Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2530
อวสานนายแบงก์             
 


   
search resources

ธนาคารแหลมทอง
สุระ จันทร์ศรีชวาลา
สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
Banking and Finance




เราต้องไม่ลืมว่า สภาพสังคมธุรกิจแบบอเมริกัน ซึ่งกระหายเงินขาดมนุษยธรรมและเต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่นกัน จะมีส่วนบีบคั้นวิลลี่โลแมน (WILLY LOMAN) ให้เดินทางไปพบจุดจบที่น่าเศร้าสลดใจในอวสานเซลล์แมน (DEATH OF A SALESMAN) ของอาเธอร์ มิลเลอร์ (ARTHUR MPLLER) นักเขียนรางวัลพูลิทเซอร์ การมีชีวิตอยู่อย่างไม่ยอมรับความจริงที่มีแต่ความฝันลมๆ แล้งๆ และความทะเยอทะยานที่หลอกลวงโลกและตนเองไปวันๆ หนึ่ง ก็มีส่วนพาโลแมนไปพบวาระสุดท้ายที่ไม่น่าพึงปราถนาด้วยเช่นกัน
แล้วสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์เล่า เขาต้องรับผิดชอบนำพาตระกูลนันทาภิวัฒน์มาพบกับ "อวสาน(อีก)ตระกูลธนาคาร" มากน้อยแค่ไหน? และอย่างไร?

ธนาคารแหลมทองเป็นธนาคารเล็กที่สุด มีเพียง 9 สาขา ซึ่งบางคนเปรียบเปรยว่าไม่ใหญ่โตกว่าโรงรับจำนำมากนัก แต่เรื่องราวความขัดแย้งอันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง "ผู้จัดการ" เขียนถึงแบงก์นี้เป็นเรื่องจากปกมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งนับว่ามากที่สุด เฉลี่ยปีละครั้ง (ผู้สนใจเรื่องราวโดยละเอียดอ่าน "บางระจันของนันทาภิวัฒน์" ฉบับที่ 7, "THE PARTNERS" ฉบับที่ 19 "สุระสมบูรณ์ เราจะเป็นแฟนกันได้อย่างไร" ฉบับที่ 31, "ที่สุด…แห่งการต่อสู้" ฉบับที่ 49)

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ตั้งใจเกษียณตัวเองในวัย 65 ปี ซึ่งก็คือปีนี้นั่นเอง แต่แทนที่เขาจะได้ล้างมือในอ่างทองคำ อำลายุทธจักรอย่างภาคภูมิ กลับถูกน็อคยกสุดท้ายอย่างสุดความคาดหมายของเขา มันหมายถึงจุดจบของชีวิตนายแบงก์ (อาชีพที่เขาภาคภูมิใจ!) ไม่เพียงสมบูรณ์เท่านั้น มันหมายถึง นันทาภิวัฒน์คนอื่นที่อยู่ในแบงก์ด้วย

ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ (พ่อของสมบูรณ์) ร่ำรวยจากการค้าแร่-เหมืองแร่ แต่กลับมองว่าไม่มีการค้าอะไรในขณะนั้นที่ดีเท่ากับการค้าเงิน ใหญ่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงชักชวนพรรคพวกหลายคน เช่น จุติ บุญสูง, หลีเบน เบญจฤทธิ์ แต่พวกเพื่อนเขาต่างก็มีธุรกิจส่วนตัว ไม่มีใครตั้งใจประกอบกิจการธนาคารจริงจัง เพียงหวังผลตอบแทนในแง่เงินปันผลใหญ่ของหุ้น 60% ได้เป็นผู้จัดการใหญ่เมื่อใหญ่เสียชีวิต ไพศาล นันทาภิวัฒน์ ลูกชายคนโตผู้ทำงานเคียงข้างมากับผู้พ่อ ได้รับตำแหน่งสืบแทน กระทั่งไพศาลเสียชีวิต สมบูรณ์ฐานะน้องคนรองได้ขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่แทน และถ้า ภิวัฒน์ (เหน่ง) ลูกชายไพศาล ซึ่งถูกวางเป็นทายาทคนต่อไปไม่ด่วนจากไปด้วยโรคหัวใจ (ซึ่งคนนันทาภิวัฒน์ถือเป็นโรคประจำตระกูล) เมื่อปี 2525 ปีนี้เขาคงขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแต่แม้จะสิ้นภิวัฒน์ (เหน่ง) ก็ยังมี อภิวัฒน์น้องคนที่ 7 ของสมบูรณ์ที่คาดว่าจะมาแทนสมบูรณ์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าธนาคารแห่งนี้บริหารงานมากว่า 40 ปีด้วยคนตระกูลนันทาภิวัฒน์ทั้งสิ้น ความรู้สึกผูกพัน หวงแหน เป็นเจ้าของและถือว่าตัวเองเป็นตระกูลธนาคาร จึงเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะผู้นำคนปัจจุบัน คือ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

แต่แล้ววันสิ้นสุด "นันทาภิวัฒน์" สำหรับแบงก์ก็มาถึง!!!

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2530 คณะกรรมการชุดเก่าประกอบด้วย สรร อักษรานุเคราะห์ ประธานกรรมการและคณะกรรมการ กำลังประชุมกันอยู่ที่แบงก์ได้มีเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนกาค้าโทรมาแจ้งว่ากลมทะเบียนการค้าได้รับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่แล้ว

"ทุกคนอ้าปากค้าง รู้สึกช็อค (โดยเฉพาะสมบูรณ์) เพราะเหตุการณ์เกิดรวดเร็วมาก กำลังปรึกษาหารือว่าจะอุทธรณ์ต่อศาลได้หรือไม่ เมื่อได้รับแจ้งเช่นนั้นก็หยุดหมด" กิติรัตน์ ศรีวิสารวาจา (สามีคุณหญิงสมสุข ซึ่งเป็นน้องสาวคนเดียวของสมบูรณ์) เล่าเหตุการณ์วันนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ตุลาคม 2530 ซึ่งเป็นการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นฝ่ายสุระ หลังจากระดมหุ้นได้ถึง 57% ซึ่งหลังสุดซื้อเพิ่มจากดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน อย่างแยบยล โดยผ่านบอสตัน เอเยนซี่ (อ่านขั้นตอนอย่างละเอียดจากผู้จัดการฉบับที่ 49) ประเด็นสำคัญคือวาระพิเศษที่เสนอปลดกรรมการชุดเดิมทั้งชุดและตั้งกรรมการใหม่ 10 คน คือ พลเอกสม ขัตพันธ์ (ประธาน) พล.อ.อ.ประหยัด ดิษยะศริน, เล็ก นันทาภิวัฒน์, ตามใจ ขำภโต, ประกายเพ็ชร อินทุโสภณ, สุระ จันทร์ศรีชวาลา, วิเชียร จิระพจชพร, สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร, ชัชววาล อภิบาลศรี และ กุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา

ประเด็นทางกฎหมายที่ฝ่ายสมบูรณ์จ้องอยู่ คือประธานในที่ประชุมวันนั้นคือ สรร อักษรานุเคราะห์ ไม่เห็นด้วยกับวาระพิเศษดังกล่าว จึงสั่งปิดการประชุม "การลงมติใดๆ หลังจาดนั้นจึงไม่มีผล" แต่ฝ่ายสุระยังประชุมต่อไปเพราะถือว่าเขามีเสียงข้างมาก (ซึ่งก็เข้าล็อกที่ฝ่ายสมบูรณ์วางหมากไว้) และมีการลงมติถอดถอนกรรมการเก่าและตั้งกรรมการใหม่

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ฟ้องพลเอกสมและพวกเป็นจำเลย (15 ตุลาคม 2530) ขอให้ศาลแพ่งเพิกถอนมติที่ประชุมอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประธานสั่งปิดประชุมแล้ว จำเลยยังฝ่าฝืนเปิดการประชุมต่อ อันทำให้แบงก์เสียหาย โดยเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท และได้ร้องขอฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิจารณา ศาลไต่สวนฉุกเฉินในวันเดียวกันนั้น และมีการสั่งระงับการจดทะเบียนกรรมการใหม่ โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งที่ชื่อ ศักดิ์ สนองชาติ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา

สมบูรณ์ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นน้อยกว่า (43%) พยายามต่อสู้ด้วยการเล่นแง่ทางกฎหมาย แต่กลุ่มสุระที่ต่อสู้มาจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไหนหรือเขาจะยอมยุติเขาถือว่าผู้มีเสียงข้างมากเท่านั้นที่มีความถูกต้องชอบธรรมในการบริหารงาน

กลุ่มสุระที่ตกเป็นจำเลยยื่นคำร้องต่อศาล (20 ตุลาคม 2530) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวที่สั่งเมื่อ 15 ตุลาคม 2530

30 ตุลาคม 2530 ศาลนัดทั้งสองฝ่ายมารับฟังการพิจารณา ซึ่งผลออกมาว่าฝ่ายที่ถือหุ้นข้างมากเกินครึ่งแห่งจำนวนหุ้นมีสิทธิ์ที่จะประชุมต่อได้ ดังนั้นจึงมติตั้งหรือถอดถอนกรรมการของบริษัทได้ นั่นถือว่ากรรมการเก่าหมดสภาพไปฝ่ายสุระสามารถไปจดทะเบียนกรรมการใหม่ได้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเป็นคำสั่งของอธิบดีศาลคนใหม่ นายอัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง

ก็เป็นอันว่าสมบูรณ์ซึ่งหมายมั้นปั้นมือมากว่าจะชนะ เพราะดูแล้วสำนวนฟ้องของตัวเองได้เปรียบ เขาเชื่อว่าไม่ว่าให้นักกฎหมายที่ไหนดูก็จะเห็นว่าฝ่ายเขาเป็นต่อสมบูรณ์จึงมึนงงมากกับคำตัดสิน เขาอยากให้มันเป็นเพียงฝันร้าย ไม่ใช่ความจริงที่น่าหดหู่ขนาดนี้

สรร อักษรานุเคราะห์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าเขายอมแพ้แล้ว แต่สำหรับสมบูรณ์ซึ่งมีเลือดนักสุ้อยู่อย่างเต็มเปี่ยมยังไม่ยอมหลุดคำว่ายอมแพ้เด็ดขาด ก้าวต่อไปสุระต้องไปขอจดทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ บางทีเขาอาจจะยับยั้งในขั้นตอนนี้ได้

เนื่องจากคำสั่งศาลออกมาในวันศุกร์ฝ่ายสุระจึงยื่นขอจดทะเบียนไม่ทัน เช้าวันจันทร์ (2 พฤศจิกายน 2530) ถึงได้นำคำสั่งศาลและเอกสารสำคัญต่างๆ ไปยื่นจดทะเบียน

เช้าวันเดียวกันสมบูรณ์ได้เข้าพบนางสาวสุคนธ์ กาญจนาลัย อธิบดีกรมทะเบียนการค้า ขอให้ทบทวนการจะรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ และในตอนบ่ายสมบูรณ์ได้เข้าพบนายมนตรี พงษ์พานิช พร้อมกับ พงส์ สารสิน ร่วมคุยอยู่ด้วยเพื่อชี้แจงเหตุผลและข้อเท็จจริงกรณีธนาคารแหลมทอง และให้ข้อสังเกตที่ผ่านมาว่ากลุ่มสุระเข้าบริหารกิจการไหน กิจการนั้นมักมีปัญหาตามมามากมาย ซึ่งการให้นายสุระเข้าบริหารธนาคาร อาจทำให้ธนาคารมีปัญหาในอนาคตได้

แต่คำค้านของสมบูรณ์ไม่เป็นผลบ่ายวันที่ 3 กรมทะเบียนการค้ารับจดทะเบียนกรรมการใหม่เสียแล้ว!!!!

เหตุเกิดที่แบงก์แหลมทอง มีการอธิบายกันหลายแง่

"ปัญหายุ่งๆ ในครอบครัว" เป็นเหตุผลที่ถูกกล่าวขานมากที่สุด นับจากสมบูรณ์ขึ้นเป็นผู้นำตระกูลสืบแทนพี่ชาย ปัญหาระหองระแหงเริ่มเกิดขึ้น ทั้งที่เกิดจากสมบูรณ์และเกิดจากคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรั้วบ้านเดียวกันที่ชื่อบ้านไพศาล มีบ้านหลายหลังปลูกอยู่บริเวณเดียวกันนี้ ซึ่งอยู่ในซอยอโศก

สมบูรณ์เป็นคนที่ภาษาฝรั่งเรียก STRONG PERSONALITY เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากๆ หลายครั้งที่เขาไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่นๆ ออกจะเป็นคนดื้อรั้นและอารมณ์เสียง่าย บุคลิกภาพของเขาไม่ใช่ร่มโพธิ์ร่มไทรที่อบอุ่น? คือบทสรุปของคนที่รู้จักสมบูรณ์และครอบครัวนี้ดี

ปัญหาแรก เป็นการขัดกันอย่างรุนแรงระหว่างพี่น้องถึงขนาดตัดเป็นตัดตายกัน สมบูรณ์กับวุฒิเทพ (เดิมชื่อสมปอง) ซึ่งมีทั้งปัญหาส่วนตัว (เล่ากันว่ามีการทะเลอะกันเกิดขึ้นในบ้านไพศาล โดยเริ่มจากสุนัขเจ้ากรรมที่บ้านวุฒิเทพไปกัดคนใช้บ้านสมบูรณ์ ฝ่ายนั้นบอกให้น้องชายเอาภรรยามาขอโทษแต่น้องชายบอกทำไม่ได้) และปัยหาการบริหารงานที่บริษัทกรุงเทพอบพืชและไวโลซึ่งสมบูรณ์ในฐานะประธานบริษัทกล่าวหาว่าวุฒิเทพทำงานบกพร่อง จึงตั้งเงื่อนไขให้เขาเอาโฉนดที่ดินและหุ้นธนาคารมาค้ำประกัน ซึ่งวุฒิเทพถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมเขาลาออกพร้อมทั้งพาครอบครัวออกจากบ้านไพศาลไปสรางแฟลตให้ฝรั่งเช่าที่สุขุมวิท 16 บ้านของเขาที่ซอยอโศกปิดตายในช่วงแรต่อมาเปิดให้นักศึกาาจากมหาวิทยลัยศรีนครินทรวิโรฒเช่า

ปัญหาที่สอง เป็นเรื่องสะใภ้-สะใภ้ไม่กินเส้นกัน ราวกับเรื่องนิยายน้ำเน่าซึ่งมันเศราตรงที่มักพบเห็นบ่อยครั้งในชีวิตจริง เล็ก (ภรรยาไพศาล) กับคุณหญิงรัศมี (ภรรยาอภิวัฒน์) ตอนแรกก็สนิทกันดีอยู่ประเภทเช้าถึงเย็นถึง แต่มีอยู่วันหนึ่งที่เล็กนอนป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน คุณหญิงรัศมีดันแต่งชุดขาว-ดำไปเยี่ยม ซึ่งถูกต่อว่าต่อขานมากว่าทำไม่ถูกกาลเทศะ แต่เรื่องก็จบลงด้วยการขอโทษของคุณหญิงรัศมี แต่จุด CLIMAX จริงๆ ที่เล็กไม่พอใจคุณหญิงมากๆ ก็ตอนที่อภิวัฒน์เข้ามาทำงานแบงก์มารับผิดชอบฝ่ายต่างประเทสและเป็นกรรมการรองผู้จัดการซึ่งถือเป็นเบอร์ 2 ของแบงก์ขณะที่คุณหญิงรัศมีก็เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาซอยอโศก เล็กระแวงว่าทั้งคู่จะมาฮุบแบงก์แทนลูกชายตน ตอนหลังอภิวัฒน์จึงขอให้คุณหญิงรัศมีลาออกเสีย

รัมภา (ลูกสาวของ สรรเสริญ ไกรจิตติ อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภรรยาเหน่ง) ก็ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้กับคุณหญิงรัศมีนัก

เล็ก นันทาภิวัฒน์ ในวัยชรา หัวใจเธอแตกสลาย เล็กรู้สึกผิดหวังไปครั้งหนึ่งแล้วที่สามี-ไพศาลจากไปอย่างกระทันหันจึงฝากความหวังเต็มเปี่ยมไว้ที่ภิวัฒน์ลูกชาย แต่แล้วภิวัฒน์ก็มาด่วนจากไปอย่างไม่มีวันกลับเสียอีก เล็กเสียใจมากที่สุดนอกจากการสูญเสียลูกชายแล้วเธอยัง รู้สึกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง!? ว่ากันว่าหลังจากคลายความโศกเศร้าไปบ้างแล้ว อารมณ์ แห่งความเป็นหญิงของเธอพุ่งพล่านเป็นพิเศษ!?!

สุระ จันทร์ศรีชวาลา ซึ่งเป็นเพื่อนของภิวัฒน์ บุคลิกภาพทั่วไปเขาเป็นคนอ่อนน้อมอ่อนโยน หลายคนได้คุยกับเขาจะรู้สึกว่าเป็นคน NICE มากๆ สุระจับความรู้สึกอารมณ์อันอ่อนไหวของเล็กได้ เขาฉลาดพอที่จะกระโดดเข้ามาดูแลทุกข์สุขอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ (ประดุจลูกที่พึงปฏิบัติต่อมารดาบังเกิดเกล้า สุระเรียกเล็กว่า "คุณแม่" ทุกคำ) แบบที่สมบูรณ์และนันทาภิวัฒน์คนอื่นไม่เคยทำ

ความจริงหลังจากที่ภิวัฒน์เสียใหม่ๆ เล็กกับสมบูรณ์ยังมีความสัมพันธ์กันดีอยู่ เล็กยังขอร้องให้สมบูรณ์เป็นผู้จัดการมรดกให้ สมบูรณ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "เมื่อตอนแขกมาบอกว่าเหน่งเป็นหนี้ 18-19 ล้าน คุณเล็กยังบอกว่าไอ้แขกมันโกง"

แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับกลายเป็นว่า เล็กและสุระเริ่มมีความสัมพันธ์อันแบบแน่นยิ่งขึ้น จนเล็กกลายเป็นพันธมิตรกับสุระไปในที่สุด นับแต่นั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างเล็กกับสมบูรณ์จึงเจือจางหมางเมินจนสิ้นสุดกัน เมื่อวันที่เล็กกับสุระโค่นสมบูรณ์ได้สำเร็จ

"ญาติที่ทำกับญาติแบบนี้ เขาไม่เรียกว่าญาติแล้ว" สืบกุล น้องชายคนเล็กของสมบูรณ์พูดด้วยสีหน้าเครียด

สำหรับสุระนั้นเกมนี้เรียกว่ายิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว!?

ภิวัฒน์เพื่อนสนิทที่สุดสุระมักพูดเสมอว่ามีบุญคุณกับเขา เมื่อเพื่อนจากไปการมาเอาใจใส่กับแม่ของเพื่อน ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นคนกตัญญู แถมยังได้ปกป้องเล็กจากการที่อาจจะถูก นันทาภิวัฒน์รังแก เพราะเธอเป็นเพียงสะใภ้ "ผู้จัดการ" ถามสุระอย่างตรงไปตรงมาว่า "ไม่คิดว่าตัวเองอาศัยช่องว่างของการแตกร้าว แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวเองหรือ" สุระตอบทันทีอย่างไม่สะทกสะท้านว่า "ผมนะมันแพะรับบาป คุณเคยได้ยินเขาด่าพี่สะใภ้เขาไหม ด่าผมทั้งนั้น ทั้งที่ปัญหาครอบครัวเขาเอง เขา SETTLE ไม่ได้ ผมเห็นคุณเล็กเป็นผู้หญิงคนเดียว จะถูกรังแก ก็อยากช่วยเป็นคนกลางให้" และวันที่สุระแถลงข่าวในวันแรกที่ยึดแบงก์ได้ ก็ได้เอารูปภิวัฒนืตั้งบนโต๊ะแล้วพูดกับผู้สื่อข่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้าพลางชี้ไปที่รูปภิวัฒน์ว่านี่แหละคือ "เจ้าของแบงก์ตัวจริง" เรียกว่าเขาทำเพื่อแม่ของเพื่อน-เพื่อลูกของ ภิวัฒน์ที่จะเติบโตมาในอนาคต ก็เป็นวิธีอธิบายความชอบธรรมแบบ "แขกๆ"

สุระแบกหนี้ไว้มากมายมหาศาลกว่า 8,000 ล้านบาท แหลมทองสมัยที่ภิวัฒน์ยังอยู่สุระจะได้รับการช่วยเหลือสภาพคล่องอย่างค่อนข้างปรอดโปร่ง เมื่อสิ้นภิวัฒน์เสียแล้วการเงินการทองก็ไม่ค่อยเหมือนก่อน "ครั้งหนึ่งสุระต้องขอร้องคุณเล็กด้วยน้ำตาคลอเบ้าให้ช่วยพูดกับสมบูรณ์ให้ผ่านตั๋วที่แหลมทองอาวัลไว้แล้วครบกำหนดเรียกเก็บ ซึ่งตอนแรกสมบูรณ์ไม่ยอมผ่าน เพราะสมบูรณ์อ้างว่าสุระไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของธนาคาร" ในระยะหลังที่ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นหนักเข้าทุกที ทำให้สุระต้องการมีแบงก์เป็นของตัวเอง เพราะนอกจากจะได้เครดิตในฐานะนายแบงก์ แบงก์ยังมี FACILITIES อีกมากมายให้สุระใช้ประโยชน์ "เล็ก" กลายเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเธอมีหุ้นอยู่กว่า 10% หุ้นที่สมบูรณ์ให้ภิวัฒน์+หุ้นที่สมบูรณ์ใช้หนี้แทนภิวัฒน์ รวมกับที่สุระไปกว้านซื้อซึ่งทุกฝ่ายกำลังจับตาดูสุระว่าเขาจะใช้ประโยชน์แบงก์เพื่อธุรกิจอะไรบ้าง? และด้วยวิธีใด??

สุระได้ประโยชน์ในแง่กฎหมายกรรมการชุดสมบูรณ์ได้ยื่นฟ้องทั้งนายสุระและกุรดิษฐ์ ซึ่งเป็นคดีที่ทั้ง 2 เป็นหนี้แบงก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งเมื่อสุระและกุรดิษฐ์เปลี่ยนสถานภาพจากจำเลยมาเป็นโจทก์เสียเอง เขาอาจจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อถอนฟ้องก็เป็นได้!!

นกตัวสุดท้ายที่สุระยิงได้ในคราวนี้ก็คือหนี้แค้นที่สมบูรณ์สบประมาทและดูถูกเขาไว้มาก สมบูรณ์มักยกสุภาษิตโบราณที่ว่า "ถ้าเจอแขกพร้อมกับงู ต้องตีแขกก่อนตีงู" ซึ่งสุระเป็นประเภทความแค้นฝังลึกที่สุระทนทำศึกยืดเยื้อกับสมบูรณืมายาวนาน 5 ปี อาจจะเพราะสุระถือคติจีนว่า แก้แค้นสิบปีก็ไม่สาย ในที่สุดสุระก็ลบคำปรามาสได้สำเร็จ วันแรกที่เขาเดินเข้าแบงก์อย่างภาคภูมิใจในฐานะเจ้าของและผู้บริหาร เขาพูดอย่างกลั้นความปีติไว้ไม่อยู่ "วันนี้เป็นวันที่ผมดีใจที่สุด ดีใจจนพูดอะไรไม่ออก"

พื้นฐานของปัญหาที่ทำให้ "นันทาภิวัตน์" เสียแบงก์ไป จึงเป็นเรื่องของ "ป้อมค่ายทะลายจากภายใน" โดยแท้ ซึ่งในที่สุด "ตาอยู่" ก็คือคนชื่อสุระ จันทร์ศรีชวาล

4 พฤศจิกายน 2530 วันที่วิกฤติที่สุดของแบงก์แหลมทอง

เหตุการณ์ในวันนั้นนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความชุลมุนวุ่นวายให้เกิดขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนกับแบงก์ใดๆ

ปฏิบัติการอันดุเดือดในการเข้ายึดกุมอำนาจบริหารแบงก์ของสุระ การพยายามจะไขกุญแจเปิดห้องประชุมวันนั้นให้ได้ถึงขนาดต้องไปตามช่างทำกุญแจมาใช้กุญแจผี

เหตุการณ์วิวาท (ที่วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวอย่างครึกโครม) ที่ก่อโดยนายสุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ได้พานักข่าวโขยงใหญ่บุกเข้าไปในห้องนายสมบูรณ์ เพื่อบีบคั้นให้นายสมบูรณ์ส่งมอบ "ดวงตราธนาคาร" โดยอ้างว่าเกรงนายสมบูรณ์จะนำดวงตามาประทับย้อนหลัง ซึ่งสมบูรณ์ดูเหมือนจะช็อคกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดนี้ เขาโกรธจนตัวสั่นเทา ตอบโต้กลับว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลางาน (19.10 น.) และดวงตราอันเก่าก็ใช้อะไรไม่ได้แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้บางคนกล่าวอย่างหดหู่ว่าเป็นการ "ชนะแล้วกระทืบซ้ำ"

วันนั้นการฝากถอนเงินเป็นไปอย่างมากมายผิดปกติ แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวว่า "จำนวนเงินฝากที่ไหลออกจากแบงก์วันนั้นมีมากถึง 600 ล้านบาท มิใช่ 300-400 ล้านบาท อย่างที่เป็นข่าวในจำนวนดังกล่าวนี้ประกอบด้วยเงินฝากของฝ่ายสมบูรณ์และลูกค้าที่ใกล้ชิดประมาณ 300 ล้านบาท อีกส่วนเป็นโอดี ซึ่งกรรมการเดิมอนุมัติให้ลูกค้านำเงินออกเต็มวงเงินก่อนกำหนด ซึ่งลูกค้าพวกนี้จะนำเงินไปฝากแบงก์อื่น รวมทั้งการเรียกเงินคืนของแบงก์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินฟรังก์สวิสอีกประมาณ 300 ล้าน ดีที่ว่าเขารู้ก่อนแบงก์จะปิดทำการ 1 ชั่วโมง จึงรีบทำการกู้ยืมเงินระยะสั้นทันทีกับธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทย เมื่อหมดเวลาทำการยอดเงินฝากทั้งหมดอยู่ในสัดส่วนที่แบงก์ชาติกำหนด ทำให้แบงก์ชาติที่จ้องจะใช้ ม. 25 ของ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์เข้ายึดแบงก์ไม่ได้"

และที่ฝ่ายสุระหัวเสียเอามากๆ ก็คือหีบที่บรรจุพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งสามารถใช้แทนเงินสดสำรองได้บางส่วนไม่รู้ว่าล่องหนไปอยู่ที่ใด กว่าจะพบก็ดึกดื่นค่อนคืนนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่อธิบายว่าทำไมกรรมการใหม่บุกเข้ามาและใช้มาตรการรุนแรง เพราะรู้ว่าสมบูรณ์แม้หลังจะติดฝาแต่ก็ยังสู้ไม่ถอย เพราะวันที่ 4 นั้นสมบูรณ์ยังไปเป็นพยานให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งไปยื่นฟ้องกรรมการชุดใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่สมบูรณ์ฟ้องไปในวันที่ 15 ตุลาคม เพียงแต่คราวนี้สมบูรณ์ได้ฟ้องกรมทะเบียนการค้าเข้าไปด้วยเพราะถือว่ารับจดทะเบียนทั้งๆ ที่ตนได้ยื่นเอกสารท้วงติง แต่ปรากฏว่าศาลพิจารณาสำนวนฟ้องแล้ว เห็นว่าเป็นคดีเดียวกับที่เคยตัดสินไปแล้วจึงไม่รับฟ้อง สมบูรณ์จึงชอกช้ำอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งหมดคือความพยายามของสมบูรณ์ที่จะบีบคั้นให้ฝ่ายสุระไปไม่รอด เพราะเราต้องไม่ลืมว่าสมบูรณ์อยู่แบงก์นี้นานกว่า 30 ปี เขาย่อมรู้รายละเอียดและกลไกต่างๆ ของแบงก์ดี (ดีพอที่เขาอาจจะทำอะไรที่ฝ่ายสุระคิดไม่ถึง) สิ่งที่สมบูรณ์หวังมากที่สุดคือฝ่ายสุระถูกบีบออกจากแบงก์และแบงก์ชาติส่งคนเข้ามา มิเช่นนั้นสมบูรณ์ในวัยชราเห็นจะหาความสงบสุขได้ยากยิ่ง

กรรมการบริหารชุดใหม่เกิดปัญหาที่สำคัญสองปัญหาคือ LIQUIDTY และชื่อเสียงของกรรมการชุดใหม่ซึ่งหลายคนยังติดคดีความอยู่ กับกรรมการผู้จัดการซึ่งยังไม่มีใครยอมมาดำรงตำแหน่งนี้ จนกระทั่งวันที่ "ผู้จัดการ" เขียนต้นฉบับนี้ (25 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นเวลา 3 สัปดาห์ที่แหลมทองอยู่ในสภาพที่ไม่มีผู้จัดการใหญ่ มีเพียงกรรมการบางคนที่เข้ามาบริหาร เช่น ตามใจ ขำภโต, พลเอกสม ขัตติพันธ์ และที่แน่นอนที่สุดคือ สุระ จันทร์ศรีชวาลา

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในบรรดาพี่น้อง 8 คน เขาเคยสอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งก็เกือบจะเหมือนที่หนึ่งของประเทศไทยในสมัยนั้น

แต่บางครั้งคนเก่งหรือเรียนหนังสือเก่ง ก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้เสมอไปยิ่งคนเก่งที่มี อหังการ์ คิดว่าตัวเองเก่งคนเดียว ก็มักจะมีปัญหาการอยู่ร่วมหรือทำงานร่วมกับคนอื่น

ถ้ามองเฉพาะมุมที่สมบูรณ์ยืนอยู่ เขาเป็นผู้นำตระกูลในรุ่นปัจจุบัน (ว่ากันว่าอาจจะเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะพี่น้องต่างแยกย้ายกันไป บ้านไพศาลปัจจุบันเหลือเพียง สมบูรณ์-เถาวัลย์-สืบกุล) ถ้าหากเขาเป็นคนที่รักพี่รักน้อง และไม่เจ้าอารมณืเกินไปปัญหากับวุฒิทเพไม่รุนแรงขนาดอีกฝ่ายต้องอพยพครอบครัวออกไป "ผู้จัดการ" สัมภาษณ์ความรู้สึกของวุฒิเทพหลังจากที่สมบูรณ์แพ้ว่า "ก็อยากอวดดีจนเกินไปประเมินค่าคนอื่นต่ำไป แรงกับเขาก็ถูกแรงตอบบ้าง ของอย่างนี้มันตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก อยากชอบความรุนแรง ก็สมแล้วที่จะได้รับความรุนแรงตอบ…"

ปัญหาหลายอย่างที่ควรจะตกลงกันได้ (SETTLE) ในครอบครัว เช่นกรณีเล็ก ถ้าสมบูรณ์ปฏิบัติตนเป็นผู้นำที่เป็นที่พึ่งได้ และให้ตำแหน่งกรรมการธนาคารที่เล็กอยากได้เสียแต่แรก โอกาสที่เธอจะเห็นคนอื่นดีกว่าอาจจะเป็นไปได้น้อย

การประมาทคู่ต่อสู้เป็นประเด็นสำคัญที่สมบูรณ์พลาด ล่าสุดก็กรณี ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน มีความจำเป็นทางธุรกิจต้องการขายหุ้น ซึ่งตามสัญญาต้องขายให้สมบูรณ์ก่อนและห้ามขายให้สุระ สมบูรณ์กระหยิ่มใจว่าสุระมีปัญหาหนี้สินมหาศาล ซึ่งสมบูรณ์ได้เอกสารยืนยันจากทั้งกกรมทะเบียนการค้าและธนาคารแห่งประเทศไทย คิดว่าแม้แต่ดอกเบี้ยในแต่ละวันก็แทบไม่มีปัญญาจะจ่ายจึงไม่ยอมซื้อหุ้นและไม่ได้หาคนมาซื้อหุ้นที่เป็นพวกเดียวกัน ในที่สุดจึงหลุดมือไปอยู่กับสุระ ตรงนี้สมบูรณ์คิดว่าสุระมีหนี้เยอะแล้วทำอะไรไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามแบงก์ต่างๆ ที่สุระเป็นหนี้อาจจะลุ้นช่วยสุระให้เข้าแบงก์ได้ด้วยซ้ำ เพาะหมายถึงโอกาสที่แบงก์จะได้หนี้คืนจะมากตามไปด้วย แบงก์ที่ช่วยสุระมากก็คือสหธนาคารโดย เศรณี เพ็ญชาติ ที่ช่วยวางแผนมาตลอด

การทำงานแบบข้ามาคนเดียวของสมบูรณ์แทนที่จะรวมพลังคนหนุ่มที่ไฟแรงที่อยู่พัฒนาแบงกืไปข้างหน้า (ในช่วง 2 ปีหลังแบงกขาดทุนติดต่อกัน-ดูงบดุล) อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ เป็นกรรมการรองผู้จัดการเขาควรจะเป็นกำลังสำคัญ แต่สมบูรณ์กลับ TREAT อภิวัฒน์ไม่ดี และไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นนัก "ในการประชุม เมื่ออภิวัฒน์แสดงความเห็นต่างๆ สมบูรณ์มักจะดุแบบดุเด็ก มักจะบอกว่าความคิดไม่ได้เรื่อง หนักเข้าชักจะทำให้อภิวัฒน์ไม่เป็นตัวของตัวเอง" กรรมการท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง เคยมีคนเสนอให้แบงก์มีส่วนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีของแบงก์ แต่สมบูรเห็นว่าไม่จำเป็น ดังนั้นจะเห็นว่าแหลมทองเป็นแบงก์เดียวใน 16 แบงก์ที่ไม่มีประชาสัมพันธ์

"นอกจากนี้เหตุการณ์ที่แสดงว่าสมบูรณ์เป็นคนเผด็จการ คือ การลาออกของพลตำรวจตรีต่อศักดิ์ ยมนาค ประธานกรรมการที่ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนับว่าเป็นคนแรกที่ลาออกจากตำแหน่งในขณะที่ทุกคนก่อนหน้านี้ออกจากตำแหน่งเมื่อสิ้นชีวิต "คุณต่อศักดิ์แกไม่ชอบเป็นประธานแบงก์เฉยๆ อยากมีอำนาจบ้าง ก็เลยสวนทางกับคุณสมบูรณ์ที่ถือต้นว่าเป็นผู้มีอำนาจ เลยขัดกัน" คนเก่าแก่แบงก์เล่าให้ฟัง

และด้วยความแกร่งกร้าวเจ้าอารมณ์นี้เอง ทำให้ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ทำงานร่วมกับคนอื่นลำบาก เพราะถ้าเป็นเรื่องที่สมบูรณ์ไม่เห็นด้วยแล้ว ต่อให้พูดจนน้ำลายแห้งปากสมบูรณ์ก็ไม่ฟัง และด้วยเหตุนี้ทำให้ พยัพ ศรีกาญจนา ประธานแบงก์คนต่อมา (ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแบงก์แหลมทองด้วยคนหนึ่ง) เกิดความเบื่อหน่าย ขายหุ้นในส่วนของตนล็อตใหญ่ให้กับฝ่ายของสุระเมื่อต้นปี 2528

"คุณพยัพไม่เพียงแต่ขายหุ้นของตัวเองเท่านั้น ยังไปเกลี้ยกล่อม คณิต ยงสกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งขายหุ้นให้กับกลุ่มสุระด้วย คือหุ้นแหลมทองตอนนั้นขายให้กับบุคคลภายนอกแค่ 250 บาทต่อหุ้น แต่ฝ่ายสุระให้ราคาถึงหุ้นละ 1,050 บาท คุณคณิตจึงตกลงขายให้ ก็เกือบที่จะ เทคโอเวอร์ สำหรับได้เผอิญยังขาดอยู่อีกนิดหน่อยจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ฝ่ายสุระก็ไปติดต่อคุณวรวิทย์ สุธีรชัย เจ้าของธีรชัยทรัสต์ ทางคุณวรวิทยืก็เกี่ยงขอดูหลักฐานการโอนหุ้นของคุณพยัพว่าโอนจริงหรือเปล่า พอวรวิทย์เห็นก็ยอมเปลี่ยนใจไม่ยอมขายแต่ไปบอกเรื่องราวกับคุณสมบูรณ์ คุณสมบูรณ์ก็เลยประกาศเพิ่มทุนทันที ซึ่งทำให้คุณสุระตั้งตัวไม่ติด" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีเล่าให้ฟัง

สมบูรณ์เป็นคนหนึ่งที่เจ้าคิดเจ้าแค้น ผู้ตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจะพบว่าวิธีการต่อสู้ของสมบูรณ์เป็นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันทุกขั้นตอน

"ท่านเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยจะอยู่ โดยเฉพาะเวลาที่คุณสุระออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้กับธนาคาร ท่านจะต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้ทันที ถ้าท่านจะทำใครอย่าห้ามเสียให้ยาก" พนักงานระดับสูงคนหนึ่งของธนาคารแหลมทองกล่าว

ถึงที่สุดถ้าแกจะต้องออกจากแบงก์จริงๆ ก็อย่าให้สุระซึ่งสมบูรณ์เรียก "ไอ้แขก" ได้อะไรเลย

หลังจากที่รู้ว่า ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานขายหุ้นให้สุระไม่นาน สมบูรณ์เห็นจะยันสุระไม่อยู่ "สมบูรณ์ พร้อมด้วย สรร อักษรานุเคราะห์ และ ไพจิตร โรจนวานิช เข้าพบกำจร สถิรกุล, ไพศาล กุมาย์วิสัย และ เอกกมล คีรีวัฒน์ ไปขอความช่วยเหลือบอกว่าช่วยตัวเองมามากแล้วแบงก์ชาติช่วยบ้างซิ ผู้ว่ากำจรบอก คุณทำบ้านให้สะอาด แมลงสาบมันก็จะไม่เข้า สมบูรณ์บอกพร้อมจะลาออกจากแบงก์ แต่ทางการต้องตั้งคนกลางเข้าไปขออย่างเดียวอย่าให้สุระเข้าไป แต่พอสมบูรณ์เอาเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการแล้วเข้าพบผู้ว่าอีกครั้ง ท่านกลับพูดว่าดีแล้ว…จะได้ร่วมกันบริหารงานกับสุระ กรรมการเขาก็ต่อว่าสมบูรณ์กับสรรกันใหญ่ ทำให้เห็นว่า POLICY ที่ไม่แน่นอนของแบงก์ชาติพึ่งไม่ได้" แหล่งข่าวคนหนึ่งที่กลายเป็นอดีตกรรมการเล่า

ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นการมองจุดอ่อนและความผิดพลาดในส่วนของสมบูรณ์ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่อธิบายปรากฏการณ์ซึ่งในที่สุดมันก็กลายเป็น CORPERATE TAKE OVER GAME ที่สำเร็จเป็นแบงก์แรกของไทย

สมบูรณ์นั้นผูกพันธ์กับแบงก์มากๆ เขาอยู่ที่นี่มานานจนเกือบจะเป็นบ้าน คุณประโยชน์ที่เขาก่อไว้ให้แบงก์ไม่ใช่น้อย ความจริงเขาบริหารแบงก์มากำไรตลอด เพิ่งมาขาดทุนสองปีหลัง ซึ่งนอกจากจะเป้นเพราะว่าเศรษฐกิจโดยรวมแย่แล้วก็เพราะมัวเสียเวลาทะเลอะกับสุรีย์ด้วยหลายปีมานี้เขาขึ้นศาลนับไม่ถ้วน หลังสุระเข้าบริหารงานเขาบอกตัวเองแม้ไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการ แต่ก็ยังเป็นพนักงานอยู่ ถ้าจะไล่เขาออกก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เขา!

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เขาคือแบงเกอร์มืออาชีพ เพราะจากอาชีพนายแบงก์แล้ว แกไม่มีธุรกิจส่วนตัวเลย "ผมพูดอย่างภูมิใจที่เป็นนายธนาคารมืออาชีพ ไม่มีกิจการของตนเองตั้งแต่ต้น ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์0โดยมิชอบ คุณจะเห็นว่าที่ดินบ้านช่องผมมีมาก่อนตั้งแบงก์ ผมก็มีอยู่เท่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น" นี่กระมังคือสิ่งที่เขาเหลืออยู่

เขาเพียงถือหุ้นบางกิจการซึ่งถือหุ้นเล็กน้อยและธนาคารแหลมทองก้มักจะมีหุ้นอยู่ด้วย บางกิจการแม้ว่าเขาจะมีหุ้นไม่มากแต่ก็ได้รับความไว้วาใจให้ดำรงตำแหน่งกรรมการล่าวคือ ประธานกรรมการบริษัทฟอร์โมสต์ฟรีแลนด์ ประธานกรรมการบริษัทจีเอสสตีล ประธานกรรมการบริษัทฟีนิคพัลพ์แอนด์เพเพอร์ รองประธานกรรมการแผ่นเหล็กวิลาสไทย และกรรมการบริษัทดุสิตธานี

กิจการบางอย่างที่ดำรงตำแหน่งเพราะแบงก์ถือหุ้น ฝ่ายสุระมีสิทธิ์ตามล้างตามเช็ดเอาตำแหน่งมาก็เป็นได้!!

อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ เป็นคนแรกที่ลาออกทันทีหลังจากที่รู้ว่าสุระเข้าแน่ ยังดีที่เขายังมีกิจการส่วนตัว คือบริษัทเอกวิทย์ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับประกันต่อ (REINSURANCE) ซึ่งอภิวัฒน์เป็นประธานกรรมการและคุณหญิงรัศมีเป็นกรรมการผู้จัดการ อภิวัฒน์บอกกับ "ผู้จัดการ" "ก็ดีเรื่องจะไดจบเสียที เสียดายแต่เพียงทำงานมากว่า 10 ปี แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเต็มที่นัก"

สืบกุล นันทาภิวัฒน์ เป็นผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ และ เถาวัลย์ นันทาภิวัฒน์เป็นผู้จัดการสำนักกรรมการจัดการ ทั้งสองคนยังยืนยันว่าเป็นพนักงานแบงก์ต่อไป แม้ว่าหลังจากสุระเข้ามาไม่กี่วัน พวกเขาและผู้จัดการบางฝ่ายถูกย้ายให้ไปรวมกันอยู่ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องว่างที่ไม่มีใครโทรศัพท์ติดต่อไม่มอบหมายงานให้ทำ และว่ากันว่าแม้แต่ที่จอดรถก็ไม่ยอมให้ใช้เหมือนเดิม ทั้งสองคนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเขาไล่ออกก็จะรับเงินชดเชยตามสิทธิ์

นันทาภิวัฒน์ทุกคน นอกจากอภิวัฒน์ที่มีกิจการส่วนตัวบ้าง คนอื่นๆ มีหุ้นกระจายไปหลายบริษัทแต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก แต่เขาทุกคนก็บอกว่าเขาไม่เดือดร้อนอะไร

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ จบบทบาทตัวเองในแบงก์ลงแล้ว โอกาสที่จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเดิมคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่สุระซึ่งเพิ่งเริ่มต้นจะเข้าบริหารแบงก์จะอยู่ได้นานเพียงใด และสามารถเคลียร์ปัญหาหนี้สินจำนวนมหาศาลได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสุระมีสายป่านยาวขนาดไหน และมีความสารถเพียงใด บทพิสูจน์ยังท้าทายนัก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us