ถ้าเผื่อเราในฐานะเป็นนักบริหารหรือเป็นเจ้าของกิจการ หรือแม้แต่จะเป็นคนธรรมดาทั่วไป
ถ้าเราเดินไปตามถนนสีลม ซึ่งหลายคนอาจถือว่าเป็น WALL STREET ของ กทม. เราก็จะเห็นอาคารหลากหลาย
ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เรียงรายเต็มไปหมด มีธนาคาร สำนักงานขนาดใหญ่นับสิบๆ แต่ก็คงเห็นด้วยว่ามีร้านค้าขนาดเล็กเรียงรายอยู่ในถนนสีลมนับเป็นร้อย
ๆ ถ้าเผื่อเป็นคนช่างคิด ก็คงอาจจะนั่งคิดหรือเดินคิด หรือกลับมานอนคิดว่า
"เอ๊ะ ใครนะที่เป็นคนบริหารธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กเหล่านี้" คนที่บริหารธุรกิจใหญ่
ๆ ของธนาคาร ของห้างร้านขนาดใหญ่ ๆ เหล่านี้กับคนที่บริหารธุรกิจขนาดเล็ก
ภัตตาคารหรือร้านขายของชำต่าง ๆ เหล่านั้นในระหว่างคน 2 จำพวกนี้ใครมีสถานภาพดีกว่ากัน
ใครมีความสุขกายมีความสบายใจมากกว่า ใครอยู่สบายกว่าและใครมีสุขภาพจิตดีกว่า
และในที่สุดคุณก็อาจจะถามตัวเองว่า "เราอยากจะเป็นพวกไหน" "เราอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ
หรือเราอยากจะเป็นลูกจ้าง" ในขณะที่ตัวผมหมดสิทธิ์แล้ว เลือกไม่ได้
พวกคุณยังอยู่ในฐานะที่เลือกได้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมกล่าวในวันนี้น่าจะช่วยในการตัดสินใจของคุณ
ในระยะ 3-4 หรือ 5 ปีข้างหน้าได้ถูกต้องยิ่งขึ้น
คนที่บริหารธุรกิจหรือธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งมีทรัพย์สินหรือรายได้ประจำปี
นับพันนับหมื่นล้าน มักจะเป็นคนที่เราเรียกว่า "นักบริหารมืออาชีพ"
คนเหล่านี้บางคนอาจจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยก็ได้ แต่บทบาทสำคัญของเขาในการทำงานในธุรกิจขนาดใหญ่นั้นก็คือ
การบริหารธุรกิจ ส่วนผู้ทำธุรกิจขนาดเล็กมักจะเป็นพวกที่ตัวเองแยกความเป็นเจ้าของและหน้าที่การบริหารออกจากกันได้ยาก
จะเห็นได้ว่า ร้านขนาดเล็ก เช่น ในภัตตาคาร ในร้านชำ ร้านวัสดุก่อสร้างที่อยู่ตามกรุงเทพฯ
โดยทั่วไปเวลาลูกจะขอสตางค์ไปซื้อขนม เวลาแม่ครัวจะไปจ่ายตลาด เวลาจะให้ลูกน้องไปซื้อ
DRAFT สั่งสินค้ามาเข้าสต็อก เงินมักจะออกจากเก๊ะเดียวกัน พวกนี้คือ พวกที่เราเรียกว่า
เถ้าแก่ หรือเถ้าแก่เนี้ย
นักบริหารมืออาชีพมักจะทำงานในบริษัทหรือองค์การขนาดใหญ่ เช่น SHELL, ESSO,
LEVER การบินไทย และธนาคารใหญ่ ๆ 4-5 ธนาคาร ที่เรารู้จักกันดีในการจัดอันดับ
บริษัทตามยอดขายของคณะพาณิชย์-บัญชี ร่วมกับ SOCIAL RESEARCH INSTITUTE ของจุฬาฯ
เมื่อสิงหาคม 2528 จำนวน 200 อันดับของเมืองไทย ซึ่งมียอดขายประมาณ 450 ล้านบาท/ปี
เราก็คงพอจะเดาได้ว่า มือปืนรับจ้างทางธุรกิจส่วนมากก็คงจะอยู่ในองค์การขนาดใหญ่
200 รายนี้
สำหรับธุรกิจขนาดย่อม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้คำนิยามไว้ว่า โดยทั่วไปแล้ว
คือ ธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียน หรือสินทรัพย์ถาวรระหว่าง 2-5 ล้านบาท และมีคนงานไม่เกิน
50 คนที่อเมริกาทาง SMALL BUSINESS ADMINISTRATION กำหนดยอดขายของธุรกิจขนาดย่อมไว้ระหว่าง
25-125 ล้านบาท/ปี คือ ระหว่าง 1 ล้านเหรียญกับ 5 ล้านเหรียญ ถ้าเผื่อเป็นการค้าปลีกกับบริการก็จะถือยอด
1 ล้านเหรียญ ถ้าเป็นธุรกิจค้าส่ง หรือก่อสร้าง ก็ถือยอด 5 ล้านเหรียญหรือ
125 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน ที่ญี่ปุ่นธุรกิจค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีเป็นจำนวนมาก คือ ประมาณ
60% มีคนงานต่ำกว่า 9 คน ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่น 70% มีคนงานน้อยกว่า 4 คน
ดูแล้วก็คงเป็นธุรกิจขนดาเล็ก เพราะฉะนั้นในเมืองไทยก็คงจะพอเหมาเอาง่าย
ๆ ได้ว่า ธุรกิจขนาดย่อมที่เราพุดถึงก็คือ ธุรกิจที่มียอดขายปี ๆ หนึ่งไม่เกิน
20 ล้าน และมีคนทำงานไม่เกิน 50 คน เมื่อเราพูดถึงธุรกิจขนาดย่อม เราก็คงจะพูดถึงธุรกิจขนาดนี้
มีอีกอย่างหนึ่งที่อาจช่วยตัดสินได้ว่าเป็นธุรกิจขนาดย่อมหรือเปล่า ที่อเมริกาเขามีวิธีการที่แยบยลพอสมควรให้ตัดสินใจว่า
เป็นธุรกิจขนาดย่อมหรือเปล่า ทาง COMMITTEE FOR ECONOMIC DEVELOPMENT เขาบอกว่า
การที่จะเป็นธุรกิจย่อมต้องมีคุณลักษณะอย่างน้อย 2 ใน 4 ประการดังนี้ คือ
ประการแรก การบริหารงานต้องเป็นอิสระไม่มีบริษัทอื่นมาควบคุม เจ้าของต้องเป็นผู้บริหารเอง
ประการที่สอง บุคคลเดียวหรือกลุ่มเล็ก ๆ เพียงกลุ่มเดียวหาทุนแล้วก็เป็นเจ้าของกิจการเอง
ประการที่สาม การดำเนินงานก็ดี พนักงานและเจ้าของก็ดีมักจะอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน
ตลาดหรือลูกค้าอาจจะอยู่นอกชุมชนนั้น เช่น ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป ธุรกิจทำรองเท้าอาจสั่งทำในกรุงเทพฯ
แล้วส่งไปขายในตลาดยุโรปหรืออเมริกาก็ได้ แต่เจ้าของและพนักงานและการดำเนินงานมักจะอยู่ในชุมชนเดียวกัน
ประการที่สี่ ธุรกิจเหล่านี้ต้องเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเภทเดียวกัน
เช่น โรงรับจำนำกับธนาคาร (ถ้าธนาคารบางแห่งยังไม่ใหญ่กว่าโรงรับจำนำก็ต้องขอโทษด้วยนะครับ)
ถ้าเราเอาโรงรับจำนำไปเทียบกับธนาคาร โรงรับจำนำก็ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก
ธนาคารก็คือธุรกิจขนาดใหญ่ เอาร้านขายของชำไปเทียบกับห้างเซ็นทรัลก็รู้ได้ว่า
ร้านขายของชำเป็นธุรกิจเล็ก เอาโรงงานน้ำพริกเผาของแม่ยายผมที่มีคนงาน 3
คน ไปเทียบกับ BEST FOOD หรือ FOREMOST เราก็รู้ได้ทันทีว่า ใครเล็กใครใหญ่
ในที่สุด เราก็พอจะรู้แล้วว่าอะไรเล็กอะไรใหญ่และพอจะแยกได้ว่า ธุรกิจ 500
ล้านนี้ เป็นธุรกิจใหญ่ต้องใช้นักบริหารมืออาชีพ ธุรกิจ 20 ล้าน เป็นธุรกิจขนาดเล็กเถ้าแก่หรือเถ้าแก่เนี้ยทำเอง
ส่วนในระหว่าง 20 ล้าน กับ 500 ล้าน เป็นปัญหาเป็นธุรกิจที่อยู่ในแดนสนธยา
เราคงจะไม่ทำการวิจัยว่า ธุรกิจขนาดกลางระหว่าง 20-500 ล้าน/ปี มีปัญหาอะไรบ้างแล้วก็เอาผลที่ได้นั้นมาสัมมนากัน
ผมจะได้มีโอกาสมาฝอยให้ฟังอีก
ในการที่นักลงทุนจะทำอะไรก็ตาม นักลงทุนย่อมหวังผลตอบแทนที่เหมาะสม ดังนั้นถ้าคุณอยากเป็นเถ้าแก่หรืออยากเป็นนักบริหารมืออาชีพ
คุณก็จะต้องคิดว่าจะต้องลงทุนลงแรงอะไรบ้าง และคุณจะมีผลตอบแทนหรือ PAY OFF
อย่างไร ?
โดยธรรมชาติคนเรามักจะไม่ค่อยคิดถึงการลงทุนส่วนใหญ่มักจะคิดถึง PAY OFF
มากกว่า เราถึงเห็นนักเล่นหุ้นเจ๊งกันบ่อย ๆ แต่ถ้าพูดถึงอนาคตอีก 20-30
ปีข้างหน้า เราน่าจะมาดูซิว่า PAY OFF ของการเป็นเถ้าแก่หรือนักบริหารมืออาชีพนั้นมันเป็นยังไง
PAY OFF อันแรกหรือผลตอบแทนการลงทุนอันแรก ก็คงจะเป็นความมั่นคง พูดง่าย
ๆ ก็คือ ความรวย ผมเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในวงการธุรกิจและบุคคลทั่วไปคงอยากรวย
จะมีข้อยกเว้นก็คงจะเป็นคนที่สำเร็จอรหันต์แล้ว หรือคนอย่างมหาจำลอง เรื่องความรวยก็คือความมีเงิน
นักปราชญ์ผิวดำคนหนึ่งในอเมริกาชื่อ เจมส์ บอลด์วิน เคยเขียนไว้ว่า "เงิน
เหมือน SEX ถ้าคุณไม่มี คุณจะคิดถึงมันตลอดเวลา เมื่อคุณมีแล้วคุณจะคิดถึงอย่างอื่น
ๆ เราจะสังเกตดูจากเศรษฐกิจประชาธิปไตยว่า คนรวยที่เป็นลูกจ้างเขาไม่ค่อยมี
ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทย อังกฤษ อเมริกา หรือญี่ปุ่น คนในสังคมเสรีประชาธิปไตย
สังคมที่ใช้ตลาดเสรีเป็นเครื่องบังคับระบบเศรษฐกิจ จะไม่มีคนที่รับจ้างเขาแล้วกลายเป็นเศรษฐี
มหาเศรษฐี และถ้ามีคนที่เป็นลูกจ้างแล้วรวยก็ไม่รวยเพราะการรับจ้าง อาจจะรวยเพราะพ่อรวย
เมียรวย เล่นที่ เล่นหุ้น เล่นกล หลอกเอาเงินแม่ม่ายมา ฯลฯ แม่ชม้อยก็ไม่ได้รวยเพราะเป็นลูกจ้าง
ปตท. ระบบทรัพย์สินของทุกประเทศที่ผมศึกษามาจะ FAVOUR คนที่มีทรัพย์สิน และทำโทษคนที่มีรายได้สูง
แต่ไม่รู้จักสร้าง ASSET เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากรวยอย่าไปเป็นลูกจ้าง
PAY OFF อันที่สอง ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่หรือเป็นนักบริหาร PAY OFF ที่เราอยากจะได้
คือ ความดัง คนส่วนใหญ่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา อุปทาน คนส่วนใหญ่ยังติดยึดอยู่กับโลกธรรม
8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งคู่กับ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์
เพราะฉะนั้น เราคงต้องยอมรับว่า แทบทุกคนอยากมีลาภและยศ ในเรื่องของความมีชื่อเสียงทุกคนก็อยากจะมี
พูดภาษาชาวบ้านก็คือ "คนส่วนใหญ่ก็อยากดังทั้งนั้น" คนที่เป็นเถ้าแก่นี้มักจะไม่ค่อยดัง
และคนที่เป็นเถ้าแก่ที่ดัง ๆ ก็มักจะมีปัญหา เช่น มีปัญหากับกรมสรรพากร หรือกับธนาคาร
สังเกตดูคนที่เป็นเถ้าแก่แล้วรวยจริง ๆ แล้วมักไม่ดัง คนที่เป็นเถ้าแก่แล้วดังก็ควรระวังตัวให้ดี
แต่นักบริหารมืออาชีพนี่มีสิทธิ์ดังเพราะอะไร ก็เพราะสรรพากรเขาฟัดภาษีไปเต็มคราบแล้ว
แล้วพวกนักบริหารมืออาชีพเหล่านี้ เมื่อไม่มีน้ำยาที่จะไปหาเครื่องลายคราม
แจกันหยก หรือรถโรลสรอยซ์มาอวดเพื่อนฝูง ก็ต้องอวดวิชา อวดไปอวดมาก็ดังขึ้นมาเอง
แต่ความดังมันก็มีผลเสีย คนที่ดังมาก ๆ ก็มีคนเหม็นขี้หน้า ถ้ายังไม่พลาดก็แล้วไป
ล้มเมื่อไรก็จะเห็นเลยว่ามีคนนับร้อยเข้ามาช่วยเหยียบซ้ำ ที่สำคัญคนที่มีชื่อเสียงมักจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง
ดูผมเป็นตัวอย่าง แทนที่จะได้ไปเล่นกอล์ฟหรือไปอาบอบนวด กลับต้องมาพูดให้พวกคุณฟัง
นักปราชญ์จีนโบราณเขาพูดไว้ว่า "ตือพ้าปุ๊ย นั้งพ้าชุกเมี้ย" แปลเป็นไทยว่า
"หมู (ถ้าฉลาด) กลัวความอ้วน คน (ถ้าฉลาด) กลัวความมีชื่อเสียง"
PAY OFF อย่างที่สาม ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่หรือนักบริหารมืออาชีพ คือ ความมั่นคงทั้งเถ้าแก่และมืออาชีพต่างก็จะมีความมั่นคงในฐานะ
ความเป็นอยู่และการมีงานทำทั้งคู่ แต่ในลักษณะที่ต่างกัน เถ้าแก่จะเป็นคนสุดท้ายที่ตกงาน
เพราะแกจะต้องไล่คนอื่นออกก่อนที่จะถึงตัวแก แต่ถ้าธุรกิจล้มเหลวเพราะภาวะเศรษฐกิจ
การตัดสินใจผิดพลาดในการทำงาน เถ้าแก่ก็คงจะ SUFFER มากกว่านักบริหารมืออาชีพ
นักบริหารมืออาชีพทำให้ BUSINESS เจ๊งแล้วยังไปทำงานกับคนอื่นได้ เถ้าแก่เจ๊งก็จบ
ในขณะเดียวกัน นักบริหารมืออาชีพก็อาจจะขาดความมั่นคงเมื่อเทียบกับเถ้าแก่
เพราะอาจจะถูกปลดออกงานได้โดยนายจ้างไม่ต้องให้เหตุผล และเวลานักบริหารมือาอขีพถูกปลดนี้ไม่มีสหภาพไหนที่จะช่วยเดินขบวนยกป้ายให้ป๋าสั่งนายจ้างประนีประนอมด้วย
นักบริหารมืออาชีพอาจถูกบีบให้ออกได้ง่าย ๆ เพราะดันไปทำให้เมียนายห้างไม่ชอบหน้า
หรือว่าอาจจะไปขวางทางปืนของเด็กเส้นเข้า แต่โดยทั่วไปแล้ว เราก็จะพออนุมานกันได้ว่า
นักบริหารมืออาชีพนั้น คงจะมีความมั่นคงในการทำงาน และสามารถรักษาสถานภาพความเป็นอยู่ของตัวเองได้ดีกว่าเถ้าแก่
หมายความว่า ความเป็นอยู่จะราบรื่นกว่าเรื่องนี้ ผมพอจะยืนยันได้จากประสบการณ์และจากการสังเกต
วิถีชีวิตของเพื่อนฝูงหลายคนที่เป็นทั้งนักบริหารมืออาชีพและที่เป็นเถ้าแก่
ชีวิตของเถ้าแก่นั้นมักจะมีความขึ้น ๆ ลง ๆ มากกว่า
PAY OFF อันที่ 4 คือ ความพอใจ การทำธุรกิจส่วนตัวนี้มักจะมีความเป็นอิสระต่อค่อนข้างมาก
แน่ละเราจะทำตามใจชอบทั้งหมดก็คงไม่ได้คงจะต้องทำสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกค้าเกิดความพอใจเป็นเรื่องแรก
เถ้าแก่หรือเถ้าแก่เนี้ยก็คงจะต้องทำอะไรตามกฎหมายที่ควบคุมธุรกิจนั้น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฮเต็ล หรืออาบอบนวด หรือ BAR หรือการค้า หรือร้านอาหาร
คงจะต้องทำตามกฎหมาย คนที่เป็นเถ้าแก่ก็ต้องกู้เงิน BANK และก็คงต้องจ่ายเงินต้น+ดอกเบี้ยคืนเขาตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้กำหนด
แต่เขาก็มีทางได้เปรียบลูกจ้างอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกเถ้าแก่ไม่ต้องบังคับตัวเองให้ทำตามนโยบายของห้าง
เขาไม่ต้องถูกย้ายไปทำงานในถิ่นทุรกันดารนอกจากเขาสมัครใจ เพราะกำไรดีกว่า
เขาไม่ถูกบังคับให้ทำงานกับคนที่เขาไม่ชอบหน้าเหมือนกับนักบริหารมืออาชีพ
ถูกย้ายไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ แม้ไม่ชอบก็ต้องอยู่ เถ้าแก่นี่ถ้าไม่ชอบแต่งตัว
ก็ไม่ต้องแต่งสากล ผูกเนคไทเหมือนกับพนักงานธนาคาร แล้วไม่ต้องมากังวลเป็นห่วงเรื่องโต๊ะทำงานใหญ่แค่ไหน
บุนวมหรือเปล่า ประเภทพรมหรือเฟอร์นิเจอร์จะเป็นอย่างไร หรือเมื่อไรจะได้มีที่ทำงานที่มีห้องน้ำห้องส้วมส่วนตัว
ส่วนนักบริหารผมเชื่อว่า คง WORRY มากในเรื่องนี้ แต่เรื่องอย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยใจคอของแต่ละคนด้วย
เราอยากเป็นเถ้าแก่หรือนักบริหารมืออาชีพก็เหมือนว่า เราอยากอยู่ในบ้านเล็กในป่าใหญ่
หรือเราชอบความสบาย ยินดีที่จะนอนในมุ้งเล็ก ซึ่งอยู่ใต้มุ้งใหญ่ ถ้าภาษาผู้หญิงก็คือ
"ยอมกินน้ำใต้ศอก" คนอื่นเขา แต่เราก็คงยอมรับได้ว่า คนที่เป็นเถ้าแก่น่าจะได้รับความพอใจในงานมากกว่า
หรือมีโอากสที่จะได้รับความรำคาญใจน้อยกว่าจากเรื่องไร้สาระที่มาสะกิดใจในเรื่องของพรม
เฟอร์นิเจอร์ และขนาดของห้องของคนอื่น เรื่องพวกนี้จะมีน้อยกว่านักบริหารมืออาชีพ
ในขณะเดียวกัน ถ้าเรายังไม่ได้เป็นเถ้าแก่หรือยังไม่ได้เป็นนักบริหารระดับสูง
ความพอใจในงานระบบครอบครัวอาจจะมีน้อยกว่าในหรือยังไม่ได้เป็นนักบริหารระดับสูง
ความพอใจในงานระบบครอบครัวอาจจะมีน้อยกว่าในระบบองค์การขนาดใหญ่ เพราะบริษัทใหญ่
ๆ หลาย ๆ บริษัท มีระบบงานที่ดี ให้โอกาสที่คนหนุ่มสาวจะได้เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์
และ TECHNIQUE การจัดการที่ดี โอกาสที่คนเหล่านี้จะได้เลื่อนตำแหน่งเพราะความสามารถของตนเองย่อมมีมาก
โดยที่คนเหล่านี้ไม่ต้องมีเส้นสายไม่ต้องเป็นลูกท่านหลานเธอ ถ้าเผื่อเป็นระบบครอบครัว
ความสามารถที่จะก้าวหน้าด้วยตัวเอง โดยไม่มีเส้นก็คงจะน้อยกว่า บริษัทหรือองค์การขนาดใหญ่ก็มีหลายอันที่มีนโยบายที่ดูแลคนด้วยความเห็นอกเห็นใจ
ทำธุรกิจบนรากฐานของความเป็นธรรม คนทำงานทำด้วยความสบายใจ เขาฝึกคนของเขาให้มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ
ทำให้มีคนมีฝีมือเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้นธุรกิจขนาดใหญ่หรือองค์การขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเช่นนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย
และเป็นที่ ๆ คนส่วนใหญ่จะทำงานได้ด้วยความสบายใจ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็คือ ผลตอบแทน หรือ PAY OFF ที่เราจะได้ ถ้าเผื่อเราเป็นเถ้าแก่หรือเป็นมืออาชีพ
ทีนี้เราควรจะมาดูว่าถ้าเราเป็นเถ้าแก่เราต้องลงทุนอะไรบ้าง หรือจะต้องมีอะไรมาเป็นทุน
เราถึงจะได้ PAY OFF หรือประโยชน์ 4 ที่ผมเล่าให้ฟังแล้ว
ทุนอันแรกที่เราต้องมีคือความขยัน ผมคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจความสำคัญของปัจจัยหลักข้อนี้
ไม่ว่าเราจะทำงานให้ตัวเอง ให้ธุรกิจของครอบครัว หรือบริษัทขนาดกลางหรือใหญ่
เราจะก้าวหน้าไม่ได้ ถ้าเราเป็นคนหนักไม่เอา เบาไม่สู้ คุณวินัย เสริมศิริมงคล
แห่งห้างพาต้าเคยพูดไว้ว่า "อย่าสงสารตัวเองในวัยหนุ่มสาว"
ปัจจัยอันที่สองที่เราจะต้องลงทุนก็คือ ความอดทน คนหนุ่ม ๆ สาว ๆ มักจะมีความใจร้อน
อยากจะเดินเร็ว อยากจะไปเร็ว อยากทำอะไรให้มันเสร็จเร็ว ซึ่งผมอยากจะขอให้คำแนะนำว่า
เราจะต้องต่อสู้ความรู้สึกนี้ มีของหลายอย่างในโลกนี้ที่ต้องใช้เวลา จิตรกรจะวาดภาพ
MASTER PIECE อาจใช้เวลาเป็นปี ถ้าอยากจะทานหูฉลามชั้นหนึ่งหรือพระโดดกำแพงก็อาจจะองตุ๋นกันเป็นวัน
ๆ เราจะทำของที่ยากจะสร้างผลงานที่เป็นเลิศนั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เสร็จภายใน
5 นาที เร็วเท่ากับเอาของใส่ MICROWAVE ของหลายอย่างในโลกนี้ต้องทำด้วยความอดทน
ของบางอย่างต้องใช้เวลากับต้องใช้ประสบการณ์ที่สะสมไว้เป็นเวลายาวนานถึงจะทำได้
อย่างที่เขาเรียกว่าทำอะไรบางอย่างจะต้องมี "ชั่วโมงบน" ผมเคยเห็นนักบริหารมือดี
ๆ หลายคนที่ถูก BURN OUT อนาคตถูกเผาผลาญ เพราะไปถูกผลักดันให้ขึ้นไปรับหน้าที่ที่ยากโดยเร็วเกินไป
เมื่อมีชั่วโมงบินไม่พอ ประสบการณ์ยังไม่พอ ไม่มีความอดทนที่จะใช้เวลาสร้างคุณงามความดี
สร้างฝีมือให้ตัวเอง หรือสร้างฐานของความยอมรับให้แน่นหนาพอก็มีโอกาสที่จะทำงานใหญ่พลาด
ทำความเสียหายให้องค์การ และทำให้ตัวเองต้องเสียอนาคตไปในที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ เป็นเรื่องที่เราต้องลงทุนลงแรงเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ
ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่หรือนักบริหารมืออาชีพก็คือ ความเอาใจใส่ในกิจการของเรา
เราคงจะต้องศึกษางานที่อยู่ในหน้าที่ของเราให้รู้ซึ้ง ไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ในระดับไหน
เราจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงตัวเราเอง ปรับปรุงวิธีการทำงานและระบบงานของเรา
นอกจากนั้น เราก็คงจะต้องคบค้าสมาคมกับคนในวงการ ให้มีหูตากว้างขวาง ต้องทำตัวให้เราเองให้ตื่นตัวอยู่เสมอ
เพื่อที่เราจะได้เห็นช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ ในฐานะเถ้าแก่ หรือในฐานะนักบริหาร
ความเอาใจใส่ในงานจะทำให้เรามองเห็นช่องทางที่จะยกระดับประสิทะภาพของงานที่เราทำอยู่
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องมี คือ ความรอบคอบ คนที่ทำธุรกิจให้ตัวเอง
ถ้าขาดปัจจัยนี้คงจะเจ๊งเร็ว นักบริหารอาชีพที่ขาดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล
ขาดความสามารถในการพิจารณาสถานการณ์ก็คงไปไม่ได้ไกล สุภาษิตฝรั่งบทหนึ่งเขาบอกว่า
"CAUTION IS A BETTER PART OF VALOUR" หมายความว่า ความระมัดระวังเป็นส่วนที่สำคัญกว่าความกล้าหาญ
อีกปัจจัยหนึ่งที่เราคงต้องมี คือ ความถนัด คนเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่เหมาะกับนิสัยใจคอหรือกับความสามารถเฉพาะตัวของเรา
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ของที่เราชอบ เราก็มักจะทำได้ดี คนบางคนชอบทำอะไรที่มีความท้าทาย
คนบางคนไม่ชอบความเสี่ยง คนบางคนชอบกินปลาเป็น ๆ คนบางคนชอบกินของตาย อย่างเด็ก
ๆ ก็จะเห็นความแตกต่างได้ชัด เด็กบางคนชอบคำนวณ บางคนก็ชอบภาษา ผมมีลูกชาย
3 คน แต่ละคนก็มีความสันทัด ความชอบไม่เหมือนกันสักคน เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเราอยากจะเป็นเถ้าแก่
เราก็คงต้องถามตัวเองว่า เราชอบแบไหน ถ้าเราอยากจะเป็นนักบริหารมืออาชีพ
เราก็คงจะต้องเช็ค STOCK ทักษะ หรือความถนัดเราว่า เรามีความสามารถเหมาะสมกับสิ่งที่เราจะทำหรือไม่
ถ้าไม่ชอบตัวเลขและอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินของธนาคารก็คงจะลำบาก และถ้าชอบอยู่เงียบ
ๆ กับครอบครัวเรา มีชีวิตที่เรียบง่าย แล้วอยากจะไปเป็นพ่อค้าอาวุธสงครามก็คงจะไม่เจริญ
คุณจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการเป็นเถ้าแก่หรือนักบริหารมืออาชีพก็คือ
ความมั่งคั่ง หรือลาภ ความมั่นคง หรือยศ ความดัง หรือสรรเสริญ ความพอใจ หรือสุข
ประโยชน์ 4 ในโลกธรรม 8 ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนไว้
ส่วนปัจจัยที่จะนำเราไปสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าวได้ก็คือ ความสันทัดหรือฉันทะ
ความขยัน หรือวิริยะ ความเอาใจใส่หรือจิตตะ และความรอบคอบหรือวิมังสา นอกจากนั้น
ยังคงต้องมีความอดทนคือขันติด้วย 4 ข้อแรก คือ อิทธิบาท 4 อันเป็นพื้นฐานของความสำเร็จเป็นสิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า
คนเราจะทำอะไรให้สำเร็จได้จะต้อง 4 อย่างนี้ แม้ในการปฏิบัติธรรมให้ถึงขั้นนิพพาน
ก็ต้องคำนึงถึงอิทธิบาท 4 ส่วนประการที่ 5 คือ ขันตินั้น ท่านสอนไว้ว่า จำเป็นต้องมี
ไม่ว่าจะเป็นพระที่แสวงหาความหลุดพ้นหรือเป็นพระราชาที่จะปกครองราษฎรด้วยความเป็นธรรม
เพราะขันติก็เป็นปัจจัยข้อหนึ่งในทศพิศราชธรรม หรือแม้แต่อยากเป็นนักการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งก็คงจะต้องมีขันติ
อยู่ในสภาก็ต้องมีขันติ เมือ่ถูกเขาด่าหรือกล่าวหาทั้งที่เรื่องจะมีมูลหรือไม่มีมูลความจริงก็ตาม
สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ยากในการบรรลุมากกว่าการเป็นเถ้าแก่หรือนักบริหารมืออาชีพเสียอีก
ที่นี้ถ้าเราจะมาดู PROSPECT ในเมืองไทยโดยทั่วไปในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า
โอกาสที่จะเป็นเถ้าแก่หรือเป็นนักบริหารมืออาชีพเปรียบเทียบกันแล้ว มีมากหรือน้อยแค่ไหน
ในอเมริกามีธุรกิจที่จดทะเบียนราว 10 ล้านราย เป็นธุรกิจขนาดย่อมเสีย 95%
ธุรกิจเหล่านี้สร้างผลผลิตประมาณ 43% และสร้างงานในภาคเอกชนมากกว่า 50% ในอเมริกามีร้านค้าปลีกค้าส่งประมาณ
1 ร้านต่อประชากร 200 คน ในญี่ปุ่นมีร้านค้าปลีกและส่ง (ประมาณ 1,750,000
ราย ซึ่งมีประมาณ 2 เท่าของอเมริกา) ประมาณ 1.5 ร้านต่อประชากร 100 คน ในเมืองไทยสถิติบอกไว้ว่ามีร้านค้าปลีก
ร้านค้าส่ง รวมกันแล้วแสนกว่ารายเท่ากับ 1 ร้านต่อประชากร 500 คน แต่ว่าถ้าเรารวมรายการร้านค้าที่กรมสรรพากรลืมจด
รวมกับแม่ค้าส้มตำ เสือร้องไห้ หาบเร่ตามตลาดโต้รุ่ง ร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่บนรถปิคอัพซึ่งวิ่งไปขายตามตรอกตามซอยต่าง
ๆ แล้ว ผมคิดว่าอัตราส่วนของเราคงไม่หนี ระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่น ผมอยากจะคาดคะเนว่า
อัตราส่วนของเราคงจะเป็นราว ๆ ประมาณ 150 คนต่อ 1 ร้าน ถ้าเผื่อเรามีอัตราส่วนอย่างนี้ก็หมายความว่า
เราคงจะมีธุรกิจขนาดเล็กอยู่ประมาณ 340,000 ราย ผลการวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้อย่างหนึ่งบอกว่า
ธุรกิจขนาดย่อมที่เราเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ คือ 10% ของธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ
5-10 ปีที่แล้ว หมายความว่า 90% ของพวกนี้เจ๊งไปแล้ว และผลการวิจัยนี้ก็บอกว่า
1% ของธุรกิจที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ ต่อไปจะโตเป็นบริษัทใหญ่ ในอเมริกาก็มีสถิติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน
เขาบอกว่าธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่จะเจอภัยอย่างนี้ และธุรกิจขนาดย่อมที่อยู่เกิน
7 ปี มีเพียง 11%
แต่ถ้าเรามาดูสถิติในเมืองไทย ธุรกิจขนาดใหญ่ 200 ราย สมมติว่าแต่ละรายมีนักบริหารมืออาชีพสัก
100 คน ซึ่งเป็นเกณฑ์สูง เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจขนดาใหญ่ในเมืองไทยคงมีโอกาสสร้างงานนักบริหารอาชีพหลัก
10,000 คน เปรียบเทียบกับธุรกิจขนาดเล็ก 340,000 ร้าน ซึ่งคงจะต้องมีเถ้าแก่ร้านละ
1 คน เราก็เห็นได้ว่า อัตราส่วนความต้องการระหว่างเถ้าแก่และนักบริหารอย่างต่ำสุดก็คงประมาณ
34 : 1
พูดง่าย ๆ ก็คือ ระบบเศรษฐกิจไทยจะมี DEMAND สำหรับเถ้าแก่ 34 คนต่อนักบริหารอาชีพทุก
ๆ 1 คน ถ้าเกิดเอาตัวอย่างร้านอาหารอย่าง S&P A&W PIZZA HUT ซึ่งมีอะไรคล้าย
ๆ กันแทบทุกอย่างในธุรกิจของ 10 ปีที่ผ่านมา CHAIN เหล่านี้ขยายตัวจาก 1
ร้านเป็น 6 ร้าน เจ้าของและหุ้นส่วนของแต่ละรายก็คงจะได้ผลตอบแทนในการลงทุนเป็นที่น่าพอใจ
และเท่าที่ผมทราบทั้ง 3 CHAIN นี้ก็ให้โอกาสจ้างงานแก่คนประมาณ 400-500 คนต่อราย
ถ้าเราดูตัวอย่างมีอุเบกขาแล้ว ถ้าเกิดเราคิดว่าเรานี้มีความสามารถชอบงานที่ท้าทายและมีความใจกล้าพอ
ก็น่าจะลองพยายามเป็นเถ้าแก่ดู พูดตามความจริงแล้ว มหาจำลองยังกล้าทิ้งตำแหน่งนายพลมาสู้ในเวทีทางการเมือง
ซึ่งในความคิดเห็น ผมมันยากกว่าเวทีการพาณิชย์หลายเท่านั้น และในความคิดเห็นของผม
มหาจำลองทำงานได้ผลดีกว่าผุ้ว่า กทม. ที่ผ่านมา เพราะท่านมี SPIRIT ของเถ้าแก่มากกว่านักบริหารของภาครัฐบาล
ก่อนจบผมขอให้คติสอนใจไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่ หรือนักบริหารมืออาชีพ สุภาษิตอันนี้ผมได้มาจากเถ้าแก่ซึ่งเป็นนักศึกษาสุภาษิตจีนคนหนึ่งเป็นลูกค้าของผมที่โคราช
เขาบอกว่า ซินแสซึ่งเป็นเพื่อนเตี่ยของเขาสอนว่า "ตี้เส็กปี๋ปุ๊ก เจี่ยเหล่งลัก"
"ความรู้สู้ความสามารถไม่ได้" "ตี้เส็กอื๋อเหล่งสัก ปี๋ปุ๊กเจี่ย
นั้งลุ่นก๋ำเช้ง" "ความรู้บวกความสามารถยังสู้มนุษยสัมพันธ์ไม่ได้"
และโปรดจำไว้ไม่ว่าคุณจะไปเป็นเถ้าแก่หรือจะเป็นเซียนด้านบริหาร คุณต้องทำงานกับคน
ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง ลูกจ้าง ลูกพี่ ลูกเรา หรือลูกป๋า หรืออาจจะเป็นเมียเรา
เมียเขา เมียเพื่อน เมียน้อย และเมียท่าน เราคงต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
แล้วก็สำหรับเมียเรากับเมียท่านคงต้องสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมเป็นพิเศษ
ชีวิตเราจะสุขจะทุกข์อย่างไร จะได้รับความสำเร็จแค่ไหน ก็คงอยู่กับการสร้างความสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่าง
ๆ เหล่านี้เป็นส่วนใหญ่
ขอให้ทุกคนประสบกับความสมหวัง