"การแข่งความเร็ว" เป็นหนึ่งในกีฬาหลายๆ อย่างที่ท้าทายความเป็นลูกผู้ชาย...แต่จะมีสักกี่คนที่จะมีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสกีฬานี้ ถ้าไม่มีปัจจัยทางการเงินสนับสนุน
ศักดิ์ นานา หรือกีกี้ เปิดตัวอย่างเปรี้ยงปร้างจนกลายเป็น Idol ของวงการดริฟท์รถ ไปพร้อมๆ กับเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้เครื่องดื่มชูกำลังและน้ำเมายี่ห้อดัง หลายคนมองว่าเพราะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง แต่เขามีวันนี้ได้ไม่ใช่ด้วยพรสวรรค์หรือสมบัติของพ่อแม่ หากเริ่มจากศูนย์ในการแสวงหาสิ่งที่ใจรัก ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเอง เพราะสิ่งที่เขารัก พ่อแม่ไม่สนับสนุนและไม่คิดว่าเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ
"ผมเริ่มแข่งรถจากการเอารถของที่บ้าน คันที่ไม่มีใครใช้ เป็นโฟล์ค กอล์ฟ มาร์ควัน สนิมกินทั้งคัน เอาไปแต่ง ทำสีใหม่ เพราะได้เงินจากเล่นหุ้น ตอนนั้นอายุ 15-16 ปี ช่วงเรียนอยู่ ม.3-6 ก่อนหน้านั้นเคยแข่งมอเตอร์ไซค์แถวสามเหลี่ยมดินแดง รังสิต สะพานแขวน ผมแต่งรถออกมาได้สวย ใช้เงินไม่มาก คนจึงชอบเข้ามาคุยด้วย สังคมที่แข่งรถเกือบทุกคนจะดมกาว" เขากล่าว
แม้เขาไม่เล่นยา ไม่ดื่มเหล้า แต่ไปท้าแข่งมฤตยูบนท้องถนนทุกศุกร์-เสาร์ คนในกลุ่ม จะคบกันฉาบฉวย แค่มาเจอกันเพื่อแข่งรถ คนที่นิสัยดีหน่อย หากอยากท้าแข่ง พอเอารถมาเทียบก็จะยกนิ้วชี้ขึ้น เป็นอันรู้กันว่าท้าแข่งความเร็ว แต่บางคนหยาบคาย ก็จะเชิดหน้าพร้อมบิดเสียงดังใส่ท้าทายเช่นกัน
สมัยนั้นตำรวจจะมาดักจับตามมุมถนน เป็นการแข่งแบบเถื่อนและโหด จึงมีคนตายให้เห็นทุกครั้ง ก่อนหน้าจะถูกทางบ้านส่งไปเรียนต่อที่อังกฤษ เขาไม่รู้จักการแข่งแบบมืออาชีพแต่พอเพื่อนมาชวนแข่งที่สนามพีระเซอร์กิต พัทยา ทำให้รู้ว่าสิงห์บนถนนเทียบไม่ติดฝุ่น เหล่านักแข่งในสนาม
พอไปอยู่อังกฤษเขาได้รับข่าวสารเกี่ยวกับรถมาก เขา กลับมาสู่สิ่งที่รักอีกครั้งเมื่ออายุ 18 ปี เพราะเพื่อนชาวโคลัมเบีย ซึ่งเรียนที่เดียวกันและเป็นนักแข่งแรลลี่ มาชวนแข่งชิงทุนฟอร์ด หากชนะจะได้สปอนเซอร์ 1 ปี เขาได้ที่ 3 ทำให้ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องความเร็วอย่างเต็มที่นับจากนั้นมา เขากล่าวว่า
"เมืองไทยจะนับถือคนมีเงินหรือคนหน้าตาดี แต่เมืองนอกจะนับถือคนเก่ง อุตสาหกรรมรถในยุโรปใหญ่ที่สุดในโลก กีฬาแข่งรถจึงเป็นกีฬาประจำทวีป แสดงความเป็นผู้ชาย เพราะเสี่ยง ท้าทาย ต้องมีใจรัก ไม่ต้องเก่งหรือมีเงินมาก่อน ขึ้นอยู่กับการฝึก มีอีเวนต์ให้แข่งทุกวัน แต่ผมเลือกแข่งอีเวนต์ใหญ่ มีสื่อและคนดูเยอะๆ ได้รางวัลใหญ่"
จากการเล่นความเร็วแบบเสี่ยงตาย เขาพัฒนาสู่การเป็นนักแข่งมืออาชีพที่เน้นความปลอดภัย และทำรายได้มากขึ้น เรื่อยๆ จากการตระเวนแข่งทั่วยุโรป กีฬานี้มีคนดูนับแสน เป็นความบันเทิงที่พ่อแม่ลูกจะจูงมือกันไปดูทุกสุดสัปดาห์ จนกลาย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในประเทศอุตสาหกรรม กีฬาแข่งรถ จึงเป็นอาชีพ นักกีฬามืออาชีพทำรายได้นับร้อยล้านบาทต่อปี
การพัฒนาฝีมือจะเริ่มต้นจากแข่งโกคาร์ท ต่อมาเป็นฟอร์มูลา ฟอร์ด แบ่งเป็นทางรถล้อเปิดและล้อปิด พวกล้อเปิดคือจากโกคาร์ทไปฟอร์มูลา ฟอร์ด/เรย์โนลด์/ออดี/บีเอ็มดับบลิว อย่างใด อย่างหนึ่ง แล้วต่อมาก็เข้าแข่งฟอร์มูลา 3000 จนมาถึงฟอร์มูลาวัน ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พ่อแม่ต้องวาง แผนให้ลูกลงสู่สนามตั้งแต่ 4 ขวบ แล้วได้แชมป์ตั้งแต่ไม่ถึง 10 ปีและเป็นแชมป์โลกก่อนอายุ 18 ปี
ส่วนพวกรถล้อปิดจะไม่กำหนดอายุ ก็เริ่มจากโกคาร์ทมาเป็นคลับเรซต่างๆ เช่น เรโนลด์/มอร์แกน/วิลเลียม วันเมคเรซ หลังจากนั้นก็จะไปแข่งเนชั่นแนล ซาลูนคาร์ ต่อด้วยโกลเดนคาร์ และ GT (Grand Touring) หรือแยกไป DTM (การแข่ง Touring Car ของเยอรมนี)
การขับรถแข่งจะขึ้นอยู่กับการแต่งรถให้เหมาะกับคนขับ ยิ่งรู้สึกปลอดภัยจะขับได้เร็วและนาน ถ้าเซตอัพไม่ดีจะขับยากและเหนื่อยง่าย พอเข้าโค้งจะรู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวควบคุมรถไม่ได้ ก็จะไม่กล้ากดคันเร่ง การแข่งขันแต่ละครั้งจึงวัดฝีมือแต่งรถ การเข้าใจรถและปรับให้เข้ากับนิสัยการขับของนักแข่ง
นอกจากตระเวนแข่งรถแล้ว เขาจัดแข่งดริฟท์ โดยช่วง พ.ศ.2539 เศรษฐกิจยุโรปเริ่มชะลอตัว เขาเปิดอู่รถอยู่แล้ว จึงแต่งรถแข่งไปขับเล่นทุกวันอาทิตย์ มีลูกค้าและเพื่อนร่วมงานตามมาดู พอมีคนดูและมีคนมาขับราว 40-50 คน เขาได้จัดแข่งจากสนามเล็กๆ แล้วไปขอสปอนเซอร์ พอมี สื่อเข้ามารายงานข่าว งานก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนจัดแข่งปีละ 5 ครั้ง จากคนดูเพียง 30 กว่าคน ขยายถึงแสนกว่าคน จัดแข่งอยู่ 10 ปี แม่ป่วยจึงกลับเมืองไทย ไม่นานก็มีเพื่อนซึ่งจัดแข่งดริฟท์มาชวนแข่ง
การกลับมาครั้งนี้ แวดวงแข่งรถในไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยน ตอนแรกๆ การแข่งขันนั้น เดิมจะแข่งกันเอง 5-6 คัน ไม่มีคนดูเลย สนามแข่งมีหญ้าสูงท่วมหัว เขาให้คำปรึกษาว่า การแข่งขัน ต้องมีกฎกติกาชัดเจน ให้คนเล่นสบายใจ และที่สำคัญต้องสอนการขับอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างนักแข่งให้มากขึ้น ที่อังกฤษและเยอรมนีเขาสอนโดยเก็บค่าเรียนวันละ 200 ปอนด์/คน สอน 10 ครั้ง รับไม่เกิน 30 คน/ครั้ง ส่วนในเมืองไทยเขาเก็บค่าเรียนพื้นฐานวันละ 2,000 บาท/คน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้สปอนเซอร์จากโตโยต้า มีคอร์สพื้นฐานและแอดวานซ์สอนภายใน 1 วัน แล้วไปซ้อมกันเอง การเปิดคอร์สช่วยส่งเสริมให้นักแข่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วถึง 70-80%
ในช่วงเดียวกันค่ายเบียร์สิงห์ ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของวงการ ได้เปิดโรงเรียนสอนขับอย่างปลอดภัยเพื่อสร้างนักแข่งอาชีพในชื่อ "สิงห์ ไดรฟวิง สคูล" สอนพื้นฐานภายใน 2 วัน คนละ 3.500 บาท คอร์สแอดวานซ์คนละ 28,000 บาท จบแล้วจะมีกิจกรรมต่อเนื่องให้รวมกลุ่มกันเหนียวแน่นและพัฒนาทักษะได้ต่อเนื่อง โดยผลิตศิษย์มากกว่า 500 คนแล้ว และสร้างแชมป์ให้กับวงการนับสิบคน ขณะที่ทางโตโยต้าซึ่งเป็นผู้จัดรายใหญ่อีกค่ายหนึ่งก็เพิ่งเปิด "โตโยต้า เรสซิง สคูล" เมื่อปีที่แล้ว แวดวงจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยพลังทางธุรกิจที่เข้ามาหนุน สวนกระแส ภาวะเศรษฐกิจและการเมือง
"คนไทยรักความเร็ว แต่ไม่มีที่ระบาย ไม่รู้วิธีการแข่งที่ถูกต้อง คนเข้ามาแข่งอายุ 25-40 ปี ความจริงเด็กๆ สนใจแต่ไม่มีเงินแต่งรถ แข่งโกคาร์ทใช้เงินปีละ 2-3 ล้านบาท ต้องเริ่มตั้งแต่ 4 ขวบ แล้วเป็นแชมป์ให้ได้ตั้งแต่ 6 ขวบ ซึ่งในเมืองไทยพ่อแม่ไม่มีทางสนับสนุนลูก เพราะมองว่าการแข่งรถเสี่ยงอันตรายและเป็นอันธพาล นั่นเป็นเพราะไม่มีสนามมากพอรองรับการแข่งแบบมาตรฐาน ทำให้คนไม่เห็นภาพว่าทำอะไรได้และการแข่งในสนามไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด" เขากล่าว
การที่นักแข่งขยายตัวอย่างรวดเร็วและการจัดงานก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนดูมากขึ้น ส่วนใหญ่เปิดให้ดูฟรีหรือเก็บค่าบัตรเพียงคนละ 40-80 บาท ปัจจุบันมีนักแข่งมืออาชีพที่ได้สปอนเซอร์เต็มราว 10 คน เพราะผู้บริหารสมัยใหม่เริ่มเห็นความสำคัญของการแข่งรถและเน้น Brand Awareness เห็นตัวอย่างสปอนเซอร์ฟอร์มูลาวันของจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ จ่ายกันปีละ 2 แสนล้านบาท
การที่คนไทยหันมาสนใจการแข่งรถมากขึ้นยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก อย่างแรกที่ต้องยกนิ้ว ให้คือ ความอึดด้วยใจรักของคนรุ่นเก่าในวงการ อย่างกีรเกียรติ เย็นมาโนช จากค่ายสังกะสี 3 ห่วง หรือสุทธิพงษ์ มานิตชาติ จากโตโยต้า ที่จัดงานไม่เลิกรา ไม่ว่าธุรกิจจะขึ้นหรือลงก็ตาม
คนที่ทำให้มอเตอร์สปอร์ตกลับมาอย่างแรงอีกครั้ง คือ สนธยา คุณปลื้ม ที่กล้าปิดบางแสนทำสนามแข่งช่วงพฤศจิกายน จนมีคนดูเกือบสามแสนคน ทำให้คนอยากเข้าแข่งเหมือนที่สิงคโปร์ มาเก๊า หรือโมนาโก ทำกัน จัดมาเป็นปีที่ 3 แล้ว จนทั่วโลกยอมรับ จากงาน "บางแสน สปีด เฟสติวัล" ปีนี้ FIA ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลการแข่งขันระดับโลกได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บางแสน กรังด์ปรีซ์" จึงกลายเป็นการแข่งระดับโลกอย่างแท้จริง ซึ่งไทยจะมีราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ รยสท. ตั้งมา 70 กว่าปีแล้ว คอยดูแลมาตรฐานการแข่งขันให้เทียบสากลได้
จากหลายปัจจัยประกอบกัน ทำให้คนไทยเริ่มมีทัศนคติต่อการแข่ง รถดีขึ้น คนหน้าใหม่ทยอยเข้าสู่แวดวงนี้ได้ง่ายขึ้น เขาแนะนำมือใหม่ว่าต้องเริ่มที่ใจรักในการแข่งความเร็วก่อน แล้วต้องใฝ่หาความรู้ในการขับที่ถูกต้อง ดูแลรถแข่งเป็น มีวินัยในการแข่ง สุขภาพแข็งแรง ฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องรักษาภาพลักษณ์ให้ดีและระวังเรื่องยาเสพติดหรือการเที่ยวเสเพล
การจัดแข่งจะมีสนามให้เล่นทุกสัปดาห์ แต่งานใหญ่ๆ มีคนจัดราว 5 ค่าย เช่น โตโยต้า, ฮอนดา, กรังด์ปรีซ์, สังกะสี 3 ห่วง, พูมา, นิโตะ เป็นต้น ส่วนสนามที่เก็บคะแนน เช่น แข่งดริฟท์มีการจัดเก็บคะแนน 6 สนาม และแข่งรอบประเทศ คือ เหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก เป็นรอบแข่งใหญ่เพื่อชิงแชมป์ประเทศไทย รวมแล้วเป็น 10 สนาม/ปี
การแข่งทางเรียบ หรือ Super Car Thailand จะมี 8 สนาม คือ สนามที่ 1-2 จะแข่งที่สนามบิน จ.สระแก้ว สนามที่ 3-4 ที่พีระเซอร์กิต สนามที่ 5-6 ที่พีระเซอร์กิต เหมือนกัน แต่จะมีการแข่งเอฟอซ (ASEAN Festival of Speed) ด้วย สนามที่ 7-8 แข่งที่สนามบางแสน กรังด์ปรีซ์
การจัดแข่งความเร็วได้รับความนิยมมาก ทุกครั้งที่ตระเวนตามต่างจังหวัดจะมีคนดูราว 20,000 คนขึ้นไป ถ้าเป็นบางแสน กรังด์ปรีซ์จะมีคนดูนับแสน ส่งผลต่อธุรกิจ ท่องเที่ยวตามมา ตอนนี้หลายจังหวัดสนใจจัดแข่งรถ แต่มักจะติดปัญหาการจัดสรรงบ และการจัดการต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมเหมือนชลบุรี หรือจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ ที่เคยมีงานพืชสวนโลกอยู่แล้ว ก็เอารถไปแข่งต่อได้
การจัดงานแต่ละครั้งต้องใช้งบ 10-20 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนตามมานับร้อยล้านบาท แต่ผู้จัดงานเปิดเผยว่ารายได้ของผู้จัดแค่คุ้มทุนเท่านั้น ทั้งที่เงินหมุนเวียนในการจัดอีเวนต์จากค่ายใหญ่ๆ รวมกันทั้งปี จะมีมากถึงกว่าพันล้านบาทก็ตาม
เมื่อมีการจัดงานหลายรูปแบบเพื่อรองรับนักแข่งหน้าใหม่ สนามพีระเซอร์กิต ซึ่งเป็นสนามที่พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1950-60 จึงไม่สอดคล้องต่อการจัดงาน เพราะถนนแคบ เอเพคสูง พื้นที่น้อย ส่วนใหญ่เป็นกำแพง ตอนนี้มีสนามแก่งกระจานเซอร์กิต จ.เพชรบุรี เพิ่งเปิดใหม่ พื้นที่ 150 ไร่ ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านบาท อยู่กลางภูเขา อากาศดี ภายใต้การดำเนินงานของเอกประวัติ เพชรรักษ์ และสมชาย ศรีจิรารัตน์ นักแข่งรถรุ่นเก่า และกำลังมีการสร้างอีก 2-3 สนาม เป็นสนามขนาด 25 ไร่ ทางไปมอเตอร์เวย์
ปัจจุบันการขยายตัวของการจัดแข่งความเร็วในสนาม ช่วยลดปัญหาการแข่งบนถนนไปได้มาก และยังเป็นช่องทางการตลาดให้สินค้าด้านรถยนต์สู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการสร้างแบรนด์อิมเมจ เพื่อการตลาดแบบลูกคลื่นเมื่อมีการออกสื่อ ทำให้ยิ่งส่งเสริมการจัดแข่งและไม่มีท่าทีลดลง ซึ่งค่ายจัดงานใหญ่อย่างกรังด์ปรีซ์ประเมินว่า วงการจะยั่งยืนต้องพัฒนาการจัดงานสู่ระดับมืออาชีพ ที่ให้ผลคุ้มค่าทางธุรกิจต่อสปอนเซอร์ โดยลำพังนักแข่งเองจะดูแลตัวเองได้ไม่นาน เพราะค่าใช้จ่ายสูง
สำหรับในเมืองไทย นักแข่งแต่ละคนต้องใช้เงินในการเข้าแข่งขัน เช่น ค่าช่างเซอร์วิส ผ้าเบรก น้ำมัน ยาง ค่ากินอยู่ ราว 40,000-300,000 บาท ไม่รวมค่าสึกหรอของรถ ดังนั้น ควรเข้าแข่งในอีเวนต์เล็กๆ ที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก แล้วอย่าอายที่จะขอสปอนเซอร์ หากมีประวัติการแข่งที่ดี มีภาพลักษณ์ดี บางทีสปอนเซอร์จะเข้ามาหาเองด้วยซ้ำไป ศักดิ์กล่าวว่า
"วงการแข่งรถสะท้อนชัดว่า เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เราพึ่งกันเองก็อยู่ได้ การมีสนามแข่งที่ดีได้มาตรฐาน ทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น การที่ฝรั่งเข้ามาแข่งมาก เงินตราจะหมุนเข้าประเทศมากขึ้น ไทยไม่ควรมีแค่สนามย่อยๆ แต่ละเมือง สนามฟอร์มูลา วันใช้เงินลงทุนราว 20,000 ล้านบาท รัฐจึงต้องเข้ามาร่วมลงทุน เป็นการสร้างภาพลักษณ์ ให้ชาวตะวันตกยอมรับว่าไทยก็เจริญแล้วเหมือนประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ธุรกิจไทยโดยรวมได้ในที่สุด"
สำหรับศักดิ์ นานาแล้ว แม้จะชนะในสนามแข่งมากี่ร้อยครั้งก็ตาม และทางบ้านก็ ไม่ห้ามอีกต่อไป แต่ใจของผู้เป็นแม่ที่คอยไปลุ้นให้ลูกปลอดภัยและรอวันเลิกแข่งถาวร ซึ่งเขาสัญญาว่าปีหน้าจะเลิกแน่ พร้อมทั้งมุ่งเดินหน้าในธุรกิจและก้าวสู่เส้นทางการเมือง
|