Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2530
หักด่านอินไซเดอร์ เหตุเกิดที่ "ลอยด์ส ออฟ ลอนดอน"             
 


   
search resources

ลอยด์ส
เอียน เฮย์ เดวิสัน
Insurance




มหานครลอนดอนจัดเป็นตลาดประกันภัยชั้นนำของโลก โดยมีบรรษัทลอยด์สเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งมีคามเชี่ยวชาญในกิจการประกันภัย และประกันภัยต่อในด้านเรือเดินสมุทร ทรัพย์สิน และอัตราเสี่ยงความเสียหาย ลอยด์สทำรายได้ให้แก่อังกฤษปีหนึ่ง ๆ จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ตลาดแห่งนี้ประกอบขึ้นด้วยนักลงทุนจำนวนเกือบ 32,000 คน โดยผู้คนที่มีขนหน้าแข้งหนา ๆ ผู้ปรารถนาเข้าร่วมกับลอยด์สนั้น จะต้องหาตัวแทนสมาชิกของตนเป็นอันดับแรกเพื่อเป็นตัวนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ก่อนจะได้รับตำแหน่งให้เป็นสมาชิกในเครือ

ธุรกิจของกิจการเครือข่ายเหล่านี้ ดำเนินการโดยตัวแทนฝ่ายจัดการ ซึ่งอาจมีสถานะเทียบเท่าตัวแทนสมาชิกหรือไม่ก็ได้ ตัวแทนทั้งสองประเภทมักมีการควบคุมผ่านนายหน้าของลอยด์สอีกทีหนึ่ง แต่ตัวแทนฝ่ายจัดการจะเป็นผู้ดูแลการรับประกันภัยในนามของผู้ลงทุนของตน โดยทำงานรูทีนแบบวันต่อวันที่ลอยด์ส

เอียน เฮย์ เดวิสัน อดีตกรรมการผู้จัดการของลอยด์ส เขียนแนะนำไว้ตอนหนึ่งในบทความของเขาจากหนังสือ A VIEW OF THE ROOM ที่กำลังจะออกวางตลาดในเร็ววันนี้ ซึ่งเขาได้เปิดเผยถึงการต่อสู้เพื่อปฏิรูปบรรษัทลอยด์ส ที่เขาได้รับมบอหมายจากธนาคารชาติอังกฤษให้เข้าไปสะสางปัญหาภายในอันเนื่องมาจากกรณีอื้อฉาวคาวทุจริตของ "บุคคลวงใน" หรือ อินไซเดอร์ เมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม เดวิสันได้เปิดหมวกอำลาลอย์สไปเมื่อปีกลาย จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น

เดวิสันเล่าถึงการพิสูจน์ความผิดของอินไซเดอร์ในลอยด์สเมื่อปี 1982 ที่มีการกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต จำเลยได้แก่ อเล็กซานเดอร์ ฮาวเดน นายหน้ารายใหญ่ของลอยด์ส บริษัทตัวแทนรับประกันภัยของปีเตอร์ คาเมรอน-เวบบ์ และบริษัทบรู๊คส์ แอนด์ ดูลีย์ โดยมีจำนวนสุทธิของเงินสดที่ถูกยักยอกไปมากกว่า 50 ล้านปอนด์ หรือ 82 ล้านดอลลาร์ (2,000 กว่าล้านบาท)

นับเป็นครั้งแรกที่ลอยด์ส ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีมอตโตฟังดูขลังว่า FIDENTIA (ความไว้วางใจ) ที่เคยสะท้อนถึงธุรกิจที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมมีอันต้องแปดเปื้อนมลทิน

กิจการให้ใหญ่แสนใหญ่แค่ไหนล้วนเคยมีบทเรียนมาแล้ว ลอยด์สเองก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นความจริงข้อนี้ นั่นคืออันตรายจากการคดโกงกันเอง โดยบุคคลวงในที่เป็นสมาชิกด้วยกัน แต่ยังนับว่าโชคดีของคณะกรรมการบริหารลอยด์สในขณะนั้น ที่รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยอำนาจใหม่ในการปกครองตนเองของลอยด์สไปก่อนหน้าจะเกิดข่าวอื้อฉาว มิฉะนั้น ทาง ส.ส. คงต้องยับยั้งไว้แน่นอน โดยเฉพาะคนใหญ่คนโตหลายคนในลอยด์สซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลในร่างกฎหมายดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทุจริตอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความที่รัฐสภารู้สึกเหมือนถูกต้มจนเปื่อย จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง LIME STREET (บริเวณที่ตั้งของลอยด์ส) และ WHITE HALL (ชื่อเรียกรัฐสภา) เสื่อมทรามลง

ธุรกิจของลอยด์สยังคงเติบโตต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด อัตราการเพิ่มที่รวดเร็วของเงินค่าเบี้ยประกัน (17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1987) และผลกำไรทำให้มีสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งส่งผลต่อไปยังสภาพทางสังคมของลอยด์ส ที่แปรเปลี่ยนจากการเคยเป็นสโมสรลับเฉพาะของบุคคลวงในพร้อมครอบครัว และเพื่อนฝูงของพวกเขา กลายมาเป็นตลาดการลงทุนสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งมีสมาชิกภายนอกหรือนักลงทุนมากหน้าหลายตาร่วมทุนอยู่มากกว่าร้อยละ 80

เดวิสัน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การปฏิรูปเป็นสิ่งสำคัญ !

อันที่จริงแนวโน้มที่จะให้มีการปฏิรูปเกิดตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 โดยผู้ลงทุนของบริษัทในสังกัดที่ชื่อ "แซซซี" ปฏิเสธจะชดใช้ตัวเลขขาดทุนของพวกตน โดยอ้างว่ากฎข้อบังคับของลอยด์สได้ถูกละเมิด ดังนั้นต่อมาจึงมีการขอให้ เซอร์ เฮนรี่ ฟิชเชอร์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้เตรียมรายงานว่าด้วยการปกครองตนเองของลอยด์ส ซึ่งในรายงานปี 1980 ข้อสรุปสำคัญของฟิชเชอร์ก็คือ ความจำเป็นในการออกเป็นกฎหมายใหม่โดยรัฐสภาเพื่อรับรองอำนาจในการปกครองตนเอง

กฎหมายฉบับเดิมนั้นออกมาตั้งแต่ปี 1871 เก่าแก่คร่ำครึเต็มทีและไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว

ตามข้อบังคับกฎหมายใหม่ปี 1982 นั้น ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาบริหารของลอยด์สขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนไตรภาคี อันได้แก่ ผู้รับประกันวงใน ตัวแทน และนายหน้า ฝ่ายหนึ่ง นักลงทุนภายนอกฝ่ายหนึ่งและผู้ไม่ใช่สมาชิกซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยผู้ว่าการแบงก์ชาติอังกฤษอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะมีส่วนประกอบจากภายนอกเข้ามา บุคคลภายในยังคงไว้ซึ่งเสียงข้างมาก และตัวประชาชนของลอยด์สยังต้องมาจากคนวงใน สภาใหม่นี้มีอำนาจมากกว่าคณะกรรมการชุดเก่า

และงานสำคัญก็คือ การจัดการปลดเปลื้องผลประโยชน์ของบรรดานายหน้าในบริษัทตัวแทนรัปบระกัน

เดิมทีมีความขัดกันอยู่แล้วระหว่างนายหน้าและลูกค้าผู้เอาประกันที่ต้องการครอบคลุมที่ดีที่สุดในราคาต่ำที่สุด กับตัวแทนรับประกันและผู้ลงทุนของเขาที่ต้องการความเสี่ยงน้อยที่สุดและกำไรมากที่สุด ยิ่งเมื่อนายหน้ามาเป็นเจ้าของบริษัทตัวแทนรับประกันเสียเอง ปัญหาจึงปรากฏชัดขึ้น โดยเฉพาะพบว่า 70% ของตัวแทนต่าง ๆ ของลอยด์มีนายหน้าเป็นเจ้าของ เหตุนี้ คณะกรรมการฟิชเชอร์ได้เสนอแนะให้ยุติการเป็นเจ้าของโดยนายหน้าเสียที ซึ่งรัฐสภาเห็นชอบและขีดเส้นตายในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่แล้วก็ปรากฏว่า ขณะที่รัฐสภาไปมะงุมมะงาหราอยู่กับปัญหาข้างต้น อันตรายอื่นที่แอบแฝงอยู่ และก่อการทำผิดอันอุกฉกรรจ์ก็ได้บังเกิดขึ้น มีการถ่ายเทผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัวแทน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกิจการให้แก่ผู้ลงทุน ระหว่างที่รัฐสภากำลังอภิปรายถึงการปลดเปลื้องอยู่นั้น ตัวแทนบางรายก็จัดแจงงุบงิบฉ้อโกงผู้ลงทุนเรียบร้อยโรงเรียนลอยด์ส

ตอนที่เกิดเรื่องอื้อฉาวนั้นแทบเรียกว่า น้ำหมึกบนร่างกฎหมายใหม่ยังไม่ทันแห้งสนิทดี บรรดา ส.ส.รู้สึกว่าตัวเองถูกหลอก ผู้คนต่างฉุนเฉียวเป็นกำลัง ทางแบงก์ชาติอังกฤษเองวิตกว่า กลิ่นทะแม่ง ๆ ของเล่ห์เหลี่ยมที่ไร้จรรยาบรรณในลอยด์สอาจแพร่กระจายออกไปทั่วทั้งเมือง จึงสั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบสวนสอบสวนและได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ร่างกฎข้อบังคับการทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชีสำหรับบริษัทเครือข่ายของลอยด์สตามขอ้เสนอแนะของฟิชเชอร์

นอกจากนั้น แบงก์ชาติยังได้ชักจูงให้คณะกรรมการของลอยด์สยอมรับการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ เพื่อจะเริ่มต้นโครงการปฏิรูปตามที่รายงานฟิชเชอร์เคยเรียกร้องไว้ ซึ่งคดีอื้อฉาวเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 1982 นี้เป็นตัวเร่งให้โครงการนี้ต้องรีบดำเนินการอย่างรีบด่วน เดวิสัน กล่าวถึงตอนนี้ว่า ตนได้รับคำขอร้องจากผู้ว่าการธนาคารแห่งอังกฤษให้ทำงานชิ้นนี้ "ผมไม่ได้ขอให้เป็นตลอดชีวิตหรอกนะ สัก 3-5 ปีก็พอแล้ว" ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกกับเขาเช่นนั้น

งานเฉพาะหน้าสามประการที่เดวิสันต้องเผชิญที่ลอยด์สในระยะต้นปี 1983 ก็คือ 1) จับผู้ร้ายให้ได้และชำระล้างตลาดเสียใหม่ 2) ร่างกฎระเบียบที่ไม่เป็นทางการควบคุมกิจการในตลาด และ 3) พยายามปรับปรุงโครงสร้างการจัดการบรรษัทของลอยด์ส เพื่อให้การควบคุมตลาดค้าประกันแห่งนี้ในอนาคตตกอยู่ในมือของผู้บริหารมืออาชีพที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง มากกว่าเป็นที่หาผลประโยชน์ของอินไซเดอร์ที่เป็นมือสมัครเล่นและเล่นพรรคเล่นพวก

งานชิ้นแรก คือ การสานต่องานที่เจ้าหน้าที่สอบสวนได้เริ่มไว้แล้ว โดยที่เดวิสันมีอำนาจดำเนินการสบสวน จับกุมผู้ต้องสงสัยไว้รอการพิจารณาไต่สวน รวบรวมหลักฐานข้อมูล และระวางโทษ ซึ่งในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมานี้ การสอบสวนได้พัวพันถึงผู้ต้องสงสัย 64 ราย โดยลอยด์สได้ตีพิมพ์รายงานการสอบสวนเต็มฉบับออกมาเผยแพร่ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่บางคนยังคงวิจารณ์ว่า โทษที่ตัดสินนั้นเบาเกินไป เดวิสัน บอกว่า สิ่งสำคัญคือได้มีการสอบสวนคดีตัดสินลงโทษและข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหน่วยงานราชการไม่สู้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ได้ข้อมูลไปหมดทุกอย่างเท่าที่บริษัทให้ได้ อธิบดีกรมอัยการยังคงต้องตั้งข้อหาเดียวต่อหัวโจกในลอยด์ส มีข้อสรุปอยู่สองประการในเรื่องนี้ กล่าวคือ ถ้าไม่เป็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่สนับสนุนความพยายามของลอยด์สในการสะสางปัญหาในตลาด ก็คงเป็นว่าลอยด์สเองไม่ปรารถนาที่จะเห็นสมาชิกคนใดคนของตนเข้าไปยืนอยู่ในคอกจำเลย แม้พวกเขาได้สร้างความเสียหายให้กับสังคมและเหล่านักลงทุนก็ตาม

เดวิสันเชื่อว่า การสอบสวนครั้งนี้มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะมองเห็นความแตกต่างกันมากระหว่างท่าทีเฉื่อยเนือยของเจ้าหน้าที่อัยการในคดีลอยด์ส กับการปฏิบัติอย่างแข็งขันในการติดตามคดีกินเนสส์ (GUINNESS AFFAIR)

กฎข้อบังคับใหม่มีหลักการสำคัญ 3 อย่าง คือ ตัวแทนรับประกันของลอยด์สจะต้องจดทะเบียนใหม่ และผ่านการทดสอบคุณสมบัติความเหมาะสม แต่ละรายต้องแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ ความสามารถในการดำเนินกิจการ และศักยภาพในการชำระหนี้ ต้องมีการจัดหมวดหมู่ระหว่างผู้ถือหุ้นและตัวแทน บัญชีของบริษัทในเครือต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกับบริษัทมหาชนอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกับการตรวจสอบบัญชี โดยนักบัญชีที่มีคุณสมบัติได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วไป บัญชีเหล่านั้นจะนำส่งให้ผู้ลงทุนและลอยด์สก่อนนำออกเผยแพร่ซึ่งจะทำให้การกระทำผิดทำได้ยากขึ้น

ปัญหาหนึ่งที่ใหญ่กว่า เห็นจะได้แก่ การต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับเหล่าตัวแทน เพื่อให้มีการปฏิรูปความสมดุลอย่างยุติธรรมในผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ลงทุนและตัวแทน สิ่งที่ล้มเหลวมาตลอดตราบเท่าที่ลอยด์สยังบริหารและควบคุมโดยอินไซเดอร์ การปรับปรุงโครงการสร้างการจัดการจึงเป็นบทพิสูจน์ถึงความยากลำบาก และอ่อนไหวทางการเมืองสูง

แต่เดิมพนักงานในลอยด์สหาได้พึงพอใจกับฐานะตำแหน่งของตนเท่าไรนัก เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกในตลาดด้วย ซึ่งนับเป็นเหตุผลที่ดีในด้านความเป็นอิสระ แต่ก็ได้ลดสถานะของพวกเขาลงไปในสายตาของผู้รับประกันบางคน ขณะที่ธุรกิจของลอยด์สขยายตัวมากขึ้น ภาระของงานประจำก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหาใช่โดยยกการยกระดับตำแหน่งและสถานะของพนักงาน หากเป็นการเพิ่มความยุ่งเกี่ยวของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประธานและรองประธานอีกสองคนได้กลายมาเป็นผู้บริหารเต็มเวลาแม้จะไม่ได้เงินเดือน ซึ่งหัวหน้าแผนกต่างต้องรายงานตรงถึงคนใดคนหนึ่งในสามคนนี้

ตำแหน่งของเดวิสันในฐานะรองประธาน และกรรมการผู้จัดการได้ตัดกลางเข้าที่โครงสร้างเดิม เนื่องจากตำแหน่งของเขาได้รับการรับรองจากธนาคารชาติ พนักงานจึงต้องรายงานถึงเขาเพียงผู้เดียว โดยที่เขามีอำนาจว่าจ้าง ปลดออก เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง จัดองค์กร และตั้งตัวแทนได้ทั้งสิ้น เฉกเช่นกรรมการผู้จัดการขององค์การรัฐบาลหรือเอกชนอื่น ๆ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้รองประธานที่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่า บทบาทการบริหารของพวกตนจะถูกบั่นทอนเช่นนี้ต้องนั่งไม่เป็นสุข ขณะเดียวกันความสับสนได้บังเกิดขึ้นในหมู่พนักงานที่ต้องเผชิญกับความจงรักภักดีที่แบ่งแยก ซึ่งนับเป็นเรื่องอันตรายมากในการปกครงอคน

ประธานคนปัจจุบันของลอยด์ส คือ ปีเตอร์ มิลเลอร์ ครั้งหนึ่งเคยเปรียบเทียบบทบาทของตนเหมือนนายกรัฐมนตรี ขณะที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการก็เปรียบดังข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่เดวิสันกล่าวว่า การเปรียบเปรยเช่นนั้นผิดพลาดและสับสน กรรมการผู้จัดการของลอยด์สไม่อาจเทียบเท่าปลัดกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่รับใช้รัฐมนตรีและรัฐบาล โดยจะต้องขจัดทัศนะทางการเมืองส่วนตัว และเสนอข้อโต้แย้งต่าง ๆ ให้แก่รัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจก่อนจะเป็นการตัดสินใจระดับกระทรวง

งานของกรรมการผุ้จัดการที่ลอยด์สแตกต่างจากนั้นมาก เดวิสันยืนยันว่า ตำแหน่งของตนต้องรับใช้สมาชิกทั้งมวลของลอยด์ส หาใช่รับใช้ตัวประธานและรองประธานที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพวกอินไซเดอร์ไม อันที่จริงทั้งสองฝ่ายก็ไม่ค่อยขัดแย้งกันมากนัก นอกจากเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ระหว่างตัวแทนและผู้ลงทุน ซึ่งเดวิสันบอกว่าตนต้องยืนข้างฝ่ายหลัง

ส่วนสาเหตุที่เดวิสันตัดสินใจจะทิ้งลอยด์สนั้น เขาเองเปิดเผยว่าเป็นปัญหาแนวทางของพนักงาน ซึ่งเขาถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงเท่า ๆ กับกฎข้อบังคับของลอยด์ส "ตัวประธานซึ่งไม่มีข้อกำหนดไว้ในช่วงที่ผมอยู่ในตำแหน่ง ปรารถนาที่จะแสดงบทบาทการบริหารของตนอย่างเต็มที่ เขาจึงไม่สบอารมณ์ต่อข้อจำกัดใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน"

ตลาดของลอยด์สถูกควบคุมโดยอินไซเดอร์ ทั้ง ๆ ที่นักลงทุนภายนอกมีสัดส่วนการลงทุนที่สูงกว่า ดังนั้นเมื่อผลประโยชน์ของตัวแทนภายในขัดแย้งกับของนักลงทุนภายนอก ฝ่ายหลังจึงมักเป็นฝ่ายที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กรรมการผู้จัดการที่เป็นอิสระต้องปรับให้เกิดความเท่าเทียมอีกครั้ง ซึ่งการกระทำเช่นนั้นได้ เดวิสันกล่าวว่า จะต้องได้รับการสนับสนุนจากพนักงานที่ไว้วางใจได้และไม่แบ่งฝักฝ่าย อีกทั้งต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงหน้าที่ของพวกที่มีต่อผู้ลงทุน และเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นย่อมต้องรู้ดีว่า ตนนั้นไม่มีหน้าที่ต่อตัวประธานและสมัครพรรคพวกของประธาน

"แต่ก็นั่นแหละ เป็นเรื่องยากที่จะใส่ความคิดนี้เข้าไปสู่พนักงานที่ไม่ให้ความสำคัญกับกรรมการผู้จัดการ กลับไปมองที่ประธานเพื่อความก้าวหน้าของตนเองเท่านั้น" เดวิสันเขียนเหน็บแนมไว้ในบันทึก

อดีตกรรมการผู้จัดการหมาด ๆ ระบายความในใจต่อไปว่า ตนไม่เคยตั้งใจจะมาปักหลักที่ลอยด์ส นับแต่เริ่มแรกก็ได้เล็งเห็นสภาพอันชั่วคราวของตำแหน่งนี้ และมองตัวเองในฐานะหน่วยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญของงานที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของกรรมการผู้จัดการ และถ้าเป็นไปได้ก็ขยับดุลอำนาจภายในลอยด์สให้แก่นักลงทุน โดยถ่ายเทจากอินไซเดอร์ ดังนั้นหลังจากได้จัดวางกระบวนการวินัยที่มีประสิทธิภาพให้แก่ลอยด์ส และกฎระเบียบใหม่เกือบบรรลุผล เดวิสันจึงลาออกจากตำแหน่ง

"ผมเกือบทำงานของผมแล้วเสร็จ แต่ด้วยเหตุที่ความเป็นอิสระของตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (ในปัจจุบันและอนาคต) ตกเป็นเป้าโจมตี ผมจึงลาออกและดึงความสนใจของประชาชนมาที่การคุกคามนี้"

ผลลัพธ์สองประการได้เกิดขึ้น อย่างแรก สภาบริหารของลอยด์สไม่มีทางเลือกนอกจากแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งถาวรที่ได้รับมอบอำนาจเหมือนกัน อย่างที่สอง ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมจำนวนมากนำโดยอดีตรัฐมนตรีการค้า คือ เซอร์ แพทริค เจนกิน เรียกร้องให้รัฐบาทดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป ซึ่งในที่สุด เซอร์ แพททริค นีลล์ ได้รับการขอจากรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมใหเป็นประธานสอบสวนในเรื่องการจัดวางระเบียบที่ลอยด์ส

รายงานของนีลล์ที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมปีนี้ตั้งปัญหาว่า "การจัดวางกฎข้อบังคับในลอยด์สขณะนี้ได้ให้ความคุ้มครองต่อนักลงทุนหรือไม่ เมื่อเปรียบกับที่ให้ไว้ภายใต้พระราชบัญญัติการเงิน" คำตอบคือ "ถึงแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่เริ่มโดยสภาของลอยด์สตั้งแต่เดือนมกราคม 1983 แต่พวกเขาก็ไม่ได้กำหนดให้ชัดถึงระดับการเกี่ยวข้องของบุคคลภายนอกที่เป็นอิสระ และระดับการวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมาในกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงานด้านตลาดที่จะเป็นลักษณะของระบอบภายใต้พระราชบัญญัติการเงิน ระบบตรวจสอบ และถ่วงดุลที่ลอยด์สในทัศนะของเรานั้นไม่สู้จะมั่นคงนัก ดุลของการริเริ่มอยู่ที่สมาชิกที่ทำงานมากเกินไป"

เดวิสัน บอกว่า รายงานฉบับนั้นแก้ต่างให้กับความกังวลของตน แต่ก็ได้ไปไกลเกินกว่าที่ตนจะสามารถอยู่ในสังคมของลอยด์สต่อไปได้ เซอร์ แพทริคได้ยุติการควบคุมของอินไซเดอร์ที่อยู่เหนือสภาบริหารของลอยด์ส มากกว่าจะรุกล้ำอำนาจและความเป็นอิสระของกรรมการผู้จัดการ นับจากเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป อินไซเดอร์จะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยเพียง 12 ใน 28 เสียงของสมาชิกสภาลอยด์ส นีลล์ยังได้สอดส่องไปยังบทบาทสำคัญของสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อใหม่ในการเป็นประธานและมีส่วนร่วมในคณะกรรมการควบคุมสำคัญ ๆ

ปัญหาต่าง ๆ ในไลม์ สตรีท (ที่ตั้งของลอยด์ส) ดึงความสนใจไปยังประเด็นหลักเกี่ยวกับการบังคับควบคุมตลาดการเงินแห่งอื่น ๆ ซึ่งมีอินไซเดอร์เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นการควบคุมตนเองหรือการควบคุมโดยมีพื้นฐานจากผู้ปฏิบัติทำให้เห็นข้อดีจำนวนหนึ่ง เพราะกฎระเบียบจะออกโดยผู้ที่ถูกบังคับใช้ ซึ่งจะให้ประสิทธิผลมากกว่าโดยเฉพาะสิ่งที่ออกมาภายในชุมชนของตนมักได้รับการยอมรับได้เร็วกว่าจะทำให้เกิดการควบคุมโดยสปิริต มากกว่าจะเป็นเพียงตัวอักษรที่บัญญัติไว้เท่านั้น

เดวิสันให้ความเห็นว่า องค์กรที่จัดวางกฎข้อบังคับดังกล่าวสามารถแก้ไขกฎระเบียบใหม่ได้เร็วกว่าหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งอาจต้องรอช่องว่างในตารางเวลาของรัฐสภา สำหรับกฎหมายสำคัญ จากทัศนะของนักการเมืองเองก็เห็นว่า วิธีนี้ประหยัดดี เพราะคนที่ปฏิบัติตามกฎจะเป็นผู้ออกกฎเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยหน่วยราชการจึงไม่น่าประหลาดใจที่ว่า รัฐบาลที่ประสบความสำเร็จมักพึงพอใจกับการปกครองตนเองของตลาดการเงินในอังกฤษ

กระนั้นก็ตาม มีข้อเสียอย่างมากประการหนึ่งในเรื่องการปกครองตนเอง นั่นคือมีเสรีภาพมากเกินไปในการแสวงประโยชน์ของพวกอินไซเดอร์ในตลาด จึงต้องดำเนินการในลักษณะที่มั่นใจว่า ผลประโยชน์ของประชาชนและผู้ลงทุนภายนอกจะได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม บ่อยครั้งทีเดียวที่การโต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้เน้นไปที่ประสิทธิภาพในการสร้างกฎและลืมเรื่องสำคัญเกี่ยวกับวิธีบังคับใช้กฎข้อบังคับเหล่านี้ องค์ประกอบสำคัญสองประการนี้จึงต้องแยกแยะให้ชัดเจน แต่ละอันต้องกำหนดจุดยืนว่า ผลประโยชน์ผูกพันของอินไซเดอร์พึงหลีกเลี่ยงเสมอ

ตามข้อเสนอแนะในตอนท้ายของเดวิสันนั้น วิธีการข้างต้นจะทำได้โดยรวบรวมสมาชิกแบบธรรมดาเข้าไว้ในองค์กรทางกฎหมายและจัดการหารือสาธารณชนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ต้องแน่ใจด้วยว่า ผู้ที่บังคับใช้กฎนั้นต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ข้อนี้กลับพบว่า ประสบความล้มเหลวในลอยด์สเองสมาชิกระดับนำหลายคนในกลุ่มทำงานที่ลอยด์ส ไม่แม้แต่จะสนใจหน้าที่ตามกฎหมายของพวกเขาในฐานะตัวแทนรับประกันหลายคนไม่รู้สึกรู้สาใด ๆ กับการดำเนินการ OFFSHORE REINSURANCE แบบปิดบังเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่ขึ้นไปถึง 43.5 ล้านปอนด์ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1985

มากกว่า 90% ของผู้ลงทุนจึงได้รับผลกระเทือนจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างทั่วหน้า ตัวแทนรับประกันชั้นนำหลายแห่งมีส่วนพัวพันอยู่ด้วย รวมถึงตัวแทนบางคนในคณะกรรมการของลอยด์ส ผู้ซึ่งความเชื่อถือของพวกเขาในฐานะองค์กรควบคุมกฎข้อบังคับได้ถูกทำลายย่อยยับ

รายงานของนีลล์ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปลี่ยนแปลงความผิดพลาดเหล่านี้ ซึ่งหากข้อเสนอแนะทั้งหมดได้รับดำเนินการตามตัวอักษร ก็จะถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งในการปกครองตนเองของประเทศนี้ เดวิสันตบท้ายไว้ด้วยความหวัง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us