“มิตซูบิชิ” เสนอรัฐบาลปรับลดภาษีรถเก๋ง ชี้ภาษีสรรพสามิตไทยสูงกว่าต่างประเทศ ที่สำคัญประโยชน์ตกกับผู้บริโภคไม่ใช่บริษัทรถ แนะควรเริ่มจากโครงการอีโคคาร์ก่อน เหตุอัตราภาษี 17% ยังไม่จูงใจให้เกิดความต้องการพอ เผยปีนี้มั่นใจยอดขายเติบโตสวนตลาด ขณะที่ “วัลลภ” ผอ.สถาบันยานยนต์ ค้านค่ายรถที่เจรจาบีโอไอปรับลดเงื่อนไขอีโคคาร์ เหตุเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายได้พิจารณาถึงจุดดีต่างๆ และตกลงรับกันไว้แต่ต้นแล้ว
นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โครงการอีโคคาร์ของมิตซูบิชิยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีแผนการผลิตตามที่โครงการกำหนดไว้ระหว่างปี 2552-2554 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สามารถตัดสินใจต่างๆ ได้ รวมถึงพิจารณาเรื่องเงื่อนไขการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดหรือไม่
“เงื่อนไขต่างๆ เพื่อขอรับส่งเสริมการลงทุนโครงการอีโคคาร์ โดยเฉพาะเรื่องยอดการผลิต 1 แสนคัน ในปีที่ 5 ขึ้นไป เป็นตัวเลขที่ท้าทายสำหรับบริษัทรถพอสมควร ซึ่งการที่โตโยต้าขอลดตัวเลขลง คงเป็นเพราะสถานการณ์ตลาดทั่วโลกขณะนี้น่าจะเป็นไปได้ลำบาก แน่นอนหากเงื่อนไขตัวเลขการผลิตลดลงก็เป็นการดี แต่ก็ต้องมองภาพรวมอื่นๆ เช่นลดลงแล้วจะสามารถคุ้มทุนต่อการผลิตหรือไม่ ต้องนำพิจารณาประกอบด้วย ดังนั้นในเมื่อเรายังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิตชัดเจน จึงยังคงไม่มีเป้าหมายในการไปปรับลดเงื่อนไขใหม่”
นายมูราฮาชิกล่าวว่า แน่นอนการที่รัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะกำลังผลักดันให้รถยนต์นั่ง หรือเก๋งเป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยน จะต้องได้รับการสนับสนุนให้ตลาดเติบโตได้มากกว่านี้ ซึ่งมิตซูบิชิมองว่าภาษีสรรพสามิตของเก๋งปัจจุบัน 25% ขึ้นไป หากเทียบกับต่างประเทศถือว่าสูงมาก
“หากรัฐบาลอยากให้เก๋งขยายตัว ควรจะมีการลดภาษีสรรพสามิตให้ต่ำลง เช่นเดียวกับปิกอัพที่เสียภาษีในอัตราเพียง 3% หรืออย่างอีโคคาร์ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนในอนาคต หากจะให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องลดภาษีลงมากกว่านี้ ซึ่งอัตราภาษีที่ให้ปัจจุบัน 17% ยังไม่น่าจูงใจเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงมองว่าหากรัฐบาลจะสนับสนุนควรเริ่มที่ลดภาษีอีโคคาร์ก่อน”
ทั้งนี้การที่ลดภาษีสรรพสามิตลง บริษัทรถไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด เพราะราคารถยนต์ลดลงจากภาษี จะถูกส่งต่อไปให้กับผู้บริโภคโดยตรง ฉะนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จึงเป็นผู้บริโภคชาวไทย และเมื่อตลาดมีการขยายมาก รัฐบาลก็จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้นด้วย
นายมูราฮาชิกล่าวว่า ส่วนเป้าหมายการขายของมิตซูบิชิในไทยปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 2.3 หมื่นคัน เติบโตจากปีที่แล้วที่ทำได้ 1.9 หมื่นคัน หรือมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 4% เนื่องจากจะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมใหม่ ที่จะแนะนำสู่ตลาดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนส่งออกเป็นไปตามสภาวะตลาดโลก ตั้งเป้าไว้ 1.16 แสนคัน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 5 หมื่นคัน
สำหรับการผลิตของมิตซูบิชิ เมื่อต้นปีได้มีการลดกำลังการผลิตลงประมาณ 40% แต่แนวโน้มตลาดปัจจุบันมีการขยายตัวดีขึ้น จึงคาดว่าจะเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตเพิ่มเป็น 2 กะ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ที่โรงงานแห่งที่ 1 และจะมีการรับพนักงานชั่วคราวกลับมาทำงานประมาณ 1,000 คนในเบื้องต้น หลังจากได้มีการปรับลดพนักงานชั่วคราวลง 1,100 คน และพนักงานประจำสมัครใจลาออกอีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 1,400 คน
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากที่มีรายงานข่าวบริษัทรถยนต์ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนโครงการอีโคคาร์ จะหารือกันเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับลดเงื่อนไขอีโคคาร์ โดยเฉพาะในเรื่องกำลังการลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 ลงมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสภาพตลาดปัจจุบัน ซึ่งในส่วนตัวนั้นไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ตั้งแต่แรก และผ่านการหาข้อสรุปร่วมในการผลักดันอีโคคาร์ออกมา ซึ่งเป็นการการันตีว่าขนาดโครงการลงทุนจะใหญ่ เพียงพออย่างที่รัฐบาลต้องการ ทั้งในแง่เม็ดเงินและส่วนของการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก
ส่วนของเงื่อนไขหลักของอีโคคาร์ มี 4 ประเด็นหลัก คือ อัตราการบริโภคเชื้อเพลิง 20 กิโลเมตรต่อลิตร มาตรฐานไอเสียยูโร4 กำลังการผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 เป็นต้นไป และเม็ดเงินลงทุน 5,000 ล้านบาทต่อโครงการ แต่สิ่งที่ค่ายรถยนต์โดยเฉพาะโตโยต้าต้องการให้รัฐบาลทบทวนคือการลดเป้าหมายการผลิต 1 แสนคันลงมาให้เหมาะสมกับสถานะการตลาด
สำหรับโครงการอีโคคาร์ จะเริ่มให้การสนับสนุนนับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป โดยมีบริษัทรถยนต์ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 6 ราย ได้แก่ ฮอนด้า, นิสสัน, ซูซูกิ, ทาทา, มิตซูบิชิ และโตโยต้า รวมมูลค่าลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทที่เริ่มดำเนินโครงการอีโคคาร์แล้ว คือนิสสันที่จะเปิดตัวรถใหม่ได้ในต้นปี 2553
|