Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2552
ทองคำเปลว...เปลวทองแห่งศรัทธา             
 

   
related stories

Future of Gold
Gold Futures Zero-sum game
เยาวราช ถนนสายทองคำ ยุคสมัยเปลี่ยน การค้าเปลี่ยน
ช่างทอง ลมหายใจ...ทองไทย
ทองสุโขทัย ตำนานยังต้องรอสืบสาน
ยกระดับสู่สินค้าไฮแบรนด์

   
www resources

โฮมเพจ โรงงานทองคำเปลว แอนบ้านทอง

   
search resources

Jewelry and Gold
แอนบ้านทอง




ราคาทองคำที่สูงขึ้นและการเข้ามาของ Gold Futures อาจกระทบกับผลิตภัณฑ์ทองคำหลากหลายประเภท แต่สำหรับ "ทองคำเปลว" สินค้าหัตถกรรมที่ไม่ได้มีเพียงมูลค่าแห่งทอง แต่ยังมีคุณูปการต่องานศิลปะไทยหลากแขนง ทั้งยังมีคุณค่าทางจิตใจและธำรงไว้ซึ่งศรัทธาตามวิถีของคนไทย ทองคำแผ่นบางเฉียบนี้จึงยากที่จะปลิวหายไปจากสังคมไทย

กลุ่มควันธูปค่อยจางลงจนเห็นองค์พระประธานสีเหลืองทองขนาดใหญ่ พระพักตร์ อมยิ้มแต่ก็ดูสงบนิ่งจนผู้คนที่มาสักการะสามารถซึมซับรัศมีแห่งความสงบนั้นเข้าสู่จิตใจที่ว้าวุ่น หลังจากกราบเบญจางคประดิษฐ์ครบ 3 ครั้ง เธอเดินถือกระดาษแผ่นเล็กไปยังพระพุทธรูปองค์เล็กเบื้องหน้า บรรจงใช้นิ้วกดแผ่นทองคำที่บางราวกับจะละลายหายไปกับนิ้วแปะบนองค์พระก่อนจะนำเอาเศษทองที่ปลายนิ้วมาถูที่หน้าผากของตัวเอง

ทองคำเปลวที่มีขนาดใหญ่กว่าปลายนิ้วเพียงเล็กน้อย หรือที่เรียกกันว่า "ทองจิ้ม" มักเห็นกันได้ทั่วไปตามวัดวาอาราม โดยเฉพาะวัดที่มีผู้คนเคารพศรัทธามาก ดูเหมือนทองจิ้มก็กลายเป็นของกราบไหว้เคียงคู่กับดอกไม้ธูปเทียนทุกครั้ง นอกจากดอกไม้ที่นำกลับมาเวียนใช้ใหม่ได้ ธูปเทียนและทองจิ้มที่มีราว 5-6 แผ่นคือ ของที่ใช้แล้วหมดไปในชุดบูชา แต่ละชุดสนนราคา 20 บาท

ภายใต้ความผันผวนของราคาทองคำ ณ ปัจจุบัน "ทองจิ้ม" หรือทองคำเปลวขนาด 1.5x1.5 ซม.ที่ออกจากโรงงานอาจมีราคาเฉลี่ยสูงถึงแผ่นละ 1 บาท แต่เมื่อถึงวัดหรือร้านสังฆภัณฑ์ราคาอาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ส่วน "ทองเต็ม" หรือทองคำเปลวขนาดไม่เกิน 4x4 ซม. ราคาขายในท้องตลาดอาจสูงถึง 7 บาทหรือมากกว่า แต่กระนั้น ทุกวันๆ ทองคำแผ่นบางก็ยังคงถูกปิดทับลงบนองค์พระพุทธรูปจนดูเปล่งปลั่งสุกสว่างตามแรงศรัทธา

"คนไทยไม่เสื่อมคลายเรื่องการไหว้พระ อันนี้เห็นชัดเพราะไม่ว่าทองจะขึ้นหรือลง เราก็ทำทองคำเปลวกันแทบไม่ทันอยู่ตลอดเวลา ยิ่งสถานการณ์ทุกวันนี้ดูเหมือนคนยิ่งไป ไหว้พระเยอะขึ้นด้วยซ้ำ" จินตนา ภาสดา หนึ่งในช่างทองคำเปลวกลุ่มบางกระบือเล่าให้ฟัง

ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ... เสียงตีทองดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอราวกับเครื่องจักรที่ทำหน้าที่ได้อย่างแม่นยำ

เกือบทุกวัน หลังเวลาเคารพธงชาติ เพียงเล็กน้อย "เสาร์" หนุ่มร่างเล็กจนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถยกค้อนทองเหลืองหนักเกือบ 10 กิโลกรัมขึ้น แต่เขาสามารถ ใช้ค้อนนั้นตีทองได้นานถึงวันละ 6 ชั่วโมงหรือมากกว่า

หยาดเหงื่อที่เกาะอยู่เต็มแผ่นหลังและใบหน้าสะท้อนถึงความเหนื่อยล้า ทว่า เสียงลงค้อนยังคงหนักหน่วงแม่นยำและดังเหมือนชั่วโมงแรก เพราะทุกค้อนที่ลงไป หมายถึงกำไรหรือขาดทุนสำหรับทองคำเปลวฝักที่กำลังตีอยู่นั้น

"ขั้นตอนตีทองสำคัญมากโดยเฉพาะการตีทองครั้งสุดท้ายเพื่อให้ได้ทองคำแผ่ขยายมากที่สุด ถ้าคนตีหมดแรง ก่อนก็อาจได้แผ่นทองคำขนาดเล็กและหนาซึ่งก็จะขาดทุน แต่ถ้าตีแรงจนเกินไปกระดาษอาจจะขาดหรือทองแตกไม่เป็นแผ่นนำไปตัดก็ได้ไม่คุ้ม เท่ากับว่าต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการขูดเอาทองที่ตีแล้วไปหลอม เป็นทองคำแท่งใหม่ เรายอมขาดทุนค่าแรง ดีกว่าต้องขาดทุนค่าทอง" จินตนาอธิบายความลำบาก โดยเฉพาะยิ่งทองแพง คนตีทองก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น

ทองคำเปลวถือเป็นหัตถศิลป์ในกลุ่มของงานช่างสิบหมู่ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ประณีต และพิถีพิถันในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเลือกซื้อทองคำแท้ โดยกลุ่มบางกระบือใช้ทองคำแท่งที่มีเปอร์เซ็นต์ทอง 96.5 และ 99 เป็นหลัก ซึ่งแหล่งหลักในการซื้อทองก็มาจากเยาวราช จากนั้นจึงนำไปรีดทองที่บ้านหม้อ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเดียวที่มีเครื่องจักรเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทองรีดที่ออกมาจากทองคำแท่งหนัก 2 บาท ดูเหมือนแผ่นสังกะสีสีทองอร่าม บางเทียบเท่ากระดาษถ่ายสำเนาถูกนำมาตัดให้มีขนาด 1x1 ซม.ได้ประมาณ 1,400 ชิ้น จากนั้น "ทองรอน" เหล่านี้ก็นำไปใส่กุบ หรือกระดาษแก้ว ซึ่งต้องใช้แป้งหรือ "สอ" กวาดเอาเศษผงออกแล้ว

การใส่กุบต้องใช้ความตั้งใจอย่างสูง เพราะจะส่งผลต่อการตีทองรอนชิ้นเล็กๆ ทุกชิ้นถูกวางตรงกลางกุบที่วางซ้อนกันราว 720 ชั้น เทียบเท่าทองคำหนัก 1 บาท เมื่อเรียบร้อยกุบทั้งหมดถูกนำไปใส่กุบหนังวัวเพื่อกันไม่ให้ทองเคลื่อนแล้วทุกตีครั้งหนึ่งใช้เวลานานกว่าชั่วโมง จนทองเริ่มขยายก็เปลี่ยนไปใส่ฝัก ซึ่งเป็นปลอกหนังคล้ายกุบเพียงแต่ใหญ่กว่า ตีทองต่อไปอีกกว่า 5 ชม. โดยจะพักนานก็ไม่ได้เพราะเดี๋ยวความเย็นจะเข้า ทำให้ทองขยายไม่ได้มากเท่าที่ควร

งานตีทองอาจดูเป็นเพียงงานกรรมกร แต่ทว่านอกจากใช้แรง งานนี้ยังต้องใช้ความชำนาญ ใช้เทคนิคและจังหวะในการลงค้อน และที่สำคัญยังต้องใช้ความตั้งใจและความอดทน รวมทั้งต้องมีใจรัก อย่าง "ช่างเสาร์" ตีทองมาแล้วเกือบ 10 ปี โดยก่อนนี้เขาต้องผ่านการตีกระดาษเปล่ามานับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะได้ตีทองแท้

"หลายคนถามว่าทำไมไม่ใช้เครื่องจักรมาตีทองแทน เราก็เคยคิดแต่เอาเข้าจริงเครื่องจักรไม่สามารถผ่อนหนักผ่อนเบาได้เหมือนคน ตีไปทองก็แตก ไม่ต้องคิดว่าจะทำให้ บางเท่านี้เลยเพราะทำไม่ได้อยู่แล้ว ยกเว้นจะใช้ทองคำผสมซึ่งก็คือลดคุณภาพของสินค้า เราก็คงไม่ทำดีกว่า" สุจรรยา กาวงศ์ หลานสาวของจินตนา กล่าวในฐานะทายาทรุ่นสอง ผู้สืบสานอาชีพผลิตทองคำเปลวต่อจากพ่อแม่ ภายใต้ชื่อ "แอนบ้านทอง"

เมื่อได้แผ่นทองที่แผ่ขยายใหญ่และบางเฉียบจนไม่ต้องแบกภาระขาดทุนราคาทอง แล้ว นับจากนี้ไปทุกขั้นตอนต้องใช้ความประณีตและความอดทนอย่างมาก เพราะแผ่นทอง ที่บางแสนบางนี้พร้อมจะปลิวหายไปกับลมหายใจหรือพับย่นยู่จนกลายเป็นเศษทอง ตลอด จนละลายไปกับหยาดเหงื่อได้ทุกเมื่อ

ขั้นตอนถัดมาคือการถ่ายทองไปใส่กระดาษสา หรือ "กระดาษดาม" เพื่อเตรียมตัดทองตามขนาดที่ลูกค้าต้องการและการตัดทอง ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์เสริมคือไม้เลี้ยะหรือไม้ไผ่เหลาจนคม และหมอนรองตัด

ในห้องที่อับลมและไม่สามารถเปิดแอร์หรือพัดลมได้ แม้ไม่ใช่ห้องซาวน่าแต่ผู้ที่อยู่ ภายในก็อาบเหงื่อต่างน้ำ มีเพียงเสียงเพลงจากวิทยุที่คอยดับร้อน ช่างตัดทองคำเปลวที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีแล้วก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังในการตัดทองเพื่อให้ได้แผ่นทอง ที่เต็มขนาดและสมบูรณ์ไม่มีรอยต่อ หรือ "ทองคัด" ซึ่งราคาจะสูงกว่า "ทองต่อ"

ยิ่งทองมีราคาแพงมาก "มือตัด" ก็ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ทอง ที่ตัดออกมามีขนาดเล็กเกินไป เพราะจะไม่ได้มาตรฐานตามคำสั่งซื้อ หรือใหญ่เกินไปก็ขาดทุน และถ้าเหลือเศษทองน้อยที่สุดนั่นก็หมายถึงกำไร

แต่แม้จะเป็นเศษเล็กเศษน้อย ขึ้นชื่อว่าทองก็ย่อมมีค่า โดยเฉพาะในยุคที่ทองคำแพงเช่นนี้ ทุกเม็ดของเศษทองที่พอจะกวาดโกยหรือดูดด้วยเครื่องดูดฝุ่นขนาดเล็กได้ก็จะ ถูกนำไปเก็บใส่กล่องพลาสติกปิดไว้อย่างดีเพื่อรอนำกลับไปหลอมใหม่

ว่ากันว่า นอกจากหลายวัดจะมีการประมูลลอกทองที่ต้องใช้เงินเป็นล้านบาท เพื่อลอกเอาทองคำเปลวที่องค์พระไปหลอมใหม่ แม้แต่กระดาษแปะทองคำเปลวที่ถูกใช้แล้วในถังขยะตามวัดวาก็ยังมีคนไปประมูลเพื่อนำกระดาษเหล่านั้นไปหลอมเอาเศษเสี้ยวของทองคำเปลวที่หลงเหลือมาทำเป็นทองคำแท่งอีกครั้ง

สำหรับกลุ่มบางกระบือมีสมาชิกราว 20 คน แต่เนื่องจากจินตนามักได้รับ คำสั่งซื้อจากคนกลางครั้งละมากๆ เธอจึงกระจายงานบางส่วนให้กับกลุ่มญาติพี่น้อง ที่อยู่ในหลายจังหวัดมารับไปทำแล้วนำมาส่งเธอ เพื่อรวบรวมส่งผู้ค้าคนกลางทุกวัน โดยเฉลี่ยจินตนาและญาติพี่น้องสามารถผลิตทองคำเปลวส่งได้เฉลี่ยเกือบแสนแผ่น (ทั้งทองจิ้มและทองเต็ม) ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว ไม่ว่าราคาทองจะขึ้นหรือลง

"จริงๆ ราคาทองขึ้นไม่กระทบกับเราโดยตรง พอราคาทองขึ้นเราก็มาคุยกับ ลูกค้าขอขึ้นราคาทองคำเปลว แต่ปัญหาคือราคาทองที่แกว่งจนบางทีเราขึ้นราคาลูกค้าไม่ทันต้องรองวดหน้าก็ต้องแบกขาดทุนในช่วงที่ยังไม่ขึ้นไว้เอง" สุรีพร พานิชรัมย์ น้องสาวของสุจรรยาให้ข้อมูล

นอกจากคุณค่าจากการเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยความประณีตอย่างสูง ทองคำเปลวยังมีคุณค่าทางจิตใจที่อยู่เคียงคู่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไทย และยังเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประดิษฐ์งานประณีตศิลป์ของไทยให้งดงาม จึงดูเหมือนราคาทองคำเปลวที่สูงขึ้นตามราคาทองคำไม่กระทบกับยอดจำหน่ายมากนัก หากแต่ปัญหาราคาทองที่แกว่งตัวขึ้นลงจนไม่สามารถกำหนดราคา ตามได้ทันต่างหากที่ทำให้ผู้ผลิตทองคำเปลวอาจต้องเผชิญกับภาระขาดทุนในบางช่วงเวลา

ดูเหมือนปัญหาที่สุจรรยา สุรีพร และจินตนา แสดงความเป็นห่วงมากกว่าราคาทองคือ การกดราคารับซื้อของกลุ่มผู้ค้าคนกลางและคณะกรรมการวัด ขณะที่ต้นทุนวัสดุอย่างอื่น อาทิ "สอ" และกระดาษแก้วที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อคุณภาพในการตีทองที่ดีขึ้น และอีกปัญหาสำคัญคือการนำ "ทองสังเคราะห์" เข้ามาแทนที่ในวัดบางแห่งทำให้ผู้ใช้สับสน

"ทางออกของเราก็คือผลิตทองคำเปลวป้อนงานศิลปะหรืองานตกแต่งมากกว่า หรือไม่ก็ส่งเข้าสปาหรือทำยาทำเครื่องสำอางแทนการเข้าตามวัดวาโดยตรง เพราะถูกกดราคาและก็แข่งกันสูงด้วย" สุรีพรอธิบาย เพื่อเพิ่มช่องทางการขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง "แอนบ้านทอง" เปิดเว็บไซต์ www.Annbanntong.com และ thaigoldleaf.com มานานกว่าปีแล้ว ด้วยเวทมนตร์แห่งอินเทอร์เน็ตทำให้มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาจำนวนไม่น้อย เช่น ผู้ส่งออกทองคำเปลวเพื่อใช้ในการผลิตของตกแต่งบ้านในต่างประเทศ ลูกค้ากลุ่มสปารายย่อยที่เข้ามาจำนวนมาก ผู้ผลิตยาหอมที่ต้องการทองคำเปลวคุณภาพสูง และ "โออิชิ" ซึ่งนำทองคำเปลวของที่นี่ไปใช้ลอยในน้ำซุปญี่ปุ่น

ขณะที่ทองคำเปลวของแอนบ้านทองไปไกลกว่าคำว่า "แมส" ที่อยู่ตามวัดวา อารามด้วยความสร้างสรรค์ในการหากลุ่มลูกค้าใหม่ แต่สำหรับจินตนาและญาติพี่น้อง ในกลุ่มบางกระบือ ที่แม้จะผลิตทองคำเปลวคุณภาพดีไม่แพ้กันแต่กลับได้ค่าเหนื่อยต่ำกว่า ทว่าทุกคนก็ยังยินดีที่จะทำหน้าที่ตีทองและตัดทองด้วยความประณีตและตั้งใจอย่างไม่ท้อแท้ เพราะถึงอย่างไรอาชีพนี้ก็สร้างรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว และยังหล่อเลี้ยงความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนบำรุงศาสนาและงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us