|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของทุกคน แต่จะเลวลงหรือดีขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณรับมือกับวิกฤติ คุณจะต้านความท้าทายครั้งนี้ได้หรือไม่
วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบต่อทุกคนโดยถ้วนหน้า แต่คนที่กระทบมากเป็นพิเศษคือ Bill Hewlett และ Dave Packard รัฐบาลเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ บริษัทที่เพิ่งเกิดใหม่ของพวกเขา แต่รายได้ส่วนนี้แทบจะหดหายไปหมดเมื่อสงครามสิ้นสุดลง เพราะรัฐบาลลดการใช้จ่ายงบประมาณ ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลลดการใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวทั้งประเทศ หมายความว่า ลูกค้ารายอื่นๆ ของ Hewlett Packard (HP) ก็พลอยหยุดการใช้จ่ายและการซื้อสินค้าไปด้วย ผลก็คือ HP ตกที่นั่งลำบากขนาดหนักและอาจจะถึงขั้นไปไม่รอด
ในช่วงเวลาวิกฤติ การตัดสินใจของผู้นำในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ นี้ กลับเป็นสิ่งที่ตัดสินอนาคตของบริษัทในระยะยาว แม้ว่า Bill Hewlett และ Dave Packard จะสร้างธุรกิจของพวกเขาบน หลักการของความซื่อสัตย์และความไว้วางใจ แต่สถานการณ์วิกฤติบีบให้พวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงการลอยแพพนักงาน และจำเป็นต้องปลดพนักงานออกถึง 60% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลังจากนั้น พนักงานที่ยังเหลืออยู่ถูกสถานการณ์บีบให้ต้องปรับตัวและทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หัวหน้าฝ่ายผลิตต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักการตลาดที่ออกตามล่าหาลูกค้าถึงบ้าน แต่กลับประสบความสำเร็จในหน้าที่ใหม่อย่างเยี่ยมยอด จนกลายเป็นฝ่ายการตลาดไปนับตั้งแต่นั้นจนตลอดชีวิตการทำงาน
แม้กระทั่งตัว Packard ก็ต้องปรับตัวไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่กลับกลาย เป็นการค้นพบความสามารถที่ทั้งตัวเขาเองและใครๆ ไม่เคยมี ใครคิดว่าเขามี แม้จะไม่ได้เป็น วิศวกรระดับอัจฉริยะเหมือน กับ Hewlett แต่ Packard ได้หันหน้าเข้าห้องทดลองในช่วง เวลาที่บริษัทกำลังสิ้นหวังอย่างที่สุดเพื่อจะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผลที่ได้คือเครื่องวัดแรงดันไฟฟ้า (voltmeter) ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของไลน์สินค้าใหม่ที่ทำให้บริษัทมีกำไรอย่างต่อเนื่องมา นานถึง 50 ปี Packard ไม่เคยประดิษฐ์อะไรอีกเลยนับแต่นั้นมา เขาเป็นอัจฉริยะด้านการบริหาร แต่เมื่อถึงคราที่บริษัทประสบวิกฤติ เขาต้องถูกบีบให้ทำในสิ่งที่เกินความสามารถ ทว่ากลับทำได้อย่างยอดเยี่ยม
แต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ยังเลวร้ายเสียยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มากนัก สำหรับคนนับล้านๆ คนทั่วโลก นี่คือช่วงเวลาแห่งการทดสอบที่หนักหน่วงที่สุด ทุกคนกำลังถูกทดสอบความอดทนต่อความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ในบรรดาโอกาสมากมายที่ผุดขึ้นท่ามกลางวิกฤติ โอกาสที่มีค่ามากที่สุดสำหรับคนที่เป็นนักธุรกิจคือ โอกาสที่จะได้เติบโตโดยเฉพาะการเติบโตไปเป็นผู้นำ แต่นั่นหาได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติไม่ หากขึ้นอยู่กับคุณสามารถรับมือกับวิกฤติได้อย่างถูกต้องหรือไม่
สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
การเกิดวิกฤติคือสุดยอดแห่งโอกาสของการแสดงความเป็นผู้นำ หรืออาจเป็นไปในทางตรงข้าม Douglas Ivester CEO ของ Coca-Cola อยู่ที่ปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคม 1999 ขณะที่เกิดข่าวเด็กนักเรียนในเบลเยียมล้มป่วยเพราะดื่ม Coke Ivester ซึ่งเก่งกาจในด้านการเงินและเฉียบแหลมในการวิเคราะห์ รีบสร้างความมั่นใจทันทีว่า กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนของ Coke ได้รับการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยืนยันว่าการดื่ม Coke ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้บริโภค แล้วบินกลับสหรัฐฯ ไปทันที แต่ภาพของเด็กนักเรียนเบลเยียมที่ทุกข์ทรมานจากอาการป่วยเพราะดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกลายเป็นข่าวใหญ่ นักการเมืองต่างเรียกร้องคำอธิบายจาก Coke ในที่สุดปัญหานี้ทำให้ Coke ต้อง สูญเสียเงินหลายล้านดอลลาร์พร้อมกับความไว้วางใจไปอีกนานหลายปี ส่วน Ivester ถูกสั่งปลดภายในเวลาไม่กี่เดือน วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เขากลับกลายเป็นเพียงแค่ผู้จัดการไม่ใช่ผู้นำ
ถ้าเช่นนั้น ผู้นำที่แท้จริงเมื่อตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน ควรจะต้องทำอย่างไร สิ่งที่ผู้นำที่แท้จริงต้อง ทำมี 4 ข้อ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ไม่ใช่ การมีความเข้มแข็งมากพอที่จะลงมือทำสิ่งต่อไปนี้ จะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตเป็นผู้นำ
1. ไม่หนีหน้า นี่คือข้อปฏิบัติพื้นฐานที่สุดที่ผู้นำต้องทำและเป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยเหตุผลที่ทุกคนมักจะลืมไป นั่นคือทุกคนต้องการผู้นำ เหตุผลที่เราต้องการผู้นำ เพราะลึกๆ แล้วเราหวังให้ผู้นำช่วยขจัดความกลัวของเรา ในเวลาที่เรากำลังวิตกทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัสนั้น เราต้องการให้มีใครบางคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา เป็นผู้ลงมือแก้ปัญหาให้ ฉะนั้น สิ่งที่ผู้นำที่แท้จริงในช่วงเวลาวิกฤติจะต้องทำเป็นสิ่งแรกคือ ทำให้ทุกคนเชื่อว่าเขายังอยู่และกำลังลงมือแก้ปัญหาให้กับทุกคน แต่การจะมาให้ทุกคนได้พบเจอบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในช่วงวิกฤติ ผู้นำมีเรื่องร้อยแปดพันอย่างที่จะต้องทำ ในกรณีที่มีปัญหาทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทนายความยังอาจแนะนำให้ผู้นำเก็บตัวและปิดปากให้สนิท แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การไม่หนีหน้าไปไหนเป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ผู้นำในช่วงวิกฤติจะต้องทำ
ช่วงต้นทศวรรษ 1990 บริษัทของ Michael Dell ยังไม่ใหญ่โตและมั่นคงอย่างทุกวันนี้ ครั้งหนึ่ง Dell มีกำหนดจะต้องไปร่วมการประชุมแห่งหนึ่ง แต่หนึ่งวันก่อนหน้านั้น Dell เพิ่งประกาศผลประกอบการที่เลวร้ายอย่างไม่คาดคิด ทำให้หุ้นของบริษัทร่วง หลายคนสงสัยว่า Dell ซึ่งตอนนั้นอายุยังไม่ถึง 30 ดี จะนำบริษัทผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ล่ะหรือ คนส่วนใหญ่ฟันธงว่า เขาจะต้องหลบหน้าไม่กล้าไปเข้าร่วมประชุม เป็นแน่ แต่ Dell ไปและยังอธิบายแผนกู้วิกฤติของเขา อย่างไม่มีอาการสะทกสะท้านหวั่นไหว เพียงแค่การปรากฏตัวของเขาก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนที่มีต่ออนาคตของ Dell ได้
2. ทำเร็ว ผู้นำต้องตัดสินใจ ยิ่งในเวลาวิกฤติ ผู้นำจะต้องไม่พลาดโอกาสอันหาได้ยากนี้ในการลงมือทำ แต่ความยากคือ ในเวลาที่การตัดสินใจของผู้นำจะเป็นที่ยอมรับได้อย่างง่ายดายที่สุดนี้ กลับเป็นเวลาที่ตัดสินใจได้ยากที่สุด ตามปกติ การตัดสินใจทางธุรกิจทุกอย่างล้วนแต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีข้อมูลที่สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาที่ความเสี่ยงสูงกว่าปกติด้วยซ้ำ สัญชาตญาณ ทั้งหมดในตัวคุณเตือนให้คุณควรตัดสินใจช้าลงกว่าปกติ แต่คุณกลับต้องตัดสินใจรวดเร็วกว่าปกติ
3. ไม่แสดงความกลัว พระเจ้า Robert ที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Robert the Bruce) ทรงนำทหารสกอตสู้รบกับทหารอังกฤษในสงคราม Bannockburn (Battle of Bannockburn) ทรง "นำ" หน้าทหารอย่างแท้จริง โดยทรงม้านำหน้าทหารทั้งปวง อัศวินฝ่ายอังกฤษคนหนึ่งเห็นเป็นโอกาสทอง ควบม้าห้อตะบึงบุกจู่โจมเพราะองค์ด้วยหอกยาวทันที พระเจ้า Robert ทรงหยุดม้านิ่งรออัศวินที่พุ่งตรงมายังพระองค์อย่างรวดเร็ว และในนาทีสุดท้าย พระองค์ทรงยืดพระวรกาย เอี้ยวตัวหลบหอกที่แทงมา สะบัดขวานคู่พระทัยฟันฉับ ศีรษะของอัศวินอังกฤษก็แยกออกเป็นสองเสี่ยงขาดใจตายทันที ทหารสกอตเห็นดังนั้นเกิดกำลังใจมหาศาล โห่ร้องบุกตะลุยทหารอังกฤษ จนสามารถรบชนะสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสกอตแลนด์
เราต้องการให้ผู้นำแสดงออกว่าไม่กลัว ซึ่งในทางธุรกิจหมายถึงการเผชิญหน้าข่าวร้ายโดยไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ผู้นำที่แท้จริงจะประกาศข่าวร้ายอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากคำแก้ตัว และอธิบายอย่างเชื่อมั่นว่าจะเอาชนะปัญหาได้อย่างไร การไม่แสดงความกลัวจะชัดเจนยิ่งขึ้น หากผู้นำยอมตัดเงินเดือนตัวเองหรือควักกระเป๋าซื้อหุ้นของบริษัท อย่างที่ CEO หลายคนเคยทำมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การไม่แสดงความกลัว ไม่ได้หมายถึงไม่มีความกลัว ผู้นำที่ไม่รู้สึกกลัวเมื่อเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเป็นคนที่ไร้ความรู้สึก และการแนะนำให้ผู้นำไม่กลัววิกฤติเป็นคำแนะนำที่เป็นไปไม่ได้
4. มองวิกฤติอย่างเข้าใจ ผลการวิจัยมากมายพบตรงกันว่า ความเครียดจะมีผลต่อเรามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับวิธีมองปัญหาของแต่ละคน คนที่มองปัญหาว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ผิดปกติและไม่มีทางจะแก้ได้ จะเป็นทุกข์กับความเครียด มากกว่าคนที่มองเห็นปัญหาเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของชีวิต เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ และเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า คนกลุ่มแรกจะมีปัญหาสุขภาพหนักกว่าคนกลุ่มหลัง แม้ว่าจะเผชิญความเครียดอย่างเดียวกัน คำถามสำหรับผู้นำคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเผชิญปัญหาได้แบบคนกลุ่มหลัง
เมื่อตลาดหุ้นตกช่วงปลายปีก่อน (2008) Charles Schwab นักการเงินชื่อดังอธิบายว่า เขาผ่านเหตุการณ์ตลาดหุ้นตกต่ำอย่าง หนักมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ครั้งนี้ดูจะหนักที่สุดเพราะระบาดไปทั่วระบบ เศรษฐกิจ เขาสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างวิกฤติตลาดหุ้นตกต่ำครั้งนี้กับครั้งก่อนๆ พร้อมกับชี้ว่า ตลาดจะกลับฟื้นคืนได้ในที่สุด คำอธิบายของ Schwab ทำให้เห็นว่า วิกฤติที่นักลงทุนบางคนเห็นเป็นวันโลกาวินาศนี้ที่จริงก็เป็นเพียงวิกฤติอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
ข้อปฏิบัติทั้ง 4 ข้อนี้บังคับให้คุณต้องผลักดันตัวเองให้ทำมากกว่าสิ่งที่คุณเคยทำอย่างสบายๆ และนี่เองคือจุดสำคัญ จากการวิจัยพบว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนคนที่เคยมีผลงานปานกลางให้กลายเป็นคนที่มีผลงานยิ่งใหญ่ ก็คือการที่ถูกผลักดันซ้ำๆ ให้ต้องทำมากกว่าความสามารถที่มีอยู่ในปัจจุบันและแก้ปัญหาท้าทายใหม่ๆ ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเอาชนะมันให้ได้
แต่การพยายามจะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แน่นอนว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหามากมาย เพราะคุณจะต้องทำผิดพลาดและล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคุณถามนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ว่าเรียนรู้จากความสำเร็จหรือความล้มเหลวมากกว่ากัน ร้อยทั้งร้อยพวกเขาจะตอบอย่างหลัง อย่างไรก็ตาม นายจ้างคงไม่อยากได้ยินว่า ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของคุณ พวกเขาแค่ต้องการให้คุณแสดงความสามารถ
วิกฤติเศรษฐกิจได้สร้างโอกาสด้วยการผลักดันให้ทุกคนก้าวพ้นขีดจำกัดด้านความสามารถของตัวเอง และก้าวขึ้นมายืนอยู่ที่ขั้นแรกของกระบวนการพัฒนาสู่ความเป็นผู้นำ แต่ส่วนคุณจะเลือกเดินก้าวต่อไปหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องตัดสินใจเอง
แปลและเรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 6 มิถุนายน 2552
|
|
|
|
|