|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
'โออิชิ' เปลี่ยนแนวรบ หันสร้างจุดแข็งเพิ่มกำลังการผลิต เตรียมพร้อมต่อยอดความแข็งแกร่งแบรนด์จากบัลลังก์ตลาดชาเขียวที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง เข้ารุกหนักตลาดชาดำพร้อมดื่ม ปูทางสู่ผู้นำตลาดเครื่องดื่มต่อไป
ติดตามสถานการณ์ชาพร้อมดื่มในบ้านเรา กำลังเคลื่อนเข้าสู่จุดเดือด 100 องศา เมื่อยักษ์ใหญ่ เจ้าของตำแหน่งแชมป์ชาเขียว 'โออิชิ' เปลี่ยนแนวรุกใหม่ จากเดิมที่มีการทำธุรกิจแบบที่มีการตลาดนำหน้า สร้างยอดขายชาเขียวให้เติบโตแบบถล่มทลายจากแคมเปญแหวกแนว 'รวยฟ้าผ่า'จนมาถึง 'ไปแต่ตัวทัวร์ยกแก๊งกับโออิชิ' มาเป็นการโฟกัสที่การผลิตให้มีศักยภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมขยายด้านกำลังการผลิต โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีการเซ็นสัญญาติดตั้งเครื่องจักรกับบริษัท ชิบูย่า โคเงียว ประเทศญี่ปุ่น ติดตั้งเครื่องจักรระบบใหม่ เทคโนโลยีการบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling) ทุ่มทุน 1,430 ล้านบาทครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 10 ปี โดยเริ่มนับถอยหลังด้วยระยะเวลาอีก 1 ปี 6 เดือน ก็จะเริ่มเดินสายพานกำลังการผลิตใหม่เพิ่มกำลังผลิตอีก 100% จากปัจจุบันปีละ 180 ล้าน/ปี หรือ 600 ขวด/นาที
การขยายไลน์การผลิตของ โออิชิ ดูจะสวนทางกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดชาเขียวที่มีการเติบโตไม่หวือหวาเหมือนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ โออิชิ กลับมาเพิ่มกำลังการผลิต นั่นก็เพื่อการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตเพื่อรับศึกครั้งใหม่ในตลาด และปูทางขยายพอร์ตเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องดื่มโออิชิ กรีนที, โออิชิ แบล็คที, อะมิโน โอเค และกาแฟพร้อมดื่มคอฟฟิโอ ทำตลาดอยู่ รวมถึงต่อยอดจากบัลลังก์ชาเขียวมาสู่ผู้นำของตลาดเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริงก์ ซึ่งนอกจากชาพร้อมดื่มแล้ว ยังรวมถึง กาแฟ น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และฟังก์ชันนัลดริงก์ ที่กำลังมาแรงในกระแสสุขภาพด้วย
แต่ในเส้นทางก่อนจะก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ผู้นำตลาดเครื่องดื่มที่ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) วางนโยบายไว้นั้น ดูเหมือนจะไม่ราบเรียบเหมือนครั้งแรกที่เข้ามาในตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม เพราะครั้งนี้ 'โออิชิ' จะต้องกรำศึกกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่มจากต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น 'ซานมิเกล' และ 'ซันโทรี่' จากประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาจับมือกับทิปโก้ฟู้ดส์ ชิมลางตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ด้วย 'ดาการะ'กระทั่ง 'คิริน' ที่เข้ามาแบ่งเค้กในตลาดเครื่องดื่มในบ้านเราประมาณ 2-3 ปี และแม้ว่าผลดำเนินการที่ผ่านมาไม่เข้าเป้า แต่ก็ไม่ถอดใจ ยังเดินหน้าปั้นแบรนด์ 'ทีเบรค' ชาอังกฤษที่เป็นช่องว่างในตลาดแทนที่ 'นะมาชะ'ทำตลาดต่อไป
นั่นเป็นการชิงชัยในตลาดเครื่องดื่ม ส่วนการสู้ศึกในสมรภูมิตลาดชาพร้อมดื่มที่'โออิชิ' มองว่ายังเป็นตลาดสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้ 'ตัน' กล่าวว่าข้อมูลผลสำรวจด้านการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มจาก เอซีล นีลเส็น ในเดือนเมษายน ปี 2552 พบว่าชาพร้อมดื่มมีการเติบโตมากที่สุด 28% โดยชาเขียวเติบโตกว่า 20% แต่ที่น่าสนใจคือตัวเลขการเติบโตของชาดำ และชาขาว ซึ่งนับว่าเป็นเซกเมนต์หลักที่ขับเคลื่อนตลาดชาพร้อมดื่มให้มีอัตราการเติบโต
สำหรับตัวเลขการเติบโตของตลาดชาดำ ที่เป็นเซกเมนต์สร้างโอกาสในตลาดชาพร้อมดื่ม ที่มาจาก เอซีล นีลเส็น นั้น ถือว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายของ โออิชิ ต่อไปคือการกระโจนจะเข้าไปปักธงในเซกเมนต์ชาดำ เป็นตลาดต่อไป จากที่ผ่านมา ชาเขียว ทำให้ โออิชิ ครองส่วนแบ่งตลาดชาพร้อมดื่มไว้ได้ในปัจจุบันด้วยส่วนแบ่ง 64% ของตลาดรวมชาพร้อมดื่มมูลค่า 4,800 ล้านบาท
ไม่เพียง โออิชิ ที่เริ่มปรับเป้าหมายไปโฟกัสตลาดชาพร้อมดื่มเซกเมนต์อื่น โดยแนวโน้มตลาดชาพร้อมดื่มที่เปลี่ยนไปนั้น ก็ทำให้ สยามคิริน เบฟเวอร์เรจ อีกผู้เล่นในตลาดชาเขียวภายใต้แบรนด์นะมาชะ ได้เบนเข็มไปหาตลาดใหม่ โดย ฮิเดยูกิ อิวาโอะ ประธานบริษัท เคยกล่าวไว้ว่า พฤติกรรมการบริโภคชาพร้อมดื่มของคนไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนจากชาเขียวมาเป็นชาดำและชาขาวแทนซึ่งมีอัตราการเติบโตถึง 20% ขณะที่ชาเขียวเข้าสู่ช่วงขาลง
การเข้ามาเล่นในตลาดชาดำพร้อมดื่มของ โออิชิ ที่มี 'ชาลิปตัน' ของค่ายเสริมสุข ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่ และมิรินด้า ซึ่งเป็นเจ้าตลาดและเป็นคู่แข่งรายสำคัญในตลาดชาดำนี้ ไม่ได้เป็นตลาดใหม่ถอดด้าม เพราะก่อนหน้านี้ โออิชิ ได้เข้ามาในตลาดนี้เป็นเวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งหลังจากเข้ามาชิมลางในตลาดชาดำ ก็ทำให้ภาพรวมรายได้ที่มาจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่มียอดขายชาพร้อมดื่มคิดเป็น 90% ของกลุ่มเครื่องดื่ม จึงแบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายชาเขียว 80% และชาดำ 20% ทว่าการที่ โออิชิ ลงเล่นในตลาดชาดำในเวลานั้นยังไม่ใช่จังหวะในการรุกหนัก เนื่องจากตลาดชาเขียวยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาดำพร้อมดื่มของ ลิปตัน โดน ชาเขียว กลืนตลาดไปบางส่วน และทำให้ ลิปตัน ต้องกลับลำหันมาเล่นในตลาดชาเขียวบ้าง
ในจังหวะที่สถานการณ์กระแสชาเขียวเริ่มลดลงนี่เอง ก็เริ่มมีชาพร้อมดื่มประเภทต่างๆ เข้ามาในตลาด ไม่ว่าจะเป็น ชาขาวเพียวริคุ ที่เป็นแบรนด์ของบริษัทในเครือกระทิงแดง ที่ปลุกปั้นแจ้งเกิดในตลาด โดยล่าสุดหันมาใช้กลยุทธ์พรีเซนเตอร์สองนักร้องอย่าง 'กอล์ฟ-ไมค์'เพื่อต้องการภาพลักษณ์และยึดตำแหน่งเครื่องดื่มของวัยรุ่นยุคใหม่ และขนาด 350 มม. ราคา 10 บาท เจาะช่องทาง Traditional Trade
รวมถึง ลิปตัน ที่สามารถปลุกกระแสตลาดให้หวนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยตัวเลขดีวันดีคืนของตลาดชาดำทำให้เมื่อต้นปี ลิปตัน เทงบ 20ล้านบาท รีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุด 'Youth Spirit' และนำ 'พีค-ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ' และ 'สงกรานต์ เตชะณรงค์' มาเป็นพรีเซนเตอร์ใหม่ เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูทันสมัยขึ้น สื่อสารให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น จนถึงวัยทำงานอายุระหว่าง 18-25 ปี รวมถึงขยายฐานผู้บริโภคในตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น และรับกำลังการซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ขวดเพ็ตขนาดใหม่อีโคโนมีไซส์ ขนาด 350 มล. ด้วยราคาเพียง 12 บาท เพื่อรองรับกับการแข่งขันของชาเขียวที่มีขนาด 350 มล. ราคา 12 บาท
กระแสความแรงของตลาดชาดำพร้อมดื่มที่กลับมานิยมอีกครั้ง กอปรกับเม็ดเงินที่เจ้าตลาดทุ่มงบลงไปดังกล่าว ยิ่งเป็นการเพิ่มความร้อนแรงให้ตลาดชาดำพร้อมดื่มนั่นเอง ก็ทำให้ โออิชิ ต้องกระโจนลงมาเล่นในตลาดชาดำพร้อมดื่ม พร้อมประกาศเป้าหมายการรบครั้งใหม่ด้วยว่า
'การทำตลาดชาดำจะเป็นสินค้าที่โออิชิ ใส่งบลงไปมากที่สุด คาดว่าหลังการรุกตลาดอย่างเต็มที่และกำลังการผลิตที่มีการขยายนั้นจะทำให้มีส่วนแบ่งตลาดชาดำพร้อมดื่มเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าของชาเขียว และชาดำพร้อมดื่ม เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่มี Core Benefit ต่างกัน โดยชาเขียวจะเน้นเพื่อสุขภาพ ส่วนชาดำจะเน้นความแอกทีฟเป็นหลัก ส่วนเป้าหมายสิ้นปีมียอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 7,200 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายที่มาจากกลุ่มอาหาร 40% และเครื่องดื่ม 60%' ตัน กล่าว
|
|
|
|
|