|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เชื่อว่าทุกคนย่อมรู้จักตำนาน "แม่นากพระโขนง" ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครมาหลายชุด แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าแม่นากโด่งดังขึ้นมาได้อย่างไร แท้จริงแล้วมีตำนานอีกบทซ้อนมิติอยู่หลังเงาสลัวของหญิงสาวที่ชื่อ "นาก" เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา
เมื่อแม่นากคลอดลูกตายทั้งกลม ด้วยความผูกพันที่ต้องพลัดพรากจากสามีอันเป็นที่รัก ก็ได้กลายเป็นผีมาหลอกหลอนชาวบ้านย่านพระโขนงจนหวาดกลัวกันไปทั่ว แม้เวลาล่วงเลยมาร้อยกว่าปีแล้ว เรื่องราวของแม่นากก็ยังคงอยู่คู่สังคมไทย จนมีการตั้งศาลไว้เคารพบูชาที่วัดมหาบุศย์อันเป็นที่ฝังศพแม่นาก มีคนจากทั่วสารทิศแวะเวียนไปกราบไหว้กันไม่เคยสร่างซา
เรื่องแม่นากถูกเล่าต่อๆ กันมา มีทั้งที่สร้างเป็นละครและภาพยนตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทว่า บุคคลแรกที่ทำให้แม่นากกลายเป็นนิยายรักข้ามภพจนโด่งดัง คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยทรงนำเรื่องอำแดงนากที่เล่าลือกัน มานิพนธ์เป็นบทละครร้องเรื่อง "อีนากพระโขนง" ด้วยนามปากกาว่า "หมากพญา" แล้วออกแสดงเป็นละครร้องราว พ.ศ.2454 ณ โรงละครปรีดาลัย ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจนต้องแสดงซ้ำถึง 24 คืน
อีนากพระโขนงปิดฉากจากโรงละครปรีดาลัยมาเกือบครบศตวรรษแล้ว หากทว่าบางส่วนเสี้ยวของโรงละครปรีดาลัยยังคงตั้งตระหง่าน ท่ามกลางความผันแปรของผู้คนย่านเมืองเก่ารอบเกาะรัตนโกสินทร์ จนกลายเป็นอีกบทบันทึกชีวิตในโลกความจริง ที่ผ่านข้ามมิติแห่งเวลามาได้ไม่ต่างจากเรื่องแม่นากเลย
โรงละครปรีดาลัยตั้งอยู่บริเวณเขตวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตรงแพร่งนรา ด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นย่านชุมชนชาวบกแห่งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นแหล่งพาณิชยกรรมหรูหรายุคแรกของกรุงเทพฯ โดยสร้างให้มีลักษณะย่านการค้าแบบตะวันตกผสมจีน เคยเป็นแหล่งที่พักอาศัยของนักคิดนักเขียน เช่น เทียนวรรณ มาลัย ชูพินิจ ก.ศ.ร. กุหลาบ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
วังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต่อมาถูกเวน คืนบางส่วนนำมาสร้างถนน คงเหลือเพียงพระตำหนักไม้หลังเล็กอันเป็นบริเวณเดียวกันที่ตั้งโรงละครปรีดาลัย ภายหลังเมื่อกรมพระนราธิปฯ ได้สิ้นพระชนม์แล้วก็ตก เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ให้เช่าต่อเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ซึ่งปัจจุบันก็เลิกกิจการไปแล้วเช่นกัน ด้านนอกวังได้มีการแบ่งพื้นที่ริมถนนสร้างตึกแถว 2 แถว หันหน้าเข้าหากันมีถนนในซอยคั่นกลาง เพื่อให้เช่าทำการค้า ชาวบ้านแถบนั้น เรียกย่าน นั้นว่า "แพร่งนรา" และเรียกถนนที่ตัดใหม่ว่า "ถนนแพร่งนรา"
เมื่อกาลเวลาผ่านไป การณ์กลับกลายเป็นว่าแทบไม่มีเอกสารที่กล่าวถึงลักษณะภายในวังนี้โดยละเอียด แม้แต่ตําหนักที่ประทับก็ตาม สภาพอาคารที่เหลืออยู่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นส่วนใดของบริเวณวังอย่างชัดเจน ซึ่งตัวอาคารเป็นตึกสามชั้นก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าบันรูปครึ่งวงกลม มีเฉลียงหันออกถนนแพร่งนรา ส่วนที่เป็นไม้ฉลุลายสวยงามตามชายคาและเท้าแขนค้ำยันเฉลียงด้านติดถนน ด้านหน้าอาคารถูกต่อเติมภายหลังด้วยอาคารเครื่องไม้ ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 และใช้หน้าต่างบานเกล็ดไม้ ขณะที่หน้าต่างประตูของตัวตึกส่วนใหญ่เป็นบานทึบลูกฟักไม้กระดาน
ห้องชั้นล่างและชั้นสองมีสภาพพอใช้งานได้ ส่วนชั้นสามชํารุดมาก ตัวอาคารยังคงลักษณะเดิม มีหลายส่วนทรุดโทรมขาดการดูแล ตัวอาคารถูกทิ้งร้าง มีการให้เช่าถ่ายทำภาพยนตร์บ้างเป็นครั้งคราว มีร่องรอยต่อเติมฉากประกอบการถ่ายทำ บริเวณหน้าอาคารภายในรั้วก็ให้เช่าจอดรถ
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นหนังสือ ตำรา บทความ รายงาน และวิทยานิพนธ์ต่างๆ ทำให้พอจะประมวลได้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของไทยช่วงปรับประเทศให้ทันสมัย โดยเฉพาะด้านละครสมัยใหม่
ตำนานของปรีดาลัยสืบเนื่องมาจากการที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาเขียน ซึ่งเป็นครูสอนรำและนางรำในวังพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 มาก่อน เจ้าจอมมารดาเขียนเคยเแสดงเรื่องอิเหนา แล้วได้รับ การยกย่องว่าเป็น "เขียนอิเหนา" เมื่อประสูติกรมพระนราธิปฯ รัชกาลที่ 4 มีรับสั่งว่าเป็น "ลูกอิเหนา"
เจ้าจอมมารดาเขียนได้พัฒนาการรำให้เกิดความสร้างสรรค์ออกจากขนบโบราณ และกลายเป็นต้นแบบของ นาฏศิลป์ไทยสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ประกอบกับกรมพระนราธิปฯ ทรงเชี่ยวชาญอักษรศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีพระปรีชาในการประพันธ์และได้รับยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งละครร้อง" อีกทั้งพระชายาคือหม่อมหลวงต่วน (มนตรี กุล) วรวรรณ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเพลง เพราะสืบเชื้อสาย จากตระกูลนักดนตรีมา 4 ชั่วคนแล้ว ทั้งพระมารดาและพระชายาล้วนมีบทบาทช่วยทำละครจนมีชื่อเสียง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เป็นช่วงละครเฟื่องฟู มีการ สร้างโรงละครเก็บค่าชมเป็นครั้งแรก จนเกิดศัพท์คำว่า "วิก" ขึ้น ซึ่งแต่เดิมมาไทยมีแต่ละครนอกให้ชาวบ้านดูและ ละครในสำหรับเจ้านายและชาววัง ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต่างประเทศ ทำให้เกิดการนำแบบอย่างตะวันตกมาพัฒนาการละครไทย เกิดเป็นละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ และละครร้องหรือละครปรีดาลัย มีคณะละครทั้งของเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ คณะละคร จากต่างประเทศหรือชาวต่างประเทศในไทย และคณะละครชาวบ้านเกิดใหม่อีกหลายคณะ
กรมพระนราธิปฯ ได้สร้างโรงละคร "วิมาณนฤมิตร" ข้างวัดสระเกศ และคณะละครนฤมิตรหรือที่รู้จักในชื่อ "ละครหม่อมหลวงต่วน" ออกแสดงละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ และละครร้อง ต่อมาเกิดไฟไหม้จึงสร้างโรงชั่วคราวชื่อ "กระท่อมนฤมิตร" คล้ายโรงนา เปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง หลังจากทรุดโทรมลง ก็ไปย้ายแสดงที่โรงละครดึกดําบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศรวิวัฒน์วงศ์ ไม่นาน ก็เลิกแสดงไป เพราะกรมพระนราธิปฯ ติดราชการมาก ลำพังหม่อมหลวงต่วนไม่มีกำลังพอจะควบคุมคณะละครได้
ต่อมาใน พ.ศ.2441 รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระราชวัง ดุสิตและโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นไม้ โดยมีเจ้าพระยาวรพงษ์ พิพัฒน์เป็นผู้ดูแลต้นไม้ ต้นไม้ทุกต้นออกดอกตามฤดูกาล ยกเว้นลิ้นจี่ จน พ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดําริว่า ถ้าต้นลิ้นจี่มีลูกจะหาละครหม่อมหลวงต่วนมาเล่นทําขวัญ ไม่นาน ลิ้นจี่ออกผลเต็มต้น แต่หม่อมหลวงต่วนได้เลิกละครแล้วจึงมีพระราชดํารัสแก่กรมพระนราธิปฯ ว่าจะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อจัดละครเรื่องพระลอไปฉลอง ทรงโปรดมากมีรับสั่งว่า ควรทำต่อไป
กรมพระนราธิปฯ จึงได้ปรับปรุงการแสดงจนเป็นแบบ "ละครปรีดาลัย" และสร้างโรงละครขึ้นใหม่ในเขตวังชื่อว่า "โรงละครปรีดาลัย" ดูโอ่อ่าทันสมัยตามอย่างตะวันตก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูเข้าออกหลายประตู เวลาคนเข้าชมจะเปิด 2-3 ประตู เมื่อจบจึงเปิดให้ออกทุกประตู ในโรงจะมีกระจกติดตามฝาผนังตรงกับที่นั่งคนดู ซึ่งจะสะท้อน เห็นด้านหลังเวที มองเห็นกรมพระนราธิปฯ คอยกํากับการแสดง
พื้นเวทีเป็นไม้ ด้านหน้ากว้าง ด้านหลังสอบแคบมีหลืบด้านข้าง หน้าเวทีมีผ้าม่านปิดเปิด มีไฟติดหน้าเวที ช่วยสร้างบรรยากาศให้สมจริง บนเวทีมีที่ตั้งวงดนตรี ด้านข้างเวทีมีช่องเล็กๆ สําหรับคนบอกบท มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ผู้ชมสามารถชมได้เพียงด้านเดียวคือ ด้านหน้าโรงละคร
ภายในโรงละครแบ่งที่นั่งเป็นส่วนๆ ตรงกลางมีที่นั่ง 33 ที่ สําหรับผู้ชมที่มีบรรดาศักดิ์ ด้านข้างมีที่นั่งข้างละ 25 ที่ สําหรับผู้ติดตามหรือประชาชนที่ซื้อบัตรเข้าชม มีเก้าอี้ด้านหลังติดต่อจาก ส่วนหน้าถึง 80 ที่ ในโรงละครมีบาร์ขายเหล้าฝรั่งและของว่าง มีคนขาย 2-3 คน แต่งกายชุดขาว ละครจะเล่นเฉพาะเสาร์อาทิตย์ ดูกันแน่นโรง เล่นแต่ละครั้งขายตั๋วได้ถึง 2,000-2,500 บาททีเดียว
ที่โรงละครปรีดาลัย รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมา ทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง โปรดเกล้าฯ ให้เล่น ละครต้อนรับพระราชอาคันตุกะชาวตะวันตกด้วย รัชกาลที่ 6 เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็เสด็จฯ ทอดพระเนตรเนืองๆ และได้กลายเป็นแหล่งบันเทิงของชาววังและชนชั้นสูงในสังคม เพราะมีถนนตัดผ่าน มีย่านการค้าห้างฝรั่ง ทันสมัยมากมายในละแวกใกล้เคียง
ราวปี 2451-2452 กรมพระนราธิปฯ ทรงแต่งบทละครร้อง เรื่องสาวเครือฟ้า โดยดัดแปลงมาจากอุปรากรเรื่องมาดามบัตเตอร์ ฟลาย ของจาโกโม ปุชชีนี ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของจอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2450 ทรงทอดพระเนตรอุปรากรเรื่องนี้ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครได้ทรงเล่าให้กรมพระนราธิปฯ ฟัง
กรมพระนราธิปฯ ทรงจัดแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง ในครั้งนั้นนางพร้อม นางเอกชื่อดัง ของคณะ ต่อมาได้เป็นหม่อมของกรมพระนราธิปฯ แสดงเป็นสาวเครือฟ้ามาถึงตอนจะเชือดคอตาย รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดมาก พระราชทานรางวัลให้ 100 บาท และทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อครั้งเสด็จกลับเยี่ยมเชียงใหม่ว่า ชาววังคลั่งละคร ของกรมนราฯ เรื่องที่มาเล่นในวังแล้ว เอาไปเล่นข้างนอกจะได้เงินถึงหมื่นกว่าบาท ถ้าเจ้าดารารัศมีกลับมา ควรมีละครสมโภช 3 วัน ก็ทายว่าจะให้เล่นเรื่องสาวเครือฟ้า
คนดูชอบกันมากจนมีคนขอให้แสดงเรื่องสาวเครือฟ้า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อมาสร้างเป็นบทภาพยนตร์และละครทีวีอีก หลายครั้ง กรมพระนราธิปฯ ทรงประพันธ์บทละครปรีดาลัย ถึง 400 กว่าเรื่อง เช่น ตุ๊กตายอดรัก กินดิบ กำกงกำเกวียน ขี้หึงถึงดี คาราคาซัง คำหมอเทวดา คนทเล จั๊กะแหล่น จูบของคนยาก ชูโชค สุ่มๆ มะระตี่ ตครุบกบ น้ำคำมนุษย์ น้ำสบถ บรมะหึง แปลงกาย ผะอืดผะอม ผู้ร้ายกลับบ้าน พิไนยกรรมกะน้ำใจ มิตรประเสริฐ รับฝากอนุชา ลับลมคมใน ลาภหาย หลงกล สนองคุณ สายชนวน สาวเครือแมวฤาพันธุกรรม สาวเครือดิน สุดสกุล แสนแสบ หุนหันพลันแล่น อยัมพะทันตา อิหลักอิเหลื่อ อีสดกระสือ กระดังงาไม่ลนไฟ จอมกระล่อน ตื่นสมบัติ ฤาตายเพราะรัก เป็นต้น
ละครปรีดาลัยดัดแปลงจากละครพันทาง ละครดึกดำ บรรพ์ และละคร "มาเลย์ โอเปร่า" หรือ "บังสาวัน" มีเนื้อเรื่องสนุกสนานเข้าใจง่าย สะท้อนสภาพสังคม ดำเนินเรื่องรวดเร็ว ไม่มีท่ารำมาก การแต่งกายและฉากเน้นสมจริงตามเรื่อง ปรับให้เข้าอารมณ์ คนดูได้ แบ่งเป็นตอน เรียกว่า "องก์" และ "ฉาก" มีชื่อคล้องจองกัน เริ่มด้วยแนะนำตัวละครสำคัญ บอกอายุ ตำแหน่ง อุปนิสัย ความสามารถ บอกชื่อชุด บรรยายฉาก แล้วเข้าเรื่อง บอกบทพูดสลับร้องโดยลูกคู่ ตอนจบให้ข้อคิด หรือถวายพระพรสรรเสริญ พระบารมี
การแสดงใช้ตัวแสดงเป็นหญิงล้วน นักแสดงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นชื่อช้อย แสดงเป็นพระเอกรุ่นแรกๆ คู่กับนางพร้อม ตัวเอกของที่นี่มักจะได้แต่งงานกับผู้ชายใน วงสังคมชั้นสูง เพราะคนดูละครเป็นผู้มีฐานะดี ส่วนผู้แสดงก็ได้รับการฝึกกิริยามารยาทมาอย่างดีไม่มีเรื่องด่างพร้อย
เมื่อกรมพระนราธิปฯ ทรงเลิกทำละครราว พ.ศ.2456 พวกตัวละครได้เช่าโรงปรีดาลัยและใช้บทละครแสดงต่อแยกออกเป็น 3 โรง คือ ปราโมทย์เมือง บันเทิงไทย และไฉวเวียง บางคนออกมาตั้ง คณะ เช่น ปราโมทัย วิไลกรุง นครบันเทิง เฉลิมกรุง จันทรโรภาส ฯลฯ จัดแสดงละครเร่ตามต่างจังหวัด และพิมพ์บทละครจําหน่ายจนกลายเป็นธุรกิจในรัชกาลที่ 7 เกิดนักแสดงแม่เลื่อน แม่ชะม้อย ศรีนวล แก้ว บัวสาย ฯลฯ
ในบั้นปลายของพระชนม์ชีพ กรมพระนราธิปฯ เสด็จไปประทับที่ชะอํา จังหวัดเพชรบุรี ทรง รับตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านที่นั่น และสิ้นพระชนม์ พ.ศ.2474 ณ วังวรวรรณ เรื่องราวของปรีดาลัยดูเหมือน จะจบบริบูรณ์ หากทว่าลมหายใจของมันยังไม่ขาดลง พระนางเธอลักษมีลาวัณ (พระมเหสีในรัชกาลที่ 6) พระธิดาทรงตั้งคณะละครชื่อ ละครปรีดาลัย ใน พ.ศ.2476 โดยใช้ชายจริงหญิงแท้ มีเพลงร้อง ทั้งทำนองไทยและสากล แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง แล้วออกแสดงตามโรงและจัดเพื่อการกุศลอย่างต่อเนื่อง และครั้งสุดท้ายแสดงที่ศาลาเฉลิมนคร เมื่อ พ.ศ.2488-2489 หลังจากนั้นเลิกทำละครและทรงประพาสยุโรป
แต่จากการที่บทพระนิพนธ์ของกรมพระนราธิปฯ นิยมนำมาแสดงกันแพร่หลายได้นำมาสู่การพัฒนาเป็นละครเพลงโดยพรานบูรณ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) แห่งคณะละครจันทรโรภาส ทำให้เกิดละครเพลงที่มีชื่อเสียงหลายคณะ เช่น ศิลป์สําเริง นาครบันเทิง แม่ชะม้อย เพชรรัตน์ ฯลฯ
ต่อมาช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใช้ละครเพลงเป็นสื่อปลุกกระแสความรักชาติ โดยหลวงวิจิตรวาทการ เรียกว่า "ละครปลุกใจ" เช่น เลือดสุพรรณ อานุภาพแห่งความเสียสละ อานุภาพพ่อขุนรามคําแหง เจ้าหญิงแสนหวี ศึกถลาง ฯลฯ ละครเพลงยังคงมีแสดงให้เห็นจนทุกวันนี้
นอกจากนี้เพลงที่หม่อมหลวงต่วนคิดขึ้นนั้น เกือบจะเป็นแนวสากล โดยร้องเนื้อมากเอื้อนน้อย เมื่อพรานบูรณ์ทำละครร้องได้ทำนองจากไทยเดิมมาสู่ไทยสากลแนวใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.2476 ละครเวที ละครวิทยุ และภาพยนตร์ไทย ได้มีบทบาททำให้เพลงไทยสากลได้รับความนิยม เกิดเป็นแนวเพลง อีกหลายแนวในเวลาต่อมา จนกระทั่งมีภาพยนตร์และมีละครทีวีแพร่หลาย ละครร้องก็เสื่อมความนิยม จนเลิกราไปหมด
จากเรื่องราวที่พอจะประมวลภาพได้ หากมองเผินๆ ก็เป็นเพียงการเล่าถึงฉากแหล่งบันเทิงของคนยุคก่อน โดยมองผ่านส่วนซากของอาคารเก่า หากลองมองให้ลึกซึ้งจะเห็นนัยบางประการของรัชกาลที่ 5 ในการที่ทรงสนับสนุนให้กรมพระนราธิปฯ จัดทำละครหลวงนฤมิตรนั้น คือกุศโลบายอันแยบคายที่จะใช้ละครแสดงให้ ชาวตะวันตกเห็นความอารยะของสยาม และเป็นสื่อผนวกรวมดินแดนต่างๆ เข้าเป็น หนึ่งเดียว ส่งผลต่อการพัฒนาวัฒนธรรม การบันเทิงไทยให้ก้าวหน้าในหมู่ประชาชน ในเวลาเดียวกัน
จากเศษซากอาคารที่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวอย่างเงียบๆ ได้กลายเป็นแรงดลใจ ให้คนจำนวนหนึ่งอยากรื้อฟื้นความทรงจำ ให้กลับมีชีวิต เริ่มจาก พ.ศ.2541 กรุงเทพ มหานครร่วมกับ "ประชาคมคลองคูเมืองเดิมสามแพร่ง" จัดกิจกรรม "วันงามที่สาม แพร่ง" รณรงค์อนุรักษ์และพัฒนาชุมชนแต่ ไม่นานก็ซบเซาลงอีก
ต่อมาทีมงานของโครงการค่ายสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Measuring workshop on Vernacular Architecture) หรือ ASA VERNADOC 2008 ซึ่งนำทีมโดย ผศ.สุดจิต สนั่นไหว จากมหาวิทยาลัย รังสิต ร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม 10 แห่ง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และภัทราวดีเธียเตอร์ ได้มาเปิดค่ายเยาวชนทำการศึกษาสถาปัตยกรรมของโรงละครปรีดาลัย ด้วยการวาดภาพร่าง แล้วนำไปจัดแสดงครั้งแรกที่มิวเซียมสยามในปี 2551 ผศ.สุดจิตกล่าวว่า
"ตอนสอนในห้องเรียนเด็กจะไม่ค่อยจำ และก็หาข้อมูลมาประกอบการสอนไม่ค่อยได้ ต่อมาก็คิดหาวิธีให้เด็กสนุกกับการเรียน จึงสนับสนุนให้เด็กตั้งชมรมและชวนออกไปเรียนนอกสถานที่ ช่วงที่มาเข้าค่ายที่นี่ เด็กๆ รู้สึกทึ่งว่าอาคารออกแบบไว้ดีมากอย่างคาดไม่ถึง ทำให้นับถือคนโบราณ แม้เป็นสถาปนิกถ้ามองแต่ภายนอก ก็ไม่สามารถอ่านโครงสร้างอาคารได้ ดังนั้นก่อนลงมืออนุรักษ์ต้องสืบย้อนจนเดาภาพเก่าได้ จึงจะรู้ว่า ควรซ่อมให้คืนสภาพดีได้อย่างไร ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่ให้เราเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา ผลงานที่ออกไปจัดแสดง ก็ทำให้มีคนตามมาดูสถานที่จริง เกิดความรักอยากทำให้มันดีขึ้น"
ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ขาดการดูแล เพราะผู้เช่ารายเดิมหมดสัญญาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มานานแล้ว และกำลังทำเรื่องต่อสัญญากันอยู่ โดยกัลวัตร ตะละภัฏ ซึ่งเช่าพื้นที่อยู่ในส่วนของสำนักงานทนายความตะละภัฏ เปิดเผยว่ากำลังดำเนินการให้ได้เช่าต่อแต่เพียงรายเดียวในเร็วๆ นี้
ด้วยความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งไม่เคยจางไปจากความทรงจำของผู้คน มีคนแวะเวียนมาเที่ยวชมกันบ่อยๆ ขณะนี้มีคนกลุ่มเล็กๆ ในชุมชนอยากฟื้นความรุ่งเรืองให้กลับคืนมา โดยชุมชนเป็นแกนอย่างแท้จริง โรงละคร ปรีดาลัยจึงเป็นบทเรียนอีกบทที่สะท้อนการขาดกลไกจัดการดูแลมรดกวัฒนธรรมของไทย
แม้จะข้ามกาลเวลามาครบ 100 ปีแล้ว เรื่องราว "ปรีดาลัย" ก็ยังไม่ยุติลง มันคือบทบันทึกแห่งยุคสมัย ที่แฝงอยู่ในเงาสลัว และรอคอยการกลับมาของคนที่ยังเปี่ยมรอยรักรอยอาลัย ช่วยเปิดม่านให้ตัวละครออกมา โลดแล่นอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับแม่นากที่ไม่เคยลาโรง กลายเป็นตำนานรักสะท้านภพมาจนทุกวันนี้
|
|
|
|
|