Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2530
ชาวจีนโพ้นทะเลผู้ไม่ชอบคำว่า "จ่าย"             
 


   
search resources

China
วาย.ซี หวัง
ฟอร์โมซ่า พลาสติคส์ กรุพ




นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว ชาวเอเชียผู้กุมความมั่งมีไว้ในมือส่วนใหญ่จะได้แก่ "ชาวจีนโพ้นทะเล" ซึ่งกระจายกันเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่ในอินโดนีเซียไปจนถึงไต้หวัน ขณะที่พวกเขามีธุรกิจต่างประเภทกันและอยู่กันคนละประเทศ แต่จุดเด่นและความคล้ายคลึงของพวกเขาอยู่ที่ความเชื่อในการทำงานหนัก การลงทุนสมทบเข้าไปใหม่เสมอ และการศึกษา ซึ่งหากไม่ใช่เพื่อตัวเองก็เพื่อลูกๆ ต่อไป พวกเขาต่างก็เกลียดความฟุ่มเฟือยชอบที่จะรับหรือเก็บเข้ามามากกว่าจะจ่ายออกไป นายธนาคารชาวตะวันตกที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้อภิมหาเศรษฐีชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้เล่าว่า "พวกเขามีความสุขกับการทำเงินก้อนมหึมาเอามากๆ ดูเหมือนมันจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิตเอาเลยทีเดียว"

พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญสุนทานก็จริงแต่ถ้าเป้เรื่องใช้จ่ายเพื่อตัวเองหละก็จะกลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวที่สุดในโลกก็ว่าได้ เห็นได้จากการที่ วาย.ซี หวังผู้ก่อตั้งและ CHAIRMAN ของฟอร์โมซ่า พลาสติคส์ กรุพ ที่บริจาคเงินให้โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง 250 ล้านดอลลาร์อย่างไม่เสียดาย แต่เมื่อไม่นานมานี้ที่พนักงานคนหนึ่งซื้อพรมผืนใหม่มาใช้ในราคา 1,000 ดอลลาร์เท่านั้นเขากลับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

เป่า จูภรรยาของหวังเล่าว่า เขาเกลียดการซื้อเสื้อผ้าที่สุด "ฉันต้องแอบซื้อมาแล้วแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้าให้เขา" และเพราะเธออีกเช่นกันที่ยืนกรานให้เขาขึ้นเครื่องบินชั้น "เฟิร์สต์คลาส" ข้ามหาสมุทรแปชิฟิกสหรัฐอเมริกาที่มหาเศรษฐีวัย 70 ผู้นี้มีโรงงานอยู่ทั้งหมด 15 แห่งด้วยกัน…ความฟุ่มเฟือยอย่างเดียวที่หวังรู้จัก คือดื่มเบียร์ 5 แก้วหลังอาหารเย็นก่อนจะเข้านอนตอน 3 ทุ่มตรง

ลี กา-ชิง เจ้าของมูลค่าความมั่งคั่ง 2.5 พันล้านดอลลาร์จกาธุรกิจเรียลเอสเตทในฮ่องกงก็ไม่ผิดกับวาย.ซี. หวังเท่าไหร่นัก ปีที่แล้วเขาจ่ายเงิน 348 ล้านดอลลาร์เป็นค่าซื้อหุ้นในบริษัทฮัสกี้ ออยล์แห่งแคนาดาแบบไม่กระพริบตา แต่ตัวราชาเรียลเอสเตทวัย 59 เองกลับผูกนาฬิกาข้อมือราคาถูกๆ ของไซโก้ และยังอยู่บ้านหลังสองชั้นโทรมๆ ซึ่งทั้งนาฬิกากับบ้านนั้นเขาซื้อไว้กว่า 20 ปีแล้ว ลีเล่าว่า "มาตรบานการใช้ชีวิตของผมเมื่อปี 1962 อาจจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ผมว่ายิ่งมีชีวิตเรียบง่ายเท่าไรก็จะยิ่งสุขสบายเท่านั้น"

เขาไม่เคยซื้อคฤหาสน์ทิ้งไว้ในต่างแดนเลยสักทีเดียว ทุกครั้งที่ไปติดต่อธุรกิจในต่างประเทศลี กา-ชิง ก็ยังขึ้นแท็กซี่ไปไหนมาไหนอยู่ เขาเคยสะสมหยกเป็นงานอดิเรกแต่หลังจากทำเครื่องหยกชิ้นโปรดตกแตกแล้วลี กา-ชิงก็ตัดสินใจเลิกงานอดิเรกนี้ทันที

ลี เซ็งวีแห่งสิงคโปร์ดูเหมือนจะเป็นอภิมหาเศรษฐีคนเดียวในภูมิภาคนี้ที่เป็นทายาทรับมรดกความมั่งคั่งจากพ่อ แต่เขาเก็บตัวเงียบไม่พยายามทำตัวเป็นข่าว จนเมื่อไปเดินตามถนนแล้วคงจะมีน้อยคนนักที่จะรู้จักและจำได้ "ผมคิดว่าชอบชีวิตเงียบๆ ไม่ฟู่ฟ่ามากกว่า" เซ็งวีผู้มีอายุ 57 ปีแล้วสรุปรสนิยมของตัวเองให้ฟัง เขาเป็นทายาทเจ้าของกิจการสวนยาง ไร่สับปะรด ธนาคาร และการค้าทั้งในมาเลย์และสิงคโปร์ เมื่อจบ MBA จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนตาริโอในแคนาดาแล้ว ลี เซ็งวี เข้าร่วมคณะบริหารธนาคารโอเวอร์ซวี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ป ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว ตัวเขาเองให้การสนับสนุนการศึกษาและการแพทย์อย่างจริงจังด้วยการบริจาคเงิรผ่านมูลนิธิของครอบครัวเพื่อเป็นทุนการศึกษาและด้านแพทย์

วาย.เค. เปา นักธุรกิจฮ่องกงวัย 68 ร่ำรวยขึ้นมาจาการเดินเรือซึ่งประมาณปี 1979 เขาได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของกองเรือบรรทุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง คือมีเรือในครอบครอง 202 ลำและระวางบรรทุกรวม 20.5 ล้านตัน หลังจากนั้นเขาเบนเข็มไปทำธุรกิจธนาคารและเรียลเอสเตทด้วยเหตุผลว่า "เรามีไข่รวมเป็นกระจุกอยู่ในตะกร้าใบเดียวกันมากไป ครอบครัวของผมจึงอยากให้เอาเงินไปลงทุนในกิจการอื่นๆ บ้าง" และเขาโชคดีที่เลือกจังหวะได้ถูกเหมาะเหม็งที่สุด เพราะในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ที่อุตสาหกรรมเดินเรือย่ำแย่ทรุดหนักลงอย่างมากนั้น เปาก็ถอนตัวออกมาได้จนแทบไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว

เพราะไม่มีลูกชายไว้สืบสกุลและสืบทอดกิจการตามประเพณีชาวจีนทั่วไป วาย.เค. เปา จึงต้องหันไปพึ่งบรรดาลูกเขยหลายชาติของเขาแทน คนหนึ่งคือ ปีเตอร์ วู อดีตนายธนาคารวัย 41 ซึ่งเข้าดูแลกิจการด้านการค้าและทรัพย์สินของตระกูล ส่วนกิจการเดนเรือและสายการบินดรากอนแอร์อยู่ในความรับผิดชอบของเฮลเมท โซห์เมนทนายความชาวออสเตรเลียวัย 47 ซิน วาตะริ ลูกเขยชาวญี่ปุ่นวัย 40 ช่วยเป็นหูเป็นตาในกิจการการค้าที่โตเกียว…โซห์เมนเคยเล่าว่าการอยู่ในสภาพของ "ลูกเขย" ดีกว่าเป็น "ลูกชาย" เสียอีก เพราะความกดดันของการต้องทำหน้าที่ลูกชายที่ดีที่พึงมีต่อพ่อแม่นั้นน้อยกว่า

วาย.เค. เปา ลงทุนด้วยการเข้าซื้อหุ้นร่วม 15% ของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดในอังกฤษจึงได้เป็น VICE CHAIRMAN ของธนาคารแห่งนี้ เขายังมีบทบาทในการตัดสินใจครั้งสำคัญของครอบครัวอยู่ และชอบใช้เวลาอาหารเย็นที่อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัวเป็นช่วงกำหนดยุทธวิธีต่างๆ ซึ่งโซห์เมนให้ความเห็นว่า "เมื่อคุณทำงานให้ครอบครัวแล้วจะไม่มีคำว่าวันหยุดสุดสัปดาห์อีกต่อไป"

….เลียม ซิวเหลียง นักธุรกิจอินโดนีเซียผู้ได้ชื่อว่ามั่งคั่งที่สุดในประเทศ ให้ความสำคัญว่าการผูกมิตรถูกคนไม่เคยให้ผลเสียกับเขาเลย เลียมซึ่งขณะนี้อายุล่วงเลยมา 70 ปีแล้วเริ่มต้นชีวิตด้วยการอพยพจากฮกเกี้ยนในจีนเพื่อทำงานในบริษัทค้ามะพร้าวของลุงที่เกาะชวาตอนกลางตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิด แต่พอสงครามสงบแล้วและเลียมมองเห็นเงินญี่ปุ่นมหาศาลที่ค้าขายมาได้แต่เหมือนเศษกระดาษหาค่าไม่ได้ในฐานะของเงินของประเทศผู้แพ้สงคราม ทำให้เขาสาบานกับตัวเองว่าต่อไปในอนาคตหากจะมีกิจการอะไรเป็นของตัวเองจะทำในรูปของการค้าพืชผลไม่ใช่เงินสดเด็ดขาด

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของ เลียม ซิวเหลียง เริ่มเมื่อเขาเป็นเพื่อนกับนายทหารชื่อ "ซูฮาร์โต้" ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการต่อสู้เพื่อให้อินโดนีเซียเป็นเอกราชพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ เลียมช่วยซูฮาร์โต้ด้วยการช่วยส่งเสบียงทั้งอาหารและยาให้กับกองทัพปลดแอก เมื่อซูฮาร์โต้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียในเวลาต่อมา เขาตอบสนองพระคุณเพื่อนอย่างเลียม ซิวเหลียง ด้วยการให้สัมปทานสิทธิพิเศษในการทำกิจการต่างๆ มากมาย รวมทั้งการผูกขาดกิจการผลิตแป้งและซิเมนต์ นอกจากนี้เครือญาติของซูฮาร์โต้ก็เข้าไปมีผลประโยชน์ในบริษัทต่างๆ ของเลียม รวมทั้งกิจการธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศและบริษัทเฟิร์สต์ แปซิฟิค กรุพ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคารไฮเบอร์เนียในแคลิฟอร์เนีย

ในบรรดาอภิมหาเศรษฐีชาวจีนโพ้นทะเลที่เอ่ยมาทั้งหมด วาย.ซี.หวังโดดเด่นกว่าทุกคนในแง่สะสมความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมการผลิตขั้นพื้นฐานแทนที่จะเป็นการค้าหรือเก็งกำไรจากธุรกิจเรียลเอสเตท นอกจากนี้เขาไม่เคยมีพรรคพวกคนสนิทที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเลยสกคน

ปีที่แล้ว บริษัทพลาสติคส์ ฟอร์โมซ่า กรุพ ของเขาทำยอดขายได้กว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และมีผลตอบแทนก่อนหักภาษีต่อเงินทุนถึง 37.5% แต่ตัวหวังเองกลับบอกว่า เขาไม่เคยคิดคำนวณความมั่งมีส่วนตัวเลย "คิดว่ามันคงไม่มากมายอะไรนัก" เขาสรุปง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินผลประโยชน์ของครอบครัวที่มีในบริษัทผู้ผลิตพลาสติกขนาดใหญั้ง 3 แห่งในไต้หวันแล้ว ปรากฏว่า ราคาหุ้นทั้งหมดมีมูลค่าการตลาดรวมแล้วถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ วาย.ซี. หวังยังมีหุ้นในธุรกิจเรียลเอสเตท รวมทั้งคฤหาสน์ในชอร์ทฮิลส์, รัฐนิวเจอร์ซี่ด้วย…แต่คนสนิทของเขาพูดแก้ตัวให้เจ้านายว่า "ความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ได้มีความหมายกับเขาเลย มันเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น"

กับวัย 70 ปีที่นักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเริ่มถอนตัวออกจากงานเพื่อพักผ่อนหาความสุขสบายให้ชีวิตนั้น หวังยังทำหน้าที่ผู้จัดการผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยไฟและความกระตือรือร้นในการทำงาน ทุกเช้าตรู่เขาจะตื่นขึ้นมาวิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังรอบ ๆ ดาดฟ้าของอพาร์ทเมนท์ที่อยู่ชั้นบนสุดของอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทฟอร์โมซ่า พลาสติคส์ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงไทเปนครหลวงของไต้หวัน จากนั้นเขาจะใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมงหรือกว่านั้นเพื่อว่ายน้ำในสระ พอขึ้นจากสระก็เข้าไปนั่งคุยกับแม่ซึ่งอายุยืนถึง 100 ปีแล้ว จึงกินอาหารเช้า หลังจากนั้นก็วุ่นอยู่กับงานเอกสารบนโต๊ะ ก่อนจะลงลิฟต์มาเข้าที่ทำงานของตัวเอง

ช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับ วาย.ซี. หวัง คือ ตอนเที่ยงของทุกวัน ซึ่งไม่เคยเว้นแม้แต่วันอาทิตย์ โดยเขาจะนั่งกินอาหารเที่ยงกับบรรดาผู้จัดการของแต่ละฝ่าย ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 100 ฝ่ายหมุนเวียนกันไป อาหารที่กินกันก็ไม่มีอะไรพิเศษเป็นอาหารกล่องธรรมดา ๆ นี่เอง แต่รสชาติดูเหมือนจะเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะเรื่องราวที่สนทนากันบนโต๊ะอาหารเที่ยงมากกว่า ในเมื่อหวังไม่เคยเหนื่อยหน่ายกับการพูดคุยซักไซ้และตั้งคำถามเอากับบรรดาผู้จัดการฝ่าย "เขาจะเป็นคนที่รู้ทันทีว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ถูกหรือผิดอย่างไร" แฮร์รี่ เอ็ม.ดี. ฮวง VICE PRESIDENT ของฝ่ายการเงินเล่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นอาหารมื้อนั้นก็จะเสร็จลงในเวลาอันสั้น แต่ถ้าผู้จัดการฝ่ายไหนมีปัญหาก็จะถูกหวังกักตัวไว้ฝึกอบรมให้คำแนะนำครั้งละหลายชั่วโมงทีเดียว

วาย.ซี. หวัง ไม่เคยลืมชีวิตลำเค็ญในวัยเด็กเมื่อครั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของไต้หวันที่มีชาวบ้านไม่กี่คนเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ และตัวเขาเองก็มีโอกาสเรียนจบแค่ชั้นประถมต้น แต่เขาไม่เคยลืมภาษิตจีนที่สอนว่า หากทำงานหนักและมีความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอย่อมไม่มีความยากลำบากใดในโลกนี้ที่จะเอาชนะไม่ได้ เมื่ออายุ 15 หวังเริ่มต่อสู้ชีวิตด้วยการเป็นลูกจ้างในร้านพ่อค้าขายข้าวสารกินเงินเดือน 10 ดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นปีเดียวพ่อของเขาซึ่งเป็นพ่อค้าชาลงทุนบากหน้าเที่ยวกู้หนี้ยืมสินทุกคนที่รู้จักรวบรวมเงินได้ 200 ดอลลาร์มาให้หนุ่มน้อยหวังทำทุนเปิดร้านขายข้าวสารของตัวเอง

จุดหักเหของชีวิตเริ่มต้นเมื่อตอนตีสองของคืนฝนตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งมาตบประตูเรียกหวังเพื่อซื้อข้าวสารกระสอบหนึ่งแล้วให้ไปส่งเดี๋ยวนั้น ซึ่งหวังต้องกัดฟันกรำฝนตัวเปียกโชกไปส่งข้าวสารเพราะเขาไม่มีเสื้อฝนใส่ เมื่อกลับถึงบ้านเขาต้องทนนอนลง ทั้ง ๆ ที่เสื้อผ้าเปียกโชกเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน มันทำให้เขาตัดสินใจว่าจะต้องหาอาชีพอื่นที่ลำบากลำบนน้อยกว่านี้ทำ

หลังจากนั้นไม่นาน หวังหันไปเป็นเจ้าของโรงสีข้าว แต่สมัยนั้นไต้หวันยังเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นและหวังก็ต้องแข่งกับเจ้าของโรงสีชาวญี่ปุ่นที่อยู่ติด ๆ กันอย่างหนัก เขาใช้วิธียืดเวลาเปิดร้านนานกว่าคู่แข่งถึง 4 ชั่วโมง คือ ปิดร้านเอาเมื่อเวลา 4 ทุ่มครึ่ง…แต่สงครามกลับเป็นตัวทำลายทุกสิ่งทุกอย่างลงสิ้น…เมื่ออเมริกันทิ้งระเบิด บี-29 ลงกลางเมืองทำให้อาคารเรือนไม้ทั้งเมืองถล่มพินาศ รวมทั้งโรงสีข้าวของหวังก็มอดไหม้เป็นจุณไปด้วย หลังจากนั้นเขาก็สร้างขึ้นใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม

ปี 1957 หวังก่อตั้งโรงงานผลิตพลาสติก "ฟอร์โมซ่า พลาสติคส์" ขึ้นด้วยทุนประกอบการ 500,000 ดอลลาร์ ซึ่งหากไม่มองว่าเขาทำไปเพราะความมุทะลุบ้าดีเดือดก็ต้องถือว่ากล้าบ้าบิ่นสิ้นดี เพราะสมัยนั้นมีตลาดรองรับสินค้าของเขาน้อยมาก เพราะโรงงานในไต้หวันที่มีอยู่ไม่กี่แห่งล้วนได้ซัพพลายพีวีซีจากญี่ปุ่นซึ่งราคาถูกและมีมากพออยู่แล้ว แต่หวังจะหยุดกลางคันไม่ได้เช่นกัน "มันเหมือนคุณกำลังขี่หลังเสือ ถ้าลงมาคุณก็ถูกเสือกัดตาย คุณต้องขี่มันต่อไปเรื่อย ๆ " เขาจึงเพิ่มกำลังผลิตขึ้นอีก 6 เท่าแล้วกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของตัวเองด้วยการตั้งโรงงานแห่งที่อสง คือ "นันยา พลาสติคส์" เพื่อนำสารพีวีซีจากโรงงานแรกมาผลิตเป็นท่อพลาสติก และสินค้าอื่น ๆ

ปี 1964 ที่นันยาเริ่มผลิตหนังเทียมที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอักประกบทางด้านหลังให้เป็นเนื้อเดียวกัน หวังรู้สึกรังเกียจไม่อยากเสียเงินนำเข้าฝ้ายราคาแพงเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ เขาจึงขยายกิจการด้วยการตั้งโรงงานแห่งที่สามสำหรับผลิตเส้นใยพลาสติกของตัวเองขึ้นมา

ผลคือ หวังได้ชื่อว่า เป็นเจ้าของกิจการผู้ผลิตพีวีซีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และอาจเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเส้นใยพลาสติกเพื่อการส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ตอนนี้เขากำลังวุ่นอยู่กับการพลิกฟื้นฐานะการเงินของโรงงานที่ซื้อจากบริษัทอเมริกันอีกต่อหนึ่ง เช่น โรงงานผลิตท่อพลาสติกที่จอห์นสแมนวิลล์ "ผมคิดว่าคนงานอเมริกันเก่งและขยันมาก จะมีปัญหาอยู่ที่การจัดการเท่านั้น"

วาย.ซี. หวัง ยืนยันหนักแน่นว่า เขาไม่เคยมีงานอดิเรก (แต่ภรรยาของเขาแทรกขึ้นมาว่า "ก็ดื่มเหล้าไง") เพราะ "ผมไม่อาจทำใจให้ปล่อยวางได้" และคำว่าปลดเกษียณก็ไม่เคยอยู่ในความคิดของเขาด้วย แม้ว่ารอบตัวของเขาจะมีแต่ทายาทผู้มีศักยภาพสูงพร้อมจะรัช่วงกิจการต่อจากเขาไม่ว่าจะเป็นน้องชาย หรือหลานชายซึ่งเรียนจบจากอังกฤษ หรือวินสตัน ลูกชายวัย 36 ที่จบปริญญาเอกสาขาวิชาวิศวกรรมเคมีจาก IMPERIAL COLLEGE OF SCIENCE AND TECHNOLOGY ประเทศอังกฤษ เพราะหวังยังเชื่อมั่นในภาษิตชาวจีนที่กล่าวว่า ความมั่งคั่งของตระกูลจะยืนยงอยู่แค่ 3 ชั่วอายุคนเท่านั้น "เพราะคนรุ่นที่สองยังมีโอกาสได้เรียนรู้และได้รับอิทธิพลจากคนรุ่นแรงอย่างใกล้ชิดจึงยังรู้วิธีทำงานหนักอยู่" ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนรุ่นที่สองของตระกูลหวังคือรุ่นลูกของเขาเองจะทำงานหามรุ่งหามค่ำแทบไม่มีวันหยุดเหมือนพ่อ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us