แบงก์นครหลวงไทย (SCIB) พร้อมขายหุ้นส่วนกองทุนฟื้นฟูฯ 17% หรือ 340 ล้านหุ้น
พาร์ 10 บาท แถมคอฟเวอร์วอร์แรนต์ 2 ชุด สัดส่วน 1 ต่อ 1 ให้ประชาชนทั่วไปในประเทศพ.ย.นี้
ลดสัดส่วนเหลือ 49% เพื่อให้เป็นแบงก์เอกชนเต็มตัว พร้อมปรับงานปล่อยสินเชื่อ หวังเพิ่มรายได้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย เปิดเผยวานนี้
(18 ก.ย.) ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
99.99% ของธนาคารจากทุนจดทะเบียนทั้งหมด ประมาณ 21,128 ล้านบาท อนุมัติในหลักการ
แผนแปรรูปเพื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยที่ปรึกษาการเงิน คือบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้
บล.ฟินันซ่า และ บล.กิมเอ็ง เสนอให้ขายหุ้นส่วน ที่กองทุนฟื้นฟูฯถือภายในพ.ย. 340
ล้านหุ้น คิดเป็น 17% ของหุ้นทั้งหมดจากแผนเดิมที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะนำหุ้นออกขายเพียง
10%
ขายหุ้นควบคอฟเวอร์วอร์แรนต์ให้คนไทย
นอกจากนี้ ธนาคารยังเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (คอฟเวอร์วอร์แรนต์-Covered
Warrant) 2 ชุด 680 ล้านหน่วย ควบคู่กับหุ้นสามัญ โดยผู้ซื้อหุ้นสามัญ จะได้สิทธิ์ซื้อคอฟเวอร์วอร์
แรนต์ สัดส่วน 1 หุ้นสามัญต่อ 1 คอฟเวอร์วอร์แรนต์ อายุแปลงสภาพ หรือใช้สิทธิ์
1 ปี นับจากวันที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปใน ประเทศ
หลังจาขายหุ้นสามัญ 340 ล้านหุ้นดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนฟื้นฟูฯต้องลดสัดส่วนถือหุ้นธนาคารเหลือประมาณ
83% เมื่อครบอายุแปลงสภาพวอร์แรนต์ และผู้ถือหุ้นใช้สิทธิทั้งหมด จะส่งผลให้
สัดส่วนกองทุนฟื้นฟูฯ ลดเหลือ 49% ซึ่งจะทำให้เป็นธนาคารเอกชนทันที ตามนโยบายทางการ
เป็นแบงก์เอกชน
ขั้นตอนแปรรูปอยู่ระหว่าง ขออนุมัติคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) รวมทั้งการกำหนดราคาที่จะขายหุ้นสามัญ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน
เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงควบรวมกิจการธนาคารนครหลวงไทยและศรีนคร มูลค่าบัญชี
10 บาทต่อหุ้น หลังจากนั้น 2 ปี มูลค่าบัญชีเพิ่มเป็น 18 บาท
"สาเหตุที่กำหนดสัดส่วนหุ้นเสนอขายเพียง 17% ของหุ้นทั้งหมด เพื่อต้องการทดสอบตลาด
ว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งหุ้นของแบงก์ ได้ถูกสั่งพักห้ามซื้อขายมาเป็นเวลานาน และรูปแบบการออกเสนอขายหุ้นครั้งนี้
ก็ถือว่าเป็นที่ยอมรับของกองทุนฟื้นฟูฯแล้ว ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาทางการเงิน"
นายอภิศักดิ์กล่าว
สำรองเผื่อถึง 3 ปี
ทางด้านนางสาวอังคณา สวัสดิ์พูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย
กล่าวว่าธนาคารมั่นใจว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อ
25,000 ล้านบาท ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารยอดสินเชื่อเติบโตสุทธิ 14,000 ล้านบาท
คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20,000 ล้านบาท 9 เดือนแรก
ช่วง 8 เดือนแรก ธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว เกือบ 80,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อที่อนุมัติ
กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
หนี้เน่าเหลือ 1.2 พันล้านบาท
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ธนาคารนครหลวงไทยมีปัญหาหนี้เอ็น
พีแอลไม่มากนัก เนื่องจากสินเชื่อที่ปล่อยเป็นสินเชื่อใหม่เกือบทั้งหมด ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลเดิม
โอนให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรีก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ธนาคารเอ็นพีแอลคงเหลือประมาณ
1,200 ล้านบาท เป็นสัดส่วนเพียง 0.41% จากสินเชื่อรวมเกือบ 290,000 ล้านบาท
นางสาวอังคณากล่าวว่า ด้านฐานะการเงิน ธนาคารคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ยอดสินทรัพย์จะประมาณ
500,000 ล้านบาท ส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ธนาคารตั้งตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ล่าสุด ตั้งสำรองแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 9 เท่า เมื่อเทียบเอ็นพีแอลของธนาคารปัจจุบัน
สูงกว่าเกณฑ์ ธปท. 7-8 เท่า
"จากตัวเลขสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่สูงกว่า เกณฑ์ของแบงก์ชาติ ส่งผลทำให้ธนาคารไม่มีความจำเป็นต้องตั้งสำรองอีกในระยะเวลา
3 ปีนับจากปีนี้ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจต้องมีอัตราเติบโตในระดับ
4-5% ต่อปี"
นางสาวอังคณากล่าวว่าการตั้งสำรองของธนาคารถือว่าสูงกว่าระบบเป็นนโยบายของธนาคารที่ต้องการให้ฐานะการเงินดี
ที่สำคัญ ปัจจุบันธนาคารกำไรเพียงพอตั้งสำรองแล้ว การตั้งสำรองดังกล่าว จะไม่เป็นภาระธนาคารอีก
อนาคต หากเศรษฐกิจไทยผันผวน อีกทั้งหนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ระยะเวลาผ่อนชำระนาน
หากลูกค้าไม่ชำระตามกำหนดจะไม่ส่งผลกระทบฐานะธนาคารไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่ม
ปรับโครงสร้างองค์กรหวังเพิ่มสินเชื่อ
ล่าสุด ธนาคารนครหลวงไทยปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเพิ่มสายงานกลุ่มลูกค้าขนาดกลางอีกสายงานแยกจากสายงานลูกค้ารายใหญ่
เพื่อให้การทำงานคล่องตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันธนาคารมีสายงานสินเชื่อทั้งสิ้น
3 สายงาน คือ สายงานกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ สินทรัพย์ตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป
สายงานกลุ่มลูกค้าขนาดกลางสินทรัพย์ 200-2,000 ล้านบาท และสายงานกลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก
สินทรัพย์ต่ำกว่า 200 ล้านบาท