ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์
เมื่อกล่าวถึงการบริหารงานที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแล้ว ผมว่าการบริหารงานที่นั่นมันเป็นไปตามภารกิจ
เมื่อมีภาระที่มอบหมายมาก็ต้องมีคนทำ
หลักการของผมก็คือ ผมพยายามใช้คนให้น้อยที่สุด เรียกว่า นโยบายคุมกำเนิด
เราเคยพิจารณายอดอัตรากำลังคนเมื่อ 6-7 ปีก่อน จำได้ว่า คณะกรรมการพิจารณาแล้วกำหนดไว้ไม่ให้เกิน
3,700 คน จนกระทั่งเมื่อถึงปีที่ 8 แล้ว อัตรากำลังคนก็ยังไม่เกินจำนวนนี้
เราต้องการคนที่มีคุณภาพ เงินเดือนเราไม่มาก ถ้าคนไม่รักกันจริงก็ไม่อยู่แล้ว
เราพัฒนาคนโดยวิธีล้างสมองส่งไปอบรมบ้าง พูดกันบ่อย ๆ บ้าง ส่งไปเรียนบ้าง
การบริหารที่ยึดกันมาเรื่อย ๆ ความจริงก็คือ ทฤษฎีต่าง ๆ มันมีมาก แต่พอทำจริง
ๆ แล้วใช้ไม่ได้ สำหรับกรณีของไทยเรา ผมว่าสิ่งที่ทำให้ผมทำงานได้คือ ผมเป็นคนง่าย
ๆ เมื่อผมทำอะไรผมจึงไม่คิดมาก แต่ผมก็มีหลักในการคิด ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ
แต่หลักการของผมนั้น ผมพยายามทำให้ง่ายที่สุด ด้วยการ หนึ่ง - ทำงานอย่างมีแผน
เป็นแผนที่ง่าย ๆ สอง - ตัดสินใจ
ขั้นตอนการตัดสินใจนี้ สำคัญมาก ผมว่าปัญหาหลักในการบริหารที่พบกันอยู่ทั่ว
ๆ ไปก็คือ เมื่อถึงเวลาตัดสินใจแล้ว ไม่ตัดสินใจ ด้วยสาเหตุไม่กล้า ไม่รู้
หรือลืมก็แล้วแต่ เมื่อผู้บริหารไม่ตัดสินใจ งานมันก็ไม่เกิด แล้วก็ไม่ก้าวหน้า
คนที่ทำงานกับผมเขาจะรู้นิสัยว่า ถึงเวลาตัดสินใจ ถึงเวลาคิดดีแล้วหรือยัง
ถ้าหากว่าดีแล้วเมื่อมีปัญหาจึงค่อยมาแก้ ผมว่าอีกสิ่งหนึ่งที่นักบริหารหลายคนไม่ค่อยเอาใจใส่ก็คือ
การกำหนดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมถือว่าสำคัญมาก ถึงเวลาทำแล้วต้องทำ สมมติเช่น
รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ผมทำโรงแยกก๊าซตามแผนการ เมื่อถึงเวลาแล้วถ้าหากผมไม่ทำ
งานก็ขาด รัฐบาลก็ยุ่ง ผู้ถือหุ้นก็ยุ่ง
ผมคิดว่า หลักการบริหารนั้น เราต้องวางระบบให้ง่าย ๆ ถึงเวลาแล้วตัดสินใจ
อย่าลังเลมาก เราไม่สามารถการันตีได้ว่าอะไรได้ผลครบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
ไม่มีใครทำได้ แต่เมื่อเราแน่ใจว่าผลที่ได้จะมีมากกว่าเสีย เราก็เอา คือ
ผมจะไม่ค่อยยอมให้มีการเลื่อนเวลาเกิดขึ้น รองผู้ว่า ปตท.ทุกคนรู้ดีว่า ถ้าเป็นเรื่องเลื่อนเวลาแล้ว
นั่นต้องเป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริง ๆ ผมจึงยอมเพราะไม่งั้นงานไม่เสร็จ จะทำให้โครงการช้าไปอยู่เรื่อย
ๆ
หลักการอีกอันหนึ่งที่ผมใช่เป็นประจำ คือ ทำงานต้องมีจุดยืน เมื่อเรามีเป้าหมายที่แน่นอน
เราต้องมั่นคงอย่างเอนไปเอนมาและอย่าโลเล เมื่อครั้งที่ผมเข้ามาทำงานที่
ปตท.ในระยะแรก ผมพบกับปัญหาเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมหนักใจที่สุดในตอนนั้น
คือ เราได้รับมอบหมายให้หาเงินมาซื้อน้ำมัน 65,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นจำนวนเงินในตอนนั้นเฉลี่ยประมาณ
2.2 ล้านเหรียญต่อวัน เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่เราต้องหามาให้ได้ภายใน 1 เดือนเพื่อนำมาซื้อน้ำมันที่ท่านรัฐมนตรีชาติชาย
ชุณหะวัณ ได้ติดต่อซื้อกับ ชีค ยามานี เอาไว้แล้ว ซึ่งถ้าหากเราหาให้ไม่ได้
เมื่อถึงเวลาเอาน้ำมันมาแล้ว ไม่มีเงินให้เขารัฐบาลก็เสียหน้า ตอนนั้น ปตท.เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นใหม่
ๆ เงินก็ไม่มีอยู่ในกระเป๋าเลย เมื่อผมบอกเรื่องนี้กับรองผู้ว่าศิรินทร์
(ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ รองผู้ว่า ปตท.) ท่านรองลมแทบใส่ แต่ผมเองก็ยังเชื่อว่า
ผมกับรองศิรินทร์ต้องหาเงินจำนวนนี้มาได้ ตอนนั้นก็ไปกู้ญี่ปุ่นมาจำนวนหนึ่ง
ผมยังจำได้ว่า ผมได้บอกกับรองศิรินทร์ว่า คุณมีน้ำมันอยู่ในกระเป๋าถึง 65,000
บาร์เรล แล้วน้ำมันก็เหมือนทองคำในตอนนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะกู้เงินไม่ได้
แล้วในที่สุดเรื่องมันก็จบลงอย่างง่าย ๆ ไม่ได้อะไรน่าหนักใจ เราก็หาเงินกู้ได้ไม่ยาก
สำหรับตัวผมเองแล้ว ความคิดในการจะสร้าง ปตท.ให้เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพนั้น
จำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุง ปตท.ให้ก้าวหน้าทันสมัย ซึ่งแนวความคิดนี้ ผมพยายามเน้นมากในการทำงานช่วง
2 ปีสุดท้าย ความก้าวหน้าทันสมัยที่ว่าจะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญสองประการ
คือ หนึ่ง - ต้องปรับปรุงตัวแนวความคิดความอ่านให้ก้าวหน้า สอง - ปรับปรุงอุปกรณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ก้าวหน้า
ถ้าได้ติดตามจะเห็นว่า เราได้พัฒนาระบบการสื่อสารมาก ซึ่งอันนี้จะทำให้งานด้านโอเปอเรชั่นก้าวหน้า
รวดเร็ว และถูกต้องมากยิ่งขึ้น ความพลาดพลั้งต่าง ๆ ก็น้อยลง ความปลอดภัยก็มีมากขึ้น
ตอนนั้นเราได้วางเป้าที่จะปรับปรุงระบบการสื่อสารให้สามารถเชื่อมติดต่อเข้าไปทุกคลังทั่วประเทศได้
และขณะนี้เราก็ได้มีวิทยุติดต่อให้แต่ละคลังสามารถติดต่อกับหน่วยซ่อมบำรุงได้หมดแล้ว
แต่ละคลังยังติดต่อกับหน่วยซ่อมบำรุงให้เข้าไปบริการลูกค้าได้ เมื่อก่อนนี้จะซ่อมปั๊มน้ำมันให้ลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดแต่ละครั้ง
จะต้องส่งเข้ากรุงเทพฯ กว่าจะเสร็จกินเวลาถึง 6 เดือน แต่เดี๋ยวนี้หากลูกค้าจะซ่อมเองเราจะส่งคนไปหรือไม่ก็เข้าศูนย์ซ่อมแต่ละจังหวัดเรื่องการปรับปรุงนี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง
การปรับปรุงระบบการสื่อสารในขณะนี้ เราสามารถจะดัดแปลงเครื่องระบบไมโครเวฟสามารถส่งเอกสารได้
สามารถใช้ระบบติดตั้งโทรศัพท์ภายใน ซึ่งทำให้เดี๋ยวนี้สามารถพูดกับทางชลบุรี
ระยองได้หมด ระบบข่าวสารนั้นผมว่ามันสำคัญมากเพราะธุรกิจของเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ผมยังคิดว่าเราควรที่จะมีศูนย์รับข้อมูลขึ้นมา และวิเคราะห์แจกให้กับผู้บริหาร
ดังนั้นเราน่าจะสนับสนุนระบบ "อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม" ถึงแม้ว่าขณะนี้เราได้เริ่มไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่พร้อมทีเดียวนัก
ระบบสื่อสารมันเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำ แต่ก็ยังทำไม่เสร็จ
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การอยู่ที่ ปตท.นั้นมันมักจะมีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ
ๆ และที่ผ่านมา ผมก็ภาคภูมิใจกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้กระทำสำเร็จ ถ้าจะถามว่าสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดของผมมีอะไรบ้าง
ผมก็ขอตอบว่า ผมภาคภูมิใจอยู่ สามบวกหนึ่งประการ
ประการแรก ผมภูมิใจกับการเปลี่ยนภาพพจน์ของ ปตท. จากที่ประชาชนไม่มีความมั่นใจ
ไม่เชื่อใจในคุณภาพ ไม่ยอมรับคุณภาพน้ำมันและการบริการของเรา เราได้เปลี่ยนภาพพจน์
โดยการเข้าไปปรับปรุงด้านตลาด ทำโฆษณา ทำโลโก้ใหม่ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ตราของเรา
แทนที่ให้ลูกค้าวิ่งเข้ามาหาเราเหมือนเมื่อก่อน เราก็วิ่งเข้าไปหาลูกค้า
ด้วยการจัดทีมงานขายเข้าไปหาลูกค้า ไปให้คำแนะนำ ไปให้ความช่วยเหลือและบริการอย่างถูกต้อง
รวดเร็วในบรรยากาศที่ดี จนปัจจุบันนี้ ลูกค้าของเรามีความภาคภูมิใจและมั่นใจกับเรา
เปลี่ยนภาพพจน์จากลบให้เป็นบวกได้ ซึ่งผมคิดว่า งานปรับปรุงทางด้านการตลาดเป็นงานที่ผมและคณะภูมิใจมาก
ประการหนึ่ง
ประการสอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจมากและถือเป็นความสำเร็จอีกประการหนึ่ง
คือ การที่เราได้รับพิจารณาให้เป็นแกนในการร่างพิจารณาใช้ก๊าซธรรมชาติ จากจุดที่เราไม่มีอะไรเลย
เราได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดหาทุนมาดำเนินการในเรื่องนี้ ช่วงนั้นเราได้กระทำตามแผนพัฒนาฉบับที่
4 และที่ 5 ในเรื่องการพัฒนาการใช้ก๊าซธรรมชาติ เราทำได้สำเร็จครบทุกขั้นตอนตามแผน
เราทำได้ตามเป้าหมายและเวลาตามที่รัฐบาลกำหนดให้เราทำ เราคิดว่าเราได้มีส่วนช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
การนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์ขึ้นมาใช้
ทำให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องของปิโตรเลียม เช่น การผลิตก๊าซหุงต้ม
การพัฒนาปิโตรเคมี เฉพาะประโยชน์จากการที่เรานำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเอเพลิง
ทำให้สามารถประหยัดเงินตราได้เป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ อย่าลืมว่าเราเริ่มจากจุดที่เราไม่มีอะไรเลย
แล้วเราก็สามารถหาเงินมาทำโครงการนี้จนประสบความสำเร็จได้
ความภาคภูมิใจประการที่สาม ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการนำก๊าซธรรมชาติสู่ชนบท
ซึ่งเดิมไม่มีใครเคยคิดว่าเราจะทำได้ เราได้รีบดำเนินการโครงการ "พัฒนาตลาดก๊าซหุงต้ม
LPG" ซึ่งเป็นโครงการกระจายก๊าซธรรมชาติของเราสู่ชนบท แต่กระจายไปในรูปของก๊าซหุงต้ม
ดังนั้น เราจึงวางโครงการต่อจากโครงการโรงแยกก๊าซก่อน เป็นโครงการสร้างคลังภูมิภาค
ซึ่งทำให้เราสามารถเสนอระบบราคาเดียวได้ แทนที่จะใช้ราคาในกรุงเทพฯ ราคาหนึ่ง
ต่างจังหวัดอีกราคาหนึ่ง และเราก็หวังว่าสิ่งนี้จะเข้าไปเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคแทนที่ทุกอย่างจะมาอยู่ที่กรุงเทพฯ
ก็ให้ทางภูมิภาคได้มีโอกาสพัฒนา
ผมกล่าวไว้ในตอนต้นว่า สิ่งที่ผมภาคภูมิใจนั้นมีอยู่สามบวกหนึ่งประการ คำว่าบวกหนึ่งที่ผมภาคภูมิใจก็คือ
ผมได้มีส่วนในการสร้าง ปตท.ที่กล่าวมาทั้ง 3 ประการอาจจะเป็นงานเด่นของ ปตท.
แต่ผมว่าสิ่งที่ผมภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ ผมได้มีโอกาสสร้างองค์การของรัฐขึ้นมาจากไม่มีอะไรเลย
ทุนซึ่งเกือบจะเรียกว่าศูนย์ จริงอยู่ที่ว่า เราได้รับโอนเงินมาจากองค์การเชื้อเพลิงบ้าง
จากองค์การก๊าซธรรมชาติมาบ้าง แต่มันก็นิดเดียว ผมจำไม่ได้แต่ก็รู้ว่าไม่กี่สิบล้านบาท
แต่เมื่อเราเริ่มจัดตั้ง ปตท.ขึ้นมา เริ่มระดมคนเข้ามาเท่าที่ผมจะสามารถชักชวนมาได้
และได้เริ่มวางแผนงานเข้าไปดำเนินการก่อตั้งและจัดรูปแบบ จนกระทั่งในปัจจุบันนี้
ผมคิดว่า ปตท.อยู่ในสภาพที่แข็งแรงแล้ว เรามีเงินทุนถึงหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านบาท
และยังมี ASSET อีกหมื่นกว่าล้านบาท เราเป็นที่ยอมรับของประชาชน เรามีขีดขั้นความสามารถที่จะประกอบธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจรตั้งแต่งานสำรวจ
งานผลิต ขนส่ง งานคลังน้ำมัน งานถังก๊าซ งานกลั่นน้ำมัน จนกระทั่งถึงงานขายส่ง-ปลีกครบถ้วน
ซึ่งทำให้ ปตท.เป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพมีขีดขั้นความสามารถทางด้านเทคนิคทั้งวัสดุอุปกรณ์พร้อมเพรียง
ทั้งเงินทุนที่จะประกอบธุรกิจที่จะไปลงทุนในกิจการธุรกิจได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนรัฐบาล
ผมเชื่อว่า ปตท.ตอนนี้มีกำลังพอที่จะสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลในแง่ของการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาน้ำมัน
และแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้ ผมเชื่อว่า ปตท.ตอนนี้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะทำได้
พร้อมที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งผมว่าอันนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจที่สุดอีกอันหนึ่งของผม
เคล็ดลับของความสำเร็จของ ปตท. ผมว่า มันอยู่ที่เราต่างทำงานกันโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
เราสนุกกับการทำงาน เรามีความสุข มันมีงานมีสถานการณ์ที่ทำให้เราตื่นเต้นกันอยู่ทุกระยะ
ไม่ว่าน้ำมันจะแพงเราก็ตื่นเต้น น้ำมันถูกก็ตื่นเต้น น้ำมันล้นตลาดก็ตื่นเต้น
น้ำมันขาดตลาดก็ตื่นเต้น ตอนที่มีคู่แข่งรายใหม่ก็ตื่นเต้น ตอนที่มีน้ำมันเถื่อนทะลักเข้ามาเราก็ตื่นเต้น
เราจึงสนุกกับการทำงาน และผมก็ทราบดีว่า ทุกคนต่างช่วยกันอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
ทุกวันนี้ ผมอยากเห็นผู้บริหารทุกคนมีความคิดริเริ่ม พร้อมที่จะรับทุกสถานการณ์
มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีความพร้อมอยู่เสมอ และต้องกระจายอำนาจให้ผู้ร่วมงาน