|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ในวิกฤติมีโอกาส” ได้ยินกันมานานแต่ก็คงไม่มีครั้งไหนที่คำปลุกปลอบใจนี้จะดังกระหึ่มไปทั่วทุกแห่งหนในวงการท่องเที่ยวและโรงแรมไทยบ่อยเท่า 2-3 ปีนี้ แต่แม้จะมีวิกฤติซ้อนวิกฤติ อย่างน้อยก็ยังมี “โอกาสทางธุรกิจ” ซ่อนอยู่สำหรับคนที่มองเห็น เช่นเดียวกับเชนโรงแรมไทยที่ใช้โอกาสนี้เพื่อการเติบใหญ่ในต่างประเทศ
การท่องเที่ยวนับเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยและสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล คิดเป็น 8-10% ของมูลค่า GDP โดยอุตสาหกรรมโรงแรมมีเม็ดเงินลงทุนจมอยู่เยอะที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเมืองไทย ประมาณตัวเลขมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท หรืออาจมากถึงหลักล้านล้านบาทเลยทีเดียว
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น "ยักษ์" ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ธุรกิจโรงแรมก็ถือว่ามีผิวบางและอ่อนไหวง่ายเสียเหลือเกินกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในหรือนอกประเทศ
นับจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤติการเงินที่กระทบเศรษฐกิจไทยร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งแต่ดูเหมือนว่าโรงแรม ไทยได้ประโยชน์จากวิกฤติครั้งนั้น เพราะแม้ว่าคนไทยจนลงเพราะค่าเงินที่ลดลง แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทยกลับมีกำลังซื้อมากขึ้น
5 ปีถัดมา เหตุการณ์ 9/11 ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวต้อง สะดุด ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทประกันไม่รับประกันเครื่องบิน แต่ที่สำคัญ กว่าคือความไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว หลายชาติจึงหยุดเดินทาง แต่ก็กินเวลาอย่างมากไม่เกิน 3 เดือน
ตามมาด้วยเหตุการณ์ร้ายรายปี เช่น ระเบิดใหญ่ที่บาหลีและโรคซาร์สที่ระบาดหนักในฮ่องกง แต่ก็ส่งผลดีต่อประเทศไทยเพราะหลังเกิดเหตุไม่นานนักท่องเที่ยวหลายชาติเบนเข็มทิศมาเที่ยว เมืองไทยแทนมากขึ้น หรือแม้แต่เหตุการณ์สึนามิที่มีนักท่องเที่ยวล้มตายหลายพันคน แต่พอคลื่นยักษ์ผ่านพ้น ภาพลักษณ์ของความมีน้ำใจไทยก็ทำให้นักท่องเที่ยวสแกนดิเนเวียหลายคนต่างชวนเพื่อน ฝูงญาติมิตรบินมาเที่ยวเมืองไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก
จากนั้นก็ตามมาด้วยวิกฤติราคาน้ำมัน กระทั่งมาถึง "สึนามิเศรษฐกิจโลก" อันเนื่องจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่นำมาซึ่งการล้มหายตายจากของสถาบันทางการเงิน โรงงาน และบริษัทห้างร้านต่างๆ ในหลายประเทศ ทำให้ลูกจ้างนับร้อยล้าน คนทั่วโลกต้องตกงาน และส่งผลให้กำลังซื้อและความมั่นใจในการบริโภคลดลงจนเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องทั่วทั้งโลก
เฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โรงแรม ไทยก็ตกที่นั่งลำบากมากพออยู่แล้ว ทว่าเป็นเวลากว่า 2 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร โดยเฉพาะครึ่งปีที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองไทยรุมเร้าซ้ำเติมอุตสาหกรรมโรงแรมไทยอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ฉุดให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4/51 ติดลบเกือบ 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เหมือนทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นนับแต่ ต้นปี 2552 โดยเฉพาะเดือนมีนาคมที่ตัวเลขรายได้ของโรงแรมส่อแววสดใส ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก แต่แล้วทุกอย่างจะกลับมาเลวร้ายอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยา และ "มหาสงคราม" ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้ ยอดจองห้องพักหายวับไปกับตา อัตราเข้า พักเฉลี่ยเดือนนี้เหลือ 43.3% จาก 55.4% ในปีที่แล้ว ส่วนยอดนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 10% ทันที
ระหว่างที่ธุรกิจโรงแรมไทยยังโงหัวไม่ขึ้นจากการถูกขโมยโอกาสโกยเงินก้อนโตในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับ "ไข้หวัด 2009" ที่เข้ามาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทว่า ภาครัฐก็ทำแค่เตือนประชาชนว่าอย่าตระหนก
ส่วนมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยตกเป็นภาระของเอกชน ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมที่ต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเอง
"ตลอดหลายปีที่บริหารโรงแรมในเมืองไทย ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่หนักที่สุด เพราะทุกปัญหาที่เคยเกิดปีละเรื่อง มาปีนี้มันรุมเร้าเข้ามาพร้อมกัน วิกฤติครั้งนี้เลยกินวงกว้างและกินเวลายืดเยื้อกว่าครั้งอื่น"
ผู้บริหารโรงแรมเชนไฮแอทให้ความเห็นเพิ่มเติม ในงานแถลงข่าวเปิดตัวห้องประชุมคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อกระตุ้นรายได้จากธุรกิจไมซ์และจัดเลี้ยงทดแทนรายได้จากห้องพัก (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ Manager Leisure ฉบับนี้)
ขณะที่โรงแรมเชนต่างชาติในเมืองไทยกำลังดิ้นรนฝ่าฟันวิกฤติ ฟากเชนโรงแรมไทยยักษ์ใหญ่ก็กำลังมีมูฟเม้นต์ที่สำคัญ
เครือ "ดุสิต" เซ็นสัญญาบริหาร "เทวารัณย์ สปา" สาขาแรกในอิตาลี เพื่อเป็น การชิมลางตลาดยุโรป ส่วน "อนันตรา" เพิ่งเซ็นสัญญาเงินกู้ระยะยาว 7 ปี ยอดเงิน 4 พันล้านบาท และ "เซ็นทารา" เพิ่งแถลงกลยุทธ์เดินหน้าขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการรับบริหารโรงแรม (Management Fee)
"ผมมองวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ ถ้าเศรษฐกิจดี ผมเฉยๆ แต่เมื่อไรมีวิกฤติผมจะใช้ อันนั้นเป็นโอกาส" สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าสัวแห่งบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) เจ้าของเชนเซ็นทารา กล่าวในงานแถลงข่าว
ขณะที่เครือไมเนอร์และกลุ่มเซ็นทรัลพลาซา เจ้าของอาณาจักรใหญ่มูลค่าสินทรัพย์หลักหมื่นล้าน ประกอบด้วยธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม ถือโอกาสนี้ขยายธุรกิจด้วยการเทกโอเวอร์ตามวิสัยบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและมีสภาพคล่องสูง
ปัญหาโอเวอร์ซัปพลายของห้องพักในประเทศไทยที่เรื้อรังและหมักหมมมานานหลายปี พอเกิดวิกฤติร้ายแรงขึ้นมาจึงกระทบต่อโรงแรมที่มีระบบงานไม่ดี จึงมีปัญหาหลายรายประกาศขายโรงแรมในราคาต่ำ
นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่เครือไมเนอร์เจ้าของอาณาจักรกว่า 2.5 หมื่นล้าน กู้เงินเพิ่มอีก 4 พันล้านบาท ทั้งที่มีเงินสดที่เบิกมาถือในมือได้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีผลกำไรจากปีที่แล้วสูงเกือบ 2 พันล้านบาท
"เตรียมตัวเอาไว้ เพราะรู้ว่าครึ่งปีหลัง โอกาสในการขยายธุรกิจน่าจะมา เราควรจะพร้อมมากที่สุด วันนี้สินทรัพย์ที่ไหนดีเราไปดูไว้ หลังไตรมาส 2 ค่อยตัดสินใจ เพราะราคามันลงกว่านี้แน่" ปรารถนา มงคลกุล กล่าวในฐานะ CFO แห่งเครือไมเนอร์
ทุกวันนี้ นอกจากบินไปโรดโชว์ เธอยังบินไปเทกโอเวอร์ดีลโรงแรมดีๆ ราคาถูกๆ ในหลายประเทศมาเก็บไว้ในพอร์ต แม้จะเหนื่อยแต่ก็ดูมีความสุข ไม่ต่างจากเวลาที่สาวนักช้อปกำลังสนุกกับการเลือกเสื้อผ้าในหน้า SALES!
เครือเซ็นทาราก็ถือวิกฤตินี้เป็นโอกาสในการเทกโอเวอร์โรงแรมที่มีปัญหาราคาไม่แพงมาร่วมเครือข่าย แม้จะไม่หวือหวาเท่าเครือไมเนอร์ที่มีสภาพคล่องทางการเงินเป็นจุดแข็ง (อ่านรายละเอียดใน "พลิก "วิกฤติ" ตามวิถีคิดแบบ CFO")
การเทกโอเวอร์เป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ในยามวิกฤติของผู้มีอำนาจซื้อในมือ แต่เชนที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์บริหารยาว นาน และมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ระบบไอทีและเครือข่ายการตลาดอย่างเครือ ดุสิต กลยุทธ์ Light Asset หรือการรับบริหาร น่าจะเป็นแนวทางขยายธุรกิจที่รวดเร็วและไม่ต้องลงทุนสูง
"ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้โอกาสเรายิ่งเยอะ" ชนินทร์กล่าว
ทั้งนี้ก็เพราะท่ามกลางการแข่งขันที่มีวิกฤติเข้ามาซ้ำเติม ผู้ประกอบการโรงแรมต่างก็พยายามรักษาธุรกิจให้ผ่านพ้น หลายรายเลือกใช้เชนโรงแรมมาบริหาร เพื่อหวังพึ่งชื่อเสียง ความเป็นมืออาชีพ และเครือข่ายการขายและการตลาดของเชน
ขณะที่เชนโรงแรมจะมีแหล่งรายได้ มาเสริม เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Economy of Scales) และยังเป็นโอกาสขยายธุรกิจ รวมทั้งได้พีอาร์แบรนด์ไปด้วยในตัว
หากเป็นยามปกติที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีเงินสะพัด เจ้าของโรงแรมคนไทยบางรายอาจเลือกใช้เชนต่างชาติเข้ามาบริหาร เพราะเชื่อมั่นมากกว่าและต้องการภาพลักษณ์อินเตอร์ แต่ในช่วงที่วิกฤติท่องเที่ยวยังอึมครึมเช่นนี้ หลายคนจึงหันมาพึ่งเชนไทย
เจ้าสัวแห่งเครือเซ็นทาราอ้างว่า หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกก็มีผู้ประกอบการโรงแรมไทยและสถาบันการเงินที่มีลูกค้าเป็นโรงแรมรายย่อยเข้ามาขอเจรจาอยู่เรื่อยๆ
ขณะที่เครือดุสิตดูจะเต็มอิ่มกับพอร์ตโรงแรมในเมืองไทยที่มีมากถึง 19 แห่ง ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการเมืองไทยบ่อยครั้ง (อ่านรายละเอียดใน "วิกฤติโรงแรมไทยในทัศนะอดีตนายกสมาคมฯ")
"ผมคิดว่าสาเหตุที่ดุสิตอยากไปทำอะไรต่างประเทศ เพราะเรามีโรงแรมในไทยค่อนข้างเยอะ ครึ่งหนึ่งเราเป็นเจ้าของเอง ฉะนั้นทรัพย์สินของเราที่นี่ค่อนข้างสูง พอเกิดอะไรขึ้นมาในเมืองไทยทีหนึ่ง เราก็เซเต็มๆ"
เพราะไม่มีธุรกิจอาหารเข้ามาเสริมด้านรายได้ เครือดุสิตจึงมีหนทางหลักในการกระจายความเสี่ยงด้านที่มาของรายได้ด้วยการออกไปต่างประเทศ โดยฐานที่มั่นแห่งใหม่ ของเชนนี้อยู่แถบตะวันออกกลาง กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและยังเติบโตได้อีกแม้ในยามวิกฤติเศรษฐกิจโลก
เชนไทยอย่างอนันตรากำลังเข้าไปบริหารโรงแรมอีกหลายแห่งในดินแดนทะเลทราย
นอกจากเพื่อกระจายความเสี่ยงจากวิกฤติการเมือง อีกเหตุผลที่ทั้ง 3 เชนพยายาม ออกไปหารายได้ในต่างประเทศ นั่นก็คือตลาดเมืองไทยที่แคบลง อันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และสมุย ที่วันนี้แทบจะกลายเป็นสมรภูมิที่เชนโรงแรมเล็กใหญ่จากต่างชาติเข้ามาฟาดฟันกันอย่างดุเดือด
การออกไปสู่ "มหาสมุทร" ที่กว้างใหญ่ของเชนโรงแรมไทยจึงดูมีอนาคตที่สดใสกว่า
ในบรรดา 3 เชนไทย ดุสิตนับเป็นโรงแรมไทยเชนแรกที่พยายามและมีประสบการณ์ ในการออกสู่ตลาดต่างประเทศก่อนใคร ตั้งแต่ 18 ปีก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าตลาดเมืองไทย เล็กเกินไปแล้วสำหรับกลุ่มดุสิต ซึ่งในยุคท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ดุสิตเป็นบริษัทโรงแรม ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินค่อนข้างมาก ดังนั้น กลยุทธ์ในการออกต่างประเทศจึงเป็นวิธีเทกโอเวอร์
ณ วันนั้นอาณาเขตในการขยายอาณานิคมของเครือดุสิตช่างกว้างไกล เริ่มจากซีกโลกตะวันออกข้ามมหาสมุทรไปจรดอีกซีกโลกหนึ่งและยังขยายแบรนด์ โดยใช้ทางลัดผ่านการซื้อเครือข่ายโรงแรมของกลุ่ม Kempinski
หากไม่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2540 ที่ทำให้จู่ๆ หนี้สินที่ถืออยู่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จนท่านผู้หญิงชนัตถ์ต้องตัดสินใจขายทิ้งเครือข่ายในต่างประเทศทั้งหมด บางทีวันนี้ดุสิตอาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเชนระดับโลก อย่างแอคคอร์, ไฮแอท และสตาร์วู้ด ก็เป็นได้
หรือตรงกันข้าม หากไม่เคยล้มครั้งนั้น ชนินทร์ โทณวณิก CEO และ MD คนปัจจุบัน อาจไม่ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ ที่ช่วยต่อยอดแบรนด์ "ดุสิต" ให้แข็งแรงและเป็นที่ยอมรับเช่นทุกวันนี้
"ตอนนั้นชื่อเสียงโรงแรมไทยยังไม่ดีพอจึงต้องเข้าไปลงทุนเพื่อเอาแบรนด์คนอื่นมา แต่ตอนนี้โรงแรมดุสิตในต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นเม็ดเงินของคนอื่น และถ้าไม่ใช่ เมืองที่ดีจริงเราก็ไม่อยากแตะเพราะรับไม่ไหว เพราะโจทย์เปลี่ยนไปแล้ว แบรนด์เราเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก"
แม้วันนี้เครือดุสิตมีโรงแรมในตะวันออกกลางอยู่หลายแห่ง แต่ก็ยังมีเจ้าของโรงแรมติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ จนชนินทร์ต้องบอกปฏิเสธมากกว่าตอบรับ
เพียง 4 ปีหลังออกสู่ตลาดต่างประเทศครั้งใหม่ วันนี้ เครือดุสิตมีโรงแรม 10 กว่า แห่งในฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะเปิดอีกกว่า 10 แห่งในจีน อินเดีย และบาห์เรน อนาคตอันใกล้ก็ยังอาจจะมีโรงแรมอยู่ในยุโรปด้วยก็เป็นได้ ในเมื่อได้ส่งแบรนด์ สปาไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มโรงแรมหรูในอิตาลีก่อนแล้ว
แม้แบรนด์อนันตรามีอายุเพียง 9 ปี แต่ด้วยประสบการณ์กับเชนต่างชาติยักษ์ใหญ่ อย่างโฟร์ซีซั่นและแมริออท และเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารที่มีในต่างประเทศ บวกกับอำนาจทางการเงิน วันนี้ เชนอนันตราก็มีโรงแรมกระจายในหลายประเทศ ทั้งในอาเซียน เอเชียใต้ แอฟริกา และแถบตะวันออกกลาง
"เกณฑ์ของเรามีอยู่ว่า 8 ชั่วโมงบินจากกรุงเทพฯ จนถึงพร็อพเพอร์ตี้ เรารับบริหาร แต่ถ้าเกินกว่านั้นยังไม่เอาเพราะไกลไป ทำไมต้อง 8 ชั่วโมง เพราะว่า 8 ชั่วโมงนี่ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น พรุ่งนี้เราก็ไปถึงเลย ส่วนประเทศที่ลงทุนเองคือประเทศที่บินสัก 3 ชั่วโมง หรือเราคุ้นเคย อย่างมัลดีฟส์บินตั้ง 5 ชั่วโมงแต่ก็เรายอมลงทุนเอง แต่ประเทศใกล้ๆ แต่เราหมายหัวว่าไม่ลงทุนแน่ๆ เพราะเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน บริหารอย่างเดียวพอ คือแถบตะวันออกลาง อินเดีย และจีน" ปรารถนาอธิบาย
เครือเซ็นทาราเพิ่งมีโรงแรมในต่างประเทศแห่งแรกที่มัลดีฟส์ กำลังจะรับบริหาร โรงแรมในอินเดียและบังกลาเทศซึ่งอยู่ขั้นเจรจา (ดูใน Thai Hotel Expansion Map)
จุดขายของเชนไทยในธุรกิจเชนบริหารโรงแรมระดับโลก คงหนีไม่พ้น "การบริการ แบบไทย" หรือ "Thai Touch" ซึ่งเป็นเสมือน "Service Quality Assurance" ที่นักท่อง เที่ยวต่างชาติให้การยอมรับและเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้เชนโรงแรมไทย
ทั้งนี้ แบรนด์เอเชียยังถือเป็นทางเลือกใหม่ของตลาดที่กำลังมาแรงอีกด้วย ซึ่งเชนดีๆ ยังมีอยู่ไม่ถึง 10 เชนด้วยซ้ำ ขณะที่เชนระดับโลกดูจะกลายเป็น "แมส" ที่หาสุนทรีย์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้ยาก
"ถ้าเราไปทำโรงแรมแล้วออกมาเป็นฝรั่ง ถ้าบริการไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าเชนนี้แตกต่าง มีบริการแบบคนไทย โอกาสที่เราจะสู้เขาก็ไม่มี" ชนินทร์กล่าว
สำหรับปัจจัยชี้วัดโอกาสในการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ Light Asset อยู่ที่ความพร้อมทางด้านบุคลากร
เครือดุสิตถือได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรมากกว่าใคร เพราะมีทั้งวิทยาลัยดุสิตธานี เปิดเมื่อ 13 ปีก่อน มีนักเรียนระดับ ปริญญาตรีกว่า 2 พันคน และปริญญาโทอีกกว่าร้อยคน และยังมี "เลอ กอร์ดอง เบลอ" โรงเรียนสอนทำอาหาร ที่เปิดสอนมาเป็นปีที่ 2 แล้ว
แต่ถึงอย่างนั้น จำนวนบุคลากรที่ผลิตได้ก็ยังไม่ทันกับการขยายตัวของดุสิต โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง ปลายปีที่แล้ว ดุสิตจึงลงนามร่วมมือกับ Lyceum of Philippines University มหาวิทยาลัยใหญ่ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีนักเรียนด้าน การโรงแรมเกือบหมื่นคน เพื่อรับบริหารหลักสูตรการโรงแรมให้ นอกจากจะได้ผลิต บุคลากรป้อนสู่เครือ ยังได้ขยายธุรกิจการศึกษาออกต่างประเทศอีกด้วย
นอกจากบุคลากร การลงทุนด้านไอทีก็ถือเป็นอีกกุญแจแห่งความสำเร็จของเชนบริหารโรงแรม และดูเหมือนว่าทั้ง 3 เชน จะเห็นความสำคัญของกุญแจดอกนี้เหมือนกันหมด
"เมื่อเลือกจะแข่งฟอร์มูล่าวันก็ต้องลงทุนซื้อรถฟอร์มูล่าวัน ถ้าซื้อกระบะไปแข่งวิ่งให้ตายก็คงสู้ไม่ได้" ชนินทร์เปรียบเปรย
หากเปรียบแล้ว การรับบริหารเชนก็เหมือนการนำ "สินค้า" ไปเสนอขาย ยิ่งหากมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย โอกาสในการขายก็ยิ่งสูงขึ้น เหมือนกับที่เครือดุสิตกำลังจะมีโรงแรมมากถึง 9 แห่งอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี 5 แบรนด์ใน 6 แบรนด์ (ดูตาราง "ตะกร้าแบรนด์ของเชนไทย") ไม่มีเพียง "Dusit D2" ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับโรงแรมที่มีคาแรกเตอร์ ทันสมัย
วันนี้ เซ็นทาราใช้ความพยายามไม่น้อยที่จะเร่งเพิ่มแบรนด์ในตะกร้าให้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์สำหรับโรงแรม 3 ดาว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้นักท่องที่ยวใช้เงินทุกเม็ดแบบต้องคำนึงถึง "Value for Money"
ขณะที่อนันตราดูจะพอใจกับการมีเพียง 2 แบรนด์สำหรับโรงแรมหรู แต่เวลาไปเสนอขายเจ้าของโรงแรม อนันตรายังมีตัวเลือกเป็นแบรนด์กลุ่ม "Kempinski" กลุ่มโรงแรม 5 ดาวในยุโรป โดยทำหน้าที่เสมือนตัวแทนขายให้แก่กัน
"ทำอย่างนี้แปลว่า เราจะมีพาร์ตเนอร์ที่สามารถเก็บแบรนด์ของเขาไว้ในกระเป๋า เวลาไปเสนอใครเราก็มีสองแบรนด์ ไม่ชอบอนันตราก็มีแคมเปนสกี้ ไม่ต้องไปขอลิขสิทธิ์อะไรกัน และเราเองก็มีสปาอยู่ในโรงแรมที่แพงที่สุดของเขาในตะวันออกกลางด้วย" ปรารถนากล่าวถึงพันธมิตรเพื่อ Economy of Scales ซึ่งอาจจะเป็นผู้ปูทางให้อนันตราเข้าสู่ยุโรปในเร็ววัน
ทั้งนี้ เชนโรงแรมไทยทั้ง 3 แบรนด์ ล้วนมีเป้าหมายในการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ด้วยการบาลานซ์พอร์ตโรงแรมในเครือเหมือนๆ กัน คือภายใน 5 ปีจะมีโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองกับรับจ้างบริหารในสัดส่วน 50:50
สำหรับการโตจาก Regional Brand เป็น Global Brand ดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก เพราะว่ากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติและความไม่แน่นอน จึงไม่มีใครยืนยันว่าจะมุ่งไปสู่การเป็นเชนระดับโลกได้เมื่อไร แต่เชื่อได้ว่า เมื่อผ่านพ้นวิกฤติซ้ำซ้อนครั้งนี้ไปได้อย่างสวยงาม โอกาสที่ทั้ง 3 เชนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในยามเศรษฐกิจดีก็ย่อมมี
หรือแม้ในยามที่ใครต่อใครร้องระงมว่าเป็น "วิกฤติ" โอกาสใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่คงจะมีเพียงธุรกิจที่มีแผนตั้งรับไว้และบริหารความเสี่ยงมาเป็นอย่างดี จึงจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้สำเร็จ!!
|
|
|
|
|