Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2530
ศศิมา ศรีวิกรม์"หลังบ้าน" หัวหน้ากลุ่ม10 มกราคมวันนี้เธอเก็บตัว !?             
 

   
related stories

รู้จักกับคนในตระกูล "ศรีวิกรม์"

   
www resources

โฮมเพจ โรงเรียนศรีวิกรม์

   
search resources

ศศิมา ศรีวิกรม์
เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์
Education
โรงเรียนศรีวิกรม์
อุตสาหกรรมพรมไทย, บมจ.




หลายคนอยากรู้เบื้องหลัง เช่นเบื้องหลังของ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หัวหน้ากลุ่ม 10 มกราคมในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสถาปนาด้วยสาเหตุที่ว่ากันว่าอกหักจากการเป็น รมต.บางคนอีกนั่นแหละที่ว่าปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ของกลุ่มนี้อยู่ที่ความเป็นนักธุรกิจพันล้านของเฉลิมพันธ์ ซึ่งเขาสามารถวางมือจากธุรกิจ เพราะภรรยาแสนสวยของเขารับภารกิจนั้นแทน

หากเข้าใจ "หลังบ้าน" ของเขา-ศศิมา ศรีวิกรม์ ก็อาจเข้าใจเบื้องหน้าของกลุ่ม 10 มกราได้?

มโนภาพแรกของผู้คนที่นึกถึง "ผู้หญิง"ร่างระหงชื่อ ศศิมา ศรีวิกรม์ คือความสวยที่บาดตาบาดใจ จนผู้หญิงหลายคนอดมองด้วยความอิจฉาไม่ได้!!

หากบอกว่าเธออายุ 50 ปีแล้ว ยังสวยสง่างามขนาดนี้ คงจินตนาการถึงความสวยในวัยสาวได้ไม่ยากนัก

แต่ความน่าสนใจที่ "ผู้จัดการ" พูดถึงเธอหาใช่เรื่องความสวยความงามไม่ แต่เป็นเพราะความสามารถที่เก่งกาจในฐานะนักธุรกิจหญิง ที่ทัดเทียมเสมอบ่าเสมอไหล่นักธุรกิจชาย

บนถนนสายธุรกิจมีนักธุรกิจหญิงที่โดดเด่นไม่มากนัก รุ่นเก่าๆ เช่น ชนัตถ์ ปิยะอุย คุณหญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์, คุณหญิงชัชนี จาติกวณิชย์…

"ศศิมา" คือชื่อที่หลายคนเอ่ยถึงเมื่อต้องตอบคำถามว่าใครคือนักธุรกิจชั้นแนวหน้า

นั่นคงไม่ใช่เพราะเธอบังเอิญได้สามีรวยระดับพันล้านขึ้นไป!!??

ศศิมา เติบโตขึ้นมาในครอบครัวราชการ พ่อคือ พ.ต.อ.สวงค์ วุทฒินันท์ มารดาคือ ประกอบกุล (นามสกุลเดิมคือ อภัยวงศ์)

บิดาเป็นหัวหน้าครอบครัวที่หัวโบราณมาก มองว่าลูกผู้หญิงก็เป็นผู้หญิงวันยังค่ำเรียนหนังสือมากไปนอกจากจะทำให้หาสามีลำบากแล้ว เมื่อแต่งงานไปก็ต้องเป็นแม่บ้านป่วยการเรียนไปก็เสียเปล่า อย่างแม่เธอก็เป็นแม่บ้านเท่านั้น

ศศิมาและน้องสาวคนเดียวคือ พันธิพาต้องเรียนหนังสือควบคู่ไปกับการเล่นดนตรีคือเปียโนตั้งแต่อายุ 8 ขวบจนจบ ม.6 เพราะเป็นเรื่องค่านิยมของลูกผู้ดีสมัยก่อนที่ต้องมีหัวทางดนตรี รู้กาพย์กลอนโคลงฉันท์

พอจบม.6 จากเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ก็อยากเรียนต่อ เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยโดยที่ตั้งใจจะเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ แต่คุณพ่อไม่เห็นด้วย

คุณตาของศศิมาคือ พระยาอภัยภูเบศร์ คุณยายคือ สงวน อภัยวงศ์ สมัยนั้นนิยมจ้างฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษที่บ้าน ครอบครัวนี้จ้าง "แหม่ม" คนหนึ่งจากอังกฤษมาสอนหนังสือให้กับเด็กๆ จนสนิทสนมคุ้นเคยกับครอบครัวมาก มเอ สงวน อภัยวงศ์ เสียชีวิตลง พระยาอภัยภูเบศร์ แต่งงานกับแหม่มคนนี้ ซึ่งภายหลังได้ราชทินนามเป็นคุณหญิง อภัยภูเบศร์ เป็นผู้ที่เลี้ยงแม่ของศศิมาแต่เด็กเมื่อคุณตาตาย "คุณยายแหม่ม" จึงกลับอังกฤษ

"คุณยายแหม่ม" คำเรียกที่ศศิมาติดปาก ชวนหลานๆ ไปเรียนต่ออังกฤษโดยเธอรับอาสาดูแลให้ บิดาเธอจึงวางใจ แต่ก็ยังประสงค์ให้บุตรีแตกฉานทางดนตรี ศศิมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนเปียโน จนได้ DIPLOMA จากหลาย COLLAGE ซึ่งเทียบเท่าปริญญาตรี

เพื่อนที่เรียนดนตรีรุ่นเดียวกันมี เจนจิรา (ภรรยาของนุกูล ประจวบเหมาะ) ชนิดา ณ เชียงใหม่, ปิยภัณฑ์ สนิทวงศ์

สวนน้องสาวที่ไปเรียนทีหลังนั้นเรียนทางคหกรรมศาสตร์

เรียกว่าเตรียมตัวสำหรับการแต่งงานโดยตรงเลยก็ไม่มีผิด!

การที่ศศิมาได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ทำให้เธอเห็นโลกกว้างขึ้นมาก จากเมื่อก่อนเธอต้องอยู่แต่ในกรอบที่ค่อนข้างเข้มงวด

กลับจากอังกฤษมาเป็นครูสอนเปียโนหลายโรงเรียนในวันธรรมดา และสอนพิเศษอยู่กับบ้านในวันหยุด ได้เงินจากการสอนมากโขอยู่

ครอบครัวเธอ ไม่มีความรู้เรื่องทำมาค้าขายเลย "ไม่รู้กระทั่งว่าควรจะนำเงินไปฝาก เอาดอกเบี้ยส่งลูกเรียน ไม่รู้จักกำไร-ขาดทุนด้วยซ้ำไป" ศศิมาเล่าอย่างอารมณ์ดี

ชีวิตเธอเริ่มหักเหอย่างรวดเร็ว เมื่อพบรักกับหนุ่มนักเรียนนอกซึ่งเพิ่งหอบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฟลอริด้า มาสดๆ ร้อนๆ อย่างเฉลิมพันธ์

หลังจากหมั้นกันแล้ว เฉลิมพันธ์บวชให้พ่อแม่ก่อนแต่งงาน ตามประเพณีเพราะครอบครัวเฉลิมพันธ์ก็เป็นพวกหัวเก่าเช่นกัน (อ่าน "รู้จักกับคนในตระกูล ศรีวิกรม์")

เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ โชคดีกว่าคนหนุ่มในรุ่นนั้นมาก เพราะเขาเป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาศรีวิกรมาทิตย์ ผู้ซึ่งเคยเป็นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทรณ์ เมื่อลาออกจากราชการแล้ว พระยาศรีวิกรมาทิตย์ก็ได้ดำเนินธุรกิจการค้าขายทอง และธุรกิจซื้อขายที่ดิน จนมีที่ดินในกรุงเทพฯมากมาย (ดู "ที่ดินตระกูลศรีวิกรม์") เป็นมรดกให้ทายาทรุ่นลูกคือเฉลิมพันธ์ และพี่ๆ เก็บกินไม่หมด

รากฐานทางธุรกิจที่ดิน ที่พระยาศรีวิกรมาทิตย์วางไว้ ได้ก่อให้เกิดอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งกลุ่ม "ศรีวิกรม์" ในเวลาต่อมา??

ธุรกิจแรกที่เริ่มจับคือ "โรงเรียน ศรีวิกรม์" ซึ่งเป็นไอเดียของศศิมา ซึ่งตัวเองเป็นครู ชอบเด็กๆ รักการสอนหนังสือ โดยไม่ได้มองในแง่ผลตอบแทนทางธุรกิจมากนัก

หลังแต่งงานไม่นาน แม่คุณเฉลิมพันธ์เสีย มีการแบ่งที่ดินกัน ส่วนหนึ่งที่เอกมัยเอามา สร้างโรงเรียน ไม่ได้คิดเป็นธุรกิจ คิดว่าเรามีที่ มีเงินไม่ต้องกู้มาลงทุนถ้าทำอย่างนั้นไม่คุ้มแน่ ใจเป็นคนที่ชอบทำอะไรใหญ่ๆ ไม่ชอบค่อยทำค่อยทีละห้องสองห้อง จึงเปิดทีเดียว ป.1 ถึง ป.6 คนก็วิตกกันมากว่าจะเอาเด็กที่ไหนมาเรียนเต็มห้อง ตอนนั้นเราก็เพิ่งอายุ 25 เป็นเจ้าของโรงเรียนที่สาวมาก ไปเชิญ พระยาประทัตสุนทรสารอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและอดีตผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในขณะนั้น มาเป็นครูใหญ่ และวางระบบการศึกษา เราทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เต็มที่ จำได้ว่าวันเปิดนักเรียนเต็มแทบทุกห้องมีนักเรียน 1,300 คน ดีใจมาก" ศศิมาเล่าให้ "ผู้ฟังจัดการ"

ศรีวิกรม์เป็นโรงเรียนราษฎร์ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อคนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีสตางค์

"นักเรียนส่วนหนึ่งเป็นพวกหนีร้อนมาพึ่งเย็น บางพวกก็มาจากต่างจังหวัดไกลๆ มาเป็นนักเรียนประจำ เพราะเรามีหอพักด้วย ที่นี่เรารับครูที่มีประสบการณ์การสอนมากๆ เด็กส่วนใหญ่ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ไปประกอบวิชาชีพ และเข้ามหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีเด็ก 4,000 คน ครู 80 คนเปิดอนุบาลถึง ม.6 ปีที่ป่านมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 23%…" อายะดา กีรินกุล อาจารย์ใหญ่คนปัจจุบันเล่า

การบริหารโรงเรียนตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เป็นฝีมือของศศิมาเป็นหลัก เฉลิมพันธ์ช่วยอยู่ห่างๆ ศศิมาเป็นคนจัดการแทบทุกด้านการขอการตั้งโรงเรียน การก่อสร้าง การหาครู หานักเรียน ระเรื่อยมาจนเป็นครูสอนเองด้วยในระยะแรก คือสอนภาษาอังกฤษ เธอจึงรักและภูมิใจมาก ที่โรงเรียนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง มีลูกศิษย์ลูกหาจบไปมากมาย และอยู่ยงคงกะพันมาถึงปัจจุบันนี้

"ถ้าต้องซื้อที่เอง และกู้เงินมาทำโรงเรียนคงไม่คุ้มแน่ เราได้กำไรพอสมควรทุกปี แต่พอกำไรก็สร้างต่อมาเรื่อยๆ จากตึกเดียวมาจนปัจจุบัน 8 ตึกแล้ว และก็กำลังต่อ 4 ชั้นเป็น 5 ชั้น และก็มีโครงการสร้างหอประชุมอีก…."

สำหรับเฉลิมพันธ์ร่วมมือกับพีสาวคือคุณหญิงสมศรี เจริญรัชภาคย์ทำธุรกิจโรงแรมที่ตรงที่ดินบางส่วนของถนนเกษตรโดยถือหุ้นกันคนละครึ่ง เพราะพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า ช่วงปี 2505-2510 เป็นช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวบูมอย่างมาก

27 มกราคม 2507 บริษัทเพรสิเดนท์ โฮเต็ล จึงก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาท

เฉลิมพันธ์ร่วมงานกับพี่สาว โดยที่ศศิมามิได้เกี่ยวข้องด้วยเลย

ธุรกิจโรงเรียนและโรงแรม ดำเนินการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งพร้อมเริ่มธุรกิจใหม่ๆ

ปี 2510 บริษัทอุตสาหกรรมพรมไทยผู้ผลิตพรม "ไทปิง" อันลือชื่อก็เริ่มขึ้น

"เหตุเพราะเราต้องหาพรมมาปูที่โรงแรมเพรสิเดนท์ เราปินไปซื้อพรมไทปิงที่ฮ่องกง ก็ต่อรองราคาไปๆ มาๆ หลายหนก็รู้จัก มร.เทนี่ เย ก็เกิดชอบพอกัน ไปดูโรงงานเขาชอบมากเลย ก็มาคิดว่าทำไมเราต้องมาซื้อพรมจากเมืองนอก คนไทยมีชื่อเรื่องฝีมือด้านถักทออยู่แล้ว เราน่าจะทำได้ ตอนนั้นมีหลายคนติงว่า เมืองไทยเป็นเมืองร้อนจะขายพรมไม่ได้ แต่เรามองกันว่าต่อไปประเทศต้องพัฒนาความจำเป็นต้องใช้พรมต้องมีแน่นอน เราออกทุนร่วมบริษัทฮ่องกง คาร์เปท มานูแฟคเจอร์และบริษัทฟิลิปปินส์คาร์เปท มานูแฟคเจอร์ริ่ง เราออกทุนเป็นส่วนใหญ่ส่วนเขาให้มาในรูปโนว์ฮาว์" ศศิมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของไทปิง

บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีสำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบ และภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปี

จากที่เป็นผู้ผลิตเป็นรายแรกของประเทศไทยจึงประสบความสำเร็จในด้านการตลาดอย่างกว้างขวาง เป็นธุรกิจที่กำไรดีมากตัวหนึ่ง (ดูกราฟผลการดำเนินงานของบริษัทอุตสาหกรรมพรมไทย) ศศิมาและวงศ์วุฒิ วุฒทินันท์ น้องชายคนเดียวของศศิมาร่วมบริหาร ตอนหลังวงศ์วุฒิไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไทย-เยอรมันเซรามิค ศศิมาจึงรับผิดชอบดูแลคนเดียวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากก่อตั้งบริษัทอุตสาหรรมพรมไทยแล้ว เฉลิมพันธ์และศศิมา ได้รุกคืบต่อไปร่วมกับบริษัทเครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด (ประเทศไทย) และบริษัทไทย-เยอรมันเซรามิค ปี 2512

"ตอนนั้นผมได้ศึกษาตลาดดูนะฮะก็เห็นว่าประเทศไทยเรานับวันก็เจริญขึ้น ตอนนั้นยังไม่มีใครทำเครื่องสุขภัณฑ์ ผมก็เห็นว่าบ้านมันจำเป็นต้องใช้ส้วม เมื่อมีส้วมก็ต้องมีอ่างล้างหน้า และก็ต้องมีกระเบื้องปูพื้น กระเบื้องห้องน้ำบริษัทอเมริกันสแตนดาร์ดกับไทยเยอรมันเซรามิคจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ตอนแรกผมมีไอเดียอันนี้เกิดขึ้นมา แต่ทำไม่เป็นไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีผมไปดูงาน ฟิลิปปินส์ และได้เห็นโรงงานของบ.อเมริกันสแตนดาร์ด ซึ่งเขาลงทุนอยู่ที่นั่น โรงงานเขาใหญ่โตมาก และเห็นว่าเขากำไรดีมากก็ทาบทามเขามาลงทุนในไทย และความคิดผมก็ไปตรงกับเขา คือเขาต้องการมาลงทุนในประเทศเราอยู่แล้ว เราจึงได้ JOHN VENTURE กันแล้วเข้ามาทำ" เฉลิมพันธ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

อเมริกันสแตนดาร์ดนั้นต่อมากลายเป็นบริษัทที่กำไรมากที่สุด ในบรรดาบริษัทในเครือของตระกูลศรีวิกรม์ (ดูกราฟผลการดำเนินงานของบริษัทเครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด)

นับเป็นความเฉียบแหลมในกามองลู่ทางการลงทุนของเฉลิมพันธ์ เพราะนอกจากจะได้กำไรมากแล้วยังไม่ต้องบริหารเองเพราะบริษัทแม่ที่อเมริกาเขาส่งคนมาบริหารดำเนินการแทบทั้งหมด

สำหรับไทยเยอรมันสแตนดาร์ด หลังจากร่วมทุนไม่นานเฉลิมพันธ์ก็ตัดสินใจขายหุ้นไป "พอดีร่วมทุนกับเยอรมันได้ไม่นานเงินมาร์คก็ขึ้นใหญ่เลย ทุกอย่างก็เลยแพง ญี่ปุ่นเข้ามาดัมพ์ตลาด เราสู้เขาไม่ได้ แต่ 2-3 ปีหลังดีขึ้นมา ก็ขายให้คุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ และคุณวีรพันธ์ ทีปสุวรรณ ปัจจุบันวงศ์วุฒิ น้องชายเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่" ศศิมากล่าว

ภายหลังจากการลงทุนครั้งใหญ่ติดๆ กันดังกล่าว ครอบครัวเฉลิมพันธ์ได้หยุดการลงทุนไปนาน จนกระทั่งปี 2522 จึงได้ทีการวางแผนใหญ่โตอีกครั้ง เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมระดับไฮคลาส

โครงการทั้งหมดถูกวางแผนขึ้นมาและมีมติให้บริษัทอุตสาหกรรมพรมไทยดำเนินการลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งก็หมายความว่าคนที่เป็นแม่งานก็คือ ศศิมา อีกเช่นเคย

การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2522 ไปเสร็จเอาปี 2526 โดยใช้ชื่อคอนโดมิเนียมแห่งนี้ว่า "ไทปิงทาวเวอร์"

ตึกไทปิงทาวเวอร์ ผงาดขึ้นบนที่ดินในซอยอโศกท่ามกลางคอนโดมิเนียมน้อยใหญ่ที่กำลังเป็นแฟชั่นใหม่ในขณะนั้น

"เราสร้างช้าเพราะมันใหญ่มาก 300 ยูนิต ที่ต้องใหญ่เพราะที่สำคัญค่าใช้จ่ายส่วนกลางจะได้ไม่สูงนัก เช่น ค่า HEALTY CLUB, COFFEE SHOP ฯลฯ ถ้าสร้างน้อยค่าใช้จ่ายต่อหัวจะแพงมาก เราพลาดตรงที่มันใหญ่มากเลยทำให้เสร็จช้ามาก ทำให้เราขายได้ไม่เร็วเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคอนโดรุ่นแรก ๆ ปัจจุบันยังเหลืออีกประมาณ 10% คือ 30 ยูนิต

ศศิมายอมรับว่า ขาดทุนไปหลายสิบล้าน ซึ่งเมื่อรวมกับยอดกำไรจากการขายพรมก็เพียงแต่ทำให้กำไรลดน้อยลง และปัญหาด้านการเพิ่มทุน

ต้องกล่าวว่า ในความสำเร็จมีบ้างที่ล้มเหลว

ศศิมาจากคนที่เดิมทีไม่มีหัวทางด้านธุรกิจมาก่อน แต่เนื่องจากสามีเป็นนักธุรกิจจึงต้องปรับตัวตามสภาพที่เปลี่ยนไป และดูเหมือนบทบาทที่ผ่านมาของเธอสามารถพิสูจน์ เธอเป็นนักบริหารผู้มีความสามารถคนหนึ่ง

ศศิมาเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรด้วยตนเอง หากเธอไม่รู้อะไร เธอถามโดยไม่รู้สึกว่า เสียเกียรติ เป็นคนที่ใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ที่สำคัญเธอเป็นคนที่กล้าตัดสินใจและเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง

ภาพการทำงานของศศิมานั้น หลายคนประเมินว่า เธอมีบทบาทมากกว่าเฉลิมพันธ์ ซึ่งประเด็นนี้ ศศิมามองว่า "ไม่แฟร์กับคุณเฉลิมพันธ์ และก็ไม่จริงด้วย เพราะเขาเป็นคนเงียบเก็บตัว แต่เราเป็นคนเปิดเผย ชอบมีเพื่อน ชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็เลยกลายเป็นว่า กลบรัศมีคุณเฉลิมพันธ์ไปความจริงเขาคือมันสมองที่แท้จริง เป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่ตัดสินใจอะไรเร่งด่วน การลงทุนทุกอย่างเขาจะเป็นคนสกรีน เป็นคนตัดสินใจ ส่วนเรามักจะต้องเป็นคน FOLLOUP เหมือนเป็นทหารมือขวา คนชอบไปพูดในทำนองนั้น เดี๋ยวเฉลิมพันธ์เขารำคาญ เผลอ ๆ จะหมั่นไส้ด้วย นี่ดีที่เขาเป็นคนใจกว้าง ถ้าเป็นชายอื่นเขาอาจจะจับดิฉันเก็บไว้ที่บ้านแล้วเขาทำเอง อาจจะประสบความสำเร็จมากกว่า" ศศิมาชี้แจง

การที่ศศิมาโดดเด่นมาก อาจจะเป็นเพราะเธอเป็น "ผู้หญิง" ระดับบริหารไม่กี่คนบนถนนธุรกิจ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ บางคนถึงกับบอกว่าเธอสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง

การหันเหชีวิตมาทำธุรกิจกว่า 20 ปีแล้วเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยคิดเลยในวัยเด็ก การเข้าสู่วงการเมืองยิ่งเป็นสิ่งไม่คาดฝัน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาธิปไตยบานสะพรั่งอีกครั้งหนึ่ง พรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด

ปี 2518 มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศหลังว่างเว้นมานาน

"มีหลายพรรคมาติดต่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะอยากได้ผู้หญิงลงสมัครบ้างก็คิดว่าจะเป็นบทบาทใหม่ที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แม้บางคนจะเตือนว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เรากลับคิดว่าคนที่คิดว่าตัวเองสะอาดก็น่าจะลงไปเล่นบ้าง เลือกระหว่างประชาธิปัตย์เยอะ เฉพาะในกรุงเทพฯนี่แทบไม่ต้องออกแรงเลย เราคิดว่าถ้าไปจอยกับคนที่สำเร็จก็ไม่มีความภูมิใจเท่าไหร่ ความจริงก็ไม่นึกจะเป็นส.ส.ตั้งแต่ครั้งแรก กิจสังคมมีเพื่อนอยู่เยอะเช่น พงส์ สารสิน อาจารย์คึกฤทธิ์เราก็นับถือเลยเข้ากิจสังคม

ผลการเลือกตั้ง กิจสังคมได้เข้ามาเพียง 18 เสียง ศศิมาไม่ได้รับเลือกตั้ง

"ผลออกมาแพ้ปชป.เพียง 200 กว่าคะแนน ซึ่งเราฟ้องว่ามีการโกงเลือกตั้งเพราะตอนที่รวมคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งปรากฏว่าเราชนะ 900 กว่าคะแนน แต่พอไปถึงกทม.กลับกลายเป็นว่าเราแพ้ แต่การฟ้องไม่เป็นผล แต่เราต้องการให้รู้ว่าเราไม่ใช่จะยอมแพ้แบบติ๋ม ๆ ตัวเองก็ยังดีใจว่าลงครั้งแรกยังได้คะแนนมากขนาดนี้ ก็มีกำลังใจ"

ศศิมาอยู่ในกิจสังคมในฐานะกรรมการบริหารพรรค รับหน้าที่เป็นรองเลขาธิการซึ่งนับว่าอยู่ในกลุ่มที่เป็นแกนนำของพรรคใหม่อย่างกิจสังคม

ประชาธิปัตย์ได้ 72 เสียงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ผ่านการไว้วางใจจากสภา คึกฤทธิ์จัดตั้งรัฐบาลสหพรรคอยู่ได้ไม่ถึงปี ก็ตัดสินใจยุบสภา เนื่องจากมีเหตุวุ่นวายการแก่งแย่งชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันมาก รวมทั้งพยายามบีบคั้นรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา

4 เมษายน 2519 มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง
5
ศศิมาลงเขตเดิมคือเขตพระโขนงแข่งกับคนเดิมคือ พิชัย รัตตกุล แห่งปชป.แม้เธอจะค่อนข้างมั่นใจ แต่ก็ปรากฏว่าพ่ายแพ้ไปพันกว่าคะแนน

"ความจริงคุณเฉลิมพันธ์เขาชอบพรรคปชป.มานานแล้ว และก็ชักชวนเราเข้าปชป.แต่เราเองไม่ชอบเปลี่ยนพรรค อาจารย์ดำรงลัทธพิพัฒน์ มาชวนเฉลิมพันธ์ลง แต่เราเป็นฝ่ายขอแก้มืออีกครั้ง ถ้าไม่ได้ก็คิดว่าหยุดให้โอกาสเฉลิมพันธ์บ้าง"

บนถนนกการเมืองดูเหมือนศศิมาจะไม่ค่อยมีโชคนัก

แม้ว่าจะแพ้เลือกตั้งถึงสองครั้ง แทนที่เธอจะท้อถอย กลับสำรวจตัวเองและพบว่าตัวเองยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐไม่เพียงพอ ความคิดที่จะเรียนต่อจึงเกิดขึ้น

"ถามตัวเองว่าถ้าเกิดได้เป็นส.ส.ขึ้นมาความรู้พอไหม ตัดสินใจเรียนต่อด้าน PUBLIC SERVICE เผื่อว่าเล่นการเมืองต่อไปจะได้พร้อม เลือกเรียนฮาร์เวิร์ด เพราะไม่อยากให้ใครว่าได้ว่าซื้อปริญญาเพราะที่นี่เขาไม่ขายแน่ ความจริงเขาไม่ค่อยอยากรับเพราะแบ็คกราวด์เป็นมิวสิค และไม่ได้เรียนหนังสือมานานแล้ว เขาก็บอกให้เราวางรากฐานไปก่อน เราก็เชิญอาจารย์จากนิด้าซึ่งเป็นเพื่อนกันมาสอนเศรษฐศาสตร์ สถิติ มีดร.บุญเสริม วีสกุล, ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ์ แล้วก็เพื่อน ๆ อาจารย์บุญเสริมอีกหลายคนเขาคงกลัวว่าจะไปตกระกำลำบากมาช่วยกันสอนอยู่ 1 ปีเต็มก่อนไป" ศศิมาเล่าถึงการตัดสินใจไปเรียน

ศศิมาเป็นนักเรียนพิเศษซึ่งไม่บ่อยนักที่ฮาร์เวิร์ดจะพิจารณา

"ต้องไปเรียนซัมเมอร์อยู่ 3 เดือนก่อน แล้วต้องเรียนอีก 1 เทอมเพื่อสอบวิชาต่าง ๆ เป็น บี เอฟเวอร์เลจ ถ้าไม่ผ่านเขาก็ให้อดีตเฉย ๆ คือไม่ได้ปริญญา ก็ตั้งใจมากเพราะเป็นคนเดียวที่ประหลาดกว่าเขา มีแรงกดดันสูงมาก เทอมแรกเครียดมาก เพราะถ้าไม่ผ่านคอร์สนี้ก็แปลว่าไม่ได้ปริญญากลับบ้าน ก็อายเขา ก่อนไปมีคนปรามาสว่าคงเรียนไม่ได้หรอก ก็ตัดสินใจว่าถ้าไม่ได้ก็ให้มันตายไป ฝรั่งเขาเรียน 5 ชั่วโมง เราเรียน 10 ชั่วโมง ก็ได้บีเอฟเวอร์เลจพอดีตอนหลังพอเรียนเข้าระบบเขาแล้วก็สบายตอนจบได้เกรด 3.2"

เป็นอันว่าเธอได้ปริญญาโททางบริหารรัฐกิจ สมความตั้งใจอันแรงกล้า

ช่วงที่ไปเรียนปีกว่าเฉลิมพันธ์ก็ดูแลกิจการแทนทั้งหมด พอเรียนจบมาเฉลิมพันธ์ตัดสินใจเล่นการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ตามมารยาทเมื่อสามีไปอยู่ประชาธิปัตย์ศศิมาจึงลาออกจากกิจสังคม ศศิมาก็เป็นฝ่ายดูแลธุรกิจแทบทั้งหมดแทนเฉลิมพันธ์และบางธุรกิจก็ดำเนินงานโดยมืออาชีพจากต่างประเทศอยู่แล้ว ทำให้เฉลิมพันธ์เล่นการเมืองได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ล่าสุดเฉลิมพันธ์ได้เป็น ส.ส.พร้อมกับพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค หลายคนมองว่าเขาคือผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพราะเคยเป็นเลขาธิการพรรค และขณะนั้นเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้

เฉลิมพันธ์เป็นหัวหน้ากลุ่ม 10 มกรา อันอื้อฉาว เพราะภาพที่ออกมาสู่สาธารณชนก็คือกลุ่มคนที่อกหักจากการเป็นรัฐมนตรี ล่าสุดมีการผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์เสนอรายชื่อที่ครั้งหนึ่งพรรคเคยส่งให้พลเอกเปรมแล้วและมีข่าวว่าเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ถูกฆ่าชื่อทิ้ง

เรื่องนี้ศศิมาเธอเห็นด้วยกับการต่อสู้ของกลุ่ม 10 มกรา มาก ๆ เพราะเธอเห็นว่าไม่เล่นกันตามกติกา นับว่าเฉลิมพันธ์มีกองหลังดีคอยสนับสนุน

ศศิมานั้นนอกจากจะเล่นบทนักธุรกิจการเมือง อีกบทบาทหนึ่งที่เธอทำควบคู่กันมาตลอดคือด้านสังคมสงเคราะห์เป็นกรรมการมูลนิธิต่าง ๆ มากมายเช่นมูลนิธิร่วมจิตน้อมเกล้า ส่วนใหญ่เธอจะเลือกมูลนิธีหรือโครงการที่เกี่ยวกับเยาวชนด้วยความที่เป็นครูที่คลุกคลีกับเด็ก ๆ มา

ปี 2526 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเป็น "คุณหญิง" เธอจึงกลายเป็น "คุณหญิงศศิมา" แต่นั้นมา

ยามว่างของเธอนอกจากเล่นกอล์ฟแล้วสิ่งที่เธอชอบมากคือ "บริดส์" ซึ่งเป็นไพ่ชนิดหนึ่งที่เล่นับ็อนกว่าดัมมี่ เล่นทีละ 4 คน ต้องเล่นเป็นคู่ คนที่เล่นคู่ประจำคือ ดร.บุญเสริม ถาวีรกุล ส่วนใหญ่ต้องเล่นคู่ประจำจึงจะเข้าใจกันดี

ศศิมาทำอะไรดูเหมือนต้องเป็นหนึ่งอยู่เสมอ เธอเป็นหนึ่งในทีมชาติไปแข่งกับต่างประเทศมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว สะสมถ้วยรางวัลได้มากมาย เคยได้ที่หนึ่งจากการแข่งอาเซียนครั้งหนึ่ง นอกนั้นก็ได้ในระดับกลาง ๆ ซึ่งประเทศที่เก่งในเรื่องบริดส์ คือ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด ออสเตรเลีย

นอกจากนี้ยาวว่างเธอมักสนุกกับการสะสมของเก่า พวกหม้อไห กระเบื้อง เครื่องเงิน แต่เดี๋ยวนี้สะสมน้อยลง เธอบอกว่าเพราะช่วงหลังมันราคาแพงมาก

อาณาจักรธุรกิจของครอบครัว จะเติบโตต่อไปอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลูก ๆ ทั้ง 4 คนของเฉลิมพันธ์และคุณหญิงศศิมา ซึ่งจวนจะเรียนจบเต็มที ในอนาคตอันใกล้นี้คงยังไม่มีการเริ่มธุรกิจใหม่ หลังจากที่สะบักสะบอมมาจากไทปิงทาวเวอร์

ชีวิตทางธุรกิจของเธอนับว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร แต่ดูเหมือนสิ่งที่ยังไม่บรรลุความใฝ่ฝันคือยังไม่ได้เป็น ส.ส.

ภาพการเมืองในทัศนะของศศิมานั้น เป็นการเมืองที่ไม่เล่นกันตามกติมาเท่าที่ควร ทำให้เธอเบื่อหน่ายการเมืองมาก แต่เธอก็บอกว่าหากอนาคเฉลิมพันธ์ไม่เล่นต่อหรือบรรยากาศเมืองดีกว่านี้ เธออาจจะหวนกลับมาสู่วงการเมืองอีกครั้ง

"มีสิ่งที่อยากเข้าไปทำในสภาพมากมายกฎหมายหลายฉบับทีเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่อยากให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในสภามากขึ้น จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศชาติอย่างจริงจังมากขึ้น"

ไม่แน่ว่าอนาคตเราอาจจะมีสมาชิกสภาผู้แทนชื่อศศิมา ศรีวิกรม์ ก็เป็นได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us