มิตซูบิชิพลิกกลยุทธ์รถเก๋งครั้งใหญ่ ส่งแลนเซอร์โฉมใหม่ลุยตลาดคอมแพกต์ ชนอัลติส-ซีวิค ชูความแตกต่างด้วยเครื่องยนต์รองรับ E85 รายแรกในเซกเมนต์ ส่วนแลนเซอร์เก่าค้างสต๊อก เตรียมกดราคาลงมาแข่งกับกลุ่มรถซับ-คอมแพกต์ เพื่อเน้นขายฟลีตลูกค้าองค์กร นับเป็นแผนเปิดศึก 2 ด้านพร้อมกัน และเป็นทิศทางใหม่ของตลาดรถยนต์นั่งของมิตซูบิชิ หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ค่ายมิตซูบิชิหวังรุกตลาดรถยนต์นั่งครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดตัวแลนเซอร์ โฉมใหม่ รถยนต์ในกลุ่มคอมแพกต์คาร์ ช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยรถรุ่นใหม่จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 2 ขนาดคือ 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร ซึ่งในรุ่น 1.8 ลิตร นั้นคาดว่าเครื่องยนต์สามารถรองรับอี 85 หรือรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเบนซิน 15% และเอทานอล 85% ขณะที่ในรุ่น 2.0 ลิตร นั้นสามารถรองรับอี 20 ได้
แลนเซอร์ใหม่ จะใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ แทน 4G63 ที่ใช้มานาน ภายใต้รหัส 4B11 ที่มีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์บล็อก 1.8 ลิตร แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบวาล์วแปรผัน MIVEC ที่ให้กำลัง 143 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 18.2 กก.-ม. ที่ 4,250 รอบต่อนาที และเครื่อง 2.0 ลิตร แบบ 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 154 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที และมีแรงบิดที่ 20.2 กก.-ม.ที่ 4,250 รอบต่อนาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ 6 สปีด CVT (INVECS-III 6 จังหวะ)
การตัดสินใจรุกตลาดรถยนต์นั่งในครั้งนี้ของมิตซูบิชิ ถือเป็นการชนกับคู่แข่งในตลาดอย่าง โตโยต้า อัลติส, ฮอนด้า ซีวิค เชฟโรเลต ออฟตรา หรือ มาสด้า 3 ที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด โดยตัวเลขยอดขาย 6 เดือนของรถในกลุ่มนี้พบว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 32,151 คัน แบ่งออกเป็นฮอนด้า ซีวิค 12,409 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 38.6% โตโยต้า อัลติส 10,637 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 33.1% เชฟโรเลต ออฟตรา 2,582 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8.0% มาสด้า 3 2,302 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 7.2 % และนิสสัน ทีด้า 2,167 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 6.7%
ภาพรวมการแข่งขันที่ดูดุเดือด ทำให้มิตซูบิชิที่เตรียมจะส่งรถยนต์รุ่นใหม่เข้ามาย่อมต้องทำการบ้านอย่าง หนัก เพื่อปั้นแลนเซอร์ใหม่ขึ้นทาบรัศมีของค่ายใหญ่ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า นั่นคือการสร้างความแตกต่างของโปรดักส์เหนือคู่แข่ง โดยชูจุดเด่นด้านการประหยัดน้ำมัน และเทคโนโลยีที่ค่ายคู่แข่งยังไม่มีการทำ ด้วยเหตุนี้รุ่น 1.8 ลิตรของแลนเซอร์ใหม่จึงมาพร้อมกับเครื่องยนต์ที่รองรับเชื้อเพลิง E85 ซึ่งการเลือกเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรให้สามารถรองรับอี 85 ได้นั้น เนื่องจากปริมาณความต้องการของตลาดรวมของรถกลุ่มนี้มีสูงกว่า ขณะที่กลุ่มเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ซึ่งถือเป็นเครื่องขนาดใหญ่ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน กล่าวคือเป็นกลุ่มที่เน้นสมรรถนะการขับขี่ ส่วนเรื่องประหยัดน้ำมันนั้นเป็นปัจจัยรองลงมา
ขณะที่ราคานั้น ในรุ่นใหม่นี้คาดว่าจะเริ่มเคาะตั้งแต่ 7 แสนบาทไปจนถึง 1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดอย่างโตโยต้า อัลติส ราคาเริ่มต้นรุ่น 1.8 ลิตร อยู่ที่ 844,000 บาท และในรุ่นท็อป 2.0 ลิตร ราคา 1,184,000 บาท ฮอนด้า ซีวิค ราคาในรุ่น 1.8 ลิตร อยู่ที่ 749,000 บาท และในรุ่นท็อป 2.0 ลิตร ราคา 1,101,000 บาท ก็จะพบว่าราคาอยู่ในระดับที่ไล่เลี่ยกัน สามารถแข่งขันกันได้ โดยมิตซูบิชิ แลนเซอร์ใหม่นี้จะเปิดตัวในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ และจะเริ่มแนะนำและขายให้กับผู้บริโภคได้ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้
สำหรับยอดขายของแลนเซอร์ในปี 2551 ที่ผ่านมา มีจำนวน 2,073 คัน ขณะที่ตัวเลขยอดขาย 6 เดือนที่ผ่านมา แลนเซอร์ทำยอดขายได้แล้ว 751 คัน ลดลง 32.2% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 1,107 คัน โดยมิตซูบิชิคาดว่าเมื่อเปิดตัวแลนเซอร์โฉมใหม่จะสามารถโกยยอดขายได้ 4,000 คันในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ
แม้ยุทธศาสตร์จะถูกวางออกมาเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตลาด แต่อุปสรรคปัญหาใหญ่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกที่เป็นอี 85 นั้น ค่ายมิตซูบิชิก็ต้องรับสภาพให้ได้เช่นเดียวกับที่ค่ายวอลโว่เคยเจอ ก็คือปัญหาด้านสถานีบริการน้ำมันที่มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น ตรงจุดนี้จึงอาจจะทำให้ข้อได้เปรียบเรื่องความประหยัดน้ำมันไม่ได้ผลเมื่อ เปรียบเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา แต่หากมีการสื่อสารที่ชัดเจนเหมือนอย่างที่วอลโว่ได้ทำมาตลอดในช่วงหลัง โดยชี้แจงให้เห็นถึงความสามารถในการรองรับพลังงานในอนาคต ที่ไม่ต้องมาเสียเวลาปรับแต่งเครื่องยนต์ หรือไม่ต้องรับภาระในการปรับราคาขึ้นหากมีการปรับเครื่องยนต์ ตรงจุดนี้ก็จะเป็นข้อได้เปรียบของมิตซูบิชิ แลนเซอร์ในรุ่นอี 85
นอกเหนือจากยุทธศาสตร์สำหรับรถในรุ่นใหม่แล้ว มิตซูบิชิยังเตรียมที่จะขยับแลนเซอร์ โฉมปัจจุบัน รุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เข้ามาสู้ในตลาดซับ-คอมแพกต์ ที่มีผู้เล่นอย่าง โตโยต้า วีออส, ฮอนด้า ซิตี้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มิตซูบิชิตัดสินใจนำโมเดลในรุ่นเก่าเข้ามาทำตลาด เนื่องจากเครื่องยนต์ตัวเดิมยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการระบายสต๊อกที่เหลืออยู่ให้หมดไป จึงตัดสินใจที่จะรุกตลาดซับ-คอมแพกต์
ตลาดซับ-คอมแพกต์ ถือเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรวมของรถกลุ่มนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 51,556 คัน โดยมีโตโยต้า วีออส ครองอันดับ 1 ของตลาดด้วยยอดขาย 21,798 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 42.3% ฮอนด้า ซิตี้ ตามมาด้วยยอดขาย 14,887 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 28.9% ฮอนด้า แจ๊ซ 8,060 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 15.6% โตโยต้า ยาริส 3,830 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 7.4% เชฟโรเลต อาวีโอ 1,241 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 2.4 % และโปรตอน แซฟวี่ 573 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 1.1 %
จากปริมาณยอดขายและผู้เล่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ของมิตซูบิชิไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลยุทธ์ที่มิตซูบิชิจะนำมาใช้บุกตลาดนี้คือ การชูความต่างด้านพลังงานทางเลือก ที่สามารถรองรับซีเอ็นจีได้ ส่วนในรุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา คาดว่าจะต้องกลับมาทบทวนเรื่องราคาขายกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สามารถแข่ง ขันกับคู่แข่งได้ เพราะปัจจุบัน ราคาเริ่มต้นของรถรุ่นนี้อยู่ที่ 662,000 บาท ขณะที่คู่แข่งอื่นๆ นั้นมีราคาที่แตกต่างกันออกไป อาทิ โปรตอน แซฟวี่ มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 399,000 บาท ขณะที่ โตโยต้า วีออส อยู่ที่ 509,000 บาท โตโยต้า ยาริส 539,000 บาท ฮอนด้า ซิตี้ 524,000 บาท และฮอนด้า แจ๊ซ 560,000 บาท
คาดว่าการรุกเข้ามาในกลุ่มซับ-คอมแพกต์ในครั้งนี้ของมิตซูบิชิ จะช่วยให้ยอดขายเพิ่มและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่เดิมไม่มีการทำตลาดกับรถยนต์ในกลุ่มนี้มาก่อน นอกจากนั้นแล้วการมีเครื่องยนต์แบบซีเอ็นจีให้เลือกนั้นก็ยิ่งสร้างข้อได้ เปรียบ เพราะในช่วงที่ผ่านมาแม้โมเดลจะหน้าเดิม แต่มิตซูบิชิสามารถทำยอดขายของรถในกลุ่มนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นองค์กร หน่วยงานของรัฐบาล และเอกชน ที่มีการสั่งซื้อฟลีตเป็นจำนวนมาก
ยุทธศาสตร์การรุกตลาดรถยนต์นั่งของมิตซูบิชิในครึ่งปีหลังนี้ พกพากระสุนมาแบบเต็มแม็ก อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงยอดขายจากตลาดคอมแพกต์คาร์ที่มีคู่แข่งยักษ์ใหญ่จึงไม่ใช่เรื่อง ง่าย เพราะแม้จะมีความสดใหม่-พลังงานทางเลือกที่เหนือกว่า แต่ในแง่ของความเข้มแข็งของแบรนด์และเครือข่ายดีลเลอร์ที่เป็นรองโตโยต้าและ ฮอนด้า ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความฝันที่คาดไว้ไม่เป็นไปตามหวัง อีกทั้งการจะต้องปรับเซกเมนต์ของแลนเซอร์โฉมปัจจุบัน ลงมาแข่งขันในตลาดซับ-คอมแพกต์ ก็อาจทำให้ภาพลักษณ์ของแลนเซอร์ที่เคยวางโพซิชันนิ่งไว้ในกลุ่มคอมแพกต์มี ปัญหาในเรื่องความเชื่อมั่นต่อตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งมิตซูบิชิ คงมีทางเลือกไม่มากนัก หนทางหนึ่งคือการเปลี่ยนชื่อรุ่นของแลนเซอร์ เพื่อให้เหมาะสมกับเซกเมนต์ซับ-คอมแพกต์ และเป็นการบ้านของค่ายมิตซูบิชิที่ต้องเตรียมกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ ก่อนจะถึงเวลาเปิดตัวจริงๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
|