|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บทสนทนา
- อยากให้ขยายความเรื่องธุรกิจการเงิน เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ลาวเพิ่งอนุมัติให้แบงก์ต่างชาติเข้ามา ANZ ก็เพิ่งเข้ามาเปิดสาขา แบงก์เขมรก็เข้ามา แต่แบงก์ไทยนิ่งมา 5 แห่งนานแล้ว มันเป็นเพราะกฎหมาย หรือเพราะอะไร
ผมเคยถามนายธนาคาร เขาบอกว่ามันต้องใช้เงินสำรองอะไรต่างๆ แต่ผมคิดว่าอันที่จริงนั้น มันอยู่ที่ความพยายามของเรา ลาวนั้นบางครั้งแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่มีประสบการณ์ เราต้องไปคุยกับเขาบ่อยๆ ว่าอะไรเป็นปัญหาและอุปสรรควันนี้มันไม่ได้ขายแต่เรื่องสินค้า ต้องขายความคิดให้เขาทราบด้วย
ยกตัวอย่างเช่นถนนสาย 9 ตอนที่สะพานเสร็จ สะพานนั้นผมพูดว่าเป็นฮาร์ดแวร์ แต่ซอฟต์แวร์มันไม่ได้วางกันไว้ เช่นเรื่องของรถ จะพวงมาลัยซ้ายหรือขวา น้ำหนักบรรทุกจะ 21-24 หรือ 27 ตัน หรือเรื่องการทำประกันภัยอย่างนี้ ผมต้องไปคุยกับผู้ใหญ่ทางลาวว่าขอคุยเรื่องนี้ได้ไหม มาลงเอ็มโอยูกัน 3 ประเทศ
ตอนแรกเขาก็ยังไม่เปิด เพราะเขามองว่าถนนของเขามีแต่ซ่อมอย่างเดียว ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ เราต้องมานั่งคุยว่าการที่จะได้ประโยชน์ หรือไม่ได้ประโยชน์ มันขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งระหว่างกัน อันไหนที่ลาวไม่มี ก็อาจจะดึงนักลงทุนมาลงทุน แล้วทำอย่างไรให้คนพักที่สะหวันนะเขตมากขึ้น ท่านก็เข้าใจก็เปิดประชุมปลดล็อกพวกนี้
ในเรื่องของธนาคารก็เหมือนกัน ผมเองไม่ได้สันทัดเรื่องธนาคาร แต่ผมคิดว่านายแบงก์ก็ต้องคุยกับผู้ว่าการแบงก์ชาติของเขาบ่อยๆ ว่าตรงนี้มันเป็นปัญหา ท่านได้ประโยชน์อะไร เราได้ประโยชน์อะไร แล้วอีกอย่างหนึ่ง แบงก์ชาติไทยสมัยหม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ท่านก็มาช่วยลาวไว้มาก จริงๆ ถ้าเราคุยให้ถึงผู้ใหญ่ของเขา เขาอาจจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ แล้วก็เปลี่ยน
อันนี้คือที่ผมบอกว่าขายความคิด เพราะฉะนั้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องเอาคนที่เป็นนักพัฒนาเข้ามา ต้องมีความอดทนสูง แล้วก็ต้องมองสิ่งเหล่านี้ว่าจะใช้เวลาอย่างไร แล้วก็คุย แล้วก็ต้องมองในแง่บวก ถ้ามองในแง่ลบ ก็แน่นอนว่าจะต้องมีปัญหาทุกที่ แต่เราต้องถามว่าทำไมประเทศอื่นมาลงทุนได้ ต้องถามย้อนกลับไปว่าทำไมเขากล้าลงทุน แล้วทำไมเรามาอยู่ก่อน เราถึงติดขัดอย่างนั้น อย่างนี้
ผมเป็นคนแบบที่คิดว่าทุกอย่างนั้นมนุษย์คุยกันได้บนโต๊ะ แล้ววันนี้ในเรื่องของการเจรจา การคุยบนโต๊ะนั้นสำคัญ เพราะถ้าเราคุยได้ก่อน เราปลดล็อกได้ก่อน ถ้าเราคุยช้า เพื่อนก็เอาไป เพราะฉะนั้นแบงก์ก็ต้องคุยบ่อยๆ
อีกอย่างหนึ่ง วันนี้ผมเห็นว่านักธุรกิจไทยนั้นเก่ง แต่ว่าคนเราสมองดีอย่างไร แต่ถ้าไม่มีทุน มันก็ทำยาก มันก็ขึ้นอยู่กับแบงก์ แม้แต่พวกประกันภัยต่างๆ แล้ว กฎหมายพวกนี้ก็ออกมา 2 ปีแล้ว เราอยู่ใกล้ที่สุด แล้วทำไมไม่ทำ
- อย่างประกันภัยนี่ เห็นวิริยะประกันภัยมาขึ้นป้ายโฆษณาอยู่ในเวียงจันทน์แล้ว
แต่ว่ายังเป็นลักษณะให้สาขาข้ามมาทำ ไม่ได้มาจดทะเบียนเป็นการลงทุน เพราะที่ผมดูนั้น ยังไม่มีของไทย จะมีอยู่รายหนึ่ง ตั้งชื่อว่าอินทรีย์ประกันภัย รู้แต่ว่ามีคนไทยร่วมอยู่ด้วย แต่ว่าลึกๆ ไม่รู้ว่าเป็นของประเทศไหนร่วมหุ้นอยู่ในนั้น
การลงทุนของของบริษัทประกันภัยไทยโดยตรงยังไม่มี เป็นสาขาข้ามมาทำตลาด ลักษณะนี้จะทำธุรกิจจริงๆ ไม่ได้ ได้แต่โฆษณาอย่างเดียว แต่ที่ผมต้องการคือให้ข้ามมาลงทุนเลย
แต่ธุรกิจไทยนั้นเวลามาก็อยากได้รีเทิร์นเร็ว ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ อาจจะยังไม่ได้รีเทิร์นเร็ว แต่เราต้องมองถึงโอกาส บางอย่างต้องรักษาแบรนด์เอาไว้ อย่างปูนซีเมนต์ เขาก็ไม่ได้หวังว่าตรงนี้จะกำไรมาก แต่ว่าต้องมีแบรนด์ของเขาติดไว้อยู่ ซึ่งคนไทยต้องคิดถึงสิ่งเหล่านี้
- เมื่อสักครู่ท่านพูดถึงเรื่องข้อตกลงการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งเข้าใจว่ายังตกลงกันได้ไม่ชัดเจน
เรื่องของการขนส่งที่ให้โควตากันประเทศละ 500 คันก็ว่ากันไป แต่ที่ผมพูดนี้ เป็นในเรื่องของรถ แล้วก็คนขับรถที่มีพาสปอร์ต มีบัตรผ่านแดน แล้วก็รถที่มีการทำประกัน ว่าจะเข้าไปได้ถึงไหน อย่างไร
คือที่เราได้ลงนามเอ็มโอยูในสาย 9 ไปเมื่อปลายปี 2550 ก็คือรัฐมนตรีพาณิชย์ลาว รัฐมนตรีพาณิชย์ของเวียดนาม แล้วก็ไทย มาลงเอ็มโอยู ตรงนั้นก็คือล็อกใหญ่ที่ต้องปลด ออกไปก่อน ถ้าไม่คุยตรงนี้ ก็ไม่สามารถใช้สะพานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็ไม่เกิดประโยชน์
แล้วการมีสะพานก็เพื่อที่จะให้การค้านั้นลื่นไหล แล้วให้ใช้เวลาในการขนส่งที่สั้นและเร็ว สมมุติว่าจากไทยไปถึงเวียดนาม แทนที่จะใช้เวลา 3 วัน ก็เหลือวันเดียว ด่านต่างๆต้องมีระยะการเปิดที่ชัดเจน ไม่ต้องไปนอนพักค้าง
ที่นี้ ตรงนี้ก็ได้คุยกันแล้วในสาย 9 แต่แน่นอน กระทรวงพาณิชย์จัดกรอบใหญ่ให้คุยแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปสานต่อ ต้องไปดูเรื่องปลีกย่อย ต้องประชุม และติดตามกันว่าเป็นอย่างไร เพราะแต่เดิมแค่ 2 ประเทศ อย่างสะพานที่ 1 หนองคายกับเวียงจันทน์ ยังต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ถึงจะลื่นไหล แต่ว่าวันนี้เรามีตัวอย่างแล้ว 3 ประเทศอาจจะนานหน่อย เพราะเป็น 3 ประเทศ แต่ก็มีบทเรียนแล้ว แล้วเดี๋ยวพอไปสาย R3a ผมไปบรรยายที่เชียงรายวันก่อนก็บอกให้เตรียมไว้ก่อนเลย ไม่ใช่ว่ารอจนสะพานเสร็จ แต่เรื่องอย่างนี้ต้องคุยกันนาน แล้วไม่ใช่แค่สาขาเดียวที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องไปนั่งคุยกันบ่อยๆ
คนมักจะภูมิใจเมื่อเห็นสะพานเสร็จ แล้วเวลาคนไทยคิด ผมไม่อยากให้คนไทยคิดแบบว่าวันนี้กระแสของการสร้างศูนย์กระจายสินค้าตามจังหวัดที่ติดกับลาว เราก็อยากจะสร้างศูนย์กระจายสินค้ากันทั้งหมด เราก็ต้องนึกถึงเพื่อนบ้านบ้างว่าถ้าเราเอาทุกอย่างแล้ว เขาจะได้อะไร
ไม่เหมือนกับจีนกับเวียดนาม เวลาเขามาลงทุนในลาว เขาจะย้ายเข้ามาเลย แต่ของเรานั้น เราจะลงทุนในเขตของเรา ที่จ่อกันอยู่ตลอด สะหวันนะเขตจะมีอะไร มุกดาหารก็จะมีอย่างนั้นตลอด เราจะไปแข่งกับเขาอย่างนี้ มันทำให้เพื่อนบ้านระแวง สมมุติว่าที่บ่อแก้วจะมีอะไร เชียงของก็จะสร้างทางฝั่งเรา ประกบกันอยู่อย่างนี้ มันก็ทำให้ระแวง
จริงๆ วันนี้ ถ้าคนไทยคิดให้ดี ออกไปทำนอกบ้านยังดีกว่า ต้นทุนก็ต่ำกว่า แต่นักธุรกิจไทยบริเวณชายแดน ส่วนใหญ่ มักจะคิดแต่จะทำให้ที่ดินตัวเองแพง ไปมองแต่ผลประโยชน์แค่ตรงนั้น เป็นผลประโยชน์เฉพาะหน้า อันนี้ผมเสียดายโอกาส ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาต้องออกไปลงทุนเลย
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างจีน บทที่เขาจะลงมา เขาลงมาเลย แล้วเขาได้เพื่อนนะ ลาวก็ภูมิใจ แล้วเขาก็ต้องมาสร้างประโยชน์ให้ เพราะธุรกิจเขาอยู่ในนั้น แต่ของเรานั้นจะสร้างจ่อ แข่งกันอยู่ตลอด เป็นคู่แข่ง คือมองเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง ไม่ใช่มองเพื่อนบ้านเป็นพาร์ตเนอร์ ไม่ได้มองเพื่อนบ้านเป็นเครือข่าย ถ้าเมื่อใดที่เรามองเพื่อนบ้านเป็นเครือข่าย เป็นพวก เราก็ต้องเข้ามาช่วย มันมองคนละอย่าง
อย่างเวียดนามก็เหมือนกัน เขาเป็นสังคมนิยม เวลาเขาจะมาทำโครงการพวกไฟฟ้า เขามาที่เซคำหมาน เขาไปที่ลำบาก ที่ยากจน เพราะเขาเป็นรัฐมาลงทุน เขาไปที่ยากจน แต่ของเราถ้านักธุรกิจมาลงทุน ก็จะมาจุดที่มันรีเทิร์นเร็ว คือจุดที่มันให้ผลตอบแทนดี ก็คือที่เจริญ เพราะฉะนั้นการซื้อใจ กินใจตรงนี้ต่างกัน
ธุรกิจเวียดนามเข้ามา คนลาวจะดีใจว่าไปช่วยชนบท แต่ธุรกิจไทยเข้ามา คือมาเอาที่ดีๆ ของเขาออกไป มันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มันคนละระบบ มันมองกันคนละส่วน ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางทีเราต้องมองให้ลึก
อีกอย่างหนึ่ง ธุรกิจของไทยบางอย่างที่เราจะผ่องถ่ายออกไป คือมันหมดยุคของมัน บางครั้งก็มาทำในเพื่อนบ้านได้ อย่าง รสพ. องค์การคลังสินค้า อตก. ความจริงก่อนที่เราจะยกเลิกพวกนี้ เราเอารูปแบบนี้มาช่วยเหลือเพื่อนบ้านก่อนก็ได้ เพราะว่ามันยังใช้ได้ในประเทศเขา
อย่างหน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ที่ทำถนนรุ่นก่อนๆ รูปแบบนี้ ถ้ามาใช้ในลาวจะช่วยเขาได้โดยตรงเลย ย้ายเข้ามา เพราะที่นี่เขาต้องการ แต่ว่าบ้านเรามันหมดยุคไปแล้ว ถนนมันดีหมดแล้ว
คือบางครั้งเราไม่ได้มองส่วนนี้ คือเราไม่ได้เข้าใจเพื่อนบ้านลึกๆ แม้ภาษาจะเหมือนกันก็จริง แต่บางเรื่องนั้น เราไม่ได้เข้าใจเขา
- ที่ถามเพราะเห็นว่าตอนนี้สะพานก็เปิดมาแล้ว 2 แห่ง แล้วแห่งที่ 3 กับ 4 ก็กำลังจะสร้าง แต่โมเดลต่างกันเลย วิธีการบริหารจัดการต่างกันเลย ทำไมเราไม่ยึดโมเดลอย่างหนองคายเป็นต้นแบบ แล้วมานั่งคุยกันให้ชัดเจนในเรื่องพวกนี้ หรือแม้อย่างหนองคาย ก็ไม่แน่ใจว่าเวลาเราข้ามมา พวงมาลัยขวาเราขับไปได้ถึงไหน สินค้าเราจะไปได้ถึงไหน
อย่างที่หนองคายนี่ เวลารถเราข้ามมาในเวียงจันทน์ ดูเหมือนจะเข้ามาได้ประมาณ 100 กิโลเมตร ไปได้ถึงแขวงเวียงจันทน์ ถ้าผมจำไม่ผิด วันนี้ยังมีรถคอนเทนเนอร์เข้ามารับของพวกการ์เมนต์ที่คนไทยเข้ามาทำที่นี่ ส่งกลับไปถึงแหลมฉบัง อย่างนั้นได้ แต่ว่าพวกทัวร์นี่ อยากจะข้ามไปถึงข้างในของเขา ไปถึงหลวงพระบาง อย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าเราเองก็ไม่ได้เปิดให้เขา เราให้เขาเข้าไปได้แค่อุดรฯ คือเงื่อนไขพวกนี้ เราต้องมานั่งคุยกัน แล้วก็ดูว่าจะเพิ่มกันอย่างไร
แล้วบางจุดเราต้องเข้าใจเขา อย่างนักธุรกิจไทยทางเหนือ พวกทัวร์ก็อยากจะเข้าไปถึงชายแดนจีนเลย เราต้องเข้าใจด้วยว่าถนนของเขามันยังไม่เหมาะกับทัวร์ใหญ่ๆ ของเรา ไปแล้วก็ยังทำให้ถนนหนทางของเขาพังเร็ว แล้วเขาไม่มีงบประมาณที่จะซ่อมพวกนี้ อันนี้เราต้องเข้าใจเขา บางครั้งเราต้องให้เขาผ่อนมากกว่านิดหน่อย เราต้องยอมรับสภาพ แล้วคิดถึงความรู้สึกของเขาว่าจะคิดอย่างไรด้วย
วันนี้เราจะทำอะไรต้องมองถึงใจเขา แล้วต้องมองถึงเพื่อนบ้านอื่นของเขาที่ให้กับเขาด้วย คือจีนกับเวียดนาม ว่าเขาให้ลาวอย่างไร เราต้องมองเปรียบเทียบด้วย
คือของเรามันเป็นระบบทุนนิยม เอกชนทำกันเอง ไม่มีรัฐที่ลงไปดูแลลึกๆ แต่ว่าจีน หรือเวียดนามนี่ เขามีรัฐบาลของเขาดูแลเรื่องพวกนี้ มันก็เลยต่างกัน
แล้วคนไทยเวลาเข้ามาในลาว บางครั้งก็มากันมาก แล้วก็มาสร้างความคาดหวังให้เขาสูง แต่พอภาคปฏิบัติมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็ทำให้ลาวเขาก็คิด คือมากันบ่อย แต่ยังไม่ได้อะไรก็เป็นอย่างนี้
- ที่เคยได้ยินมา เหมือนมาตีหัวเข้าบ้าน
คือคนไทยนี่ ตอนผมมาใหม่ๆ บางคนบอกจะมาสร้างโรงงานรองเท้า อยากจะได้นักศึกษาลาวที่เพิ่งจบ แล้วคนที่มาก็เป็นแค่เบอร์ 2 ในบริษัท มาแล้วก็คุยทุกอย่าง ก็อยากจะได้ แต่พอกลับไปเมืองไทย ความที่ไม่ใช่เบอร์ 1 พอเบอร์ 1
ไม่เอาด้วย ไม่ลงทุนด้วย สิ่งที่มาคุยมันก็จบ แต่เรามาคุยมาสร้างความหวังให้เขาแล้ว
หรือบางคนพอมาหาผม บอกอยากจะพบผู้นำบ้าง พบรัฐมนตรีบ้าง พอพาไปพบก็ถ่ายภาพเอาไว้ แล้วกลับไปบอกเบอร์ 1 ว่าตัวเองมีพาวเวอร์ แต่จริงๆ พอเบอร์ 1 ไม่ตัดสินใจ มันก็ไม่ใช่
ผมนี่ ตอนหลังต้องระมัดระวัง ต้องดูก่อนว่าคนที่มาพบ ตัดสินใจได้ด้วยตัวเองไหม ถ้าตัดสินใจไม่ได้ อย่าเพิ่งให้พบผู้ใหญ่ เพราะมาถึงก็จะพบผู้ใหญ่ แต่เบอร์ 2 มาพบ ผู้ใหญ่ของลาวระดับรองนายกรัฐมนตรี แล้วถ่ายภาพ พวกนี้ไปคุยในเมืองไทยเพื่อสร้างศักยภาพของตัวเอง สร้างภาพตัวเอง ซึ่งมันไม่ดีอะไร
วันนี้จะลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องตรงไปตรงมา ต้องจริงใจในการพูดคุย แล้วผมเชื่อว่าคนลาวนั้นถ้าเราพูดคุยจริงใจ ก็ไปกันได้ แต่เขาโดนบ่อยกว่าเรา ก็เลยต้องระมัดระวัง จริงไหม มันก็เป็นธรรมดา ธรรมชาติ
คือในประเทศนี้เรายิ่งต้องเคารพเขามากขึ้น ยิ่งเราเคารพเขามากเท่าไร มันก็ยิ่งดีต่อเราเท่านั้น
|
|
|
|
|