เมื่อกล่าวถึงย่านธุรกิจการค้า ผู้คนจำนวนไม่น้อยคงนึกถึง สีลม สาทร สุขุมวิท
หรือพระราม 3 เนื่องเพราะมายาภาพของความทันสมัย ที่บังเกิดขึ้นบนถนนสายหลักเหล่านี้
นำพาให้มโนทัศน์ การรับรู้ของผู้คนเป็นไปในทิศทางเช่นว่านี้
แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต และศึกษาข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ย่านธุรกิจการค้าที่พลุกพล่านด้วยผู้คน และเป็นประหนึ่งหัวใจของระบบธุรกิจนานาชนิด เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ ที่นี่ "เยาวราช"
ย่านธุรกิจการค้าที่เปี่ยมด้วยสีสัน และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งนี้
ตั้งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งแม้จะมีขนาดพื้นที่เพียง 1.43 ตารางกิโลเมตร
แต่ก็เป็นเขตที่มีประชากรชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่อย่างคับคั่ง และนับเป็นไชน่าทาวน์ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
กิจกรรมทางการค้าในย่านเยาวราช เริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากที่ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงโปรดให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีพระบรมมหาราชวังตั้งขึ้นในพื้นที่ที่แต่เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน และโปรดให้ย้ายชุมชนชาวจีนออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกประตูพระนครทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองสามเพ็ง
บทบาทและความสำคัญของชาวจีนเหล่านี้ มิได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใด หากแต่เป็นการสั่งสมและขยายตัวมาตลอด ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในฐานะที่เป็นผู้ยึดกุมกลไกทางเศรษฐกิจการค้ามาอย่างต่อเนื่อง
และจำเริญยิ่งขึ้น เมื่อสยามประเทศมีการติดต่อการค้ากับนานาประเทศมากขึ้นในเวลาต่อมา
กิจการค้าของชาวจีน ที่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านสามเพ็งเติบโตขึ้นเป็นลำดับ
โดยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ฝรั่งที่เข้ามาติดต่อการค้ากับสยามประเทศ เรียกขานย่านสามเพ็งในฐานะที่เป็น "ตลาดจีน" หรือ "Chinese Bazaar"
ในบันทึกของมิชชั่นนารีที่ได้เข้ามาเยี่ยมดูย่านสามเพ็งในปี 2378 ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า
"ตลาดทั้งหมดดูแล้วน่าจะเรียกว่าเมืองการค้า (trading town) มากกว่า ที่นี่มีร้านค้ามากมายหลากหลาย ตั้งอยู่บนสองฝั่งฟากถนนยาวราว 2 ไมล์ แต่ด้วยเหตุที่ร้านค้าต่างๆ
ตั้งอยู่ปะปนกัน เดินเพียงไม่กี่หลาก็สามารถหาซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ได้ครบตามที่ต้องการ"
แม้จะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ มากมายเกี่ยวกับเยาวราช แต่เสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะของย่านธุรกิจการค้าแห่งนี้
ก็ยังคงความเย้ายวนให้ผู้คนได้ศึกษา และมีส่วนร่วมสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นไปของชุมชนนี้อย่างไม่ขาดสาย
เช่นเดียวกับ "โครงการเครือซิเมนต์ไทย.....รักษ์ไทย" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างจิตสำนึก และให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ได้เลือกที่จะจัดกิจกรรมในโครงการ ครั้งที่ 14 (4/2543) ด้วยการเยี่ยมชมชุมชนย่านเยาวราช
เมื่อต้นเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา
การย้อนอดีตเพื่อพิจารณาปัจจุบันของเยาวราช สามารถเริ่มต้นที่ท่าน้ำราชวงศ์
ซึ่งตั้งอยู่ปลายถนนราชวงศ์ อันถือเป็นเส้นเขตแดนของเยาวราชทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ท่าน้ำราชวงศ์ นับเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนเมื่อครั้งอดีตเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางในการขนส่งสินค้าจากประเทศสยามออกสู่ตลาดโลกแล้ว
ท่าเรือแห่งนี้ยังเป็นท่าเรือที่พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศอีกด้วย
"ท่าราชวงศ์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของลำน้ำ กลายเป็นประตูที่เจ้านายชั้นสูงได้ใช้ติดต่อกับต่างประเทศ ขณะที่ท่าเตียนกลายเป็นท่าเรือสำหรับไพร่ในการขนส่งสินค้าและเดินทาง"
ขวัญสรวง อติโพธิ ให้ข้อมูลในช่วงหนึ่งของการเดินสำรวจเยาวราช
จากท่าน้ำราชวงศ์ขนานฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางใต้ตามแนวถนนที่เรียกว่า
ทรงวาด นั้น คือเขตการค้าที่รุ่งเรือง และเป็นหัวใจของการค้าระหว่างประเทศของไทยกับโลกภายนอกมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
พืชผลทางการเกษตรจากแหล่งผลิตในประเทศไทยถูกลำเลียงมาที่นี่ เพื่อรอคอยการขนถ่ายไปยังเรือสินค้าขนาดใหญ่
ที่จอดทอดสมออยู่ทางด้านใต้ของลำน้ำลงไปอีก ภูมิทัศน์บริเวณสองฟากฝั่งของถนนทรงวาด ซึ่งแม้วันนี้จะดูคับแคบไปบ้างแล้ว เต็มไปด้วยกลุ่มอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมหลากหลาย และทิ้งร่องรอยของอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากตะวันตก ผสานกับวิถีชีวิต
และขนบชาวจีนให้เห็นอยู่เป็นระยะ
กลุ่มอาคารที่ตั้งอยู่ติดกับฝั่งลำน้ำได้รับการออกแบบไว้ เพื่อเป็นคลังสินค้าขนาดใหญ่
ซึ่งสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งในอดีต ก่อนที่ขอบเขตของเมืองจะขยายลงไปทางใต้ของลำน้ำยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา
ถนนทรงวาดสายนี้เอง ที่ตำนานของบรรษัทน้อยใหญ่ในประเทศไทย จำนวนไม่น้อยเริ่มต้นขึ้น
และที่น่ากล่าวถึงที่สุดคงไม่พ้นตำนานของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่เริ่มขึ้นเมื่อเจี่ยเอ็กชอ
เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี 2464 และดำเนินกิจการค้าเมล็ดพันธุ์ในนาม
เจียไต๋จึง ก่อนที่จะขยายกิจการ และกลายเป็นหนึ่งในตำนานเครือข่ายธุรกิจการค้า
ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน
ความสำคัญของท่าน้ำราชวงศ์และถนนทรงวาด ดำเนินไปพร้อมๆ กับการติดต่อการค้าระหว่างสยามประเทศกับโลกภายนอก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง เพราะภายใต้กระแสพาณิชย์นิยม
(Merchantalism) และการล่าอาณานิคม (Colonialism) ซึ่งติดตามมาด้วยการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง
ในปี 2398 ที่ยังผลให้สยามประเทศต้องเปิดประเทศค้าขาย และผูกขาดการค้าแบบเดิมไม่ได้
กิจกรรมด้านการนำเข้า และส่งออกจึงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และบริเวณทรงวาดกลายเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย
ข้าว พริกไทย เครื่องเทศ น้ำตาล น้ำมันมะพร้าว และสินค้าพื้นเมืองอีกเป็นจำนวนมาก
กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งการส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดการสะสมทุนในหมู่ชาวจีนในย่านนี้อย่างกว้างขวาง
พืชผลการเกษตรที่ผลิตและหาได้จากพื้นที่ตอนบนของประเทศ ถูกลำเลียงล่องลงมาตามลำน้ำ
ขณะที่บางส่วนได้มาจากเขตเรือกสวนไร่นาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งได้อาศัยร่องน้ำคลองบางกอกน้อยเป็นเส้นทางลำเลียงเข้าสู่ตลาดในเขตพระนคร
โดยสินค้าจำนวนหนึ่งจะมาขนถ่ายขึ้นที่ท่าเตียน เพื่อใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ
และส่วนที่เหลือซึ่งเป็นจำนวนข้างมากจะขนถ่ายเข้าสู่คลังสินค้าบริเวณถนนทรงวาด
เพื่อเตรียมขนถ่ายไปสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนจัดเก็บอยู่ในคลังสินค้าย่านคลองสานของกลุ่ม
"ตระกูลหวั่งหลี" ด้วย
การเดินเท้าไล่เรียงอดีตบนถนนทรงวาด ทำให้เราได้พบกับผังเมือง และรูปแบบการดำเนินชีวิตของชุมชนชาวจีน
ที่น่าสนใจยิ่งอีกประการหนึ่ง เพราะกลุ่มอาคารและเส้นทางสัญจร ได้ถูกออกแบบให้สามารถลัดเลาะไปมาถึงกันในลักษณะของโครงข่ายใยแมงมุม
ซึ่งเป็นไปเพื่อตอบสนองกับสถานะความเป็นเมืองการค้าอย่างแท้จริง
"การเป็นเมืองการค้าสำคัญที่สุด ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงซึ่งพื้นที่ในเขตชุมชนจากถนนทรงวาด ทะลุสู่ถนนเยาวราชนั้น จะประกอบด้วยตรอก ซอก ซอย จำนวนมาก
ซึ่งทำให้อาคารทุกหลังมีเส้นทางผ่านเชื่อมถึงกัน และทำให้ชุมชนนี้มีลักษณะเป็น
Complex city ที่เบียดอัดกิจกรรมทางสังคม และวัฒนธรรมไว้ภายในพื้นที่เดียว"
ขวัญสรวง ในฐานะที่เป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงสถาปัตยกรรม ให้มุมมองเชิงภูมิสถาปัตย์และผังเมือง
ความข้อนี้ดูจะสอดรับกับศาลเจ้าจีน ที่ตั้งอยู่เกือบจะกึ่งกลางความยาวของถนนสายนี้
ซึ่งมีฐานะเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ และพิธีกรรมประเพณีของชาวชุมชนย่านนี้
ขณะเดียวกัน ด้านหลังของศาลเจ้าที่มีอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้ ก็คือ สถานที่ตั้งของโรงเรียนเผยอิง
ที่ก่อตั้งมานานจนครบรอบ 80 ปีในปีนี้
โรงเรียนเผยอิง นับเป็นโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีนควบคู่กับหลักสูตรของทางการจำนวนไม่กี่โรงเรียนที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากพิจารณาในเชิงโครงสร้างหน้าที่ โรงเรียนแห่งนี้ก็คือกลไกในการถ่ายเทค่านิยม และวิธีคิดจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นลูกรุ่นหลานให้มีความแนบแน่นกับชุมชน
ซึ่งเป็นฐานรากของครอบครัวแบบชาวจีนแห่งนี้นี่เอง
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของอาคารบ้านเรือนบนถนนทรงวาด ยังคงทิ้งร่องรอยความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตไว้ให้ได้ศึกษา
แต่ทั้งนี้มิได้เป็นผลจากกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์อาคารแต่อย่างใด หากเป็นผลมาจากกฎหมายว่าด้วยการปลูกสร้างอาคารใหม่ ที่กำหนดให้ต้องเว้นระยะจากขอบถนนเข้าไปประมาณ
10 เมตร เพื่อทำบาทวิถีสาธารณะ ทำให้เจ้าของอาคารไม่ประสงค์จะสูญเสียที่ดินไปโดยเปล่าเปลือง
และมีผลโดยอ้อมในการรักษาสภาพดั้งเดิมของถนนทรงวาดเมื่อครั้งอดีตมาจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ชุมชนบนถนนทรงวาดต่อเนื่องไปยังเยาวราช มิได้จำกัดวงให้เป็นถิ่นที่อยู่เฉพาะชาวจีนเท่านั้น การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ทำให้ชาวต่างชาติหลากหลายเผ่าพันธุ์
เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าที่มีความสามารถในการเลือกซื้อ
และเจียระไนเพชรพลอยจากเปอร์เซีย
การผสมผสานทางวัฒนธรรมบนถนนทรงวาด ยังปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
หรือที่นิยมเรียกว่า วัดสำเพ็ง ซึ่งเป็นวัดเก่าที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งอาราม โดยรอบพระอุโบสถล้อมรอบด้วยพระระเบียง
ซึ่งมีประตูเข้าออกด้านละ 1 ประตู โดยแต่ละประตูมีภาพเขียนสีเป็นรูปอารักษ์แบบจีนประจำอยู่
วัดปทุมคงคาราชวรวิหารแห่งนี้ ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์
ด้วยในรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศ ที่คิดกบฏด้วยท่อนจันทน์
ที่แท่นหินประหารกบฏ เมื่อปี 2391 ด้วย
ถัดจากวัดปทุมคงคาฯ ลงไปทางด้านทิศใต้ ช่วงบริเวณโค้งลำน้ำ สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจการค้าของสยามประเทศก็คือ ที่ตั้งของอาคารที่ทำการธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย
ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย "พระบิดาแห่งธนาคารไทย" ได้ทดลองจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ในปี 2447 โดยใช้ชื่อ "บุคคลัภย์" ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นบริษัทแบงก์สยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
และหากไล่เรียงขนานต่อไปตามลำน้ำ โบสถ์กาลหว่าร์ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งชาวโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวนหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา
ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2310 ได้สร้างไว้ โดยได้ชื่อตามภูเขาที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน
ว่า "กาลวารีโอ" และต่อมาได้รับการเรียกขานว่า "วัดกาลหว่าร์"
สำหรับอาคารที่เห็นในปัจจุบัน เป็นการบูรณะขึ้นใหม่ในปี 2434 ซึ่งนับเป็นการบูรณะครั้งที่ 3 โดยผนังของโบสถ์หลังใหม่ยังเป็นการก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ ไม่ใช้เหล็กเส้นและเสาเข็ม ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Gothic ที่งดงามมากแห่งหนึ่ง
ย้อนกลับเข้ามาทางด้านถนนตรีมิตร มุ่งหน้าเข้าสู่วงเวียนโอเดียน จะสามารถเห็นซุ้มประตูที่ชุมชนชาวจีนได้รวบรวมทุนทรัพย์จำนวนหนึ่ง จัดสร้างขึ้นเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
6 รอบพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นประตูเมืองเข้าสู่
China Town ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านทิศตะวันออก
จากวงเวียนโอเดียนเข้ามาตามถนนเยาวราช ก็จะพบกับแหล่งค้าขายทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จนมีผู้กล่าวถึงถนนสายนี้ในฐานะที่เป็นถนนสายทองคำ เพราะเป็นถนนที่มีร้านค้าทองคำดำเนินกิจการหนาแน่นที่สุดของประเทศ
และกลายเป็นประเพณีนิยมที่ว่า ร้านค้าทองคำไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ตำบล แห่งหนใดของประเทศ
จะต้องอ้างว่าเป็นทองคุณภาพจากเยาวราชจนกลายเป็นภาพที่ชินตาในปัจจุบัน
บนถนนเยาวราชนี้เอง ที่ความเจริญทางวัตถุและความทันสมัยนานาประการได้ถือกำเนิดขึ้น ก่อนที่จะขยายตัวไปยังแห่งอื่นๆ ในเวลาต่อมา ภาพของอาคารสูง 6 ชั้น 7 ชั้น หรือแม้กระทั่ง
9 ชั้น พร้อมกับลิฟต์ขนส่งผู้คน เป็นสิ่งที่ชวนตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้คนในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างมาก
อาคารทั้งสามหลังที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ นับเป็นแหล่งบันเทิงเริงรมย์ในยุคบุกเบิกที่ขึ้นชื่อที่สุดในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไนต์คลับ ภัตตาคาร สถานที่จัดเลี้ยง
ตลอดจนโรงน้ำชา ซ่องโสเภณี และบ่อนการพนัน
โรงภาพยนตร์แห่งแรกๆ ในสยามประเทศ ก็เกิดขึ้นในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังเท็กซัส
พัฒนากร เทียนกัวเทียน ฯลฯ ขณะที่ชายขอบของ "ไชน่าทาวน์" แห่งนี้ยังมีโรงหนังโอเดียน
กรุงเกษม เฉลิมกรุง โรงหนังแกรนท์ คิงส์ และควีนส์ ที่ย่านวังบูรพาด้วย
ความหลากหลายและพร้อมพรั่งของถนนเยาวราช มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น
ความพลุกพล่านจอแจที่บางครั้งดูคล้ายจลาจล ได้กลายเป็นสีสันและก่อรูปขึ้นเป็นความรับรู้ทั่วไปทางสังคมเกี่ยวกับชาวจีนในลักษณ์ที่ออกจะวุ่นวายและอึกทึก จนยากจะแยกออกจากกัน
นอกจากนี้ ในเรื่องของอาหารการกินที่ชาวจีนให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ได้ส่งผลให้เยาวราชเป็นแหล่งอาหารรสเลิศ
ที่มีหลากหลายระดับราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเข้าสู่ช่วงเวลาค่ำคืน ซึ่งทำให้เยาวราชเป็นย่านที่ไม่รู้จักหลับ หากแต่ตื่นอยู่ตลอดเวลา
เคยมีผู้กล่าวเปรียบเทียบร้านอาหารบนถนนเยาวราชว่าไม่ต่างกับย่านศาลเจ้าบนฝั่งเกาลูนของฮ่องกง
แต่ในช่วงระยะไม่กี่ปีมานี้ ความนิยมและชื่อเสียงในรสชาติอาหารของเยาวราชดูจะเติบโตแซงหน้าไปเสียแล้ว
เมื่อปรากฏว่าลูกค้าที่เดินทางมารับประทานอาหารที่นี่ไม่ได้มีเฉพาะลูกค้าชาวไทยเท่านั้น
หากแต่จำนวนไม่น้อยเป็นนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน
รวมทั้งชาวต่างประเทศจากโลกตะวันตกด้วย
จากถนนเยาวราช ลัดเลาะเข้าไปในตรอกอิสสรานุภาพ เพื่อเชื่อมต่อไปยังถนนเจริญกรุง
ภาพชีวิตและลมหายใจของผู้คนบริเวณนี้ แม้จะลดระดับความครึกโครมจากการจราจรบนถนนสายหลัก
แต่ความเร่งรีบในตรอกเล็กๆ แห่งนี้มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนอื่นๆ ของเยาวราชแต่อย่างใด
การค้าขายในตรอกอิสสรานุภาพ ประกอบด้วยแผงขายผลไม้นานาชนิดจากทุกมุมโลก
ทั้งผลไม้ในท้องถิ่นประเทศไทย และผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน แผงขายสินค้าจำพวกหมู
ห่าน เป็ด ไก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล รวมถึงปลิงทะเล เห็ด กระเพาะปลา และสินค้าจำพวกที่มีสรรพคุณทางอายุวัฒนะ ก็ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ
ในช่วงกลางของตรอกอิสสรานุภาพนี้ ยังมีร้านง่วนสูน ผู้ผลิตและจำหน่ายพริกไทยป่น
ตรามือที่หนึ่ง ซึ่งนับเป็นผู้ผลิตพริกไทยป่นรายใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ในตรอกแห่งนี้ด้วย
ที่ส่วนปลายของตรอกอิสสรานุภาพ ก่อนที่จะถึงถนนเจริญกรุง ร้านค้าในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายกระดาษเงินกระดาษทอง และสินค้าที่ต้องใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อแบบชาวจีน
ด้วยเหตุที่บนถนนเจริญกรุงนั้น เป็นที่ตั้งของวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่
ซึ่งถือเป็นวัดจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
กิจการร้านค้าบริเวณโดยรอบของวัดเล่งเน่ยยี่ และลึกเข้าไปในตรอกถั่วงอก
จึงประกอบไปด้วยร้านค้าเครื่องมงคลต่างๆ แม้สินค้าจำพวกอาหารก็เป็นอาหารมงคลที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้บวงสรวงเจ้า ตามความเชื่อแบบพุทธศาสนามหายาน ผสานผสมกับลัทธิขงจื๊อและเต๋า ซึ่งในความคิดของจีนนั้น ดูเหมือนว่าทั้งพุทธ เต๋า และขงจื๊อ มิได้แตกต่างหรือแยกออกจากกันนัก
ถัดจากตรอกอิสสรานุภาพไปไม่ไกลนักมีถนนที่ทอดขนานกันอีกสายหนึ่ง ถนนสายนี้มีชื่อว่า
ถนนมังกร ซึ่งเชื่อมถนนเยาวราชและถนนเจริญกรุงเช่นกัน ส่วนปลายของถนนมังกรด้านเยาวราชนั้น
เดิมเคยเป็นที่ตั้งของสถานเริงรมย์ชั้นนำของยุคสมัยบนอาคารที่สูงเก้าชั้น
ทำให้คนจำนวนไม่น้อยติดปาก ที่จะเรียกถนนสายนี้ว่า "ตรอกเก้าชั้น" แม้ในปัจจุบัน
ขณะที่ปลายถนนมังกรด้านเจริญกรุงนั้น นับเป็นตลาดค้าเป็ด ไก่ ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใจกลางเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษ-สารท ภาพที่สามารถพบเห็นได้ก็คือ
เป็ด ไก่ จำนวนนับพันตัว จะถูกลำเลียงยัดเยียดรวมกันมาในตะกร้าขนาดใหญ่
รอคอยผู้มาจับจ่ายนำไปเป็นอาหาร เซ่นไหว้เทพเจ้าต่อไป
การเดินเท้าไล่เรียงไปตามถนนเจริญกรุง นับจากช่วงปากถนนมังกร ผ่านตรอกอิสสรานุภาพ
ผ่านถนนแปลงนาม และถนนผดุงด้าว มีอาชีพที่เก่าแก่มากมายหลากหลาย ที่เชื่อว่าน่าจะสามารถพบเห็นได้ที่นี่เพียงแห่งเดียว ในปัจจุบัน
บริเวณหัวมุมถนนแปลงนามอาจนับได้ว่าเป็น salon กลางแจ้งรุ่นบุกเบิก ก่อนที่จะมีผู้นิยมเปิดร้านเสริมสวยกลางตลาดนัดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน หากแต่เทคโนโลยีการปรุงแต่งความงามของ beauty salon ในย่านนี้มีเพียงด้ายขาวและแป้งแข็งขาว
ผนวกกับความชำนาญการในการใช้มือเท่านั้น
สาวชาวจีนแต่ครั้งโบราณ เชื่อว่า "การกันหน้า" โดยด้ายและแป้งขาว นอกจากจะทำให้ผิวหน้าเนียนเรียบปราศจากสิ่งสกปรกตกค้าง
และไรขนที่ไม่พึงประสงค์แล้ว ยังทำให้ใบหน้าเต่งตึงอีกด้วย
ถัดจากร้านเสริมสวย หญิงสาวอีกนางหนึ่งกำลังก้มหน้าก้มตาง่วนอยู่กับผืนผ้าตรงหน้า
อาชีพของเธอคือ การรับจ้างชุนผ้า ซึ่งบริเวณเจริญกรุงนี้ถือเป็นแหล่งการชุนผ้า
ที่มีฝีมือดีเป็นที่กล่าวขาน แต่กว่างานแต่ละชิ้นจะสำเร็จเสร็จสิ้น ต้องใช้เวลานานพอสมควร
เพราะนอกจากจะต้องเปรียบเทียบสีของด้ายให้ใกล้เคียงกันแล้ว ยังต้องอาศัยฝีมือ
ความประณีต และสมาธิควบคู่กันไป ขณะที่ตะกร้าใส่ผ้าของเธอยังมีงานรอคอยให้ซ่อมแซมอยู่อีกเป็นจำนวนไม่น้อย
อาชีพ "เขียนคำมงคลและคำอวยพร" เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ที่นี่
และนับเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ใกล้จะสูญสิ้นไปพร้อมกับความประณีตบรรจงในการใช้ชีวิตที่ลดลงในสังคมที่รีบเร่งเช่นนี้
กระดาษสีแดง และหมึกสีทอง ได้รับการจัดเตรียมไว้ พร้อมๆ กับถ้อยคำที่สละสลวย
และมีความหมายมุ่งเน้นการอยู่ดีมีสุข ความร่ำรวย และความเจริญในอาชีพการงาน
อย่างเป็นด้านหลัก
ความเป็นจริงประการหนึ่งของอาชีพดังกล่าวในปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีอนาคตที่หดสั้นลงทุกขณะ
ตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการพิมพ์ อีกทั้งคนจีนในรุ่นก่อนๆ ยังมีทัศนคติด้านลบในลักษณ์ที่ว่า ผู้ประกอบอาชีพนี้จะมีความสุข และร่ำรวยได้ยาก เพราะได้มอบความมั่งคั่งให้กับผู้อื่นไปพร้อมกับกระดาษและถ้อยคำที่รับจ้างเขียนเสียแล้ว ยิ่งทำให้อาชีพ "เขียนคำมงคลและคำอวยพร" อยู่ในสภาพที่อาภัพอย่างยิ่ง
วิถีชีวิตและความหลากหลายที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ร่วมกันอย่างน่าอัศจรรย์ใจของเยาวราช
ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีเอกลักษณ์ และความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับบริบทของสังคม
ในมิติที่สลับซับซ้อน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เป็นชุมชนที่เปี่ยมด้วยสีสัน และความกระฉับกระเฉง ตั้งแต่อรุณรุ่งจวบจนอัสดง อย่างที่ไม่เคยรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย
และหยุดพักหลับใหลแม้แต่น้อย