Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2530
บทสรุปจาก "คณาสวัสดิ์" เมื่อสถาบันการศึกษาเป็น "โดมิโน" ทางธุรกิจตัวหนึ่ง             
 

   
related stories

จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นักบุญหรือคนเล่นกล?
ลำดับเหตุการณ์คณาสวัสดิ์ก่อนถึงจุดอวสาน
"กิตติวุฑโฒแผ่ส่วนบุญโอบอุ้มคณาสวัสดิ์แล้ว"

   
search resources

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์
จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์
Education




ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนบุคลากรของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ จังหวัดมหาสารคามทั้งคณาจารย์ และนักศึกษาให้อยู่ในสภาพขนนกปลิวลม ซึ่งที่สุดทบวงมหาวิทยาลัยต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้าควบคุมกิจการ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นเช่นใดนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจควรแก่การศึกษาไม่น้อย เพราะได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของปัญหาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มิได้ล้มเหลวเพียงแค่การบริหารการศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังผูกติดกับเงื่อนไขทางธุรกิจที่สลับซับซ้อนอีกมากมาย!

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ให้ก่อตั้งได้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 โดยมีจิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ คหบดีชื่อดังของจังหวัดมหาสารคามเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง ปัญญา ปุยเปีย อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคามและอดีต ส.ส. สอบตก พรรคชาติไทยเป็นอธิการคนแรก

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์กำเนิดขึ้นด้วยความภาคภูมิใจต่อตัวเองที่เป็น "ตักศิลาแห่งภาคอีสาน" ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกของภาคนี้ ด้วยภาระหน้าที่พัฒนามันสมองของชาติ เป็นผู้จุดประกายความรุ่งโรจน์ทางปัญญา ถึงกับทำให้ผู้ก่อตั้งเช่น จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์นำมาอ้างถึงเพื่อเสนอตัวคัดเลือกเป็นนักธุรกิจตัวอย่างของประเทศมาแล้ว

วิทยาลัยคณาสวัสดิ์เปิดทำการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรี 5 คณะวิชาคือ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ สามารถผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก

นับแต่ก่อตั้งเป็นต้นมาบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายต่างให้ความไว้เนื้อเชื่อใจส่งบุตหลานของตนเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนไม่น้อย พอที่จะเลี้ยงกิจการให้อยู่รอดได้อย่างสบาย ๆ อาจมีปริมาณลดลงบ้างในช่วงปี 2528-29 แต่นั่นก็เป็นไปตามสภาวะบังคับจากปัจจัยหลายอย่าง ที่แม้แต่สถาบันฯ ของรัฐก็ยังประสบปัญหานี้

ด้วยจำนวนนักศึกษาที่มีอยู่ครั้งหลังสุด เปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายแล้วนั้น แหล่งข่าวในทบวงมหาวิทยาลัยเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไม่น่าที่จะต้องให้มีเหตุการณ์อันน่าอดสูเช่นนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การศึกษาของบ้านเรา"

จากเหตุการณ์ที่ไม่มีการจ่ายเงินเดือน หรือจ่ายบ้างแบบกะปริบกะปรอยมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 29 จนถึงเดือน ม.ค. 30 ทำให้สถานภาพโดยทั่วไปของวิทยาลัย และบุคลากรภายในตกอยู่ในสภาพคลอนแคลนไร้จุดยืนของความมั่นคง จนถึงกับมีการร้องเรียนมายังรัฐบาลและชำแหละเนื้อเถือหนังต้นตอปัญหา ว่าเกิดขึ้นจาก

เจ้าของสถาบันที่เป็นผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่มีธุรกิจการค้าอยู่ในมือมากมาย บริหารงานอย่างมีเลศนัย จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างมากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้การหมุนเงินในลักษณะ "ผ่องถ่าย" ที่เจ้าของเคยหยิบยืมเงินจากวิทยาลัยไปใช้กับกิจการอื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ นั้น เกิดการช็อตขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า

จนในที่สุดก็อยู่ในสภาพคนไข้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

การหมุนเงินโยงใยอย่างเป็นลูกโซ่เช่นเดียวกับขบวนการแชร์ของแม่อะไรทั้งหลายนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้ธุรกิจอื่นฟื้นจากอาการลูกฝีลูกคนแล้ว สภาพตัววิทยาลัยที่ถูกดูดเลือดไปก็เริ่มจะโซซัดโซเซมาตั้งแต่กลางปี 28 จนเกิดปัญหาขึ้นดังกล่าว

"ตามปกติวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องส่งงบดุลประจำปีให้กับทบวง แต่กรณีของคณาสวัสดิ์ปรากฏว่า ขาดหายไปตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งทบวงก็ได้แจ้งให้รับทราบพร้อมกับให้ข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาบางประการไปด้วย แต่ปีถัดมาก็ยังอยู่ในรูปเดิม โดยทางนั้นอ้างว่าไม่มีผู้ตรวจสอบบัญชีไม่มีเงิน" แหล่งข่าวในทบวงฯ กล่าว

เกี่ยวกับเรื่องงบดุลนี้กรรมการสภาวิทยาลัยท่านหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าได้พยายามมีการตกแต่งเพื่อขอให้สภาฯ รับรอง แต่ก็มีการถอนเรื่องไปเสียก่อนซึ่งปัญหานี้ผู้ตรวจสอบบัญชีเก่าคือ วินิจ อุดรพิมพ์ (ผู้ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นมันสมองส่วนตัวของจิรศักดิ์) อ้างว่าตนไม่มีอำนาจเมื่อสภาฯ ไม่แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้

"มีอย่างที่ไหนเงินไม่เคยเข้าบัญชีเลย ขายผลผลิตทางเกษตรกรได้ ผู้บริหารก็ไม่ได้แจ้งยอดเข้ามาเมื่อเป็นอย่างนี้จะเอาตัวเลขจากที่ไหนไปแสดงกับทบวงได้ ผมเองบอกกับคุณจิรศักดิ์ว่าไม่ไหวแล้วขืนปล่อยแบบนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ต้องเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารหรือไม่ก็ลดจำนวนบุคลากรลง จะปล่อยให้เอาเงินจากห้างเสริมไทย (ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดของมหาสารคามซึ่งเป็นของจิรศักดิ์) ไปจุนเจือไม่ได้อีก" วินิจ อุดมพิมพ์ รองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสาขาธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ แก้ข้อต่างให้ "ผู้จัดการ" รับฟัง

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามข้อเท็จจริงชี้ชัดประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันว่ามีการโอนเงินผ่องถ่ายไปมาระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจที่เป็นของเจ้าของคนเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ที่เรื่องไม่ปูดขึ้นก่อนหน้าเพราะยังสามารถประนีประนอมในปัญหาคับอกที่เกิดขึ้นได้

ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชนระบุไว้ชัดเจนข้อหนึ่งว่า "ผู้ที่จะจัดตั้งวิทยาลัยจะต้องขออนุญาตต่อทบวงฯ โดยแสดงที่ดินและเงินสดอันจะใช้ในการดำเนินงานวิทยาลัย ผู้รับใบอนุญาตจะต้องโอนที่ดินและเงินสดให้แก่วิทยาลัยที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก การบริหารงานวิทยาลัยจะดำเนินการโดยผู้บริหารอันได้แก่อธิการภายใต้การควบคุมของสภาวิทยาลัย ผลตอบแทนที่ผู้รับใบอนุญาตจะได้จากวิทยาลัยก็คือ เงินไม่เกินร้อยละ 15 ของยอดเงินกำไรในแต่ละปี"

เมื่อข้อบังคับกำหนดไว้แจ่มชัดเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าขบคิดมากว่า แล้วเหตุไฉนวิทยาลัยคณาสวัสดิ์จึงปฏิบัติการที่ออกนอกลู่นอกทาง ทำไมผู้ก่อตั้งจึงถืออภิสิทธิโยกย้ายเงินได้เอง หากเรื่องไม่ปูดขึ้นมาในวันนี้ สถานการณ์ในวันข้างหน้าจะมีใครให้ความมั่นใจได้ไหมว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมิเลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ !

"เขาส่งงบดุลให้ไม่ได้แน่นอน ก็บัญชีเล่นกันเปรอะไปหมด ไม่มีการแยกกันเลยว่าธุรกิจไหนเป็นธุรกิจไหน ในเมื่อไม่สามารถเคลียร์เรื่องนี้ได้ การขอร้องให้รัฐบาลลงไปช่วยเหลือก็ไม่อาจเชื่อมั่นได้ว่าเงินจำนวนนั้นจะถูกนำไปใช้กับสถาบันการศึกษาหรือเปล่า" แหล่งข่าวในทบวงฯ กล่าวอย่างคลางแคลง

ผู้ใกล้ชิดของจิรศักดิ์คนหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าประมาณปลายเดือน สิงหาคม 2529 ที่รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือแก่วิทยาลัยคณาสวัสดิ์เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินเดือนบุคลากรจำนวน 1.5 ล้านบาทนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่บริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ได้มีหนังสือฉบับที่ 42/2529 ลงวันที่ 25 ส.ค. 29 แจ้งการบังคับจำนองให้วิทยาลัยนำเงินต้นและดอกเบี้ยไปชำระภายใน 1 เดือน

"ตอนนั้นคุณจิรศักดิ์แกถูกบีบให้ต้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปผ่อนดอกเบี้ยกับไทยสมุทรฯ และไม่สามารถหาเงินกลับเข้าบัญชีของวิทยาลัยได้ตามกำหนดเวลา จึงเป็นเหตุให้มีปัญหาคณะครูไม่ได้รับเงินเดือน ก็ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมาแกพยายามจัดรายการลดราคาขึ้นที่ห้างเสริมไทยเพื่อจะหาเงินสดมาหมุน แต่อย่างที่รู้กำลังซื้อของคนสารคามค่อนข้างจะจำกัดเมื่อเทียบกับความใหญ่ของห้าง ดังนั้นรายการที่จัดขึ้นจึงไม่ได้ผลนัก" ผู้ใกล้ชิดท่านนั้นกล่าว

กรณีของห้างเสริมไทยก็คงต้องยอมรับว่าถ้าไม่นับห้างสรรพสินค้าของนครราชสีมา และขอนแก่นแล้วห้างสรรพสินค้าเสริมไทยแห่งนี้ไม่ได้เป็นสองรองใคร ซึ่งแม้แต่นักธุรกิจของมหาสารคามเองยังอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมจิรศักดิ์จึงกล้าที่จะเสี่ยงลงทุนเมื่อเปรียบเทียบอัตรารายได้ของประชากรที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับจิรศักดิ์แล้วนั้นเขาเคยบอกกับใคร ๆ ว่า "อะไรจะตายก็ได้แต่เสริมไทยจะตายไม่ได้"

สำหรับภาระหนี้สินที่จิรศักดิ์มีอยู่กับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 49.8 ล้านบาท โดยอ้างการกู้ว่าจะนำมาพัฒนาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งในฐานะที่เป็นราชาที่ดินชื่อดังของภาคอิสานว่ากันว่าจิรศักดิ์นำเอาที่ดินส่วนหนึ่งไปจำนองไว้ แต่ย่อมไม่ใช่ที่ดินจำนวน 45 ไร่ที่ได้แจ้งไว้กับทบวงฯ คราวขอก่อตั้งเพราะที่ดินดังกล่าวติดจำนองกับธนาคารกรุงเทพอยู่ อาคารเรียนของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ปัจจุบันต้องเช่าจากโรงเรียนคณาสวัสดิ์ศึกษา

ความคลุมเครืออยู่ที่ว่า กฎหมายวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลขอกู้เงินต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาวิทยาลัยและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ โดยคำแนะนำของ กสอ. แต่การกู้เงิน 49.8 ล้านบาทเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏหลักฐานในเรื่องนี้แต่อย่างใด อาคารเรียนก็ยังเช่าอยู่เหมือนเดิม

หรือว่านี่เป็นกำลังภายในขั้นสุดยอดระดับเซียนเหยียบเมฆที่สามารถยกเอาสถาบันการศึกษาขึ้นมาเป็นตัวต่อรองทางการค้าได้อย่างไม่มีที่ติ?

แหล่งข่าวในบริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ ประกันภัย จำกัด เผยกับ "ผู้จัดการ" ในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณาสวัสดิ์ ทำให้ไทยสมุทรฯ ได้รับบทเรียนที่ต้องไตร่ตรองอย่างหนัก เดิมทีเดียวไทยสมุทรฯ ยินดีที่จะส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ถ้าเจอปัญหาอย่างนี้ก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน

"เราพยายามติดต่อเขาตลอดเวลาขอให้เคลียร์เรื่องต่าง ๆ เสีย แต่ลูกค้าไม่เคยติดต่อเรามาเลย จนที่สุดเราต้องมีหนังสือบังคับออกไป จริง ๆ แล้วไทยสมุทรฯ เองไม่อยากทำอะไรรุนแรงมากไปกว่านี้อีกอย่างลูกค้าคนนี้เมื่อก่อนไม่มีประวัติด่างพร้อยแต่อย่างใด" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากปัญหาหนี้สินกับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัดแล้วนั้น ในช่วงที่จิรศักดิ์ได้ลงทุนขยายเครือข่ายโรงเรียนเทคโนโลยีคณาสวัสดิ์ศึกษาของตนออกไปในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ก็ได้ใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากถึง 105,906,139 บาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารทหารไทย 35 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 30 ล้านบาท

อาการกะปลกกะเปลี้ยของวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ที่เกิดขึ้น ทบวงฯ ที่จับตาการเคลื่อนไหวมาทุกระยะจึงจำต้องตัดสินใจมีคำสั่งที่ 19/2530 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530 และคำสั่งที่ 20/2530 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ตามความในมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน พ.ศ. 2522 และแต่งตั้ง ดร. กวี อิศรวรรณ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีแทนนางนิตยา ศรีปัดถา อธิการคนเดิมที่ต้องพ้นจากหน้าที่ตามความในมาตรานี้

นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งที่สองที่ต้องถูกยำด้วยมือรัฐหลังจากที่วิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เคยประสบมาแล้ว....

เป็นการปิดฉาก "คณาสวัสดิ์" ที่เคยอยู่ภายใต้การครอบครองของ จิรศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ซึ่งในวันนี้ของคนแซ่โค้วผู้นี้ต้องถูกตั้งคำถามว่า.... .เขาเป็นนักบุญการศึกษาที่หยิบยื่นความเมตตาปราณีให้กับชนกลุ่มหนึ่งของประเทศที่ไม่ได้รับการเหลียวแลทางการศึกษาเท่าที่ควร หรือว่าเขาเป็นนักเล่นกลที่สุดแสนจะแสบสันต์กันแน่

"ดีเหมือนกันที่ทบวงเข้ามาควบคุม" ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา หรือแม้แต่กุนซือของจิรศักดิ์ อย่างวินิจ อุดรพิมพ์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ทว่าภายในใจที่ลึกลงไปนั้น

ดำกับขาวย่อมไม่เหมือนกันแน่!

"ฝ่ายคณาจารย์และนักศึกษาเห็นว่าเมื่อทบวงเข้ามาทุกอย่างคงจะดีขึ้น เหมือนเช่นที่เอเชียอาคเนย์เคยได้รับ ทุกคนมีความอุ่นใจขึ้นอีกนิดว่าทบวงฯ คงไม่ทิ้งขว้าง แต่ด้านจิรศักดิ์ที่ยังเก็บตัวเงียบไม่ยอมออกมาแก้ข่าวอะไรนั้น เชื่อว่าเขาคงหาทางวิ่งเต้นที่จะให้ได้กรรมสิทธิ์กลับคืนมา เขาสร้างมากับมือและเรื่องศักดิ์ศรีใครจะยอมง่าย ๆ" แหล่งข่าวในวงการธุรกิจของมหาสารคามกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ดังนั้นแม้ว่าจะฝ่าพายุร้ายมาได้ด่านหนึ่ง แต่สภาพขวัญหนีดีฝ่อก็ยังหาได้จางไปจากหัวใจของคนทั้งหลายไม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณาจารย์ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมของตนเองว่าจะออกหัวหรือออกก้อย

"เมื่อเรารู้ว่าคุณจิรศักดิ์พยายามวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือ จากธนาคารกรุงไทยและให้คุณวินิจเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้กับทางไทยสมุทรฯ ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เขาต้องการ แบงก์กรุงไทยโดดลงมาอุ้มเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่แทน กลุ่มคุณจิรศักดิ์ก็คงกลับมาอีกครั้งซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากเสียด้วย เนื่องจากตัวคุณวินิจนั้นมีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มการเมือง เช่น ประยุทธ ศิริพาณิชย์ที่อยู่ในกลุ่มพงศ์-สุรัตน์ และตัวเองก็เป็นผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของแบงก์กรุงไทยโอกาสจึงมีอยู่ไม่น้อย" อาจารย์ท่านหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ"

ด้วยความแรงที่มีต่อกันไม่หยุดยั้งภายหลังที่ทบวงฯ เข้าควบคุม และแต่งตั้งให้นายประยุทธ ศิริพาณิชย์ รมช. เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ได้มีการดึงเอาอำนาจการเมืองเข้ามาพัวพันเกินขอบเขตที่สำคัญก็คือ รมช. ประยุทธไม่เคยรับรู้สถานการณ์ของคณาสวัสดิ์มาก่อนเลย จนทำให้หลายคนมองว่า นี่คือหมากสองชิ้นของกลุ่มผู้ก่อตั้ง

จากเสียงสะท้อนต่าง ๆ ทำให้ รมช. ประยุทธ ต้องถอนตัวลาออกไปในที่สุด

"คุณประยุทธแกยัวะมาก พยายามจะเข้ามาแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ก็ถูกรุมทึ้งจากคนบางกลุ่มที่รู้ตัวว่าจะสูญเสียอำนาจในอนาคต ดังนั้นแกเลยตัดสินใจลาออก ขอยืนอยู่ข้างนอกแต่ก็บอกไว้ว่าเรื่องนี้จะไม่ทิ้งเด็ดขาดขอตั้งป้อมสู้เต็มที่" วินิจ อุดรพิมพ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นี่จึงเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ในยกใหม่ของคณาสวัสดิ์ที่อาจจะเข้มข้นและลึกลับซับซ้อนมากไปกว่านนี้อีกหลายเท่าตัว

ซึ่งถ้าผลประโยชน์ส่วนตัวมีอำนาจเหนือความถูกต้องของส่วนรวมก็นับว่าเป็นอันตรายยิ่งนักต่อระบบการศึกษา และหากไร้ระบบการควบคุมที่แน่นหนารูรั่วทางด้านการเงินยังพร้อมที่จะไหลล่องไปได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

ธุรกิจการศึกษาอาจกลายเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงยิ่งกว่าขบวนการแชร์หลายร้อยพันเท่า และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดอย่างยากที่จะบอกกล่าว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us