ทีโอที ปรับแผนธุรกิจใหม่โครงการ 3G ใช้รูปแบบการทำธุรกิจทั้งขายส่ง (wholesale) และขายปลีก (niche retail MVNO service strategy) โดยลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทน (IRR) 13.1% ระยะเวลาคืนทุน 9.4 ปี คาดไอซีทีเสนอเข้าครม.วันที่ 21 ก.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่าทีโอทีได้ส่งรายงานการทบทวนแผนธุรกิจสำหรับโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3G) มาให้กระทรวงแล้วซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 21 ก.ค.ที่จะถึงนี้ โดยแผนดังกล่าวเป็นการปรับปรุงโดยบริษัท ABN AMRO
ตามแผนธุรกิจ 3G ในส่วนของการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินสรุปว่าในกรณีทีโอทีดำเนินการทั้งขายส่ง (wholesale) และขายปลีก (niche retail MVNO service strategy) มีค่าเท่ากับ 13.1% และมีระยะเวลาคืนทุน 9.4 ปี เปรียบเทียบกับการดำเนินการ retail เพียงอย่างเดียวมีอัตราผลตอบแทน 3.1% และมีระยะเวลาคืนทุน 11 ปี ส่งผลให้ NPV ติดลบเนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากขนาด (scale benefit) ในการดำเนินการแบบ wholesale
ส่วนกลยุทธ์ 3G ของทีโอทีนั้น เนื่องจากตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยเป็นตลาดที่เติบโตเกือบเต็มที่ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่ทีโอที จะแข่งขันในตลาดลูกค้ารายย่อยแบบเดิมและสามารถมีส่วนแบ่งตลาดที่พอเพียงในการทำธุรกิจเนื่องจากทีโอทีเข้าสู่ตลาดช้าและไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้นการทำตลาดแบบ wholesale และ niche retail MVNO จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีเหตุผลและมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากจะมีอัตราการใช้เครือข่ายที่สูงซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงเพื่อสามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความต้องการ MVNO ที่เพียงพอในการทำตลาด
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากรูปแบบการทำตลาดดังกล่าวในด้านทีโอทีคือ1.มีปริมาณการใช้เครือข่ายตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบค้าปลีกเพียงอย่างเดียว 2.หลีกเลี่ยงต้นทุนที่สูงในการทำตลาดและการหาลูกค้าในช่วงเริ่มต้น 3.กระจายความเสี่ยงของการทำธุรกิจและภาระทางการเงินร่วมกับ MVNO 4.สามารถเสนอบริการครบวงจร (convergence) โดย MVNO เสนอบริการโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานปัจจุบันของทีโอที และ5.ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการตลาดและความสามารถของ MVNO
ในด้านประโยชน์กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันคือ1.ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ให้บริการ 3G รายแรก 2.หลีกเลี่ยงความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนในการประมูลคลื่นความถี่ 3G ของกทช. 3.เป็นทางเลือกทางกลยุทธ์ 3G ในกรณีที่ไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ 3G จากกทช.ได้ 4.มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำในการทำธุรกิจ 3G เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่นั้นทีโอทีเป็นผู้ลงทุน 5.มีความได้เปรียบในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐเนื่องจากมีทีโอทีเป็นคู่ค้าและมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือบางรายสนใจเป็น MVNO กับทีโอที
ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ประกอบการรายใหม่คือ1.ลดอุปสรรคในการที่จะเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือไทย 2.มีโอกาสที่จะใช้จุดแข็งและความชำนาญพิเศษของตนเองเช่นเครื่องหมายการค้า เนื้อหา ความสามารถในการกระจายสินค้าเพื่อสร้างธุรกิจ 3.สามารถพ่วงบริการบรอดแบนด์ทั้งเสียงและข้อมูลให้แก่ลูกค้าโทรศัพท์พื้นฐานทีโอที 4.ไม่ต้องลงทุนสร้างเครือข่าย 3G ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งภายในและต่างประเทศสนใจที่จะเป็น MVNO กับทีโอที
กลยุทธ์ที่สำคัญของ 3G ทีโอทีอีกประการหนี่งคือบรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เนื่องจาก 1.ตลาดบรอดแบนด์ในไทยยังมีการแข่งขันที่ไม่สูงมากและยังไม่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ในต่างจังหวัด ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดบรอดแบนด์ด้วย HSDPA mobile internet ซึ่งคล้ายกับที่ EMOBILE ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น 2.อัตราการใช้บริการบรอดแบนด์ของลูกค้าโทรศัพท์พื้นฐาน 4 ล้านเลขหมายของทีโอทียังอยู่ในอัตราต่ำ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ทีโอทีจะนำเสนอบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ 3G ต่างจากผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่นที่จะย้ายฐานลูกค้า 2G ในปัจจุบันเข้าสู่ 3G ในอนาคต เพราะเครือข่าย 3G ของทีโอที ไม่ได้รับผลกระทบจากทราฟิกเก่า จึงสามารถให้บริการโมบายล์ อินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว
สำหรับประมาณการทางการเงินที่สำคัญในการทำธุรกิจทั้ง wholesale และ niche retail MVNO พบว่าในปี 2553 ทีโอทีจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 16,723 ล้านบาท ปี 2554 ประมาณ 4,989 ล้านบาท ปี 2555 ประมาณ 540 ล้านบาทและปี 2556 ประมาณ 1,178 ล้านบาท
มีรายได้จากการดำเนินงาน ในปี 2554 ประมาณ 1,509 ล้านบาทและในปีถัดไป 3,708 ล้านบาท 7,691 ล้านบาท 12,046 ล้านบาท จนถึงปี 2563 จะมีรายได้จากการดำเนินงาน 25,076 ล้านบาท
มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในปี 2553 ประมาณ 1,759 ล้านบาทและในปีถัดไป 2,230 ล้านบาท 2,804 ล้านบาท 4,559 ล้านบาท 6,720 ล้านบาทจนถึงปี 2563 มีค่าใช้จ่าย 11,445 ล้านบาท
โดยจะเริ่มทำกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2555 ประมาณ 905ล้านบาทและในปีถัดไปเพิ่มเป็น 3,132 ล้านบาท 5,327 ล้านบาท 7,812 ล้านบาท 11,282 ล้านบาท 12,541 ล้านบาท 12,902 ล้านบาท 13,277 ล้านบาทจนถึงปี 2563 คาดว่าจะมี EBITDA ประมาณ 13,631 ล้านบาท
ทั้งนี้เงินลงทุนจำนวนมากใน 2 ปีแรกเกิดขึ้นเพราะทีโอทีต้องการติดตั้งสถานีฐานให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 2 ปีจากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาติดตั้งนานกว่านั้นซึ่งทีโอทีจะใช้วิธีการเจรจากับเอไอเอส เนื่องจากเครือข่ายของเอไอเอสถือเป็นสมบัติของทีโอทีตามสัญญาร่วมการงาน นอกจากนี้การติดตั้งให้เสร็จภายใน 2 ปีเป็นเพราะระยะเวลาที่รวดเร็วในการส่งมอบบริการสู่ตลาดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับบริการ 3G ในภาวะที่ยังไร้คู่แข่งในขณะนี้
|