์ด ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่เรียนจบมาด้วยกันทางวิศวกรรมศาสตร์
จากมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด พวกเขาร่วมกันสร้างห้องปฏิบัติการเล็ก ๆ ของตัวเองขึ้นในปี
1938 โดยอาศัยบริเวณจอดรถ หลังบ้านพักของแพคการ์ดในพาโล อัลโต แคลิฟอร์เนีย
ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่คนทั้งสองช่วยกันคิดค้นขึ้นมาจนสำเร็จ ได้แก่เครื่องสั่นสะเทือนทางเสียง
(Audio Oscillator) อันเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ทดสอบเครื่องมือเกี่ยวกับเสียง
แบบวงจรของเครื่องดังกล่าวเป็นไปตามแนวความคิดในวิทยานิพนธ์ของฮิวเลตต์
เมื่อครั้งยังทำปริญญาวิศวกรรมไฟฟ้าอยู่และทั้งสองให้ชื่อผลงานชิ้นแรกนี้ว่า
"เครื่องสั่นสะเทือนรุ่น 200 เอ" เพื่อให้ฟังดูยิ่งใหญ่ พวกเขานำมันไปเสนอในที่ประชุมของสถาบันวิศวกรวิทยุในขณะนั้นพร้อมกับส่งคำบรรยายสรรพคุณไปยังลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย
ทายซิว่าใครคือลูกค้ารายใหญ่ของพวกเขาในระยะแรก ๆ
ก็บริษัท วอล์ท ดิสนีย์ ราชาหนังการ์ตูนไงละ...วอล์ท ดิสนีย์ ขอให้วิศวกรหนุ่มทั้งสองช่วยสร้างอุปกรณ์นั้นให้กับภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่กำลังวาดอยู่บนดรออิ้งบอร์ต
เครื่องรุ่น 200 บีจึงถือกำเนิดขึ้นโดยวอล์ท ดิสนีย์ลงทุนซื้อถึง 8 ตัว เพื่อสร้างระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบในหนังการ์ตูนคลาสสิคของตนที่ชื่อ
"แฟนตาเซีย" แววแห่งความรุ่งโรจน์ทำท่าจะมาเยือนคนทั้งสองมากขึ้นทุกขณะ
ฮิวเลตต์และแพคการ์ดจดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนกันในปี 1939 และก่อนจะทันข้ามปี
บริษัทเล็ก ๆ แห่งนี้ก็ได้ย้ายสำนักงานออกจากโรงเก็บรถโกโรโกโสออกมาอยู่ในอาคารขนาดย่อมใกล้
ๆ กัน เริ่มมีการจ้างพนักงานประจำ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกับค่าใช้จ่าย
จนกระทั่งทุกวันนี้ ผู้ก่อตั้งบริษัททั้งสองได้รีไทร์ตัวเองไปครึ่งหนึ่งแล้ว
ทิ้งให้จอห์น เอ. ยัง เป็นประธานบริหารบริษัทสืบมา โดยจำนวนพนักงานในสังกัดทั่วโลกมีอยู่
84,000 คน ซึ่งเป็นพนักงานในอเมริกาถึง 56,000 คน
เอช-พีติดกลุ่ม 1 ใน 100 บริษัทอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาผลิตภัณฑ์กว่าหมื่นชนิดของบริษัท
มีตั้งแต่ระบบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การทดลองและมาตรวัด เครื่องคิดเลข
อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงอุปกรณ์และระบบวิเคราะห์ทางเคมี สำหรับในไทยเราถ้าจำไม่ผิด
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัยมหาจำลองเมื่อสองปีก่อน ก็อาศัยคอมพิวเตอร์ของฮิวเลตต์-แพคการ์ดนี่แหละ
นับและรวมคะแนนเลือกตั้งโดยความเอื้อเฟื้อจากบริษัทไทยประกันชีวิต
หนุ่มสาวไม่น้อยที่จบมหาวิทยาลัยออกมา ต่างใฝ่ฝันที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทนี้
คนนอกอยากเข้า แต่คนในนั้นเข้ามาแล้วไม่ค่อยอยากออกนักหรอก ว่ากันว่าบริษัทให้โอกาสความก้าวหน้าแก่พนักงานทุกคนอย่างพอเพียงทีเดียว
ลู ฮอยดา ผู้เชี่ยวชาญด้านไฮ-เทคคนหนึ่งในวงการกล่าวว่า "เอช-พีเติบโตขึ้นเท่าไหร่
โอกาสก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น แทนที่แผนกเดียวจะจุคนไว้ถึง 500 คน บริษัทจะแบ่งซอยออกเป็น
5 แผนก ๆ ละ 100 คนแทน วิธีนี้ทำให้มีผู้จัดการใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 คน แทนที่จะมีแค่คนเดียว"
ในปี 1985 เอช-พีมีผู้จัดการและหัวหน้างานมากถึง 9,282 คน ขณะที่ย้อนหลังไป
5 ปีคือปี 1980 มีเพียง 5,830 คนเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทยังเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมีส่วนรวมอยู่ในกระบวนการจัดการระดับต่าง
ๆ ด้วย ทำให้การทำงานมีความคล่องตัวสูง
แมทท์ โอ" เบรียน วัย 34 ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทที่คูเปอร์ติโน
แคลิฟอร์เนีย ทำงานกับบริษัทมานานกว่า 10 ปีแล้ว ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นลำดับ
นับจากวิศวกรออกแบบด้านวัสดุกึ่งตัวนำ เลื่อนเป็นผู้จัดการโครงการ ผู้จัดการแผนกและในที่สุดก็มาถึงผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาดังกล่าว
ซึ่งนับเป็นผู้จัดการระดับกลางซึ่งมีคนในคอนโทรลถึง 70 คน
เขาบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาได้ถึงจุดนี้ ก็เนื่องจากบริษัทให้โอกาสแก่พนักงานทุกคน
มีความเป็นตัวของตัวเองในการตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายที่ฝ่ายบริหารไว้วางใจ
หลายครั้งที่มีคนมาเสนอให้เขาออกจากที่นี่แต่เขาปฏิเสธไปทุกครั้ง "ผมรักคนที่นี่ทั้งที่ทำงานในระดับบน
ระดับล่าง และระดับเดียวกันกับผม" เขาตอบอย่างปลื้มมาก
ความไว้วางใจที่บริษัทให้กับพนักงานแต่ละคน เป็นแรงสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ
โอ"เบรียนบอกว่า "บริษัทอื่นมักหยุมหยิมกับเรื่องชั่วโมงทำงาน
การรายงานความสัมพันธ์ และการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด พวกนี้ไม่มีในเอช-พี
พนักงานได้รับมอบหมายงานพร้อมกับอิสรภาพและการให้กำลังใจเพื่อบรรลุเป้าหมาย
เมื่อคุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจเพียงนี้แล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันละว่าจะมีใครคิดทรยศ
ตรงกันข้าม ยิ่งต้องทำงานมากขึ้นไปอีก"
ความจงรักภักดีที่พนักงานให้แก่บริษัท ก็คือผลตอบสนองจากที่บริษัทจงรักภักดีต่อพนักงานนั่นเอง
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีสภาพเหมือนป่าคอนกรีตที่เย็นชาสำหรับที่นี่
ตรงกันข้ามสิ่งแวดล้อมในการทำงานน่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา เพราะบริษัทจะคอยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
อยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงโปรเจคท์ ใหม่ ๆ ในการทำงานด้วย
เท่าที่ฟังมาเหมือนเลิศสะแมนแตนมาก แต่เอช-พีก็ยังไม่ถึงกับเป็น "ยูโทเปีย"
เสียทั้งหมด โอ'เบรียนให้ความเห็นว่า การขยายตัวของบริษัทยิ่งมีมากเท่าไหร่
สายการสื่อสารภายในก็ยิ่งแคบลง หลักการพื้นฐานของบริษัทที่ฝ่ายจัดการระดับสูงต้องลงมาสัมพันธ์กับพนักงานระดับล่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ตอนที่เขามาทำงานที่นี่ใหม่ ๆ ทุกแผนกของบริษัทจะต้องมีอยู่วันหนึ่งในรอบปีที่รู้จักกันในนามวันประเมินผลของแผนก
"ผู้ใหญ่จะลงมาหาพนักงานและใช้เวลาทั้งวันตรวจตราผลิตภัณฑ์ เดินไปรอบ
ๆ และพูดคุยกับลูกน้องอย่างทั่วถึง"
ขณะนั้นอาจทำได้เพราะยังมีแผนกต่าง ๆ เพียง 15 แผนก แต่ครั้นขยายออกไปเป็นมากกว่า
55 แผนกเมื่อ 6 ปีก่อน วิธี "การจัดการแบบชีพจรลงเท้า" ก็มีอันต้องยกเลิกไปโดยปริยาย
เนื่องจากต้องใช้เวลามากเกินไป จนถึงปัจจุบันโอ'เบรียนบอกว่า "ผมไม่คิดว่าประธานบริษัทจะรู้ถึงความเป็นไปในระดับล่าง"
ลำพังตัวเขาเอง ช่องว่างที่มีกับจอห์นยัง เคยมีเพียงผู้จัดการ 4 ระดับแต่มาวันนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น
7 หรือ 8 ขั้นไปแล้ว
โอ'เบรียนเข้ามาอยู่กับเอช-พีหลังจากผิดหวังกับบริษัทเก่า แต่สก็อตต์ หวัง
เพิ่งจบปริญญาโทมาสด ๆ ร้อน ๆ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อปี
1972 และไต่บันไดความก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากกเป็นวิศวกรออกแบบที่บริษัทสาขาโคโลราโด
ซึ่งเขาเคยทำมาในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ก็ได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นผู้จัดการโครงการ
และย้ายที่ทำงานมาอยู่อีกแห่งหนึ่ง ในมลรัฐเดียวกัน อีก 5 ปีต่อมาเขาก็ขึ้นเป็นผู้จัดการแผนก
ในอนาคตหวังอาจได้เป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา "ปัญหาอยู่ที่ว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่
และตัวผมจะอยู่ในไลน์หรือไม่" เขาบอกอย่างมีหวัง
สำหรับเขานั้น เอช-พีเป็นเสมือนบ้านไปแล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะต้องจากไปเพราะเป็นงานอาชีพที่มีทั้งความหลากหลายและท้าทายอยู่เสมอ
มีโครงการใหม่ ๆ ให้เขาได้ทำอยู่เรื่อย ๆ เขาต้องดูแลในด้านเครื่องคิดเลข
คอมพิวเตอร์แบบบริหารซอฟท์แวร์ และสถานีหน่วยงาน หวังก็เป็นเช่นเดียวกับวิศวกรจำนวนมากของบริษัทที่ไม่เคยคิดจะขึ้นมาเป็นผู้จัดการได้
คิดเพียงว่า ทำงานในฐานะวิศวกรให้ดีที่สุด แต่เมื่อวันหนึ่งโอกาสมาถึง เขาก็ไม่รีรอที่จะคว้ามันไว้
"ผมไม่รู้ว่าจะมีความสามารถพอหรือเปล่า แต่ผมก็เรียนรู้จากงาน"
และที่สำคัญเขายังสนุกกับงานมากจนต้องบอกว่า "ผมมองไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเปลี่ยนงานเลย
ในเมื่อผมก็มีความสุขดีได้ทำในสิ่งที่ต้องการเงินดีมีบำเหน็จ แล้วทำไมผมต้องออกด้วยละจริงมั้ย"
อย่างไรก็ตามเขาเห็นพ้องว่าปัจจุบันระบบงานของบริษัทรวมศูนย์มากขึ้น ทำให้สายการสื่อสารยืดยาว
และยุ่งยากขึ้น รวมทั้งกินเวลานานขึ้นอีกด้วย "ตรงนี้แหละที่คนอย่างผมคงจะผิดหวังบ้าง
มาเจอเข้าอย่างนี้ขณะที่เครื่องกำลังร้อนที่จะรันโปรเจคใหม่ ๆ ออกมา"
ไม่เสียทั้งหมดที่รักงานจนไม่อยากออกเหมือนคนทั้งสองที่กล่าวมา จิม คาปราโลส
เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกมาหลังจากทำงานอยู่กับเอช-พีนาน 7 ปี(1969-76)
ตำแหน่งสุดท้ายเขาเป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลของส่วนงานข้ามทวีป เหตุผลที่เขาต้องละทิ้งบริษัทที่มีความมั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา
เป็นเพราะว่า เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความสะดวกและการส่งเสริมอย่างเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เขาคิดว่าบริษัทจำเป็นต้องทำ
"ผมคิดว่าผมก็เป็นนักบริหารที่ดีคนหนึ่ง แต่เมื่อผมเห็นส่วนที่คิดว่าต้องปรับปรุงและผมตั้งใจจะปรับปรุงแล้ว
ผมก็จะพูดออกมา ถ้ามันมีคุณค่าก็ควรได้รับการนำไปปฏิบัติ" แม้จะพูดถึงข้อเสียแต่คาปราโลส
ยังมีความรู้สึกด้านบวกเมื่อย้อนนึกถึงวันเวลาที่เคยอยู่กับ เอช-พี เขายกย่องนายจ้างในอดีตของเขาว่า
"บริหารแบบไม่เป็นทางการและไม่มีโครงสร้างที่ยุ่งยาก เอช-พีพยายามทุกอย่างที่จะลดหรือขจัดสัญลักษณ์เกี่ยวกับฐานหรือตำแหน่ง
ให้มากที่สุด"
การบริหารแบบไม่เป็นทางการของเอช-พีนี้สร้างความพอใจให้แก่พนักงานทุกระดับก็ว่าได้
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ชื่อจอห์นสัน คุยเสริมว่า "คนที่จบออกมาใหม่
ๆ จะปรับตัวได้ง่ายมากเพราะสิ่งแวดล้อมที่นี่คล้ายคลึงกับสภาพในมหาวิทยาลัย
ทุกคนจะเรียกชื่อหน้ากัน เสื้อผ้าก็ใส่กันตามสบาย เมื่อเราจ้างคนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามา
เราจะให้ความรับผิดชอบพวกเขาทันที เราไม่เชื่อในการฝึกงานที่กินเวลานาน แต่เราจะรีบบรรจุเดี๋ยวนั้นและให้พวกเขาฝึกฝนไปพร้อมกับการทำงานเลย"
ในปี 1986-87 เอช-พียังจำกัดโควต้าพนักงานใหม่ 700 คนเท่าเดิม แต่ในระยะถัดไปคือ
1987-88 จอห์นสันคาดการณ์ว่าบริษัทคงสามารถกลับไปเพิ่มโควต้าได้เท่าเดิมคือ
1,200-1,500 คน เพราะมองในแง่ดีว่า มินิคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดปีนี้จะเอาชนะคู่แข่งขันได้สบาย