|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พูดกันมานานแล้วว่า สินค้าไทยจะยืนได้ยั่งยืนในตลาดโลก ต้องมีแบรนด์ของตัวเอง มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไปเจอที่ไหนบอกได้เลยว่า "นี่แหละของไทย" แต่ในกระบวนการทางธุรกิจของบ้านเรายังไปไม่ถึงดวงดาว ไม่ใช่เพราะไม่มีวิสัยทัศน์ หากแต่เพราะธุรกิจไม่อาจเชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงใจและวิจัยงานให้เข้ากับตลาดต่างหาก
"ทองคำ" ตกที่นั่งไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ ของไทย แต่ที่เด่นชัดยิ่งกว่าก็ตรงที่ตัวมันเองมีมูลค่านำมาเก็งกำไรต่อได้และหากพัฒนาเป็นเครื่องประดับมูลค่าก็ยิ่งมากขึ้น แต่วันนี้มูลค่าในการเก็งกำไรโดยตัวมันเองกำลังจะแซงหน้าการผลิตเป็นเครื่องประดับ แน่นอนว่าสภาพตลาดค้าทองต้องเปลี่ยนรูปแบบอย่างแน่นอน ที่สำคัญทองเป็นสินค้าที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรม ไทยตลอดกระบวนการผลิตและประวัติศาสตร์ที่มีมาคู่สังคมอีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมกระทบต่อกระบวนการที่ต่อเชื่อม หากปรับตัวไม่ทันอนาคตคงไม่เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่
แต่นับเป็นความโชคดีด้วยความที่ทองเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งนี่เอง ทำให้ในช่วงปีกาญจนาภิเษก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชดำริที่จะอนุรักษ์สืบสาน ช่างทองโบราณให้สืบต่องานสู่วิถีสังคมสมัยใหม่ได้ ทรงริเริ่มก่อตั้ง "กาญจนาภิเษก วิทยาลัย ช่างทองหลวง" ใน พ.ศ.2538 ให้เป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะ กรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลิตช่างทองสู่อุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณี ให้คงศิลปวัฒนธรรมไทยผสมผสานอยู่ในชิ้นงานสืบต่อไปได้
สถาบันแห่งนี้เปิดสอนระดับ ปวช. และ ปวส. ส่วนระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง จะเป็นโครงการสมทบร่วมกับสถาบันเทคโน โลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ประเภท วิชาศิลปกรรม ระบบปกติ ระบบทวิภาคี ระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์อาชีพ ตามหลักสูตรการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum) โดยแบ่งออกเป็น 2 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาช่างทองหลวง และสาขาวิชาโลหะรูปพรรณและเครื่องประดับ
การเรียนการสอนเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สำนักพระราชวัง สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ สมาคมช่างทองไทย รวมถึงภาคธุรกิจอย่างบริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ หรือบิวตี้ เจมส์ เป็นต้น ซึ่งให้ความสนับสนุน ทั้งการให้คำปรึกษาด้านวิชาการ ผู้ชำนาญการมาช่วยสอน สถานที่ฝึกงาน รวมถึงเครื่องมือฝึกเรียน
สถาบันแห่งนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมอนุรักษ์ช่างฝีมือโบราณ อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำเครื่องประดับทองไทยได้แค่ไหนก็ต้องย้อนไปดูความเป็นมาของการบริโภคเครื่องประดับทองในอดีต ประเทศไทยบริโภคเครื่องประดับทองมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ แต่มีหลักฐานชัดเจนที่สะท้อนความรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นต้นแบบงานในสมัยรัตนโกสินทร์
ในอดีตคนที่มีสิทธิ์ใช้เครื่องประดับทองได้ มีแต่ชนชั้นเจ้านายและพระมหากษัตริย์ เท่านั้น คนทั่วไปใช้เครื่องประดับประเภทเงินและนากเป็นหลัก เพราะทองคำเป็นแร่ที่หายาก ทำให้ช่างทองโบราณเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย เทคนิคฝีมือจะถูกถ่ายทอดตามสายตระกูล และทำงานรับใช้เจ้านายแต่ละวังเท่านั้น ไม่มีการทำออกวางขายทั่วไป ส่วนช่างทองหลวงคือช่างผู้ชำนาญการที่ทำงานรับใช้พระมหากษัตริย์นั่นเอง
ดังนั้นวิชาช่างทองโบราณจึงไม่อาจเรียนรู้ได้จากที่ไหน ลวดลายแต่ละอย่างบ่งบอก สถานะทางสังคมของผู้ใช้อย่างชัดเจน รวมถึงจะมีลายต้องห้ามบางอย่างที่ให้ใช้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง หรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น เช่น รูปพญาครุฑ ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ และห้ามใช้ทำเป็นลวดลายในส่วนที่ต่ำ เป็นต้น
พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 งานเครื่องประดับอัญมณีจากตะวันตกเข้ามาอย่างแพร่หลายและผลิตโดยช่างจีน จนกลายเป็นที่นิยมแทนงานทองไทยโบราณ สมัยต่อมา งานของช่างทองไทยจึงเสื่อมความนิยมแทบจะสูญไปจากสังคมไทยอยู่ระยะหนึ่ง งานทองไทย ที่เห็นในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นงานช่างเพชรบุรีและสุโขทัย ล้วนเป็นงานใหม่ที่ธุรกิจเข้า ไปสนับสนุนช่างพื้นบ้านรื้อฟื้นงานโบราณ ให้เข้ากับกระแสโหยหาอดีตของคนปัจจุบัน
เมื่อวิทยาลัยช่างทองหลวงฯ ได้ก่อตั้งขึ้น เวลานั้นช่างทองหลวงเลิกราไปหมดแล้ว ทางวิทยาลัยฯ จึงไม่อาจหาครูที่เป็นช่างทองหลวงมาสืบต่อวิชาได้ ยังคงเหลือแต่ชิ้นงานใน พระบรมมหาราชวังที่เก็บไว้อย่างดีเป็นครูนำทางเท่านั้น
โดยนักเรียนรุ่นแรกๆ นอกจากจะเรียนรู้วิชาพื้นฐานทั่วไปและวิชาช่างสมัยใหม่แล้ว การสืบต่องานโบราณก็จะใช้วิธีร่วมกันวิจัยค้นคว้าระหว่างครูกับนักเรียนในการแกะลายงานต้นแบบ ทั้งงานเงินพื้นบ้านทั่วประเทศ และงานทองในพระบรมมหาราชวังแบบวิจัยไปเรียนไป ดังนั้นแม้เรียนจบหลักสูตรแล้วการเรียนรู้ก็ยังไม่หมดสิ้น ปัจจุบันศิษย์ รุ่นแรกฝีมือดีกลายมาเป็นครูสอนงานสืบต่อ และเป็นช่างทองหลวงในฝ่ายบูรณะเครื่องราชภัณฑ์ สำนักราชวัง
นักเรียนที่สนใจเรียนวิชาเหล่านี้ นอกจากบุคคลทั่วไปแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นนักเรียนทุนยากจนในโครงการศึกษา สงเคราะห์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อเรียนจบต้องกลับไปสอนหนังสือยังโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารตามโครงการดังกล่าว ระดับ ปวช.จะเรียนฟรี รับรุ่นละไม่เกิน 40 คน เพราะอุปกรณ์การเรียนมีจำกัด ค่าเรียนโดยรวมไม่มากนัก
นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ กล่าวถึงการดำเนินงานในอนาคต ว่า จะต้องเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น จะค่อยๆ พัฒนาเพราะไม่มีงบดำเนินการมากนัก และบุคลากรมีจำกัด เบื้องต้นจึงกำลังจัดทำพิพิธภัณฑ์ผลงานนักศึกษาและเป็นศูนย์กลางแสดงผลงานเครื่องทองไทยระดับสูง เพื่อส่งเสริมยกระดับฝีมือแรงงานให้ผลิตสินค้าระดับไฮแบรนด์ได้
ด้วยความที่เป็นสถานศึกษาเฉพาะทางเพียงแห่งเดียวที่ผลิตบุคลากรช่างทองโบราณเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบ สามารถปรับเทคนิคให้เข้ากับงานสมัยใหม่ได้ ทำให้บรรดาศิษย์ฝีมือดีหลายคนกลายเป็นผู้ผลิตงานทองได้เทียบเท่างานศิลปะที่ต้องใช้เทคนิคโบราณ ซึ่งช่างปัจจุบันทำเลียนแบบได้ยาก ทำให้ชิ้นงานกลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาได้ จึงมีคนมาสั่งซื้องานจากบรรดาศิษย์เก่าด้วย
ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับเคยขอให้ทางโรงเรียนช่วยผลิต ชิ้นงานไทยโบราณแท้ๆ ที่มีความวิจิตรยากจะลอกเลียนแบบ เพื่อนำไปแสดงในงานนิทรรศการที่ประเทศบรูไน แต่เนื่องจากขาดการวางแผนการทำงานร่วมกันก่อน จึงไม่สามารถผลิตงานให้ได้ ในอนาคตคงจะต้องปรับปรุงการทำงานร่วมกันให้ใกล้ชิดขึ้น
นิพนธ์ ยอดคำปัน ครูของโรงเรียนซึ่งเป็นศิษย์รุ่นแรก เปิดเผยว่าการเรียนที่นี่ทำให้ มีความรอบรู้ในการผลิตเครื่องประดับและอัญมณี ทั้งของโบราณและแบบสมัยใหม่ตลอดกระบวนการ ได้เรียนรู้เรื่องการประกอบธุรกิจและฝึกงานจริง ทำให้ทำงานได้ในทุกตำแหน่งของระบบการผลิตไปจนถึงเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ตรงจุดนี้จึงยกระดับฐานะของช่างทอง ที่ไม่ใช่แค่คนงานในโรงงาน หากแต่มีทางเลือกผลิตชิ้นงานเองให้เป็นงานศิลปะ
"ผมมีลูกค้าที่ชอบงานในแนวที่ผมทำ การผลิตงานทำราคาได้ตามความพอใจไม่อิงกับราคาในท้องตลาด และลูกค้าติดตามขอซื้องานเสมอ ผมทำรายได้ให้ตัวเองได้ตลอดเวลา ไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเลย การศึกษาทำให้ชิ้นงานมีราคาและช่างได้รับการยกระดับ" เขากล่าว
ยุทธพล จิตอารีย์รัตน์ เป็นช่างทองและเครื่องประดับอัญมณีมาหลายสิบปี เป็นผู้ประกอบการด้วย เปิดเผยว่าปัจจุบันช่างทองที่มีฝีมือดีของไทยจะมีรายได้ดี แต่จำนวนลด น้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุขัย เพราะกว่าจะฝึกช่างทองได้ใช้เวลานานนับสิบปีแล้วการจะเป็นผู้ชำนาญเฉพาะลวดลายต่างๆ ก็ต้องทำต่อเนื่องอีกเป็นเวลานาน ต้องมีความละเอียดอ่อน และอดทนสูง พออายุมากขึ้นสภาพร่างกายก็รับไม่ไหว การฝึกคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยทันกัน
การขาดแคลนช่างทองฝีมือดี ในอนาคตจะเป็นปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการประกอบกิจการ ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่างทองผู้เชี่ยวชาญในสถานประกอบการต่างๆ ได้รวมตัวตั้งสมาคมช่างทองไทย แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ช่างทองหลายคนจึงยินดี ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนที่นี่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับงานทองไทยให้ยั่งยืน ก้าวพ้นการรับจ้างทำตามแบบที่ลอกเลียน
|
|
|
|
|