Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2552
การศึกษาระดับอุดมศึกษา ร้อยแปดปัญหาที่ต้องแก้             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Education




'550 ล้าน' คือตัวเลขประชากรวัยต่ำกว่า 25 ปีของอินเดีย อันหมายถึงจำนวนประชากรที่รัฐบาลอินเดียจะต้องดูแลในเรื่องการศึกษา และประชากรที่จะเป็นอนาคตของอินเดียในทศวรรษต่อๆ ไป ซึ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาต่างตระหนักดีว่า การศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาคือกุญแจสำคัญต่อความปรารถนาของอินเดีย ที่จะผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาที่มั่งคั่งและมั่นคง แต่เมื่อสำรวจดูแล้วกลับพบว่ามีปัญหาร้อยแปดที่ต้องแก้ ทั้งผูกเงื่อนโยงใยจากเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ไปจนถึงปรัชญาและทิศทางของระบบการศึกษา

จากจำนวนประชากร 550 ล้านดังกล่าวพบว่าเกือบร้อยละ 10 หรือราว 120 ล้านคนเป็นประชากรอายุระหว่าง 18-23 ปี หรือเยาวชนคนหนุ่มสาวที่น่าจะอยู่ระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเด็กจบชั้นมัธยมเพียง 1 ใน 9 ที่ได้เรียนต่อในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยหรือถือเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนประชากร เป็นผลให้อินเดียติดกลุ่มประเทศที่มีเปอร์เซ็นต์การศึกษา ต่อระดับอุดมศึกษาต่ำ ไล่เลี่ยกับปากีสถานและไนจีเรีย และน่าใจหายอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีเปอร์เซ็นต์สูงถึงร้อยละ 83

เมื่อย้อนไปดูการศึกษาระดับประถมและมัธยมจะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มิติด้านปริมาณดีขึ้นมาก เช่น การเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา จากการสุ่มสำรวจพบว่าอยู่ระหว่างร้อยละ 80-95 แต่มิติด้านคุณภาพโดยเฉพาะในภาคชนบทไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร โรงเรียนจำนวนมากขาดแคลนครูและมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไร้ทิศทางและเฉื่อยเนือย

ขณะเดียวกัน การสอบในระดับมัธยมปลายเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา มีการแข่งขันเข้มข้นอันเนื่องจากจำนวนที่นั่งในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีอยู่จำกัด กดดันให้เกิดภาวการณ์ของเด็กอัจฉริยะ เช่นผลคะแนนในการสอบคัดเลือกเข้าวิทยาลัยชั้นนำของเดลี ปี 2009 มีเด็กทำคะแนนได้สูงถึง 98.75 เปอร์เซ็นต์ ทั้งพบว่าจำนวนเด็กฆ่าตัวตายจากแรงกดดันในการสอบระดับมัธยมปลายทวีจำนวนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

หากเทียบในมิติด้านปริมาณ พบว่าในช่วง 62 ปีหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีวิทยาลัย 700 แห่ง ในปี 2005 เพิ่มขึ้นเป็น 17,625 แห่ง ส่วนมหาวิทยาลัยเดิมมี 25 แห่ง ปัจจุบันทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมี 479 แห่ง แต่มิติด้านคุณภาพโดยรวมยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหลักสูตรที่ค่อนข้างล้าหลัง เพราะโดยเฉลี่ยแล้วมหาวิทยาลัยของอินเดียมีการปรับปรุงหลักสูตรกัน 5-10 ปีต่อครั้ง ขณะที่บางแห่ง อย่างเช่นมหาวิทยาลัยแห่งเมือง Pune ยังคงเรียนและสอนกันด้วยหลักสูตรเก่าของเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ตามแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11 อินเดียตั้งเป้าหมายทางการศึกษาว่าจะเพิ่มจำนวนผู้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจากร้อยละ 11 ให้เป็นร้อยละ 15 เป็นอย่างน้อย ภายในปี 2012 และนั่นหมายถึงสถานศึกษาที่จะต้องก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อเข้ามารองรับอีก 1,500 แห่ง หมายถึงเงินงบประมาณราว 2,264,100 ล้านรูปี ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีจัดสรรให้เพียง 779,330 ล้านรูปี และในความเป็นจริงแล้วก็เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลประเทศใดจะสามารถทำตามเป้าหมายดังกล่าวได้ ภายในเวลาเพียง 4-5 ปี

ปัญหาเรื่องจำนวนสถานศึกษาที่ไม่พอเพียง ซึ่งยังไม่พูดถึงเรื่องคุณภาพนั้น เป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาของอินเดียมานานแล้ว ทำให้นักศึกษาอินเดียจำนวนมากเลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และกลุ่มที่ใช้ทุนกู้ยืม ดังมีตัวเลขว่าทุกปีมีนักศึกษาอินเดียราว 60,000 คน ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ คิดเป็นเงินทุนราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกันก็มีสถานศึกษาแบรนด์นอกจำนวนมากที่เข้ามาเปิดกิจการในลักษณะการลงทุนร่วมกับสถานศึกษาเอกชนของอินเดีย ซึ่งผู้สังเกตการณ์ด้านการศึกษาเรียกว่าเป็นการเข้ามาเปิด "หน้าร้าน" มากกว่าเป็นการเปิด "สาขา" โดยจะเห็นได้จากสโลแกนโก้เก๋ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่า "Top Ranked UK/US Degree in India" พร้อมด้วยภาพสถานศึกษาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกระดับห้าดาว ห้องเรียนที่ใช้ระบบถ่ายทอดการบรรยายสดจากประเทศต้นสังกัด โอกาสเข้าถึงห้องสมุดต้นสังกัดแบบออนไลน์ การได้รับปริญญาบัตรลงประทับตราสถานศึกษาต้นสังกัด ซึ่งผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นเสริมว่า หลายแห่งเป็นเพียงมหาวิทยาลัย "ห้องแถว" ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรในประเทศของตน

สถานศึกษาเอกชนของอินเดียเองก็เบ่งบานยิ่งกว่าดอกเห็ด และจำนวนไม่น้อยก็เป็นสถานศึกษากำมะลอ ดังตัวอย่างที่พบในรัฐชัตติสการ์หเมื่อ 5 ปีก่อน ที่มีการใช้ช่องบทบัญญัติพิเศษของรัฐ ทำให้มีมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นถึง 112 แห่ง ต่อมามีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลสูง จนมีการสอบสวนพบว่า ส่วนใหญ่ไม่เป็นมหาวิทยาลัยแต่ในนาม ก็เปิดสำนักงานในอพาร์ตเมนต์ห้องเดียว แล้วเปิดสอนสารพัดหลักสูตรพร้อมทั้งเปิดสาขาในรัฐอื่นๆ โดยไม่มีการก่อตั้งวิทยาเขตขึ้นแต่อย่างใด ศาลสูงจึงมีคำสั่งว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการใช้สิทธินอกขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ยุบตัวไปก็ให้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ก่อนหน้า

สถานศึกษาอีกลักษณะที่กำลังตกเป็นข่าวคือบรรดา 'deemed universities'หรือ 'ว่าที่มหาวิทยาลัย' ซึ่งมีต้นกำเนิดแนวคิดและถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี 1948 โดยที่ The University Grants Commission (UGC) หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีอำนาจในการกลั่นกรองและประกาศให้สถาบันใดๆ ที่เดิมไม่ได้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัย แต่มีมาตรฐานการทำงานหรือการเรียนการสอนทางวิชาการเฉพาะด้านเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยทั่วไป ให้มีสถานะเป็น deemed university อันหมายถึงสามารถทำการสอนและมอบวุฒิบัตรได้เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมา สถาบันที่ได้รับการยกวิทยฐานะโดย UGC อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งเมืองเบงกาลอร์ สถาบันวิจัยเพื่อการเกษตรแห่งชาติ สถาบันตาต้าด้านสังคมศาสตร์เมืองมุมไบ สถาบันเบียร์ล่าด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนเหมืองแร่เมืองดานบัด เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าสถาบันเหล่านี้มีคุณูปการและอุทิศตนแก่งานด้านวิชาการและการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาตลอด หลายทศวรรษ

แต่เรื่องของว่าที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เนื่องจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดังพบว่าระหว่างปี 1956-1995 มีการประกาศ deemed universities เพียง 36 แห่ง แต่นับจากปี 1995 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2008 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 103 แห่ง และมีสถาบันที่ยื่นความจำนงถึงราว 400 ราย

จากรายงานการศึกษาล่าสุดของคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและฟื้นฟูการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่ได้รับการมอบหมายหน้าที่โดยกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนา นำทีมโดยศาสตราจารย์ยาช ปัล นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง และอดีตประธานของ UGC พบว่า deemed universities กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในระบบการศึกษาของอินเดีย เนื่องจากมีสถาบันหลายแห่งที่ไม่มีความเหมาะสม แต่อาศัยการคอร์รัปชั่นและความหละหลวมของคณะกรรมการกลั่นกรอง จนได้รับสถานะมหาวิทยาลัย อันหมายถึงสิทธิในการเปิดสอน กำหนดค่าเล่าเรียน อัตราเงินเดือนบุคลากร และมอบวุฒิบัตร นัยหนึ่ง 'ทำเงิน' จากระบบการศึกษา ซึ่งหลายแห่งขาดความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการ บางแห่งได้รับสถานะทั้งที่ยังไม่สามารถ ทำตามเงื่อนไขบางข้อของ UGC คณะกรรมาธิการชุดศาตราจารย์ยาช ปัล จึงเสนอให้ระงับการประกาศ สถานะ deemed university ไว้ชั่วคราว ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ก็ขานรับ ทั้งสั่งให้ทบทวนการประกาศของ UGC ในหลายกรณี

ประเด็นอื่นๆ ที่กำลังถกเถียงกันมากในช่วงนี้ คือเรื่อง 'Privatization' การศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยลักษณะที่พูดถึงกันมากคือการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อตั้งสถานศึกษามากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกประเด็นคือการปรับทิศทางการศึกษาให้เน้นทักษะวิชาชีพมากขึ้น เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า

"แผนการศึกษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นมรดกอายุร้อยปีของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษเองเลิกแยกการศึกษาเป็นสายวิชาชีพกับวิชาการมากว่าทศวรรษ แล้ว เราเองน่าจะผสมผสานทักษะวิชาชีพเข้าไว้ในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น"

ดูเหมือนว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียจะมาถึงทางตัน ที่ความเห็นในทิศทางอาจหลากหลาย แต่คำตอบร่วมน่าจะหมายถึงการยกเครื่องครั้งใหญ่และเร่งด่วน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us