Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2530
เหตุเกิดที่ อาคเนย์ประกันภัยการต่อสู้สองแนวทางจนกลายเป็นศึกล้างตระกูล             
 

   
related stories

วัฒนธรรมการสืบทอดอำนาจของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
ปฏิทินเหตุการณ์การเข้ายึดอำนาจของกลุ่มศรีกาญจนา
โครงสร้างสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มตระกูลต่าง ๆ ที่สำคัญ

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000) จำกัด

   
search resources

อาคเนย์ประกันภัย (2000), บจก.
นรฤทธิ์ โชติกเสถียร
Insurance




นรฤทธิ์ โชติกเสถียร ทายาทผู้ก่อตั้งร่วมมือกับลูกหม้อมืออาชีพ อาทร ติตติรานนท์ เป็นกลุ่มหนึ่งผู้มีอำนาจบริหารในอาคเนย์ฯ มากที่สุด เสนอแผนการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตของเขาให้ก้าวหน้าเป้าหมายเป็นกิจการของมหาชน ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมี พยัพ ศรีกาญจนา และศักดา บุณยรักษ์ เป็นแกน ที่เชื่อว่าในหลักการการพัฒนากิจการด้วยลำแข้งของกลุ่มตนไม่ยอมรับโนว์ฮาวจากต่างประเทศ จากจุดนี้เองได้ขยายตัวเป็นความขัดแย้งมุ่งเข้ายึดครองกิจการ ยึดอำนาจบริหารจากอีกฝ่ายหนึ่ง…บางคนว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดหากเป็นยุคผู้ก่อตั้งทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ ?

จะมีใครสักกี่คนที่คาดคิดว่า เหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้งกันในกลุ่มคณะผู้บริหารในบริษัทอาคเนย์ประกันภัยที่ลามปามกันถึงขั้น "ตายก็ไม่เผาผีกัน" นี้มันจะเกิดขึ้นกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัยที่ประวัติศาสตร์ 40 ปีมีแต่ความราบเรียบ มีวัฒนธรรมของการสืบทอดอำนาจที่มีเอกลักษณ์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกของตระกูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ถึง 11 ตระกูล

แต่ก็นั่นแหละ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน มันเป็นอนิจจังอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อาคเนย์ประกันภัยในปีที่ 41 ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการธุรกิจประกันภัยเมืองไทยด้วย เนื้อหาที่บ่งบอกถึงความร้าวฉานแตกแยกอย่างยากที่จะประสานให้เข้ากันอย่างกลมกลืนของชนรุ่นลูกเหมือนอย่างที่ชนรุ่นพ่อของเขาได้กระทำมาแล้วในอดีต

เหตุอะไรกันแน่ที่เป็นชนวนนำไปสู่ความร้าวฉานแตกแยกกันอย่างมากมายถึงเพียงนี้ และเบื้องหน้าเบื้องหลังมันเป็นอย่างไร ? นี่เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้… แม้นว่าคนส่วนใหญ่ที่เฝ้าติดตามข่าวสารธุรกิจเมืองไทยจะมีสมมติฐานอยู่ในใจว่า คงยากจะหลีกเลี่ยงเรื่องที่เป็นน้ำเน่ามากกว่าน้ำแร่บริสุทธ์ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ในวงการบริหารธุรกิจแบบ "เตี่ยกับเสี่ย" อย่างไทย ๆ เราก็ตามที

ชุมพล พรประภา ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนลที่ในวงการธุรกิจเมืองไทยยอมรับว่า เขาเป็นเถ้าแก่ที่มีลักษณะเป็นมืออาชีพมากคนหนึ่ง เคยนำสุภาษิตจีนมากล่าวย้ำถึงธุรกิจที่บริหารแบบเตี่ยกับเสี่ยจะยืนยงอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วอายุคน (GENERATION) วาทะที่ดุจดังสัจธรรมนี้ เมื่อนำเอาเหตุการณ์การทะเลาะเบาะแว้งกันในบริษัทอาคเนย์ประกันภัยมาเทียบเคียงดูก็เป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันมาก

จะต่างกันบ้างก็อยู่ที่เจ้าของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยมีอยู่ 11 ตระกูลที่สัดส่วนการถือหุ้นพอ ๆ กัน ไม่มีใครผูกขาดถือหุ้นไว้มากที่สุด แต่โดยพฤติกรรมแล้วทุกตระกูลก็มีพื้นเพและความสัมพันธ์ที่กำเนิดมาจากรากเหล้าของระบบอุปถัมภ์ที่แต่ละตระกูลมีต่อกัน

ซึ่งเนื้อแท้แล้ว มันก็คือธุรกิจที่ก่อร่างสร้างอำนาจกันมาในบริษัทแบบเตี่ยกับเสี่ยนั่นเอง เพียงแต่บริษัทอาคเนย์ประกันภัยประกอบด้วยเตี่ยหลายคนและเสี่ยหลายคนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น

บริษัทอาคเนย์ประกันภัยมีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นในพฤติกรรมองค์กรอยู่ที่การประสานกลมกลืนในสไตล์การบริหารของคนที่มาจากตระกูล 11 ตระกูลที่แตกต่างกันในภูมิหลัง ลักษณะวิถีชีวิตโดยไม่มีความขัดแย้งกัน โดยระยะเวลาที่ยาวนานนับสิบ ๆ ปี บุคคลอย่าง พยัพ ศรีกาญจนา เทียน เหลียวรักวงศ์ พิทักษ์ บุณยรักษ์ ภักดี นิวาตวงศ์ หลวงดำรงดุริตเรข พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริม ปัญญารชน) สมสวาท โชติกเสถียร หม่อมเจ้ากมลีสานชุมพล ซึ่งแต่ละท่านมีพื้นเพของวิถีชีวิตที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

บุคคลเช่น พยัพ เทียน พิทักษ์ ภักดี มีพื้นเพมาจากการเป็นพ่อค้าและลูกจ้างบริษัทเอกชน ขณะที่บุคคลเช่น หลวงดำรงฯ พระยาปรีชานุสาสน์ สมสวาท หม่อมเจ้ากมลีสาน มีพื้นเพมาจากการเป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ความแตกต่างในพื้นเพของวิถีชีวิตเช่นนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการช่วยกันพัฒนาองค์กรธุรกิจแต่อย่างใดเลย ทั้ง ๆ ที่สไตล์การบริหารธุรกิจของบุคคลดังกล่าวข้างต้นแตกต่างกันไปตามพื้นเพดั้งเดิม บุคคลที่มีภูมิหลังประสบการณ์ในการทำงานกับพ่อค้าเอกชนก็จะมีสไตล์การบริหารแบบพ่อค้าที่มุ่งเน้นการเชื่อมความสัมพันธ์กับลูคก้าภายนอก การเข้าสังคมอยู่ทุกเมื่อเป็นวิถีทางอันหนึ่งที่จะเข้าถึงแหล่งของลูกค้าได้ดี และสามารถนำมาถึงผลทางธุรกิจให้กับบริษัท

ขณะเดียวกัน บุคคลที่มีภูมิหลังประสบการณ์ในการทำงานกับราชสำนักในฐานะเป็นข้าราชบิรพารก็จะมีสไตล์การบริหารที่เน้นความสำคัญของการจัดระเบียบ การสื่อสาร ภายในบริษัทที่รัดกุม ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ซึ่งเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมของการทำงานแบบราชการ

บริษัทอาคเนย์ประกันภัยในยุคการควบคุมบริหารของกลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้ง จึงดำรงอยู่และพัฒนาไปภายใต้ภาพพจน์ที่ดี โดยอาศัยสายสัมพันธ์ของแต่ละคนที่มีอยู่

เมื่อการถ่ายทอดอำนาจจากชนรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกได้ปรากฏขึ้นในช่วงปลายของทศวรรษที่ 70 (ระหว่างปี 2516 เป็นต้นมา) เค้าของการแตกต่างในสไตล์การทำงานและบริหารกิจการที่เคยประสานกลมกลืนกันในอดีต เริ่มกลายเป็นชนวนหรือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในระยะเวลาต่อมา

พยัพ ศรีกาญจนา ชนรุ่นพ่อมีอายุมากขึ้นเกือบ 70 ปี ยังดำรงตำแหน่งผู้กุมอำนาจสูงสุดในบริษัททั้งด้านกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร ขณะที่ สมสวาท โชติกเสถียร หรือที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น รองสนิท โชติกเสถียร ชนรุ่นพ่ออายุคราวเดียวกันกับ พยัพ ศรีกาญจนา เสียชีวิตลงขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทในปี 2523 สิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทได้ถูกถ่ายทอดสู่ลูกชาย นรฤทธิ์ โชติกเสถียร ในปีเดียวกัน ซึ่งในขณะนั้น นรฤทธิ์ยังนั่งทำงานอยู่ที่บริษัทอาคเนย์ธนกิจในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการ และต่อมาในปี 2525 เขาก็ได้ย้ายมาเป็นกรรมการรองผู้จัดการบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และได้แต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นกรรมการบริหารควบคุมสายงานธุรกิจประกันชีวิต

นรฤทธิ์ โชติกเสถียร เป็นคนรุ่นหนุ่ม (อายุ 37 ปี) มีพื้นเพการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยผ่านการใช้ชีวิตเรียนรู้วัฒนธรรมและค่านิยมในการดำเนินชีวิตจากสังคมอเมริกันมาแล้ว 1 ปี เมื่อสมัยเป็นนักเรียนทุน A.F.S. กล่าวกันว่า เขาเปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่ที่มีอนาคตของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยที่ดูแลสายงามธุรกิจประกันชีวิต ด้วยสภาพแวดล้อมที่ได้รับการฝึกอบรม และเรียนรู้จากการถ่ายทอด KNOW-HOW ในสายธุรกิจประกันชีวิตจาก อาทร ติตติรานนท์ กรรมการผู้จัดการปรมาจารย์ผู้อ่อนโยนที่มีประสบการณ์จากการทำงานในธุรกิจประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัยมานับ 30 ปี จนผู้คนในวงการธุรกิจประกันชีวิตยอมรับ "ความเป็นมืออาชีพ" ได้อย่างเต็มปาก

ความใกล้ชิดและวิทยาการที่เขาได้รับจาก อาทร ติตติรานนท์ ในสายงานธุรกิจประกันชีวิต บวกกับความเป็นคนรุ่นหนุ่มร่วมสมัยที่เปิดหูเปิดตากว้างนี้เอง ที่ทำให้นรฤทธิ์ซึมซาบเอาวัฒนธรรมของความเป็นนักบริหารมืออาชีพในธุรกิจประกันชีวิตทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเป็นผลึกสไตล์การบริหารเป็นแบบฉบับของตนเอง กล่าวคือ รู้จักวางกลยุทธ์แบบยืดหยุ่น "รู้เรา รู้เขา" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมุ่งสำรวจตรวจสอบความพร้อม จุดอ่อน จุดแข็ง ในองค์กรเสียก่อน ก่อนที่จะก้าวรุกออกไปแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด สิ่งนี้เองที่ นรฤทธิ์ โชติกเสถียร ได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า คือที่มาของแผนพัฒนาสายงานธุรกิจประกันชีวิต 5 ปีของบริษัท ซึ่งเป็นแผนพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตระยะยาวฉบับแรกของบริษัทนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2489

"ผมได้ตรวจสอบดูความต่อเนื่องการส่งเบี้ยประกันของลูกค้า พบว่ามีปัญหา LAPSE ของเบี้ยประกันมาก ทำให้บริษัทรับภาระค่าใช้จ่ายสูงอย่างไม่น่าจะเป็น หลังจากผมได้วิเคราะห์วิจัยดูก็พบว่า คุณภาพของทุนประกันแต่ละรายส่วนใหญ่ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 2 ประการ คือ หนึ่ง - คุณภาพของตัวแทนประกันของบริษัทยังไม่มีดีพอ และสอง - บริษัทมุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมมากเกินไป ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่บริษัทไม่ชำนาญและมีผลทำให้ตัวแทนประกันของบริษัทซึ่งขายกรมธรรม์ 2 ประเภท คือ กรมธรรม์สามัญ และกรมธรรม์อุตสาหกรรม เกิดความสับสนในการขาย" นรฤทธิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงเหตุผลที่เขาต้องปรับปรุงกลยุทธ์การดำเนินงานประกันชีวิตใหม่

กล่าวกันว่า การจัดความสมดุลระหว่างความสามารถในการทำกำไรกับปริมาณของทุนประกันชีวิต เป็นปัญหาที่หนักมากที่นรฤทธิ์และอาทร ซึ่งทั้ง 2 คนรับผิดชอบอยู่ และต้องเผชิญกับความไม่พอใจและแตกร้าวกับกลุ่มตัวแทนฝ่ายขายอยู่เนืองนิตย์ ปัญหาความขัดแย้งเช่นนี้ทั้งนรฤทธิ์และอาทรต่างทราบดีว่า โดยเนื้อแท้แล้วเกิดจากความบกพร่องในการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเขาทั้ง 2 ก็เลยต้องรีบดำเนินการปรับปรุงเสียใหม่ด้วยแผนพัฒนา 5 ปีดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจที่ฝ่ายขายมีต่อฝ่ายบริหาร เป็นปัญหาที่ถูกส่งขึ้นมาสู่ระดับคณะกรรมการบริหารอยู่เสมอ และเป็นหนามที่ทิ่มแทงความรู้สึกคณะผู้บริหารอยู่เสมอทุกครั้งที่ได้รับรายงาน

"ฝ่ายบริหาร 2 ท่านไม่เคยลงมาคลุกกับฝ่ายขายสม่ำเสมอ จึงไม่รู้ถึงความต้องการของฝ่ายขายที่แท้จริง เวลาเสนอเป็นคำสั่งหรือแผนอะไรออกมาให้ฝ่ายขายปฏิบัติตามก็เลยดูคล้าย ๆ กับเป็นคำสั่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากหอคอย" จุลพยัพ ศรีกาญจนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจประกันวินาศภัยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทรรศนะในการมองปัญหาที่แตกต่างกันใน "มุมมอง" อย่างชัดแจ้ง

แผนปรับปรุงและพัฒนา 5 ปีสายงานธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทที่นรฟทธิ์และอาทรร่วมกันวางแผนได้ถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารปลายปี 2526 และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารให้เริ่มปฏิบัติตามแผนได้ตั้งแต่ปี 2527 ถึง 2531

สิ่งนี้คือความสำเร็จเบื้องแรกสุดของนรฤทธิ์และอาทรในการแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพในการบริหารงานธุรกิจประกันชีวิตที่สามารถ PRESENTATION แผนงานจนโน้มน้าวให้กรรมการบริหารท่านอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วย พยัพ ศรีกาญจนา วิชัย นิวาตวงศ์ วัย วรรธนะกุล ปวินท์ วรรธนะกุล เมธ ศตวุฒิ เห็นชอบด้วย

นรฤทธิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ถึงเป้าหมายของแผน 5 ปีพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตว่า มีอยู่ 2 ประการ คือ หนึ่ง - จัดขบวนฝ่ายขายใหม่ด้วยมาตรการจับเข้าคอร์สฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพงานขายเป็นเวลา 3 ปี (2527-2529) สอง - ปรับเป้าหมายตลาดหันมาจับตลาดกลุ่มประกันชีวิตสามัญเหมือนเดิม ส่วนตลาดประกันชีวิตชนิดอุตสาหกรรมเป็นผลพลอยได้

ผลที่ได้รับทางธุรกิจจากการใช้แผน 5 ปี นรฤทธิ์และอาทรผู้เสนอแผนต่างยอมรับว่า เป็นเรื่องของระยะยาวที่จะต้องแลกกับการสูญเสียผลได้ทางธุรกิจระยะแรก ๆ "ยืนยันได้เลยว่า ปริมาณการเพิ่มขึ้นของทุนประกันชีวิต และสัดส่วนการครอบครองตลาดต้องลดลง แต่คุณภาพของเบี้ยประกันจะดีขึ้น ซึ่งหมายถึงความสามารถทำกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย" นรฤทธิ์กล่าว

สิ่งที่นรฤทธิ์และอาทรรวมถึงผู้บริหารในคณะกรรมการบริหารท่านอื่น ๆ ต่างคาดหวังกันว่า ในระยะยาวแล้ว ผลทางธุรกิจทุกด้านไม่ว่าจะเป็นปริมาณทุนประกัน สัดส่วนการครอบครองตลาด คุณภาพเบี้ยประกันและผลกำไรจะเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลทางตรรกที่ว่า เมื่อต้นทุนฝ่ายขายได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถจากคอร์สฝึกอบรมเป็นเวลายาวนาน 3 ปีแล้ว บวกกับฝ่ายบริหารกำหนดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่สอดคล้องกับรากฐานและเงื่อนไขดั้งเดิมของบริษัทในตลาดประกันชีวิต ชนิดสามัญผลรับทางธุรกิจน่าจะเป็นไปทิศทางที่ดีขึ้น

แต่การปฏิบัติตามแผน 5 ปีก็สะดุดหยุดลงหลังจากใช้มาเพียงแค่ครึ่งทาง !

พยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารท่านอื่น ซึ่งประกอบด้วย เมธ ศตวุฒิ วิชัย นิวาตวงศ์ ปวินท์ วรรธนะกุล ศักดา บุณยรักษ์ ลงมติด้วยเสียงข้างมากเอาชนะแผนปรับปรุงและพัฒนา 5 ปีของนรฤทธิ์และอาทรด้วยมติให้ยกเลิกแผน 5 ปี !

นี่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกในบริษัทอาคเนย์ประกันภัยของ นรฤทธิ์ โชติกเสถียร และอาทร ติตติรานนท์ ที่มีต่อความเชื่อถือของกรรมการบริหารและกรรมการบริษัท แต่เป็นชัยชนะครั้งแรกของ ดร.ศักดา บุณยรักษ์

ดร.ศักดา บุณยรักษ์ เป็นใคร ?

ศักดา บุณยรักษ์ มีภูมิหลังด้านการศึกษาสายวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ระดับปริญญาโทและเอก เป็นนักเทคนิคที่มีความสามารถสูงและด้านการศึกษาที่ฝรั่งยกนิ้วให้ความสำเร็จจากการศึกษาที่ได้รับบวกกับได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตร่ำเรียนในอังกฤษตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ทัศนคติแบบตะวันตกผสมผสานกลมกลืนกับตะวันออกที่เป็นรากฐานดั้งเดิมได้อย่างเหมาะเจาะ จนไม่มีความแตกต่าง ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล กรรมการบริษัทผู้หนึ่งได้ให้ความเห็นแก่ "ผู้จัดการ" ถึงบุคลิกภาพที่แท้จริงของ ดร.ศักดา บุณยรักษ์ ว่า "เป็นคนที่มีความสามารถสูงกว่าฝรั่งเสียอีก จนแกมีทัศนคติมองพวกฝรั่งว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีอะไรเก่งกาจมากไปกว่าคนไทยเลย"

ดร.ศักดา บุณยักษ์ เป็นบุตรชายของพิทักษ์ บุณยรักษ์ เถ้าแก่โรงสีข้าวจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทอาคเนย์ประกันภัยในปี 2525 หลังจากที่พ่อได้เสียชีวิตลง และต่อมาในปี 2528 ก็ได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นกรรมการบริหารคุมสายงานด้านบัญชีและการตรวจสอบ เหตุที่ตระกูลบุณยรักษ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัยก็เนื่องจาก พิทักษ์ บุณยรักษ์ เป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับ พยัพ ศรีกาญจนา ที่ ST'STEVEN ฮ่องกง มีความชอบพอกันในส่วนตัว เมื่อ พยัพ ศรีกาญจนา ได้ก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ฯ ขึ้นในปี 2489 และต่อมาในปี 2492 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาทเป็น 4 ล้านบาท พยัพเห็นว่า พิทักษ์ บุณยรักษ์ มีกิจการโรงสีข้าวที่บริษัทน่าจะเข้าไปทำประกันภัยได้ จึงได้ชวนพิทักษ์เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท และเป็นกรรมการบริษัทด้วย พร้อมทั้งให้บริษัทอาคเนย์ประกันภัยทำประกันโรงสีของตน

ก่อนหน้าที่ ดร.ศักดา บุณยรักษ์ จะเข้ามาเป็นกรรมการบริหารในปี 2528 เขาเป็นเจ้าของและบริหารกิจการส่วนตัวที่โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ และโครงการบ้านจัดสรรแถวดอนเมือง จัดว่าฐานะของดร.ศักดาเข้าขั้นเศรษฐีคนหนึ่งถึงแม้กิจการส่วนตัวเหล่านั้นดูไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

หลังจากที่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย กล่าวกันว่า เขาก็ยังบริหารธุรกิจส่วนตัวควบคู่กันไปด้วย จุนี้เองที่ นรฤทธิ์ โชติกเสถียร ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า ดร.ศักดา ใช้เวลาหมดไปกับการบริหารธุรกิจส่วนตัวมากเกินไป จนไม่ค่อยมีเวลามาทุ่มเทการบริหารให้กับบริษัทอาคเนย์ฯ มากเท่าที่ควร "ช่วงที่ ดร.ศักดา ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารให้เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะทำงานศึกษาข้อเสนอขอร่วมทุนของบริษัท JOHN HANCOCK แห่งสหรัฐฯ แกมักจะขาดประชุมบ่อย ๆ "

แต่ด้วยความเป็นคนที่ละเอียด ศึกษางานได้รวดเร็ว และจัดระบบความคิดและเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี เวลาประชุมคณะกรรมการบริหาร ความคิดเห็นต่าง ๆ และข้อสังเกตของ ดร.ศักดา มักจะได้รับการตอบสนองด้วยดีจากกรรมการบริหารที่อาวุโส เช่น เมธ ศตวุฒิ ปวินท์ วรรธนะกุล และ พยัพ ศรีกาญจนา อยู่เป็นประจำ

"พยัพ ศรีกาญจนา ในตอนแรกแกไม่ค่อยชอบ ดร.ศักดา เท่าไร แต่มาในตอนหลัง แกยอมรับ ดร.ศักดามาก" นรฤทธิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" จุดนี้เองเป็นรากฐานที่ดีในเวลาต่อมาที่เชื่อกันว่าโปรแกรมการจัดระบบควบคุมการบริหารภายในของสายงานต่าง ๆ ในบริษัทเป็นฝีมือของ ดร.ศักดา ทั้งสิ้น

ต้นปี 2530 แผน 5 ปีของนรฤทธิ์และอาทรได้ยุบเลิกไปกลางคัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารได้มีมติให้ใช้แผนการปรับปรุงที่เสนอโดย ดร.ศักดา แทนสาระสำคัญมุ่งไปที่การพยายามควบคุมการใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ

"การเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่เบิกกันง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อน ดร.ศักดาต้องรู้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงเจ็บป่วย รายละเอียดค่าใช้จ่ายต้องชัดเจน แม้ว่าจะผ่านการอนุมัติตามขั้นตอนแล้วก็ตาม ซึ่งแสดงว่า ดร.ศักดาเป็นคนไม่เชื่อถือใครเลย แกเชื่อในข้อมูลเท่านั้น" พนักงานในสายงานธุรกิจประกันชีวิตผู้หนึ่งยกตัวอย่างการควบคุมค่าใช้จ่ายของ ดร.ศักดา ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสไตล์การทำงานของ ดร.ศักดา ได้ชัดเจน

แน่นอนสไตล์การทำงานเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์เท่าไรนักในทัศนคติของกลุ่มพนักงาน แต่สำหรับกลุ่มคณะกรรมการบริหารและกรรมการบริษัทย่อมพอใจ เพราะเป็นการบริหารที่ละเอียดรอบคอบรักษาผลประโยชน์ให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

จุดเปลี่ยนแปลงดุลยภาพอำนาจในบริษัทที่นำไปสู่การแตกหักของกลุ่มตระกูลต่าง ๆ ที่ถือหุ้นและบริหารในท้ายที่สุดนั้นเริ่มมาจากเหตุการณ์การเสอนตัวเข้ามาขอร่วมลงทุนในบริษัทของบริษัทประกันภัย JOHN HANCOCK สหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดขึ้นในปี 2528 ระยะเวลาเดียวกับที่ชนรุ่นลูกของคณะผู้ก่อตั้งเริ่มเข้ามาเป็นกรรมการบริหารบริษัท

"เจ้าหน้าที่ระดับชั้น VICE PRESIDENT ของบริษัท JOHN HANCOCK เข้ามาติดต่อกับบริษัท โดยผ่านทางสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจประกันชีวิต และคุณอาทร กรรมการผู้จัดการบริษัทเป็นคนแรกที่พาตัวแทนของ JOHN HANCOCK เข้าพบกับพยัพเป็นคนแรก แล้วพยัพก็ส่งเรื่องราวที่คุยกับ JOHN HANCOCK มาให้นรฤทธิ์และอาทรเป็นคนสานต่อ" แหล่งข่าวในบริษัทอาคเนย์ฯ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงขั้นตอนการเข้ามาของ JOHN HANCOCK

หลังจากนั้น การเจรจาในข้อเสนอที่ทาง JOHN HANCOCK เสนอมากับทางบริษัทอาคเนย์ฯ ก็เริ่มขึ้น…

บริษัทอาคเนย์ฯ แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย นรฤทธิ์ โชติกเสถียร อาทร ติตติรานนท์ เมธ ศตวุฒิ ดร.ศักดา บุณยรักษ์ และปวินท์ วรรธนะกุล เป็นผู้แทนบริษัทในการเจรจาและศึกษาข้อเสนอ

"ทาง JOHN HANCOCK ต้องการเข้ามาถือหุ้นบางส่วนในบริษัท เพราะเห็นอัตราการปันผลอยู่ในอัตราที่ดี ขณะเดียวกันทางบริษัทอาคเนย์ฯ เองก็กำลังต้องการ KNOW-HOW จาก JOHN HANCOCK ด้านการบริหารคณิตศาสตร์ประกันชีวิต ด้วยเล็งเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้แผนปรับปรุงและพัฒนา 5 ด้านธุรกิจประกันชีวิตให้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น" กรรมการในคณะทำงานท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการฯ"

ขณะที่การเจรจากับ JOHN HANCOCK กำลังดำเนินไปอย่างไม่มีอุปสรรค นรฤทธิ์และอาทรก็ได้หยิบยกเรื่องการนำบริษัทอาคเนย์ฯ เข้าตลาดหุ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัทอย่างจริงจัง หลังจากที่เคยพูดกันในระดับกรรมการบริหารมาแล้วบางช่วงก่อนหน้านี้

ข้อเสนอของนรฤทธิ์และอาทรที่ต้องการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นได้รับการยอมรับในหลักการของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัท "เหตุผลสำคัญก็เพราะทั้งนรฤทธิ์และอาทร ปรารถนาจะให้บริษัทอาคเนย์เป็นบริษัทสาธารณชน (PUBLIC COMPANY) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนจากตลาดทุนของบริษัทในอนาคต" แหล่งข่าวกล่าว

และเมื่อ JOHN HANCOCK ได้เสนอตัวเข้ามาขอร่วมลงทุนด้วยก็เป็นภาวะการณ์ที่เหมาะเจาะลงตัวพอดีกับสิ่งที่นรฤทธิ์และอาทรคาดหวังในเรื่องนี้ไว้

"บริษัทจะเพิ่มทุนจดทะเบียนทันทีจาก 20 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาท หลังจากสัญญาในรายละเอียดที่ตกลงกับ JOHN HANCOCK ได้กระทำเสร็จสิ้น หลังจากนั้นก็จะทำเรื่องยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขออนุญาตนำบริษัทเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" แหล่งข่าวกล่าว

แต่อนิจจา…แผนการความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ของ "มืออาชีพ" อย่างอาทรและนรฤทธิ์ ต้องสะดุดหยุดลงไปเมื่อเนื้อหาของการเจรจาข้อเสนอร่วมลงทุนของบริษัท JOHN HANCOCK ในบางประเด็นได้กลายเป็น "ปมเงื่อน" ที่นำไปสู่การแตกแยกในกลุ่มคณะผู้บริหารในบริษัทในเวลาต่อมา

"ตอนประชุมคณะทำงานกับผู้แทน JOHN HANCOCK มีผมกับคุณอาทรเท่านั้นที่เข้าประชุมทุกครั้ง ส่วน ดร.ศักดา คุณเมธ มามั่งไม่มามั่ง คุณปวินท์ก็พูดและฟังภาษาอังกฤษไม่คล่อง ดังนั้นการเจรจาก็เลยกลายเป็นผมและคุณอาทรเท่านั้นที่มีบทบาทเป็นคนหลักไป" นรฤทธิ์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงบรรยากาศและเหตุการณ์การเจรจาในประเด็นด้านหลักการการร่วมทุนของ JOHN HANCOCK

แต่อย่างไรก็ดี นรฤทธิ์ได้ย้ำว่าผลการเจรจาและรายละเอียดการเจรจาทุกครั้งได้รายงานให้คณะกรรมการทุกระดับรับทราบโดยตลอด ซึ่งคุณวัย วรรธนะกุล กรรมการบริษัทท่านหนึ่ง ดูจะเป็นคนหลัก และมีบทบาทมากที่สุดในการช่วยชี้แนะท้วงติงในการพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียในข้อเสนอที่ฝ่าย JOHN HANCOCK เสนอมา ขณะที่ ดร.ศักดา จะไม่ค่อยพูดเท่าไร ซึ่งเป็นบุคลิกภาพของเขาอยู่แล้วที่เป็นคนพูดน้อย

"แต่ ดร.ศักดา จะพูดถึงในแง่มุมที่กรรมการท่านอื่นมองข้ามไป โดยแกจะ COMPLY ประเด็นอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์ให้เห็นถึงผลกระทบที่มีต่อบริษัทในแง่ผลประโยชน์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน" ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล กรรมการบริษัทเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงเหตุการณ์การประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาข้อเสนอในหลักการขอร่วมทุนของบริษัท JOHN HANCOCK

การเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมทุนครั้งนี้ ได้ยืดเยื้อเกือบ 2 ปีแล้ว ในที่สุด นรฤทธิ์และอาทรก็ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นผู้แทนบริษัทลงนามในสัญญาบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเบื้องต้น (LETTER OF UNDERSTANDING) กับผู้แทนบริษัท JOHN HANCOCK เมื่อกลางปี 2530 นี้

แต่แล้วเงื่อนไขในข้อตกลงบางประเด็นที่นรฤทธิ์และอาทรร่วมลงนามไป กลับพลิกล็อคเหมือนการพลิกโผเรื่องการโยกย้ายนายทหารอย่างไรอย่างนั้น !

เพราะกรรมการบริษัทบางท่าน ที่ได้รับรายงานสำเนาข้อตกลงกลับเห็นว่าเนื้อหาบางข้อที่ลงนามไป ไม่ตรงตามสาระในข้อชี้แนะที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติลงไป

"มันเป็นข้อตกลงที่แสดงชัดว่า ผู้แทนบริษัทเราเปิดประตูรับเงื่อนไขในข้อเสนอของ JOHN HANCOCK มากเกินไป" แหล่งข่าวระดับสูงในบริษัทกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่นรฤทธิ์และอาทรซึ่งงานนี้รับผิดชอบเต็มประตูได้กล่าวแย้งโต้ตอบว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น พร้อมทั้งยืนยันต่อหน้าคณะกรรมการบริษัทในระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริษัทประจำเดือนกรกฎาคมว่า "ได้ดำเนินไปตามข้อเสนอของมติคณะกรรมการบริษัททุกประการ"

เงื่อนไขที่ว่านี้คืออะไร ???

คำตอบก็คือ มันเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับจำนวนสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นของบริษัท JOHN HANCOCK !

สิ่งที่มติคณะกรรมการบริษัทอาคเนย์ฯ แสดงจุดยืนถึงหลักการของตน คือ สัดส่วนการถือหุ้นจะต้องขึ้นอยู่กับ PERFORMANCE ที่บริษัท JOHN HANCOCK ให้กับบริษัทในแง่ผลประโยชน์ทางธุรกิจและต่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม

"สัดส่วนการถือหุ้นมันไม่ใช่หยุดแค่ที่ 20% อย่างที่เป็นข่าวกัน แต่มันจะไต่เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาถึงเพดานที่ 49% เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าไม่ระบุให้ชัดเจนลงไปว่าทาง JOHN HANCOCK จะสร้างผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและผลการดำเนินการของบริษัทแค่ไหนแล้ว บริษัทอาคเนย์ฯ ก็น่าจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจากสัญญาข้อตกลงนี้ใช่ไหม" แหล่งข่าวฝ่ายค้านโยนคำถามย้อนกลับมาให้ "ผู้จัดการ"

และแล้ว…เมื่อ "ปมเงื่อน" นี้ไม่สามารถลงเอยกันได้ กระบวนการสร้าง "เกมธุรกิจ" ในกลุ่มคณะกรรมการบริษัทก็เกิดขึ้นจากพื้นฐานความไม่ไว้วางใจกัน

กลุ่มหนึ่งนำโดยพยัพ ศรีกาญจนา และ ดร.ศักดา บุณยรักษ์ มีความเชื่อว่า กลุ่มนรฤทธิ์และอาทร กำลังสร้างเงื่อนไขจากข้อตกลงนี้จับมือเป็นพันธมิตรกับฝ่าย JOHN HANCOCK ซึ่งมีกำลังทุนมหาศาล บดขยี้กลุ่มตนในอนาคต เมื่อโอกาสมาถึง

"กลุ่มนรฤทธิ์และอาทรเมื่อรวมกับจำนวนสัดส่วนหุ้นของ JOHN HANCOCK เกิน 50% อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเพิ่มทุนเป็นเท่าไร" แหล่งข่าวให้ข้อสังเกต

จุดนี้ลงตัวพอดีกับรากเหง้าทางมโนสำนึกของ ดร.ศักดา ซึ่งไม่เคยมองฝรั่งต่างชาติเหนือกว่าคนไทยเลย แถมเป็นคนที่ต่อต้านฝรั่งต่างชาติลึก ๆ ด้วยซ้ำไป

ขณะที่พยัพเองก็ไม่ไว้ใจฝรั่งอยู่แล้ว เพราะตนเองไม่มีฐานธุรกิจอื่นใด มันเหมือนกับว่า หม้อข้าวของพยัพและคนในตระกูล (จุลพยัพ บุตรชายทำงานมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการรองผู้จัดการในบริษัทอาคเนย์ฯ) อยู่ที่บริษัทอาคเนย์ฯ แห่งเดียว ซึ่งถ้าหากว่าถูกฝ่ายนรฤทธิ์และอาทรร่วมกับ JOHN HANCOCK บดขยี้ลงจากอำนาจเมื่อไหร่ก็เสร็จ

"มันเป็นความกลัวที่พยัพเผชิญอยู่ในส่วนลึกและเชื่อว่า เกิดจากแรงกระตุ้นของภรรยา" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนกลุ่มนรฤทธิ์และอาทร หลังจากผิดหวังจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผลงานการลงนามของตนกับบริษัท JOHN HANCOCK ถูกยำใหญ่ก็มีความเชื่อว่า ฝ่ายพยัพและดร.ศักดา ต้องการเหนี่ยวรั้งความปรารถนาดีของตน โดยซ่อนจุดมุ่งหมายที่แท้จริงที่ต้องการเขี่ยกลุ่มของตนให้ออกจากวงจรอำนาจในบริษัท เพื่อจะได้ไม่มีก้างขวางคอการสถาปนาอำนาจที่เบ็ดเสร็จ

"ซึ่งผมมั่นใจว่า ฝ่ายคุณพยัพต้องการ TAKE OVER บริษัทอาคเนย์ฯ โดยหยิบยกประเด็น JOHN HANCOCK ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง และเมื่อเหตุการณ์มันสุกงอก เขาก็ทำทันที โดยที่ฝ่ายผมแทบไม่รู้ตัวมาก่อนเลย" นรฤทธิ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การประชุมคณะกรรมการบริษัทประจำเดือนกรกฎาคม 2530 เมธ ศตวุฒิ และปวินท์ วรรธนะกุล กรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการซึ่งใกล้เกษียณเต็มแก่ ได้ปรารภในที่ประชุมว่า อยากจะขายหุ้นที่ตนถืออยู่จำนวน 10,000 หุ้น ถ้าแผนการเข้าตลาดหุ้นของบริษัทต้องสะดุดหยุดลงแล้ว จะไปขายหุ้นของตนได้ดีที่ไหน ? จุดนี้เองว่ากันว่าเป็นบ่อเกิดความคิดในการสร้าง "เกมธุรกิจ" ที่กลุ่มพยัพและกรรมการบางท่านเห็นแนวทาง…

ช่วงระหว่างปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เหตุการณ์การตะลุยกว้านซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งในส่วนของพนักงานบางคนและบุคคลภายนอกของกรรมการบริษัทบางท่านก็เกิดขึ้น

"ราคาที่เสนอซื้อขายกันสูงถึงหุ้นละ 1,500 บาทจากราคาหุ้น 100 บาท" แหล่งข่าวกล่าว

กันยายน 2530 "เกมธุรกิจ" ที่เป้าประสงค์เพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามในหมู่คณะกรรมการบริษัทก็จบสิ้นลงด้วยเวลาอันรวดเร็วนัยว่า เพราะทุนจดทะเบียนมีเพียง 100,000 หุ้นซึ่งน้อยมาก

ผลปรากฏว่า นรฤทธิ์ อาทรต้องพ่ายแพ้และถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการบริหาร จากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันที่ 24 กันยายน 2530

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า "เกมธุรกิจ" ครั้งนี้เฉพาะส่วนของพยัพเองใช้เงินทุนสูงถึงประมาณ 50 ล้านบาท โดยฐานเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากลูกเขยชื่อ ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภานุพันธ์ ที่มีฐานะขั้นเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรชายของหม่อมมณีผู้เป็นมารดาและพระองค์เจ้าจีระศักดิ์ ศักดิเดช ภานุพันธ์ ผู้เป็นบิดา ที่มีมรดกด้านที่ดินในใจกลาง กทม. บริเวณย่านเพลินจิต โดยพื้นดินผืนนี้พระองค์เจ้าจีระศักดิ์ บิดาของ ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านทรงโปรดพระองค์เจ้าจีระศักดิ์เสมือนบุตรสมัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต ก็ได้พระราชทานผืนดินบริเวณดังกล่าวแก่พระองค์เจ้าจีระศักดิ์

ด้วยเหตุนี้ การที่ศิริกาญจน์ ศรีกาญจนา บุตรสาวพยัพมาแต่งงานกับ ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภานุพันธ์ ความสัมพันธ์ในเชิงญาติระหว่างตระกูลศรีกาญจนากับตระกูลศักดิเดช ภานุพันธ์ ก็เกิดขึ้น โดยพยัพเป็นพ่อตาหม่อมทินศักดิ์ และ "เกมธุรกิจ" ที่เกิดขึ้นในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย หม่อมทินศักดิ์ก็ได้รับผลพวงจากชัยชนะของพยัพด้วยโดยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทแทนอาทร ติตติรานนท์ จากมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2530 วันที่ 5 ตุลาคม 2530

การประชุมวิสามัญของกลุ่มผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2530 วันที่ 5 ตุลาคม 2530 ลงมติปลดนรฤทธิ์ อาทร ประพันธ์ เหลียวรักวงศ์ อำพน เสรีนิยม และชัย วรรธนะกุล บุตรชายวัย วรรธนะกุล ซึ่งเพิ่งเข้ารับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทแทนบิดาได้เพียง 2 เดือนออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท พร้อมแต่งตั้งจุลพยัพ ศรีกาญจนา บุตรชาย พยัพ ศรีกาญจนา และ ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภานุพันธ์ เข้าเป็นกรรมการบริษัทแทน

แหล่งข่าวเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงสัดส่วนการยึดครองหุ้นหลังการปฏิบัติการกว้านซื้อของกลุ่มพยัพ ศรีกาญจนา ว่ามีอยู่ประมาณ 53% หรือ 53,000 หุ้น โดยพยัพและคนในตระกูลศรีกาญจนาถือหุ้น 30% หรือ 30,000 หุ้น ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภานุพันธ์ 5% หรือ 5,000 หุ้น ดร.ศักดา บุณยรักษ์ และคนในตระกูลบุณยรักษ์ 6% หรือ 6,000 หุ้น วิชัย นิวาตวงศ์และคนในตระกูลนิวาตวงศ์ 9% หรือ 9,000 หุ้น ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล 3% หรือ 3,000 หุ้น

ส่วนกลุ่มนรฤทธิ์ โชติกเสถียร ซึ่งประกอบด้วย อาทร ติติรานนท์ ประพันธ์ เหลียวรักวงศ์ อำพน เสรีนิยม ชัย วรรธนะกุล ตะลุยกว้านซื้อหุ้นได้ 45% น้อยกว่ากลุ่มพยัพเพียง 8% หรือ 8,000 หุ้น

"นรฤทธิ์และกลุ่มของเขารู้ดีว่า ในสัดส่วน 30% ที่พยัพถืออยู่มี PROXY อยู่ 10% หรือประมาณ 10,000 หุ้น ส่วนหม่อมพฤทธิสาณ ชุมพล ที่ถืออยู่ 3% หรือ 3,000 หุ้นเท่านั้น ท่านเพียงแต่ออกเสียงให้ฝ่ายคุณพยัพเท่านั้น ท่านไม่ได้ขายหุ้นออกไป เพราะท่านเห็นว่าเกมธุรกิจครั้งนี่น่าจะยุติลงโดยเร็ว ถ้าท่านออกเสียให้ฝ่ายคุณนรฤทธิ์และอาทรเสียงของคณะกรรมการและกลุ่มผู้ถือหุ้นจะออกมาก้ำกึ่งกัน เรื่องก็จะคาราคาซังไม่จบ และจะเป็นผลเสียต่อบริษัท" ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเล่า

เกมต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของผู้พ่ายแพ้ยังดำเนินต่อไปในศาลสถิตยุติธรรม ดังที่ทราบกัน แม้เกมธุรกิจในบริษัทอาคเนย์ประกันภัยยกแรกได้จบสิ้นไปแล้ว

แต่สำหรับผู้พ่ายแพ้ เขาได้ประกาศว่า การต่อสู้ในเกมของอำนาจและผลประโยชน์ยังไม่จบลง สักวันหนึ่งในเวลาไม่นานนัก พวกเขาจะกลับเข้ามาอีก พร้อมความพ่ายแพ้ของผู้ที่ชนะในวันนี้

ไม่ว่าอนาคตเกมแห่งอำนาจและผลประโยชน์จะตกเป็นของใครในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย แต่เกมการต่อสู้ในวันนี้ของกรรมการท่านต่าง ๆ ในบริษัทอาคเนย์ก็ได้สร้างรอยแตกร้าวให้เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์ที่ประสานกลมกลืนกันที่ชนรุ่นพ่อของพวกเขาได้สร้างไว้อย่างยากที่จะหวนกลับคืนมาได้อีก

และไม่ว่าชัยชนะในวันนี้หรืออนาคตจะเป็นของใครหรือกลุ่มใดในบริษัทอาคเนย์ฯ ผลพวงจากการต่อสู้อันเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในวันนี้ก็ได้ทำลายโครงสร้างอำนาจที่มีการถ่วงดุลกันอย่างกลมกลืนให้แตกสลายไปแล้ว

และนี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยที่ถูกบันทึกด้วยคนในบริษัทอาคเนย์ประกันภัยเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us