Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2530
ซูเปอร์เค "ซูเปอร์"เกินไป             
 


   
www resources

โฮมเพจ บางจากปิโตรเลียม

   
search resources

ไทยออยล์, บมจ.
บางจากปิโตรเลียม, บมจ.
ปุ๋ยแห่งชาติ
ธนาคารสยาม
เกษม จาติกวณิช




เป็นเรื่องที่ออกจะเหลือเชื่อเอามาก ๆ ที่แม้วันนี้ใครก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงต้องให้กรุงไทยเข้าไปยึดธนาคารสยาม ทำไมต้องทำกันรวดเร็วโดยไม่มีคำบอกกล่าวล่วงหน้า สำหรับคนที่ทางการส่งเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเกษม จาติกวณิช ที่นั่งเป็นประธานอยู่โทนโท่ มีใครชักใยอยู่ข้างหลังเรื่องนี้ ? เจตนาเพื่อสิ่งใดกันแน่!

ฉายา "ซุปเปอร์เค" ของเกษม จาติกวณิช เรียกกันมา 2 ปี

เกษม จาติกวณิช ปีนี้อายุ 62 ภายหลังวางมือจากตำแหน่งผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก่อนกำหนดเกษียณอายุเพียงเล็กน้อย เขาสร้างปรากฏการณ์อย่างที่น้อยคนนักจะสร้างได้

กรรมการอำนวยการบริษัทไทยออยล์กิจการโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ประธานกรรมการบริษัทบางจากปิโตรเลียมกิจการโรงกลั่นน้ำมันของรัฐอีกแห่งหนึ่ง ที่เคยดำเนินการโดยบริษัทซัมมิทอินดัสเทรียลและรัฐบาลเปรม (1) ยึดกลับมา

ประธานกรรมการบริษัทปุ๋ยแห่งชาติและ

ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารเอเชียทรัสต์ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารสยาม

เกษม จาติกวณิช สวมหมวกทั้ง 4 ใบนี้พร้อมกัน!

คนสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกันนั้น ที่จริงก็คงไม่ใช่มีเพียงเกษม จาติกวณิช เพราะในอดีตก็มีผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเมืองวงการทหารและคนในวงการราชการหลาย ๆ คนทำกันมาแล้ว

แต่สำหรับกรณีเกษม จาติกวณิช น่าจะต้องถือว่าต่างไปจากกรณีอื่น ๆ อย่างมาก ๆ

"การเข้าไปกินตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจของผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเมืองวงการทหารและวงราชการ ส่วนมากแล้วก็จะเป็นการเข้าไปสร้างฐานอำนาจกอบโกยผลประโยชน์ไม่ได้สร้างสรรค์งานและไม่ค่อยจะได้รับการยอมรับจากสังคม..." อาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์คนหนึ่งกล่าว

ส่วนการเข้าไปของเกษมดูจะตรงกันข้าม

ไม่มีการสร้างฐานอำนาจ (ระบบพรรคพวก) ในองค์กรที่เกษมเข้าไปรับผิดชอบ

ไม่มีเรื่องราวของการกอบโกยตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋า

มีแต่การเดินหน้าสะสางปัญหาและสร้างสรรค์งานเต็มสติกำลัง

และเสียงสังคมดูเหมือนจะพึงพอใจมาก ๆ ที่เกษมถูกส่งเข้าไปในองค์กรข้างต้น

ไทยออยล์นั้นต้องการคนอย่างเกษมอย่างมาก

กิจการโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้สร้างขึ้นมาโดยกลุ่มของเชาวน์ เชาวน์ขวัญยืน และเพิ่งจะหมดอายุสัญญาต้องยกให้กับรัฐบาลเมื่อไม่กี่ปีมานี้

ปัญหาก็มีอยู่ว่ารัฐบาลจะส่งใครเข้าไปดูแลแทนกลุ่มผู้บริหารเก่าของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ที่อยู่กับโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้จนคร่ำหวอดมาตั้งแต่ต้นจนอาจหลงลืมไปแล้วว่าสักวันหนึ่งจะต้องโอนไปให้รัฐก็เป็นได้

คุณสมบัติสำคัญของคน ๆ นั้นนอกจากจะต้องดูแลผลประโยชน์ของรัฐด้วยความซื่อสัตย์แล้ว ที่ละเลยไม่ได้ก็คือจะต้องมีความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ในระดับที่พูดกับผู้บริหารชุดเก่าของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ได้รู้เรื่องและทันกันด้วย

ซึ่งเกษม จาติกวณิช ก็คือคน ๆ นั้นอย่างไร้ข้อกังขา

"ท่านเข้าใจงานของที่นี่และทุกคนยอมรับท่านอย่างสนิทใจจริง ๆ ….." วรรณ ชันซื่อ รองกรรมการอำนวยการไทยออยล์ที่อยู่กับเชาว์ เชาว์ขวัญยืน มานานยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

ส่วนบางจากปิโตรเลียม, ปุ๋ยแห่งชาติและธนาคารเอเชียทรัสต์ สถานการณ์ในช่วงการเข้าไปของเกษม ถ้าเผอิญไม่ใช่เกษมแล้วก็คงไม่มีใครอยากรับ!!

หลายคนเชื่อว่ามันเป็นงานสุ่มเสี่ยงและเปลืองตัวอย่างยิ่ง

บริษัทบางจากปิโตรเลียมนั้น ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่รัฐบาลยึดมาจากบริษัทซัมมิท อินดัสเทรียลของซี เจ ฮวง โดยช่วงแรก ๆ ก็ได้มอบหมายให้กรมการพลังงานทหารกระทรวงกลาโหมเป็นผู้เข้าไปดูแล หลังจากนั้นจึงได้โอนมาให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจัดตั้งบริษัทบางจากปิโตรเลียมขึ้นมารับผิดชอบอีกทอดหนึ่ง

กว่าจะตกมาถึงบริษัทบางจากปิโตรเลียม ด้วยความที่เปลี่ยนผู้บริหารกันมาหลายมือ โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้จึงมีปัญหาสะสมกองอยู่เป็นภูเขา "เมื่อตอนที่ทหารเข้ามาดูแลแทนซัมมิทก็เจอปัญหามากเพราะในนั้นเต็มไปด้วยคนเก่าของซัมมิท แล้วก็อีกหลายเรื่องที่ซัมมิททำเอาไว้ต้องตามแก้ โดยเฉพาะความทรุดโทรมของโรงกลั่น แต่อยู่ไปได้พักหนึ่ง ปตท. จะมาขอทำ ทหารก็ชักไม่ค่อยจะเห็นด้วย ยื้อยึดกันนาน กว่าจะตกเป็นของบริษัทบางจากปิโตรเลียม เฉพาะยอดขาดทุนสะสมก็บานเบอะแล้ว..." แหล่งข่าวในวงการน้ำมันพูดให้ฟัง

การเข้ามาของเกษมเป็นการเข้ามาในถ้ำเสือวังมังกรที่ครอบครองโรงกลั่นน้ำมันผุ ๆ โดยแท้

สำหรับปุ๋ยแห่งชาติก็ไม่ต่างกันมากนัก

ปุ๋ยแห่งชาติเป็นโครงการใหญ่ตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ค่อยจะตรงกันนักมาโดยตลอด โดยเฉพาะเอกชนบางรายที่ครอบครองตลาดปุ๋ยอยู่ปัจจุบันกับสถาบันการเงินใหญ่แห่งหนึ่งที่อุ้มชูกิจการปุ๋ยรายนั้น

เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันการเพิ่มทุนตามขั้นตอนนั้นก็ติดขัด โครงการต้องหยุดชะงัก

เกษมก็เลยต้องเข้ามาเพื่อคลี่คลายปัญหา

ถ้าหากจะมองกันในแง่ที่เกษมต้องเข้าไปทำงานใหญ่ที่ยาก ๆ ซึ่งมีคนจำนวนไม่มากนักที่ทำได้ โดยเฉพาะคนที่ประพฤติตนเป็นเทคโนเครตมาตลอดอย่างเกษมแล้ว ฉายา "ซูเปอร์เค" อันหมายถึงคุณค่าที่เหนือธรรมดาในตัวเกษมก็คงจะเป็นฉายาที่เหมาะสมอย่างไม่ต้องสงสัย

"เราน่าจะต้องยกย่องว่าเกษมเป็นทรัพยากรคนที่มีค่าของชาติด้วยซ้ำ" นักการเมืองสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลบอกกับ "ผู้จัดการ"

"และเราก็น่าจะต้องขอบคุณเกษมที่เขานำศักยภาพในตัวของเขาทั้งหมดอุทิศให้กับรัฐ นับตั้งแต่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่อยมาถึงไทยออยล์บางจากปิโตรเลียมปุ๋ยแห่งชาติและธนาคารสยาม เกษมยินดีที่จะทำงานให้กับองค์กรของรัฐทั้ง ๆ ที่คุณสมบัติของเกษมนั้นถ้าไปอยู่ภาคเอกชนก็คงจะมีหลายแห่งแย่งกันเสนอผลตอบแทนสูง ๆ ให้ สำหรับรัฐแล้วเกษมเป็นผู้บริหารที่จะต้องหวงแหนกันมาก ๆ" อดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยท่านหนึ่งกล่าว

แล้วรัฐแสดงความหวงแหนคนอย่างเกษมอย่างไรและแค่ไหน!?!

ปุ๋ยแห่งชาติก็คงจะช่วยตอบคำถามนี้ได้ โดยเฉพาะกรณีธนาคารสยามเมื่อเร็ว ๆ นี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์อย่างดีที่สุด!!

เกษมตัดสินใจเข้าดำรงตำแหน่งประธานบริษัทปุ๋ยแห่งชาตินั้น ก็เป็นไปตามคำขอร้องจากผู้ใหญ่กระทรวงการคลังที่ต้องการให้เกษมช่วยคลี่คลายปัญหาการเพิ่มทุนบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาติดขัดตรงที่ภาคเอกชนบางรายที่ถือหุ้นไม่ยินยอมเพิ่ม

การตัดสินใจของเกษมจริง ๆ แล้วก็เพราะเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ชาวนาและภาคเกษตรกรของประเทศในอนาคต และก็เป็นโครงการที่รัฐบาลประกาศให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ต้น

ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับเกษมตอนนั้นก็คือต้องพูดกับผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินรายใหญ่กับผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีระดับ "เจ้าพ่อ" ให้รู้เรื่องเพื่อให้การเพิ่มทุนเป็นไปตามแผน จากนั้นก็จะเป็นการเซ็นสัญญาก่อสร้างโรงงานกับบริษัทชิโยดะของญี่ปุ่นที่ชนะการประมูลสร้างโรงปุ๋ยและรอการเซ็นสัญญาที่เงื้อง่ามาโดยตลอด

ก็คงคล้าย ๆ กับขุนศึกที่ถูกส่งออกไปทำศึกโดยเชื่อมั่นว่าจะมีกำลังสนับสนุนอย่างไม่ต้องพะวงหลัง

ซึ่งเผอิญมันไม่เป็นเช่นนั้น

รัฐบาลที่ประกาศให้การสนับสนุนโครงการปุ๋ยแห่งชาติเกิดเปลี่ยนใจกะทันหันประกาศยุติการให้การสนับสนุนดื้อ ๆ

"ถ้าจะบอกว่าเกษมถูกแทงข้างหลังผมว่าคงไม่ใช่คำพูดที่รุนแรงเกินไป" พนักงานระดับบริหารของปุ๋ยแห่งชาติพูดถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่มีผลทำให้เกษม "ช็อค" ต้องหามเข้าโรงพยาบาลและลาออกจากตำแหน่งไปในที่สุด

ส่วนกรณีธนาคารสยามก็คงจะเป็นมีดเล่มที่สองที่เสียบเข้ากลางหลังเกษม จาติกวณิช

เพียงแต่คราวนี้เหี้ยมโหดกว่าและมีที่มาลึกลับซับซ้อนกว่ากันหลายเท่า

เกษม จาติกวณิช ถูกขอร้องให้เข้าไปในธนาคารสยามในยุคที่ยังเป็นเอเชียทรัสต์ โดยเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานที่วัลลภ ธารวณิชกุล หรือจอห์นนี่ มา เจ้าของแบงก์นี้เคยนั่ง

คนที่ขอให้เกษมเข้าไปก็คือ นุกูล ประจวบเหมาะ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

"ตอนที่ธนาคารประสบปัญหาวิกฤติเมื่อเจรจาจนเจ้าของเขายินยอมโอนหุ้นให้ทางการ 51% แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือจะต้องหาคนเข้าไปบริหาร ตำแหน่งประธานนั้นผมก็มองหลายๆ คนแต่ในที่สุดก็คิดว่าเกษมเหมาะสมที่สุด ผมโทรบอกกับรัฐมนตรีสมหมายท่านก็บอกว่า ก็ลองถามเขาถูซิว่าเขาจะรับไหม..." นุกูล ประจวบเหมาะช่วยฟื้นความหลังกับ "ผู้จัดการ"

สมหมาย ฮุนตระกูล รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเอเชียทรัสต์ดีมากคนหนึ่ง และสมหมายก็คงจะไม่มั่นใจนักว่าใครจะกล้าเข้ามากอบกู้เอเชียทรัสต์ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่งหน้าขวานเช่นนั้น

เพียงแต่สมหมายก็คงจะยังไม่รู้จักเกษมดีพอก็เป็นได้

"ผมขอให้เขาช่วยเขาก็ยินดีรับอย่างเต็มใจ" นุกูล ประจวบเหมาะเล่าถึงการตัดสินใจของเกษมให้ฟัง

นุกูล ประจวบเหมาะ ที่จริงตอนนั้นก็ติดต่อคน 2 คนที่นอกจากเกษม จาติกวณิช ซึ่งจะมานั่งในตำแหน่งประธานแทนจอห์นนี่มาแล้ว อีกคนที่นุกูลขอให้มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนทินกร ธารวณิชกุล ลูกชายของจอห์นนี่ มากับคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ก็คือดุษฎี สวัสดิชูโต ที่ตอนนั้นเพิ่งเกษียณจากตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารออมสิน

ดุษฎี สวัสดิชูโต ตอนแรก ๆ ก็รับปากรับคำเต็มที่ แต่ภายหลังข่าวเอเชียทรัสต์ แพร่กระจายออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดุษฎี ก็มาบอกกับนุกูลว่า "ไม่พร้อม"

วารี หะวานนท์ ที่ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ก็เลยต้องเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน

"ผมเข้าใจว่าคุณวารีจะถูกขอให้เข้าไปในเอเชียทรัสต์เป็นการชั่วคราวซึ่งถ้าเสร็จสิ้นภารกิจตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าแบงก์ชาติก็จะถูกเตรียมไว้ให้ และอีกประการคุณวารีก็เหมาะสมด้วยในแง่ที่รู้จักมักคุ้นกับเจ้าของแบงก์นี้เป็นอย่างดีมานาน..." แหล่งข่าวในแบงก์ชาติเล่ากับ "ผู้จัดการ"

ส่วนอีกคนที่ถูกส่งเข้าไปและต่อมามีบทบาทสูงมากก็คืน นพพร พงษ์เวช

นพพร พงษ์เวช นั้นเคยทำงานกับซิตี้คอร์ปและก็เคยอยู่กับเอเชียทรัสต์มาแล้วช่วงหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่แบงก์ชาติขอให้เอเชียทรัสต์ปรับปรุงการบริหารงานด้วยการหา "มืออาชีพ" เข้าไป นพพร เป็นคนที่เจ้าของเอเชียทรัสต์เลือกเพราะความที่เป็นลูกชายของวารี พงษ์เวช ที่สนิทกับจอห์นี่มา และแบงก์ชาติก็ยอมรับในฐานะที่นพพรเป็น "มืออาชีพ" ทางด้านแบงกิ้งที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่นพพรก็อยู่ทำงานในเอเชียทรัสต์ในช่วงนั้นได้ไม่นานนักก็โดยคำสั่งให้ออกชนิดสายฟ้าแลบ และไม่ไว้หน้า แบงก์ชาติที่สนับสนุนการเข้าไปของนพพร

มหกรรมยึดเอเชียทรัสต์ของแบงก์ชาติก็เลยเกิดขึ้นภายหลังนพพรถูกให้ออกไม่นานนักเช่นกัน

เป็นมหกรรมที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเหน็ดเหนื่อยแทบเลือดตากระเด็นกว่าจะยึดกันสำเร็จ เพราะความที่เจ้าของเอเชียทรัสต์นี้มีทั้งบารมีและสายสัมพันธ์ยุบยับไปหมดแทบทุกวงการว่ากันว่า ถ้าไม่ใช่แบงก์ชาติมีผู้ว่าชื่อนุกูล ประจวบเหมาะ ที่เป็นคนไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมแล้วบางทีอนาคตของเอเชียทรัสต์ก็คงจะไม่มีวันนี้ก็เป็นได้

การเข้าไปในเอเชียทรัสต์ของทีมงานที่คลังกับแบงก์ชาติส่งเข้าไปภายใต้การนำของเกษม จาติกวณิช ที่ทำหน้าที่ทั้งประธานบอร์ดใหญ่ และประธานกรรมการบริหารนั้น ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาก็น่าจะต้องแบ่งเป็น 2 ระยะ

เป็นระยะ 1 ปีแรกที่ธนาคารยังชื่อเอเชียทรัสต์กับระยะ 2 ปีหลังที่ธนาคารเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารสยามแล้ว

ระยะแรกเป็นระยะของการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้บริหารเก่าที่ยังนั่งอยู่ในแบงก์ตามปกติ ยกเว้นจอห์นนี่ มากับกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ของเกษม จาติกวณิช เป็นระยะของการสะสางและสำรวจความเสียหายที่แบงก์ประสบจากน้ำมือเจ้าของและผู้บริหารชุดเก่า

ส่วนระยะหลังก็น่าจะเรียกว่าเป็นระยะของการฟื้นฟูแบงก์ขึ้นมาใหม่ ที่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์เสียหายมากหรือเสียหายน้อยและแผนฟื้นฟูมีคุณภาพขนาดไหน

เรื่องระยะเวลานี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันมาก เนื่องจากจริง ๆ แล้วตัวเลขความเสียหายที่แบงก์ชาติคาดหมายไว้จากการเข้าไปกำกับและตรวจสอบ "อย่างใกล้ชิด" เปรียบเทียบกับตัวเลขความเสียหายที่ค้นพบภายหลังทีมบริหารชุดใหม่ถูกส่งเข้าไปนั้นก็แตกต่างกันลิบลับ

เช่นเดียวกับแผนการฟื้นฟูก็มีความคิดต่างกันไปหลายกระแสโดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ต้น ๆ ปี 2529 พร้อม ๆ กับคดีความที่ธนาคารฟ้องร้องเจ้าของและผู้บริหารเอเชียทรัสต์ชุดเก่าก็มีมูลหนี้ถึงกว่า 3 พันล้านบาทโดยที่เจ้าของเก่าตระกูลธารวณิชกุลกับวิจิตรานนท์นั้นก็ดิ้นรนต่อสู้สุดฤทธิ์

เอเชียทรัสต์นั้นที่จริงแบงก์ชาติก็ทราบปัญหามาตั้งแต่ปี 2519 แล้ว เพียงแต่ก็ใช้หนังสือ "ลับมาก" เตือนกันมาตลอดทุกปีเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นฉบับหนึ่งระบุว่า...

"…1 ฐานะและการดำเนินงานของธนาคารท่านอยู่ในระดับอ่อน สาเหตุเนื่องจากการบริหารสินทรัพย์ของธนาคารท่านไม่เป็นไปตามหลักการธนาคารพาณิชย์ที่ดี การติดตามเร่งรัดลูกหนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควรปรากฏว่ามีสินทรัพย์ส่วนสูญเสียจัดชั้นเป็นสูญ และสงสัยตั้งแต่การตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519 จำนวน 161.8 ล้านบาท ได้เพิ่มขึ้นในการตรวจสอบครั้งต่อๆ มาเป็น 262.6 ล้านบาท 677.1 ล้านบาท 1,159.4 ล้านบาทและ 1,425.3 ล้านบาท ทำให้มีสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนสูง รายได้มีจำนวนต่ำกว่ารายจ่าย แต่ธนาคารท่านได้ตกแต่งบัญชีเพื่อแสดงกำไร อันมีผลให้ฐานะของธนาคารท่านเสื่อมลงเป็นลำดับนับตั้งแต่การตรวจสอบเมื่อกุมภาพันธ์ 2519 ซึ่งธนาคารได้สั่งการให้ธนาคารท่านเพิ่มทุนเสริมสร้างเงินกองทุนให้สูงขึ้นเพื่อความมั่นคงและตั้งแต่ปี 2524 กำหนดให้เพิ่มทุนไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท พร้อมทั้งให้เร่งแก้ไขการดำเนินงานด้านอื่น แต่ธนาคารท่านมิได้เพิ่มทุนให้ทันกับผลสูญเสีย และมิได้ปรับปรุงข้อบกพร่องด้านอื่นให้ได้ผล เป็นผลให้เงินกองทุนสุทธิติดลบ ในการตรวจสอบครั้งก่อนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2524 ติดลบ 280.1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 374.5 ล้านบาท ในการตรวจสอบครั้งนี้ และเมื่อคำนึงถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ธนาคารท่านยังไม่ได้ตัดบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกจนถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2526 จำนวน 220.5 ล้านบาท เงินกองทุนสุทธิจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 595.0 ล้านบาท..."

ถ้าไม่ใช่เพราะเจ้าของเอเชียทรัสต์มีบารมีตลอดจนสายสัมพันธ์ที่แข็งโป๊ก แล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมแบงก์ชาติจึงปล่อยให้ความเสียหายมีมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อตัดสินใจขั้นเด็ดขาดยึดกิจการเป็นของรัฐด้วยวิธีเจรจาโอนหุ้นกันนั้นทุกอย่างก็แทบไม่มีชิ้นดีแล้ว

การยึดแบงก์เอเชียทรัสต์ที่เริ่มกันเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 นั้น แรกทีเดียวแบงก์ชาติก็ประกาศว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นราว ๆ 900 กว่าล้านบาท ส่วนข้อมูลลึก ๆ ก็เชื่อกันว่าถึงที่สุดก็คงไม่น่าจะมากกว่าพันล้านเศษ ๆ

"ก็คิดว่าถ้าใส่เงินเข้าไปก็คงไม่เกิน 2 พันล้าน ปรับปรุงผู้บริหารแล้วทุกอย่างก็คงแก้ตก" คนแบงก์ชาติพูดกับ "ผู้จัดการ" เมื่อมีการยึดเอเชียทรัสต์ใหม่ ๆ

แต่จริง ๆ แล้วเอเชียทรัสต์มีความเสียหายแค่ไหนกันแน่?

เมื่อสิ้นสุดปี 2529 เอเชียทรัสต์ที่กลายเป็นธนาคารสยามไปแล้วค้นพบว่าธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่มีรายได้สูงถึง 5,869.02 ล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อทั้งหมด 10,336.91 ล้านบาท

บานเบอะกว่าที่คิด ๆ กันหลายเท่า

แน่นอนทีเดียว...สิ่งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของความผันผวนทางนโยบายระดับสูงเกี่ยวกับสถานภาพในระยะยาวของแบงก์ เพราะถ้าสินเชื่อที่ไม่มีรายได้นี้กลายเป็นหนี้สูญไปทั้งหมดก็หมายความว่าจะต้องมีการใส่เงินเข้าไปอีกเรื่อย ๆ เป็นจำนวนมากและจะไปสิ้นสุดเมื่อไรไม่มีใครทราบชัด

เพียงแต่จะเป็นสาเหตุสำคัญหรือจะเป็นสาเหตุประกอบก็คงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งกระมัง

ทุกอย่างนั้นดำเนินไป 2 กระแสในขณะที่กระแสหนึ่งเฝ้าสังเกตเพื่อพัฒนาปริมาณให้กลายเป็นคุณภาพถึงขั้นเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย อีกกระแสหนึ่งเป็นกระแสของการเดินหน้าแก้ปัญหากันอย่างเคร่งเครียดของเกษม จาติกวณิชกับทีมงานที่ถูกส่งเข้าไปซึ่งถ้ามันจะเป็น "กับดัก" เกษมก็คงผิดพลาดในแง่ที่เขามีความตั้งใจและเป็นคนดีเกินไปภายใต้ระบบเส็งเคร็งของประเทศนี้

"ดู ๆ แล้วสภาพก็คล้าย ๆ กับคนหนึ่งทำงานอีกคนพยายามจับผิดเพียงแต่เผอิญเกษมไม่มีอะไรให้จับผิดได้เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ก็เลยต้องยกเหตุผลในเรื่องหลักการมาว่ากันอย่างนั้นใช่หรือไม่..." คนที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์แสดงความเห็นภายหลังสถานการณ์ใหญ่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ธนาคารเจ้าปัญหานี้ครั้งล่าสุด

สถานการณ์ที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า ธนาคารกรุงไทยจะต้องเข้าไปยึดธนาคารสยามด้วยเหตุผลที่เป็น "หลักการ" หลายข้อ โดยเฉพาะสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลัง ถึงประกาศว่าเป็นเพราะ ธนาคารสยามมีความเสียหายมาก ส่วนคนระดับมันสมองของแบงก์ชาติหลายคนก็กล่าวทำนองว่า ต้องการให้รัฐมีแบงก์เพียงแบงก์เดียวเพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งขันกันเองและสามารถพัฒนาให้เติบโตจนมีบทบาท "นำ" ได้ในยุทธจักร

"เหตุผลที่พูด ๆ กันก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของหลักการที่จะต้องถกเถียงกันมากเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องและชัดเจน" นักเศรษฐศาสตร์การเงินท่านหนึ่งแสดงทัศนะ

แต่กลับเป็นเรื่องที่ถูกประกาศออกไปแล้วอย่างสายฟ้าแลบ ทั้ง ๆ ที่กรุงไทยจะเข้ายึดธนาคารสยามจริง ๆ ก็เป็นปี 2531 โน้น และก็เป็นปฏิบัติการรวบรัดที่ไม่มีผู้บริหารของธนาคารสยามได้รับรู้เป็นการล่วงหน้าเลยแม้แต่น้อย

เหตุผลก็ยังเปิดให้มีข้อถกเถียงกันไม่ตกและการลงมืออย่างรวดเร็วและรวบรัดนี้ เป็นเรื่องที่หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า จะมีอะไรที่เป็นปัญหาลึกซึ้งอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริง ๆ!

เกษม จาติกวณิช นั้นเข้าไปแก้ปัญหาพร้อม ๆ กับก่อปัญหาไปด้วยโดยที่เกษมก็อาจจะไม่ทราบ เพราะการก่อปัญหาของเกษมถ้าจะแก้ปัญหากันให้ตกแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้อีกเหมือนกัน

ถ้าจะมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่เกษมเข้ามาปัญหาที่เกษมก่อเอาไว้ก็คงจะมี 2 เรื่องใหญ่ ๆ

เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าของเก่า เรื่องที่สองเป็นทัศนะที่ไม่ค่อยตรงกันของทีมงานที่ถูกส่งเข้าไปซึ่งเผอิญเกษมอยู่ในจุดที่จะต้องชี้ขาดปัญหาเพื่อให้งานเดินหน้าไม่สะดุด

มันเริ่มตั้งแต่การที่เกษมถูกส่งเข้าไปในแบงก์ที่เคยเป็นของกลุ่มธารวณิชกุลกับวิจิตรานนท์ที่เป็นตระกูลผู้ดีเก่าของคุณหญิงลลิลทิพย์ (ที่ "ผู้จัดการ" เคยบอกว่าเสียอะไรเสียได้แต่จะไม่ยอมเสียหน้า) แล้วก็มีการขับผู้บริหารชุดเก่าออกไปจนหมดติดตามด้วยการเพิ่มทุนที่ลดสัดส่วนหุ้นของกลุ่มเก่าออกไปจนไม่เหลือ

จากนั้นก็ยังตามล้างตามเช็ดด้วยคดีฟ้องร้องที่เกษมไปดึงสนอง ตู้จินดามาจัดการอีกระลอก

ธนาคารสยามนั้นเมื่อสิ้นปี 2527 มีมูลหนี้ฟ้องร้องลูกหนี้ของธนาคารทั้งหมด 1,497 ล้านบาท แต่พอสิ้นปี 2528 มูลหนี้ที่ฟ้องร้องกันก็เพิ่มขึ้นถึง 7,804.37 ล้านบาท อย่างน่าวิตก ซึ่งในจำนวนนี้มูลหนี้ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดก็คือจำนวน 3,634 กว่าล้านบาทที่เกษมสั่งให้ฟ้องอดีตเจ้าของและผู้บริหารรวม 7 คนคือวัลลภ ธารวณิชกลุหรือจอห์นี่ มา คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ทินกร ธารวณิชกุล ศิริ วิจิตรานนท์ สุสุทธิ์ วิจิตรานนท์ เมทินี ธารวณิชกุล(ลูกสาวจอห์นี่ มากับคุณหญิงลลิลทิพย์) และคณิต เล้าลิขิตนนท์

ทุกคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

"เราเชื่อว่าก็คงจะได้เงินคืนกลับมาเป็นจำนวนมากเพราะพยานหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคลเราพร้อมมาก" คนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีพูดให้ฟัง

เพียงแต่ภายหลังการประกาศให้กรุงไทยจะต้องเข้าไปยึดธนาคารสยามนั้น สนอง ตู้จินดา ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" อย่างเปิดอกภายหลังการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายตามหลังการลาออกของเกษม จาติกวณิช ว่า มีผลกระทบต่อรูปคดีมาก โดยเฉพาะพยานบุคคลที่จะต้องขึ้นให้การหลายคนรวนเรไม่อยากให้ความร่วมมืออีกต่อไป

ก็ไม่ทราบว่าคนที่เป็นเจ้าของความคิดเรื่องให้กรุงไทยเข้าไปยึดสยามคำนึงถึงปัญหาข้อนี้กันมาก่อนหรือเปล่า?

แต่ที่แน่ ๆ ป่านนี้จอห์นนี่ มาก็คงหัวเราะแทบตกเก้าอี้ไปแล้ว!

ส่วนปัญหาทัศนะที่ไม่ตรงกันในระหว่างผู้บริหารชุดใหม่นั้นจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่รวมศูนย์อยู่ที่นพพร พงษ์เวช เสียมากกว่า

และตลอด 3 ปีปัญหานี้ไม่เคยแสดงออกว่าเป็นปัญหาใหญ่ "อาจจะเป็นเพราะช่วงปีแรกทุกคนยังมีความกลมเกลียวกันในแง่ที่จะต้องสู้กับกลุ่มผู้บริหารชุดเก่าและเจ้าของเดิม อีกประการแบงก์ก็เสียหายมาก ถ้ามีเรื่องที่จะกระเทือนถึงภาพพจน์เพิ่มขึ้นอีก ก็คงจะเป็นเรื่องที่เสียหายทั้งหมด ก็เลยไม่มีใครอยากจะปูดออกมาก็เป็นได้..." แหล่งข่าวคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น

ธนาคารสยามนั้นโดยสภาพของการบริหารแล้วก็แบ่งเป็น 2 ก๊กโดยกลายๆ คือก๊กของวารี หะวานนท์ กับคนที่วารีดึงมาจากแบงก์ชาติอย่างเช่น สุชาติ สุทธิสันธิ์ที่ถูกดึงมานั่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวางแผนและพัฒนาและสมหมาย ปฐมวิชัยวัฒน์ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ

ส่วนก๊กนพพร พงษ์เวช ก็เช่นผาสุก เทพมณี ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อและอีกบางคนที่นพพรดึงมาจากซิตี้คอร์ป

ระหว่าง 2 ก๊กนี้จริงๆ แล้วเกษมก็คือคนที่อยู่ตรงกลาง เพียงแต่ก็อาจจะมีการแปรความให้เกษมยืนอยู่ข้างนพพร พงษ์เวชจากอีกฝ่าย เนื่องจากเกษมมักจะเห็นดีเห็นงามกับความคิดของนพพรอยู่บ่อยๆ

เพราะคนที่ทำงานมีบทบาทเป็นกองหน้าจริง ๆ ก็คือกลุ่มนพพร พงษ์เวช ที่ทุกคนเป็นคนหนุ่มไฟแรงและผ่านการทำงานกับธนาคารชั้นนำของต่างประเทศมาคนละไม่น้อย ทุกคนเคยชินกับการทำงานที่เป็นระบบธุรกิจ ในขณะที่กลุ่มวารี หะวานนท์ เคยชินกับระบบราชการและงานกำกับตรวจสอบ

ที่จริงมันก็เป็นสภาพโดยทั่ว ๆ ไป อยู่แล้วที่คนจากพื้นฐานและประสบการณ์คนละด้านนี้จะต้องมีปัญหาเรื่องความคิดที่ต่างกัน เพียงแต่สถานการณ์ของธนาคารสยามนั้นจะปล่อยให้ความคิดทั้ง

ขั้วนี้ต่อสู้หักล้างกันจนได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดและทั้งสองฝ่ายยอมรับก็คงจะไม่มีเวลาพอ สำหรับเกษมแล้วเขาเลือกที่จะตัดสินใจอย่างฉับไวกับความคิดที่มีเหตุผลและมีข้อมูลรองรับที่ดีที่สุดมากกว่าที่จะรอให้ทุกอย่างสายเกินแก้

เผอิญมันมักจะเป็นความคิดจากกลุ่มนพพร พงษ์เวช เสียมากต่อมากเท่านั้นแหละ

ในช่วงปีแรกที่เป็นช่วงของการสะสางและตรวจสอบความเสียหายของแบงก์นั้น นอกจากบทบาทที่คอยให้ความช่วยเหลือ และให้ข้อมูลในฐานะคนที่เคยร่วมงานกับเอเชียทรัสต์มาระยะหนึ่ง และก็อยู่ในจุดที่พอจะรับรู้ว่าเจ้าของแบงก์ตลอดจนผู้บริหารชุดเก่ายักย้ายถ่ายเทเงินชาวบ้านกันอย่างไร อีกบทบาทหนึ่งของนพพร พงษ์เวชนั้นก็คือการจัดวางระบบข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยระบบคอมพิวเตอร์พร้อม ๆ กับการสร้างทีมงานและทำการฝึกอบรมให้เคยชินกับระบบใหม่ที่เขาจำลองมาจากธนาคารต่างประเทศ

"ผลก็คือถ้ากรรมการอยากจะทราบข้อมูลว่าแบงก์มีฐานะอย่างไร ก็มีแต่นพพรที่จะรายงานให้ฟังได้ ส่วนแผนงานฟื้นฟูก็มาจากนพพรเสียเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาก็มีอยู่ว่าถ้าคุณเป็นเกษมคุณจะตัดสินใจอย่างไร" คนระดับวงในคนหนึ่งเล่ากับ "ผู้จัดการ"

"นพพรนั้นเขาช่วยแบงก์มากในเรื่องการหาข้อมูลที่จะต้องใช้จัดการปัญหาหนี้ที่มันเสียหายเขากับกลุ่มของเขาไปติดตามมาได้มาก อันไหนที่ขาดหลักฐานก็พยายามไปควานหามา ส่วนข้อมูลและแผนงานเขาก็เสนอได้ชัดเจนบอร์ดเองก็ยอมรับกันก่อนที่จะลงมือทำ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาตรงไหน" เกษม จาติกวณิช พูดถึงนพพร พงษ์เวช

เกษมนั้นได้รับบัตรสนเท่ห์และคำร้องเรียนว่าฝ่ายที่นพพรคุมอยู่นั้นทางฝ่ายตรวจสอบไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

เกษมก็สอบถามไปที่นพพรซึ่งนพพรได้ทำเป็นหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ไม่เคยมีใครมาขอตรวจสอบและหากต้องการตรวจสอบก็จะยินดีอย่างยิ่ง

"ผมคิดว่าถ้าใครจะคิดว่าเกษมเข้าข้างนพพรไปทุกเรื่องอย่างขาดหลักการแล้วคน ๆ นั้นก็คงไม่รู้จักเกษมดีพอ เกษมนั้นจริง ๆ แล้วเป็นคนมีเหตุผลมีคุณธรรมและรู้จักเลือกใช้คนมาก ๆ" คนที่รู้จักเกษมมาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตวิสัชณา

ทัศนะระหว่างผู้บริหารที่เป็น ขั้วความคิดนี้จะเป็นสาเหตุของการประกาศให้กรุงไทยยึดสยามหรือไม่ ก็คงจะไม่มีใครยืนยันได้

แต่แนวโน้มที่ต้องการเอาเกษมกับนพพรออกไปจากแบงก์เป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นชัด

"เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เหตุผลหนึ่งที่พูดออกมาจากปากสุธี สิงห์เสน่ห์ก็บอกว่าที่ต้องให้กรุงไทยเทคโอเวอร์ก็เพราะสยามยังเสียหายมาก จะต้องใส่เงินเข้าไปอีกจำนวนมาก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องหมายความว่าผู้บริหารทั้งหมดที่ส่งเข้าไปทำงานไม่ได้ผล แก้ปัญหาไม่ตก เพราะฉะนั้นก็น่าจะต้องออกให้หมด กำจร สถิรกุล นั้นพอประกาศเรื่องกรุงไทย-สยามเสร็จ ก็ให้สัมภาษณ์อยู่แล้วว่าจะต้องจัดงานเลี้ยงขอบคุณ เพื่อเป็นการอำลากรรมการแบงก์สยามก็ออกปากไล่กันทางอ้อมนั่นแหละ แต่ขอถามหน่อยเถอะว่า นอกจากเกษมกับสนอง ตู้จินดา ที่ต้องออกเพื่อรักษาเกียรติส่วนคนอื่น ๆ ก็มีเหตุผลต่าง ๆ กันไปแล้ว ทำไมกรรมการผู้อำนวยการอย่างวารี หะวานนท์จึงไม่ออก ส่วนนพพรทีแรกก็จะออกแต่เผอิญผู้ใหญ่บางคนขอให้อยู่ไปก่อนเท่านั้นเอง" คนที่เฝ้าสังเกตการณ์มาโดยตลอดแสดงความเห็นด้วยน้ำเสียงอึดอัด

ปัญหาของแบงก์สยามที่ต้องมีอันเป็นไปในครั้งล่าสุดนี้ ก็คงจะมีทั้งที่เป็นปัจจัยภายนอกเช่นเดียวกับปัจจัยที่ว่ากันว่า "ป้อมค่ายมักจะทลายจากภายใน"

และปัจจัยทั้งภายนอกและภายในก็น่าจะมีการประสานกันในบางระดับ โดยเฉพาะคนของแบงก์ชาติด้วยกัน

"มันเหมือนกับแม่น้ำหลายสายที่เวียนมาบรรจบกันพอดี ทุกอย่างก็เลยลงตัวที่จะต้องมาเปลี่ยนนโยบายใหม่ และก็ต้องทำกันทันทีเพราะจริง ๆ แล้วแบงก์สยามฐานะดีขึ้นมาก ยอดขาดทุนลดลงทุกปีและก็คงจะประกาศว่าจะเริ่มมีกำไรในไตรมาสที่ ของปี 2530 นี้แล้ว ซึ่งถ้าปล่อยให้ถึงตอนนั้น ข้ออ้างที่จะให้กรุงไทยเข้ามายึดก็อาจจะขาดน้ำหนักไปมากแล้ว" แหล่งข่าวคนหนึ่งวิเคราะห์

แล้วอะไรคือแม่น้ำหลายสายที่ว่านั้น?

สายแรกก็คงจะพอหาคำตอบได้จากเจ้าของเก่าของธนาคารแห่งนี้ ที่ก็คงจะเบาใจมากขึ้นกับคดีที่ถูกฟ้องร้องมูลหนี้กว่า 3 พันล้านบาทและก็คงสะใจที่แค้นเก่าได้รับการชำระไปแล้ว โดยเฉพาะแค้นที่มีอยู่กับเกษม จาติกวณิช ที่เกษมก็คงจะไม่รู้หรอกว่ามีอยู่

สายที่สองก็น่าจะถามวารี หะวานนท์ว่าต่อแต่นี้ไปจะได้ทำงานสบายมือขึ้นหรือไม่?

และสายที่สามควรอย่างยิ่งที่จะเจาะจงลงไปในความคิดของ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยคลังอดีตผู้อำนวยการฝ่ายฯของธนาคารแห่งประเทศไทย เริงชัย มะระกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยอดีตผู้อำนวยการฝ่ายฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยหลานรักสมหมาย ฮุนตระกูล เอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย และนิพัฒน์ พุกณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 4 มันสมองที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ช่วยส่งลูกไปที่กำจร สถิรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติและสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังอีกทอด

ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเหตุผลในด้านหลักการที่ได้ฟังกันจนชินหูแล้วนั่นเอง

เรื่องของเกษมจบไปแล้วพร้อม ๆ กับภาพที่สะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า "ความหวงแหน" ทรัพยากรคนของรัฐด้วยการที่เรียกมาใช้งานแล้วก็ถีบหัวส่ง

แต่สำหรับบางคนที่คิดจะมอบกายถวายตัวทำงานรับใช้ชาติก็คงเพิ่งจะเริ่มต้นการทบทวนครั้งใหญ่

สำหรับเกษมนั้นก็น่าจะไม่ต้องการให้ใครมาเรียกว่า "ซูเปอร์เค" อีกต่อไปแล้ว

เขาคิดว่ามันอาจจะเป็นเพราะฉายา "ซูเปอร์เค" นี้ก็เลยทำให้คนบางคนที่ไม่ชอบคนอื่นเด่นกว่าเกิดไม่ชอบขี้หน้าเขาดื้อ ๆ

ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วจวบจนบัดนี้ฉายา "ซูเปอร์เค" ก็ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษม แม้ในขณะที่ถูกย่ำยีก็เถอะ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us