หากฉันบิน บินไปได้ดั่งนก
ฉันจะบิน บินไปในนภา
หากฉันลอยล่องลมเหนือฟากฟ้า
ฉันจะมองลงมายังพื้นดิน
ฝันให้ไกลไปให้ถึง…ไม่เกินความจริงเลยสำหรับยุคนี้ เมื่อก่อนเวลาเห็นนกบิน
ไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี มนุษย์ก็ได้แต่เหม่อมองด้วยความอิจฉา พลางรำพึงถึงข้อจำกัดของตน
เดี๋ยวนี้ "เครื่องบิน" พิชิตข้อจำกัดนั้นเสียแล้ว
การขับเครื่องบินเล่น เป็นกีฬาฮิตในต่างประเทศนับสิบ ๆ ปีแล้ว แต่สำหรับเมืองไทยเพิ่งเริ่มไม่ถึง
10 ปี เหตุผลนอกจากค่าใช้จ่ายสูงก็เป็นเรื่องกฎหมายที่ห้างเอกชนมีเครื่องบินส่วนตัว
สมาคมสโมสรการบินพลเรือน ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2520 โดยกลุ่มนักธุรกิจที่รักการบิน
เริ่มแรกสั่งเครื่องบิน LIGHT AIRCRAFT จากอเมริกา 3 ลำ แต่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ศูนย์การบินทหารบกลพบุรีขอยืมไปใช้ชั่วคราว
สมาชิกจึงได้อาศัยบินที่นี่ด้วย
จนกระทั่งปี 2525 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีโครงการจะเปิดหลักสูตรวิศวกรรมการบิน
ขึ้นที่วิทยาเขตบางพระชลบุรี ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลอนุญาตให้จดทะเบียนเครื่องบินในนามสมาคม
สมาคมจึงร่วมกับวิทยาเขตสร้างสนามบิน
ผู้ที่ปรารถนาจะขับเครื่องบินนอกจากจะต้องมีเงินค่าคอร์ส 40,000 บาท ยังต้องเป็นผู้มีใจรักจริง
ๆ เพราะต้องเรียนภาคทฤษฎี 120 ชั่วโมง และหัดขับอีก 40 ชั่วโมง อาจเรียนได้ที่
หน่วยฝึกบินพลเรือนกองทัพอากาศ หรือศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกรมการบินพาณิชย์แล้วไปสอบใบขับขี่ที่กรมการบินพาณิชย์
ปัจจุบั นสมาคมมีเครื่องบิน 14 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินมือสองมีราคาตั้งแต่
1.8 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท โดยสมาชิกเป็นผู้ซื้อแล้วบริจาคให้สมาคม
การสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมเสียค่าสมัคร 12,000 บาท ค่าบำรุงสมาคม 200 บาทต่อเดือน
ชำระโดยจ่ายล่วงหน้าครั้งละ 12 เดือน อัตราค่าชั่วโมงบินชั่วโมงละ 1,350
บาท
ปัจจุบันมีนักธุรกิจที่หันมาสนใจขับเครื่องบินเพื่อการกีฬาเป็นจำนวนมาก
ธีระ ต.สุวรรณ เหรัญญิกตั้งแต่รุ่นก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน บอกว่า มีสมาชิกแล้วร้อยกว่าคน
ตอนนี้มีคนมาสมัครทุกอาทิตย์ ในแต่ละสัปดาห์มีคนมาขับเฉลี่ย 10 กว่าคน โดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์
ส่วนใหญ่คนที่มาขับเครื่องบินในยามว่าง ซึ่งมีนักธุรกิจหลายวงการ มักจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
"ชอบขับเครื่องบินเพราะมันสนุก ท้าทายที่สำคัญคลายเครียดได้อย่างดี"
สุวิทย์ หวั่งหลี
กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์นครธนผู้นำตระกูลหวั่งหลีรุ่นปัจจุบัน เขาเป็นคนที่รักการบินมาก
หัดขับตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ WHARTON กลับมาก็ทำงานหนัก เริ่มหัดใหม่เมื่อ
3 ปีก่อน สุวิทย์อุทิศเวลาให้กับการฝึกทุกวันธรรมดา สองชั่วโมงตอนเช้าและเสาร์-อาทิตย์ครึ่งวัน
ตลอดเวลา 4 เดือนแทบจะหายใจเข้าออกเป็นเครื่องบินเขารู้สึกมีความสุขมาก ๆ
เวลาได้บินอยู่บนท้องฟ้าและมองลงมาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในภาพกว้าง เครื่องที่เขาจับประจำ
เป็นแบบ GRUMMANAA-5B (TIGER) ขนาดเครื่องยนต์ 180 แรงม้า อัตราเร็วสูงสุด
155 ไมล์ต่อชั่วโมง
นพพร พงษ์เวช
ปัจจุบันกลายเป็นอดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่แบงก์สยาม นพพร ใฝ่ฝันที่อยากจะขับเครื่องบินมาตั้งแต่ยังเด็ก
ได้หัดขับครั้งแรกตอนเรียนอยู่ที่ UNIVERSITY OF ORAGON แล้วทิ้งไปนาน เพิ่งมาเริ่มใหม่เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว
ขณะที่เหินเวหาสมองเขาเพลิดเพลินอยุ่กับการบังคับเครื่องยนต์กลไก ลืมเรื่องราวอันสับสนวุ่นวายบนพื้นดินไปชั่วขณะ
ปกติขับเครื่อง CESSNA 150 เครื่องยนต์ 100 แรงม้า อัตราเร็วสูงสุด 122 ไมล์/ชั่วโมง
ประจักษ์ สีบุญเรือง
เจ้าของห้างเทพนครพาณิชย์ ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ยี่ห้อชาร์ป เวลาว่างส่วนใหญ่จะหมดไปกับการขับเครื่องบิน
เป็นอีกคนหนึ่งที่รักการบินเอามาก ๆ แม้เพิ่งเริ่มขับรุ่นเดียวกับสุวิทย์
แต่ชั่วโมงบินเขามากกว่าถึง 200 ชั่วโมง (สุวิทย์ 300 ชั่วโมง) ชั่วโมงบินใกล้เคียงกับธีระ
ซึ่งขับมาตลอด 20 ปี ประจักษ์เคยขับเครื่องบินไปแล้วทั่วประเทศ วันนี้ทัศนะวิสัยไม่ค่อยดี
เนื่องจากฝนตกประปราย เขาจงใจขับไปแถวอู่ตะเภา ซึ่งมีเมฆหนาและลมแรง "ผมขับบินฝ่าเข้าไปเลย
เสียงลมปะทะเครื่องบินดัง โผงผาง ๆ ๆ ตื่นเต้นดี เราต้องฝึกไว้ก่อนวังหลัง
บังเอิญพบกับสถานการณ์ไม่ปกติ จะได้แก้ได้ทัน" ประจักษ์เล่าทำท่าประกอบการเล่าอย่างอารมณ์ดี
ปกติเขาขับ MOONEY M-20J (201) เครื่องยนต์ 200 แรงม้า อัตราเร็วสูงสุด 201
ไมล์ต่อชั่วโมง
ธีระ ต.สุวรรณ
กรรมการผู้จัดการบริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช หัดขับครั้งแรกเมื่อเรียนอยู่
PITTSBURGH กลับมาก็ขับมาตลอดเป็นกำลังสำคัญของสมาคมตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
เขาเคยขับแข่งขัน SPOT LANDING ซึ่งเป็นการแข่งนำเครื่องบินลงสนามและให้เครื่องบินแปะตรงจุดที่ต้องการ
โดยทำคะแนนได้เป็นที่สอง "สำหรับผม บินกว่า 20 ปี แต่ไม่เคยเบื่อเพราะใจรัก
ยามที่บินอยู่คนเดียวบนท้องฟ้าให้ความรู้สึกถึงความอิสระในการเคลื่อนไหว
ถ้าอยู่บนพื้นเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศ แต่ในอากาศมีมติที่ 3 คือ การขึ้นลง ชอบเวลาที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างกว้างมาก
มีความรู้สึกว่า อยากไปไหน ไปแป๊บเดียวก็ถึง จะเลี้ยว จะบินวน จะทำอะไรก็ได้ตามใจนึก
รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมาก ๆ " คงเป็นเพราะมีกีฬาที่ผ่อนคลายความเครียดเช่นนี้เอง
หน้าตาของเขาจึงดูหนุ่มกว่าวัย 48 ปีมากนัก
ภาสุรี โอสถานุเคราะห์
ลูกชาย เสรี โอสถานุเคราะห์ (น้องชายของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์) ด้วยวัยเพียง
29 ปี เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 ของบริษัทโอสถสภาเต๊กเฮงหยู
เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่รักการบินเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยความรู้สึกท้าทาย ล่าสุดเขาเข้าแข่งขัน
AIR RALLY ที่พิษณุโลก ได้รางวัลที่ 1 โดยเครื่อง MOONEY M20J (201) เครื่องยนต์
200 แรงม้า อัตราเร็วสูงสุด 201 ไมล์ต่อชั่วโมง