เปิดแผล FTA ไทย 8 ฉบับ เฮ 6 เสีย 2 โดยเฉพาะ 'ยุ่น-จีน' ที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ สินค้าเกษตรฯไทยอ่วมหนัก-สินค้านอกทะลักตีตลาดในประเทศ ขณะที่ส่งออกหลุดเป้าเหตุเจอการกีดกันการค้าต่างๆนานา ส่วน ก.พาณิชย์ทำได้แค่แนะผู้ประกอบการเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ
หากพูดถึงการค้าเสรีหรือ FTA (Free Trade Area) ไทยได้มีการลงนาม และได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 8 ฉบับ ประกอบ ด้วย ไทย-อาเซียน ,ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย ,ไทย-ญี่ปุ่น,อาเซียน-จีน,อาเซียน-เกาหลี,อาเซียน-ญี่ปุ่น และกำลังเจรจาอยู่อีกหลายฉบับอาทิ อาเซียน-แคนาดา อาเซียนยุโรป อาเซียน-อินเดีย เป็นต้น
หากนับตั้งแต่ฉบับแรกคือไทยอาเซียนหรือ AFTA เริ่มตั้งแต่ปี 2535 ก็ผ่านไปกว่า 17 ปี แล้วแน่ละในการค้าระหว่างคู่เจรจาด้วยกันมักจะได้ยินเสมอกับคำว่ามีได้-มีเสียในทุกฉบับแต่ที่กำลังเกิดช่องโหว่ทางการค้าอย่างรุนแรงเห็นจะเป็น 2 ฉบับคือ ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-จีน 2 มหาอำนาจทางการค้าที่ไทยเสียเปรียบดุลการค้าเสมอมา
นายกฯรับลงนาม FTA ไร้ทิศทาง
ล่าสุดในงานสัมมนา'นโยบายและทิศทางการค้าเสรีของไทย' จัดโดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)เศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ซึ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอย่างตรงไป-ตรงมาถึงข้อบกพร่องการในลงนามในอดีต และทิศทางการค้าเสรีของไทยในอนาคตโดยสรุปว่า
'การค้าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมต้องมาจากความเป็นธรรมควบคู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาไทยได้ทำเอฟทีเอและอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับหลายประเทศ แต่การเจรจาทำเอฟทีเอในอดีตของไทยยังขาดยุทธศาสตร์ในภาพรวม ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง แต่ทำกันตามความสะดวก และต้องประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมมาตรการล่วงหน้าด้วย'
ขณะที่ความเห็นจากภาคเอกชนอย่าง 'ดร. นิลสุวรรณ ลีลารัศมี' รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการลงนาม FTA ที่ผ่านมาว่า FTA ฉบับแรกของไทยต้องย้อนไปกว่า 17 ปีผ่านมาคือไทยลงนามฉบับแรกในปี 2535 คือการลงนามเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าของไทยอย่างมากในรอบ 17 ปีที่ผ่านมาคือเพิ่มมากขึ้นกว่า 4 เท่าจากที่ส่งออกเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2535 ซึ่งการเป็นผลต่อดีต่อการค้าของไทยอย่างแน่นอน และในปีหน้า (2553) จะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) จะมีการเริ่มทยอยลดภาษีเหลือ 0% ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันในสินค้าหลายรายการซึ่งภาคเอกชนไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี
แฉ FTA 'ญี่ปุ่น-จีน' ได้เปรียบไทยอื้อ .!
นอกจากนี้แล้วต้องยอมรับว่าการลงนาม FTA ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบพอสมควรเพราะไม่ได้เตรียมตัวรับมือไว้ก่อนทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องเลิกกิจการหรือกว่าจะปรับตัวได้ใช้เวลานานพอสมควรทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเมื่อข้อตกลงการค้าเสรีมีกับคู่เจรจามีผลบังคับใช้
'ต้องเข้าใจว่าการลงนาม FTA มีได้-มีเสียแน่นอนและตัวอย่างที่ดูได้ชัดเจนที่สุดคือดุลการค้าระหว่างกันซึ่งไทยได้ลงนาม FTA ไปทั้งหมด 8 ฉบับตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันโดยดุลการค้าได้สะท้อนออกมาคือไทยได้เปรียบ 6 ฉบับแต่เสียเปรียบ 2 ฉบับแต่ฉบับที่เสียเปรียบ FTA ไทย-ญี่ปุ่น,อาเซียน-จีน ซี่งเป็นมหาอำนาจทางการค้าทำให้ดุลการค้าที่เสียเปรียบมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างกว้างขวาง'
โดยกรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีการเปิดการค้าและการเจรจาควบคู่กันไปโดยในส่วนแรกได้ตกลงให้เปิดการค้าสินค้าในพิกัด 01-08 ได้แก่สัตว์และพืชที่ได้จากธรรมชาติ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2547 เป็นไปต้นมาโดยจีนและอาเซียนเดิม 6 ประเทศลดภาษีลดลงเหลือ 0 % ในปี 2549 และอีก 4 ประเทศใหม่ในปี 2553 ส่วนกรอบการการค้าบริการและการลงทุนอยู่ระหว่างการเจรจา
สินค้าเกษตรจีนทะลักเข้าไทย
ในการเปิดการค้าเสรีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยเพราะก่อนหน้านี้ไทยได้ลงนามข้อตกลงเร่งรัดภาษีระหว่างกันในรายการสินค้าการเกษตรทั้งสิ้น 116 รายการตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ( Early Harvest : EH) ทำให้สินค้าเกษตรของไทยทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากอาทิ กระเทียม หัวหอม แอปเปิ้ล สาลี่ แครอท ที่มีราคาถูกกว่าเพราะต้นทุนที่ต่ำกว่าทำให้สินค้าเกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งขันได้
ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าการเกษตรไทยกลับมีภาระที่ยุ่งยากมากกว่าเพราะสินค้าเกษตรไทยที่เข้าไปยังตลาดจีนต้องเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนแต่ตั้งกฎระเบียบที่ไม่มีความชัดเจน การจัดเก็บภาษีแต่ละมณฑลก็แตกต่างกัน การกระจายสินค้าที่ล่าช้าทำให้สินค้าการเกษตรกว่าจะถึงที่หมายก็เกิดการเน่าเสีย ประกอบกับผู้ประกอบการไทยยังเจอการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอาทิ ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของผู้นำเข้าตั้งไว้สูงถึง 1.5 ล้านบาท (500,000หยวน) ขณะที่ทางการไทยกำหนดไว้เพียง 500,00บาทเท่านั้น , ด้านสุขอนามัย ต้องมีใบอนุญาต QIP และรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร
นอกจากนี้แล้วการนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนยังมีการลักลอบนำเข้าจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาและไม่มีปรากฏในการบันทึกสถิติของราชการทำให้ตัวเลขดุลการค้าที่สินค้าเกษตรไทยยังได้เปรียบยังไม่ถูกต้องและแม่นยำทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ อีกทั้งเมื่อเทียบกับความสามารถในการแข่งขันแล้วเกษตรกรไทยยังมีขีดความสามารถที่น้อยกว่าด้วย ประกอบกับอำนาจในการต่อรองกลุ่มเกษตรกรยังมีบทบาทน้อยในการกำหนดบทบาทของภาครัฐบนเวทีเจรจาการค้าเสรีต่างๆ
ส่วนข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นั้นมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 1 พ.ย. 2550 ที่ผ่านมา และล่าสุดความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาทำให้การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นได้รับการจับตาอย่างมาก โดย JTEPA ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายลด/ยกเลิกภาษีนำเข้ามากกว่า 90% ทั้งสินค้าและมูลค่าการนำเข้า ทั้งออกมาตรการปกป้องทั้ง 2 ฝ่ายในกรณีลด/ยกเลิกภาษีที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นลดภาษีเหลือ 0% สินค้าจากกุ้ง ผลไม้ต่างๆ อาทิ ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด ผลไม้แช่เยือกแข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ส่วนสินค้าที่ไทยลดให้แก่ญี่ปุ่นเหลือ 0% ทันทีได้แก่ ผลไม้ประเภทแอปเปิ้ล ลูกเบอร์รี่ต่างๆ
ญี่ปุ่นข้องใจแหล่งกำเนิดสินค้าไทย
อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นยังมีปัญหาใน 3กลุ่มสินค้า 1. ทูน่ากระป๋อง เพราะยังไม่สามารถใช้สิทธิทางภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้มีถิ่นกำเนิดสินค้าตามเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งยังต้องมีการเจรจาเพื่อหาช่องทางในอนาคต 2. สินค้าเหล็กไทยที่ไทยกำหนดสินค้าโควตานำเข้าปลอดภาษี เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังนำเข้าไม่ได้ เนื่องจากต้องการรอการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลังรอระหว่างครม.พิจารณา 3. สินค้าที่ไทยมีศักยภาพบางตัวแต่ญี่ปุ่นไม่ได้เปิดตลาดให้ เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล
'นันทวัลย์ ศกุนตนาค' อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอธิบายว่า ขณะนี้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการควรศึกษาในรายละเอียดของความตกลง AJCEP และความตกลง JTEPA ว่ามีพันธกรณี ข้อบังคับ และสิทธิประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ขั้นตอนหรือกระบวนการในการขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกในการส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงการค้าเสรีถึงสองฉบับ ซึ่งความตกลงแต่ละฉบับจะมีความแตกต่างและเหมาะสมกับผู้ประกอบการไม่เหมือนกัน
'พาณิชย์.-เกษตรฯ'ตั้งกองทุนอุ้มผู้ประกอบการฯ
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย 'อัญชนา วิทยาธรรมธัช' อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมและบริการ 2. ส่วนของกระทรวงเกษตรต้องเข้ามาช่วยเหลือคือขั้นการผลิตของเกษตรกร โดยการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ม.190 วรรค 4 ที่กำหนดให้ครม.ต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งกองทุนตั้งแต่ปี 2550 โดยครม.อนุมัติงบประมาณสนับสนุนปี ละ 100 ล้านบาทในระหว่างปี 2550-2551 แต่ในปี 2552 ได้รับอนุมัติเพียง 40 ล้านบาทโดยมียอดเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 240 ล้านบาทและที่ผ่านมามียอดโครงการขอความช่วยเหลือเพียง 17 โครงการเท่านั้น
ขณะที่สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับอนุมัติงบประมาณในระหว่างปี 2549-2550 จำนวน 300 ล้านบาทแต่มีการเบิก-จ่ายจริงเพียงแค่ 4,030,601 ล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งผู้ประกอบการที่จะได้รับการเยียวและแก้ไขจากกระทบ FTA สามารถยื่นขอรับการเยียวยาในกระทรวงที่ตัวเองเกี่ยวข้องด้วยแต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือผู้ประกอบการยังรู้จักกองทุนช่วยเหลือน้อยมาก และยังอยากต่อการเข้าถึงเพราะยังไม่รู้ขั้นตอนในการขอรับการช่วยเหลือดังกล่าว
ยืนยันไทยยังถูกกีดกันการค้า
ด้านมุมมองของสภาหอการค้าไทยที่มีสมาชิกกว่า 26,000 คนและกว่า 130 สมาคมการค้า 'ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา' ผู้แทนสภาหอการค้าไทยมองว่า การลงนาม FTA ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษในการส่งออกสินค้าได้อย่างเต็มที่เพราะยังมีการกีดกันการค้าของไทยอยู่เสมอๆ ขณะเดียวกันยังมีสินค้าจากภายนอกมาตีตลาดในประเทศจำนวนมากทำให้ผู้ประกอบการไทยลำบากมาก ซึ่งประเทศไทยต้องวางโครงสร้างภาษีใหม่ในการนำเข้าสินค้าการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เราต้องการปกป้องไว้ เหมือนประเทศอื่นๆที่ต้องการปกป้องตลาดภายในของตัวเอง
อีกทั้งกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือต้องครอบคลุมทุกอาชีพทีได้รับผลกระทบ และให้ง่ายต่อการเข้าถึงและควรสร้างองค์กรขึ้นมาติดตามผลกระทบที่เกิดจาการทำข้อตกลงการค้าเสรีขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะด้วย
NGO ชี้ภาครัฐกลัวตกขบวน.!
ขณะที่ภาคประชาชนโดย'บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์' ผู้แทนจากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group )กล่าวว่า สิ่งภาครัฐยังมองข้ามเสมอๆในการลงนาม FTA คือการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างรอบด้าน โดยคำนึงเพียงแต่ตัวเลขในการส่งออกคือดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เคยนำต้นทุนทางด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ไปคำนวณรวมอยู่ด้วย ทำให้การแลกผลประโยชน์ซึ่งกันและกันที่มีได้-มีเสียทำให้ไทยเสียมากว่าได้ทุกฉบับเพราะละเลยต้นทุนเหล่านี้
'ผู้บริหารระดับสูงกลัวกันว่าไทยจะตกขบวนในการลงนาม FTA กับประเทศต่างๆ แต่ไม่เคยคำนึงต้นทุนที่คนไทยต้องสูญเสียว่ามีอะไรบ้าง' ผู้แทน FTA Watch ระบุและว่า ส่วนที่ภาครัฐเคยบอกว่าการแข้ไขและปรับปรุงการลงนามที่ได้กระทำไปแล้วนั้นสามารถทำได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะคู่เจรจา ได้เปรียบในสัญญาอยู่แล้วน้อยมากที่เขาจะยอมแก้ไขดังกล่าวในภายหลัง
การลงนาม FTA 8 ฉบับที่ได้ลงนามไปแล้วคงจะเข้าไปแก้ไขอะไรมากไม่ได้ แต่ในอนาคตหากจะมีการลงนามใดๆอีกควรพิจารณาให้รอบคอบ และคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก เพราะไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าการค้าเสรีคือการเปิดพื้นที่ในประเทศให้ต่างชาติเข้ามาขยี้คนไทยถึงบ้านเกิดเมืองนอนแบบถูกต้องตามกฎหมาย..!
|