|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พันธบัตร 5 หมื่นล้านจ่อคิวขาย 13-21 กรกฎาคม ดอกเบี้ย 4% ผู้บริหารเงินลงทุนเชื่อหมดเกลี้ยง ดึงเงินฝากไหลออกจากแบงก์ได้ไม่น้อย จนแบงก์กรุงศรี กรุงเทพและนครหลวงต้องออกโปรโมชั่นพิเศษดึงลูกค้าบางส่วนไว้ พร้อมให้คำแนะนำสำรวจตัวเองก่อนซื้อ
กำหนดการเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ปีงบประมาณ 2552 อายุ 5 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ระหว่าง 13-21 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาบ้าง
หลังจากที่พระราชกำหนดกู้เงินผ่านทั้ง 2 สภา รัฐบาลเดินหน้าเสนอขายพันธบัตรให้กับประชาชน บรรดาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ด้วยบัญชีเงินฝากประจำพิเศษแบบขั้นบันได
เริ่มกันที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ออกบัญชีเงินฝากประจำพิเศษ KRUNGSRI MAX STEP มีให้เลือก 2 ช่วงเวลา คือ 9 เดือน ดอกเบี้ย 1-3 เดือนแรก 0.75% ช่วง 4-6 เดือน 1% และ 7-9 เดือน 1.5% อีกบัญชีหนึ่งคือ 15 เดือน โดย 1-3 เดือนแรก 0.75% ช่วง 4-6 เดือน 1% ระหว่าง 7-9 เดือน 1.25% และ 10-12 เดือน 1.75% ช่วงท้าย 13-15 เดือน 2.25% เปิดให้ฝากระหว่าง 1-31 กรกฎาคม 2552 เงินฝากขั้นต่ำ 5 หมื่นบาทรับดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
ตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพกับเปิดบัญชีฝากประจำ Step Plus 18 เดือน รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่ม 0.25% ต่อปี ทุกๆ 6 เดือน ด้วยเงินฝากเริ่มต้นตั้งแต่ 50,000 บาท พร้อมรับดอกเบี้ยสูงสุด 1.50% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน- 20 กรกฎาคม 2552 ดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 1% และ 6 เดือนหลัง 1.25% ช่วง 13-16 เดือน 1.5%
ธนาคารนครหลวงไทยมีให้เลือก 2 บัญชีคือฝากประจำพิเศษชื่นใจ 8 เดือนดอกเบี้ย 1-5 เดือนแรก 1% ส่วน 6-8 เดือน 1.6% อีกบัญชีเป็นฝากประจำ 15 เดือนดอกเบี้ย 1-10 เดือนแรก 1.25% อีก 11-15 เดือนหลัง 2.25% จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน รับฝากระหว่าง 22 มิถุนายน-17 กรกฎาคม 2552
แหล่งข่าวจากธนาคารนครหลวงไทยกล่าวว่า โปรดักส์เงินฝากดังกล่าวทำขึ้นเพื่อดึงลูกค้าของเราให้อยู่กับเรา รวมถึงเชิญชวนลูกค้าจากที่อื่นให้มาใช้บริการเงินฝากของเราได้ เนื่องจากได้มีการศึกษาถึงระยะเวลาสิ้นสุดของบัญชีเงินฝากของธนาคารอื่น ๆ มาเป็นองค์ประกอบในการออกผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้เรายังพิจารณาจากสภาพแวดล้อมอื่นเช่นการเสนอขายหุ้นกู้ของภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังจะออกมาด้วย
'เราตั้งเป้าหมายว่าน่าจะระดมเงินฝากได้ไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มียอดฝากเข้ามาแล้วกว่า 8 พันล้านบาท และมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะได้ยอดสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะถ้าพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนที่เสนอให้นั้น ทางนครหลวงไทยให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคารอื่น'
หมดเกลี้ยงแน่
ผู้บริหารเงินลงทุนภาครัฐรายหนึ่งกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพันธบัตรรัฐบาลที่ดอกเบี้ย 4% นั้นเป็นที่สนใจของตลาดมาก คาดว่าวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้นคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะแบ่งขายให้กับผู้สูงอายุก่อนในช่วง 13-14 กรกฎาคม วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทก็ตาม
ด้วยดอกเบี้ย 2 ปีแรกที่ 3% ปีที่ 3 ให้ 4% และปีที่ 4-5 ให้ 5% เงินเริ่มต้นซื้อที่ 1 หมื่นบาทขึ้นไม่ไม่เกิน 1 ล้านบาท นับว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อยู่มาก และการที่แบงก์ต้องกลับมาเล่นบัญชีเงินฝากประจำพิเศษนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพันธบัตรรัฐบาล
แบงก์เองก็เจอศึกหลายด้าน ทั้งการดึงเงินฝากจากกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีที่เกือบทุกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเสนอขายกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่เสนอขายก่อนหน้านี้มาหลายเดือน รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลล็อตนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงน่าดึงดูดใจมาก
โปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษนี้ยังเป็นอีกตัวล็อกหนึ่งของธนาคารที่ต้องการล็อกเงินฝากของผู้ออมไว้เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยต้นทุนต่ำ เนื่องจากแนวโน้มของดอกเบี้ยนั้นมีอยู่ในช่วงขาขึ้น
สำหรับคำแนะนำสำหรับตัวเลือกของเงินฝากที่มีให้เลือกในเวลานี้ ผู้มีเงินออมต้องสำรวจตัวเองและตอบคำถามให้ได้ว่า มีเงินออมจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการใช้ในช่วง 5 ปีจากนี้ไปหรือไม่ หากไม่จำเป็นต้องใช้พันธบัตรออมทรัพย์ถือเป็นคำตอบที่คุ้มค่าที่สุด
หากจำเป็นต้องใช้บางส่วนก็อาจเลือกซื้อเพียงจำนวนหนึ่ง ที่เหลือหากยังจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินก็เลือกว่าจะฝากประจำแบบ 8-9 เดือนหรือ 15-18 เดือนดี แต่โดยเฉลี่ยแล้วผลตอบแทนอยู่ที่ไม่เกิน 1.59%
ส่วนพันธบัตรรุ่นต่อไปนั้นเชื่อว่าต้องมีอย่างแน่นอน หากประชาชนซื้อไปหมดแล้วก็ยังมีผู้ที่รอซื้ออย่างกลุ่มบริษัทประกันหรือบริษัทอื่น ๆ ที่พร้อมจะซื้ออีก ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาดว่าผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเป็นเท่าไหร่ รัฐบาลก็จะบวกเพิ่มเข้าไปอีก 15% เพราะส่วนนี้คือภาษีที่จะต้องถูกหัก
เชื่อว่าโอกาสที่ดอกเบี้ยจะขยับไปมากกว่านี้คงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินเองก็อาจคงไว้ที่อัตราเดิมที่ 1.25% ไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นพันธบัตรล็อตที่ 1 หรือ 2 นั้นอัตราผลตอบแทนคงไม่แตกต่างกันมาก
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเงินฝากพิเศษของ 3 ธนาคารนั้นระยะเวลาสิ้นสุดการรับฝากจะเลยเวลาที่พันธบัตรจำหน่ายไปแล้ว ส่วนหนึ่งถือเป็นการรองรับกับผู้ที่พลาดหวังจากการซื้อ ที่อาจหมดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีว่าอย่างน้อยก็ยังมีแหล่งเงินฝากที่อุ่นใจรองรับที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากปกติ
|
|
|
|
|