Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2530
ALIEN" ในวงการธุรกิจยาไทยโยงใยสายสัมพันธ์ถึงมาร์กอส!?             
 

   
related stories

เยเนอรัลฮอสปิตอลโปรดักส์ อีกบทเรียนหนึ่งการร่วมทุนกับต่างชาติที่จบลงด้วยการแยกทางกัน!!

   
www resources

โฮมเพจ องค์การเภสัชกรรม

   
search resources

องค์การเภสัชกรรม
Pharmaceuticals & Cosmetics
ยูไนเต็ด ฟาร์มา แอนตี้ไบโอติค (ยูพีเอ)




รัฐบาลนางอาคิโนแห่งฟิลิปปินส์กำลังหัวปั่นในกรณีโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีส่วนพัวพันกับมาร์กอส-อดีตประะานาธิบดีผ้เองอำนาจเป็นข่าวอื้อฉาวมาก ๆ ข่าวหนึ่ง…

ในประเทศไทย คงไม่มีใครคาดคิดกันว่า โรงงานผลิตยาอันทันสมัยที่สุดของประเทศ ซึ่งกำลังรอฤกษ์ดีเปิดอย่างเป็นทางการนั้น มีสายโยงใยเกี่ยวข้องกับมาร์กอสด้วยดุจเดียว

โรงงานผลิตแอมพิซิลิน และเอมอคซี่ซิลินแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ทางเหนือของกรุงเทพฯ ชั่วเดินทางโดยรถยนต์จากใจกลางเมืองหลวงไม่เกิน 1 ชั่วโมง

อาคารโรงงานและเครื่องจักรมูลค่าประมาณ 85 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 9 ไร่ซึ่งซื้อมาด้วยราคา 4,237,439 บาท!!!

เป็นโรงงานผลิตยาขั้นกลาง (INTERMEDIATE) แห่งแรกที่รัฐวิสาหกิจไทยองค์การเภสัชกรรมเข้าถือหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยาปฏิชีวนะประเภทนี้ที่ผ่านมาต้องนำเข้าตลอดมา นับเป็นโรงงานผลิตยาที่ก้าวหน้ากว่าการบรรจุหีบห่อ ผสมดุจเดียวกับโรงงาน 99% ในประเทศไทย

เป็นโรงงานที่พยายามต่อสู้ขวากหนามมาเกือบ 7 ปีเต็ม จากความคิดริเริ่มตั้งแต่ปี 2523 อันเป็นปีที่เมืองไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศมีมูลค่าถึง 8,200 ล้านบาท จนถึงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 และเปิดเดินเครื่องผลิตเพื่อการค้า วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ด้วยกำลังการผลิตเพียง 20% ของความสามารถการผลิตเท่านั้น ขณะนี้กำลังรอฤกษ์พิธีเปิดอย่างเป็นทางการอยู่

เป็นโรงงานที่วงการยาในประเทศไทยวิพากษ์วิจารณ์อย่างเอนจอยปาก ถึงขั้นตั้งคำถามไปที่จุดเริ่มต้นว่า มันมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยาเมืองไทยหรือไม่? คุ้มกับการลงทุนร่วม 200 ล้านบาทสักเพียงใด ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพียง 20% ของกำลังการผลิตขายไม่ออกต้องบังคับให้ผู้ถือหุ้นซื้อในราคาที่แพงกว่านำเข้าจากต่างประเทศระหว่าง 10-20% ทั้งวัตถุดิบต้องนำเข้าถึง 80% ด้วย

และ "ผู้จัดการ" สืบค้นพบว่า โรงงานแห่งนี้เป็นผลแห่งความร่วมมือระหว่างผู้อำนวยองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ผู้นั่งเก้าอี้ตัวนี้นานถึง 6 ปี กับเพื่อนสนิทของมาร์กอส อดีตประธานาธิบดีไร้แผ่นดินของฟิลิปปินส์

สิ่งที่ "แปลกประหลาด" นี้เป็นคำถามที่รอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ จากผู้เกี่ยวข้องและสนใจ!!!

โรงงานผลิตยาปฏิชีวนะแห่งนี้ใช้ชื่อว่าบริษัทยูไนเต็ดฟาร์มา แอนตี้ไบโอติคส์ อินดัสตรีส์ (ยูพีเอ)

คนสำคัญที่สุดที่ลุ้นเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ก็ยังยึดเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัทนี้อยู่คือนายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์วัย 59 ปี ชาวยโสธร ผู้คลุกคลีกับวงการแพทย์ในภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 15 ปี เริ่มต้นด้วยการสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีในปี 2518 และหลังจากนั้นเพียงปีเดียวก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม ๆ กับดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกลาง พอ. สว. (แพทย์อาสาของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ฯ)

เขาเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลหอยธานินทร์ กรัยวิเชียร ระยะหนึ่ง และกลับดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้งในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี 2522 อันเป็นวาระสุดท้ายของการเป็นรัฐมนตรี ความคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยของเขาก็เกิดขึ้น

ต่อจากนั้นนายแพยท์ยงยุทธ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมและอยู่ที่นี่นานถึง 6 ปีเต็ม นานพอจะเดินเครื่องโครงการใหญ่ ๆ เกือบ 200 ล้านบาทได้สำเร็จ ตามสไตล์การบริหารงานแบบไทย หากลงเก้าอี้แล้วยากจะหาคนสานโครงการต่อไป

ความคิดของเขาเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อกำหนดแผน 5 ปีขององค์การฯ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของประเทศฉบับที่ 5 โดยสาระสำคัญประการหนึ่งระบุว่าจะผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมยาในประเทศ

"ผมใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการถึง 2 ปี" นพ. ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ก่อนที่แผน 5 ปีขององค์การเภสัชกรรมจะบรรจุโครงการดังกล่าวเอาไว้ด้วย

ต่อจากนั้นก็คือการเดินทางไกลตามขั้นตอนของทางราชการ จากสภาพัฒนา ครม. จนถึงประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าร่วมในการประมูลนานาชาติ (INTERNATIONAL BIDDING) ซึ่งปรากฏว่ามี 14 บริษัททั่วโลกเสนอตัวเข้ามา พอผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติสุดท้ายก็เหลือเพียง 3 ราย จากประเทศเกาหลีใต้ สเปน และฟิลิปปินส์ ในที่สุดรายหลังก็ชนะการร่วมทุน "เพราะราคาโนวฮาวถูกที่สุด" หมอยงยุทธแจงเหตุผลสั้น ๆ และง่าย

กว่าจะได้จดทะเบียนตั้งบริษัทก็ตกถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2526

บริษัท ยูไนเต็ด ฟาร์มา แอนตี้ไบโอติคอินดัสตรีส์ (ยูพีเอ) มีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 50 ล้านบาท ผู้ก่อการเป็นคนไทยทั้งสิ้นและก็นำทีมโดยหมอยงยุทธเอง ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2527 บริษัทได้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขอแก้ไขข้อบังคับของบริษัท สาระสำคัญอยู่ที่โครงสร้างผู้ถือหุ้น กล่าวคือระบุว่า องค์การเภสัชกรรมถือหุ้นไม่เกิน 45% ต่างประเทศถือหุ้นไม่เกิน 40% ที่เหลือเป็นภาคเอกชนไทย

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการแก้ไขครั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้ฟิลิปปินส์เข้าถือหุ้นนั่นเอง

และหลังจากนั้นเพียง 3 วัน (25 กุมภาพันธ์ 2527) องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมเซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท ยูไนเต็ด ลาบอราตอรี่ อินคอร์เปอเรชั่น ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมอัยการเรียบร้อยแล้ว ในวันเดียวกันนั้นบริษัท ยูไนเต็ด ฟาร์มา แอนตี้ไบโอติค (ยูพีเอ) ได้ลงนามกับบริษัท ยูไนเต็ด ลาบอราตอรี่ อินคอร์เปอเรชั่น ในสัญญาช่วยเหลือทางด้านเทคนิคด้วย

จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2527 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทผู้ถือหุ้นได้ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ซึ่งหมายความว่ายูไนเต็ดแลปถือหุ้น 20 ล้านบาท

คณะกรรมการยูพีเอมีทั้งหมด 11 คน ฝ่ายองค์การเภสัชกรรม 5 คน ยูไนเต็ดแลป 4 คน และเอกชนไทย 2 คน แต่ที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ กรรมการดังกล่าวนี้ ได้คัดออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 4 คน กลุ่มแรกเป็นฝ่ายองค์การเภสัช ส่วนอีกกลุ่มเป็นฝ่ายยูไนเต็ดแลป กรรมการสองกลุ่มนี้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนในนามบริษัทจะต้องลงนามฝ่ายละ 1 คน

นักกฎหมายชี้ว่าฝ่ายฟิลิปปินส์แม้ถือ หุ้นเพียง 40% ก็มีอำนาจมากถึงกึ่งหนึ่งในการบริหารงาน

ต่อมาคณะกรรมการยูพีเอได้ตัดสินใจเลือกนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ตำบลคลองหนึ่งอำเภอคลองหลวง ปทุมธานีเป็นที่ตั้งโรงงาน "โรงงานประเภทนี้ต้องมีระบบถ่ายเทของน้ำดีมาก" นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ บอกเหตุผลในการเลือกที่นี่ แทนการหาทำเลเองทั้งจะต้องจัด WATER TREATMENT เองเช่น โรงงานประเภทเดียวกันนี้ในย่านพระประแดง

ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ราคา 4,237,439 บาทและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมที่อีก 1,650,000 บาทด้วย

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2527 ได้ทำสัญญากับบริษัทที่ปรึกษา RESOURCES ENGINEERING&CONSULTANTS (REC.) เพื่อออกแบบโดยละเอียดเกี่ยวกับโรงงาน และควบคุมการก่อสร้างเฉพาะอาคาร (CIVIL WORK) และเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านงานก่อสร้างและขบวนการผลิต (PROCESS) ของยูไนเต็ดแลป แห่งฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาให้คำแนะนำรายละเอียดประกอบแบบแปลนพร้อมทั้งได้ส่งมอบรายละเอียดเครื่องจักรกล ที่จะต้องจัดหามาติดตั้งโรงงาน จนเป็นที่เรียบร้อยและเดินทางกลับไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

เริ่มศักราชใหม่ปี 2528 ได้ดำเนินการจัดหาบริษัทก่อสร้างเริ่มตั้งแต่สืบราคารับซองประกวดราคา เปิดซองก็ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งปรากฏว่าบริษัท เวสกรุ๊ป (VEST GROUP) ของวิกรม เมาลานนท์ ชนะการประมูลครั้งนี้ในราคาประมาณ 25 ล้านบาทเริ่มแรกคิดกันว่า จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8-10 เดือนแต่เอาเข้าจริงก็เลื่อนออกไปจากเดิมประมาณ เดือนมีนาคม 2529 เป็นเดือนกันยายนปี เดียวกัน

"หนึ่ง-บริเวณก่อสร้างโรงงาน มีชั้นดินแข็งเกินกว่าที่วิศวกรที่ปรึกษาคำนวณไว้ทำให้ขนาดความยาวของเสาเข็มที่กำหนดไว้ตอนแรก 21 เมตร ยาวเกินไป ต้องมีการลดขนาดความยาวของเสาเข็มลงเหลือ 15-16 เมตร และต้องตัดเสาเข็มบางต้นอีก ทำให้ผู้รับเหมาต้องเสียเวลาในการสั่งหล่อเสาเข็มใหม่ และตัดเข็ม สอง-แบบของวิศวกรที่ปรึกษามีปัญหา และไม่ชัดเจน ต้องแก้ไขเพิ่มเติม สาม-เนื่องจากฤดูฝนมาเร็ว และยาวนานกว่าปกติ ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงาน และสี่-งานบางอย่างเช่นการทำพื้นอาคารผลิต การทาสี ต้องรอให้เครื่องจักรกลเสร็จก่อน" นี่เป็นเหตุผลที่ผู้รับเหมานำมาอ้างกับยูพีเอ โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าปรับแต่อย่างใด

ส่วนเครื่องจักรและส่วนประกอบในการผลิตยานั้นแต่เดิมกำหนดไว้ว่าสามารถจัดหาได้ภายในประเทศส่วนหนึ่งหรือมีมูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท แต่ยูไนเต็ดแลปอ้างว่ายังไม่ได้มาตรฐาน ตามสเปคที่กำหนดจึงจัดซื้อได้เพียง 9 ล้านบาท ที่เหลือจำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยครั้งแรกประมาณกว่า 55 ล้านบาท แต่ด้วยการลดค่าเงินบาท ค่าเครื่องจักรจึงเพิ่มขึ้นเป็น 60,612,521.47 บาท

"ที่จริงไม่ใช่ปัญหาการลดค่าเงินบาทหรอกเป็นปัญหาเทคนิคอื่น ๆ มากกว่า" ผู้รู้เหตุการณ์ดีคอมเมนต์

วันที่ 22 มกราคม 2528 ยูพีเอได้เลือกรับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าอีก 2 ธนาคารที่เสนอตัวเข้า (CITIBANK และ BANK OF AMERICA) ในจำนวนเงิน 125 ล้านบาท หลังจากนั้นครึ่งเดือนจึงได้ทำสัญญากู้เงินอย่างเป็นทางการ

สัญญามีรายละเอียด หนึ่ง-เงินกู้ยืม เพื่อเครื่องจักรในประเทศ 27 ล้านบาท (แต่ความจริงซื้อได้เพียง 9 ล้านบาท ที่เหลือต้องนำเข้า) สอง-เงินกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ 50 ล้านบาท สาม-เงินกู้ยืมเพื่อซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ 28 ล้านบาท และสี่-เงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือ โอ/ดีจำนวน 20 ล้านบาท โดยได้จำนองที่ดิน อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นประกัน สัญญากู้ยืมฉบับนี้ได้แบ่งเงินกู้ไว้หลายจำนวน ซึ่งจะต้องการชำระคืนเป็น 11 งวด ๆ ละเท่ากันและมีกำหนดชำระทุก ๆ 6 เดือนตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นไป นอกจากนี้สัญญายังได้กำหนดเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการดำเนิน และฐานะการเงินของบริษัทไว้ด้วย

ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมเปิดเผยเพียงแต่กล่าวว่าหาก BREAK EVEN ยืดออกไป ธนาคารกสิกรไทยคงไม่สบายใจนัก

โรงงานแห่งนี้เปิดทดลองเครื่องตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2529 เดินเครื่องผลิตเพื่อการค้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ด้วยกำลังการผลิต 30 ตัน/ปี ซึ่งจนถึงปัจจุบันผลิตไปแล้วประมาณ 15 ตัน คนงานทั้งหมดของโรงงานมี 81 คน โดยมี RAMOS วัย 28 ปี จากยูไนเต็ดแลปเป็นผู้ดูแลโรงงาน

วันที่ "ผู้จัดการ" ขอเข้าชมโรงงานศาสตราจารย์นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ประธานกรรมการบริษัทยังต้องขออนุญาตจากนายคนนี้ซึ่งเป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียวของบริษัทนี้อีกที

ยูไนเต็ด ลาบอราตอรี่ อินคอร์เปอเรชั่น (UNITED LABORATORIES INCORPERATION) แห่งฟิลิปปินส์ เรียกกันสั้น ๆ ว่า ยูไนเต็ดแลป (UNITED LAB) เป็นกลุ่มธุรกิจยาที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ มีส่วนแบ่งตลาดยาถึง 22.5% ในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2529 หรือยอดขาย 1325.2 ล้านเปโซ (ประมาณ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากยอดขายทั้งประเทศ 5,891.8 ล้านเปโซ (รายงานวงการอุตสาหกรรมยาในฟิลิปปินส์ฉบับล่าสุด ในการประชุมสหพันธ์อาเซี่ยน ระหว่าง 1-6 ธันวาคม 2529 ที่กรุงเทพฯ โดย GREGORIO/SYCIP. President&General Maneger, Blooming Field Philippines, Inc.

โจเซ่ วาย แคมโพส (JOSE Y CAMPOS) ชาวจีนโพ้นทะเล (OVERSEA CHINESE) ที่เปลี่ยนชื่อให้กลมกลืนกับสังคมฟิลิปปินส์คือเจ้าของกิจการนี้ที่เปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันอายุ 65 ปี เขาจัดอยู่ในทำเนียบเพื่อนเก่าแก่และเกื้อกูลกันและกันของมาร์กอส อดีตประธานาธิบดีผู้เถลิงอำนาจยาวนานถึง 20 ปีในฟิลิปปินส์

ด้วยเหตุนี้ยูไนเต็ดแลปจึงสามารถแสดงบทบาทกึ่งผูกขาดกิจการยาในประเทศนั้น ซึ่งดูจะยิ่งใหญ่กว่าองค์การเภสัชกรรมไทยด้วยซ้ำ อันเป็นที่รู้กันว่า ได้รับอภิสิทธิ์มากมายในการดำเนินธุรกิจ

"ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์ครั้งที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ยาของยูไนเต็ดแลป ปลิวว่อนทั่วเมืองช่วยสนับสนุนการหาเสียงของมาร์กอส" แหล่งข่าวกล่าว

ครั้นมาร์กอสจำต้องระเห็จออกจาก ฟิลิปปินส์ โจเซ่ วาย แคมโพสได้ให้การต่อรัฐบาลใหม่ของนางอควิโน่ถึงความสัมพันธ์อันล้ำลึกของเขากับมาร์กอส!

แคมโพสกล่าวว่าเขาถือหุ้นแทนมาร์ กอสมากถึง 2.2 พันล้านหุ้นในกิจการต่าง ๆ และเป็นกรรมสิทธิ์ (แทนเพื่อน) ในอสังหริมทรัพย์อีกจำนวนมากที่บันทึกไว้ในกระดาษจำนวน 9 หน้า ยิ่งไปกว่านั้นได้เปิดเผยว่าเขาได้ตั้งบริษัทต่าง ๆ เพื่อปิดบังเจ้าของที่แท้จริง (มาร์กอสนั่นแหละ) อีกไม่น้อยกว่า 34 กิจการ

ทั้งหลายทั้งปวงของความมี "เลศนัย" ของเขาก็เพื่อความเป็นเจ้าของธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์นั่นเอง

ทั้งนี้รวมกิจการในต่างประเทศด้วย ซึ่งยังเป็นที่สงสัยกันว่ารวมทั้งบริษัทยูไนเต็ดฟาร์มา แอนตี้ไบโอติค อินดัสตรีส์ (ยูพีเอ) ในเมืองไทยด้วยหรือไม่?

หากพลิกดูทะเบียนผู้ถือหุ้นในยูพีเอจะพบ "ข้อมูลแปลก ๆ" บางประการ ในจำนวน 2 หมื่นหุ้นที่ถือในนามฟิลิปปินส์นี้ ปรากฏว่าบริษัทยูไนเต็ดลาบอราตอรี่ส์ (ปานามา) จดทะเบียนในฮ่องกง ถือหุ้นถึง 19,996 หุ้น ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลในรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการของยูพีเอระบุชัดว่าองค์การเภสัชกรรมได้ลงนามร่วมทุนกับยูไนเต็ดแลปในฟิลิปปินส์

โจเซ แคมโพส มีธุรกิจในหลายประเทศ นอกจากฟิลิปปินส์แล้วก็มีฮ่องกง อินโดนีเซีย และประเทศไทย กิจการของเขาในประเทศไทยลงรากหยั่งลึกมานานพอสมควร นานพอจะมีอิทธิพลในระดับต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยา

บริษัท เกร๊ตอิสเทอร์นดรักส์ และบริษัทไซอเมริกาฟาร์มาซูติคอล เป็น 2 บริษัทที่โจเซ่ แคมโพส ฝังรากในประเทศไทย เมื่อปี 2504 และ 2512 ตามลำดับ โดยบริษัทแรกพัฒนาจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์มาเป็นผู้ทำหน้าที่การตลาดในบริษัทหลังซึ่งได้สร้างโรงงานผสมยาขึ้นในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า FORMULATION

กิจการยาของเขาทั้งสองบริษัทดำเนินการไปอย่างราบรื่น และเงียบด้วยผลประกอบการอยู่ในขั้นพอใจ

บริษัท เกร๊ตอิสเทอร์น ดรั๊ก ยอดขายปีละประมาณ 150 ล้านบาท กำไรประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนบริษัทไซอเมริกันฯ ยอดขายประมาณ 50 ล้านบาท กำไรประมาณ 5 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยาที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ยาแก้ปวด "ดีโคลเจ้น" ในตลาดขายปลีก

โจเซ วาย แคมโพส มี "เทคนิค" การดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว อธิบายได้ด้วยกรณีในประเทศไทย แต่เดิมกิจการในประเทศไทยเขาจะถือหุ้นด้วยตนเอง ต่อมาได้โอนหุ้นให้กับบริษัทในฮ่องกงบริษัทแพน แปซิฟิคอินเวสต์เม้นท์ ถือหุ้น 99% ในบริษัทเกร๊ตอิสเทอร์นดรั๊ก และบริษัทยูนัม คอร์เปอเรชั่นที่ฮ่องกง ถือหุ้น 99% ในบริษัท ไซอเมริกัน ฟาร์มาซูติคอล

ความจริงแล้วยูไนเต็ดแลปพัฒนาโนฮาวในอุตสาหกรรมยามาจากความร่วมมือจากบริษัทในต่างประเทศมาช้านาน เช่น อิมพีเรียล เคมีคอล อินดัสตรีส์ (ไอซีไอ) และบีแชม ลาบอราตอรี่ แห่งอังกฤษ และจีดี. เซิล แอน์เชอริ่ง ในสหรัฐ เป็นต้น

จากประสบการณ์ที่ร่วมทุนดำเนินอุตสาหกรรมยาขั้น FORMULATION จึงได้พัฒนาการตั้งโรงงานผลิตยาขั้นกลางประเภทแอนตี้ไบโอติคส์ขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จดีนัก ต่อมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วมานี้ยูไนเต็ดแลปได้ร่วมทุนกับบริษัทพีทีเมดิฟาร์มา (P.T. MEDIPHARMA) กับครอบครัวซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย โดยอาศัยความสนิทสนมระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองประเทศเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมต่อ

โนฮาวการผลิตยาประเภทแอนตี้ไบโอติคส์ที่ยูไนเต็ดแลปอวดอ้างสรรพคุณเพื่อขอร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรมในประเทศไทยนั้น มักจะกล่าวว่าเป็นการพัฒนาและสะสมประสบการณ์ทั้งในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามข้ออ้างนี้มักจะขัดแย้งกับนักอุตสาหกรรมระดับนานาชาติบางคนที่มองว่าโนฮาวนั้นไม่ได้มาตรฐานเพียงทั้งสองประเทศ เพียงแต่สิ่งที่เหมือนกับของการลงทุนในอินโดนีเซียและไทยก็คือการจับเส้นที่ถูกต้องระหว่างผู้มีอำนาจเท่านั้น

เจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมเองก็ยอมรับว่าในบรรดาเจ้าของโนฮาวการผลิตแอนตี้ไบโอติคส์ ประเทศที่เข้ารอบสุดท้ายนั้น แม้ว่าของสเปนจะราคาสูงเกินจะเข้าข่ายพิจารณา แต่ของ Dongchin จากเกาหลีใต้นั้นราคาถูกกว่ายูไนเต็ดแลปด้วย แต่คณะกรรมการกลับเลือกยูไนเต็ดแลป

"ค่าโนฮาวของยูไนเต็ดแลปจ่ายครั้งเดียวราคาประมาณ 12 ล้านบาท แต่ของเกาหลีใต้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ที่เราไม่เอาของเกาหลีใต้เพราะโรงงานเล็กไม่ได้คุณภาพ" เขาให้เหตุผลที่ลึกกว่าเหตุผลของหมอยงยุทธ

เพียงเหตุผลแค่นี้เท่านั้นหรือ? ที่องค์การเภสัชกรรมยอมให้ยูไนเต็ดแลปจากเงินอีกเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้นสมทบกับค่าโนฮาว จึงสามารถกลายเป็นผู้ถือหุ้นถึง 40% ในยูพีเอได้

โจเซ่ แคมโพส เคยมาเมืองไทยหลายครั้ง นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ยอมรับว่าเขาเคยมาเยี่ยมครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

คำถามที่ถูกตั้งขึ้นขณะนี้ก็คือจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ากิจการในประเทศไทยเหล่านี้เกี่ยวข้องกับมาร์กอสอย่างไร แต่เมื่อคิดกันลึก ๆ จะพบว่าทรัพย์สินของกลุ่มนี้ที่ "ผู้จัดการ" ประเมินคร่าว ๆ เพียง 135 ล้าน ในอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยนี้ เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่อดีตประธานาธิบดีกับภรรยานำไปซุกซ่อนทั่วโลกที่รัฐบาลนางอควิโนกำลังล่าดุจนิยายเรื่องคิงส์สโลมอนมายน์นั้น นับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก

คำถามนี้จึงดูไม่เร้าใจไปกว่า ยูพีเอ. อันเป็นผลพวงของความพยายามของนายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้นมีค่าแก่วงการอุตสาหกรรมยาประเทศเราสักเพียงใด?

ประเทศไทยที่ผ่านมาต้องนำเข้า AMPICILLIN, AMOXYCILLIN และ CLOXACILLIN ปีละ 70 ตัน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท เป้าหมายของยูพีเอ ในการสร้างโรงงานนี้มาก็เพื่อทดแทนการนำเข้าในขั้นแรก "เรามีแผนการส่งออกด้วยขณะนี้กำลังมองตลาดแถวตะวันออกกลาง" นายแพทย์ยรรยง ภูตระกูล กรรมการผู้จัดยูพีเอ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ปัจจุบันยูพีเอ ผลิตได้เพียง 30 ตัน/ปี ขายให้องค์การเภสัชกรรม และบริษัทไซอเมริกัน ฟาร์มาซูติคอล ของกลุ่มยูไนเต็ดแลปในประเทศไทยเท่านั้น

"ราคาผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในระดับเดียวกันกับการนำเข้า" นายแพทย์สุเทพ บุณยสุขานนท์ เลขานุการคณะกรรมการ ยูพีเอ. ยืนยันกับ "ผู้จัดการ"

ราคาประมาณตันละ 2.65-2.8 ล้านบาท/ตัน ซึ่งข้อมูลตรงนี้ขัดแย้งกับข้อมูลในวงการยาพอสมควร ซึ่งอ้างว่าราคา AMPICILLIN และ AMOXYCILLIN ของยูพีเอยังสูงกว่าราคานำเข้าระหว่าง 10-20% ทั้งคุณภาพก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร

นายแพทย์ยรรยง กล่าวว่าตามแผนการนั้น ยูพีเอ. จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 6-7 ปี นับจากปี 2530 เป็นต้นไป โดยมีข้อแม้ว่าปริมาณการผลิตเพียงพอทดแทนการนำเข้าจำนวน 70 ตัน/ปี และยังเหลือส่งออกด้วย

ภายใต้เงื่อนไขนี้คณะกรรมการจึงมีแผนจะเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) เป็นกำแพงภาษีสำหรับการผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันกับที่นำเข้าจากต่างประเทศ "ผลนี้จะทำให้ราคา AMPICILLIN และAMOXYCILLIN จากต่างประเทศราคาสูงกว่าที่ผลิตจากยูพีเอ" เจ้าหน้าที่ของ ยูพีเอ. แสดงความเชื่อมั่น

ผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายเชื่อว่า บีโอไอ. คงสนองความต้องการของยูพีเอ แน่นอนในฐานะที่ให้การส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ตลอดมาอยู่แล้ว แต่ปัญหานี้มันจะขยายตัวเป็นความขัดแย้งกับบริษัทยาข้ามไป

RAMOS ผู้จัดการโรงงานยูพีเอ ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" วัตถุดิบสำหรับการผลิต AMPICILLIN นั้นต้องนำเข้าจากอิตาลี สหรัฐ ญี่ปุ่น และอังกฤษ มีสัดส่วนถึง 80% ของวัตถุดิบทั้งหมด มีเพียง 20% เท่านั้นที่พอจะได้ในประเทศ อันได้แก่ กรดเกลือ และสารละลายเท่านั้น ขณะเดียวกันนายแพทย์สุเทพ บุณยสุขานนท์ก็ยอมรับว่าบริษัทที่ยูพีเอซื้อวัตถุดิบเข้ามาผลิตนั้นก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่ส่ง AMPICILLIN เข้ามาจำหน่ายแข่งขันกับยูพีเอ นั่นเอง

"เขาอาจจะขึ้นราคาวัตถุดิบขึ้นมาก็ได้" เขาสรุป

ซึ่งผลสุดท้าย ก็ไม่ทราบว่าอนาคตของโรงงานนี้จะเป็นเช่นไร ???

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us