Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2552
ตะวันตกที่ “ดีทรอยต์” ตะวันออกที่ “แผ่นดินใหญ่”             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 

 
Charts & Figures

พัฒนาการอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีน


   
search resources

Auto Manufacturers




ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แวดวงการเมืองไทยวุ่นวายไม่น้อยอยู่กับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 64,000 ล้านบาท และถูกร่ำลือกันไปทั่วทั้งบางว่าเป็นรสบัสที่นำเข้ามาจากประเทศจีน

ขณะที่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา บริษัทในเครือไทยยานยนต์ร่วมกับเครือซีพี ก็ได้นำคณะสื่อมวลชนสายรถยนต์ประมาณ 20 คน ไปดูโรงงานผลิตรถยนต์ยี่ห้อเฌอรี่ (Chery Automobile) หรือในชื่อภาษาจีนกลางคือ ฉีรุ่ย ที่เมืองอู๋หู มณฑลอันฮุย เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นการประชาสัมพันธ์รถยนต์เฌอรี่ รุ่นคิวคิว ที่เปิดตัวในประเทศไทยไปเมื่อไตรมาสแรกของปี 2552 ด้วยสนน ราคาค่าตัวเริ่มต้นที่คันละ 359,000 บาท

หลายคนบอกกับผมว่า "รถจีน" มันจะไปขายออกอะไร? ผลิตมาลวกๆ แบบสินค้าจีนชนิดอื่น หรือเปล่า? ชนแล้วคนขับจะรอดไหม? ศูนย์มีที่ไหน บ้าง?

คำพูดเหล่านี้อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าเหตุใดผมถึงยังไม่เคยเห็นรถเฌอรี่ คิวคิว ออกวิ่งตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เลย และเท่าที่ทราบดูเหมือน ว่า ในเมืองไทยยอดจองรถซิตี้คาร์ของเฌอรี่จะมีอยู่เพียงหลักร้อยคันเท่านั้น "รถจีน" อาจดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เราไม่ควรลืมว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ก่อนที่คนไทยจะหันมาใช้รถญี่ปุ่นกันทั้งประเทศ คนไทยเคยคลั่งไคล้เครื่องยนต์ใหญ่ๆ รูปทรงเทอะทะอย่างรถอเมริกัน-รถยุโรป และดูถูกดูแคลนรถยนต์อย่างโตโยต้า-ฮอนด้า ว่าเป็นรถกระป๋องเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติการณ์ด้านพลังงาน ราคาน้ำมันที่ผันผวนและความปั่นป่วนของเศรษฐกิจ โลกตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้รถยนต์ไปอย่างมาก สังเกตได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการใช้น้ำมัน มาเป็นใช้พลังงานทางเลือก อย่างเช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวีกันมากขึ้น

ในต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคยิ่งเด่นชัดกว่า อันจะเห็นได้จากการที่รถยนต์ประเภทใช้พลังงานลูกผสม หรือไฮบริด (Hybrid) นั้นกลายเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากในแวดวงยานยนต์ของโลก โดยเฉพาะ "โตโยต้า พรีอุส" ซึ่งใช้พลังงานลูกผสมระหว่างน้ำมันและไฟฟ้า มียอดขายรวมถึงต้นปี 2552 มากถึง 1.2 ล้านคันทั่วโลก (ไม่นับรวมยอดขายพรีอุสรุ่นปี 2010 ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ 3) โดยจุดแข็งของรถยนต์ไฮบริดอยู่ที่ความประหยัดพลังงาน เพราะบริโภคน้ำมันเพียงแค่ 25-35 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้น

ในส่วนของบ้านเรา รถยนต์ไฮบริดถูกนำเข้ามาขายหลายรุ่นแต่กระจุกอยู่ในเฉพาะส่วนของผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ จนกระทั่งปี 2552 นี้บริษัทโตโยต้า (ประเทศไทย) มองเห็นตลาดรถยนต์ไฮบริด จึงนำรถยนต์โตโยต้ารุ่นแคมรี่ ไฮบริด มาประกอบในประเทศ และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ การตลาดรถยนต์รุ่นพรีอุส ไฮบริด

วิกฤติการณ์เรื่องพลังงาน การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกกระตุ้นด้วยภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2551 ซึ่งเริ่มต้นมาจากความล่มสลายของเศรษฐกิจอเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนาม "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์"

การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ "ดีทรอยต์" เมืองหลวงของบริษัทรถยนต์อเมริกันอันนำมาสู่ความล่มสลายของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ หลายแห่งอย่างเช่น เจเนอรัล มอเตอร์ส ไครสเลอร์ มีผู้วิเคราะห์ว่าสาเหตุของการตกต่ำดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จากรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน มาเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานลูกผสม (Hybrid Car) และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Car)

แอนดี โกรฟ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ บริษัท อินเทล บริษัทผู้พัฒนาผลิตไมโครโปรเซสเซอร์และชิปคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขียนบทความในนิตยสารฟอร์จูน (ฉบับวางจำหน่ายในเอเชีย) ฉบับวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 โดยระบุว่า พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างความเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมในโลกยุคต่อไปบทบาทของพลังงานฟอสซิลจะลดลง และบทบาทของพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต่อไป "รถยนต์พลังงานไฟฟ้า" ทั้งนี้โกรฟยังเสนอความเห็นด้วยว่า ในการสร้างความยั่งยืนให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อเมริกามิอาจจะทอดทิ้งอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เหี่ยวเฉาลงไปเรื่อยๆ และปล่อยให้ญี่ปุ่นกับนานาประเทศเข้ามาครองอำนาจในอุตสาหกรรมนี้ได้

ดังนั้น รัฐบาลอเมริกันจำเป็นต้องเข้ามาโอบอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการเร่งพัฒนา "อุตสาหกรรม แบตเตอรี่รถยนต์" ภายในประเทศ เหมือนครั้งในอดีตที่รัฐบาลอเมริกันที่เคยอุ้มชู "อุตสาหกรรมไมโครโปรเซสเซอร์" จนทำให้บริษัทอินเทลที่โกรฟร่วมก่อตั้งกลายเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จนกระทั่งทุกวันนี้

ตอนท้ายโกรฟยังระบุด้วยว่า ในอดีตอเมริกา เคยประสบความสำเร็จกับการสร้างอุตสาหกรรมชิป คอมพิวเตอร์มาแล้ว และวันนี้รัฐบาลอเมริกันจำเป็นต้องทำเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมรถยนต์

แอนดี โกรฟไม่ได้เป็นผู้มีชื่อเสียงคนเดียวที่ออกมาเรียกร้องดังกล่าวต่อรัฐบาลอเมริกัน แต่ยังมีเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม ผู้ว่าการมลรัฐมิชิแกนอีกด้วย ที่ออกมาประกาศว่าเธอตั้งความมุ่งหมายไว้ว่าจะทำให้มิชิแกนกลายเป็น "เมืองหลวงของแบตเตอรี่" พร้อมกับงบประมาณที่ทุ่มลงไปกว่า 335 ล้านเหรียญ สหรัฐ

ขณะที่ชีวิตชาวอเมริกันกำลังสับสนอลหม่าน อยู่กับวิกฤติเศรษฐกิจที่ว่ากันว่าร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ในอีกซีกโลกหนึ่ง ชาวจีนกลับกำลังระเริงอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องนับสิบปีติดต่อกัน โดยภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องนับสิบปี ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวจีนไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

หากใครยังจำได้ ในคอลัมน์นี้เมื่อ 6 ปีก่อน ผมเคยเขียนเรื่อง "จาก 2 ล้อ ถึง 4 ล้อ" * บรรยายถึงปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในวิธีการใช้ชีวิตของชาวจีนในช่วง 20 ปี ก่อนและหลังการปฏิรูปเปิดประเทศในปี 2521 (ค.ศ.1978) โดยก่อนหน้าการปฏิรูป มาตรฐานการชี้วัดความมีฐานะของครอบครัวคนจีนนั้นประกอบด้วยข้าวของเครื่องใช้ 4 ประเภท คือ นาฬิกา จักรเย็บผ้า วิทยุ และจักรยาน ขณะที่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว (ค.ศ.2001) ปักกิ่งเมืองหลวงแห่งจักรยานของโลก ซึ่งขณะนั้นมีประชากรราว 13 ล้านคน ก็ยังมีจำนวนจักรยานมากถึงราว 10.2 ล้านคันเลยทีเดียวทว่า เมื่อจีนก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ภาพลักษณ์ของปักกิ่ง อดีตนครหลวงแห่งจักรยานก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง "จักรยาน" ที่เคยเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางของชาวจีน ถูกแทนที่ด้วยพาหนะ 4 ล้อที่เรียกว่า "รถยนต์" จากตารางพัฒนาการอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีน จะเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ปี 2544 (ค.ศ. 2001) ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศจีนนั้นมีอัตราการเติบโตในระดับก้าวกระโดดมาโดยตลอด ทำให้อันดับของยอดการผลิตและยอดขายของจีนนั้นก็เขยิบขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

จากสถิติในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ตลาดรถยนต์ในประเทศจีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมายืนอยู่ในอันดับ 1 ของโลกเรียบร้อยแล้วด้วยยอดขายรวม 6.09 ล้านคัน ขณะที่คาดการณ์ยอดขายทั้งปีน่าจะสูงถึง 11 ล้านคัน** โดยการเติบโตของยอดขายรถยนต์ในจีนดังกล่าวถือว่ารวดเร็วกว่า ที่เคยประมาณกันเอาไว้ถึง 6 ปี จากเดิมที่นักวิเคราะห์มองว่าจีนจะกลายเป็นตลาดรถยนต์อันดับ 1 ของโลกอย่างเร็วที่สุดในปี 2558 (ค.ศ.2015)

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จีนจะขึ้นแท่นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเรียบร้อยแล้ว แต่หากเทียบสัดส่วนประชากรกับจำนวนรถยนต์ ก็ยังถือว่าประเทศจีนยังมีปริมาณรถยนต์ที่น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วอีกมาก อย่างเช่น ขณะที่เฉลี่ยคนอเมริกันทุก 100 คน มีรถยนต์ประมาณ 36 คัน คนเยอรมันทุก 100 คน มีรถยนต์ 14 คัน คนจีนทุก 100 คนกลับมีรถยนต์เพียง 3.8 คันเท่านั้น

สถิติข้างต้นนี่เองที่ช่วยอธิบายให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า ทำไมในห้วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำเช่นนี้นักลงทุนและบริษัทผลิตรถยนต์ทั้งหลายจึงมุ่งเป้าไปยังแผ่นดินใหญ่กันหมด

แน่นอนว่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนไม่เพียงจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต แต่ยังทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างมาก อย่างเช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจบำรุงรักษารถยนต์ ฯลฯ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเช่นถนนอีกด้วย

ในปี 2551 (ค.ศ.2008) เครือข่ายถนนไฮเวย์ทั่วประเทศจีนนั้นมีความยาวทั้งสิ้น 60,300 กิโลเมตร โดยเมื่อเทียบกับความยาวของไฮเวย์ระหว่างรัฐ (Interstate Highway System) ของสหรัฐอเมริกาที่ในปี 2550 มีความยาวกว่า 75,000 กิโลเมตร (สถิติในปี 2550; ไม่นับรวมถนนธรรมดาที่อเมริกามีรวมทั้งสิ้นราว 4 ล้านกิโลเมตร) แล้วจีนยังถือว่ายังด้อยกว่าพอสมควร ด้วยเหตุนี้เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นรัฐบาลจีนจึงมีวิสัยทัศน์ในการเพิ่มเครือข่ายถนนไฮเวย์ให้เป็น 82,000 กิโลเมตร ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า ขณะที่ดีทรอยต์กำลังอยู่ในช่วงตะวันตกดิน จนหลายฝ่ายออกมากดดันให้รัฐบาลอเมริกันเข้าช่วยเหลือโดยการหาทางรอด-ทางออกให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกา อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนกลับ กำลังอยู่ในช่วงอรุณรุ่ง อันเป็นการเปิดประตูให้การลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกมาก

ทำให้ผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ยานยนต์ จากประเทศจีนจะเป็นที่รู้จัก และยอมรับของตลาดเมืองไทยอย่างแน่นอน

หมายเหตุ: * บทความเรื่อง 2 ล้อ-4 ล้อ โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับพฤศจิกายน 2546
** China tops U.S. in car sales so far this year, China Daily, 2009 July 9.   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us