Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2530
จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นักบุญหรือคนเล่นกล?             
 

   
related stories

บทสรุปจาก "คณาสวัสดิ์" เมื่อสถาบันการศึกษาเป็น "โดมิโน" ทางธุรกิจตัวหนึ่ง
ลำดับเหตุการณ์คณาสวัสดิ์ก่อนถึงจุดอวสาน
"กิตติวุฑโฒแผ่ส่วนบุญโอบอุ้มคณาสวัสดิ์แล้ว"

   
search resources

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์
จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์
Education




หากพลิกปูมชีวิตแต่หนหลังต้องยอมรับว่าคนแซ่โค้วผู้นี้นับเป็นนักต่อสู้ที่ทรหดอดทนคนหนึ่ง เพียงมรดกความจนที่พ่อแม่สร้างสมไว้ให้ ทำให้ต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่ออายุ 19 ปีถูกเจ้าของห้องแถวขับไล่ต้องพาแม่แก่ ๆ อพยพที่ซุกหัวนอนอย่างยากที่จะลืมไปจากหัวใจ

เริ่มต้นทำมาค้าขายด้วยเงิน 80 บาท โดยเช่าแผงลอยในตลาดสดขายของชำ ด้วยความขยันขันแข็งและปณิธานที่จะเอาชนะคนที่เคยรุกรานหัวใจ จึงพยายามเก็บหอมรอบริบเงินได้ก้อนหนึ่งนำไปซื้อที่ดินพร้อมสร้างห้องแถวเพื่อขยับขยายการค้าได้ 2 คูหาโดยตั้งชื่อร้านใหม่ว่า "เสริมไทย"

ร้านใหม่นี้นอกจะขายของชำแล้วยังขายเครื่องเขียน แบบเรียนต่าง ๆ อีกด้วย โดยเป็นตัวแทนขององค์การค้าคุรุสภา ต่อมาขยายการค้าเป็นตัวแทนองค์การเภสัชกรรมอีกทางหนึ่ง กิจการค้าเจริญรุดหน้าจนแปรผันชีวิตเด็กกะโปโลอย่างเขาให้กลายเป็นเจ้าสัวชั้นนำของจังหวัด

ช่วงชีวิตที่พุ่งสุดขีดก็ในราวปี 2509 ที่มหาสารคามได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยครูขึ้น จำนวนนักศึกษาครูที่ไหลบ่าจากทั่วทุกแห่งหน ทำให้ชาวบ้านชาวช่องที่เคยทำไร่ไถ่นาคิดจะหันมาเป็นเจ้าของรถโดยสารแต่ส่วนใหญ่ติดขัดที่ไม่มีเงินทุน ดังนั้นจึงได้นำเอาที่ดินมาจำนองกับคนแซ่โค้วผู้นี้

"เศรษฐีคนอื่นไม่มีใครกล้ารับ แต่คุณจิรศักดิ์แกเอา อาศัยเงินหมุนจากธนาคารไปจ่ายค่ารถให้กับชาวบ้าน ปรากฏว่าเพียงปีเดียวแกกลายเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 200 ไร่และต่อมาก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนพูดได้ว่า กว่า 3 ใน 4 ที่ดินของมหาสารคามเป็นของแกทั้งสิ้น" ผู้ใกล้ชิดของจิรศักดิ์กล่าว

นอกจากจะหันมาเป็นนักค้าที่ดิน ในปี 2512 ยังได้สร้างกิจการหอพักขึ้นอีกหลายแห่งตามแนวที่ตั้งของวิทยาลัยครู วิทยาลัยพลศึกษา และ มศว. เนื่องจากในปีนั้นมหาสารคามคับคั่งไปด้วยจำนวนนักศึกษาซึ่งที่ดินตั้งวิทยาลัยพลศึกษานั้น จิรศักดิ์ยกให้ทางราชการฟรี ๆ

ในระหว่างนี้เองที่เริ่มรู้จักกับวินิจ อุดรพิมพ์ ซึ่งก็เป็นลูกหลายคหบดีชื่อดังของเมืองนี้เช่นกัน โดยขณะนั้นวินิจเป็นผู้จัดการ แบงก์กรุงไทย มหาสารคาม ประมาณปี 2515 เกียรติ นาคพงษ์ เจ้าของโรงเรียน เรืองศิลป์วิทยา ซึ่งเป็นญาติกับ ส.ส. จำลอง ดาวเรือง (อดีต 4 รมต.ที่ถูกเก็บ) ได้ติดต่อขอขายโรงเรียน

ด้วยแรงสนับสนุนจากวินิจที่ว่าต้องการเงินเท่าไรขอให้บอก จึงทำให้กลายเป็นเจ้าของโรงเรียน และยังไปรับโอนกิจการโรงเรียน สตรีศรีสารคาม ที่ยอบแยบมาอีกแห่ง จากนั้นจึงจับทั้งสองมาร่วมกัน ตั้งชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนคณาสวัสดิ์ศึกษา" และ "โรงเรียนคณาสวัสดิ์พาณิชยการ" พร้อมกันนี้ตัวจิรศักด์ก็เรียนครูภาคค่ำไปในตัว

จะเป็นเพราะถูกโฉลกโชคชะตากับโรงเรียนหรือเปล่า ปรากฏว่าสามารถปลุกผีโรงเรียนที่ทำท่าใกล้จะตายให้กลับมาเด่นดังอีกครั้ง จากอาคารเรียนที่มีไม่กี่หลังในช่วงระยะเวลา 7 ปีเศษ ๆ กลายเป็นอาคารเรียนถาวรอย่างดีถึง 21 หลังตั้งในเนื้อที่กว่า 400 ไร่

จนถึงปี 2522 จึงคิดขยับขยายก่อตั้งวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ขึ้นมา "มันเป็นความฝันของผมที่จะต้องสร้างคณาสวัสดิ์ให้มีความเป็นปึกแผ่นให้จงได้" จิรศักดิ์เคยกล่าวย้ำในงานครบรอบ 11 ปีของกิจการ

กิจการโรงเรียนพัฒนาก้าวหน้าตามลำดับโดยมีวินิจ อุดรพิมพ์ เป็นมันสมองคู่ใจทั้งในด้านความคิดและกำลังเงิน ซึ่งคนทั้งสองนี้เป็นศิลปินพอ ๆ กัน ขณะที่จิรศักดิ์หมกตัวเองอยู่กับหนังสือสารพัด วินิจใช้เวลาส่วนหนึ่งทุ่มไปกับการแต่งเพลง แม้แต่เพลงประจำ "คณาสวัสดิ์" ก็เป็นผลงานของเขา

ปี 2524 เป็นยุคทองของจิรศักดิ์ จำนวนนักเรียนเมื่อแรกรับโอน 500 คนขยายตัวขึ้นมากกว่า 8,000 คนจากภาคใต้ยังมีมาเรียนไม่น้อยกว่า 2,000 คน จนทำให้ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นโรงเรียนดีเด่นถึง 5 ปีซ้อน

เพราะเชื่อมือเอามาก ๆ ดังนั้นในปี 2527 คู่หูพลิกไม่ล็อคจึงตัดสินใจที่จะขยายโรงเรียนคณาสวัสดิ์พาณิชยการ (คณาสวัสดิ์เทคโนโลยี) ออกไปในจังหวัดกาฬสินธ์ สุรินทร์ ขอนแก่น ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นหนึ่งในธุรกิจประเภทนี้ และด้านหนึ่งเพื่อเป็นการขยายฐานของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ การลงทุนทั้ง 3 แห่งหมดเงินไปไม่น้อยกว่า 100 ล้าน

แต่เหมือนหนึ่งสูงสุดคืนสู่สามัญ ทันทีที่แตกหน่อแตกกอปรากฏว่านักเรียนยุบลงไปอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปจากจำนวน 8,000 คนเหลือเพียง 4,000 เศษ ๆ ในปี 2528 และ 2,000 เศษ ๆ ในปี 2529 ส่วนโรงเรียนที่เปิดใหม่ก็รับนักเรียนได้ไม่กี่มากน้อย ได้มากที่สุดก็ที่สุรินทร์แค่ 300 คนเศษ

จิรศักดิ์เองก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่า โรงเรียนอันโอ่อ่าทำไมจะต้องกลายเป็นสุสานร้างเช่นนั้น...!

จากเหตุการณ์ที่พลิกกลับตาลปัตร ทำให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าเสริมไทย ที่สร้างขึ้นในปี 2527 ด้วยเงินลงทุนร่วม 100 ล้าน เป็นห้างฯ ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของอีสาน ต้องตกที่นั่งลำบากทันตาเห็น เพราะเดิมทีเดียวทั้งจิรศักดิ์และวินิจคาดการณ์ว่า เพียงขายนักเรียน นักศึกษา ของคณาสวัสดิ์ห้างนี้ก็อยู่ได้สบาย ๆ

นักธุรกิจหลายรายในมหาสารคามกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความผิดพลาดของจิรศักดิ์อยู่ที่การลงทุนขยายโรงเรียนใน 3 จังหวัดดังกล่าว เพราะนั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูตีตัวเองเนื่องจากทั้งสามแห่งอยู่ไม่ห่างจากมหาสารคามเท่าใดนัก

วิมานที่ถูกถล่มกอปรกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ทำให้จิรศักดิ์ต้องหมุนตัวเป็นเกลียวและที่สุดเขาก็เลือกเอาวิธีการผ่องถ่ายเงินจากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่งของตน เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ โดยหลงลืมไปว่าบางธุรกิจไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้

ธุรกิจที่ถูกอัดฉีดมากที่สุดเห็นจะเป็นห้างสรรพสินค้าเสริมไทย ซึ่งแม้แต่การรับพนักงานยังพูดกันว่าส่วนมากจะรับทดลองงานแค่ 3 เดือนจากนั้นจะเปลี่ยนชุดใหม่เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่าย ในส่วนของห้างสรรพสินค้าเสริมไทยนี้ คนที่เคยร่วมงานกับจิรศักดิ์มาหลายสิบปีบอกว่า "ซ้อพรรณีที่เป็นเมียถูกต้องตามกฎหมายได้เคยคัดค้านมาแล้วว่าอย่าได้สร้างเลย"

แต่ถ้าใครพูดประโยคนี้กับจิรศักดิ์เขาจะบอกก็เพียงแต่ว่า "เสริมไทยจะตายไม่ได้"

นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา ชื่อเสียงที่เคยสะสมก็เริ่มจางหาย เงินเดือนครูที่ต้องวิ่งหยิบยืมให้วุ่นวาย ทำให้พ่อค้าในมหาสารคามจะพูดกับเขาก็แต่เรื่องอื่น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเงินส่วนใหญ่จะบ่ายหน้าหนีทันที ทั้ง ๆ ที่หลายคนในอดีตจิรศักดิ์เองเคยช่วยเหลือเกื้อกูลมา

"สมัยก่อนแกเป็นคนใจสปอร์ตมาก ข้าราชการจะย้ายไปไหนรับเป็นแม่งานเลี้ยงส่งให้หมด แต่พอมามีปัญหาเครดิตต่าง ๆ ก็เริ่มหมดไป ที่จริงก็น่าเห็นใจแกมากนะ" ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของเขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

จิรศักดิ์เคยได้ชื่อว่าเป็นคนที่เปรื่องปราดหลักแหลมมากในเรื่องของการเล่นหุ้น เล่นที่ดินสามารถโยกย้ายถ่ายเทจัดสรรสิ่งเหล่านี้ให้เข้าที่เข้าทางได้อย่างที่เรียกว่าพลาดยาก ทว่าความช่ำชองเหล่านั้นไม่อาจช่วยเขาได้เลยเมื่อเกิดปัญหากับคณาสวัสดิ์

ซ้ำร้ายลึกลงไปของปัญหาก็เป็นเพราะเขาฉลาดลึกโยกสรรโอนเงินจนหาจุดลงตัวไม่ได้!

ณ อาคารห้างสรรพสินค้าเสริมไทย ที่ตั้งตระหง่านหรูหราหน้าคูเมืองเทศบาล มหาสารคาม ที่นั่นนอกจากจะเป็นรังธุรกิจที่เขารักยิ่งกว่าชีวิตแล้ว ยังมีบ้านพักขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกด้วย ทุกวันนี้จิรศักดิ์เก็บตัวเงียบ ไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่หรือไปแห่งไหน แม้แต่คนสนิทโทรศัพท์ไปหา ก็ได้รับเพียงคำตอบกลับมาว่า

"ไม่ตายแล้วจะโทรกลับไป"

ยามที่รุ่งโรจน์ถึงกับต้องว่าจ้างตำรวจให้ไปคุ้มกันในวันลงทะเบียนเรียน แต่วันนี้มีแต่เสียงปลอบใจจากใครบางคนถึงเขาว่า "เฮียเขาเป็นนักลงทุนที่ใจกล้าที่สุดของมหาสารคามคงไม่มีใครไหนอีก ที่จะกล้าเสี่ยงทำธุรกิจที่ยืนอยู่บนฐานความเสี่ยงค่อนข้างสูงเหมือนที่เฮียทำ"

นับเป็นคำปลอบใจที่ช่างเจ็บปวดพิลึก!

ขณะที่ความเป็นจริงวันนี้เขามีเพียงภรรยาคนซื่อที่ต้องไปวัดเกือบทุกวัน เพื่อเฝ้าขอภาวนาให้ความรุ่งเรืองนั้นกลับมาอีกหน และอีกคนก็ วินิจ อุดรพิมพ์ ขงเบ้งที่จิรศักดิ์ยังไว้เนื้อเชื่อใจตลอดไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us