ตลาดหุ้นผ่านสถานการณ์เจ็บปวดและระยะล้มลุกคลุกคลานมาแล้วในอดีต ปรากฎการณ์ครึกโครมของตลาดหุ้นในวันนี้
นักสังเกตการณ์หลายฝ่ายมองว่า ทุกอย่างกำลังเข้าร่องเข้ารอย บทเรียนร้าย
ๆ ในอดีตถูกสรุปออกมาเป็นมาตรการและจารีตใหม่ พวกเขาคิดว่าให้เวลาอีกสักนิดตลาดทุนแห่งนี้จะก้าวไปถึง
"ประสิทธิภาพ" ที่ทุกคนมุ่งหวัง
เยาว์วัยอันน่าตื่นเต้น
ล้มแล้วลุก และจะไม่ล้มอีก…
"ตลาดหลักทรัพย์เพิ่งจะเริ่มต้น ถ้าเปรียบกับคนก็เหมือนกับเพิ่งจะอยู่ในวัยเด็กที่จะต้องช่วยกันประคบประหงมให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี"
โยธิน อารี กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร
ผู้ที่ทุกคนในวงการเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ยอมรับในความคร่ำหวอดและความเป็นผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งของเขา
เคยกล่าวไว้
ความเยาว์วัยเพียง 12 ปี นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มเปิดดำเนินการเป็นแหล่งการซื้อขายหลักทรัพย์
เมื่อเดือนเมษายน 2518 โดยอาศัยอำนาจ ตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2517 ที่กำหนดขึ้นมาจากการระดมความคิดจากผู้มีความรู้หลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตราจารย์ซิดนีย์
เอ็มร็อบบินส์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำในการศึกษาวางกรอบแนวความคิด
และวิธีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ ตามแนวนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
2 และ 3 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาตลาดทุน เป็นกลไกสำคัญในการระดมทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติและธุรกิจเอกชน
ความที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังอยู่ในระยะเยาว์วัย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะผู้บริหารตลาดฯ
บริษัทนายหน้า และแม้แต่ผู้ลงทุนเอง ต่างก็อยู่ในวุฒิภาวะที่ยังไม่คุ้นเคยต่อการดำเนินการให้สถาบันตลาดหลักทรัพย์เป็นกลไกที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมายของแนวนโยบายระดมทุน
เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และธุรกิจเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรมต่อผู้ลงทุนและปราศจากความหวั่นไหวในบรรยากาศของความมีเสถียรภาพในการระดมทุน
พฤติกรรมการลงทุนหลักทรัพย์ในตลาด ส่วนใหญ่ยังขาดเหตุผลที่ดี (IR - RATIONAL
INVESTMENT) การใช้ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจและผลการประกอบการของแต่ละบริษัทที่มีหลักทรัพย์ขายในตลาด
เช่น เครื่องมือวิเคราะห์การตัดสินใจการลงทุน ไม่เคยอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของ
CRASH ทำให้นักลงทุนเสื่อมศรัทธาต่อตลาดหุ้น หลายคนมองว่าเป็นสนามการพนันที่มีความเสี่ยงสูง
เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 3 ที่ให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นในฐานะเป็นกลไกในการระดมทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
จึงพังทลายลง รัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูวิกฤติศรัทธาตลาดหุ้น โดยจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพัฒนาตลาดทุนขึ้นด้วยเงินจำนวน
2,000 ล้านบาททันที โดยระดมเงินทุนมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน
และธนาคารพาณิชย์ โดยให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารกองทุนนี้
เงินกองทุนนี้นำไปลงทุนซื้อหุ้นบางตัวที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเพื่อหวังสร้างราคาให้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนใหม่
ขณะเดียวกันทางสมาคมธนาคารพาณิชย์ไทยก็ได้จัดตั้ง POOL I จำนวน 1,000 ล้านบาท
เพื่อสร้างสภาพคล่องทุนดำเนินการให้กับบริษัท โบรคเกอร์ที่เจ็บตัวจากภาวะ
STOCK CRASH แต่อย่างไรก็ตาม เงินจำนวน 3,000 ล้านบาทจากกองทุนทั้ง 2 ก็ไม่สามารถเรียกวิกฤติศรัทธาจากนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดได้
จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าเสริมเงินอีก 1,000 ล้านบาทให้สมาคมธนาคารไทยเป็นผู้บริหารอีก
POOL หนึ่งเรียกว่า POOL II โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกับ POOL I พร้อมกันนี้รัฐบาลก็ได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ใช้เงินจำนวน 3,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแลและบริหารเงินจำนวนนี้ด้วยการเข้าไปรับซื้อหลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาตเฉพาะของลูกค้าของบริษัท
โบรคเกอร์ที่มีปัญหาและสิ่งนี้ก็คือ ที่มาของ "กองทุนกรุงไทย"
โดยสรุปแล้ว นับตั้งแต่การเกิด - STOCK CRASH ขึ้นมาในตลาดหุ้นในปลายปี
2522 รัฐบาลและเอกชน (สถาบันการเงิน) ต้องใช้เงินจำนวน 7,000 ล้านบาท เพื่อกู้วิกฤติศรัทธาตลาดหุ้นคืนมา
แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะปรากฏว่าบริการการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตกลงเหลือเพียงประมาณ
6,500 ล้านบาในปี 2523 จากประมาณ 57,000 ล้านบาทในปี 2521 และ 22,000 ล้านบาทในปี
2522 หรือลดลง 777% และ 238% จากปี 2521 และ 2522 ตามลำดับ เหตุผลสำคัญมี
2 ประการ คือ
- ประการแรก นักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีความเชื่อต่อตลาดหุ้นการคาดหวังผลตอบแทนจากการเก็บกำไร
ซึ่งเป็นกระแสหลักในการลงทุน มีความเสี่ยงสูงเกินไป
-
- ประการที่สอง การลงทุนในสถาบันการเงิน ในรูปการออมทรัพย์ระยะยาวมีความแน่นอน
มั่นคงกว่า ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ยก็สูงถึง 12%/ปี
ภาวะความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่และเก่ายืดยาวนานมากเป็นเวลาถึง
6 ปี (ปี 2523 - 2528) อุปทานหลักทรัพย์มีผลการประกอบการไม่ดีพอ เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจการเงินทั้งภายใน
และต่างประเทศหลายประการไม่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการรุกทางธุรกิจ ส่วนอุปสงค์
ได้แก่ นักลงทุน และสถาบันการลงทุนจากต่างประเทศ ก็ยังเห็นว่า การลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่นมีผลตอบแทนดีกว่าหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น
มีเพียงส่วนน้อยที่เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นลงทุนระยะยาว จากรายงานของตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า
"ช่วงระหว่างปี 2525-28 สถาบันการลงทุนและนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยปีละ
3% ของปริมาณการลงทุนทั้งสิ้นในตลาดเท่านั้น" แต่อย่างไรก็ดี การเข้ามาลงทุนของสถาบันการลงทุนและนักลงทุนจากต่างประเทศในช่วงนี้ก็ปูตลาดให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ไทยให้เข้ามาลงทุนในตลาดในช่วงปี
2529 ต่อมาได้ดีทีเดียวเพราะปรากฏว่า ในช่วงปลายปี 2528 และต่อเนื่องถึงปี
2529 ปัจจัยขั้นมูลฐานของหุ้นในตลาด เริ่มปรากฏผลตอบแทนต่อการลงทุน (YIELD)
ไปในทางที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนลงทุนในตลาดสถาบันการเงิน "จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ปรากฏว่า มีผลตอบแทนสูงถึง 65%" ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กล่าวถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นตลาดหลักทรัพย์ช่วงปี 2529 โดยวัดจากอัตราผลตอบแทนในรูปเงินปันผลและส่วนเหลื่อมกำไรมูลค่าหุ้นที่ซื้อขายในตลาด
ความศรัทธาในการลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ฟื้นตัวกลับคืนเข้ามาอีกครั้งหนึ่งเป็นหนที่สองในปี
2529 จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งตามหลักการทฤษฎี ELLOITT WAVE ที่กลุ่มนักลงทุนทางเทคนิคยึดถือมีความเชื่อว่า
ช่วงนี้ตลาดหุ้นกำลังอยู่ INTERMEDIATE WAVE (4) ของ PRIMARY WAVE (3) ซึ่งเป็นช่วงที่ทิศทางของราคาหลักทรัพย์ในระยะยาวกำลังมีระดับราคาไต่สูงขึ้นไปเรื่อย
ๆ หลังจากตกต่ำลงใน PRIMARY WAVE ที่ 2 ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นระหว่างมี 2523-2528
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าราคาหลักทรัพย์โดยรวมทั้งตลาดจะมีทิศทางโน้มตัวสูงขึ้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อุปทานหลักทรัพย์ทุกตัวจะมี LIQUIDITY สูงตาม เพราะปรากฏว่ามีประมาณ
36% ขงอจำนวนอุปทานหลักทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้นที่มี LI-QUIDITY สูง (38/107
หลักทรัพย์) โดยกระจายตามหมวดธุรกิจดังนี้
1. หมวดอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และประกันภัย
จำนวน 15 หลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย
2. หมวดหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ อาหาร
และบรรจุหีบห่อ จำนวน 14 หลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มสหยูเนี่ยน
และปูนซิเมนต์ไทย
3. หมวดพาณิชย์ จำนวน 5 หลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มสหพัฒนพิบูลจำกัด
4. หน่วยลงทุน (UNIT TRUST) จำนวน 4 หลักทรัพย์ ทั้งหมดอยู่ในการบริหารของบริษัทกองทุนรวม
บริษัทในเครือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เหตุที่อุปทานหลักทรัพย์มี LIQUIDITY สูงกระจายอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์เหล่านี้เป็นเพราะว่า
ประการแรก หลักทรัพย์มี CAPITALIZATION สูงกว่าหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่มี LIQUIDITY
ต่ำ
ประการที่สอง ความสามารถในการจัดการธุรกิจของผู้บริหารและธุรกิจของหลักทรัพย์นั้น
อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อการทำกำไรสูงด้วยโครงสร้างการผลิตและการตลาดของกิจการที่มีคู่แข่งขันน้อยราย
นักลงทุนจึงให้ความเชื่อถือและสนใจลงทุนในหลักทรัพย์นั้น
การฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสยืนยาวแค่ไหนและจะมีโอกาสเกิดภาวะวิกฤติ
STOCK CRASH เช่น ปี 2522 อีกหรือไม่ ? ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่เชื่อว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเพราะปัจจัยโครงสร้างต่าง
ๆ ที่จะนำไปสู่ภาวะ STOCK CRASH ได้ถูก BLOCK ไว้หมด กล่าวคือ :-
บริษัทโบรคเกอร์
มีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อย MARGIN แก่ลูกค้าโดยตรวจสอบฐานะที่แท้จริงและปริมาณการลงทุนของลูกค้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์
เพื่อป้องกันภาวะการลงทุนเกิดตัวของลูกค้า ดร.ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท กล่าวว่า
โบรคเกอร์กำหนดวงเงินให้ลูกค้าลงทุนไว้เลย ขณะที่ช่วงปี 2521-2522 แทบจะไม่มีการ
BLOCK วงเงินไว้เลย
บริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาต
กลุ่มผู้บริหารและกลุ่มผู้ถือหุ้นมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการทำราคาในตลาด
เพราะผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันการลงทุนจากต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยในประเทศมีความรู้ในการลงทุน
โอกาสที่จะทำราคาที่ผิดปกติโดยคาดหวังจะสร้างอารมณ์ (SENTIMENTAL) ให้นักลงทุนหวั่นไหว
"แห่ตามกันซื้อหรือแห่ตามกันขาย" เหมือนเมื่อปี 2522 ยากมากยิ่งขึ้น
ธนดี โสภณศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทพัฒนสินลิซซิ่ง บริษัทในเครือข่ายเจริญโภคภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่
ผู้คร่ำหวอดกับตลาดหุ้นมาตั้งแต่แรกก่อตั้ง ให้ความเห็นว่า โอกาสที่บริษัท
LISTED COMPANIES จะตั้งบริษัทพรรคพวกหรือผู้บริหารเจ้าของกิจการเอง จะเข้าไปเก็งกำไรหุ้นตัวเอง
เพื่อหวังทำกำไรจากวิธีการปั่นหุ้นตัวเองให้ผิดปกติเพื่อดึงให้คนลงทุนหลงเข้ามาติดกับดักไม่ใช่ง่ายแล้ว
เพราะสถาบันการลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อหุ้นมีจำนวนมาก และมีพลังในการวินิจฉัยการลงทุนได้ดี
"การถูกหลอกอย่างง่าย ๆ เหมือนสมัยปี 2522 เป็นไปไม่ได้แล้ว" อีกประการหนึ่งตลาดหลักทรัพย์เฝ้าดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
สามารถใช้อำนาจตาม ก.ม.มาตรา 42 ลงโทษผู้กระทำผิดหลังการพิสูจน์ว่ามีความผิดฐานสร้างราคาเทียมเพื่อหลอกลวงนักลงทุนจริง
ตลาดหลักทรัพย์
มีอำนาจตาม ก.ม.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2527 มาตรา 42 ที่จะเข้าตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงในการสงสัยพฤติกรรมการสร้างราคาที่มิชอบ
และถ้าหากว่าพิสูจน์แล้วเป็นจริงก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่เหตุการณ์เมื่อปี 2521-22 ตลาดหลักทรัพย์กระทำดังนี้ไม่ได้เพราะไม่มี
ก.ม.รองรับ
นักลงทุน
วิกฤติการณ์ STOCK CRASH ปี 2522 เป็นบทเรียนสำคัญให้นักลงทุนเริ่มปูพื้นฐานความรู้ในการลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องประสบปัญหาเหมือนในอดีต
ขณะเดียวกันก็รู้จักใช้เงินลงทุนที่ตนเองสะสมเก็บออมไว้เป็นเงินทุนเพื่อการลงทุนในตลาด
โดยอาศัยเงินจากการกู้ยืม (MARGIN) บริษัทสมาชิกหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ
น้อยลง
การปรับตัวสู่คุณภาพมากยิ่งขึ้นของนักลงทุนทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงน้อยลงและต้นทุนการลงทุนในรูปดอกเบี้ยจากการกู้ยืมก็น้อยลง
ภายใต้พฤติกรรมการลงทุนเช่นนี้ ช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนมีความระมัดระวังและเชื่อมั่นในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันมีราคาแน่นอน
ไม่ยินยอมไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดการส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปในด้านลบ
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในสถาบันการเงินอยู่ในอัตราต่ำ นักลงทุนเริ่มโยกย้ายเงินลงทุนในสถาบันการเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น
เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่
ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้ทำให้มีผลดีต่อการประกอบการธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตด้วยต้นทุนการดำเนินงานต่ำ
ขณะเดียวกันกับที่ตลาดโลกก็ขยายตัวในการสั่งซื้อสินค้าจากบริาทผู้ผลิตไทยมากยิ่งขึ้น
ผลการประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์จึงอยู่ในเกณฑ์ดี
ดึงดูดความสนใจแก่นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดมากยิ่งขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์ได้ก้าวมาสู่จุดคุณภาพใหม่หลังจากผ่านวิกฤตการณ์ปี 2522 โอกาสที่ตลาดจะเผชิญภาวะวิกฤตการณ์อีกเป็นไปได้น้อย
เข็มมุ่งในการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ในภาวะปัจจุบันอยู่ที่การสร้างคุณภาพและปริมาณ
ให้กับอุปทานและอุปสงค์ในตลาดเป็นกลไกในการพัฒนาตลาดให้มีประสิทธิภาพสูงมีความยุติธรรมต่อการลงทุน
ความสัมพันธ์ตลาด 2 ตลาด
ตลาดรองเป็นหัวใจตลาดขั้นปฐม
ในการพัฒนาการระดมทุนจากตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนที่มีความความสำคัญในฐานะเป็นกลไกการระดมทุนจากมหาชนเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอกชนและเศรษฐกิจของชาติ
ความก้าวหน้าของตลาดหลักทรัพย์ในฐานะเป็นตลาดรอง (SECONDARY MARKET) นอกจากจะขึ้นอยู่กับการพัฒนากลไกการควบคุมเพื่อความยุติธรรมแก่นักลงทุนในตลาดแล้ว
ยังขึ้นอยู่กับสำนักในการลงทุนของผู้ลงทุนด้วย
ภายใต้ภาวะปัจจุบัน ตลาดรองได้เริ่มพัฒนามากขึ้น บริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตที่มีหลักทรัพย์ในตลาด
เริ่มมีความรู้และเห็นความสำคัญในการระดมทุนด้วยมาตรการการออกหุ้นทุนเพื่อจำหน่ายแก่มหาชนมากยิ่งขึ้น
โดยเล็งเห็นว่าเป็นการระดมทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ซึ่งมีความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนของอัตราดอกเบี้ย อีกประการหนึ่งเป็นช่องทางในการระดมทุนที่ได้กำไรจากส่วนเหลื่อมมูลค่าหุ้นราคาพาร์อีกด้วย
นับตั้งแต่ตลาดรองเริ่ม "บูม" ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 29 บริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตเริ่มเพิ่มทุนดำเนินการด้วยการออกทุนและหุ้นกู้ผ่านตลาดขั้นปฐม
(PRIMARY MARKET) กันมาก โดยให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการ
(UNDERWRITER) จำหน่ายแก่มหาชน จำนวน 324.70 ล้านบาท และในปี 2530 เฉพาะ
6 เดือนแรกของปีมีจำนวนมูลค่าการเพิ่มทุนผ่านตลาดขั้นปฐมจำนวน 2458.40 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นกว่าปี 2529 ทั้งปีถึง 2133.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 657% การเติบโตของตลาดขั้นปฐมเป็นผลมาจากความคึกคักของตลาดรองเป็นนัยสำคัญ
สุทธิชัย จิตรวาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์การทำงานมากับตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้ง
ให้ความเห็นว่า การเก็งกำไรเป็นหัวใจให้ตลาดรองมีการเติบโต เพราะทำให้ทิศทางราคามีความผันผวนสูงสามารถจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดได้มาก
แต่การเก็งกำไรต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่ตลาดขั้นปฐมเติบโตขึ้นก็เป็นผลมาจากแรงกระตุ้นการเก็งกำไรในตลาดรองนั่นเอง
ซึ่งความจริงตลาดหุ้นทั่วโลกก็หลีกหนีไม่พ้นไปจากเกมการลงทุนเช่นนี้
องค์ประกอบของตลาดขั้นปฐมอยู่ที่บทบาทการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาต
และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจ UNDERWRITING ในความพยายามที่จะเป็นสถาบันและกลไกในการผลิตหลักทรัพย์และจำหน่ายหลักทรัพย์สู่ตลาด
ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดจำนวน 99 บริษัท ผลิตหลักทรัพย์สู่ตลาด
107 หลักทรัพย์ มี CAPITALIZATION ณ สิ้นกรกฎาคม 2530 จำนวน 30,466.32 ล้านบาท
ขณะที่ด้านการจำหน่ายสู่ตลาด มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ชั้นนำอยู่ประมาณ
6 บริษัทที่มีบทบาทการจัดการและจัดจำหน่าย ได้แก่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชีย
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร ในรอบปี
2529 ทั้ง 6 บริษัทสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดการจัดการและจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในตลาดขั้นปฐมสูงถึง
80% และคาดหมายว่าในปี 2530 อำนาจการครอบครองตลาดของทั้ง 6 บริษัทนี้ก็ไม่แตกต่างจากปี
2529 เท่าไรนัก
ด้านตลาดรอง (SECONDARY MARKET) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาตลาดขั้นปฐม ในฐานะเป็นแหล่งการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านจากตลาดขั้นปฐม
กลไกการพัฒนาตลาดรองอยู่ที่การสร้างราคาหลักทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรที่ชอบด้วยกฎหมายที่สามารถจูงใจให้มีการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง
องค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาตลาดรองนอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ (SET) ที่มีหน้าที่การควบคุมการลงทุนซื้อขายให้มีความยุติธรรม
และเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการสร้างบรรยากาศการลงทุนอย่างต่อเนื่องแล้วก็อยู่ที่นักลงทุน
สถาบันการลงทุน และบริษัทสมาชิก (โบรคเกอร์) ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างอุปสงค์
(DEMAND) ลงทุนในตลาดรอง
ทุกวันนี้ การนับจำนวนนักลงทุนรายบุคคลในตลาดรองโดยวัดจากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตมีอยู่ประมาณ
200,000 รายหรือคิดเป็น 0.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด บริษัทโบรคเกอร์มีจำนวน
30 บริษัททั้งนักลงทุนและบริษัทโบรคเกอร์ มีการพัฒนาทักษะและระบบการบริการข้อมูลแก่การลงทุนในตลาด
ไปในทิศทางที่มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าช่วงปี 2521-22
การพัฒนาไปในการที่ดีขึ้นของกลไกต่าง ๆ ในตลาดรองที่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณเงินทุนและหลักทรัพย์ในตลาดขั้นปฐม
สร้างความเชื่อถือในสายตาสถาบันการลงทุนต่างประเทศที่มีเป้าหมายการลงทุนในตลาดรองเพื่อผลตอบแทนระยะยาว
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายงานว่า เฉพาะ 6 เดือนแรกของปี 2530 มีการลงทุนจากสถาบันการลงทุนต่างประเทศในตลาดรองสูงถึง
6,642 ล้านบาท จากปริมาณการลงทุนทั้งหมด 37,318 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8%
และเงินลงทุนนี้ยังอยู่ในประเทศ
"เงินลงทุนจากสถาบันการลงทุนต่างประเทศยังอยู่ในประเทศเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งแสดงว่าเขามาลงทุนระยะยาว ไม่ใช่เก็งกำไรระยะสั้น ๆ " ผู้บริหารระดับสูงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยืนยันกับ
"ผู้จัดการ" ถึงความมั่นใจในเสถียรภาพของตลาดรองในสายตานักลงทุนและสถาบันการลงทุนต่างประเทศ
นักเล่นหุ้น-นักลงทุน
ความแตกต่างที่ดำรงอยู่ในตลาดฯ
ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะมีบทบาทเป็นทั้งนักเล่นหุ้นและนักลงทุนในเวลาเดียวกันเป็นส่วนใหญ่
เส้นแบ่งของความแตกต่างในกลุ่มคน 2 จำพวกนี้อยู่ที่เงื่อนไข 2 ประการคือ
ประการแรก การคาดหวังในผลตอบแทน และประการที่สอง หลักเกณฑ์ที่เป็นความเชื่อในการตัดสินใจลงทุน…
นักเล่นหุ้นมีเป้าหมายการลงทุน เพื่อหวังผลตอบแทนจากกำไรในการขายหุ้นเป็นจุดสำคัญ
การเข้า - ออกในการลงทุนจึงค่อนข้างรวดเร็วเมื่อจังหวะเวลามาถึง พวกนี้เขาไม่ถือหุ้นไว้นาน
ๆ หรอก เวลาราคาได้ขึ้นไปถึงจุดที่เขาคาดหวังไว้เมื่อไหร่เขาขายหมดเลย พวกนี้จะไม่เก็บไว้"
นักเลงหุ้นคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงพฤติกรรมการเล่นหุ้นของคนกลุ่มนี้
แต่ในตลาดหุ้น กลุ่มนักเล่นหุ้นที่ใช้กฎเกณฑ์ทางเทคนิค (TECHNICAL ANALYSIS
APPROACH) เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจซื้อ-ขาย ยังมีอยู่จำนวนน้อย
"ไม่เกิน 100 คน" ผู้นำกลุ่ม TECHNICAL INVESTORS CLUB คนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ความเชื่อของเขาอยู่ที่ทิศทางของราคาที่ผันแปรไปตามอารมณ์ของนักลงทุนที่เล่นหุ้นในตลาด
โดยจะนำทิศทางของราคามาพล้อตกลงมาแบบแผนภูมิกราฟพวกนี้ ไม่เชื่อถือตรรกะการผันแปรทิศทางราคาที่เกิดจากมูลฐาน
(FUNDAMENTAL FACTOR) และข่าวลือต่าง ๆ พวกเขามีความเชื่อว่า โดยเทคนิคของเครื่องมือและการนำตัวเองออกห่างจากความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจเป็นวิธีการที่ป้องกันตัวเองดีที่สุดในการลทุนเพื่อเก็งกำไร
ปัจจุบันพวกเขากำลังดำเนินการเผยแพร่หลักทรัพย์เทคนิคให้แก่ผู้ลงทุนที่สนใจ
โดยมีความหวังว่าอย่างน้อยที่สุดผู้ลงทุนในตลาดหุ้นควรจะยึดกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ
ซึ่งจากบทบาทอันนี้สะท้อนให้เห็นว่าได้เกิดมีความพยายามที่จะช่วยกันพัฒนาทักษะผู้ลงทุนให้มีความรู้ในการลงทุนมากขึ้น
ซึ่งในความหมายนี้เมื่อมองจากอดีตก็เห็นการพัฒนาปรากฏขึ้นมาก ด้วยในสมัยก่อนช่วงที่ตลาดหุ้นคึกคัก
(ระหว่างปี 2520-22) กลุ่มนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่มุ่งหวังเก็งกำไรโดยปราศจากความรู้
ไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลการตัดสินใจซื้อขายของตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดหุ้นจะตกอยู่ภายใต้พลังทางจิตวิทยาเป็นส่วนใหญ่
แต่การตัดสินใจก็ไม่ได้จำกัดอยู่กับความเชื่อในกฎเกณฑ์ทางเทคนิคแต่เพียงส่วนเดียว
เพราะปรากฏว่ายังมีกลุ่มนักเล่นหุ้นอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถปกป้องตัวเองจากความสูญเสียในการลงทุนด้วยความเชื่อในกฎเกณฑ์ขั้นมูลฐาน
เขาไม่เชื่อว่า การยึดเครื่องมือทางเทคนิคจะสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนเล่นในตลาดได้ดีที่สุด
คนเล่นหุ้นทุกวันนี้รู้จักเลือกหุ้นที่ต้องการลงทุนด้วย เล็งเห็นว่า เป็นหุ้นที่มีผลการประกอบการดี
มีความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจ โกศล ไกรฤกษ์ เขาเป็นคนหนึ่งที่เล่นหุ้นโดยประกาศตัวเองว่าเป็นนักลงทุนมิใช่นักเล่นหุ้น
เขาใช้หลักเกณฑ์ทางมูลฐานเป็นกฎเกณฑ์การตัดสินใจลงทุนด้วยความเชื่อในข้อมูลที่ครั้งหนึ่ง
ในอดีตตนเองเคยมีประสบการณ์ ได้รู้เห็นถึงศักยภาพในการทำธุรกิจของหุ้นบางตัวในตลาด
"ผมถือหุ้นไว้นาน แม้ราคาจะไต่ขึ้นไปสูงกว่าตอนที่ผมเข้ามาซื้อไว้อย่างหลายเท่าตัว
แต่ผมก็ยังไม่ขาย ทั้ง ๆ ที่ถ้าผมขายเมื่อไหร่ก็ทำกำไรให้ผมหลายเท่าตัว"
เขาพูดกับ "ผู้จัดการ" เพื่อยืนยันถึงจุดยืนของเขาในการเข้ามาทำธุรกิจลงทุนในตลาดหุ้น
กล่าวกันว่า ผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยในตลาดอาศัยพฤติกรรมการลงทุนของเขาเป็นหลักนำในการลงทุน
ซึ่งเขามักจะ "บ่น" ให้ผู้ใกล้ชดได้ทราบเสมอว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่พึงปรารถนาเลย
เขาปรารถนาให้นักลงทุนใช้ดุลพินิจด้วยตัวเองอย่างมีเหตุผลสามารถอธิบายได้ถึงการตัดสินใจลงทุนของตัวเองมากกว่า
นักวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐาน VS นักวิเคราะห์ทางเทคนิค
นักลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไทย ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200,000 รายหรือคิดเป็นสัดส่วน
0.04% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้เคยมาทำการสำรวจวิจัยไว้เมื่อปี
2526 และรายงานว่า มีผู้ลงทุนรายบุคคลในตลาดหลักทรัพย์น้อยกว่า 2.0% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ความสนใจของประชากรไทยที่มีต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีอยู่น้อยมากเพราะเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ
แต่อย่างไรก็ดี แม้อุปสงค์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะมีไม่มากนัก แต่คุณภาพหรือทักษะของนักลงทุนบางส่วนก็มีมากขึ้น
การเติบโตด้านทักษะในการลงทุนจะเห็นได้จากเริ่มมีการใช้เครื่องมือทางเทคนิค
(TECHNICAL ANALYSIS) และเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยหุ้นขั้นมูลฐาน (FUNDAMENTAL
ANALYSIS) มาเป็นกฎเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุนกันแล้ว จนทำให้ปัจจุบันสภาวะทางทักษะในการลงทุนของนักลงทุนในตลาด
แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
1. กลุ่มแรก นักลงทุนที่นิยมลงทุนแบบ "แห่ตามกัน" ด้วยความไม่รู้
ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีอยู่จำนวนมากในตลาด
- กลุ่มที่สอง นักลงทุนที่ลงทุนด้วยความเชื่อในเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐาน
ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น ๆ
- กลุ่มที่สาม นักลงทุนที่ลงทุนด้วยความเชื่อในกฎเกณฑ์ทางเทคนิค
ในที่นี้จะกล่าวจำเพาะลงในกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 เท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มที่แสดงออกถึงการพัฒนาทักษะการลงทุนในตลาดที่เด่นชัด
และเริ่มจะมีบทบาทเป็นกระแสหลักมากยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์วิจัยขั้นมูลฐาน
กลุ่มนี้มีจำนวนนักลงทุนมากกว่ากลุ่มนักวิเคราะห์เทคนิค นักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาลงทุนในตลาดส่วนใหญ่จะมีความเชื่อในกฎเกณฑ์ข้อมูลฐานของหุ้น
ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุน เขามีความเชื่อว่าแม้ตลาดหุ้นจะตกภายใต้บรรยากาศของอารมณ์และจิตวิทยาของนักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ที่ส่งผลให้ทิศทางของราคาหุ้นผันแปรไป
แต่การใช้กฎเกณฑ์ขั้นมูลฐานของหุ้ฯเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การลงทุนจะช่วยปกป้องความสูญเสียจากการลงทุนได้
อย่างน้อยที่สุดการวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐานของหุ้นก็ทำให้ทราบถึงอัตราผลตอบแทนของการลงทุนหุ้นได้แม่นยำ
"เราดู YIELD ของหุ้นแต่ละตัวเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ การผันผวนของราคาจะเป็นอย่างไร
เราไม่แคร์ เพราะอย่างน้อยที่สุดเงินปันผลของหุ้นที่เราลงทุนไปก็สูงกว่าอัตราเงินดอกเบี้ยเงินฝากในสถาบันการเงินอยู่แล้ว"
นักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดได้ปีเศษๆ ด้วยความรู้ขั้นปริญญาตรีจากคณะพณิชยศาสตร์การบัญชี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เพื่อชี้ให้เห็นว่า
เขาเข้ามาลงทุนในตลาดอย่างมีความรู้ที่สถาบันการศึกษาได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
การวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐานของหุ้นมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาวะความเป็นไปของการประกอบธุรกิจของหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้นเป็นสำคัญ
ถ้ามองในระยะยาวแล้ว เส้นทางการลงทุนตามกฎอุปทานและอุปสงค์ของหุ้น จะสะท้อนราคาออกมาอย่างมีเหตุผล
โกศล ไกรฤกษ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และกรรมการบริษัทโตชิบา (ประเทศไทย)
กล่าวว่า เขาเชื่อในหลักการการลงทุนด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยขั้นพื้นฐานของหุ้น
(FUNDAMENTAL ANALYSIS APPROACH)จะช่วยปกป้องความสุ่มเสี่ยงจากการลงทุนได้ดียกตัวอย่างเช่น
หุ้นA มีธุรกิจเกือบผูกขาดในการผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย ผลกำไรในการประกอบการย่อมดีกว่าหุ้นB
ที่มีโครงสร้างทางธุรกิจกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ดังนั้นในระยะยาวแล้ว หุ้น
A จะมีราคาในตลาด สูงกว่า B เพราะอุปสงค์ต่อหุ้น A มีมากด้วยทุกคนเชื่อมั่นในผลตอบแทนและธุรกิจ
A หลักการวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐานหุ้นจะบอกแก่เราว่า YIELD ของหุ้น A สูงกว่า
B การลงทุนในหุ้น A จึงปลอดภัยกว่า B และมีผลตอบแทนในรูปเงินปันผลศุงกว่าแถมยังมีโอกาสขายเอากำไรจากมูลค่าหุ้น
(CAPITAL GAIN) ได้สูงกว่าหุ้น B อีกด้วย
พฤติกรรมการลงทุนของกลุ่มวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐาน จะใช้หลักการคำนวณเพื่อดู
YIELD ของหุ้นเป็นกลไกในการเลือกหุ้นที่จะลงทุน ในพอร์ตลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้จะมีทั้งหุ้นเพื่อเกร็งกำไรในระยะยาว
และหุ้นปันผลซึ่งพวกเขาถือว่า เป็นสินทรัพย์(ASSET) ที่มีค่าและมีสภาพคล่องสูง
ดังนั้นพลังในการลงทุน จึงค่อนข้างจะเน้นหุ้นลงทุน ที่มีธุรกิจที่ได้เปรียบและมี
YIELD สูง การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นเก็งกำไรที่จะกระจายอยู่ในตลาดจะมีน้อย
จุดนี้คือความแตกต่างจากพฤติกรรมการลงทุนของกลุ่มนักวิเคราะห์ทางเทคนิค
คณิต เศรษฐนันท์ นักบริหารการเงินหนุ่มตำแหน่งผู้จัดการโครงการพิเศษแห่งบริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย
ผู้ริเริ่มนำวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาใช้เป็นคนแรกในตลาดหุ้นไทย เขาประกาศตัวว่าเป็นนัก
TECHNICALIST ที่แท้จริง ด้วยความเชื่อว่าวิธีการทางเทคนิคจะสามารถช่วยปกป้องความเสี่ยงในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนได้ดีกว่าวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐานหุ้น
เขามีความเห็นต่อกลุ่มวิเคราะห์นักปัจจัยขั้นมูลฐาน(FUNDAMENTALIST) ว่า
ในข้อเท็จจริงตลาดหุ้นไทยมีนัก FUNDAMENTALIST ที่แท้จริงน้อย เนื่องจากอุปสรรคการเข้าถึงและการรับรู้ถึงข้อมูลขั้นมูลฐานของหุ้นที่แท้จริง
และรวดเร็วมีอยู่มากมาย เขามองว่ามีนักลงทุนบางจำพวกเท่านั้น ที่สามารถล่วงรู้ถึงข้อมูลขั้นมูลฐานของหุ้นในด้านลึก
โดยที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่รู้ พวกนี้แหละที่เขาให้นี้ยอมว่า น่าจะเป็นพวก
FUNDAMENTALIST ที่แท้จริง ซึ่งนับว่านักลงทุนในความหมายนี้ก็คือ กลุ่มนักลงทุนที่เป็นเจ้าของกิจการนายธนาคาร
และญาติพี่น้องเพราะกลุ่มนักลงทุนทั้ง 3 จำพวกนี้อยู่ในฐานะที่จะรับรู้ถึงข้อมูลด้านลึกของหุ้นในตลาดได้ดีกว่าผู้อื่น
อย่างไรก็ตามมองไปในอนาคต…เส้นทางการเติบโตของกลุ่มนักวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐานหุ้นจะมีมากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ๆ เข้าทำนองเริ่มมีสำนึก "เหลียวหน้าแลหลัง"
มากยิ่งขึ้นโยธิน อารี โบรคเกอร์ราายสำคัญผู้คว่ำหวอดกับตลาดหุ้นมานานแห่งบริษัทกรุงเทพธนาทรได้กล่าวว่า
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้เติบโตอยู่ที่ปัจจัย 2 ประการ คือ ประการแรก
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังมีขนาดเล็ก และการกระจายของพลังการลงทุนในตลาดยังจำกัดอยู่ในวงแคบ
ประกอบกับนักลงทุนมีความรู้ในการวิเคราะห์มากขึ้น ประการที่สอง ตลาดหลักทรัพย์และบริษัทโบรคเกอร์จัดฝึกอบรมแก่นักลงทุนมากขึ้น
ทำให้วิทยากรการวิเคราะห์ปัจจัยขั้นมูลฐานเป็นที่รับรู้แก่นักลงทุนเพิ่มมากขึ้น
เพราะตลาดเองก็หวังให้การลงทุนเป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น
ๆ
กลุ่มนักวิเคราะห์เทคนิค
กลุ่มนี้มีคีย์แมนอยู่ 5 คน เป็นนักเล่นหุ้นมืออาชีพ ที่คลุกคลีกับตลาดหุ้นมาตั้งแต่ยุคแรก
พวกเขามีภูมิหลังในอาชีพทางด้านเทคนิค เช่น วิศวกร นักบัญชี-บริหารการเงิน
และนายแบงก์ ด้วยเหตุหนึ่งที่มีความผูกพันกับงานด้านเทคนิคมาตลอด จึงมีความเชื่อมั่นในหลักการและวิธีการทางเทคนิคในการตัดสินใจเล่นหุ้นอยู่มาก
พวกเขามีความเชื่อมั่นว่ากฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์และสถิติที่นำข้อมูลทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในตลาด
(BOOKSCLUB INDEX) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาเป็นข้อมูลในการคำนวณสามารถบ่งบอกถึงอารมณ์หรือพลังทางจิตวทิยาของนักลงทุนในตลาดได้
และการสามารถล่วงรู้ถึงพลังทางจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดได้นี้เอง ที่จะเป็นเงื่อนไขให้การลงทุนหุ้นในตลาดของกลุ่มนี้สามารถปกป้องตัวเองจากความสูญเสียในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ได้ดีกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น
กฎเกณฑ์ทางเทคนิคที่กลุ่มนี้นำมาใช้แม้นว่าปัจจุบันจะจำกัดวงอยู่แคบเพียงไม่เกิน
100 คน ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า TECHNICAL INVESTORS CLUB
ก็ตาม แต่ก็มีที่มาที่มิได้เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยตนเองหากนำความรู้ หรือทักษะเหล่านี้มาจากสถาบันการลงทุนที่มีชื่อเสียงในตลาดหุ้น
WALL STREET ของสหรัฐฯ ซึ่งนายธนาคารอาวุโสชั้นนำของเมืองไทยของท่าน เช่น
สุวิทย์ หวั่งหลี จากธนาคารนครธน ก็เคยกล่าวให้ฟังว่า ในตลาดหุ้นทั่วโลกที่ใหญ่
ๆ ก็ใช้เครื่องมือทางเทคนิค เช่น POINT & FIGURE CHART และ MOVING AVERAGE
CHART เป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนทั้งนั้น
พลังในการลงทุนของกลุ่มนี้ไม่สูงนักไม่เกิน 10% ของมูลค่าการซื้อขายแต่ละวัน
เมื่อเทียบกับสถาบันการลงทุน จึงไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใดต่อการกระทำให้ทิศทางของราคาหุ้นเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามเจตจำนง
หลักการสำคัญที่เป็นพฤติกรรมการลงทุนของกลุ่มมี 2 ประการ คือ ประการแรก กลุ่มนี้ไม่ปรารถนาเป็นตัวริเริ่มสร้างราคาในตลาด
หากมีบทบาทเป็นเพียงผู้ตามที่ยืนดูสังเกตการณ์ราคาในตลาด เพื่อคอยดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่อการลงทุน
และประการที่สอง กลุ่มนี้จะถือหุ้นไว้ระยะสั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำกำไร
โดยการเข้าตลาดแต่ละครั้งจะกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาด
จะไม่ยึดหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเป็นหลัก
สัมพันธ์ วิมลเฉลา คีย์แมนคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม ซึ่งคลุกคลีกับตลาดหุ้นไทยมายาวนาน
และมีประวัติในประสบการณ์อันโชกโชนในงานด้านวิศวกรของบริษัทก่อสร้าง BECHTEL
CORP. ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ กล่าวในฐานะนักเล่นหุ้นคนหนึ่งว่า การเก็งกำไรคือเป้าหมายสูงสุดในการเล่นหุ้นของกลุ่ม
ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้นไว้นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ตลาดมีราคาตกต่ำ
และอุปสงค์การลงทุนซบเซา เขาจะไม่ถือหุ้นไว้เลยแม้สักหุ้นเดียว ซึ่งความจริงก็คือ
เขาได้ขายหุ้นทั้งหมดที่เคยถือไว้ก่อนหน้าราคามีแนวโน้มตกต่ำและตลาดซบเซาไปก่อนเรียบร้อยแล้ว
หลักการการลงทุนเช่นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ย้ำถึงกฎเกณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
แต่รอคอยจังหวะและเวลาเข้าทำกำไรเมื่อภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญอยู่ที่ความเชื่อในกฎเกณฑ์สัญญาณคำสั่งซื้อและขายที่ปรากฎใน
CHART ที่ทำขึ้นโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสข่าวอื่นใดที่จะมีผลทำให้การตัดสินใจผันแปรไปเป็นอย่างอื่นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ก็มีโบรคเกอร์บางรายที่มีความเห็นว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่น่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงพอต่อการตัดสินใจการลงทุนที่ถูกต้อง
ด้วยเหตุที่ตลาดหุ้นไทยยังมีข้อจำกัดอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือ
- ประการแรก ขนาดของตลาด คือ จำนวนหุ้นที่เสนอขายในตลาดและปริมาณอุปสงค์ในตลาด
ยังมีขนาดเล็กเกินไป
- ประการที่สอง พลังการลงทุนในตลาดยังไม่กระจัดกระจายไปยังนักลงทุนรายย่อยมาก
สถาบันการลงทุนยังมีอิทธิพลสูงในการแทรกแซงราคาให้ผันแปรไปตามเจตจำนงได้
- ด้วยเหตุนี้ การใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพื่อวิเคราะห์การลงทุน จึงไม่อาจ
REFLECT อารมณ์หรือจิตวิทยาของผู้ลงทุนในตลาดได้ดี" โยธิน อารี กรรมการรองผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร
โบรคเกอร์รายสำคัญในตลาดให้ความเห็น…
เขามองบทบาทกลุ่มนักวิเคราะห์ทางเทคนิคในแง่ที่เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่มีทักษะรู้จักใช้เหตุใช้ผลในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
ทั้ง ๆ ที่เขาก็ยอมรับว่า เครื่องมือทางเทคนิคเป็นสิ่งที่นิยมใช้กันมากในตลาดหุ้นใหญ่
ๆ ทั่วโลก ซึ่งที่นั่นเขาเห็นว่า มีความแตกต่างจากตลาดหุ้นไทยอย่างมากมาย
ยกตัวอย่างในตลาด WALL STREET และ LONDON คุณภาพของนักลงทุนมีปริมาณและสัดส่วนสูงกว่านักลงทุนไทยมาก
พลังการลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยมีค่าสูงขณะที่สถาบันการลงทุนใหญ่ ๆ ก็มีการกระจัดกระจายในตลาด
อิทธิพลการแทรกแซงราคาในตลาดให้ผันแปรไปตามเจตจำนง ไม่สามารถกระทำได้ง่ายด้วยขนาดตลาดใหญ่เกินไปที่จะสร้างความเสี่ยงด้วยวิธีการสร้างราคาเทียมเพื่อฉกฉวยเอากำไร
ยกตัวอย่างในตลาดนิวยอร์ค (WALL STREET)
จากข้อมูลที่ ASIAN WALL STREET JOURNAL ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2530 ได้ระบุว่า
"มีการซื้อขายหุ้นในตลาด 172.4 ล้านหุ้น สำหรับวันที่ 10 สิงหาคม 2530"
เทียบกับปริมาณการซ้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กรุงเทพวันเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหุ้นเพียง
2.8 ล้านหุ้นเท่านั้นจะเห็นว่า ขนาดตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 10%
ของขนาดตลาดหุ้นนิวยอร์ค
ประเด็นการโต้แย้งด้วยเหตุผลข้อจำกัดเงื่อนไข 2 ประการข้างต้น ยังไม่อาจสรุปได้ว่า
มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง กลุ่มนักวิเคราะห์ทางเทคนิคได้โต้แย้งความเห็นกลับไปว่าการที่ตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็กและยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการแทรกแซงราคาของสถาบันการลงทุนน้อยราย
กลับยิ่งเหมาะสมต่อการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อวัดอารมณ์การลงทุนของนักลงทุนในตลาดได้ดี
เพราะการผันแปรของทิศทางราคาหุ้นแต่ละครั้งสามารถอธิบายเหตุผลการผันแปรนั้นได้ง่ายว่าเกิดจากอะไร
กรุงเทพธนาทร
"ผู้หลงใหลมนต์ขลังของธุรกิจหลักทรัพย์…
จนเป็นธุรกิจหลักของบริษัทไป"
เมื่อเอ่ยถึง "โยธิน อารี" คีย์แมนอันดับสอบของบริษัทกรุงเทพธนาทร
มโนภาพแรกที่วิ่งเข้ามาในสมองรับรู้ถึงเขาในฐานะบุคคลที่คร่ำหวอดกับตลาดหุ้นไทยจนหลายคนที่เกี่ยวข้อง
ยอมรับเขาในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ตลาดหุ้นและธุรกิจหลักทรัพย์ไทยมากที่สุดของเมืองไทย
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยแล้ว ถ้าไม่มีโอกาสได้พูดคุยแสวงหาข้อมูลจากเขาแล้วก็ไม่อาจเป็นผลงานที่สมบูรณ์ได้…
บทบาททุกวันนี้ เขาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดและมีความหมายอย่างสำคัญยิ่งต่อ
เชิดชู โสภณพนิช คีย์แมนอันดับหนึ่งของบริษัท ในการตัดสินใจทางธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัท
ด้วยในฐานะที่เขามีประสิทธิภาพสูงในการวิคราะห์และมองสภาพการณ์ธุรกิจหลักทรัพย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
โยธิน อารี กล่าวให้ "ผู้จัดการ" ทราบว่า บริษัทกรุงเทพธนาทรในแรกเริ่มที่เขาได้สัมผัสมาในฐานะเป็นสต๊าฟรุ่นบุกเบิก
เป็นส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ของ ธ.กรุงเทพ ซึ่งได้แยกตัวออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทเอกเทศในเวลาต่อมา
เมื่อปี 2512 โดยร่วมลงทุนกับบริษัท CITIBANK OVERSEA INVESTMENT CORP. ซึ่งเขาได้เล่าให้ฟังว่า
พาร์ตเนอร์รายนี้มีส่วนต่างสำคัญยิ่งในการช่วยวางรากฐานระบบงานและฝึกอบรมสต๊าฟของบริษัทในความรู้ด้านธุรกิจหลักทรัพย์
ด้วยเหตุที่บริษัทมีจุดกำเนิดจากแรงจูงใจในการทำธุรกิจหลักทรัพย์ ดังนั้น
บทบาทการทำธุรกิจในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นในธุรกิจนี้
"นโยบายของบริษัทมุ่งเน้นการทำธุรกิจหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาด
PRIMARY MARKET" โยธิน อารี คีย์แมนของบริษัทกล่าวกับ "ผู้จัดการ"…
เมื่อพิจารณาจากพอร์ตรายรับของบริษัทในปี 2529 ธุรกิจหลักทรัพย์ทำรายได้ให้บริษัทจำนวน
69 ล้านบาท จากยอดรายได้รวม 224 ล้านบาท หรือคิดเป็น 31% และจากข้อมูลเบื้องต้นที่บริษัทรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2530 ปรากฏว่ารายรับจากธุรกิจหลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นเป็น
40 ล้านบาทจากยอดรายได้รวม 109 ล้านบาทหรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 37%
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรายการรายรับในธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทช่วงปี
2529 แล้วกลับพบว่า โดยผลการทำธุรกิจไม่ได้มุ่งตามเจตนารมณ์ทางนโยบาย เพราะปรากฏว่า
บริษัทกลับมุ่งทำธุรกิจหลักทรัพย์ไปในตลาดรอง (SECONDARY MARKET) ในปริมาณที่มากกว่าตลาดแรก
(PRIMARY MARKET) รายรับจากรายการกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และค่านายหน้ามีจำนวน
64 ล้านบาท เทียบกับค่าธรรมเนียมจำนวน 5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าฐานรายรับของบริษัทในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่การทำธุรกิจในตลาดรองเป็นนัยสำคัญ
นอกจากนี้ เมื่อได้พิจารณาไปที่หมวดสินทรัพย์ของบริษัทมีจุดหนึ่งที่น่าสนใจในการดำเนินงานของบริษัทก็คือว่า
ในรายการเงินลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาต บริษัทลงทุนด้วยเงินจำนวน
38.6 ล้านบาท แต่บริษัทสามารถทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ได้สูงถึง 53.7
ล้านบาท
เป็นผลกำไรที่สูงกว่ายอดเงินลงทุนเสียอีก…!!
ข้อมูลผลการดำเนินงานนี้ สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดอย่างแท้จริง
ซึ่งก็ไม่น่าจะแปลกใจมากนักเมื่อครั้งหนึ่งในอดีต สต๊าฟชั้นคีย์แมนของบริษัทเคยได้รับการฝึกอบรมและบริหารธุรกิจหลักทรัพย์มาอย่างดีจากบริษัท
CITIBANK OVERSEA INVESTMENT CORP. ที่โด่งดัง
สำหรับในตลาดแรก (PRIMARY MARKET) ช่วงปี 2529 บทบาทการทำธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดนี้
ซึ่งได้แก่ การให้คำแนะนำ การค้ำประกันการจำหน่าย และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ร่วมการจัดจำหน่าย (CO-UNDERWRITER) มีเพียงหลักทรัพย์เดียวเท่านั้น
คือ หุ้นกู้ของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลคอสเมติคส์ (ICC) ที่บริษัทสามารถชนะการประมูลเป็นผู้บริหารจัดการ
(UNDERWRITING MANAGER)
แต่ในปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนฯ เพิ่มทุนดำเนินการและจำหน่ายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปมากขึ้นด้วยเล็งเห็นว่า
ภาวะตลาดหลักทรัพย์กำลัง "บูม" ง่ายต่อการจำหน่ายหุ้นหมดตามเป้าหมายในเวลาอันรวดเร็ว
ความสอดคล้องของตลาดเช่นนี้เป็นช่องทางให้บริษัทกรุงเทพธนาทร ทำธุรกิจประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์แก่บริษัทที่ต้องการเพิ่มทุนได้มากขึ้นกว่าช่วงปีที่ผ่าน
ผลก็คือ บริษัทฯ สามารถเป็น UNDERWRITING LEAD MANAGER ได้หลายโครงการ ซึ่งแสดงว่า
ฝีมือการทำธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดแรกของบริษัทกรุงเทพธนาทรได้รับการยอมรับจากตลาดไม่น้อย
เทคนิคของการให้ได้มาซึ่งงานในโครงการ ไม่ใช่เรื่องของการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของบริษัทกับบริษัทที่ต้องการเพิ่มทุนเป็นปัจจัยสำคัญ
หากอยู่ที่การคำนวณราคาหลักทรัพย์ที่สามารถจำหน่ายออกไปได้หมดภายในเวลาอันรวดเร็วต่างหาก
โยธิน อารี คีย์แมนของบริษัทกรุงเทพธนาทรเปิดเผยเคล็ดลับการประมูลงาน UNDERWRITING
ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง…
ภัทรธนกิจ "ผู้นิยมทำธุรกิจแบบ
SOPHISTICATED มากกว่าความหวือหวา"
เป็นเวลากว่า 11 ปีในสนามธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัทภัทรธนกิจมีมูลค่าทรัพย์สินเกือบ
6,000 ล้านบาท จัดอยู่ในระดับ TOP FIVE การเติบโตของหลักทรัพย์ตกเฉลี่ยปีละมากว่า
10% มันไม่ง่ายนักที่จะบริหารทรัพย์สินขนาดนี้ให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
วิดรจน์ นวลแข คีย์แมนแถวหน้าสุดของบริษัท ซึ่งมีบุคลิกภาพเป็นคนเรียบง่าย
ฉลาดหลักแหลม ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในการสรรหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะนำมาพัฒนาธุรกิจที่เขาดูแลรับผิดชอบ
ในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ยอมรับบทบาทของเขาในความจริงใจที่จะพัฒนาระบบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ
สำหรับในหมู่สต๊าฟของเขาแล้ว มองว่าเขาเป็นนักพัฒนาบุคคลและวางระบบงานตัวฉกาจ
"บริษัทภัทรธนกิจ มีการปรับปรุงองค์กรภายในบริษัทเฉลี่ยทุก 2 ปีต่อครั้งอยู่เสมอ"
ทั้งนี้เหตุผลก็เพื่อต้องการให้รองรับกับเข็มมุ่งการทำธุรกิจของบริษัทที่ปรับตัวตามทิศทางความต้องการของตลาด
ปัจจุบันองค์กรภายในบริษัทมีทั้งหมด 7 ฝ่าย ในจำนวน 5 ฝ่ายอยู่ในสายงานที่มีหน้าที่หารายได้เข้าบริษัททั้งสิ้น
โดยอีก 2 ฝ่ายได้แก่ ธุรกิจ และบัญชี มีหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า
เขาได้จัดวางองค์กรภายในบริษัทเน้นหนักการทุ่มกำลังทรัพยากรบุคคลไปที่แนวหน้าของสมรภูมิธุรกิจเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
ในแง่ของการทำธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัทภัทรธนกิจ ดูออกจะระมัดระวังอยู่สูงมากในการทำธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์
(SECURITIES DEALER) ทั้ง ๆ ที่ภาวะธุรกิจ ซึ่งขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
(SECONDARY MARKET) กำลัง "บูม" สุดขีด ปริมาณการลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท
มีมูลค่าต่ำกว่าบริษัทชั้นนำรายอื่นที่อยู่ในอันดับ TOP FIVE ด้วยกันในพอร์ตรายรับทางธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัท
เมื่อปี 2529 รายรับจากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ มีสัดส่วนน้อยกว่ารายรับจากค่าธรรมเนียมเสียอีก
การ LOW PROFILE ในบทบาททางธุรกิจด้านนี้ของบริษัท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในการบริหารธุรกิจของบริษัท
ที่ไม่ปรารถนาจะทำธุรกิจแบบหวือหวา หากมุ่งหวังความแน่นอนและมีเสถียรภาพในผลตอบแทนมากกว่า
ซึ่งในแง่นี้ โยธิน อารี คีย์แมนอันดับสองของบริษัท กรุงเทพธนาทร เพื่อนรักของเขา
ก็เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงความเป็นคนค่อนข้างระมัดระวังอย่างสูงของวิโรจน์
นวลแข ในการทำธุรกิจหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับธุรกิจด้านการเป็นนายหน้า บริษัทภัทรธนกิจไม่หยุดยั้งตัวเองในการพัฒนาระบบบริการแก่นักลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทที่มีอยู่จำนวนประมาณ
300 ราย จุดที่บริษัทฉีกแนวการให้บริการให้แตกต่างจากคู่แข่งขัน เน้นที่ความถูกต้องและรวดเร็วของข้อมูลด้วยเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์ที่บริษัทลงทุนพัฒนาโปรแกรมซอฟท์แวร์
VAX SYSTEM ด้วยตนเองให้สามารถใช้ได้กับเครื่อง DIGITAL ที่จัดซื้อมาด้วยเงินจำนวน
2 ล้านบาท ระบบโปรแกรมนี้จะสามารถช่วยลด TENSION ในการทำงานของสต๊าฟฝ่ายหลักทรัพย์ของบริษัทและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งแบบออนไลน์ได้ภายในเวลา
5 วินาที บริษัทคาดหวังว่าระบบโปรแกรมนี้จะช่วยให้ลูกค้าของบริษัทสามารถรับทราบข้อมูลภาวะการค้าหลักทรัพย์ในแต่ละวันได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
การที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มอัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่าในรอบปีที่ผ่านมา
กอปรกับธุรกิจหลายสาขาที่อยู่ใน SECTOR ส่งออก เริ่มฟื้นตัวขึ้นในการส่งออก
ด้วยเหตุจากความพยายามพัฒนาตลาดส่งออกให้กว้างขวาง และหนักหน่วงยิ่งขึ้น
สภาวะเช่นนี้ผลการประกอบการของบริษัทหลายแห่งที่จดทะเบียนไว้กับตลาดหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
หลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนหลายหลักทรัพย์จากจำนวน 99 หลักทรัพย์ในตลาด
ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่กันอย่างล้นหลาม ดัชนีราคาหลักทรัพย์ในตลาด
(SET INDEX) มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวันตกอยู่ในอัตราเฉลี่ยเกือบ
400 ล้านบาท ความเอื้ออำนวยต่อความนิยมในการลงทุนในตลาดทุน เป็นช่องทางให้หลายธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มทุนดำเนินงานเพื่อขยายกำลังผลิตรองรับกับแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าที่เพิ่มขึ้น
ด้วยเล็งเห็นว่า โครงการเพิ่มทุนดำเนินงานสามารถกระทำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
บริษัทภัทรธนกิจจับช่องทางตลาดในส่วนนี้มาให้อยู่ในไลน์ธุรกิจของบริษัททันที
ฝ่ายวานิชธนาทร (INVESTMENT BANKING DEPARTMENT) ได้รับการจัดตั้งขั้นช่วงต้นปี
2529 นี้เอง เพื่อทำหน้าที่จับตลาดนี้อย่างจริงจัง
"วานิชธนาทร ความหมายไม่ได้เฉพาะจำกัดอยู่กับการทำธุรกิจจัดการลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น
แต่ครอบคลุมไปถึงการเข้าไปบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินของหน่วยธุรกิจต่าง
ๆ ด้วย" วิโรจน์ นวลแข คีย์แมนของบริษัทเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังถึงเข็มมุ่งที่แท้จริงของบริษัทในยุคปัจจุบัน
การใช้แนวคิดและวิธีการ INVESTMENT BANKING ใน SCOPE ของธุรกิจหลักทรัพย์เป็นเรื่องของการให้คำแนะนำโครงการเพิ่มทุนการอาวัลหลักทรัพย์
(หุ้นทุนและหุ้นกู้) จำหน่าย และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยได้รับค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ
3-4 ของมูลค่าทุนที่เพิ่มในตลาด
ช่องทางธุรกิจนี้ ทำรายได้ให้กับบริษัทเป็นกอบเป็นกำมาก ในพอร์ตรายรับธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทจากรายการค่าธรรมเนียมให้บริการมีสัดส่วนสูงสุด
และเมื่อเทียบกับบริษัทชั้นนำอื่น ๆ แล้วก็สามารถทำรายได้จากรายการนี้มากที่สุดด้วย
โดยมีส่วนแบ่งตลาดจากบริการจัดการลงทุนหลักทรัพย์ประมาณ 76% ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทมีบทบาทเป็น
UNDERWRITING MANAGER มากกว่า CO-UNDERWRITER
วิโรจน์ นวลแข คีย์แมนของบริษัทเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า การทำธุรกิจนี้ของบริษัท
บริษัทอยู่ในฐานะเป็นผู้นำตลาด เกือบทุกโครงการ บริษัทภัทรธนกิจมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
และมีไม่น้อยที่เป็นผู้นำการจัดการ ซึ่งก็อยากจะไม่เป็นการกล่าวอ้างเกินความจริงมากไปนัก
เมื่อบริษัทอื่นที่อยู่ในเกรดชั้นนำเดียวกับบริษัทภัทรธนกิจก็ยอมรับบทบาทในการเป็นผู้นำตลาดนี้อยู่ไม่น้อย
โดยสรุป เมื่อพิจารณาจากแหล่งรายรับของบริษัทแล้ว สะท้อนอย่างชัดเจนว่า
บริษัทภัทรธนกิจกำลังมุ่งทำธุรกิจด้าน INVESTMENT BANKING อย่างหนัก ซึ่งแน่นอนภาพพจน์ธุรกิจนี้ไม่หวือหวา
ไม่สุ่มเสี่ยงแต่ SOPHISTICATED และปรัชญาของบริษัทภัทรธนกิจในธุรกิจหลักทรัพย์ก็คือ
สิ่งนี้นั่นเอง
ธนชาติ
"ตัวเล็ก แต่ใจใหญ่ ผู้ชอบความหวือหวา…"
ในฐานะเป็น ARM FORCE ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีจุดกำเนิดจากการเข้า TAKE
OVER บริษัทแค็ปปิตอลทรัสต์ เมื่อตุลาคม ปี 2523 ที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงานบริษัทเงินหลักทรัพย์ธนชาติ…ก็คือ
กองหน้าตัวสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ในการทำธุรกิจหลักทรัพย์ด้วยขนาดของสินทรัพย์ที่ไม่ใหญ่โตนักเพียง
3,000 ล้านบาท โดยมีบันเทิง ตันติวิท คีย์แมนคนสำคัญของบริษัทเป็นกรรมการผู้จัดการ…
ด้วยพื้นฐานความรู้ระดับ MBA สาขาการเงินจากสถาบันเอ็ม.ไอ.ที. ของสหรัฐบวกกับประสบการณ์นับ
10 ปีที่ทำงานอยู่กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ที่เปรียบเสมือนสถาบันที่ผลิตนักบริหารการเงินและธุรกิจหลักทรัพย์ระดับมืออาชีพสู่วงการธุรกิจการเงินในประเทศไทย
ทำให้เขา "บันเทิง ตันติวิท" เป็นนักบริหารธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ชั้นเซียนคนหนึ่งของวงการ
ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติไม่อาจมองข้ามได้ที่จะต้องจับเขาขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารขั้นสูงสุดในบริษัท
แต่อย่างไรก็ตามด้วยบุคลิคภาพของเขาที่ค่อนข้างจะพูดน้อยไม่ชอบวิสาสะกับสื่อมวลชนเท่าใดนัก
ทำให้การมองภาพบทบาทธนชาติโดยผ่านจากตัวเขาไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่กระนั้นก็ตามด้วยข้อเท็จจริงจากกระแสข่าวในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ที่เปิดเผยออกมาก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า
เป็น ACTIVE TRADER ที่โลดโผนในตลาดหลักทรัพย์ (SECONDARY MARKET) ซึ่งเชื่อกันว่า
เขาเป็นผู้วางนโยบายและความคุมการบริหารอย่างใกล้ชิด โดยมีสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจหลักทรัพย์เป็นขุนพลคู่ใจ
"ในช่วงตลาด "บูม" ธนชาติจะ ACTIVE มากในการเข้าทำธุรกิจนี้
ซึ่งประสบผลสำเร็จมากพอสมควร" ผู้รู้คนหนึ่งในวงการเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง ซึ่งก็ไม่ผิดนักเมื่อพิจารณาจากผลการประกอบการของบริษัทช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
กล่าวคือ ในพอร์ตรายรับจากธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทสามารถทำกำไรจากการลงทุนจาก
15 ล้านบาทในปี 2528 เป็น 59 ล้านบาท ในปี 2529 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว
และเมื่อพิจารณาจากรายรับในรายการค่านายหน้าก็ปรากฏว่า บริษัททำรายได้จากส่วนนี้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทชั้นนำรายอื่นที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่กว่าด้วยความใจถึง
และรุกอย่างหนักในการทำธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดต่างเฝ้ามองบทบาทการลงทุนของบริษัทธนชาติอย่างไม่กะพริบตาและเป็นดัชนีที่สะท้อนออกมาให้ทราบว่า
ภาวะราคาตลาดหุ้นในสถานการณ์ใด
"บริษัทเขามีชื่อเสียงด้านธุรกิจหลักทรัพย์ สถาบันการลงทุนต่างประเทศไว้ใจใช้บริการจากเขาอยู่บ่อย"
สุวิทย์ หวั่งหลี นายธนาคารอาวุโสจากธนาคารนครธนที่ทุกคนในแวดวงธุรกิจธนาคารยอมรับเขาในฐานะบุรุษผู้สมถะและจริงใจต่อวงการธุรกิจการเงินอย่างแท้จริง
ให้ความเห็นถึงบทบาทของ บงล.ธนชาติ ในสายตาของเขา
เมื่อดูจากพอร์ตรายรับทางธุรกิจหลักทรัพย์ของ บงล. จะเห็นจุดสังเกตหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า
บงล.ธนชาติ ทำธุรกิจแบบปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา ช่วงปี 2528 ซึ่งเป็นช่วงตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในภาวะซบเซา
บริษัทกลัวตัวมาทำธุรกิจด้านการเป็นผู้ให้บริการที่ปรึกษาและจัดการลงทุน
ซึ่งในขณะนั้น สถาบันการลงทุนและนักลงทุนจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาปูพื้นการลงทุนในตลาดมากขึ้น
บงล.ธนชาติ ในฐานะเป็น ARM FORCE ในธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคารไทยพาณิชย์ก็อาศัย
NETWORK ของธนาคารเข้าจับลูกค้าต่างประเทศไว้ก่อนบริษัทอื่น ซึ่งผลปรากฏว่ารายรับค่าธรรมเนียมจากการปรับตัวทำรายได้ให้กับบริษัทธนชาติสูงถึง
19.1 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าทุกบริษัทชั้นนำในขณะนั้น
การปรับตัวทำธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และรุกให้หนัก
เป็นกลยุทธ์ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ใช้มาตลอด ซึ่งดูก็ประสบผลสำเร็จ บทบาทในแง่นี้ดูจะแยกไม่ออกจากบทบาทของ
บันเทิง ตันติวิท ผู้กุมอำนาจสูงสุดของบริษัทในการบริหาร ซึ่งเพื่อนสนิทของเขาผู้หนึ่งได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของบันเทิง
ตันติวิท ไว้ว่า "ถ้าเขาจับทำอะไรแล้วมักจะเป็นที่หนึ่งเสมอ"