ทอท.เจรจาคิงเพาเวอร์จ่ายค่าเช่าพื้นที่ส่วนเกินย้อนหลัง 1,290 ล้านบาท เตรียมชงบอร์ด 30 ก.ค.นี้ ขณะที่ผลย้ายเที่ยวบินจำปีกลับสุวรรณภูมิ ส่งผลเที่ยวบินและผู้โดยสารในประเทศเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน การบินไทยฟุ้ง เฉพาะ เม.ย.ลดค่าใช้จ่าย 106 ล้าน
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ส่วนเกินจากสัญญาสัมปทานกับ บริษัท คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิซึ่งได้รับสัมปทานบริหาร พื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว คิดมูลค่าเฉพาะพื้นที่ดิวตี้ฟรีกว่า 900 ล้านบาทซึ่งกลุ่มคิงเพาเวอร์พร้อมที่จะจ่ายค่าเช่าพื้นที่ส่วนเกินให้ ทอท.
แหล่งข่าวจากทอท.กล่าวว่า จากการเจรจาพื้นที่ส่วนเกินที่คิงเพาเวอร์ต้องจ่ายให้ทอท.เพิ่มทั้ง 2 ส่วน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,290 ล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่ ร้านค้าดิวตี้ฟรีประมาณ 990 ล้านบาท พื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ อีกกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดรูปแบบและระยะเวลาการชำระเงิน โดยคาดว่า ภายในวันที่ 30 ก.ค.2552 จะสรุปรายละเอียดเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ที่มีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต เป็นประธานพิจารณา
ทั้งนี้ ค่าเช่าพื้นที่ส่วนเกินที่คิงเพาเวอร์ต้องจ่ายให้ทอท.นั้น เป็นการคิดย้อนหลังนับตั้งแต่เปิดสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 28 ก.ย. 2549 – ธ.ค. 51 โดยตามสัญญาสัมปทานกำหนดว่าพื้นที่ดิวตรีฟี 5,000 ตร.ม.แต่มีการใช้จริงประมาณ 9,000 ตร.ม. ส่วนพื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์สัญญากำหนดไม่เกิน 20,000 ตร.ม. แต่ใช้เกินไปกว่า 5,000 ตร.ม.
ซึ่งการตรวจสอบการใช้พื้นที่เกินของคิงเพาเวอร์เป็นผลมาจากสมัย พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ด ทอท.ได้ให้ทอท.เรียกคืนพื้นที่และจัดเก็บค่าเช่าในพื้นที่ส่วนเกินจากคิงเพาเวอร์เวอร์ เพื่อนำมาใช้สำหรับปรับปรุงเป็นเขตควบคุมพิเศษด้านความปลอดภัย โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้โดยสารเข้า-ออก และจะจัดทำเป็นห้องรับรอง รวมทั้งสำนักงานให้สายการบินเช่าใช้
ต่อมาที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 10/2551 วันที่ 29 พ.ค. 2551 ได้มีมติเห็นชอบให้ ทอท. ใช้ฐานคำนวณค่าเช่าและส่วนแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ส่วนเกิน เท่ากับพื้นที่ที่มีสัญญา ประกอบด้วยพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (KPD) มีพื้นที่ตามสัญญาทั้งหมด 7,000 ตร.ม. ทอท. คิดค่าเช่าในอัตราตร.ม.ละ 750 บาทต่อปี,ส่วนแบ่งรายได้ปีละ 15% ของรายได้ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่าย พร้อมกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ว่าต้องจ่ายปีละ 1,200 ล้านบาทขึ้นไป โดยสัญญาดังกล่าวมีพื้นที่ส่วนเกินอีก 7,000 ตร.ม.
ส่วนสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ KPS มีพื้นที่ตามสัญญาทั้งหมด 20,000 ตร.ม. ทอท. คิดค่าเช่าตามกิจกรรมบนพื้นที่ เช่น ธนาคาร คิดค่าเช่าตร.ม.ละ 1,200 บาทต่อปี,ร้านอาหารและเครื่อง ดื่ม ตร.ม.ละ 450 บาทต่อปี ส่วนแบ่งรายได้ปีแรก 15% ของรายได้ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่าย และจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสัญญานี้มีพื้นที่ส่วนเกินอีก 5,000 ตร.ม.
***จำปีย้ายกลับดึงผู้โดยสารใน ปท.เพิ่ม
นายเสรีรัตน์กล่าวว่า การที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)THAI ย้ายเที่ยวบินภายในประเทศกลับมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.52 นั้น ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินภายในประเทศในช่วง 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 52 ) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นกว่า29% จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 52.13 % ส่วนภาพรวมผลดำเนินงาน 9 เดือน (ต.ค.51-มิ.ย.52) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนผู้โดยสาร 31.83 ล้านคน ลดลง15.24% โดยผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้น 13.99% ระหว่างประเทศลดลง 21.24% ปริมาณเที่ยวบินรวม 195,777 เที่ยวบิน ลดลง8.90% โดยภายในประเทศเพิ่มขึ้น 3.16% ระหว่างประเทศลดลง 12.54% ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ และการโรคไข้หวัดใหญ่ 2009
ส่วนโครงการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบินดอนเมืองนั้น นายเสรีรัตน์กล่าวว่า หากการบินไทยสนใจที่จะเข้าลงทุนก็สามารถเจรจาร่วมกันได้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการลงทุน ขณะที่การพัฒนาพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เพิ่ม เช่น พื้นที่แปลง 37 นั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 53 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น
***การบินไทยเผย เม.ย.ประหยัด 106 ล.
พลอากาศเอกณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในเดือนเม.ย.ได้106 ล้านบาท จากการย้ายเที่ยวบินภายในประเทศกลับไปทำการบินที่สุวรรณภูมิแห่งเดียว
นอกจากนี้ยังส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศช่วงเม.ย.-มิ.ย.เพิ่มขึ้น4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนจากการหมุนเวียนการใช้เครื่องบินได้มากขึ้น เพิ่มจุดเชื่อมต่อไปยังปลายทางได้อีก 314 จุด จาก 1,211 จุดเป็น 1,525 จุด
***บวท.ฟุ้งลดจุดตัดในอากาศ
ด้านพลอากาศเอกสมชาย เธียรอนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า บวท.ได้ออกแบบวงจรการบินขึ้น-ลงใหม่หลังการบินไทยย้ายกลับสุวรรณภูมิซึ่งมีเที่ยวบินเพิ่ม 10% หรือ 58 เที่ยวบินต่อวัน (จาก 665 เที่ยวบินเป็น 723 เที่ยวบินต่อวัน) ทำให้ลดจุดตัดในอากาศ ช่วงให้สายการบินประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้รวมประมาณ 45ล้านบาทต่อเดือนช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงได้16.8 ล้านกิโลกรัม/ปี คิดเป็นเงิน 539.5 ล้านบาทต่อปี และในปี53 บวท.จะนำเทคโนโลยีดาวเทียมในการนำร่องอากาศยาน (PBN) มาใช้ที่สุวรรณภูมิซึ่งจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น90 ล้านบาทต่อเดือน
|