|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันออกมามากถึงโครงการไทยเข้มแข็ง และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งต้องอาศัยเงินกู้ในวงเงินที่สูงถึง 8 แสนล้านบาท ว่าไม่มีความชัดเจน หรืออาจแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
พื้นที่ตรงนี้คงมิบังอาจไปร่วมวิพากษ์วิจารณ์แผนการดังกล่าว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้นและต้องอาศัย เวลาในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่รัฐบาลคิด และสร้างสรรค์ออกมากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขึ้นตามมา ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายที่มองภาพรวมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ถูกต้องกว่ากัน
เพียงแต่อยากตั้งข้อสังเกตบางประการเอาไว้ เป็นข้อสังเกตที่มองเห็นมาตั้งแต่สัญญาณของวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้เริ่มตั้งต้นมาเมื่อประมาณเกือบ 2 ปีที่แล้ว
หากย้อนกลับไป สัญญาณของวิกฤติที่ปรากฏออกมาจากการล่มสลายของตลาดซัพไพรม์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี 2550 ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกันว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ทำให้มีแนวคิดสำหรับการเตรียมรับกับผลกระทบดังกล่าวหลากหลายประการ
บางคนแนะนำให้ผู้ส่งออกแสวงหาตลาดใหม่ๆ
บางคนแนะนำให้ภาครัฐหันมาสนใจกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ฯลฯ
แนวคิดหนึ่งที่พูดถึงกันมาก ก็คือความเป็นห่วงต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้โดยตรง
ซึ่งเมื่อมากถึงวันนี้ ผลก็ปรากฏออกมาชัดเจนแล้วว่า SMEs หลายรายประสบปัญหาจริงๆ และมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่าย ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับ SMEs เหล่านี้
ที่เห็นได้ชัดคือภาคสถาบันการเงิน
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินทุกแห่งให้ความสำคัญกับ SMEs ทั้งในด้านการให้กู้เงิน การฝึกอบรม ให้การเรียนรู้ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการลงทุน และแสวงหาตลาดใหม่ๆ
แต่ดูเหมือนว่าได้มีเครื่องมือหนึ่งที่หายไป ไม่ปรากฏเป็นข่าวออกมาเลย ในขณะที่กำลังมีความพยายามอย่างยิ่งในการช่วยเหลือ SMEs เหล่านี้
นั่นคือกองทุนที่จะนำเงินมาร่วมทุนกับ SMEs ที่มีโครงการดีๆ แต่ขาดเงินทุนสนับสนุน
หลายปีที่แล้ว ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่มีปัญหาทั้งภาครัฐ รวมถึงเอกชนหลายๆ แห่ง ได้ออกมาพูดถึงเรื่องจัดตั้งกองทุนประเภทนี้กันเป็นจำนวนมาก จนดูเหมือนจะเป็นแฟชั่น
แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งประเทศไทย เริ่มประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ทราบว่าได้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาสักกี่กองทุนและกองทุนที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา ก็ไม่ทราบว่าผลการดำเนินงานในการเข้าไปร่วมทุนกับ SMEs ทั้งหลายเป็นอย่างไร
ธรรมชาติของกองทุนก็คือกองทุน คือการระดมเงินเข้ามา เพื่อนำไปลงทุนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในจังหวะใดจังหวะหนึ่งที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนดีที่สุด
แต่ส่วนใหญ่ เวลาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมักจะขยันตั้งกองทุน คือในจังหวะที่ตลาดหุ้นขึ้น มักไม่ค่อยตั้งกันในตอนที่ตลาดหุ้นลง ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะที่สามารถซื้อหุ้นได้ในราคาถูกกว่า
กองทุนเพื่อการร่วมทุนกับ SMEs ก็เช่นกัน ที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่พอเศรษฐกิจมีปัญหา SMEs ที่ดีๆ กำลังต้องการเงินทุนสนับสนุน กลับไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องนี้กันเลย
ทุกวันนี้เห็นรัฐบาลแจกเงินชาวบ้านคนละ 2,000 บาท กู้เงินเข้ามา 8 แสนล้านบาท อ่านข่าวเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ต่างระดมเงินประชาชนไปลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลี ตราสารอนุพันธ์เกี่ยวกับทองคำ และน้ำมันคิดเป็นวงเงินรวมหลายหมื่นล้านบาทแล้ว จึงรู้สึกเสียดาย
กันเงินส่วนนี้สัก 10% มาตั้งเป็นกองทุน แล้วมองหา SMEs ที่มีโครงการดีๆ ที่กำลังต้องการเงินทุน เพื่อนำเงินเข้าไปช่วยสนับสนุน น่าจะเป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างดีอีกช่องทางหนึ่ง
หมายเหตุ : ในพื้นที่นี้ของฉบับที่แล้ว เกิดข้อผิดพลาดบางประการ ทำให้ไม่สามารถนำเสนอภาพประกอบได้ จึงต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|