มิใช่ครั้งแรกที่องค์การเภสัชกรรม ร่วมทุนกับบริษัทยาต่างประเทศตั้งโรงงานผลิตยา!
ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2513 ตั้งโรงงานซึ่งอยู่ด้านหลังสำนักงานองค์การเภสัชกรรม
ถนนพระราม 6 ซึ่งผลิตน้ำเกลือ และยาฉีดเข้าเส้นซึ่งเรียกกันตามภาษาแพทย์ว่า
GENERAL HOSPITAL SOLUTION อันเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญพอประมาณที่ออกหน้าสู้กับบริษัทเอกชนที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในตลาด
อาจจะเป็นเพราะผู้ร่วมทุนต่างประเทศนั้นคือ ABBOTT LABORATORIES แห่งอิลลินอยส์
ได้ตกลงปลงใจถือหุ้นกึ่งหนึ่งโดยองค์การเภสัชกรรมเองยอมให้ใช้ชื่อ บริษัทแอบบอทท์
ฟาร์มาด้วยซ้ำ
บริษัทแอบบอทท์ ฟาร์มา จำกัด มีทุนจดทะเบียนเพียง 4.8 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มแรก
จวบจนทุกวันนี้
กิจการราบรื่นและราบเรียบมาตลอด จนถึงปี 2520 เค้าของความยุ่งยากจึงก่อรูปลาง
ๆ ขึ้น
ฝ่ายแอบบอทท์มองว่าแม้กิจการจะมีกำไร แต่ความสามารถในการทำกำไรไม่มาก ซึ่งก็พุ่งเป้ามาที่กรรมการผู้จัดการ-ศิลป์
อินทรวิศิษฐ์ ประเด็นนี้ถูกเพ็งเล็งมากเป็นพิเศษเมื่อบริษัทขยายกิจการในปี
2519 ด้วยการลงทุน 5 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาใช้แล้วก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างใจนึก
ปี 2520 แอบบอทท์ ฟาร์มามีกำไร ประมาณ 6.5 ล้านบาทในขณะยอดขายประมาณ 33
ล้านบาท จ่ายเงินปันผลไป 3.4 ล้านบาท หรือ 704 บาท/หุ้น พนักงานบริษัทได้รับโบนัสกันทั่วหน้าคนละ
1 เดือน ตั้งแต่เริ่มกิจการ แต่ศิลป์ อินทรวิศิษฐ์ กรรมการผู้จัดการไม่เคยได้รับโบนัสเลย
"ความจริงคุณศิลป์ เป็นกรรมการผู้จัดการและถือหุ้นฝ่ายแอบบอทท์ แต่การทำงานค่อนข้างจะเข้ากับฝ่ายองค์การเภสัชฯ
ดีกว่า" คนเก่าคนแก่องค์การเภสัชกรรมเล่า
ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2521 ตัวแทนฝ่ายองค์การเภสัชกรรม
อดรนทนไม่ไหว จึงเสนอในที่ประชุมให้จ่ายโบนัส กรรมการผู้จัดการ แต่ฝ่ายแอบบอทท์
ก็ไม่ตกลงอ้างว่าต้องเสนอเรื่องสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอนุมัติ
ในปีเดียวกันนั้นเอง กิจการของแอบบอทท์ ฟาร์มาก็ต้องเผชิญการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มข้นครั้งแรก
บริษัทโอซูก้า ของญี่ปุ่นและบอร์เนียว ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด ขายในราคาต่ำกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเกลืออันเป็นผลิตภัณฑ์หลักของแอบบอทท์ฟาร์มา
นอกจากนี้คู่แข่งทั้งสองใช้ภาชนะพลาสติกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาดด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นน้ำเกลือของแอบบอทท์ ซึ่งบรรจุขวด บริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้จัดหาขวดได้ขอขึ้นราคาอีก
10% ด้วย
อยู่ต่อมาเพียงปีเดียว ศิลป์ อินทรวิศิษฐ์ จึงตัดสินใจลาออก
ซอร์ ไวก็เข้ารับตำแหน่งแทน เขาเป็นชาวพม่าทำงานด้านการตลาดบริษัทต่างประเทศมาตลอด
จนถูกชักชวนมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทแอบบอทท์ ลาบอราตอรี่ส์ประเทศไทยอีก
8 เดือนต่อมาเขาได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนั้น จนรวมมาถึงกรรมการผู้จัดการแอบบอทท์
ฟาร์มาด้วย
เขามีอำนาจในบริษัทมากทีเดียว สามารถลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว
การบริหารงานของชอร์ ไว สามารถลดแรงกดดันของฝ่ายแอบบอทท์ได้ดีทีเดียว แม้ว่าผลกำไรของบริษัทจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด
และดูเหมือนจะไม่เพิ่มขึ้นง่ายๆ ด้วย ไม่เพียงธุรกิจนี้มีการแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ซ้ำเติมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2523 รัฐบาลได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันถึง
40% อันเป็นผลให้ราคาสินค้าทะยานขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงของพนักงานต้องมีการปรับ
รวมความแล้วบริษัทแอบบอทท์ ฟาร์มามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นอย่างมาก
แม้ยอดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ต่อปี แต่กำไรมิได้เพิ่มตาม
ชอร์ ไวเคยพยายามเสนอให้บริษัทแอบบอทท์ ฟาร์มา เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของแอบบอทท์
ลาบอราตอรี่ส์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ก็ถูกผู้ถือหุ้นคัดค้าน โดยเฉพาะศิลป์
อินทรวิศิษฐ์กรรมการผู้จัดการคนเดิม แต่เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น โดยอ้างว่าต้องขออนุญาตจากองค์การเภสัชกรรมก่อน
ซึ่งปัญหาจะยาวไกลไปถึงการตัดสินใจใน ครม. โน้น ชอร์ ไวจึงถอนเรื่องกลับมา
หลังจากนั้นไม่นาน แอบบอทท์ แลบที่อิลลินอยส์ มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหาร
มูเนีย เช็ค ชาวปากีสถานเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียอาคเนย์แอบบอทท์ฯ
ซึ่งรับผิดชอบกิจการในประเทศไทย
"ผมทำงานเข้ากับเขาไม่ได้ อีกทั้งเขาเห็นว่ากิจการในประเทศไทยไปได้ยาก
เพราะตลาดสินค้าแคบ เห็นว่าไม่มีอนาคตเขาจึงพยายามถอนตัว" ชอร์ ไว รื้อฟื้นเหตุผลในการลาออกจากแอบบอทท์ฟาร์มาในเวลาต่อมากับ
"ผู้จัดการ" ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ความขัดแย้งระหว่างเขากับเจ้านายคนใหม่
ชอร์ ไว มีโอกาสได้นั่งในบอร์ดร่วมกับนายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ 1 ปี
จึงได้ลาออกไปในที่ประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2526 เขาได้แจ้งการลาออกในที่ประชุม
หมอยงยุทธสนใจเป็นพิเศษ ถึงขั้นขอให้ชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นทราบเหตุผลด้วย (นพ.
ยงยุทธ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ เพราะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม)
"เนื่องจากเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทแอบบอทท์ ลาบอราตอรี่ส์
สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งความเห็นไม่ตรงกัน ถ้าหากยังทำงานอยู่ก็ไม่สามารถบริหารงานได้ดี
ประกอบกับแรงผลักดันจากประสบการณ์ที่ทำงานกับบริษัทต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน
เกือบ 10 ปีแล้ว เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีกิจการของตนเอง จึงออกไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการตลาด"
ชอร์ ไว ชี้แจงในที่ประชุมก่อนเขาจะโบกมือลาจากไปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่
1 กุมภาพันธ์ 2526
ฝรั่งจากแอบบอทท์ ลาบอราตอรี่ส์ ประเทศไทยอีกคนหนึ่งจึงเข้าดำรงตำแหน่งแทน
จุดนี้เป็น "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ของการร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรม
กับแอบบอทท์ ลาบอราตอรี่ส์ ที่ผ่านกรรมการผู้จัดการทั้งสองคน (ศิลป์ และ
ชอร์ ไว) ล้วนเข้าใจตลาดประเทศไทย ชอร์ ไว แม้จะเป็นพม่าแต่ก็พูดภาษาไทยได้บ้าง
และอยู่เมืองไทยมานาน
ในการเข้ารับตำแหน่งของฝรั่งคนนั้น กรรมการฝ่ายองค์เภสัชกรรมวิตกกังวลหลายประการ
หนึ่งเกรงว่าจะขึ้นราคาสินค้าเดือดร้อนไปทั่ว สอง "ถ้าเป็นไปได้ทางฝ่ายองค์การเภสัชกรรมอยากจะขอให้จัดพนักงานระดับบริหารผู้มีสัญชาติไทย
ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างแอบบอทท์และองค์การเภสัชกรรม เชื่อว่าคงอำนวยความสะดวกและให้คุณประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ทั้งเป็นนโยบายชัดแจ้งในสัญญาการลงทุนร่วมกันอีกด้วย" กรรมการฝ่ายองค์การเภสัชกรรมกล่าวในการประชุมวันรับตำแหน่งของฝรั่งเป็นนัยของรอยร้าวในเวลาต่อมา
เกือบ ๆ สิ้นปี 2526 ที่ดูแนวโน้มบริษัทจะขาดทุน แอบบอทท์ฯแห่งสหรัฐจึงตัดสินใจเจรจาขายหุ้นให้องค์การเภสัชกรรม
องค์การเภสัชกรรมเห็นว่าเกินกำลังจะรับได้ ประกอบแนวความคิดของ นพ. ยงยุทธ
สัจจวาณิชย์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยชัดเจนอยู่แล้ว คือการให้เอกชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
ในที่สุดก็ขายให้บริษัทเอกชนคนไทยต่อไป
พร้อม ๆ กับการกลับมาของศิลป์ อินทรวิศิษฐ์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
อีกครั้งหนึ่ง
และเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2527 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น เยเนอรัลฮอสปิตัล
โปรดักส์
เป็นที่แปลกใจกันพอประมาณ เมื่อแอบบอทท์ฯ จากไปแล้วบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นกลับดำเนินการไปอย่างราบรื่น
สิ้นปี 2527 กำไรเป็น 3.8 ล้านบาทแม้ว่ายอดขายจะต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในระยะ
10 ปีที่ผ่านมา พอมาปี 2528 ยอดขายเพิ่มพรวดมาเป็น 60 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นเป็น
10.4 ล้านบาทอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
"เราเพิ่มสินค้ามากขึ้น ทั้งการบริหารก็คล่องตัว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงไม่เหมือนฝรั่ง"
นพ. ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ สรุปกับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งหากจะย้อนกลับไปเมื่อร่วมทุนกับฝรั่งแล้ว กรรมการคนหนึ่งย้ำว่า ผู้ถือหุ้นฝ่ายองค์การเภสัชกรรมจะถูกฝ่ายแอบบอทท์ต่อว่าเสมอ
ๆ ที่ไม่ยอมช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ครั้นเมื่อแอบบอทท์ทิ้งเรือไปแล้ว องค์การเภสัชกรรม
สมัย นพ. ยงยุทธ์ สัจจวาณิชย์ได้ให้ความสนใจช่วยเหลือด้วยดี
บทเรียนครั้งนั้นคงช่วยให้ร่วมมือกับยูไนเต็ดแลป แห่งฟิลิปปินส์ในยูพีเอ
ได้ดีขึ้น ผู้เกี่ยวข้องก็หวังกันเช่นนั้น!