การต่อสู้ทางธุรกิจได้เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น การเดินทางสายอำนาจและอำนาจเงิน
ในบางครั้งมิอาจบรรลุจุดประสงค์ตามเจตนารมณ์เสมอไป ในระยะใกล้นี้สุดท้ายปลายทางได้เคลื่อนตัวมาที่ศาลแพ่งแล้ว
การอ้อยอิ่งอยู่ตรงนี้จึงได้รับการพิจารณาผนวกเข้าในกลยุทธ์ของแต่ละฝ่ายด้วย…..
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2530 ที่โรงแรมมโนราห์ ถนนสุรวงศ์ การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบยริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล
เป้าหมายแจ่มชัดของกล่มผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากคือต้องการขับไล่กรรมการชุดเดิมซึ่งอยู่ภายใต้การนำของศิริชัย
บูลกุล และเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนมหึมาเพื่อลดทอนปัญหาหนี้สินก้อนโตถมทับกิจการอยู่ได้ปรากฏจริงเสียทีภายหลังความพยายามเนิ่นนาน
การประชุมดำเนินไปอย่างเร้าใจ ท่ามกลางแรงกดดันของกรรมการชุดเดิมด้วยวิธีการต่าง
ๆ ตั้งแต่ดึงเวลาลงทะเบียนให้ยืดยาวออกไปอย่างไม่มีเหตุผล จนถึงปิดแอร์และไฟฟ้าในฐานะพวกเขาเป็นเจ้าของโรงแรมด้วย
เหตุการณ์ครั้งนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่าผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากซึ่งใช้น้ำอดน้ำทนอย่างสูงจะชนะแน่นอน
ตามครรลองสัจธรรมธุรกิจอันยึดถือปฏิบัติกันทั่วโลก "ผู้กุมจำนวนหุ้นมากกว่าเป็นผู้กำหนดทิศทางกิจการ"
ฝ่ายศิริชัยเสมือนถูกต้อนเข้ามุมในการประชุมคราวนั้น ได้พลิกเกมฟ้องศาลขอให้การประชุมที่ว่าเป็นโมฆะ
ในสายตาคนทั่วไปเพียงมองว่าเป็นการดิ้นรนอย่างจนตรอกอย่างยิ่ง แต่แล้วทุกอย่างกลับตาลปัตรเมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยับยั้งการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ไปก่อน
จนกว่าคดีฟ้องร้องจะสิ้นสุดและคาดกันว่าคงกินเวลาเป็นปีและตีความต่อมาว่ากรรมการชุดเดิมยังทรงอำนาจการบริหารงานต่อไป
คำประกาศิตวันที่ 5 สิงหาคม 2530 สั่นสะเทือนวงการธุรกิจอย่ากว้างขวางสงครามระหว่างศิริชัยกับบรรดาเจ้าหนี้ทำท่าาจะสิ้นสุดลงนั้นมีอันต้องยือเยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ศูนย์การค้ามาบุญครองผู้คนพลุกพล่าน การค้าดำเนินอยู่อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ถนนสายเคียงคู่ขนานกันนั้น-ถนนสีลมซึ่งมีคนพยายามเรียกเป็นวอลลสตรีทของเมืองไทย
อาคารอาคเนย์ประกันภัยสถิตบนถนนสายนั้นด้วย เหตุการณ์บนอาคาร 14 ชั้นอยู่ในความสงบมาชั่วนาตาปี
ซึ่งดูบางครั้งน่าสะพรึงกลัว ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าสงครามธุรกิจจะเริ่มต้นอย่างฉับพลัน
ฝ่ายปฏิวัติคือฝ่ายผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเพิ่งระดมซื้อหุ้นอย่างเงียบ ๆ
ก่อนหน้านี้ไม่นาน และกุมเสียงกรรมการมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้การประชุมกรรมการขับไล่กรรมการอีก
4 คนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายนนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเสียจนกลุ่มอาทร
ติตติรานนท์นรฤทธิ์ โชติกเสถียร ผู้ถูกอัปเปหิงุนงง จับต้นชนปลายไม่ถูกไปพักหนึ่ง
เมื่อตั้งหลักได้บ้าง พวกเขาพึ่งศาลแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท
จากกลุ่มปฏิวัติภายใต้การนำของพยัพ ศรีกาญจณา พร้อมทั้งขอให้ไต่สวนฉุกเฉินขอให้ศาลสั่งระงับการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อยืนยันมตินั้น
(อ่าน "เหตุเกิดที่อาคเนย์ ฯ ในฉบับนี้")
เหตุการณ์ไม่พลิกกลับ เช่นกรณีมาบุญครอง ฝ่ายปฏิวัติสามารถเดินตามแผนการอย่างตลอดรอดฝั่ง
ศาลแพ่งก็ปฏิเสธคำร้องขอของฝ่ายถูกปฏิวัติไปเรียบร้อยแล้ว 2 ครั้งและสุดท้ายเมื่อวันที่
2 ตุลาคม
เพียงสัปดาห์เดียวเหตุการณ์ทำนองเดียวกันก็อุบัติขึ้นอีก แทนที่เหตุจะเกิดที่ต้นตอคือสำนักงานใหญ่ธนาคารแหลมทอง
ถนนสุรวงศ์ แต่ฝ่ายปฏิวัติซึ่งสรุปบทเรียนจากกรณีมาบุญครองได้ยึดอาคารของราชตฤณมัยสมาคม
(สนามม้า นางเลิ้ง) เป็นเวทีปฏิวัติเพื่อรบขั้นแตกหักในสงครามยืดเยื้อที่สุดในวงการธุรกิจไทยระหว่างสมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์ กับ สุระ จันทร์ศรีชวาลา ทุกอย่างตระเตรียมกันอย่างพร้อมพรัก
ฝ่ายปฏิวัติภายใต้การนำของสุระ จันทร์ศรีชวาลา ถือสัจธรรมเป็นสรณะข้อเดียวกันคือ
ครอบครองหุ้นจำนวนที่มากกว่าในกิจการ การประชุมครั้งนั้น ดูเหมือนจะเรียบร้อยเปลี่ยนกรรมการตามเป้าหมาย
ซึ่งหากได้จดทะเบียนที่กรมทะเบียนการค้าเรียบร้อย สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ก็ตกงานครั้งแรกในชีวิต
จากวันที่ 9 ตุลาคม 2530 ฤกษ์ดีการปฏิวัติได้กลายเป็นเคราะห์เมื่อวันที่
15 ตุลาคม จากนั้นเพียง 6 วัน เพิ่งดื่มฉลองแชมเปญไปไม่กี่เพลา ฝ่ายสมบูรณ์งัดไม้เด็ดยื่นฟ้องต่อศาลให้การประชุมครั้งนั้นเป็นโมฆะ
เช่นเดียวกันร้องต่อศาล ไต่สวนฉุกเฉิน ให้ระงับจดทะเบียนกรรมการใหม่ และแล้วเหตุการณ์ก็พลิกล็อคอย่างถล่มถลายอีกครั้งหนึ่ง
ฝ่ายสุระ จันทร์ศรีชวาลา ผู้ใช้ความพยายามถึง 5 ปีเต็มในการโค่นทีมบริหารสมบูรณ์ในธนาคารแหลมทองต้องยืดเยื้อออกไป
แต่ฝ่ายปฏิวัติก็ไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว ยื่นอุทธรณ์ใหม่อีกครั้ง!
การปฏิวัติธุรกิจระยะใกล้นี้ทุกครั้งมาหยุดกึกสุดท้ายปลายทาง ณ ศาลแพ่ง
ถนนราชดำเนินในสัจธรรมทางธุรกิจที่ว่าผู้ถือหุ้นข้างมากคุมอำนาจตัดสินใจการบริหารนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
หากต้องรอคอยด้วยเวลานานแล้วไซร้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายนั้นแน่นอน เวลาที่ผ่านไปมีความหมายมากมายสำหรับธุรกิจ!
จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม วงการธุรกิจเมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นใดกุมจำนวนหุ้นเกินครึ่ง
ก็จะกำหนดทิศทางกิจการรวมไปถึงการบริหารกิจการด้วยเสมอมาการแสวงหาหุ้นเกินครึ่ง
จึงเป็นสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งกิจการซึ่งดำรงอยู่ด้วยผู้ถือหุ้น
2 ฝ่ายใหญ่ ๆ อยู่ด้วยกัน หรือกลุ่มข้างนอกพยายามแทรกตัวเข้ามา
ประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของธุรกิจไทยยังไม่ก้าวหน้าไปไกลนัก แต่ความขัดแย้งในองค์กรธุรกิจก็นับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น
ด้วยเหตุผลสลับซับซ้อนมากขึ้น สุดท้ายมักจะลงเอยด้วยรูปแบบการเข้าครอบครองกิจการ
(ACQUISITION) แต่เป็นเข้าไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ก็รู้
ๆ กันอยู่ เข้าทำนองที่ไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ หรือก็เปิดเผยกันตรง ๆ
พูดจากันแรง ๆ แต่วิธีการแบบซุ่มซ่อน
กรณีแรกเช่นอาคเนย์ประกันภัย กรณีที่สองมาบุญครองอบพืชและไซโล และกรณีสุดท้ายแบบธนาคารแหลมทอง
เป็นต้น
นักบริหารธุรกิจหลายคนกล่าวในทางเดียวกันว่า กลยุทธ์ในการแสวงหาหุ้นเกินครึ่งของธุรกิจแยบยลเสียนี่กระไร
และได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในการครอบครองกิจการแต่ไหนแต่ไรมา และเมื่อบวกกับความรู้ที่ได้จากหลักสูตรเอ็มบีเอในสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว
ยิ่งพิสดารพันลึกเข้าไปอีก
ดังเช่นกรณีกลุ่มอินทรทูตโค่นธนิต พิศาลบุตร ในธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การเมื่อต้นปี
2529 หรือ กลุ่มค้าผลผลิตโค่นอำนาจบรรเจิด ชลวิจารณ์ กระเด็นออกจากบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย
อย่างไม่รู้ตัวเมื่อปี 2525
แต่ยุคสมัยเช่นว่านี้ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว
ศิริชัย บูลกุล ค้นคว้า
กระบวนยุทธ
ศิริชัย ใครก็ยอมรับว่าเขาเป็นคนเก่ง เพราะใช้เวลาเพียง 10 ปีก็สามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเองใหญ่โต
และที่เด่นชัดคือศูนย์การค้ามาบุญครอง หัวมุมปทุมวัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลของเขา
มิใช่บริษัทมหาชนอย่างที่บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล (ความสำเร็จของศิริชัย
บูลกุล "ผู้จัดการ" อรรถาธิบายมามากแล้ว)
มาบุญครองเซ็นเตอร์กับศิริชัย เริ่มประสบปัญหาการเงินอย่างรุนแรง ตั้งแต่กลางปี
2529 หนี้สินท่วมทับกว่า 2,000 ล้านบาท การเจรจาผ่อนปรนปรับโครงสร้างการชำระหนี้สินระหว่างแบงก็เจ้าหนี้กับศิริชัยดำเนินไปอย่างยาวนาน
ล่วงเลยถึงกลางปี 2530 ก็ยังไม่มีทีท่าจะตกลงกันได้
ห้วงเวลานั้นเองเจ้าหนี้บางรายได้เจรจาขอซื้อหุ้นจากกลุ่มศิริชัย บูลกุล
เพื่อขายต่อให้ชาวต่างประเทศเห็นว่าเมื่อปรับโครงสร้างหนี้สินและเพิ่มทุนแล้ว
อนาคตของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลก็น่าจะแจ่มใส
การเร่งรัดในการแก้ปัญหาของเจ้าหนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเจรจาซื้อหุ้นดังกล่าวข้างฝ่ายศิริชัยนั้นด้วยการปฏิบัติบ่งว่า
พยายามหน่วงเหนี่ยวการเจรจาต่าง ๆ ให้ยืดยาวออกไป ในแง่ธุรกอจมีการอธิบายกันได้ว่าเมื่อธุรกิจดำเนินไปรายได้ย่อมมีเข้ามา
ใคร ๆ ก็คิดกันว่าการที่ศิริชัย ขายหุ้นของตัวเองออกไปจนเหลือประมาณ 10
% นั้น เป็นจดพลาดทำให้เจ้าหนี้รุกคืบ และเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาประนอมหนี้มากขึ้น
มีการอธิบายกันหลายทางซึ่งไม่แน่ชัดฝ่ายศิริชัยแถลงว่า แบงก์เจ้าหนี้บีบเขา
ส่วนอีกกระแสให้รายละเอียดว่าเนื่องจากหนี้สินส่วนตัวที่ถูกบีบชำระ บ้างก็ว่าต้องการนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ฯ หรือชำระหนี้ที่ค้างอยู่ในธุรกิจนั้นหลายร้อยล้านบาท บ้างก็ว่านำเงินไปลงทุนเพราะเลี้ยงกุ้งหรือปลูกมะม่วงหิมพานต์
อันเป็นความร่วมมือกับทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ทัพภาคที่ 2 จปร.5 คนหนึ่งผู้เป็นเพื่อนแนบแน่นกับศิริชัย
บูลกุล
แม้จะยากลำบากทางการเงินสักเพียงใด ศิริชัยมีวิญญาณต่อสู้ไม่ยอมจำนน ชื่อเสียงของเขามิได้ตกต่ำอย่างที่บางคนต้องการทั้งหมด
ในช่วงเวลานั้นเอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มอบปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านบริหารธุรกิจแก่เขา
หรือแม้กระทั่งวุฒิสมาชิกจะพ้นวาระเขาก็ได้รับแต่งตั้งเข้ามาใหม่อีกครั้ง
อันแสดงถึงอำนาจซึ่งหลายคนไม่ควรมองข้าม
ช่วงกลางปี 2530 การเจรจาหนี้สินไม่อาจตกลงกันได้ บรรดาเจ้าหนี้จึงมีมติร่วมกันโค่นอำนาจการบริหารของเขา
โดยอาศัยเงื่อนไขที่ศิริชัยได้ขายหุ้นของตนออกไปปรากฏว่าบรรดาเจ้าหนี้สามารถรวบรวมพลังกันได้มากเป็นประวัติการณ์
ขณะนั้นวงการธุรกิจเชื่อกันอย่างยิ่งในที่สุดแล้วศิริชัยก็หลุดออกจากตำแหน่ง
มาบุญครองเซ็นเตอร์ก็คงเหลือไว้เป็นเพียงอนุสรณ์
เวลายืดออกไป เป็นตัวเร่งในทางตรงข้ามในบรรดาเจ้าหนี้มีอาการรีบร้อนในการเข้ายืดกิจการมาจากทีมบริหารของศิริชัย
บูลกุล ความเร่งรีบนี่เองได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ดีของกลุ่มศิริชัย บูลกุล
และเป็นผลร้ายต่อฝ่ายปฏิวัติไปในฉับพลัน แม้ว่าเพื่อนรัก เช่น ประพันธ์ คงคาทอง
กับมาชานลี น้องชายคนละแม่ซึ่งเคยร่วมกันสร้างอาณาจักรกันมาจะตีตัวออกห่างก็ตาม
แผนการโค่นอำนาจศิริชัย บูลกุล เริ่มเป็นทางการตั้งแต่ เดือนเมษายน 2530
ช่วงนั้นแวดวงธุรกิจฉงนสนเทห์กับพฤติกรรมของกลุ่มศิริชัย ซึ่งใช้อาวุธทางกฎหมายทำสงครามต่อต้าน
สมภพ ฟูศิริ ในฐานะรองประธานกรรมการบริษัทและผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ออกมาแสดงบทบาทแทนตั้งแต่นั้นมา
ตรงจุดนั้นได้เริ่มสั่นคลอนความเชื่อและจริยธรรมทางธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง
การเปิดประชุมของฝ่ายเจ้าหนี้ที่แปลงโฉมมาในนามของผู้ถือหุ้นถูกยับยั้งด้วยข่ออ้างทางกฎหมาย
ความเข้มงวดอย่างหนักเกี่ยวกับทะเบียนหุ้น ท้ายที่สุดเอกสารในการขอเปิดประชุมนั้นฝ่ายศิริชัยอ้างว่าไม่ถูกต้องทำให้สัดส่วนของผู้เสนอเปิดประชุมน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
ฝ่ายทะเบียนซึ่งอยู่ในมือของกรรมการชุดเดิมจึงเลื่อนการประชุมออกไป
จากวันนั้นเองมือกฎหมายเช่นสมภพ ฟูศิริ จึงโดดเด่นขึ้นมา กล่าวกันทั่วไปถึงความเป็น
"มือขวา" มาพร้อมกับมาตรการทางกฎหมายของศิริชัย นำมาใช้ในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์อำนาจการบริหารงาน
วันที่ 23 กรกฎาคม 2530 เป็นวันดีเดย์ วันที่มือกฎหมายทั้งสองปะทะกัน บางคนกล่าวว่าเมืองไทยจะเป็นสหรัฐ
ฯ เข้าทุกวัน เพราะนักกฎหมายกำลังครองประเทศ
ดูเหมือนแผนการจะถูกวางกันมาอย่างดี ใครชนะใครแพ้อยู่ที่ทีมงานกฎหมายของแต่ละฝ่าย
ฝ่ายปฏิวัตินั้นเป้าหมายชัดเจนคือโค่นอำนาจบริษัทของกลุ่มศิริชัย เพียงต้องการดึงเกมให้ช้าไปอีก
เพราะเวลาทำให้ศิริชัยได้สิ่ง 2 สิ่ง หนึ่ง-ผลตอบแทนทางธุรกิจ สอง-หาหนทางแก้ปัญหาการเงินของกิจการเมื่อมีเวลามากขึ้น
สรุปชัดเจนก็คือหากฝ่ายปฏิวัติอาจบรรลุจุดประสงค์ ก็เป็นชัยชนะของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว
!
เวลา 10.00 น ณ โรงแรมมโนห์ราคือเวลาตามกำหนดการประชุม แต่กว่าจะเริ่มจริง
ๆ ก็ปาเข้าไป 11.00 น. ฝ่ายปฏิวัติรู้ดีว่ากลุ่มศิริชัยต้องใช้แผนเดิมคือตรวจเอกสารลงทะเบียนและการมอบฉันทะอย่างละเอียด
เพื่อหาข้อบกพร่องและไม่รับลงทะเบียน เวลาผ่านไปเชื่องช้านั้นเหตุผลหนึ่งไม่มีใครตัดสินใจเพราะสมภพ
ฟูศิริ ทนายความฝ่ายศิริชัยไม่ปรากฏตัว ฝ่ายปฏิวัติเตรียมทนายมาเป็น 10 คน
บางคนวิ่งเข้าบางบริษัทเพื่อนำตรายางอย่างชุลมุนยุ่งเหยิงเป็นการประชุมชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน
วันนั้นศิริชัย บูลกุล นั่งบัญชาในห้องอาหารโรงแรมไม่ยอมเข้าประชุม การประชุมเริ่มโดยมีวันชัย
บูลกุล พี่ชายผู้รักศิริชัยมากที่สุดในบรรดาพี่น้อง เป็นประธานที่ประชุม
ในทันทีก็เปิดแผนเดิม คืออ้างว่าการลงทะเบียนไม่เรียบร้อย ทำให้จำนวนหุ้นไม่ครบตามระเบียบบริษัท
ผู้รู้เรื่องยืนยันว่าแผนนี้เตรียมไว้แล้ว ในขณะที่ฝ่ายปฏิวัติก็เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน
วันชัยปิดการประชุม ฝ่ายผู้ถือหุ้นข้างมากจึงประชุมต่อ ก็เท่ากับเข้าล็อคของฝ่ายต่อต้านระดับหนึ่ง
ปัญหาข้อกฎหมายชี้ขาดก็คือการยืดถือระเบียบการของบริษัทซึ่งกำหนดไว้อย่างแปลกประหลาดมาก
ประธานที่ประชุมจะต้องมาจากกรรมการชุดเดิมเท่านั้น ความจริงฝ่ายปฏิวัติก็ตระหนักปัญหาข้อนี้เช่นกัน
หะแรกจึงเชื้อเชิญ ประพันธ์ คงคาทอง หรือมาชวนลีกรรมการชุดเก่าเป็นประธาน
แต่ได้รับปฏิเสธถึงขั้นนี้สุธี ดำเนื้อดี ตัวแทนกฎหมายของผู้ถือหุ้นใหญ่
ซึ่งมิได้เป็นกรรมการเข้ามาทำหน้าที่เปิดประชุมต่อไป ตามวาระต่าง ๆ จนครบจุดประสงค์ของกลุ่มใหม่
ปัญหาสุดยอดอยู่ที่การจดทะเบียนกรรมการใหม่ที่กรมทะเบียนการค้า ทนายคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า
หากฝ่ายปฏิวัติมาทบทวนอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าขัดต่อระเบียบบริษัท หรือหลักการองค์ประชุมไม่ครบ
ก็ควรจะยื่นขอประชุมใหม่ ตระเตรียมหลักฐานให้ครบถ้วนกว่านี้
"ประชุมใหญ่หลาย ๆ ครั้งดีกว่าเป็นคดีความหลายปี" เขาสรุป
ครั้นเมื่อกรรมการชุดใหท่ยื่นจดทะเบียน เป็นจังหวะที่ฝ่ายศิริชัย ยื่นฟ้องต่อศาลให้การประชุมเมื่อวันที่
23 กรกฎาคม 2530 เป็นโมฆะ และที่เป็นจดไคลแม็กซ์ที่สุดก็คือร้องต่อศาลให้ระงับการจดทะเบียนไว้ก่อน
จนกว่าคดีความจะสิ้นสุด
ด้วยวินิจฉัยของศาลแพ่งต่อกรณีนี้ถือเป็นปมเงื่อนที่สำคัญที่สุดในเกมนี้
ซึ่งผลก็ปรากฏว่าการร้องต่อศาลของฝ่ายศิริชัยมีน้ำหนักมากกว่า (หนึ่ง-การประชุมไม่ครบองค์ประชุม
สอง-ผิดระเบียบบริษัทที่ประธานที่ประชุมต้องเป็นกรรมการ) จึงตัดสินให้กรมทะเบียนการค้าระงับการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ไว้ก่อน
ฝ่ายปฏิวัติตดคดีความไปอีกนานในขณะนี้ฝ่ายศิริชัยมีเวลาเหลืออีกนาน ในเกมนี้ฝ่ายศิริชัยคือผู้ชนะนั่นเอง
สมบูรณ์-สุระ ประฝ่ามือ
เพลงสุดท้าย
สมบูรณ์ได้ชื่อว่า เป็นสุภาพบุรุษหนึ่ง สิ่งที่เขาคิดถึงครั้งแรกเมื่อทราบว่า
บอสตัน เอเยนซี่ เป็นกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา คือ ธนาคารชาติ ด้วยความเชื่อที่ว่า
กลุ่มสุระ จันทร์ศรีชวาลา มีปัญหาการเงินตลอดมา ฐานการเงินหลวมมาก ๆ ดอกเบี้ยต้องจ่ายวันละเป็นล้านบาทนั้น
เป็นการวัดลมหายใจของฝ่ายนั้นได้ดีว่าคงไปได้ไม่ไกล อีกทางหนึ่งหนี้สินสำคัญก็เกี่ยวกับทางการ
คือ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารชาติอุตส่าห์ส่งเริงชัย มะระกานนท์ เข้าไปสะสาง
จากสมมติฐานนี้ สิ่งแรกที่สมบูรณ์ดำเนินการตอบโต้ก็คือ การเพิ่มทุนอันเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จคราวที่แล้ว
(โปรดสังเกตยุทธวิธีที่สำเร็จจะถูกนำกลับมาใช้เสมอ เช่นเดียวกับศิริชัยใช้วิธีตรวจเอกสารการลงทะเบียนเข้มงวดทำให้จำนวนหุ้นไม่ครบองค์ประชุม)
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ไล่หลังเหตุการณ์ที่โรงแรมมโนห์รา สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
ก็พลิกแผนเก่า คือ เพิ่มทุนทันควันจาก 400 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาท ราคา
300 บาท/หุ้น กดดันต่อฝ่ายสุระ ตามสมมติฐานของฝ่ายสมบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อแผนแบบนี้บ่อยครั้งเข้า ฝ่ายสุระก็ได้เตรียมแผนต้านไว้เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งมีเพียงทางออกทางเดียว คือ หาเงินมาสำรองในการเพิ่มทุนในเวลาจำกัดมาก
ๆ เวลาที่เหลือจนกว่าจะถึงวันจองหุ้นนั้น ไม่เพียงจะขอเปิดประชุมวิสามัญเผด็จศึกได้
ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอน แต่ฝ่ายสมบูรณ์ก็ไม่สามารถต้านฝ่ายสุระได้ แผนการต่อมาก็คือ
วิ่งเต้นขอแรงสนับสนุนจากแบงก์ชาติ ขอให้สกัดกั้นฝ่ายสุระเข้ายึดแบงก์ แผนการต่าง
ๆ รวมทั้งการเจรจาประนีประนอมที่เสนอโดยฝ่ายสุระกับแบงก์ชาติ ฝ่ายสมบูรณ์
ประกาศชัดเจนว่า เขากับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นมิอาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ประดุล
"น้ำกับน้ำมัน" ถึงขั้นนี้แล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ประกาศวางเฉยต่อข้อขัดแย้งที่กำลังเดินไปสู่จุดไคลแม็กซ์
นั่นก็คือ กลุ่มฝ่ายสุระ จันทร์ศรีชวาลา ยื่นขอเปิดประชุมวิสามัญ เพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการและกรรมการผู้จัดการ
คนนอกวงการ มองว่า เส้นตายของสมบูรณ์ถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่มีทางเป็นอื่นได้
ในครั้งแรกสมบูรณ์ก็ออกมากล่าวในทำนองปลง ๆ ว่า "คนมีเงินสามารถเป็นเจ้าของแบงก์"
สุระนั้นก็มีอาการเดียวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของมาบุญครองเช่นกัน คือ เร่งรีบในการดำเนินการ
บางคนวิเคราะห์ว่าเนื่องจากภาระหนี้สินที่ถาโถมเข้ากับการเร่งรัดให้ดำเนินของเจ้าหนี้บางราย
ซึ่งอยู่เบื้องหลังจากการสนับสนุนโค่นอำนาจสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ครั้งนี้
ฝ่ายสุระยื่นขอเปิดประชุมวิสามัญ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2530 ตามธรรมเนียม
เขาจะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่า สมบูรณ์ทำงานบกพร่องอย่างไร สมควรจะปลดออก ซึ่งอ้างว่าด้วยการบริหารของสมบูรณ์ทำให้ผลประกอบการชะงักงัน
ฝ่ายสมบูรณ์ต่อกรอย่างเงียบ ๆ ด้วยการให้คณะกรรมการทำหนังสือตอบว่า ข้ออ้างนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ
อีกทั้งกล่าวว่า ตามระเบียบธนาคารผุ้ถือหุ้นไม่สามารถปลดกรรมการผู้จัดการได้
เวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านไป นำความกระวนกระวายใจสู่ฝ่ายสุระพอประมาณเมื่อครบกำหนดสมบูรณ์ไม่ดำเนินการตามนั้น
ฝ่ายสุระได้โอกาสเป็นนายทะเบียนเองรวบรวมผู้ถืหุ้นฝ่ายตนก็เปิดประชุมเองตามกฎหมาย
กรณีนี้ ฝ่ายสุระสรุปบทเรียนสำคัญ 2 ข้อ (จากกรณีมาบุญครอง) หนึ่ง - เอกสารทะเบียนหุ้นต่าง
ๆ ดำเนินไปอย่างรัดกุม สอง - เปิดประชุม ณ สถานที่อื่น ๆ มิใช่สำนักงานธนาคาร
โดยยึดเอาชัยที่สนามม้า สำหรับบทเรียนข้อแรกนั้น ฝ่ายสุระเคยคาดว่า สมบูรณ์จะเปิดประชุมเองและนำแผนการเข้มงวดเรื่องทะเบียนมาตอบโต้
ตั้งแต่การโอนหุ้นที่มีการซื้อขายและก็ไม่เป็นไปตามคาดหมายแต่ประการใด ซึ่งเป็นปมเงื่อนสำคัญ
วันที่ 9 ตุลาคมนั้น วงการธุรกิจคาดหมายกันไว้อย่างมั่นเหมาะ หากเป็นการพนันก็คงไม่มีใครต่อรอง
สมบูรณ์ไปแน่ ๆ มีบางคนคาดคิดเหมือนกันว่าสมบูรณ์จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาตอบโต้
สังเกตจากการส่งจดหมายชี้แจงข้อเท็จจริง และการอ้างว่าการประชุมของฝ่ายสุระนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม น้ำหนักก็คงสู้ฝ่ายสุระซึ่งมีสุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ทนายผู้มีประสบการณ์อย่างโชกโชนในข้อพิพาททางธุรกิจ
แม้แต่กรณีมาบุญครอง เขาก็เข้าไปอยู่ฝ่ายเจ้าหนี้ด้วย รวมไปจนถึงกรณีสหธนาคารฝ่ายบรรเจิดเข้ามาขวางทางเรื่องการโอนหุ้นให้
เอบีซี. สุวัฒน์ก็ถูกเรียกใช้ไปแก้ปัญหานั้น
แต่ทว่า ความประมาทกับความเร่งรีบก็กลายเป็นผลเสียในเวลาต่อมา
ฝ่ายสมบูรณ์ได้เปลี่ยนมือกฎหมายใหม่จากสำนักงานธรรมนิติ ของ ไพศาล พืชมงคล
มาใช้เสริมศักดิ์ เทพาคำ มือขวาธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ามาดำเนินการอย่างเงียบ
ๆ
ก่อนหน้าวันที่ 9 หนึ่งวัน ฝ่ายสมบูรณ์ออกข่าวว่า กรรมการชุดเก่าจะไม่เข้าร่วมประชุมด้วย
ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นข่าวลวงให้อีกฝ่ายตายใจ
ก่อนเวลาประชุมเพียง 5 นาที ณ ห้องประดิพัทธภูบาล สนามม้านางเลิ้ง สรร อักษรานุเคราะห์
ประธานกรรมการแบงก์แหลมทอง เข้ามาร่วมประชุมด้วย สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร มีอาการตกใจเล็กน้อย
เพราะคาดไม่ถึง ตามกฎหมายแล้ว เมื่อประธานกรรมการเข้าร่วมประชุม จะต้องเป็นประธานในที่ประชุม
สรรจึงได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นประธานที่ประชุมเป็นไปตามแผนที่ฝ่ายสมบูรณ์ได้วางไว้
กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นบางรายเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไป โดยอ้างว่าวาระการประชุมกระทำไม่ถูกต้อง
แต่ฝ่ายสุระคัดค้านจะขอประชุมต่อไป
สรรจึงประกาศเลิกประชุม โดยอ้างว่าที่ประชุมมีข้อขัดแย้งกันมาก ทั้งนี้ฝ่ายสมบูรณ์มีการวางแผนให้รับกับข้อกฎหมายไว้หลายชั้นตั้งแต่เรื่องวาระการประชุมที่ฝ่ายสุระเพิ่มเติมขึ้นเองอย่างรีบร้อนในวาระเรื่องอื่น
ๆ และเสนอปลดกรรมการผู้จัดการ ซึ่งตามระเบียบธนาคารแล้วกระทำไม่ได้ ทางปฏิบัตินักกฎหมายบางคนกล่าวว่า
ต้องมี 2 ขั้นตอน คือ ปลดกรรมการชุดเก่าและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เสียก่อน
กรรมการชุดนี้จึงแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการอีกครั้งหนึ่ง
แผนสำคัญอีกชั้นหนึ่งก็คือ ตามฎีกาเลขที่ 111/2521 ระบุว่าประธานที่ประชุมสามารถสั่งเลิกประชุมได้
โดยไม่ต้องขอความเห็นจากที่ประชุม
จากหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้นั่นเอง เมื่อฝ่ายสมบูรณ์ยื่นฟ้องให้การประชุมเมื่อวันที่
9 ตุลาคมเป็นโมฆะ ทั้งร้องต่อศาลให้ไต่สวนฉุกเฉินสั่งระงับการจดทะเบียนกรรมการใหม่อันเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง
ศาลจึงสั่งตามฝ่ายสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ร้องขอ
ยุทธวิธีของสมบูรณ์นั้น กล่าวกันว่า ศึกษาจากบทเรียนของฝ่ายศิริชัย จากกรณีมาบุญครองอย่างเห็นได้ชัด
หนึ่ง - อาศัยระเบียบธนาคารที่กำหนดไว้ละเอียดจนอีกฝ่ายหนึ่งมองข้าม สอง
- ช่องว่างที่ฝ่ายศิริชัยเองก็นึกไม่ถึงและดูแนบเนียนกว่าก็คือ ประธานที่ประชุมมีสิทธิสั่งเลิกประชุมได้
ซึ่งวันชัยก็ดำเนินการเช่นนั้น
ฝ่ายสุระยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง ในทางกลับกัน หลายฝ่ายค่อนข้างจะเชื่อว่า เหตุผลในการอุทธรณ์
ศาลจะไม่รับฟัง ฝ่ายสมบูรณ์ค่อนข้างจะเชื่อมั่นเช่นนั้น วันที่ 29 ตุลาคมเป็นวันชี้ขาด
และแล้วเหตุการณ์ก็พลิกล็อคอีกครั้งเมื่ออธิบดีศาลแพ่งคนใหม่ (อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง)
ร่วมกับทีมผู้พิพากษาพิจารณาเห็นว่า การประชุมครั้งนั้นถูกต้องจึงได้ยกเลิกการระงับจดทะเบียนกรรมการไว้ชั่วคราวเสีย
หมายความว่า กรรมการใหม่สามารถเข้ามาบริหารแบงก์แหลมทอง นำความโล่งอกมาสู่บรรดาเจ้าหนี้
ทนายความ (ไม่ขอออกนาม) กล่าวว่า ปมเงื่อนของกรณีมาบุญครองกับแหลมทองต่างกันตรงที่
ศิริชัยยึดอำนาจนายทะเบียนไว้ จนส่งผลให้เอกสารไม่ครบองค์ประชุม ส่วนสมบูรณ์ละทิ้งอำนาจนายทะเลียน
โดยยอมให้ฝ่ายสุระเปิดประชุมเอง จัดการการลงทะเบียนหุ้นทั้งหมด ซึ่งฝ่ายนั้นตระเตรียมไว้อย่างดี
นี่เป็นเพียงการมองเหตุการณ์ขณะนั้น (ขณะเขียนข่าวนี้) จากนี้อาจพลิกผันอีกก็ได้
ใครจะรู้ ?
เพียงระยะผ่าน
ถามนักกฎหมายหลายรายซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องทำนองนี้ มักจะส่ายหน้าระอากับความล้าหลังของกฏหมายไทย
พวกเขากล่าวว่า มาถึงจุด "หัวเลี้ยวหัวต่อ" สำคัญ คือ การก้าวไม่ทัน
กับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจในประเทศไทย เทคนิคทางธุรกิจอันสลับซับซ้อนทั้งการเกี่ยวข้องกับโลกธุรกิจทั้งโลกมีการถ่ายเทอย่างมากมายนับวันจะมีช่องว่างมากขึ้น
เสียงเรียกร้องในการแก้กฎหมายในส่วนนี้นับวันจะดังขึ้นทุกวัน ๆ !
แต่มองกว้างออกไป นักประวัติศาสตร์สำนัก "ผู้จัดการ" มองว่า ขั้นพัฒนาธุรกิจกำลังมาถึงระยะ
"หัวเลี้ยวหัวต่อ" เช่นเดียวกัน กำลังจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทุนนิยมเสรีอย่างเต็มตัวมากขึ้น
ๆ ก้าวหน้ามากขึ้น
การล่มสลายของธุรกิจครอบครัวที่ไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมปรับวิธีการบริหารดั้งเดิมย่อมถูกสั่นคลอนจากสภาพสังคมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
การเดินทางของธุรกิจเคียงคู่กับเส้นทางแห่งอำนาจเกาะเกี่ยวกับผู้อำนาจตามแนวความคิดเดิมนั้น
ในภาวะที่กลุ่มอำนาจแตกเป็นเสี่ยง เป็นกลุ่มและไม่ถาวรเช่นปัจจุบันจึงยากยิ่งในการใช้
"เครื่องมือ" ดังกล่าวดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะยาว
การเดินทางวกวนและซิกแซกบนพื้นฐานของสังคมไม่เข้มแข็ง มีจุดอ่อนในข้อกฎหมายเช่นนี้เอง
จึงเป็น "ระยะผ่าน" อีกระยะหนึ่งเท่านั้น