|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ต้นเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วโลกรวมถึงสื่อมวลชนไทยต่างจับตามองวาระของการครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน อันเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและปัญญาชนชาวจีนนับล้านๆ คนออกมาประท้วงรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989)
การปลุกกระแสครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมที่เทียนอันเหมินเกิดขึ้นจากสื่อมวลชนตะวันตก ซึ่งพยายามนำเรื่องราวต่างๆ มาปะติดปะต่อเข้ากับ การเปิดตัวหนังสือ Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang ซึ่งเป็นบันทึกลับของจ้าว จื่อหยาง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ออกมาแสดงทีท่าเห็นอกเห็นใจนักศึกษาและปัญญาชน และคัดค้านการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม จนกระทั่งเขาถูกปลด จากตำแหน่งและถูกกักบริเวณ ก่อนที่จะเสียชีวิตในเดือนมกราคม 2548
ด้านสื่อมวลชนไทย ส่วนใหญ่ต่างก็รายงานถึงเรื่องราวดังกล่าวตามกระแสของสื่อตะวันตก โดยบางคนถึงกับเปิดตำราตามฝรั่งและวิเคราะห์ไปไกลถึงว่า เหตุการณ์ประท้วงที่เทียนอันเหมินเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นกำลังแพร่กระจายไปเป็น "เทียนอันเหมินน้อยๆ" ทั่วประเทศจีน อีกทั้งยังตบท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่าประเทศจีนน่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเร็ววันนี้
จากความเห็นส่วนตัว ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับทัศนะของสื่อมวลชนตะวันตกส่วนใหญ่และสื่อมวลชน ไทยจำนวนหนึ่งที่ได้ยินฝรั่งพูดอะไรมาก็เออออตามฝรั่งไปเสียหมด เพราะจริงๆ แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ จีน ผู้นำจีนรุ่นถัดๆ มา รวมถึงคนจีนทุกวันนี้เองจำนวนไม่น้อยต่างก็รู้ดีและรู้อยู่แก่ใจว่า การตัดสินใจ ของผู้นำสูงสุดในพรรคเมื่อปี 2532 ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร
ในแง่มุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หากจะกล่าวไปแล้วนับว่า เป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจผู้นำอย่างทุลักทุเลซ้ำสอง หลังจากที่ครั้งแรกในการหาผู้สืบทอดอำนาจต่อจาก เหมา เจ๋อตง ส่งผลให้เกิด "การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (พ.ศ.2509-2519)" ก่อความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนชาวจีนนานถึง 10 ปี ก่อนที่อำนาจจะถูกเปลี่ยนถ่ายจากผู้นำรุ่นที่ 1 (เหมา) มายังผู้นำรุ่นที่ 2 คือ เติ้ง เสี่ยวผิง สำเร็จในที่สุด
ผมค่อนข้างจะเห็นตรงกับศาสตราจารย์พอล เอส รอปป์ (Paul S. Ropp) นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยคลาร์ก (Clark University) สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับเชิญจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาบรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนในรอบ 30 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
การบรรยายวันนั้น เมื่อพูดถึงโศกนาฏกรรม ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ศ.รอปป์กล่าวว่า "ผมไม่เห็นว่าเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 จะลุกลามใหญ่โตไปเหมือนที่ชาวตะวันตกบางส่วนวิเคราะห์ เพราะแม้แต่วิกฤติการณ์ของสังคมจีนซึ่งกินเวลายาวนานถึง 10 ปีอย่างการปฏิวัติวัฒนธรรม พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สามารถรอดพ้นมาได้ ดังนั้นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน ก็ไม่น่าที่จะส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องถึงกับล่มสลาย แต่อย่างใด"
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์อีกหลายประการ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พิสูจน์ให้ประชาชนชาวจีนและประชาคมโลกเห็นแล้วว่า การตัดสินใจนำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2532 นั้น เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์สำหรับสังคมจีนโดยรวม ก็คือ 20 ปีที่ผ่านมาพรรคคอมมิวนิสต์ จีนได้บริหารงานให้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้ กลับกลายเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่คนทั่วโลกต้องยอมรับอีกครั้ง
หลังเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน การบริหารและการจัดการเพื่อสร้างดุลอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีการเปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดการผ่องถ่ายอำนาจอย่างนิ่มนวลสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่ 3 โอนอำนาจในการปกครองให้กับหู จิ่นเทา ผู้นำรุ่นที่ 4 เมื่อราว 6-7 ปีก่อน
ด้วยเหตุนี้เองแม้ว่าปัจจุบันในพรรคคอมมิวนิสต์ จีนจะมีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มถวนไพ่ หรือนักประชานิยม (Populists) และกลุ่มลูกท่านหลานเธอ (Princelings หรือ Elitists) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีตัวแทนสำหรับผู้นำรุ่นถัดไป (รุ่นที่ 5) ก็คือ หลี่ เค่อเฉียง ของ ฝ่ายประชานิยม และสี จิ้นผิง ของฝ่ายลูกท่านหลานเธอ แต่บุคลากรของทั้งสองขั้วต่างก็จำเป็นต้องประสานความแตกต่าง โดยมีบทเรียนสำคัญคือโศกนาฏกรรมที่เทียนอันเหมิน
สี จิ้นผิง ดาวรุ่งของกลุ่มลูกท่านหลานเธอ เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2496 (ค.ศ.1953) ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นบุตรคนที่สามของสี จ้งซุน อดีตสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรีจีน (ในช่วงปี 2502-2505) จบการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยชิงหัว นอกจากนี้ ในเวลาต่อมายังศึกษาวิชาทฤษฎีการเมืองและแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์ในสถาบันสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมถึงจบปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ชิงหัวอีกด้วย
ด้วยพื้นฐานทางครอบครัวและการศึกษาที่ยอดเยี่ยม ทำให้สีมีโอกาสได้รับผิดชอบงานในมณฑล เมืองสำคัญๆ เกือบทั้งสิ้น คือ ส่านซี เหอเป่ย ฝูเจี้ยน เจ้อเจียงและ เซี่ยงไฮ้ โดยสังเกตได้ว่าทั้งฝูเจี้ยน เจ้อเจียงและเซี่ยงไฮ้นั้นต่างก็เป็นพื้นที่ชาย ฝั่งทางตะวันออก ของจีนอันเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศทั้งสิ้น โดยจากฝีมือการบริหารเศรษฐกิจ อย่างเช่นระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่เจ้อเจียง เขาสามารถรักษา ระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลได้เฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปีโดยตลอด จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของมหานครเซี่ยงไฮ้ ประกอบกับผลงานในการปราบคอร์รัปชั่นทำให้ในที่สุด ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เมื่อเดือนตุลาคม 2550 สีได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 9 ของสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง อีกทั้งยังได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปีถัดมา
ในส่วนของหลี่ เค่อเฉียง ตัวแทนของกลุ่มถวนไพ่ เป็นชาวมณฑลอันฮุย เกิดเมื่อปี 2498 (ค.ศ. 1955) ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอกจากนี้ ยังศึกษาเพิ่มเติมทางกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน
หลี่ฉายแววในการเป็นผู้นำมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา โดยเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเลขาธิการคณะกรรมการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนสาขามหาวิทยาลัย ปักกิ่ง ก่อนที่จะทำงานไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ จีน โดยในช่วงนี้ที่เขามีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับหู จิ่นเทา ผู้นำของจีนคนปัจจุบัน
ก่อนที่ในเวลาต่อมา หลี่จะย้ายไปทำงานให้กับพรรคที่มณฑลเหอหนานและ เหลียวหนิง โดยผลงานที่มณฑลเหอหนาน และเหลียวหนิงนี้เอง ได้ไปเข้าตาผู้นำพรรคเข้า เพราะหลี่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของเหอหนาน มณฑลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมณฑลที่ประชากรมีชีวิตแร้นแค้นที่สุด (เนื่องจากข้อจำกัดทางทรัพยากร ปัญหาภัยธรรมชาติและจำนวนประชากรที่มีจำนวนมหาศาล) ให้ฟื้นฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในปี 2550 ระหว่างที่เป็นผู้นำสูงสุดของมณฑลเหลียวหนิง เขตเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
หลี่ยังมีผลงานในการจัดการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง World Economic Forum (WEF) ที่เมืองต้าเหลียนอีกด้วย
จากผลงานและความคุ้นเคยกับหู จิ่นเทา ทำให้ในปี 2550 หลี่ก็ถูกผลักดันให้เข้าเป็น 1 ใน 9 ของสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง ขณะที่ปีถัดมาเขาก็รับตำแหน่งทางบริหารเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของจีนรองจากเวิน เจียเป่า
เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2532 ซึ่งเกิดการลุกฮือขึ้นของนักศึกษาและปัญญาชนชาวจีนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูป เศรษฐกิจและเรียกร้องประชาธิปไตย แม้สี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งอยู่ในวัยกำลังทำงานให้กับ พรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็มิใช่ว่าทั้งคู่จะไม่เคยผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองมาเลย
ว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 5 และชาวจีนที่เกิดในทศวรรษ 1940-1950 ถือเป็นคนจีนรุ่นที่น่าสงสารที่สุดรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ก็ว่าได้ โดยภาษาอังกฤษเรียกคนจีนรุ่นนี้ว่าเป็น Lost Generation เพราะคนที่เกิดในยุคดังกล่าว นี้ต้องประสบกับ "10 ปีของยุคสมัยแห่งความทุกข์เข็ญ" อันหมายความถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม ครั้งใหญ่ในช่วงปี พ.ศ.2509-2519 (ค.ศ.1966-1976)
ในการปฏิวัติวัฒนธรรมทั้งสี จิ้นผิง หลี่ เค่อเฉียง และว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนซึ่งอยู่ในวัยเรียน ต่างต้องออกจากโรงเรียนเหมือนเด็กจีนในยุคนั้นทุกคน ซ้ำต้องจากพ่อแม่และบ้านเกิด ลงไปใช้แรงงานในถิ่นทุรกันดารตามนโยบายขึ้นภูเขาลงชนบทของ ประธานเหมา โดยสีซึ่งบิดาถูกลงโทษโดยส่งไปใช้แรงงาน ณ โรงงานในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ก็ไม่ได้รับอภิสิทธิ์และถูกส่งไปอยู่ที่ตำบลเล็กๆ ในมณฑลส่านซี ส่วนหลี่นั้นก็ถูกส่งไปทำงานในชนบทของมณฑลอันฮุยเช่นกัน
กล่าวกันว่าประสบการณ์ในการใช้แรงงานและผ่านความทุกข์ยาก ได้หล่อหลอมให้ผู้นำของจีนในรุ่นต่อไปนั้นมีความเข้าใจประเทศจีนในองค์รวม อย่างเช่น สีเคยกล่าวถึงประสบการณ์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ของตัวเองว่า "เป็นจุดเปลี่ยน" ในชีวิตของตัวเอง
นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ความเหมือนในความแตกต่างของว่าที่ผู้นำในรุ่นที่ 5 ของจีน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากประวัติการศึกษาของสีและหลี่ จะเห็นได้ชัดว่าผู้นำจีนในยุคต่อไปจะมีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์อันประกอบไปด้วยเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและกฎหมายที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้นำจีนในรุ่นก่อนๆ ที่มักจะจบการศึกษาจากสายวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า จากเหตุการณ์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมและโศกนาฎกรรม ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ได้สร้างบทเรียนชิ้นสำคัญให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนสองประการคือ หนึ่ง ทุกคนมีภารกิจที่สำคัญที่สุด คือการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และ สอง อย่าเปิดเผยรอยร้าวหรือความแตกแยก ในพรรคให้สาธารณชนรับรู้เป็นอันขาด
ภายใน 1-2 ทศวรรษข้างหน้า ภายใต้การชี้นำของผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน จีนจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ใหม่ๆ อีกมาก เช่น การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การปฏิรูป ระบบประกันสังคม การปฏิรูประบบกฎหมาย ความท้าทายที่ใหญ่ขึ้นจากระบบโลกาภิวัตน์ ปัญหาด้านพลังงาน-สิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมของคนแก่ และที่สำคัญที่สุดการปฏิรูปการเมือง
เชื่อแน่ได้ว่า ในยุคถัดไปพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของบุคลากรระดับมันสมองจากทั้งสองกลุ่มในพรรค เพื่อสร้างสมดุลให้กับการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการต่างประเทศของจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในศตวรรษที่ 21
|
|
|
|
|