Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2530
เพราะคนชื่อ "ชาตรี-ชลัท" วัลลภ เจียรวนนท์ ยังต้องหนักใจ             
 


   
search resources

วัลลภ เจียรวนนท์
ชาตรี พิทักษ์ไพวัน
ชลัท ศรีพิจารณ์
Chemicals and Plastics
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์




ขณะที่ปัญหาสิทธิบัตรยายังยืดเยื้อคาราคาซัง ผู้ผลิตยาที่เป็นคนไทย รวมถึงนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั้งหลายต่างระดมพลังออกแรงระงับยับยั้งทุกวิถีทาง ที่จะป้องกันไม่ให้บันทึกมรณะสิงหาคม 2529 (บันทึกที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาทำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข) ได้มีโอกาสออกมาเพื่อเปิดทางให้บรรษัทยาข้ามชาติแฝงกายเข้ากอบโกยผลประโยชน์อย่างที่ต้องการ

ความวัวยังไม่ทันจางหาย ความควายก็สอดแทรกไม่ว่างเว้นเมื่อจู่ ๆ ปรากฏว่า กรมวิชาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของท่านอธิบดี ยุกติ สารภูติ ได้ดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ในการขึ้นทะเบียนวัตถุมีพิษ ซึ่งกฎระเบียบใหม่นี้ทำให้คนไทยผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีเกษตรถึงกับร้อง "โอ๊ย" กันถ้วนหน้า

เพราะเนื้อแท้ของกฎระเบียบใหม่ เปิดช่องให้บริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจเคมีเกษตรสบจังหวะเจาะตลาดได้อย่างถนัดถนี่ เนื่องจากสาระสำคัญของกฎระเบียบใหม่ผู้นำเข้าสารเคมีเกษตรทั้งหลายจะต้องใช้เวลาทดสอบก่อนขึ้นทะเบียนเป็นเวลาหลายปี ซึ่งระยะเวลาที่กว่าจะผ่านการทดสอบจะต้องใช้เงินทุนทดลองเป็นจำนวนไม่น้อย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้บริษัทคนไทยทั้งหลายตกเป็นเบี้ยที่ถูกขุนให้คว่ำ เพราะสายป่านที่จะนำมาหล่อเลี้ยงคงไม่ยืดยาวพอที่จะสู้กับบริษัทต่างชาติ เช่น มอนซาโต ดูปองท์ ซีบ้า-ไกกี้ เชลล์ ฯลฯ ได้แน่นอน ซึ่งที่สุดธุรกิจนี้จะตกอยู่ในเงื้อมมือต่างชาติ ที่จะกำหนดความพอใจได้ทุกเมื่อ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจส่วนรวมอีกประการหนึ่งก็คือ จะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นอีก 1-3 เท่าตัว เนื่องจากผู้ขายต้องบวกค่าใช้จ่ายในการทดลองเข้าไปอีก และยังเป็นการปิดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมเคมีด้านวัตถุมีพิษภายในประเทศไม่ให้สามารถพัฒนาได้เหมือนกับชาติอื่น เช่น เกาหลี จีนแดง หรืออินโดนีเซีย

เบื้องหลังกฎมรณะที่จะคลอดออกมานี้ ว่ากันว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ใหญ่ในกรมวิชาการได้เดินทางไปร่วมประชุมกับ เอฟเอโอ. (FAO) ประมาณกลางปีที่แล้วซึ่ง FAO นี้ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การ GFAB (เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบริษัทธุรกิจเคมีเกษตรชื่อดังของโลก) นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงส่วนหนึ่งของ FAO ก็เคยปฏิบัติงานในบริษัทชั้นนำเหล่านั้นมาก่อน

FAO ได้เสนอข้อคิดเห็นว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย ควรที่จะมีการยกร่างกฎระเบียบวัตถุมีพิษเสียใหม่โดยมุ่งเน้นถึงด้านการทดลองก่อนที่จะนำออกมาจำหน่าย ที่จริงหากดูตามวัตถุประสงค์นี้ก็เป็นเรื่องดีไม่หยอก แต่ที่ต้องร้องกันออกมาเป็นเพราะว่า

"มีอย่างที่ไหนวัตถุมีพิษหลายชนิดยังไม่เคยมีขายที่ไหนในโลก และผลการทดสอบก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากประเทศผู้ผลิตด้วยซ้ำ แต่กลับจะนำมาทดลองและขายในเมืองไทย เขามองเห็นว่าบ้านเรายังไม่มีเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ โอกาสที่จะตบตาจึงมีความเป็นไปได้สูง ทำอย่างนี้ราวกับว่าเมืองไทยเป็นหนูตะเภาทดลอง" ผู้ค้าสารเคมีคนไทยรายหนึ่งกล่าวอย่างเหลืออดกับ "ผู้จัดการ"

เพื่อให้กฎระเบียบใหม่คลอดออกมาโดยเร็ว บริษัทข้ามชาติที่มีสาขาในเมืองไทยได้สั่งการให้ผู้บริหารชั้นสูงที่เป็นคนไทยบางคนดำเนินการในเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด ตัวตั้งตัวตีที่ถูกวิพากษ์มากที่สุดก็คือ ดร. ชาตรี พิทักษ์ไพวัน ผอ. ฝ่ายวิชาการของบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก จำกัด (ICI) ชลัท ศรีพิจารณ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัท ดูปองท์

"เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจำเป็นนักหรือที่จะต้องนำเอาประเทศไทยไปเร่งประเคนให้กลุ่มทุนข้ามชาติ ระเบียบใหม่นี้มีคนไทยบางคนเข้าร่วมร่วงด้วย เมื่อถูกตอบโต้คนไทยคนนั้นก็ถ่ายเอกสารทุกชิ้นส่งกลับไปเมืองนอก ทั้งนี้เพื่อจะบีบบริษัทเล็ก ๆ ของคนไทยที่ต้องนำเข้าสินค้าจากเขาว่าอย่าได้คิดยับยั้งไม่เช่นนั้นจะไม่ขายสินค้าให้" แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว

เอาเป็นว่าถ้าระเบียบใหม่นี้ไม่มีอะไรติดขัด เชื่อแน่ว่าบริษัทเล็ก ๆ ของคนไทยไม่น้อยกว่า 30 บริษัทจะต้องถึงจุดจบอย่างน่าอเน็จอนาถ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่มีกำลังพอที่จะหาเงินจำนวนมากมายมาใช้จ่ายในการทดลองเหล่านั้นได้ หรือถ้าต้องการยืดอายุหายใจก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทนเป็นลูกไล่ของบริษัทข้ามชาติ

สำหรับ ดร. ชาตรี พิทักษ์ไพวัน คนที่ถูกมองด้วยสายตาคลางแคลงนั้น จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 21 (มก. 21)แผนกโรคพืช หลังจบมาใหม่ ๆ ได้เข้าทำงานในบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัดที่ขณะนั้นมีแผนกสารเคมีอยู่ด้วย ทำงานที่เอสโซ่ประมาณ 3-4 ปีจึงลาออกไปเรียนต่อต่างประเทศจากนั้น จึงกลับเข้ามาทำงานที่อี๊สต์เอเชียติ๊กในแผนกเคมีเกษตรจนเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในปัจจุบัน นับเป็นมันสมองสำคัญของ ไอซีไอ. อีกคนหนึ่ง

ส่วน ชลัท ศรีพิจารณ์จบการศึกษาด้านเกษตรศาสตร์มาจากออสเตรเลีย เคยทำงานอยู่กับบริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัดระยะหนึ่ง ก่อนผันตัวเองมาอยู่ดูปองท์ ชลัทเป็นคนที่ได้ชื่อว่าเก่งฉกาจมากในเรื่องการตลาด สามารถทำให้ดูปองท์ก้าวขึ้นมาครองตลาดเคมีเกษตรอยู่ในอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายปี คุณสมบัติพิเศษอีกข้อก็คือ เป็นคนที่เข้าหาผู้ใหญ่ได้เก่ง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ของกรมวิชาการเกษตร

กับปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีเกษตรได้มีการรวมตัวกันเป็นชมรมฯ โดยยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมผู้ค้าปุ๋ยและเคมีเกษตรที่มี วัลลภ เจียรวนนท์ ซาเสี่ยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) นั่งเก้าอี้นายกอยู่ ชมรมฯ ดังกล่าวนี้พยายามที่จะเปิดเกมรับมิให้กฎระเบียบใหม่ได้ออกมา

"เหตุที่เราไม่ต่อสู้ในนามสมาคมฯ ก็เป็นเพราะว่ากลัวจะไม่คล่องตัว เนื่องจากในสมาคมมีบริษัทใหญ่ที่มีการค้าสัมพันธ์กับบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นรวมอยู่ด้วย ซึ่งคนของบริษัทใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดการต่อสู้ในขั้นรุนแรง นั่นเป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้ เพราะบริษัทใหญ่ไม่ลำบากนัก แม้ว่าจะมีกฎใหม่ออกมาก็ตามที" แหล่งข่าวในชมรมท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ตัวตั้งตัวตีของชมรมฯ ประกอบไปด้วยพ่อค้าเคมีเกษตรชื่อดังหลายท่านอาทิเช่น พิฑูรย์ กอเทพวัลย์ แห่งบริษัท พิทสุลิน จำกัด (ที่เคยมีข่าวว่าจะสร้างโรงงานผลิตขึ้นในเมืองไทย) ประวิทย์ จิรัปภา แห่งบริษัทแอ็กโกร จำกัด ดร. สุริยันต์ รักษาค้า แห่งบริษัท มีดี. เทค จำกัด รวมถึงตัวแทนจากบริษัท ยิบอินซอย จำกัดและอีกมาก

ชมรมฯ มีการประชุมกันเกือบทุกอาทิตย์เพื่อติดตามข่าวการเคลื่อนไหวว่ากฎระเบียบใหม่นั้นจะออกมาเมื่อใด และเตรียมทำบันทึกชี้แจงแก่รัฐสภาให้ทราบถึงขบวนการโกยผลประโยชน์ของชาติ พร้อมจะออกชี้แจงกับผู้ใช้ให้ทราบถึงพิษภัยของบริษัทข้ามชาติและเคมีเกษตรตัวใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา โดยจะเริ่มแผนงานนี้ในราวเดือนเมษายน

"เราเรี่ยไรเงินกันทำเท่าที่ความสามารถจะเอื้ออำนวยให้แต่จะยอมให้ต่างชาติเข้ามาเอาผลประโยชน์ไปต่อหน้าต่อตานั้นเราทำไม่ได้" สมาชิกชมรมอีกท่านกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

คนที่ต้องตกที่นั่งกระอักกระอ่วนใจต่อปัญหานี้มากที่สุดเห็นจะเป็น วัลลภ เจียรวนนท์ เพราะตำแหน่งนายกสมาคมฯ ที่ค้ำอยู่หากไม่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันก็ดูกระไรอยู่ แต่ถ้าหากช่วยไปก็ไม่รู้ว่าจะทำความไม่พอใจให้กับบริษัทข้ามชาติที่มีสายสัมพันธ์การค้ากับ ซีพี. หรือไม่?

"คุณวัลลภพยายามวิ่งเต้นขอร้องทั้งสองฝ่ายให้ประนีประนอมกันแล้ว แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมให้กันเพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ทางชมรมฯ นั้นก็เคยบอกว่า ถ้าทางบริษัทใหญ่ ๆ เช่น ซีพี. ไม่ช่วยก็ควรวางตัวเป็นกลาง เรื่องนี้ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นนี้ถ้าคุณชาตรีกับคุณชลัทจะไม่ออกหน้าออกตาเกินไปนัก" คนใกล้ชิดกับวัลลภกล่าว

ส่วน ดร. ชาตรีกับชลัทจะมีเหตุผลอย่างไรนั้น "ผู้จัดการ" เพียรพยายามติดต่อสอบถามอย่างไรก็ไม่สำเร็จโดยให้คำตอบว่าไม่มีเวลาจะคุยด้วยทุกครั้งไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us