|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

หลังจัดงานฉลองครบ 40 ปี กับยอดรายได้ปี 2550 ที่ทะลุหลักหมื่นล้านพร้อมแผนสยายปีก "บางกอก แอร์เวย์ส" สู่การเป็นผู้นำสายการบินในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และแผนยกระดับสนามบินสมุยสู่ "ฮับแห่งอินโดจีน"...แต่วันนี้ แผนรุกแบบสุดคันเร่งพลิกแผนเป็นแบบตั้งรับสุดตัว
"สายการบินเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวกับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ ผลกระทบมักจะมีมาถึงธุรกิจการบินเสมอ ไม่ว่าสมัยไหนๆ" กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กล่าว
ลูกชายคนโตของผู้บุกเบิกสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส คนนี้เพิ่งเข้ามาตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการบินบางกอก แอร์เวย์สหมาดๆ หลังเหตุการณ์ปิดสนามบินไม่นาน และก่อนเหตุจลาจลเดือนเมษายนไม่กี่สิบวัน
แม้จะต่างอุตสาหกรรม แต่ธุรกิจการบินและธุรกิจโรงแรมก็มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน โดยเฉพาะเป็นธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการเมืองไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเหมือนกัน แต่สายการบินดูจะโชคร้ายกว่าเพราะเพิ่งหายปวดหัวกับปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ไม่นาน
ในฐานะบูติคแอร์ไลน์ ราคาย่อมไม่ใช่ข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับโลว์คอสต์ ขณะที่แบ็คอัพทางการเงินและทางการเมืองก็เสียเปรียบสายการบินไทย
สิ่งแรกที่พุฒิพงศ์พยายามทำคือการลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร ปรับการจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนค่าน้ำมัน ฯลฯ โดยไม่เกี่ยวกับคุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัย
"ลองปรึกษาพวกเทคนิคการบิน เขาบอกว่าถ้าบินโดยถ่วงน้ำหนักเครื่องดีๆ ช่วยลดน้ำมันได้ 1% ถ้าทำแบบนี้ลดได้อีก 2% ถ้านักบินสามารถบินลงให้เร็วขึ้น 1 นาทีจากที่เคยบินเอ้อระเหยขอลัดลงมาได้อีก เก็บเล็กผสมน้อยรวมๆ ก็ลดได้ไม่น้อย ปีหนึ่งก็เซฟได้เป็นสิบล้าน แต่คือทุกคนต้องช่วยกัน" การเป็นกัปตันทำให้พุฒิพงศ์เห็นช่องทางได้ก่อนผู้บริหารของหลายสายการบิน
จากแผนที่จะขยายฝูงบินเพื่อครอบคลุมเส้นทางบินใหม่ๆ ที่วางแผนว่าจะเปิดตัวใน 1-2 ปีนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มาปีนี้บางกอกแอร์ฯ พยายามลดค่าใช้จ่ายด้วยการต่อรองเพื่อชะลอการรับมอบเครื่องบินที่ถึงกำหนดตามดีล
เครื่องบิน ATR 1 ลำ และ Airbus A319 อีก 8 ถูกส่งมอบ Airbus 7 ลำ ที่เหลือจะรับมอบกันในปีหน้าโดยยอมจ่ายค่าปรับแทน ทั้งนี้เพื่อประวิงเวลาการจ่ายเงินสดก้อนใหญ่ในเวลานี้เพื่อรักษาสภาพคล่อง อีกทั้งยังขอยืดระยะเวลาการเช่าเครื่องจาก 5 ปีเป็น 7 ปี เพื่อจะได้ราคาที่ถูกลงด้วย
อันที่จริง แผนการจัดระเบียบฝูง บินจากที่มี Airbus ผสมกับ Boeing ให้เป็น Airbus ทั้งหมดก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการประหยัดต้นทุนแบบ economy of scales เพราะการใช้เครื่องเดียวกันจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ การฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ รวมถึงการสต็อกอะไหล่
เส้นทางบินมาเก๊าที่เพิ่งเปิดกลางปีที่แล้วถูกปิดลงเมื่อต้นปีนี้ เพราะบางกอกแอร์ฯ ไม่สามารถสู้ราคากับการบินไทยและแอร์เอเชียได้ นอกจากนี้ยังมีการลดเที่ยวบินอีกหลายเส้นทาง จนตารางบินช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเที่ยวบินลดลงกว่า 20% เทียบกับปีก่อน
แน่นอนว่า การปรับลดเที่ยวบินและชะลอการเปิดเส้นทางใหม่ย่อมกระทบต่อเป้าหมายการเป็นผู้นำสายการบิน น่านฟ้าลุ่มแม่น้ำโขงใน 1-2 ปีนี้ หรือแม้แต่แผนปี 2554 ที่จะบินข้ามทวีปไปออสเตรเลีย-ยุโรป รวมถึงเส้นทางบินใหม่ในจีน ญี่ปุ่นและอินเดียก็ต้องหยุดชะงักไป
"ราว 2 ปีที่ผ่านมา เรามีแผนทุกอย่าง จะมีสถาบันการบินผลิตนักบินเข้ามาเป็นกัปตันให้เรา จะไปอินเดีย จะบินให้ครอบคลุมทั้งอินโดจีน ญี่ปุ่นก็จะบินทุกวัน ฯลฯ เราวางแผนจะให้นักท่องเที่ยว ที่มากรุงเทพฯ เดินทางไปตรงไหนก็ได้ในภูมิภาคนี้สะดวกที่สุด แต่พอปีรุ่งขึ้นทุกอย่างกลับต้องเบรกสุดตัว เพราะเวลานี้ สิ่งที่ควรทำคือหันมาระวังเรื่องงบดีกว่า"
แม้การขยายเส้นทางบินในภูมิภาค เอเชียหลายเส้นชะงัก แต่การบินออกนอกทวีปเอเชียกลับกำลังดำเนินไปอย่างดี บางกอกแอร์ฯ ใช้กลยุทธ์เครือข่ายผ่านวิธี "โค้ดแชร์" กับพันธมิตรใหม่นั่นคือ "เอทิฮัด" ที่เข้ามาเป็นแขนขาในบางทวีปที่บางกอกแอร์ฯ ยังไปไม่ถึง
ขณะเดียวกัน เอทิฮัดยังเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบริการและยกระดับภาพลักษณ์บริการระดับหรูให้แก่บางกอกแอร์ฯ ไปในที และวันนี้ก็จะมีแอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม และแอลทียู มาร่วมเครือข่ายด้วย
"เราโตมาจากเล็กๆ และบินภายในภูมิภาคมาตลอด แต่การจะข้ามไประหว่างทวีป มันเป็นอีกก้าวที่ต้องเรียนใหม่ แต่แทนที่จะยอมเสี่ยงลงทุนเอง เราก็ใช้วิธีนี้เพื่อศึกษาและทดลองตลาด เพราะอย่างไรสักวันเราก็ต้องมีบินเส้นยาว"
เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ในปีนี้บางกอกแอร์เวยส์ ไม่เพียงทำโปรโมชั่นออกมามาก มายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะหน่วยงานใหม่ของพุฒิพงศ์ที่มีชื่อ "หน่วยพาณิชย์" ทำหน้าที่ศึกษาเส้นทางที่มีศักยภาพมาเก็บไว้ในสต็อกช็อต ยามที่เศรษฐกิจดีก็จะได้เปิดเส้นทางบินเส้นนั้นได้ทันทีและดูแลเรื่องการขาย การตั้งราคา และการทำโปรโมชั่น ฯลฯ
อีกทั้งยังมีการเพิ่มที่นั่งชั้นธุรกิจอีกเที่ยวละ 12 ที่นั่ง ในเส้นทางบินญี่ปุ่น ฮ่องกง และมัลดีฟส์ ซึ่งยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยและเทศ จากเดิมที่มีเพียงชั้นเดียวทุกเส้นทาง นี่เป็นการสร้างรายได้อีกส่วน แม้จะไม่มากแต่ก็ได้อานิสงส์ในเรื่องภาพลักษณ์ไปด้วย
ปีที่แล้วจำนวนผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย จาก 2.44 ล้านคน เหลือ 2.18 ล้านคน รายได้ค่าโดยสารปี 2550 ราว 8 พันล้านบาท ส่วนปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านบาท โดยก่อนวิกฤติมีรายได้กว่าหมื่นล้านบาท ส่วนเป้าหมายสำหรับ 5 ปีจากนั้นตั้งที่ 1.2 หมื่น ล้านบาทต่อปี
"ที่ผ่านมา key ของเราคือ vision คุณหมอปราเสริฐ ท่านมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นหรือเห็นแต่ไม่คิดว่าจะเป็นจุดสำคัญ ที่ไหนน่าสนใจพอเลือกก็ใช้แรงโปรโมต แล้วก็เสี่ยงกันเลย"
พุฒิพงศ์ยกตัวอย่างสนามบินสมุย ซึ่งพวกเขาหมายมั่นจะปั้นเกาะแห่งนี้ให้กลายเป็นฮับของอินโดจีน โดยเริ่มลงทุนปรับเทอร์มินัลระหว่างประเทศและพื้นที่ภายในให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชอปปิ้งบ้างแล้ว แต่ด้วยพิษวิกฤติซ้ำซ้อนครั้งนี้ เป้าหมายสู่การเป็นฮับจึงล่าช้าออกไป
สำหรับยุคพุฒิพงศ์ ผู้บริหารภายใต้วิกฤติเช่นเขา บางครั้ง Visions อย่างเดียวไม่พอ แต่ยังต้องมีฐานข้อมูลที่แท้จริงมาสนับสนุนเพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจผิดพลาด
"ผมไม่บู๊เท่าคุณหมอปราเสริฐ ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ยิ่งต้องระวังมากขึ้น เพราะความไม่แน่นอน นี่แหละที่น่ากลัวพราะไม่รู้ว่าจะมีมรสุมอะไรเข้ามาอีก"
แม้พุฒิพงศ์จะไม่ได้ระบุว่ากลัวความไม่แน่นอนอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างมากของบางกอกแอร์ฯ นั่นก็คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งถ้าไม่มีตัวแปรนี้ อย่างน้อยบางกอกแอร์ฯ และประเทศไทยก็น่าจะคงรักษาสถานภาพ ทางการแข่งขันที่ไม่เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านได้อยู่
ถ้าเศรษฐกิจโลกยังเซื่องซึมต่อไปแบบนี้ บางกอกแอร์เวยส์จะใช้วิธีบริหารเส้นทางบินที่มีอยู่ให้แข็งแรง แทนที่จะยืดแขนขาไปไกลๆ แต่ระหว่างนี้ก็ต้องมีการเก็บสต็อกจุดหมายใหม่แล้วศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีจังหวะในการขยาย
แต่ถ้าจู่ๆ ปลายปีนี้เศรษฐกิจกลับมาดี สิ่งที่บางกอกแอร์เวยส์จะทำต่อไปก็คือขยายเส้นทางที่ชะลอไว้และทำการศึกษาไว้แล้ว ขณะที่เป้าหมายที่จะผลักดันบางกอกแอร์เวยส์ ให้กลายเป็นผู้นำสายการบินแห่งน่านฟ้าอินโดจีน พุฒิพงศ์ตั้งใจว่าจะพยายามให้ทุกคนได้เห็นในอีก 2-3 ปี
"แม้ปีนี้ท้องฟ้าอาจจะดูไม่สดใส แต่ยังไงล้อเครื่องบินก็ต้องหมุนไปเรื่อยๆ ติดขัดตรงไหน หยุดตรงไหน เป็นปัญหาตรงไหน ก็ต้องรีบจัดการให้ล้อหมุนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรอจนถึงจุด take-off" พุฒิพงศ์ สรุปได้สมกับที่เป็นกัปตัน!!
|
|
 |
|
|