Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2530
ชาตรี โสภณพนิช บนชะง่อนผาสูงชัน             
 

   
related stories

หมอชัยยุทธ กรรณสูตปีทองของอิตัลไทยกรุ๊ปสูงสุดคืนสู่สามัญ!!??
เปรมชัย กรรณสูต ตัวแทน ตัวตาย!?

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
ชาตรี โสภณพนิช
Banking




คนโตของแบงก์ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอย่างชาตรี โสภณพนิช ดูจะไม่แตกต่างจาก OVERSEA-CHINESES คนอื่น ๆ เลย เขากล่าวว่าเขายังไม่คิดเรื่องรีไทร์แม้เขาจะอายุย่างเข้า 54 ปีแล้ว และกล่าวกับ “ผู้จัดการ” อีกว่า “ถ้าผมไม่นั่งตรง ผมโดนคน 2 หมื่นเตะคว่ำไปแล้ว” 8 ปีในตำแหน่งนี้นับวันแวดวงธุรกิจจะประหวั่นพรั่นพรึงกับการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของเขา ดุจปลาหมึกยักษ์กลางทะเลลึกในเวลาใช้หนวดโอบทุกอย่างที่ขวางหน้าเข้าไว้ มันจะปล่อยหมึกอำพรางพฤติการณ์นั้นกระนั้นหรือ ?

ปี 2530 เป็นปีที่ชาตรี โสภณพนิช เผชิญปัญหาหนักหน่วง ต้องขบคิดถึงอนาคตอาณาจักรส่วนตัวของเขา ความวิตกกังวลและภาระของเขาดูทับทวี

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ชาตรี โสภณพนิชได้รับตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยและอีก 4 เดือนต่อมา (มิถุนายน) เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาธนาคารอาเซียนในห้วงเวลาดังกล่าวนี้เขาก็ได้แสดงบทบาทอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง มีการเสนอความคิดเห็นใหม่ ๆ บางคนบอกว่าชาตรีเดินทางมาถึงจุดบารมีขั้นสูงสุดและบทบาทเด่นชัดในปีนี้คือทำงานเพื่อสังคม แต่ผู้ใกล้ชิดบอกว่า 2530 นี้ทายาทของเขาทั้ง 4 คนกลับจากเรียนหนังสือระดับปริญญาโทเริ่มทำงานกันแล้ว เขาและเธอถูกชาตรีจัดวางตำแหน่งสำคัญอันแสดงถึงการวางแผนเพื่ออาณาจักรที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

ในอีกด้านหนึ่งผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของชาตรี โสภณพนิช ตั้งข้อสังเกตว่าปีนี้ธุรกิจส่วนตัวของเขาเคลื่อนไหวอย่างมาก ดูเงียบ ๆ แต่มีความหมาย แล้วมีความหมายเช่นไรเล่า??

คนที่รู้จักชาตรีดีเชื่อว่าชาตรีก็ยังเป็นชาตรีต่อไป คนที่ใช้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ที่สุดในตระกูลโสภณพนิช ว่ากันว่า แข็งขืนแม้อำนาจของผู้เป็นพ่อ-ชิน โสภณพนิช และเป็นผู้ที่มีความพยายามพัฒนากลยุทธ์และบทเรียนของผู้เป็นพ่อที่สุดเช่นกัน

ชาตรี โสภณพนิช เป็น HONGKONG-TRAINED เจ้าตัวบอกว่าเกิดที่เมืองไทยแต่ในวัยเด็กจนถึงรุ่นกระทงเขาผ่านการศึกษาและอบรมที่ฮ่องกง เมื่ออายุ 19 ปีเขามาเมืองไทยช่วงสั้น ๆ นั้น เขาเป็นหนุ่มสูงใหญ่หุ่นดี (เพราะเล่นกล้าม) เข้าสังคมเก่ง สุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสุภาพสตรี ซึ่งตรงกันข้ามลักษณะคนประหยัดอีกด้านหนึ่งของเขา อยู่เมืองไทยไม่นานก็ผันตัวเองไปฝึกงานด้านการธนาคารที่อังกฤษ ในระยะไล่เลี่ยกับจงจิตต์ จันทมงคล (ผู้จัดการศูนย์บริการกลางปัจจุบัน) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนแบงก์กรุงเทพคนแรก เข้าพักห้องเช่าที่เรียกว่า BORDERING HOUSE ย่าน NOTHING HELLGATE-BAYEWATER ใกล้ๆ PADDINGTON ห้องนอนแคบๆ มีห้องน้ำรวม ไม่แสดงตัวว่าเป็นลูกคนรวยเลยแม้แต่น้อย แม้จะเรียนหนังสือไม่เก่งและชอบเที่ยวอยู่บ้าง แต่หนุ่มชาตรีก็ยังได้ชื่อว่าเป็นคาทอลิกที่ดี เขาเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ เมื่อแต่งงานกับสุมณี ก็ทำพิธีที่โบสถ์วัดมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี

หนุ่มธุรกิจบนเกาะฮ่องกงเมื่อ 30 ปีที่แล้วคือยุคคนหนุ่มแสวงหาความร่ำรวยจากการเสี่ยงโชคทางธุรกิจ ท่ามกลางการเจริญเติบโตอย่างเด่นชัดของย่านแปซิฟิกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนย่านนี้กลายเป็นศูนย์ความสนใจขึ้นมา ชาวจีนโพ้นทะเลหลายคนร่ำรวยขึ้นในช่วงนี้ เป็นความร่ำรวยจากการฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์อย่างแท้จริง

ความร่ำรวยนั้นไม่ใช่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมการผลิต หากเป็นการซื้อขายมาแบบเก็งกำไร

ชาตรี โสภณพนิช เติบโตขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้

ในเวลาเดียวกับชิน โสภณพนิช ผู้พ่อกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจ จากสถานการณ์เช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดตัวอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

หนึ่งในนั้นคือการค้าเงินตรา-ธุรกิจนี้สร้างความร่ำรวยให้คนหลายคน ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเอเชียอาคเนย์คือชิน โสภณพนิช นี่เอง จึงมิใช่เรื่องแปลกอะไรที่จุดเริ่มต้นในชีวิตการทำงานของชาตรีก็เริ่มต้นตรงจุดนี้ เขาเข้าฝึกงานด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับจอห์นนี่ มา (วัลลภ ธารวณิชกุล) ที่บริษัทเอเชียทรัสต์

อันเป็นเวลาใกล้เคียงกันนั้นชินต้องระเห็จจากเมืองไทยไปปักหลักที่ฮ่องกง หลักฐานระบุว่า เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เถลิงอำนาจภายหลังจากการโค่นอำนาจฝ่ายซอยราชครู ซึ่งชินเกาะเกี่ยวตลอดมา ชินจึงตกอยู่ในแบล็กลิสต์ของจอมพลม้าขาวผ้าแดงอย่างมิต้องสงสัย

การเดินทางจากประเทศไทยครั้งนั้นของชินมีความหมายทางประวัติศาสตร์หลายประการ สิ่งที่ผู้คนพูดกันมาก ก็คือการเดินทางสายแห่งอำนาจจำเป็นมากในการดำเนินธุรกิจ บทเรียนสำคัญข้อนี้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นบทเรียนคลาสสิกมากบทหนึ่ง ชาตรีก็เก็บรักษาไว้อย่างไม่รู้ลืมเช่นกัน

นอกเหนือจากนั้นความหมายทางประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ซึ่งตกทอดมาถึงชาตรี โสภณพนิชอีก 2 ประการ หนึ่ง-สถานการณ์บังคับให้ชินเข้าสู่โลกทางธุรกิจอย่างกว้างขวางมากขึ้น นำมาซึ่งความเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของแบงก์กรุงเทพในช่วงหลังกึ่งพุทธกาล สอง-ตอกย้ำจิตสำนึกผู้อพยพนายแบงก์มากที่สุด แม้ว่าขณะนั้นนายห้างชินยังลังเลใจ อันเนื่องจากเขามีลูกที่เกิดจากภรรยาในเมืองไทยหลายคน ทั้งอาไน้ (บุยศรี) ก็กดดันเขามากในเรื่องนี้

ผู้รู้วิสัชนาว่าที่ผู้คนมองภาพชาตรีนั้นดูเด่นเพราะนายห้างชินยกขึ้นนั้นไม่จริงเสียทีเดียว หากแต่ชาตรีเป็นโสภณพนิชแข็งขืนโชคชะตาอย่างมากคนหนึ่งด้วย

“ผู้จัดการ” ฉบับเดือนมีนาคม 2530 กล่าวไว้ว่า “ชินเล่นทองตามยุคสมัยขณะนั้น ส่วนชาตรีเล่นหุ้นในยุคสมัยนี้” ช่างสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ว่า ชิน สร้างรากธุรกิจก่อนเทกโอเวอร์แบงก์กรุงเทพจากการเล่นทอง ส่วนชาตรี “เล่น” หุ้นสร้างฐานอำนาจก่อนขึ้นเทกโอเวอร์ตำแหน่งสูงสุดในแบงก์กรุงเทพในปี 2523

จุดเริ่มต้นประจวบกับประเทศไทยเริ่มมีตลาดหุ้นในปี 2518 ชาตรีกับพวกตั้งบริษัทลงทุนด้านนี้ชื่อบริษัท หลักทรัพย์เอเชีย ในปี 2517 หลังจากทราบว่าจะมีการสถาปนาตลาดหุ้นขึ้น ผู้ใกล้ชิดชาตรีกล่าวว่าแท้จริงก่อนหน้านี้เขามีบริษัทส่วนตัวของเขาบริษัทหนึ่ง มีลักษณะเป็นโฮลดิ้งคัมปะนี เข้าถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ นอกตลาดหุ้น คือบริษัทเอเชียเสริมกิจ ในปี 2515

เป้าหมายของชาตรีแจ่มชัดเสียนี่กระไร หนึ่ง-ใช้เอเชียเสริมกิจ เป็นหัวหอกเข้าถือหุ้นธุรกิจอันเกี่ยวข้องในปี 2522 โดยซื้อกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจจากน้องสาวคนละแม่ชดช้อย โสภณพนิช ปัจจุบันเป็นกิจการแสดงทิศทางและอนาคตของชาตรี โสภณพนิชเลยทีเดียว สอง-บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย ทุ่มตัวเข้าลงทุนในการซื้อหุ้นแบงก์กรุงเทพอย่างขนานใหญ่ เป็นหัวหอกประสานกับกลุ่มเพื่อนพ้องเพื่อการนี้ในฐานะเป็นซับโบรกเกอร์

เขาเร่งเครื่องตั้งแต่ต้นปี 2520 ผลักดันให้การซื้อขายหุ้นธนาคารกรุงเทพทะยานขึ้นไประดับ 1,000 ล้านบาท พร้อมกับดันราคาซื้อขายพุ่งขึ้นเกิน 300 บาท/หุ้น และขึ้นไปสูงลิ่วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ระดับ 500 บาท/หุ้น ในกลางปี 2521

มีคำถามง่าย ๆ ว่าชาตรีทำอย่างนั้นทำไม?

คำตอบที่พอจะกล้อมแกล้มก็คือ หนึ่ง-ในฐานะกรรมการแบงก์และผู้บริหารระดับสูงการมีหุ้นในแบงก์ย่อมมีความหมายว่ามีส่วนร่วมในกิจการอย่างแท้จริง ในทางกลับกัน อำนาจหุ้นมากก็คือการยั่งยืนของอำนาจบริหารกิจการ สอง-ไม่มีการค้าอะไรที่มีดอกผลได้ดี เท่ากับกิจการที่ตนเองรู้เรื่องอย่างถึงแก่น “สมัยนั้นคงไม่มีใครพูดถึงอินไซเดอร์กันหรอก” แหล่งข่าวคนหนึ่งสัพยอก

ห้วงเวลานั้นปรากฏบุรุษร่างใหญ่ หุ่นใกล้เคียงกับชาตรี เขาผู้นั้นได้แก่ สว่าง เลาหทัย ชาตรีรู้จักเขาและประทับใจอย่างมากในการเป็นพ่อค้านักเก็งกำไรอันเป็นปรัชญาเดียวกับเขาในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันปี 2516-2517 พันธมิตรทางธุรกิจจึงก่อรูปขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสไตล์การดำเนินธุรกิจ, การขยายอาณาจักรของสว่าง โดยใช้ยุทธวิธีใช้เงินก้อนใหญ่ทุบคู่แข่งล้มคว่ำนั้นมีท่วงทำนองเดียวกันกับการเล่นหุ้นแบบ SHORSALE ของชาตรีด้วย

ในที่สุดสว่าง เลาหทัยก็เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัทส่วนตัวของชาตรีทั้งสองบริษัทสำคัญ คือเอเชียเสริมกิจและหลักทรัพย์เอเชียด้วย

กระบวนการ “ล่า-ไล่” หุ้นแบงก์กรุงเทพของกลุ่มนี้ สมควรจะขยายความต่อไป เพราะการผนึกกำลังระหว่างชาตรี-สว่าง ชาตรีจึงได้พันธมิตรใหม่อีกหลายบริษัทในปี 2523-2524 หากใครตรวจดูรายชื่อผู้ถือหุ้น 4 อันดับแรกจะพบว่ามีเพียงกระทรวงการคลังเท่านั้นที่ถือหุ้น 8.67% และไม่เกี่ยวกับชาตรี โสภณพนิช ส่วนที่เหลือนั้นเกี่ยวข้องกับเขาทั้งสิ้น ได้แก่สินเอเซีย 7.3% หลักทรัพย์เอเชีย 4.46% และยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ 3.45%

สินเอเซียนั้นเป็นกิจการในเครือแบงก์กรุงเทพ ซึ่งชาตรีได้รับมอบหมายให้ดูแลตั้งแต่เขาเป็นกรรมการแบงก์ ปรากฏว่าภายหลังกิจการนี้ชาตรีกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่แตกต่างจากร่วมเสริมกิจนัก เพียงแต่ว่าระยะหลังมีกลุ่มแบงก์ฝรั่งเศสเข้าถือหุ้นส่วนหนึ่ง ส่วนยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ นั้นเป็นกิจการของสว่าง เลาหทัย ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เอเชียถือหุ้นประมาณ 10% ด้วนเช่นกัน

ในปี 2522 บริษัทหลักทรัพย์เอเชียเพิ่มทุนรวดเดียวจาก 10 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท

แม้ว่าทุกอย่างจะลงตัวด้วยดี แต่ทั้งชาตรีและสว่างก็เหน็ดเหนื่อยทั้งคู่ ว่ากันว่าชาตรีผู้เคร่งศาสนาคริสต์ ได้กลายเป็นผู้นิยมกินยาแก้ปวดพักใหญ่ และนั่งสมาธิไปในที่สุดและแล้ววันที่ 14 มีนาคม 2523 ชาตรี โสภณพนิช ก็ได้รับเลือกตั้งจากคณะกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพสมใจนึก

การขึ้นจุดสูงสุดของชาตรี โสภณพนิช มีแรงสนับสนุนจากบุญชู โรจนเสถียร ผู้จัดการใหญ่คนเดิมผู้ลงจากเวทีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจสำหรับนายห้างชิน แล้วก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ “นายห้างคิดว่าปล่อยให้คุณชาตรีบริหารแบงก์กรุงเทพไปก่อน เมื่อไม่เป็นไปตามเจตนา แกก็จะลงมาว่าเอง” แหล่งข่าวผู้หนึ่ง ซึ่งในที่สุดนายห้างชินคิดผิด เพราะการขึ้นมาของชาตรี มิใช่เพียงบุญชู ผู้ซึ่งนายห้างเกรงใจหนุนเท่านั้น ชาตรีกับพวกยังครอบครองหุ้นข้างมากของแบงก์กรุงเทพไว้ในกำมือด้วย

พร้อม ๆ กับการที่เขาได้สร้างอาณาจักรธุรกิจส่วนตัวขึ้นแวดล้อมธุรกิจธนาคาร ซึ่งหนุนและเกื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต่อมาภายหลังนายห้างก็ได้รับรู้ว่าชาตรีมิได้ดำเนินการตามกิจการของเขานัก แต่รายละเอียดจริงๆ นายห้างก็ทำอะไรไม่ได้นัก พอจะทำได้บ้างก็มีเพียงดึงโชติกลับมา เมื่อโชติลาออกจากแบงก์ครั้งแล้วครั้งเล่านั่นเอง

“FAT BUT FAST” ไม่รู้ใครตั้งฉายานี้ให้ชาตรี โสภณพนิช อย่างเห็นภาพเมื่อเขาเลิกเล่นกล้ามร่างกายของเขาดูอ้วนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ชอบทำอะไรเร็ว ๆ ชอบความเร็ว เช่น ชอบนั่งรถสปอร์ต ยี่ห้อปอร์เช่, เรือเร็วที่ได้มาทั้งซื้อเองและรับอภินันทนาการแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ลำ

แต่เวลาเกือบ 8 ปีในแบงก์กรุงเทพสำหรับชาตรีแล้ว ประหนึ่งเพิ่งผ่านไปเมื่อวาน “ผมยังไม่เคยคิดเรื่องรีไทร์” เขาตอบ “ผู้จัดการ” อย่างตรงไปตรงมาเมื่อถูกถามถึงอนาคตของเขาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้ใกล้ชิดเล่าว่า ชาตรีแม้จะนิยมความเร็วแต่เขาต้องใช้เวลาอีกมากนับจากปี 2530 เป็นต้นไป?

ชาตรีซึ่งพยายามเดินตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อ-ชิน โสภณพนิช แต่ก็มีหลายอย่างที่เขาทำไม่ได้ ขณะเดียวกันเขารู้สึกว่าเป้าหมายของเขาคือ “ความยิ่งใหญ่” ที่เป็นภาพชัดเจนนั่นคือเงินที่ได้รับและเก็บไปฝากไว้ ณ ธนาคารแห่งหนึ่งแห่งใด มากกว่าการสร้างอนุสรณ์เช่นชาวจีนโพ้นทะเลผู้พลัดพรากจากถิ่นพึงกระทำกัน

ชาตรีต่างกับพ่อที่อยู่สูงเกินไป กลายเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนหอคอย สมัยชินเขาอยู่กับพนักงาน ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงาน เขาฟังทุกคน และมีคนคอยทัดทานเขา สำหรับชาตรีห้องทำงานชั้น 26 ของเขามีพนักงานแบงก์ระดับสูงไม่กี่คนที่เข้า ๆ ออก ๆ องค์กรที่ใหญ่มีพนักงานประมาณ 2 หมื่นคนกลายเป็นข้อเสียไปอย่างช่วยไม่ได้ แต่บางคนก็อีกนั่นแหละที่บอกว่า ชาตรีเก่งกว่าพ่อตรงที่เขาสามารถครอบครองอำนาจในแบงก์ ซึ่งพัฒนาไปกว่าเดิมอย่างมากได้ ชินใช้ “บุญคุณน้ำมิตร” ส่วนชาตรีเดินตามเส้นทาง “การสร้างอาณาจักรแห่งอำนาจ” นักบริหารมืออาชีพถกเถียงกันอย่างหนักถึงแบบฉบับหรือสไตล์การบริหารแบบชาตรีและชิน ว่าแบบไหนมีประสิทธิภาพกว่ากัน

ชินกับบุญชูคืออำนาจ 2 ส่วนที่คานกันและผลักดันให้แบงก์ก้าวไป ส่วนชาตรีเป็นศูนย์รวมของการตัดสินใจ โดยมีมืออาชีพระดับดอกเตอร์แวดล้อมอยู่ด้วยไม่กี่คน

แบงก์กรุงเทพเติบโตอย่างก้าวร้าวเพราะเข้ารับช่วงของภารกิจของแบงก์ อาณานิคมซึ่งต้องถอยร่นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมา ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของพ่อค้าขณะนั้นกว่า 80% ใช้บริการของแบงก์กรุงเทพ กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านั้นกับนายห้างมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน “ที่นายห้างต้องไปถือหุ้นในกิจการเหล่านั้นเพราะความจำเป็น เพื่อนขอร้อง ความจริงแล้วแกไม่ต้องการหรอก” คนเก่าแก่แบงก์กรุงเทพกล่าว

อดีตพนักงานด้านสินเชื่อยุคแรก ๆ ของแบงก์กรุงเทพคนหนึ่งทบทวนเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนว่าเขาเคยเสนอแผนการที่เรียกว่า EQUITY PARTICIPATIION ซึ่งหมายความว่าให้แบงก์เข้าไปถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ ตามสัดส่วนหนึ่งของแบงก์ชาติกำหนด เหตุผลที่ยกมาอ้างสมัยนั้นก็คือเปิดโอกาสให้พนักงานระดับสูง-กลางได้ฝึกฝนในภาคสนาม และเปิดช่องทางให้พนักงานระดับรองไต่ขึ้นตำแหน่งที่สูงได้ แต่ได้รับการปฏิเสธจากนายห้างชิน

“นายห้างไม่ต้องการถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ เพราะไม่ต้องการเข้าไปรับภาระเวลากิจการมีปัญหา” แหล่งข่าวคนเดิมสรุป เน้นว่ามิใช่ว่ากลัวใครจะหาว่าเป็น “ปลาหมึกยักษ์” หรอก แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างนายห้างกับลูกค้าก็ดำเนินไปด้วยดี เพราะบทบาท TRADEFINANCING ของแบงก์กรุงเทพครอบคลุมเกือบทั้งวงการค้าระหว่างประเทศ เวลาไปถามวงการค้าเก่าแก่ ภาพนายห้างชินจึงดูเจิดจ้าในใจพวกเขาเหล่านั้น มิเพียงเป็นนายเงิน หากเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูด้วย

ส่วนชาตรี โสภณพนิชเองก็พยายามสืบเท้าตามนายห้างในกลยุทธ์ที่ “ไม่จำเป็นจริงๆ ผมไม่ไปถือหุ้นในกิจการอื่นๆ” แต่ทว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ทั้งองค์กรของแบงก์กรุงเทพเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 20 ปีก่อน ชาตรีจึงหนักใจอย่างยิ่งว่าเขาจะรักษาความภักดีของลูกค้าเดิมไปพร้อม ๆ กับการสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับลูกค้าใหม่แบบที่ผู้เป็นพ่อเขาสร้างมาได้อย่างไร

สิ่งที่วงการธุรกิจสัมผัสได้จากกลยุทธ์ดังกล่าวของชาตรีก็คือ กลุ่มธุรกิจของเพื่อนเขาโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการทุบคนอื่นล้มคว่ำลง!!!

ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันมิเป็นเพียงลูกค้าแบงก์กรุงเทพอย่างมากเท่านั้น การค้าพืชไร่หดตัว และลดบทบาทความสำคัญตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังไม่มีอุณหภูมิเพียงพอจะให้เติบโต ธุรกิจรายย่อยเกิดขึ้นอย่างมาก เวลาเดียวกับแบงก์พาณิชย์อื่นก็เปิดฉากแข่งขันแย่งชิงลูกค้าอย่างบ้าคลั่ง ส่วนที่แบงก์กรุงเทพเองสายสัมพันธ์เก่าแบบ “บุญคุณน้ำมิตร” ค่อยๆ จางไป แทนที่ด้วยการที่พ่อค้ารุ่นเก่าที่ยังไม่ตาย ต้องมาอธิบายตัวเลขอย่างน่าปวดหัวกับดอกเตอร์รอบข้างชาตรี แทนการนั่งจิบน้ำชา ถามสารทุกข์สุกดิบไปพลางคุยเรื่องงานไปพลางเช่นสมัยก่อน HUMAN RELATIONSHIP กำลังจะหมดไป แทนที่การ DEAL แบบนักธุรกิจสมัยใหม่ที่ถือคัมภีร์เอ็มบีเอกันแล้ว

ชาตรีจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการจับ “ลูกค้า” กลุ่มหนึ่ง แล้วสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้นทางธุรกิจรุนแรงขึ้น บนเวทีธุรกิจที่ไม่เปิดกว้างเช่น 20-30 ปีก่อน วงการธุรกิจจึงมองว่าเขากับเพื่อนกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งอย่างช่วยไม่ได้!!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2530 นี้ ชาตรีและเพื่อนรุกคืบอย่างรุนแรง และเงียบเชียบอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน

เดือนพฤษภาคมบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ, เอเชียเสริมกิจและแบงก์กรุงเทพ ประกาศร่วมทุนกับกลุ่มมิตซุยตั้งบริษัทกรุงเทพฯ-มิตซุยพาณิชย์ลิซซิ่งฝ่ายละ 50% ด้วยเงินลงทุนครั้งแรก 40 ล้านบาท โดยเชื้อเชิญอดีตอธิบดีกรมสรรพากร วิทย์ ตันติยกุลมาเป็นประธานกรรมการ องค์ประกอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นฝ่ายแบงก์กรุงเทพนั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทส่วนตัวของชาตรี โสภณพนิช ในครั้งนี้ว่าเป็นการเสริมสร้างฐานอำนาจธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบงก์และเกื้อกูลซึ่งกันและกันออกไปให้แขนขายาวขึ้น แสวงหาลูกค้ามากขึ้นต่อไป เป้าหมายแจ่มชัดว่าบริษัทนี้เน้นทำลิสซิ่งประเภทเครื่องจักร ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการลงทุนที่กลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่นกำลังพาเหรดเข้ามาในประเทศไทยอย่างมาก การร่วมกับมิตซุยก็มุ่งสร้างสัมพันธ์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ทั้งกำลังเงินก็มีมากขึ้นด้วย “หากไม่ต้องการเน้นลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว คุณชาตรีเขาก็มีบริษัทลิสซิ่งอยู่แล้ว ได้แก่ เอเชียเสริมกิจลิซซิ่ง ซึ่งลูกชายคนหนึ่งของเขาดูแลอยู่” แหล่งข่าวในแวดวงสรุป

อีก 4 เดือนต่อมา ชาตรีก็จับมือกับมิตซุยอีกครั้งในการร่วมทุนตั้งบริษัทซิตี้เรียลตี้ ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เช่นเดียวกับชาตรีในแบงก์กรุงเทพมีเอี่ยว 7% บริษัทส่วนตัว-ร่วมทุนเอเชีย 20% และพันธมิตรกลุ่มแชงกี-ลา 25% ส่วนมิตซุย 20% งานนี้สุนทร อรุณานนท์ชัย ลูกน้องผู้ซื่อสัตย์ของชาตรีเป็น MATCH MAKER ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นอีกแผนการหนึ่งในการเสริมสร้างอำนาจทางธุรกิจ ขยายเครือข่ายธุรกิจก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ทำการซื้อขายที่ดินรับเป็นที่ปรึกษา จัดการลงทุน รับจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารสำนักงาน

ชาตรีกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่าเขาจำเป็นต้องไปร่วมทุนกับกิจการอื่นนั้น ก็เพื่อหาลูกค้ามาให้แบงก์กรุงเทพในทางตรงกันข้ามมีผู้อธิบายว่า เพราะมีแบงก์กรุงเทพ กลุ่มแขนขาของชาตรีจึงขยายกว้างออกไปอีก

เมื่อชาตรี โสภณพนิชเข้าร่วมทุนกับกลุ่มมิตซุย ผู้คนในวงการต่างก็คิดถึงสว่าง เลาหทัย และคิดว่าสายสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเชื่อมต่อมาถึงชาตรี แต่เท่าที่ “ผู้จัดการ” ศึกษาแบงก์กรุงเทพอย่างละเอียด พบว่า แบงก์มิตซุยกับแบงก์กรุงเทพมีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สาขาแบงก์ที่โตเกียวเป็นที่รู้กันว่าแบงก์มิตซุยมีส่วนช่วยไม่น้อยทีเดียว ส่วนกรณีสว่าง เลาหทัย คนผู้นี้ร่ำเรียนในญี่ปุ่น รู้จักบริษัทญี่ปุ่นมากก็จริงเมื่อเผชิญปัญหาวิกฤตการณ์กลุ่มศรีกรุงวัฒนานั้น ชาตรีเป็นคนเชื่อมต่อกลุ่มมิตซุยเข้ามาค้ำจุนกิจการ เป็นอำนาจใหม่ที่ชาตรีใช้พูดกับสว่างรู้เรื่องกว่าความเป็นเพื่อน

เป็นที่ทราบกันว่านายห้างชินไม่ชอบ “เล่น” ที่ดิน เพราะประสบการณ์การ “เล่น” ที่ดินของแบงก์กรุงเทพในยุคเริ่มแรกทำให้แบงก์กรุงเทพเกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรง นั่นเป็นวิธีอธิบายแบบที่หนึ่ง อีกแบบหนึ่งก็คือความเป็นผู้อพยพของนายห้างชินที่ไม่จบสิ้นดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นสำหรับชาตรีแล้วเขาพูดกับ “ผู้จัดการ” เองว่าเขาไม่ชอบ “เล่น” ที่เหมือนกัน แต่ไม่ถึงขั้นผู้เป็นพ่อ “ผมซื้อบ้างก็เล็กน้อย เพราะช่วงนี้ธุรกิจนี้กำลังไปดี” ปัจจุบันชาตรีมีที่ดินหลังแบงก์กรุงเทพสำนักงานใหญ่ประมาณ 10 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่จอดรถอยู่ และเพิ่งซื้อใหม่อีกแปลงอยู่ริมถนนสาทร

ส่วนการตั้งบริษัทที่ปรึกษาก็ดี หรือร่วมเสริมกิจตั้งบริษัทอาร์อีซี จัดสรรที่ดินก็ดีนั้น ชาตรีอธิบายว่าต้องการแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์เป็นที่ดิน กลุ่มของเขามิได้มุ่งค้าที่ดินโดยตรง

บทบาทด้านลึกของชาตรี โสภณพนิช ที่วงการแปลกใจกันมากอยู่ที่การเป็นประธานกรรมการบริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ผู้เช่าทีวีช่อง 3 และการร่วมทุนกับมิตซุย-รัสเซีย-ศรีกรุงวัฒนา ทำการส่งออกสินค้าเอง

ช่อง 3 เป็นกิจกรรมของตระกูลมาลีนนท์ นำโดยวิชัย มาลีนนท์ ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดที่สายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันแนบแน่นกับจอห์นนี่ มา และในบรรดาผู้ร่วมงานใกล้ชิดจอห์นนี่ มานั้นก็มีกีรติ อรุณานนท์ชัย ผู้เป็นอาของสุนทร อรุณานนท์ชัยร่วมอยู่ด้วย กีรติเคยพูดว่าเขาเป็น “มือซ้าย” ของจอห์นนี่ มา ในขณะที่วิชัย มาลีนนท์เป็น “มือขวา” ฉะนั้นการที่สุนทรเข้ามามีส่วนในแผนการขยายเครือข่ายทีวีของช่อง 3 ในจุดสุดยอดคือการจัดหาเงินทุน 1,200 ล้านบาท และการที่สุนทรโยกแผนการดังกล่าวสถาบันการเงินในอังกฤษรายหนึ่งมาแบงก์กรุงเทพก็มีความหมายสำคัญยิ่ง โดยติดตามมาด้วยชาตรี โสภณพนิช เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเป็นรายแถมพก

“หากคุณรู้ธุรกิจทีวีดี คุณก็จะรู้ว่าเงินหมุนเวียนระหว่างผู้สร้างหนังเอเยนซี่โฆษณา รอบมันหมุนเร็วแค่ไหน หากแบงก์กรุงเทพ ยืนอยู่ตรงกลางแล้ว เงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะไหลมาจำนวนมาก คุณชาตรีแกเข้าใจเรื่องนี่ดี” แหล่งข่าวผู้รู้เรื่องราวดีกล่าว

ย่อมเข้าสูตรกลยุทธ์ของชาตรีที่เขากล่าวกับ “ผู้จัดการ” ไว้แล้วข้างต้น

ส่วนกรณีการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นการร่วมทุนหลายฝ่าย รัสเซีย-มิตซุย -แบงก์กรุงเทพ-ศรีกรุงวัฒนา ทำให้ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของแบงก์กรุงเทพมาตลอดตั้งข้อกังขา แบงก์นี้กำลังจะก้าวล้ำบทบาทเดียวที่ TRADE FINANCING มาเป็น TRADER เสียเอง ชาตรี โสภณพนิชไขข้อข้องใจนี้ผ่าน “ผู้จัดการ” ว่าเขาต้องการทำหน้าที่เดิมเท่านั้น เพียงแต่ว่าเมื่อแบงก์รัสเซียถือหุ้น 10% แบงก์ก็จำเป็นต้องถือ 10% ด้วย “มันเป็นมารยาท” เขาเน้น

บางคนบอกว่ามันเป็น “ความต่อเนื่อง” ของความสัมพันธ์ระหว่างชาตรี-สว่าง และเป็น “จุดอ่อนเปราะ” สไตล์การสร้างอาณาจักรธุรกิจให้เพื่อน (ลูกค้า)

สว่าง เลาหทัยได้รับการสนับสนุนจากชาตรีอย่างมากในการสร้างอาณาจักรธุรกิจของเขาจนเติบใหญ่ แต่เมื่อเขาไม่ละทิ้งการค้าแบบเสี่ยงโชคไปสู่ที่ก้าวหน้าซึ่งนักวิชาการกล่าวว่า เป็นการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต แต่ทว่าสว่างจมปลักอยู่กับการค้าแบบเดิม ครั้นเผชิญวิกฤตหนี้เลยท่วม จนจุกอกชาตรีมาจนทุกวันนี้ “สิ่งที่นายห้างชินกลัวมากได้เกิดขึ้นในยุคของคุณชาตรีแล้ว” อดีตพนักงานอาวุโสแบงก์กรุงเทพกล่าวอย่างปลงๆ

สว่าง เลาหทัย สหายผู้ช่วยค้ำบัลลังก์ชาตรีในการกว้านซื้อหุ้นแบงก์กรุงเทพครั้งกระโน้น กลายเป็น “หอกข้างแคร่” ไปเสียแล้ว ชาตรีพยายามอย่างยิ่งยวดในการแก้ปมเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าความสัมพันธ์ของคนทั้งสองดูจืดจางไปบ้าง แต่เขาก็มิอาจทำอะไรได้มากกว่า “การเลี้ยงไข้” ต่อไป

แม้ว่าทุกวันนี้บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย กลุ่มสว่างยังถือประมาณครึ่งหนึ่ง แต่บทบาทของเขาลดถอยลงตามลำดับ เมื่อชาตรีส่งลูกชายคนหนึ่งของเขาเข้าไปเทกโอเวอร์ เช่นเดียวกับบริษัทเอเชียเสริมกิจแต่เดิมสว่าง เลาหทัยเป็นกรรมการผู้จัดการก็ถูกแทนที่ด้วยลูกชายคนเดิมของชาตรีคนนั้นอีก

ชาตรี โสภณพนิชจึงมายืนในจุดที่หาจุดยืนยากเหลือเกิน เขาต้องพลิกแพลงอย่างมากในการแสวงหาลูกค้าใหม่ที่ซื่อสัตย์พร้อม ๆ กับการรักษาความภักดีของลูกค้าเดิมและลูกค้าเก่าก็ยังไม่ได้พัฒนาการธุรกิจไปกว่าเดิมด้วย

เพราะเหตุนี้กระมังชาตรีจึงรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องใช้เวลาอีกมาก

เช่นเดียวกับทายาทของเขาก็เพิ่งเริ่มต้นในยุทธจักรกันด้วย ภาระในการสร้างอาณาจักรส่วนตัวและการจัดวางบทบาทเพื่ออนาคตจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ชาติศิริ ลูกชายคนโตอายุ 28 ปี จบเอ็มบีเอที่ SLOAN SCHOOL OF MANAGEMENT ได้ชื่อว่าเป็นคนง่าย ๆ ไม่แสดงความร่ำรวย สมัยเรียนเมืองนอกก็นั่งรถเมล์เป็นประจำ เขาได้รับวางบทบาทหลักอยู่ที่แบงก์กรุงเทพอย่างเห็นชัด ชาติศิริเริ่มงานที่สำนักค้าเงินตราระหว่างประเทศ (2529) จุดเริ่มต้นของเขาเหมือนกับชาตรี ที่สำคัญชาติศิริอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้ซึ่งกล่าวขวัญกันว่าไต่บันไดความสำเร็จเร็วที่สุดเนื่องจากได้รับแรงส่งจากชาตรี และเป็นคนหนึ่งที่นั่งสงบเสงี่ยมอยู่บนเก้าอี้ “บิ๊กบอส” ในห้องทำงานชั้น 26 ขณะชาตรีพูดโทรศัพท์ DEAL กับลูกค้า ดร.วิชิตจะถูกปรึกษาอย่างใกล้ชิด ครั้นชาตรีพูดจบเขาก็จะรับคำสั่งนั้นไปทำอย่างตั้งอกตั้งใจเป็นประจำ

ส่วนลูกสาวคนโปรดอายุ 27 ปีที่ชื่อสาวิตรี หลังจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากโคลัมเบียก็กลับเมืองไทย เข้าเรียนเอ็มบีเอ ที่จีบ้า สถาบันที่ผู้พ่อให้การสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่รายหนึ่ง ลูกสาวคนนี้ของชาตรีเป็นคนมีฟอร์มมากคนหนึ่ง เมื่อเรียนจบแล้วก็เข้าฝึกงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจพักหนึ่งก็เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายทันทีในปี 2529 พร้อม ๆ กับการเป็นกรรมการบริหาร อันเป็นการไต่เต้าแบบลูกเจ้าสัวที่พึงปฏิบัติกันในประเทศนี้ เธอเป็นผู้จัดการฝ่ายหลักทรัพย์ ไปพร้อม ๆ กับการรักษาผู้จัดการฝ่ายประกันและร่วมประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ ลูกสาวคนนี้อยู่ภายใต้การฝึกปรือของ ดร.ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท ดอกเตอร์อีกคนหนึ่งที่ถือเป็น “แขนขา” ของชาตรี ดูแลกิจการของครอบครัวเลยทีเดียว

คนที่สามเป็นชายชื่อชาลี อายุ 26 ปี จบปริญญาตรีด้านวิศวกรมที่ BROWN UNIVERSITY และเรียนเอ็มบีเอที่ CHICAGO คนนี้มีบุคลิกคล้ายพ่อมาก ทั้งหุ่นและความคิด เพิ่งจะกลับมาเมืองไทยในปีนี้ มาพร้อมกับการเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทส่วนตัวของชาตรีอย่างน้อย 2 แห่ง เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเอเชียเสริมกิจ แทนสว่าง เลาหทัย เข้าเป็นผู้อำนวยการผู้มีอำนาจในบริษัทหลักทรัพย์เอเชีย (เพราะแบงก์ชาติยังไม่อนุญาตให้เป็นกรรมการบริหาร) และบริษัทเอเชียคลังสินค้า คนในวงการกล่าวว่าคนนี้ถูกวางในตำแหน่ง “นักลงทุนด้านหุ้น” ของครอบครัวชาตรี โสภณพนิช “ผมไม่ชอบเป็นเจ้าหนี้เขา สไตล์ผมคือกู้เงินมาหาทางหรือโอกาสในการลงทุน” เขาเคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนและเน้นว่าเขาไม่ชอบหน่วยงานขนาดใหญ่ด้วย

ส่วนลูกสาวคนสุดท้องเพิ่งจบมา ยังไม่มีบทบาทในธุรกิจ

นักสังเกตการณ์กล่าวว่าชายอายุเกือบ 53 ปีอย่างชาตรีวันนี้ แม้จะมีรสนิยมสูงตามความร่ำรวย ชอบภาพเขียน กลับจากเมืองนอกคราใดหอบมาทุกครั้ง หรือชอบเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้านหลังใหญ่ หรือชอบสวมนาฬิกาฝังเพชร ราคาเป็นแสน แต่แนวความคิดยังมิได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ประสบการณ์ความสำเร็จในชีวิตของเขาก็คงเป็นตัวตั้งในการวางแผนอนาคตให้ลูกและการสร้างอาณาจักรของเขา จาก “จุดตั้ง” ของลูกๆ เขานั้น บทบาทของชาตรี โสภณพนิชในปัจจุบันนั่นเอง เขายังยืนยันแนวคิดดังที่เขากล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่าเขาไม่คิดจะลงทุนด้านอุตสาหกรรมหรือเป็นนักอุตสาหกรรมแต่อย่างใด!!!

เขาพยายามจะใช้ประสบการณ์ของเขาสมทบกับของชิน โสภณพนิช-ผู้พ่อ ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว พยายามปรับตัวตามสถานการณ์สมกับเป็น “พ่อค้า” ของเขา

“หนึ่ง-ทำงานหนัก ทุ่มเทตลอดชีวิตเพื่องาน สอง-มองหาช่องทางจะได้ประโยชน์ (EQUITY) และพร้อมจะเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา สาม-เน้นผลตอบแทน (RESULT ORIENTED) ในเฉพาะหน้า ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้เขาจึงปรับตัวอยู่ตลอดเวลา” ดังข้อเขียนใน “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 47 สิงหาคม 2530 ในเรื่องสามทศวรรษธุรกิจไทยมิผิดเพี้ยน

ชาตรี โสภณพนิชวันนี้มายืนบนชะง่อนผาแล้ว เขาจะต้องตัดสินใจว่าเขาจะกระโดดข้ามไปหรือจะหยุดกับที่-ถอยหลัง เพื่อรอให้ทายาทของเขาแสวงหาอนาคตของพวกเขาเองเช่นเขาเลือกมาแล้ว โดยที่ชิน โสภณพนิช อาจไม่เต็มใจนัก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us