|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“โสภาวดี”เดินหน้าไม่หยุด ลุยปั้นสินค้าใหม่สนองนักลงทุน เผยคิวต่อไปหลังอีทีเอฟตัวใหม่ (5ส.ค.) เตรียมจัดตั้งอีทีเอฟดัชนีหุ้นต่างประเทศ หวังส่งลงกระดานภายในปีนี้ พร้อมทยอยออกDW และฟิวเจอร์สอื่นๆเพิ่มเติม ส่วนต้นปีหน้าเร่งจัดของขวัญให้นักเทรด และบจ.ด้วยค่าบริการให้ที่ลดลง และแยกค่าใช้จ่ายแบบชัดเจนเพื่อช่วยลดต้นทุน เลิกใช้แบบเหมาจ่าย พร้อมสนขอร่วมวงเป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐ ชูระบบงานศักยภาพสูง แถมต้นทุนต่ำเป็นต่อ
ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ยังคงเดินหน้าพัฒนาองค์กรของตนให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลแบบไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบในด้านใดก็ตาม วันนี้ ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ **โสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการสายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย** ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบุคลากรทรงคุณค่าที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดหุ้นไทยมานาน ภายหลังจากเพิ่งได้รับการต่อวาระการทำงานใหม่มาสดๆร้อนๆ ถึงเป้าหมายของานภายใต้การบริหารและกำกับดูแล ภายในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้
โสภาวดี กล่าวว่า แผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง ส่วนตัวต้องดูแลสายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งการเพิ่มสินค้าใหม่ ซึ่งในส่วนของอนุพันธ์ หุ้นใหม่ และตราสารใหม่ทางการลงทุนใหม่ๆ เมื่อเร็วๆนี้ตลท.ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ส่วนกองทุนอีทีเอฟ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในการนำอีทีเอฟอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในรูปแบบ cross listing โดยกำลังสำรวจความสนใจของนักลงทุนสถาบันว่าสนใจที่จะลงทุนในอีทีเอฟอ้างอิงดัชนีตลาดหุ้นประเทศไหน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตอบรับความต้องการได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะสามารถนำอีทีเอฟอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ 1 กองทุน ซึ่งอนาคตก็จะมีการนำอีทีเอฟอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น โดยการดำเนินการดังกล่าวนั้น ตลท.ต้องการให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่มากขึ้น และสามารถลงทุนได้หลากหลาย รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น
"ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะเป็นของ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือจะเป็นตลาดหุ้นในแถบอื่น แต่จะเป็นตลาดหุ้นใดนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความสนใจของนักลงทุน โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็น ส่วนDWนั้นก็จะมีการออกมาเรื่อยๆ และจะมีการเพิ่มฟิวเจอร์สให้มีมากขึ้น นอกจากนี้เน้นทำการตลาดและให้ความรู้ในการลงทุน ของสต๊อกฟิวเจอร์ และออฟชั่นให้มากขึ้นเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีปริมาณการซื้อขายยังน้อยอยู่ "นางโสภาวดี กล่าว
สำหรับในวันที่ 5 สิงหาคมนี้จะมีอีทีเอฟเข้าจดทะเบียนอีก1 กองทุน คือ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ FTSE SET large Cap ETF โดยอ้างอิงในหุ้น 30 ตัว ซึ่งทำให้มีกองทุนอีทีเอฟเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมจำนวน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิด ไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 (TDEX) อีทีเอฟกองทุนเปิด MTRACK ENERGY ETFและ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ FTSE SET large Cap ETF
**เตรียมใช้ค่าธรรมเนียมใหม่1ม.ค.53**
ส่วนงานด้านบริการหลังการซื้อขายนั้น ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพิจารณาในการคิดบริการชำระราคาหลักทรัพย์ทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ใหม่ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยจะมีการปรับลดการคิดค่าชำะราคาหุ้นอัตรา 1 ล้านหุ้น เหลือ 1.50 บาท จากเดิมที่ 2.50บาท ส่วนการคิดค่าชำระราคาตราสารหนี้ภาครัฐฯและเอกชนจะปรับให้อยู่ในระดับที่เท่ากันคือ 1 ล้านหน่วยคิด 1.00 บาท จากเดิมภาคเอกชน 1 ล้านหน่วยคิด 1.50 บาท และภาครัฐ 1 ล้านหน่วยคิด 0.40 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ค่าธรรมเนียมใหม่ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2553
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการคิดค่าชำระราคา(เคลียริ่งฟี)กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก(โบรกเกอร์)ในอัตรา0.001%ของมูลค่าการซื้อขาย จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีการเก็บมาก่อน ในต้นปีหน้าเช่นกัน ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะเริ่มเก็บในไตรมาส1/52เพราะ ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี ทางตลท.จึงไม่อยากเพิ่มภาระให้กับโบรกเกอร์
อย่างไรก็ตามในส่วนการคิดค่าชำระราคาหุ้นของคัตโตเดียน แบงก์ (ผู้ดูแลหลักทรัพย์) นั้นตลท.ก็กำลังทบทวนเช่นกัน ในการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราพิเศษให้ เนื่องจากเป็นผู้ดูแลในการซื้อขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมาก และมีมูลค่าการซื้อขายจำนวนมาก ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯอาจจะมีการคิดอัตราค่าชำระราคาหุ้นเป็นลักษณะขั้นบันไดตามมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการคิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดของโบรกเกอร์ที่จะมีการเริ่มเก็บในปีหน้าเช่น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสรุป ซึ่งจะต้องมีการหารือและคิดอัตราให้เหมาะสม ต่อไป
สำหรับ การปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ จะมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการกับตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถทราบว่าจะต้องมีการจ่ายค่าบริการอะไรบ้าง ทำให้สามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการของตลท.ได้ ซึ่งจะดีกว่าการคิดราคาแบบเหมารวมเหมือนที่ผ่านๆมา ที่บริษัทจดทะเบียนต้องจ่ายให้กับทางตลท. ขณะเดียวกันคาดว่าจะมีบริษัทจากนอกตลาดหุ้นสนใจให้ตลาดหลักทรัพย์ฯมาทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหุ้นให้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการเก็บค่าใช้บริการเช่นกัน ซึ่งจะเก็บในอัตราเดียวกันกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะมีการปรับลดจากอัตราปัจจุบันเพื่อให้มีความน่าสนใจและดึงดูดให้มีบริษัทนอกตลาดเข้ามาใช้บริการ
“ตรงนี้หากปรับเปลี่ยนแล้ว อาจทำให้ต้นทุนของบางบจ.ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งก็แล้วแต่บริการที่ใช้ ขึ้นอยู่กับพวกเขาจะเลือกใช้ธุรกรรมในรูปแบบไหน และเราก็มีบริการอื่นๆเสริม เช่นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่จะช่วยลดงานในด้านนายทะเบียนให้แก่บริษัทของพวกเขาได้เยอะ รวมทั้งเคาเตอร์เซอร์วิส หรือ Call Center ซึ่งสามารถตรวจเช็คและติดตามเงินได้ นับว่าเป็นการช่วยลดภาระให้บจ. และบริษัทที่จะมาใช้บริการอย่างมาก”
**สนใจดึงพันธบัตรรัฐสร้างรายได้**
ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนที่จะเป็นนายทะเบียนตราสารหนี้ภาครัฐ เพราะ รัฐบาลมีแผนที่จะออกพันธบัตรจำนวนมาก ซึ่งจะต้องมีการหาหรือกับทางภาครัฐบาล และสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ(สบน.)ในการแบ่งตราสารหนี้ที่ภาครัฐฯออกมาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นนายทะเบียนบ้าง จากปัจจุบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เป็นนายทะเบียนตราสารหนี้ให้กับภาครัฐบาลเพียงแหล่งเดียว ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯมีระบบในการดำเนินงานที่ดี เป็นลักษณะการรับฝากหลักทรัพย์แบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และทำให้ตลาดหลักทรัพย์นมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำ โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯมีการหารือกับทางสบน.ไปในเบื้องต้นแล้ว
นอกเหนือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มานำเสนอนักลงทุน โสภาวดี กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนนักลงทุนเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ละเลย ซึ่งล่าสุดเพื่อตอบรับกับกระแสของโลกยุคปัจจุบัน ตลท.ได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ www.set.or.th อีกครั้งเพื่อให้มีข้อมูลการลงทุนที่ครอบคลุมและเข้าถึงทุกความต้องการของผู้ใช้ โดยมีการจัดหมวดหมู่ข้อมูลต่างๆให้อยู่เป็นกลุ่ม สะดวกและง่ายต่อการค้นหา
อีกทั้ง ตลท. จะกลับมาให้ความสำคัญในเรื่อง โปรแกรมเทรดดิ้งให้มากขึ้น เพราะหลังจากที่ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามา แต่บางโปรแกรมยังไม่รองรับ เท่าที่ควร รวมถึงการดูแลบรรดาสมาชิก (บริษัทหลักทรัพย์) ในการเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นที่เหลือเวลาอีกประมาณ2 ปี ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังพูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ
**มั่นใจปีนี้สร้างรายได้ตามเป้า
สำหรับรายได้จากบริการหลังการซื้อขายนั้น ถือว่าช่วยสร้างรายได้ให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด และในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทตามที่วางเป้าหมายไว้ ซึ่งครึ่งปีแรกปีนี้มีรายได้รวม 430 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของการเป็นนายทะเบียนประมาณ 300 ล้านบาท รายได้จากการรับฝากหลักทรัพย์ฯ 50 ล้านบาท รายได้จากการชำระราคาหุ้น 50 ล้านบาท และรายได้จากการเป็นนายทะเบียนให้แก่กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีก 17 ล้านบาท
|
|
|
|
|