โบรกฯมอง BEC แค่ระคายผิวเล็กน้อยหากโดน MCOT ปรับราคาสัมปทาน กระเทือนราคาเป้าหมายแค่ 30 สตางค์ แต่ยังคงแนะนำ ซื้อ เหตุพื้นฐานแข็งแกร่ง มีเงินสดสุทธิสูง ปันผลสม่ำเสมอ ขณะที่ MCOT ก็มีความเสี่ยงอยู่ที่ กสทช. ชุดใหม่ และ พ.ร.บ. จัดสรรองค์กรคลื่นความถี่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ในปีหน้า อาจทำให้ต้องมีภาระในการนำส่งเงินค่าสัมปทานเพิ่ม
จากกรณีการเจรจาต่อสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. บีอีซี เวิลด์( BEC) กับ บมจ. อสมท (MCOT) โดย กวี มานิตสุภวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยไทย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส มองว่า เป็นเรื่องยากที่ทาง MCOT จะปรับเพิ่มราคาสัมปทาน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตัวสัญญาเองก็มีความถูกต้องรัดกุม และทาง BEC เองก็ยังไม่ได้ทำผิดสัญญาอะไร นอกจากนี้เมื่อหมดอายุสัมปทานทาง BEC ก็ต้องโอนเครือข่ายที่เคยลงทุนทั้งหมดคืน ซึ่งต่างกับทางทรูวิชั่นที่ไม่มีต้นโครงข่ายจึงสามารถจ่ายรายได้ในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ตรงนี้ก็ถือเป็นต้นทุนของ BEC เช่นกัน จึงมองว่ามีโอกาสไม่มากนักที่ BEC จะจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานที่ BEC ซึ่งเป็นผู้บริหารช่อง 3 ได้ทำไว้ MCOT ในตอนแรกนั้นมีผลผูกพันตั้งแต่ 2533-2553 แต่สัญญาดังกล่าวได้ระบุเงื่อนไขการต่อสัญญากับ BEC ระยะที่สองอีก 10 ปี (2553-2563) พร้อมเงื่อนไข BEC ต้องจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้โดยรวมราว2 พันล้านบาท พร้อมกับต้องลงทุนขยายสถานีเครือข่ายอีก 9 แห่งไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ BEC ต้องโอนโครงข่ายที่ลงทุนไว้ทั้งหมดให้กับ MCOT หลังหมดอายุสัญญาสัมปทานช่วงมีนาคม 2563 ขณะที่ทรูวิชั่นไม่ต้องลงทุนโครงข่ายแต่อย่างใด ทางฝ่ายวิเคราะห์จึงมีมุมมองว่าเป็นไปได้ยากที่ MCOT จะสามารถปรับขึ้นค่าสัมปทานของ BEC ให้เท่ากับที่ได้รับจากทรูวิชั่น ประมาณ 650 ล้านบาท ส่วนกรณีเลวร้าย คือ BEC อาจยอมให้ค่าสัมปทานสูงสุดเท่ากับช่อง 7 สีจ่ายให้กับกองทัพบกคือ 230 ล้านบาท หรือจ่ายค่าสัมปทานเพิ่มขึ้นจากเดิมราวปีละ 70 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาเป้าหมายของ BEC ลดลงจากเดิมเพียง 0.30 บาทเท่านั้น
"มีมุมมองว่า BEC อาจยอมจ่ายมากสุดเพียง 230 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่เท่ากับทางช่อง 7 จ่ายให้กับกองทัพบก และมีกดดันแค่ราคาเป้าหมายของ BEC ลดลงจากเดิมเพียง 0.30 บาทเท่านั้น ส่วนในอีกมุมมองที่ต้องจ่ายถึง 6.5% เท่ากับทรูวิชั่น ก็คิดเป็นเงินอยู่ในระดับ 300-400 ล้านบาท เพราะเป็นการนำมาจากเงินรายได้ตัวบริษัทแม่เท่านั้น ไม่ได้รวมในส่วนของลูก"
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของ BEC ยังมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากไตรมาสแรกทำกำไรสุทธิอยู่ระดับ 544 ล้านบาท จากการที่ได้ปรับกลยุทธ์หลายอย่าง ทั้งการขึ้นค่าโฆษณาบางรายการ และปรับผังรายการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เงินสดสุทธิสูงเกิน 5 พันบาทและมีความพร้อมจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอในอัตรามากกว่า 90% ของกำไรสุทธิ จึงแนะนำ "ซื้อ"โดยมีราคาพื้นฐานอยู่ที่ 26.30 บาท ประเมินรายได้ทั้งปี 9,441ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ 8,798 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,150 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ 2,875 ล้านบาท ปันผลทั้งปี 1.42 บาท
ด้านนักวิเคราะห์ บล. สินเอเซีย ประเมินว่า ในกรณีที่ BEC จ่ายสัมปทาน 230ล้านบาทเท่ากันทุกปีจนสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2563 จะรวมเป็นเงินประมาณ 2,300 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าที่เหมาะสมของ BEC ราว 0.47 บาท/หุ้น
ส่วนกรณีที่ BEC ตกลงจ่ายค่าสัมปทาน 230 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้น 5% ทุกๆ ปี (เหมือนสัญญาปัจจุบัน) รวมเป็นเงินราว 2,767 ล้านบาท พบว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าที่เหมาะสมของ BEC ราว 0.565 บาท/หุ้น ส่วนการที่ MCOT จะคิดส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 6.5% ของรายได้เช่นเดียวกับ ทรูวิชั่นถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก ถึงแม้ทั้ง 3 กรณี จะทำให้มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมลดลง 2%-5.5% จากที่ประเมินไว้ที่ 23.40 บาท เหลือประมาณ 22.10-22.93 บาท แต่ก็ยังคงแนะนำ "ซื้อ" BEC
ส่วน MCOT ที่ดูเหมือนจะได้เปรียบหากสามารถเจรจาให้ BEC จ่ายสัมปทานเพิ่มได้ และสมมติฐานเดียวกัน จะทำให้มูลค่าหุ้น MCOT เพิ่มขึ้นราว 8%-23% (16.87-19.12 บาท)จากมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมที่ประเมินไว้ที่ 15.60 บาท แต่ในระยะยาวแล้ว MCOT ยังมีความเสี่ยงอยู่ที่ กสทช. ชุดใหม่ และ พ.ร.บ. จัดสรรองค์กรคลื่นความถี่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ในปีหน้า อาจทำให้ MCOT ต้องมีภาระในการนำส่งเงินค่าสัมปทานที่ได้รับจากBEC (สูงสุด 50% หรือราว 80 ล้านบาท), ทรูวิชั่น และเงินสมทบเข้ากองทุนประมาณ 2%ของรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อแนวโน้มการกำไรของบริษัทในอนาคต
|